วันอังคารที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2557

การประชุมของวุฒิสภาในห้วงที่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร

                                                                                                      นายปกรณ์ นิลประพันธ์[1]

                   ช่วงนี้มีการถกเถียงกันมากมายว่า ในระหว่างที่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรนั้น วุฒิสภาจะประชุมเพื่อดำเนินกิจการตามมาตรา 132 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้หรือไม่

                   ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าไม่ได้ เพราะการเรียกประชุมต้องเป็นการเรียกประชุม “รัฐสภา” และตามมาตรา 88 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญฯ บัญญัติว่า “รัฐสภาประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา”  ดังนั้น เมื่อยังไม่มีสภาผู้แทนราษฎร มีแต่วุฒิสภา จะถือเป็นการเรียกประชุมรัฐสภาได้อย่างไร

                   อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าสามารถประชุมได้ เพราะสภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภานั้น เป็นคนละองค์กรกัน อำนาจหน้าที่ก็ต่างกันอย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งมาตรา 132 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ก็เปิดช่องให้มีการเรียกประชุมวุฒิสภาได้ ปัญหาคงมีเพียงว่าจะต้องตราพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภาหรือไม่

                   ผู้เขียนเห็นว่า จริงอยู่ที่มาตรา 88 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 บัญญัติว่า “รัฐสภาประกอบด้วยสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา”แต่บทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภานั้นเป็นคนละองค์กรกัน และหากพิจารณาบทบัญญัติต่าง ๆ ในหมวด 6 ที่ว่าด้วยรัฐสภา จะเห็นได้ว่าสภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภานั้นมี “ที่มา” และ “อำนาจหน้าที่” แตกต่างกัน ดังนั้น มาตรา 88 วรรคสอง จึงได้บัญญัติรองรับแนวทางการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภาไว้อย่างชัดเจนว่า “รัฐสภาจะประชุมร่วมกันหรือแยกกัน ย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้” ซึ่งมาตรา 132 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้บัญญัติให้วุฒิสภาดำเนินการประชุมในระหว่างที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบไว้ดังนี้
                   “มาตรา 132  ในระหว่างที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ จะมีการประชุมวุฒิสภามิได้ เว้นแต่เป็นกรณีดังต่อไปนี้
                   (1) การประชุมที่ให้วุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภาตามมาตรา 19 มาตรา 21 มาตรา 22 มาตรา 23 และมาตรา 189 โดยถือคะแนนเสียงจากจำนวนสมาชิกของวุฒิสภา
                   (2) การประชุมที่ให้วุฒิสภาทำหน้าที่พิจารณาให้บุคคลดำรงตำแหน่งใดตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
                   (3) การประชุมที่ให้วุฒิสภาทำหน้าที่พิจารณาและมีมติให้ถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง”

                   ดังนั้น ผู้เขียนจึงมีความเห็นว่าการประชุมวุฒิสภาในระหว่างที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบนั้นเป็นเรื่องที่กระทำได้ หากใช้ "ความมีอยู่" ของสภาผู้แทนราษฎรเป็น “เงื่อนไข” ในการประชุมวุฒิสภา ก็จะส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่ของวุฒิสภาตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญโดยตรง

                   อย่างไรก็ดี กรณีมีปัญหาที่จะต้องพิจารณาต่อไปว่าการเรียกประชุมวุฒิสภาในช่วงที่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรนั้นจะต้องทำอย่างไร

                   ผู้เขียนเห็นว่าในการเรียกประชุมรัฐสภาอันได้แก่สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภานั้น รัฐธรรมนูญไทยกำหนด "แบบพิธี" ในการเรียกประชุมไว้โดยเฉพาะโดยการตราเป็นพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุม แบบพิธีนี้ถือปฏิบัติมานมนานนับแต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับแรก  เมื่อเป็นเช่นนี้การเรียกประชุมวุฒิสภาในช่วงที่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรจึงต้องกระทำโดยการตราขึ้นเป็นพระราชกฤษฎีกาเท่านั้น

                   ทั้งนี้ ผู้เขียนเห็นว่า "การเรียกประชุม" ตามรัฐธรรมนูญฯ แตกต่างจาก "การเชิญประชุม" ตามข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา โดยการเรียกประชุมเป็นแบบพิธีในการ "เปิดสมัยประชุม" และเมื่อเปิดสมัยประชุมแล้ว การเชิญสมาชิกวุฒิสภามาประชุมในระหว่างสมัยประชุมจึงจะดำเนินการ "เชิญประชุม" ตามวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา

                   จากการตรวจสอบย้อนหลัง ผู้เขียนพบว่าเคยมีการตราพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภาในช่วงที่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรมาแล้วในปี 2549 โดยในช่วงเวลานั้นมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ประกอบกับอายุของวุฒิสภาได้สิ้นสุดลง และสมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับเลือกตั้งใหม่ยังมิได้เข้ารับหน้าที่ สมาชิกวุฒิสภาที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่อายุของวุฒิสภาสิ้นสุดลงจึงต้องทำหน้าที่ต่อไปตามมาตรา 131 ประกอบกับมาตรา 168 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 (ซึ่งมาตรา 132 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันก็มีเนื้อหาสาระเช่นเดียวกับมาตรา 168 ของรัฐธรรมนูญฯ 2540 นั่นแหละ) โดยในช่วงนั้นมีความจำเป็นที่จะต้องมีการประชุมวุฒิสภาเพื่อดำเนินการเลือก แต่งตั้ง ให้คำแนะนำ หรือให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ประธานวุฒิสภาในขณะนั้นจึงมีหนังสือกราบเรียนนายกรัฐมนตรีที่ต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปเมื่อมีการยุบสภา ว่าสมควรเรียกประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญขึ้น เพื่อให้สมาชิกวุฒิสภาที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันที่อายุของวุฒิสภาสิ้นสุดลงดำเนินการประชุมได้ต่อไป

                   เมื่อได้รับแจ้งเช่นนี้ นายกรัฐมนตรีที่ต้องอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปเมื่อมีการยุบสภาจึงได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา พ.ศ. 2549 ขึ้น เนื่องจากมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งรัฐ

                   ดังนี้ การตราพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภาในช่วงที่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรมาจึงมิใช่เรื่องใหม่แต่ประการใด

                   มีข้อพิจารณาต่อไปว่าเมื่อมีการตราพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภาในช่วงที่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้วุฒิสภาสามารถดำเนินการประชุมได้นั้น วุฒิสภาจะประชุมในเรื่องใดได้บ้าง

                   ผู้เขียนเห็นว่า แม้มาตรา 132 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 จะเปิดช่องให้มีการประชุมวุฒิสภาในระหว่างที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบได้ แต่บทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่มีลักษณะเป็น “ข้อยกเว้น” โดยบัญญัติว่า “ในระหว่างที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ จะมีการประชุมวุฒิสภามิได้ เว้นแต่เป็นกรณีดังต่อไปนี้” ดังนั้น การตีความบทบัญญัติมาตรา 132 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 จึงต้องตีความอย่างจำกัดและเคร่งครัด จะตีความโดยขยายความมิได้ อันเป็นหลักสากลในการตีความกฎหมาย

                   เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้เขียนจึงเห็นว่าการประชุมวุฒิสภาในระหว่างที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบจึงจำกัดเฉพาะกรณีที่บัญญัติไว้ชัดแจ้งในมาตรา 132 (1) (2) และ (3) เท่านั้น จะประชุมเรื่องอื่นมิได้ หากมีการประชุมเรื่องอื่นแถมพกเข้าไปด้วย ก็อาจเข้าลักษณะเป็นการกระทำนอกขอบอำนาจ (ultra vires) และอาจมีผู้ยกขึ้นว่าวุฒิสภาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบก็ได้



                        [1]กรรมการร่างกฎหมายประจำ (นักกฎหมายกฤษฎีกาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (2557) อนึ่ง บทความนี้เป็นความเห็นทางวิชาการของผู้เขียน สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องด้วย. 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น