วันอาทิตย์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2557

การเตรียมความพร้อมด้านนิติบัญญัติของรัฐสภาไทยเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

บทสัมภาษณ์
นายปกรณ์ นิลประพันธ์[๑]
หัวข้อ
“การเตรียมความพร้อมด้านนิติบัญญัติของรัฐสภาไทย
เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน[๒]
โดยกองบรรณาธิการ วารสารจุลนิติ
วันพฤหัสบดีที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๖

จุลนิติ : แนวคิดและทฤษฎีความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายระหว่างประเทศกับกฎหมายภายในของรัฐว่ามีความเชื่อมโยงกันอย่างไร และทฤษฎีดังกล่าวสามารถนำมาปรับใช้กับการรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียนหรือไม่ เพียงใด
นายปกรณ์ ฯ : ในเบื้องต้นผมขอกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายระหว่างประเทศ (International Law) กับกฎหมายภายใน (Domestic Law) โดยทั่วไปก่อน หากศึกษาในเชิงประวัติศาสตร์ (Historical Approach) เราจะพบว่าแต่เดิมนั้นวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการคมนาคมขนส่งยังไม่พัฒนามากนัก แต่ละรัฐจึงอยู่อย่างเป็นเอกเทศ (Independent State) กฎกติกาในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติของรัฐมีเฉพาะเรื่องที่เป็นสากลจริง ๆ เช่น กฎหมายทะเล เป็นต้น ในยุคนี้ใครมีกำลังมากกว่าได้เปรียบ แม้จะมีการทำสนธิสัญญาระหว่างรัฐกันมากมายทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี แต่ก็ไม่ค่อยจะปฏิบัติตามกันสักเท่าใดนัก ดังจะเห็นจากการที่มีสงครามระหว่างรัฐเกิดขึ้นบ่อย ๆ ซึ่งรวมถึงสงครามโลกทั้งสองครั้งด้วย จนอาจกล่าวได้ว่าก่อนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สองนั้น กฎหมายระหว่างประเทศไม่มีบทบาทต่อกฎหมายภายในมากนัก
อย่างไรก็ดี ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติลง บทบาทของกฎหมายระหว่างประเทศต่อกฎหมายภายในได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัด การจัดตั้งองค์การสหประชาชาติ (United Nations) ขึ้นในปี ๑๙๔๕ ทำให้กฎหมายระหว่างประเทศมีบทบาทต่อกฎหมายภายในมากขึ้น และการจัดทำข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า (General Agreement on Tariffs and Trade: GATT) ขึ้นในปี ๑๙๔๗ และการดำเนินกิจกรรมของประเทศต่าง ๆ ทั้งในระดับพหุภาคีและทวิภาคีต่าง ๆ เช่น การจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (European Economic Community: EEC) การจัดทำข้อตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ก็ยิ่งทำให้กฎหมายระหว่างประเทศและพันธกรณีระหว่างประเทศทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี (Bilateral and Plurilateral Obligations) ที่ยังไม่ถึงขนาดที่เป็นกฎหมายระหว่างประเทศเข้ามามีบทบาทต่อกฎหมายภายในมากขึ้นด้วย เพราะรัฐที่ไม่สามารถพัฒนากฎหมายภายในให้สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศและพันธกรณีระหว่างประเทศดังกล่าวได้ย่อมเสียโอกาสในการแข่งขันทางการค้าและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ จึงทำให้ประเทศต่าง ๆ มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมากขึ้น (Interdependent) และยิ่งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) และระบบการคมนาคมขนส่ง (Logistics) ได้พัฒนาอย่างก้าวกระโดดนับแต่ช่วงทศวรรษ ๑๙๘๐s เป็นต้นมา ได้ทำให้ผู้คนในโลกมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมากขึ้นและมีความคิดหรือทัศนคติในเรื่องต่าง ๆ ไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้นหรือเป็นสากลมากขึ้น กฎหมายระหว่างประเทศและพันธกรณีระหว่างประเทศจึงยิ่งมีอิทธิพลต่อกฎหมายภายใน ประเทศไทยเราเองก็อยู่ในกระแสการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ด้วย เราไม่ได้เป็นรัฐอิสระอย่างแท้จริงอย่างที่เคยเป็นเมื่อเจ็ดสิบปีที่ผ่านมาอีกต่อไปแล้ว
ดังนั้น การตรากฎหมายในปัจจุบันจึงมีความซับซ้อนมากกว่าการตรากฎหมายในยุคก่อนที่เราไม่ต้องคำนึงถึงอะไรมาก ดูกรอบรัฐธรรมนูญของเราอย่างเดียวเป็นพอซึ่งในทางตำราเรียกการร่างกฎหมายยุคโบราณนี้ว่า Constitutionalism แต่ในยุคนี้เราต้องพิจารณากฎหมายระหว่างประเทศและพันธกรณีระหว่างประเทศที่เราเป็นภาคีด้วยซึ่งในทางตำราเรียกการร่างกฎหมายยุคนี้ว่า Postnational law
กล่าวโดยสรุป ผู้ร่างกฎหมายในปัจจุบัน ซึ่งรวมถึงฝ่ายนิติบัญญัติซึ่งเป็นผู้พิจารณากฎหมายด้วย จะคำนึงถึงเฉพาะแต่รัฐธรรมนูญและกฎหมายภายในอย่างเดียวไม่ได้แล้ว แต่จะต้องคำนึงถึงกฎหมายระหว่างประเทศและพันธกรณีระหว่างประเทศบรรดาที่ประเทศไทยเป็นภาคีด้วย โดยเฉพาะการที่ประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนก็ต้องพัฒนากฎหมายภายในให้รองรับพันธกรณีด้านต่าง ๆ ของประชาคมอาเซียนด้วย และการเตรียมความพร้อมด้านกฎหมายเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนนั้น จะแก้ไขเฉพาะตัวบทกฎหมายอย่างเดียวไม่ได้ แต่จะต้องพัฒนาและปรับปรุงทุกภาคส่วนให้มีความรู้ความเข้าใจในบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปไปพร้อมกันด้วย ทั้งฝ่ายบริหารในฐานะผู้กำหนดนโยบาย เสนอกฎหมายและบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย ฝ่ายนิติบัญญัติในฐานะผู้ตรากฎหมาย ฝ่ายตุลาการซึ่งเป็นผู้ใช้ผู้ตีความกฎหมาย รวมตลอดทั้งประชาชนซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติตามกฎหมาย เพราะทิศทางในการพัฒนาประเทศเมื่อก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนจะคำนึงถึงนโยบายภายในประเทศอย่างเดียวไม่ได้ แต่จะต้องคำนึงถึงนโยบายโดยรวมของประชาคมอาเซียนด้วย โดยใช้กฎบัตรอาเซียนและบรรดาความตกลงต่าง ๆ ของอาเซียนเป็นแนวทางในการดำเนินการ
จุลนิติ : ประชาคมอาเซียนได้อาศัยกลไกใดในการติดตามตรวจสอบการอนุวัติการกฎหมายภายในของรัฐภาคีให้สอดคล้องกับกฎบัตรอาเซียน ปฏิญญาอาเซียน และบันทึกความตกลงในเรื่องต่าง ๆ ของอาเซียน และในกรณีที่รัฐภาคีไม่ปฏิบัติตามพันธกรณีดังกล่าวจะมีมาตรการบังคับหรือไม่ อย่างไร
นายปกรณ์ ฯ : ประชาคมอาเซียนเป็นการรวมตัวกันของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวน ๑๐ ประเทศ เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันด้านความมั่นคงทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมบนหลักการพื้นฐานของการเป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน โดยประเทศภาคีสมาชิกของประชาคมอาเซียนมีความผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้กรอบของกฎบัตรอาเซียน ปฏิญญาอาเซียน และบันทึกความตกลงในเรื่องต่าง ๆ ของอาเซียน ในกรณีที่ประเทศภาคีของประชาคมอาเซียนไม่ปฏิบัติตามพันธกรณีที่ได้ตกลงกันไว้ ในทางปฏิบัตินั้นไม่มีการกำหนดมาตรการบังคับทางกฎหมายโดยตรง อย่างไรก็ตาม ในทางสังคมระหว่างประเทศ เมื่อรัฐใดไม่ปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศย่อมไม่เป็นที่ยอมรับของรัฐอื่นซึ่งเป็นมาตรการบังคับทางอ้อมให้ประเทศภาคีต้องปฏิบัติตามพันธกรณีต่างๆ ของอาเซียน
ปัจจุบันปัญหาสำคัญของประเทศไทยในการติดตามตรวจสอบการอนุวัติการกฎหมายภายในให้สอดคล้องกับกฎบัตรอาเซียน ปฏิญญาอาเซียน และบันทึกความตกลงในเรื่องต่างๆ ของอาเซียน คือ การขาดฐานข้อมูลกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนที่ครบถ้วนสมบูรณ์ โดยแต่ละหน่วยงานจะมีฐานข้อมูลสำหรับใช้ประโยชน์ในภารกิจของตนเองแต่ขาดการบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นระบบเดียวกัน  ดังนั้น ควรจะมีการรวบรวมข้อมูลกฎหมายภายในที่เกี่ยวข้องกับประชาคมอาเซียนและมีหน่วยงานที่เป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงในการจัดทำและบริการจัดการฐานข้อมูลกลางซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในการการสืบค้นข้อมูลและติดตามความเคลื่อนไหวของกฎหมายในกลุ่มอาเซียนและการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
         จุลนิติ : เพื่อเป็นการรองรับการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนนั้น ในทรรศนะของท่านคิดว่ากฎหมายฉบับใดที่มีความสำคัญและจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องตราขึ้น หรือต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมหรือปรับปรุงเพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในประชาคมอาเซียนและเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของประชามคมอาเซียนทั้งสามเสาหลักให้มีความมั่นคงและยั่งยืน
         นายปกรณ์ ฯ : การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนนั้น ประกอบด้วย ๓ เสาหลัก คือ

         ๑) ประชาคมการเมืองความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community หรือ APSC) ซึ่งได้มีข้อตกลงระหว่างสมาชิกของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๗๖ คือ สนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation หรือ TAC) โดยมีหลักการสำคัญของสนธิสัญญาว่าจะไม่รุกรานกัน เคารพสิทธิในเอกราช การมีอำนาจอธิปไตย ความเท่าเทียมกัน ความมั่นคงทางดินแดนและเอกลักษณ์แห่งชาติของทุกประเทศ มีความร่วมมือทางความมั่นคง ทางการเมือง ทางการทหาร ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจะละเอียดอ่อน รวมถึงเน้นการไม่ก้าวก่ายกิจการภายในของแต่ละประเทศ เพราะฉะนั้นในเรื่องของความมั่นคงจึงไม่มีข้อใดที่น่ากังวล

         ๒) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community หรือ AEC) เป็นความร่วมมือในการก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันหรือช่วยเหลือเกื้อกูลกันด้านเศรษฐกิจระหว่างประชาชนคนไทยกับประชาชนในกลุ่มประเทศอาเซียนที่เท่าเทียมกัน กล่าวคือ จะทำให้เกิดตลาดและฐานการผลิตเดียว (single Market) ทำให้มีอำนาจทางการตลาดในการต่อรองกับประเทศในภูมิภาคอื่น ๆ ได้ โดยมีพันธกรณีที่ต้องปฏิบัติร่วมกันเพื่อให้เกิด Free Flow ในเรื่องสินค้า บริการ แรงงานฝีมือ ทุนและการลงทุน เช่น เรื่องสัญชาติของผู้ประกอบธุรกิจซึ่งเป็นชาวต่างชาติ เรื่องที่อยู่อาศัยของผู้ประกอบธุรกิจ หรือเรื่องการให้คนสัญชาติอาเซียนสามารถถือหุ้นในนิติบุคคลได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ ๗๐ เป็นต้น และ

         ๓) ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community หรือASCC) จะเห็นได้ว่าแต่ละประเทศของสมาชิกอาเซียนนั้นต่างมีอัตลักษณ์เป็นของตัวเองที่ไม่เหมือนกัน การเชื่อมโยงกันระหว่างประเทศสมาชิกในเรื่องนี้จึงกระทำได้ค่อนข้างยากและต้องใช้ระยะเวลานาน

         ดังนั้น การพิจารณาว่ากฎหมายฉบับใดที่มีความสำคัญและจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องตราขึ้น หรือต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในประชาคมอาเซียน จึงต้องให้ความสำคัญกับการตราหรือการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเสาหลักเศรษฐกิจก่อนเป็นลำดับแรก ทั้งนี้ สามารถแบ่งแยกออกได้ ๔ กลุ่มด้วยกัน คือ

         กลุ่มที่ ๑ คือ กฎหมายที่จะเป็นอุปสรรคต่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนหรือการปฏิบัติตามพันธกรณีที่กำหนดไว้ในกฎบัตรอาเซียน

         เนื่องจากกลไกตามกฎหมายของประเทศไทยที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันเป็นจำนวนมากยังใช้ระบบการควบคุมอย่างใกล้ชิดผ่านการอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาต ฯลฯ กับการประกอบกิจกรรมเกือบทุกประเภทซึ่งส่วนใหญ่เป็นการประกอบธุรกิจของภาคเอกชน ซึ่งมีที่มาจากแนวคิดและทัศนคติของภาครัฐในการบริหารประเทศไทยตั้งแต่ดั้งเดิมมาจนถึงปัจจุบัน กล่าวคือ มุ่งดูแลผลประโยชน์ของชาติและคนไทยทั้งด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคม หรือผลประโยชน์ของประเทศไทยหรือ “คนไทยต้องมาก่อน” อันเป็นทัศนคติของรัฐเดี่ยวเมื่อสมัยเจ็ดสิบปีก่อน เช่น กฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ที่ได้กำหนดในเรื่องสัดส่วนการถือหุ้นของคนต่างด้าวในนิติบุคคล รวมถึงกำหนดห้ามไม่ให้คนต่างด้าวประกอบกิจการธุรกิจบางประเภทที่เป็นธุรกิจที่คนไทยยังไม่พร้อมจะแข่งขันกับคนต่างด้าว ซึ่งไม่สอดคล้องกับบทบาทและพันธกิจของภาครัฐที่ต้องเปลี่ยนไปจากเดิมเมื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียนซึ่งต้องปฏิบัติต่อคนไทยและคนอาเซียนอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งระบบควบคุมอย่างใกล้ชิดผ่านการอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาต ฯลฯ นั้น ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีดุลพินิจในการอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาต ฯลฯ มากมาย ซึ่งก่อให้เกิดผลของปัญหาที่ตามมา กล่าวคือ เป็นการสร้างขั้นตอนและกฎระเบียบต่าง ๆ ที่หลากหลายให้ต้องปฏิบัติตามทั้งในส่วนของภาครัฐและผู้ยื่นคำขอเกินความจำเป็น อันเป็นการขยายภารกิจของรัฐออกไปอีกเพราะรัฐต้องควบคุมในทุก ๆ เรื่อง ผลที่ตามมานอกจากจะทำให้รัฐต้องมีบุคลากรเป็นจำนวนมากเพื่อทำหน้าที่รองรับภารกิจนั้นแล้ว ยังทำให้รัฐต้องใช้จ่ายเงินภาษีอากรเพื่อเป็นค่าตอบแทนบุคลากรเหล่านี้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย รวมถึงค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อและบำรุงรักษาอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่เป็นไปตามกฎหมาย อีกทั้งยังเป็นการสร้างต้นทุนในการประกอบกิจการต่าง ๆ ของประชาชนอีก ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องตัวเงินเกี่ยวกับการขออนุญาต หรือในเรื่องเวลาที่ต้องใช้ในการดำเนินการ เป็นต้น

         ดังนั้น ประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลายจึงได้ปรับเปลี่ยนกลไกหรือพัฒนากฎหมายภายในของเขาใหม่จากการใช้ระบบการควบคุมดังกล่าวมาเป็นระบบกำกับดูแลและระบบส่งเสริมเป็นส่วนใหญ่ และใช้ระบบควบคุมเฉพาะเพียงเรื่องที่จำเป็นเท่านั้น ตัวอย่างเช่นระบบกฎหมายของประเทศสิงคโปร์ ซึ่งทำให้ประเทศสิงคโปร์พัฒนาได้อย่างรวดเร็ว เพราะภาครัฐของประเทศสิงคโปร์จะทำหน้าที่เข้ามาควบคุมก็แต่เฉพาะเรื่องที่จำเป็นเท่านั้น และผลในทางอ้อมทำให้ระบบราชการของประเทศสิงคโปร์มีขนาดเล็กแต่ประสิทธิภาพในการทำงานสูงเพราะไม่ต้องวุ่นวายไปทุกเรื่อง และมีการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อส่งเสริมและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการประกอบกิจการทางธุรกิจหรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจอยู่ตลอดเวลา

         เพราะฉะนั้น ปัญหาสำคัญของไทยขณะนี้ก็คือจะทำอย่างไรที่จะเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับมาตรฐานการทำงานของระบบราชการไทยในการตอบสนองต่อภารกิจของรัฐและการให้บริการประชาชน ตลอดจนปรับบทบาทและภารกิจของระบบราชการให้ทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลก และให้มีการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือในด้านการพัฒนาคนระหว่างข้าราชการของกลุ่มประเทศอาเซียน เพื่อให้กำลังคนภาครัฐของภูมิภาคอาเซียนมีความรู้ความสามารถและมีวิสัยทัศน์ที่ยาวไกล ตลอดจนเป็นผู้ที่มีความสามารถต่อการบริหารการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเหมาะสม

         กลุ่มที่ ๒ กฎหมายส่งเสริมการลงทุนในรัฐอื่นที่เป็นภาคีของประชาคมอาเซียน

         ปัจจุบันผู้ประกอบการในประเทศไทยได้มีการขยายการลงทุนไปในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศในประชาคมอาเซียนมากขึ้นเป็นลำดับเพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากพันธกรณีต่าง ๆ แต่ก็เป็นการลงทุนของผู้ประกอบการรายใหญ่เพียงไม่กี่รายเท่านั้น กรณีจึงอาจต้องสร้างแรงจูงใจ ส่งเสริม หรืออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการไทยทุกระดับไปลงทุนในอาเซียนให้มากขึ้น รวมทั้งจัดให้มีฐานข้อมูลกลางด้านกฎหมายของรัฐอื่นที่เป็นภาคีของประชาคมอาเซียน เพื่อให้คนไทยได้มีโอกาสศึกษาข้อมูลกฎหมายของรัฐภาคีเหล่านั้นก่อนที่จะไปลงทุนด้วย

         กลุ่มที่ ๓ กฎหมายสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อรองรับกับสภาพปัญหาจากการเข้าร่วมประชาคมอาเซียน

         เนื่องจากการหลั่งไหลเข้ามาของสินค้า บริการ แรงงานฝีมือ ทุนและการลงทุนจากสมาชิกอื่นของอาเซียนตามหลัก Free flow of goods, services, skilled labor, capital and investment อันเป็นหัวใจของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนนั้นย่อมส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจและสุขอนามัยและความปลอดภัยของผู้บริโภคภายในประเทศโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แม้ปัจจุบันประเทศไทยจะมีมาตรการทางกฎหมายที่เป็นภูมิคุ้มกันสภาพปัญหาลักษณะดังกล่าวหลายมาตรการก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นมาตรการตามกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้า กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค กฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง กฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว เป็นต้น แต่เห็นว่าประเทศไทยยังมีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงกลไกหรือพัฒนากฎหมายภายในเหล่านี้ให้สอดคล้องกับหลักการตามพันธกรณีภายใต้กรอบการค้าเสรีของอาเซียนในปัจจุบันด้วย ซึ่งหากรัฐไม่สามารถรักษาสภาพการแข่งขันทางการค้าของผู้ประกอบการในตลาดให้คงสภาพที่เป็นธรรมได้ ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมภายในประเทศอาจไม่สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการจากประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่ามากหรือที่ใช้มาตรการทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมต่าง ๆ ได้ และในส่วนของผู้บริโภคก็อาจได้รับผลกระทบต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินจากการบริโภคสินค้าราคาถูกแต่ไม่มีคุณภาพและความปลอดภัย ที่ได้นำสินค้าเข้ามาจำหน่ายในราชอาณาจักรด้วย

         กลุ่มที่ ๔ กฎหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development)

                        เนื่องจากการที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนตามหลัก Market oriented economy นั้น แม้จะช่วยส่งเสริมต่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่เพิ่มขึ้นก็ตาม แต่ก็ได้ส่งผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นเดียวกัน  ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยคำนึงถึงผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมควบคู่กันไปด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้การประกอบกิจการทางการค้าในด้านต่าง ๆ ภายหลังเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนก็เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งอาจต้องมีการปรับปรุงหรือแก้ไขกฎหมายภายในที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข กฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรม กฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม กฎหมายว่าด้วยการจัดสรรและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ เป็นต้น
         จุลนิติ : อยากทราบว่าในปัจจุบันกลุ่มประเทศอาเซียนนั้นมีกลไกหรือวิธีการใดภายใต้กรอบของกฎบัตรอาเซียนและความตกลงต่าง ๆ ของอาเซียน ในการที่จะจัดให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลทางด้านกฎหมายของประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียนไว้เป็นแหล่งข้อมูลเดียวกัน อันจะเป็นประโยชน์ในการศึกษาเปรียบเทียบเพื่อรองรับและสนับสนุนภารกิจงานด้านนิติบัญญัติของรัฐสภาในการตรากฎหมายภายในให้มีมาตรฐานเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน
          นายปกรณ์ ฯ : การเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน (ASEAN Connectivity) อาศัยกลไกที่สำคัญ คือ แผนแม่บทว่าด้วยการเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน (Master Plan on ASEAN Connectivity) ที่ได้รับความเห็นชอบจากผู้นำอาเซียนทั้ง ๑๐ ประเทศ ในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ ๑๗ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๓ โดยมีเจตนารมณ์เพื่อจะเร่งรัดการเชื่อมโยงสมาชิกทั้ง ๑๐ ประเทศให้เป็นหนึ่งเดียว ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านประชาชน และด้านกฎหมาย โดยมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อการสนับสนุนการสร้างประชาคมอาเซียนอย่างแท้จริงภายในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ซึ่งจะมีคณะทำงานสาขาต่าง ๆ ของอาเซียนเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักในการดำเนินการในแต่ด้านให้บรรลุเป้าหมายตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ในแผนแม่บท ทั้งนี้ การเชื่อมโยงข้อมูลด้านกฎหมายของประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียนนอกจากมีการดำเนินการโดยผ่านกลไกดังกล่าวแล้วยังมีสมาคมกฎหมายอาเซียน (The ASEAN Law Association หรือ ALA) ที่ได้รวบรวมฐานข้อมูลด้านกฎหมายเหล่านี้ไว้ด้วยเช่นกัน แต่มีข้อสังเกตว่าในส่วนข้อมูลด้านกฎหมายของประเทศไทยนั้นมักจะไม่ได้มีการดำเนินการจัดทำคำแปลกฎหมายแต่ละฉบับไว้เป็นภาษาอังกฤษ ดังนั้น รัฐบาลจึงควรกำหนดเป็นนโยบายที่ชัดเจนให้กระทรวงที่มีอำนาจหน้าที่ในการรักษาการให้เป็นไปตามกฎหมายแต่ละฉบับได้จัดให้มีการแปลกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงนั้น ๆ เป็นภาษาอังกฤษซึ่งถือว่าเป็นภาษากลางหรือภาษาทางราชการของอาเซียนด้วย และให้ดำเนินการเผยแพร่ในเว็ปไซต์ของกระทรวงนั้น และใน Royal Thai Government Portal รวมถึงรวบรวมไว้ที่รัฐสภา ทั้งนี้ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนต่างชาติในการศึกษาและวิเคราะห์การบริหารจัดการความเสี่ยงที่จะมาลงทุนในประเทศไทย นอกจากนี้การแปลกฎหมายเป็นฉบับภาษาอังกฤษ ซึ่งสามารถจะยังประโยชน์ในเรื่องการป้องกันการทุจริตของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเนื่องมาจากเหตุที่นักลงทุนต่างชาติไม่รู้กฎหมายไทยได้อีกด้วย
         จุลนิติ : บทสรุปส่งท้าย และข้อเสนอแนะอื่น ๆ อันจะเป็นประโยชน์ในการเตรียมความพร้อมและพัฒนางานด้านนิติบัญญัติของรัฐสภา เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
         นายปกรณ์ ฯ : สำหรับการเตรียมความพร้อมงานด้านนิติบัญญัติของรัฐสภาเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนนั้น รัฐบาลและรัฐสภาควรร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการกำหนดให้มีหน่วยงานกลางในการจัดทำและสนับสนุนข้อมูลบรรดาพันธกรณีที่ประเทศไทยเข้าผูกพันในเรื่องต่าง ๆ ต้องดำเนินการอนุวัติการกฎหมาย เพื่อให้หน่วยงานของรัฐสามารถตรวจสอบได้ว่ากฎหมาย กฎ ระเบียบต่าง ๆ บรรดาที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานของรัฐนั้น ๆ ว่าเป็นปัญหาอุปสรรคหรือสอดคล้องกับพันธกรณีในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนหรือไม่ อย่างไร หรือมีกฎหมายฉบับใดบ้างที่ควรปรับปรุงหรือแก้ไขเพื่อส่งเสริมการลงทุนในรัฐอื่นที่เป็นภาคีของประชาคมอาเซียนหรือเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประเทศหรือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ เพื่อที่หน่วยงานของรัฐเหล่านั้นจะได้เสนอรัฐบาลว่าสมควรปรับปรุงหรือแก้ไขกฎหมายเหล่านั้นอย่างไร และกฎหมายฉบับใดบ้างที่มีความสำคัญที่จะต้องเร่งรัดดำเนินการปรับปรุงหรือแก้ไขตามลำดับก่อนหลัง ประการสำคัญที่สุด คือ ถึงเวลาแล้วที่ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติควรที่จะร่วมกันผลักดันอย่างต่อเนื่อง และจริงจัง ในการปรับเปลี่ยนทัศนะคติและบทบาทของภาครัฐจากผู้ควบคุมการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ผ่านการอนุมัติ อนุญาต ออกใบอนุญาต ที่มีมากกว่าร้อยละ ๙๐ ของกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ มาเป็นผู้ส่งเสริมหรืออำนวยความสะดวกแก่ภาคเอกชนซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการต่าง ๆ และเป็นกรรมการในการกำกับดูแลให้ผู้ประกอบกิจการทั้งหลายประกอบกิจการเพื่อให้เป็นไปตามกติกาที่วางไว้ โดยใช้ระบบควบคุมเฉพาะกับเรื่องที่มีความจำเป็นต้องควบคุมอย่างแท้จริงเท่านั้น เช่น เรื่องที่อาจกระทบกระเทือนต่อการรักษาความมั่นคง ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นต้น ซึ่งหากปฏิบัติการดังที่กล่าวมาแล้ว เชื่อได้เลยว่ากฎหมายไทยจะสามารถก้าวทันตามความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกเหมือนดังเช่นประเทศที่พัฒนาแล้วได้ในอนาคต.




[๑]นบ. (ธรรมศาสตร์) LL.M. (University of Sydney) ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง กรรมการร่างกฎหมายประจำ (นักกฎหมายกฤษฎีกาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
[๒]ลงพิมพ์ในวารสารจุลนิติ ปีที่ ๑๐ ฉบับที่ ๑ มกราคม – กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น