วันพุธที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2557

เกร็ดการร่างกฎหมาย 1: การนำบทบัญญัติของกฎหมายอื่นมาใช้บังคับโดยอนุโลม

นายปกรณ์ นิลประพันธ์[1]

เหตุผล

                   การบัญญัติให้นำบทบัญญัติของกฎหมายอื่นมาใช้บังคับโดยอนุโลมเป็นวิธีการร่างกฎหมายแบบหนึ่งที่จำเป็นและมีประโยชน์ในด้านประหยัดเวลาในการร่างกฎหมาย ลดปริมาณของบทกฎหมายโดยไม่ต้องบัญญัติซ้ำซ้อนในเรื่องทำนองเดียวกัน และลดความยุ่งยากที่จะเกิดขึ้นจากการคิดบทบัญญัติขึ้นใหม่ให้แตกต่างไปจากเดิม โดยนำบทบัญญัติเดิมซึ่งได้มีการนำมาใช้บังคับแล้วและไม่เคยเกิดปัญหามาใช้บังคับ แทนการคิดบทบัญญัติขึ้นใหม่ซึ่งอาจไม่ครบถ้วนหรือก่อให้เกิดปัญหาในการตีความได้
                   นอกจากนี้ ในทางปฏิบัติบ่อยครั้งที่การกำหนดให้นำบทบัญญัติของกฎหมายอื่นมาใช้บังคับโดยอนุโลม ทำให้กฎหมายสามารถผ่านการพิจารณาของรัฐสภาได้โดยง่ายปราศจากความยุ่งยากทางการเมือง
                   
ความหมาย

                  "อนุโลม" ก. ใช้แทนกันได้ตามความเหมาะสม, คล้อยตาม; (กฎ) นำมาใช้โดยอาศัยหลักการอย่างเดียวกันแต่ให้แก้ไขในรายละเอียดได้ตามควรแก่กรณี.  (ละติน mutatis mutandis)

การนำมาใช้

                   1. นำมาใช้ได้ทั้งในส่วนสารบัญญัติและวิธีสบัญญัติ แต่ต้องตีความโดยเคร่งครัดเพราะเป็นการอนุโลมเอาบทบัญญัติของกฎหมายอื่นมาใช้เท่านั้นซึ่งต้องไม่ขัดต่อหลักกฎหมายทั่วไปและหลักการของกฎหมายที่นำมาอนุโลมใช้
                   2. สามารถนำมาใช้สำหรับการบัญญัติให้นำบทกำหนดความผิดและบทกำหนดโทษของกฎหมายหนึ่งมาใช้บังคับแก่การกระทำในอีกกฎหมายหนึ่งได้
                  3. การนำมาใช้ตาม 2. ต้องบัญญัติไว้โดยชัดแจ้ง เพราะตามหลักกฎหมายทั่วไปนั้น บุคคลจะไม่ต้องรับโทษอาญาเว้นแต่จะได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำนั้นบัญญัติไว้เป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่บุคคลนั้นจะหนักกว่าโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำความผิดมิได้ หากไม่มีการบัญญัติเรื่องบทกำหนดความผิดและบทกำหนดโทษว่าให้นำมาใช้บังคับโดยชัดแจ้งแล้ว ผู้กระทำการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นความผิดย่อมไม่อาจทราบได้ว่า เมื่อตนกระทำการดังกล่าวแล้วจะเป็นความผิดและจะต้องได้รับโทษอาญา และก็จะมีผลเสมือนว่า กฎหมายนั้นมิได้บัญญัติบทกำหนดความผิดและบทกำหนดโทษสำหรับการกระทำดังกล่าวไว้เป็นการเฉพาะแต่อย่างใด

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

                   เรื่องเสร็จที่ 271/2545 (ประชุมใหญ่)
                    พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2544




[1]กรรมการร่างกฎหมายประจำ (นักกฎหมายกฤษฎีกาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (2557) 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น