นายปกรณ์
นิลประพันธ์[1]
วลีอมตะที่ว่า “การปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นการปกครองของประชาชน
โดยประชาชน และเพื่อประชาชน” แสดงให้เห็นถึง “แก่น”
อันแท้จริงของการปกครองในระบอบนี้อย่างชัดเจนที่สุด โดยเฉพาะวรรคสุดท้ายที่เน้นย้ำว่าการปกครองในระบอบประชาธิปไตยต้องเป็นไป
“เพื่อประชาชน”
ดังนั้น การบริหารราชการแผ่นดินในระบอบประชาธิปไตยจึงต้องเป็นไปโดยสอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของประชาชน
ซึ่งเราเรียกกันติดปากว่าต้องยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางนั่นเอง
ไม่ใช่ยึดผลประโยชน์ของตน
ญาติพี่น้องของตน หรือพรรคพวกตน
หากพิจารณาในแง่ที่ว่าการบริหารราชการแผ่นดินนั้นต้องใช้จ่ายเงินภาษีอากรที่บังคับเรียกเก็บมาจากประชาชน
การยึดความต้องการของประชาชนเป็นหลักในการบริหารราชการแผ่นดินก็จะยิ่งหนักแน่นมากขึ้นไปอีก
มีคำถามตามมาทันทีว่า แล้วฝ่ายบริหารจะรู้ความต้องการที่แท้จริงของประชาชนได้อย่างไร?
ผู้เขียนพบว่าฝ่ายบริหารของอารยะประเทศบรรดาที่เขาปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้นมีลักษณะร่วมกันประการหนึ่ง คือ เขาเปิดให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลต่าง
ๆ ได้ง่ายและสะดวก และเปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นได้อย่างกว้างขวาง
เพราะเมื่อประชาชนทราบถึงข้อมูลต่าง ๆ และมีช่องทางแสดงความคิดเห็นแล้ว ประชาชนจะสามารถสะท้อนความต้องการที่แท้จริงในเรื่องต่าง
ๆ ออกมา ซึ่งจะทำให้ฝ่ายบริหารได้ข้อมูลที่ตรงกับความต้องการที่แท้จริงของประชาชน
แล้วนำไปกำหนดนโยบายสาธารณะตลอดจนแนวทางในการปรับปรุงการบริหารราชการแผ่นดินให้สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของประชาชนมากที่สุด
ในทางวิชาการเรียกแนวทางดำเนินการเช่นนี้ว่า
Open Government บ้าง Accountable
Government บ้าง Sunshine Policy บ้าง
แต่ที่แน่
ๆ ก็คือ พรรคการเมืองก็ดี ฝ่ายบริหารก็ดี ของอารยะประเทศนั้น ท่านเลิกนั่งเทียนเขียนนโยบายสาธารณะต่าง
ๆ เอาเองมานานแล้ว
โดยที่อารยะประเทศบรรดาที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตยถือว่าการเสนอให้มี
ปรับปรุง แก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายนั้นถือเป็นการจัดทำนโยบายสาธารณะประการหนึ่งด้วยเพราะมีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ดังนั้น ก่อนการเสนอให้มี ปรับปรุง
แก้ไขหรือยกเลิกกฎหมาย ฝ่ายบริหารของประเทศประชาธิปไตยที่พัฒนาแล้วจึงได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ซึ่งอาจเกี่ยวข้องตั้งแต่ก่อนในขั้นตอนการจัดทำร่างกฎหมาย
ไม่ว่าผู้ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับร่างกฎหมายนั้นจะเป็นหน่วยงานของรัฐ เอกชน
หรือประชาชนทั่วไป ทั้งนี้
เพื่อให้ร่างกฎหมายนั้นสามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างแท้จริงและเป็นระบบ
จำกัดสิทธิเสรีภาพและสร้างภาระแก่ประชาชนเพียงเท่าที่จำเป็น และสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนมากที่สุด
อันจะส่งผลในทางอ้อมให้ประชาชนยินยอมพร้อมใจที่จะปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งยังเสริมสร้างความโปร่งใสในการบริหารราชการแผ่นดินอีกทางหนึ่งด้วย
ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น
ผู้เขียนจึงเห็นว่าการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องในการจัดทำร่างกฎหมายไม่ว่าจะเป็นกฎหมายระดับใด
เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมาก เพราะจะทำให้การจัดทำร่างกฎหมายต่าง ๆ สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของประชาชน
และสามารถแก้ไขหรือเยียวยาผลกระทบที่อาจมีต่อประชาชนได้อย่างแท้จริง
สำหรับประเทศไทยนั้น
ที่ผ่านมาผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรืออาจได้รับผลกระทบจากร่างกฎหมายที่เป็น “หน่วยงานของรัฐ”
มีโอกาสในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมายเกือบทุกขั้นตอน เช่น
การที่หน่วยงานผู้ยกร่างกฎหมายจัดการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายที่ตนจัดทำขึ้น
การที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมีหนังสือสอบถามหน่วยงานที่อาจเกี่ยวข้องกับร่างกฎหมายแต่ละฉบับเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีก่อนอนุมัติหลักการของร่างพระราชบัญญัติ
หรือการที่คณะกรรมการกฤษฎีกาเชิญผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปชี้แจงประกอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ
เป็นต้น
แต่ผู้ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากร่างกฎหมายที่เป็น
“เอกชน” และผู้ที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายโดยตรงกลับมีโอกาสน้อยมากที่จะแสดงความคิดเห็นของตนเกี่ยวกับร่างกฎหมายนั้นต่อหน่วยงานของรัฐ
แม้ในระยะหลังหน่วยงานของรัฐผู้จัดทำร่างกฎหมายจะให้ความสำคัญกับการรับฟังความคิดเห็นหรือการระดมความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับร่างกฎหมายที่ตนเป็นผู้จัดทำมากขึ้น
โดยมีการจัดการสัมมนา การจัดเวทีสาธารณะ
และการจัดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องกับร่างกฎหมายบ่อยครั้ง แต่ก็เป็นการรับฟังความคิดเห็นเมื่อมีการจัดทำร่างกฎหมายขึ้นมาแล้ว
ซึ่งดูประหนึ่งเป็นเพียงพิธีกรรมที่จัดขึ้นเพื่อให้สามารถกล่าวอ้างได้ว่ามีการรับฟังความคิดเห็นแล้ว
ผู้เขียนเห็นว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
พุทธศักราช 2550
มีบทบัญญัติหลายมาตราที่แสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์ที่ต้องการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารราชการแผ่นดิน
โดยมาตรา 87 (1) และ (2) ของส่วนที่ 5 แนวนโยบายด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน กำหนดให้รัฐส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินนโยบายและการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
การตัดสินใจทางการเมือง และการจัดทำบริการสาธารณะ ส่วนมาตรา 57 วรรคสอง
ได้ย้ำถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารราชการแผ่นดินโดยกำหนดให้รัฐจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึงก่อนดำเนินการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจ
สังคม การเมือง วัฒนธรรม
รวมทั้งการออกกฎที่อาจมีผลกระทบต่อส่วนได้เสียสำคัญของประชาชน
สำหรับการมีส่วนร่วมของประชาชนใน
“กระบวนการตรากฎหมาย” นั้น
รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้รับรองไว้อย่างชัดเจนในมาตรา 81 (3)
โดยกำหนดให้รัฐต้องจัดให้มีกฎหมายเพื่อจัดตั้งองค์กรเพื่อการปฏิรูปกฎหมายที่ดำเนินการเป็นอิสระเพื่อปรับปรุงและพัฒนากฎหมายของประเทศ
รวมทั้งการปรับปรุงกฎหมายให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญโดยต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายนั้นประกอบด้วย
แม้บทบัญญัติดังกล่าวจะให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายที่ต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่ได้รับผลกระทบ
แต่ผู้เขียนเห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึง “เจตนารมณ์”
ของรัฐธรรมนูญที่แฝงอยู่ในบทบัญญัติดังกล่าวที่ต้องการให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายแต่ละฉบับได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นของตนที่มีต่อร่างกฎหมายนั้น
ๆ และโดยที่ร่างพระราชบัญญัติส่วนใหญ่จัดทำและเสนอโดยฝ่ายบริหาร
ฝ่ายบริหารจึงมีหน้าที่โดยปริยายที่ต้องเปิดให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายแต่ละฉบับได้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายที่ฝ่ายบริหารจัดทำด้วย
เมื่อพิจารณาในเชิงประวัติศาสตร์
ผู้เขียนพบว่าภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่สองในยุโรปได้สิ้นสุดลงในปี ค.ศ. 1946
ประเทศยุโรปตะวันตกเกือบทุกประเทศซึ่งได้รับความเสียหายจากสงครามต่างต้องจัดระเบียบสังคมของตนขึ้นใหม่ทั้งหมดภายใต้กรอบการปกครองแบบเสรีประชาธิปไตย
แต่ละประเทศจึงมีการตรากฎหมายขึ้นเป็นจำนวนมากเพื่อประโยชน์ในการจัดระเบียบสังคมใหม่ดังกล่าว
แม้การตรากฎหมายขึ้นเป็นจำนวนมากเช่นนี้จะทำให้แต่ละประเทศสามารถฟื้นฟูสภาพสังคมและเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว
แต่ก็ทำให้ระบบกฎหมายของทุกประเทศเกิดความซับซ้อนและซ้ำซ้อน
จนกลายเป็นอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ (Economic constraints)
ประกอบกับสภาวการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศในช่วงนั้นเป็นยุคเริ่มต้นของสงครามเย็น
กฎหมายที่ตราขึ้นจำนวนมากจึงใช้ระบบควบคุม (Control system)
ผ่านกระบวนการอนุมัติ อนุญาต หรือให้ความเห็นชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ
ซึ่งการใช้ระบบควบคุมดังกล่าวทำให้ภารกิจของรัฐขยายขอบเขตออกไปมากขึ้นเรื่อย ๆ
อันมีผลให้รายจ่ายประจำของรัฐเพิ่มมากขึ้นทุกปีจนกลายเป็นภาระงบประมาณ
ประเทศในยุโรปที่เป็นสมาชิกของ
Organisation for Economic and Co-operation
Development:
OECD)
หลายประเทศจึงได้ริเริ่ม “แนวคิดว่าด้วยการพัฒนาคุณภาพของกฎหมาย” ขึ้นในช่วงทศวรรษ
1970
และนำมาสู่การจัดทำบทตรวจสอบความจำเป็นในการตรากฎหมาย
(Regulatory
Checklist)
ขึ้น เช่น Blue
Checklist
ของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันในปี ค.ศ. 1984 Gilding Principle
of the Federal Regulatory Policy ของแคนาดาในปี ค.ศ. 1986 เป็นต้น
ต่อมา ในปี ค.ศ. 1995
คณะกรรมการบริหารของ OECD เห็นว่าแนวคิดว่าด้วยการพัฒนาคุณภาพของกฎหมายนี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ
เพราะการมีกฎหมายที่มีคุณภาพสามารถลดอุปสรรคในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
อีกทั้งการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเพื่อประกอบการจัดทำร่างกฎหมายยังส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของ OECD ที่มุ่งส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาประชาธิปไตย
คณะกรรมการบริหารของ OECD จึงได้ออกคำแนะนำว่าด้วยการพัฒนาคุณภาพของกฎหมาย
(Recommendation
on Improving the Quality of Government Regulation) ขึ้น
เพื่อให้ประเทศสมาชิก OECD นำไปใช้
โดยข้อแนะนำประการหนึ่งของคำแนะนำดังกล่าวได้แก่การกำหนดให้ฝ่ายบริหารต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนในการจัดทำร่างกฎหมาย
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
กฎหมายระดับพระราชบัญญัติซึ่งมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
ตามข้อ 9 ของ OECD
Checklist for Regulatory Decision-Making
แนบท้ายคำแนะนำว่าด้วยการพัฒนาคุณภาพของกฎหมายของ OECD เรียกร้องให้ฝ่ายบริหารต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง
(interested
parties)
ประกอบการจัดทำร่างกฎหมายเพื่อความโปร่งใสในการจัดทำร่างกฎหมาย
และการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวจะทำให้ฝ่ายบริหารได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนเพื่อประกอบการจัดทำร่างกฎหมาย
โดย OECD
วางหลักการรับฟังความคิดเห็นว่า
ฝ่ายบริหารต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวข้องในการเสนอให้มีหรือปรับปรุงแก้ไขกฎหมายนั้นได้มากที่สุด
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เหตุผลความจำเป็นที่ฝ่ายบริหารเสนอให้ตรากฎหมายนั้นขึ้น (explanations
of the need for government action) การวิเคราะห์ความคุ้มค่าของกฎหมายที่เสนอ
(assessment
of the benefits and costs) รวมทั้งตัวร่างกฎหมายนั้น (proposed
texts)
OECD เห็นว่าการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบการจัดทำร่างกฎหมาย
จะก่อให้เกิดผลดี 5 ประการ
§ ทำให้ฝ่ายบริหารได้รับข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจว่าสมควรผลักดันร่างกฎหมายนั้นต่อไปหรือไม่
§ ทำให้ฝ่ายบริหารได้รับข้อมูลและความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างกฎหมายนั้นอย่างครบถ้วนและรอบด้านอันจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดกลไกหรือมาตรการต่าง
ๆ ตามกฎหมายที่สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างครบถ้วนและเป็นระบบ
§ ช่วยให้ฝ่ายบริหารทราบผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากร่างกฎหมายนั้นและแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างเหมาะสม
§ เป็นการตรวจสอบความคุ้มค่าของกฎหมายที่เสนอ
§ ช่วยตรวจสอบความซ้ำซ้อนของกฎหมาย
นอกจากนี้ ในรายงาน Checklist
for Law Drafting and Regulatory Management in Central and Eastern Europe นั้น
OECD
เห็นว่าขั้นตอนการจัดทำร่างกฎหมายของฝ่ายบริหารก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะมีมติอนุมัติหลักการของร่างกฎหมายนั้นมีความสำคัญมาก
เพราะเป็นการนำข้อเท็จจริงที่เป็นปัญหาหรือนโยบายของฝ่ายบริหารมาศึกษาวิเคราะห์และพัฒนา
(Policy
development)
เพื่อจัดทำร่างกฎหมาย (Preparation of the legislative text)
ขึ้นเป็นครั้งแรก
หากการวิเคราะห์สภาพปัญหาหรือนโยบายของฝ่ายบริหารเป็นไปอย่างถูกต้องและวางอยู่บนข้อเท็จจริงที่ครบถ้วนรอบด้าน
ก็จะทำให้ฝ่ายบริหารสามารถกำหนดกลไกหรือมาตรการในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นหรือรองรับนโยบายได้อย่างเหมาะสม
เป็นระบบ และกระทบกระเทือนสิทธิหรือเสรีภาพของประชาชนน้อยที่สุด
ซึ่งจะส่งผลให้ร่างกฎหมายที่จัดทำขึ้นมีความครบถ้วนสมบูรณ์มากที่สุดด้วย
ส่วนขั้นตอนการตรวจพิจารณาร่างกฎหมายโดยองค์กรผู้เชี่ยวชาญด้านการตรวจพิจารณาร่างกฎหมายนั้น
เนื่องจากเป็นเรื่องทางเทคนิคกฎหมายและเป็นการดำเนินการภายใต้กรอบหรือหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ตัดสินใจในทางนโยบาย
(Policy
approval) ไปแล้ว
การตรวจพิจารณาร่างกฎหมายจึงเป็นการปรับปรุงร่างกฎหมายให้ตรงตามหลักการที่ได้รับอนุมัติให้มากที่สุดเท่านั้น
การรับฟังความคิดเห็นในชั้นการจัดทำร่างกฎหมายจึงมีความสำคัญมากกว่าในชั้นการตรวจพิจารณาร่างกฎหมาย
ทั้งนี้
OECD วางหลักการรับฟังความคิดเห็นของผู้ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับร่างกฎหมายไว้
2 ประการ
ประการที่หนึ่ง
ต้องมีการให้ข้อมูลแก่ประชาชนหรือผู้ที่อาจได้รับผลกระทบจากร่างกฎหมายนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
เหตุผลความจำเป็นที่ฝ่ายบริหารเสนอให้ตรากฎหมายนั้นขึ้น (Explanations
of the need for government action) และการวิเคราะห์ความคุ้มค่าของกฎหมายที่เสนอ
(assessment
of the benefits and costs)
ประการที่สอง
ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นผู้เกี่ยวข้องอย่างแท้จริง โดยหน่วยงานของรัฐควรแสดงความคิดเห็นตอบ (Response)
การแสดงความคิดเห็นของประชาชนหรือผู้ที่อาจได้รับผลกระทบจากร่างกฎหมายนั้นอย่างเปิดเผยด้วยเพื่อแสดงความเห็นของรัฐ
“พร้อมเหตุผล”
ว่าเหตุใดหน่วยงานของรัฐจึงเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับความคิดเห็นของประชาชน
หรือจะมีมาตรการเพื่อป้องกัน แก้ไข หรือเยียวยาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นโดยวิธีใด
ซึ่งการแสดงความคิดเห็นตอบดังกล่าวนอกจากจะเป็นการแสดงให้ผู้ที่อาจได้รับผลกระทบจากร่างกฎหมายเห็นว่าความคิดเห็นของพวกเขาได้เข้าสู่
“กระบวนการคิดและพิจารณา”
ของหน่วยงานของรัฐแล้ว ยังทำให้การแสดงความคิดเห็นอยู่บนพื้นฐานของความมีเหตุผล
อันจะช่วยลดการโต้แย้งหรือความไม่ไว้วางใจระหว่างกันได้อีกด้วย
ส่วนวิธีการที่เหมาะสมในการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบการจัดทำร่างกฎหมายนั้น
OECD
มิได้กำหนดไว้ตายตัวเนื่องจากมีวิธีการที่หลากหลายและสถานการณ์ในการรับฟังความคิดเห็นแตกต่างกันไปในแต่ละเรื่อง
อย่างไรก็ดี OECD
มีข้อแนะนำให้ฝ่ายบริหารพิจารณาเลือกใช้ตามความเหมาะสมโดยคำนึงถึงความคุ้มค่าของวิธีการที่ใช้กับสาระของกฎหมาย
สำหรับกลุ่มผู้ที่อาจได้รับผลกระทบจากร่างพระราชบัญญัติที่จะต้องรับฟังความคิดเห็นนั้น
OECD มิได้กำหนดชัดเจนตายตัวว่าได้แก่กลุ่มใด
และไม่มีเกณฑ์พิจารณาที่ตายตัวแน่นอน
โดยให้หน่วยงานของรัฐพิจารณาจากสาระของแต่ละเรื่องเป็นสำคัญว่าอาจมีผลกระทบต่อประชาชนกลุ่มใด
โดยหลักที่ OECD แนะนำให้ปฏิบัติคือ “ต้องรับฟังผู้ที่อาจได้รับผลกระทบอย่างกว้างขวางที่สุด” ทั้งผู้ที่อาจได้รับผลกระทบโดยตรงและโดยอ้อม
และไม่ว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบนั้นจะเป็นเอกชนหรือหน่วยงานของรัฐด้วยกันเอง
การรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องในการจัดทำร่างกฎหมายจะช่วยให้ฝ่ายบริหารได้รับข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจอย่างครบถ้วนและรอบด้านว่าสมควรผลักดันร่างกฎหมายนั้นต่อไปหรือไม่
หากจะผลักดันร่างกฎหมายนั้นต่อไปจะกำหนดกลไกหรือมาตรการตามกฎหมายอย่างไรจึงจะสามารถแก้ไขปัญหาต่าง
ๆ ได้อย่างครบถ้วนและเป็นระบบโดยลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเพียงเท่าที่จำเป็น
รวมทั้งสามารถตรวจสอบความคุ้มค่าในการตรากฎหมายนั้น
ตลอดจนความซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น
การรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องในการจัดทำร่างกฎหมายระดับพระราชบัญญัติภายในฝ่ายบริหารจึงเป็นการพัฒนาคุณภาพของกฎหมาย
และส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกฎหมายที่เป็นนโยบายสาธารณะอย่างหนึ่งอันเป็นการส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
ซึ่ง OECD
มีคำแนะนำให้ประเทศสมาชิกทั้ง
30
ประเทศที่ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วนำไปปฏิบัติ และ OECD
ได้ร่วมมือกับ APEC
(Asia-Pacific Economic Co-operation)
ให้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องในการจัดทำร่างกฎหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพของกฎหมายด้วย
สำหรับประเทศไทยนั้น
เดิมการจัดทำร่างกฎหมายภายในฝ่ายบริหารถือเป็นเรื่องลับ
การรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องในการจัดทำร่างกฎหมายทุกระดับจึงเป็นไปอย่างจำกัด
โดยเป็นเพียงการที่หน่วยงานที่รับผิดชอบเชิญหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องและนักวิชาการมาให้ความเห็นเพื่อประกอบการจัดทำร่างกฎหมายเท่านั้น
ต่อมา เมื่อมีการตราพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี
พ.ศ. 2548 ขึ้นใช้บังคับ
และระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548
ที่ออกตามความในพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวกำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบการจัดทำร่างกฎหมายซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของ
OECD
อย่างไรก็ดี พระราชกฤษฎีกาและระเบียบดังกล่าวใช้บังคับแก่การเสนอร่างกฎหมายระดับพระราชบัญญัติเท่านั้น
ไม่รวมถึงร่างกฎหมายที่เป็นพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศต่าง ๆ
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนยังคงมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนระหว่างการรับฟังความคิดเห็น
(Consultation)
กับการประชามติ (Referendum)
โดยเข้าใจว่าเมื่อมีการรับฟังความคิดเห็นในเรื่องใดแล้ว
ผลการแสดงความคิดเห็นส่วนใหญ่เป็นเช่นไร
หน่วยงานของรัฐต้องดำเนินการตามความคิดเห็นนั้น
อันเป็นการนำแนวคิดประชามติมาปะปนในเรื่องการรับฟังความคิดเห็นซึ่งเป็นเพียงการแสวงหาข้อมูลที่รอบด้านมาเพื่อประกอบการตัดสินใจของฝ่ายบริหาร
ทำให้หน่วยงานของรัฐมักหลีกเลี่ยงที่จะจัดให้มีการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางเพราะเกรงว่าหากผลการแสดงความคิดเห็นไม่สอดคล้องกับหลักการของร่างพระราชบัญญัติที่เสนอแล้วร่างพระราชบัญญัตินั้นจะถูกต่อต้าน
ขณะเดียวกันหน่วยงานของรัฐก็เลือกใช้วิธีการรับฟังความคิดเห็นที่จำกัดตัวผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น
และเชิญผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นเฉพาะผู้ที่สนับสนุนร่างพระราชบัญญัติเท่านั้น
นอกจากนี้
พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548
และระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548
นั้นไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการจัดทำร่างกฎหมายไว้ด้วย
กรณีจึงมีปัญหาในทางปฏิบัติว่าการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการจัดทำร่างพระราชบัญญัตินั้นต้องทำเมื่อใด
อย่างไร และใครเป็นผู้เกี่ยวข้องกับร่างกฎหมายที่ควรต้องรับฟัง
โดยปัจจุบันแต่ละหน่วยงานสามารถจัดการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการจัดทำร่างกฎหมายได้ตามที่ตนเห็นสมควร
อันทำให้การรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการจัดทำร่างกฎหมายของแต่ละหน่วยงานและในแต่ละเรื่องแตกต่างกันไป
จากการตรวจสอบเอกสารและการสัมภาษณ์เชิงลึก
ผู้เขียนพบว่าปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการขาดหลักเกณฑ์และวิธีดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการจัดทำร่างกฎหมายสามารถจำแนกออกได้เป็น
5 กลุ่ม ดังต่อไปนี้
ปัญหา
|
รายละเอียดของปัญหา
|
ผลกระทบ
|
||
วิธีการ
ไม่เหมาะสม |
(ก)
หน่วยงานมักดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการจัดทำร่างพระราชบัญญัติไม่ว่าในเรื่องใด
โดยใช้การจัดประชุมกลุ่มย่อย (Focus group)
หรือการสัมมนาเป็นวิธีการหลัก และใช้การรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ของแต่ละหน่วยงานและการแสดงความคิดเห็นทางไปรษณีย์เป็นวิธีการเสริม
-กรณีการประชุมกลุ่มย่อยและการสัมมนา
หน่วยงานมักเลือกใช้วิธีการประชุมกลุ่มย่อยมากกว่าการสัมมนา
เพราะต้นทุนต่ำกว่าและสามารถดำเนินการได้รวดเร็วกว่า และปกติจะจัดในเวลาราชการ
-กรณีการแสดงความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ของแต่ละหน่วยงานเป็นการนำร่างกฎหมายที่จัดทำขึ้นแล้วประกาศในเว็บไซต์ของแต่ละหน่วยงาน แล้วเปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นผ่านระบบไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ -กรณีการแสดงความคิดเห็นทางไปรษณีย์ (ข) หน่วยงานที่รับผิดชอบนำตัวร่างกฎหมายไปรับฟังความคิดเห็น |
-วิธีการประชุมกลุ่มย่อยและการสัมมนาปกติจะจัดในเวลาราชการซึ่งตรงกับเวลาทำงานของประชาชน และในสถานที่ที่สะดวกต่อการจัดงานของเจ้าหน้าที่ และมักจัดเพียงครั้งเดียว จึงเป็นการยากที่ผู้เกี่ยวข้องกับร่างกฎหมายนั้นจะเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นได้เพราะเป็นเวลาทำงานของประชาชนเช่นกัน ดังนั้น ในทางปฏิบัติแล้วผู้เกี่ยวข้องจึงไม่สามารถเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นได้ และทำให้เกิดอคติว่าหน่วยงานของรัฐไม่จริงใจที่จะรับฟังความคิดเห็น เป็นเพียงจัดให้ครบกระบวนการเท่านั้น
-ปกติหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่มีการประชาสัมพันธ์การเปิดรับฟังความคิดเห็นให้ประชาชนทราบ
แต่โดยที่ใน Internet
มีเว็บไซต์เป็นจำนวนมากจึงเป็นการยากที่ผู้เกี่ยวข้องหรือประชาชนทั่วไปจะทราบและเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นได้ นอกจากนี้ การเข้าถึง Internet
ของไทยยังจำกัดเฉพาะในเมืองใหญ่เท่านั้น การแสดงความคิดเห็นทาง Internet
จึงเป็นไปอย่างจำกัด ดังนั้น
ในทางปฏิบัติแล้วผู้เกี่ยวข้องจึงไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้
และทำให้เกิดอคติว่าหน่วยงานของรัฐไม่จริงใจที่จะรับฟังความคิดเห็น
เป็นเพียงจัดให้ครบกระบวนการเท่านั้น
-ปกติหน่วยงานจะบอกเพียงให้ส่งจดหมายแสดงความคิดเห็นไปที่ใด
แต่ผู้แสดงความคิดเห็นต้องรับผิดชอบต้นทุนการส่งไปรษณีย์เองซึ่งเป็นการไม่สะดวก
-ปกติผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนาจะได้ตัวร่างกฎหมายซึ่งเป็นเอกสารประกอบการประชุมสัมมนาเมื่อไปถึงสถานที่ประชุมสัมมนา
และไม่ได้รับข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับสภาพปัญหาอันเป็นที่มาของร่างกฎหมายนั้น
ตลอดจนสรุปหลักการอันเป็นสาระสำคัญของร่างกฎหมาย ดังนั้น ผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนาจึงมีโอกาสน้อยมากที่จะได้ทำความเข้าใจเหตุผลความจำเป็นและหลักการอันเป็นสาระสำคัญของร่างกฎหมายได้อย่างถ่องแท้
อันเป็นเหตุให้ผู้เข้าร่วมประชุมสัมมนาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับถ้อยคำสำนวนของร่างกฎหมายซึ่งเป็นเรื่องทางเทคนิคการร่างกฎหมายแทนที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับหลักการของกฎหมาย
ทำให้การรับฟังความคิดเห็นไม่บรรลุวัตถุประสงค์
|
||
ไม่ครอบคลุมผู้เกี่ยวข้อง
|
ปัจจุบันไม่มีหลักเกณฑ์การวิเคราะห์ผู้เกี่ยวข้อง
(Stakeholder
analysis)
เกี่ยวกับร่างกฎหมาย
หน่วยงานจึงมีดุลพินิจที่จะรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่หน่วยงานเห็นสมควร
|
ปกติหน่วยงานจะเชิญหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง
และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเป็นหลัก ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นจึงไม่มีโอกาสเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น
ทั้งที่วัตถุประสงค์ของการรับฟังความคิดเห็นต้องการให้ผู้ได้รับผลกระทบหรือผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมได้มีโอกาสเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นทำให้การรับฟังความคิดเห็นไม่บรรลุวัตถุประสงค์และทำให้เกิดอคติว่าหน่วยงานของรัฐไม่จริงใจที่จะรับฟังความคิดเห็น
|
||
เริ่มต้นช้า
|
หน่วยงานของรัฐจัดการรับฟังความคิดเห็นโดยการนำตัวร่างกฎหมายที่จัดทำเสร็จแล้วออกรับฟังความคิดเห็น
|
หน่วยงานของรัฐไม่มีการนำประเด็นปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหา ตลอดจนหลักการอันเป็นสาระสำคัญของกฎหมายที่จะจัดทำขึ้นออกรับฟังความคิดเห็นก่อน
แต่นำร่างกฎหมายที่จัดทำเสร็จแล้วออกรับฟังความคิดเห็น
ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเกิดความเข้าใจว่าหน่วยงานของรัฐมีธงคำตอบเกี่ยวกับร่างกฎหมายนั้นอยู่แล้ว
การจัดการรับฟังความคิดเห็นเป็นไปเพียงเพื่อให้ครบขั้นตอนเท่านั้น
|
||
ไม่เปิดเผย
|
ภายหลังการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องแล้ว
หน่วยงานผู้รับผิดชอบจะเสนอร่างกฎหมาย (กรณีพระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา
กฎกระทรวง) ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติหลักการต่อไปเลยโดยไม่เปิดเผยสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและไม่ชี้แจงหรือให้ความเห็นตอบ
(Response)
ต่อความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง
รวมทั้งไม่มีการชี้แจงหรือให้ความเห็นตอบต่อความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง
|
การไม่เปิดเผยสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นและไม่ชี้แจงหรือให้ความเห็นตอบ (Response)
ความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง
รวมทั้งไม่มีการชี้แจงหรือให้ความเห็นตอบต่อความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องทำให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าใจผิดว่าหน่วยงานของรัฐไม่มีความจริงใจ
ละเลยความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องโดยไม่มีการนำความคิดเห็นที่ได้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาเพื่อปรับปรุงร่างร่างกฎหมาย
(กรณีพระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง) และจัดการรับฟังความคิดเห็นเพียงให้ครบขั้นตอนเท่านั้น
ทั้งที่จริงแล้วหน่วยงานของรัฐอาจพิจารณาความคิดเห็นนั้นแล้วแต่เห็นว่าความคิดเห็นนั้นไม่เหมาะสมกับสถานการณ์จึงมิได้ปรับปรุงร่างกฎหมายดังกล่าวให้เป็นไปตามความคิดเห็นนั้น
|
||
ขาดการวางแผน
ในการรับฟังความคิดเห็น ที่เหมาะสม |
เกือบทุกหน่วยงานมิได้มีการวางแผนการตรากฎหมายไว้ล่วงหน้าว่าในปีหนึ่งจะเสนอร่างกฎหมายใดเมื่อใด
ไม่มีการวางแผนงบประมาณเพื่อใช้ในการจัดการรับฟังความคิดเห็น
|
การรับฟังความคิดเห็นไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดนั้นล้วนแล้วแต่มี
“ต้นทุน”
และต้องใช้ “ระยะเวลา”
ในการดำเนินการทั้งสิ้น
การที่หน่วยงานของรัฐมิได้วางแผนการตรากฎหมายไว้ล่วงหน้าว่าในปีหนึ่งจะเสนอร่างกฎหมายใดเมื่อใด
ทำให้ไม่สามารถวางแผนเพื่อของบประมาณเพื่อใช้ในการจัดการรับฟังความคิดเห็นได้อย่างเหมาะสมเมื่องบประมาณมีจำกัด
การจัดการรับฟังความคิดเห็นก็มีลักษณะที่จำกัดเช่นกัน
ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาในกรณีที่ร่างกฎหมายที่ต้องนำออกรับฟังความคิดเห็นเป็นเรื่องที่มีผลกระทบในวงกว้าง
การรับฟังความคิดเห็นโดยมีงบประมาณจำกัดจึงอาจทำได้ไม่ทั่วถึง
และทำให้เกิดปัญหาข้อโต้แย้งว่าการรับฟังความคิดเห็นจำกัดเฉพาะบางกลุ่มบางพวกบ้าง
หรือทำพอให้ครบกระบวนการบ้าง (ไม่จริงใจ) ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งคุณภาพของร่างกฎหมายที่จะจัดทำขึ้นบนพื้นฐานของข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนรอบด้าน
และต่อความชอบธรรมของร่างกฎหมายนั้นที่อาจถูกปฏิเสธจากสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
เรื่องระยะเวลาในการจัดการรับฟังความคิดเห็น
เพราะความล้มเหลวในการมีส่วนร่วมของประชาชนในอดีตมักเกิดจากการที่ภาครัฐเริ่มกระบวนการมีส่วนร่วมหลังจากมีการตัดสินใจไปแล้ว
แต่การรับฟังความคิดเห็นก่อนการตัดสินใจมิได้หมายความว่าก่อนการตัดสินใจไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์
มิติเวลาเป็นปัจจัยหนึ่งที่สะท้อนความจริงใจของหน่วยงานของรัฐในกระบวนการมีส่วนร่วม
|
จากการศึกษาปัญหาและผลกระทบในการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องในการจัดทำร่างกฎหมายข้างต้น
ผู้เขียนพบว่าสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นจากการขาดหลักเกณฑ์และวิธีดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องในการจัดทำร่างกฎหมาย
ซึ่งทำให้หน่วยงานของรัฐสามารถใช้ดุลพินิจได้อย่างหลากหลาย
และความหลากหลายในการใช้ดุลพินิจนี้เองที่ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อถือการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องในการจัดทำร่างกฎหมายและเป็นที่มาของการโต้แย้งคัดค้าน
อย่างไรก็ดี
โดยที่การรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการจัดทำร่างกฎหมายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน
(Public
participation) ผู้เขียนจึงเห็นว่าอาจนำหลักการ
“4S”
อันได้แก่ Start
early, Stakeholders, Sincerity and Suitability
อันเป็นหลักการบริหารจัดการกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการขาดหลักเกณฑ์และวิธีดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการจัดทำร่างกฎหมาย
โดยมีแนวทางดำเนินการ ดังต่อไปนี้
1. Start
early
เมื่อมีกรณีที่ต้องจัดทำร่างกฎหมายใด
ๆ หน่วยงานของรัฐฝ่ายบริหารควรเริ่มกระบวนการมีส่วนร่วมตั้งแต่มีแนวคิดที่จะร่างกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาใด
อันจะทำให้ผู้เกี่ยวข้องได้รับรู้สภาพปัญหาและร่วมแสดงความคิดเห็นในการแก้ไขปัญหาเสียตั้งแต่ในชั้นแรกโดยเฉพาะอย่างยิ่ง
การให้ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับสภาพปัญหาที่ชัดเจนและแนวทางแก้ไขปัญหาทั้งหมดที่เป็นไปได้
(Possible solution)
แก่ผู้เกี่ยวข้องไปศึกษาและทำความเข้าใจก่อนที่จะเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องแสดงความคิดเห็น
ซึ่งตามข้อ 9
ของ
Checklist
for Regulatory Decision-Making
แนบท้ายคำแนะนำว่าด้วยการพัฒนาคุณภาพของกฎหมาย OECD แนะนำให้หน่วยงานของรัฐให้ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับสภาพปัญหาอันเป็นที่มาของร่างพระราชบัญญัตินั้น
ตลอดจนเหตุผลความจำเป็นที่ฝ่ายบริหารเสนอให้ตราร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้น (Explanations
of the need for government action) และการวิเคราะห์ความคุ้มค่าของกฎหมายที่จะเสนอ
(assessment
of the benefits and costs) ทั้งนี้
ข้อมูลที่ให้ควรต้องเป็นข้อมูลที่ใช้ภาษาที่ง่ายต่อความเข้าใจและไม่ยาวเกินไปนักเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องซึ่งเป็นบุคคลทั่วไปสามารถทำความเข้าใจได้ง่าย
ๆ เพื่อที่จะสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างถูกต้องตรงประเด็น
2. Stakeholders
แม้ Checklist for
Regulatory Decision-Making
แนบท้ายคำแนะนำว่าด้วยการพัฒนาคุณภาพของกฎหมายของ OECD มิได้กำหนดชัดเจนตายตัวว่าผู้ที่อาจได้รับผลกระทบจากร่างกฎหมายที่จะต้องรับฟังความคิดเห็นนั้นได้แก่กลุ่มใด
แต่ OECD วางหลักการสำคัญไว้ว่า “ต้องรับฟังผู้ที่อาจได้รับผลกระทบอย่างกว้างขวางที่สุด” ทั้งผู้ที่อาจได้รับผลกระทบโดยตรงและโดยอ้อม
และไม่ว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบนั้นจะเป็นเอกชนหรือหน่วยงานของรัฐด้วยกันเอง
ประกอบกับแนวคิดในการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการจัดทำร่างกฎหมายเป็นแนวคิดที่สวนทางกับแนวปฏิบัติที่ผ่านมาของหน่วยงานของรัฐที่เน้นปกปิดมากกว่าเปิดเผย
กรณีจึงมีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดแนวทาง (Guideline) ในการวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้เสียไว้ด้วยเพื่อให้หน่วยงานของรัฐถือเป็นหลักในการดำเนินงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
โดยที่ OECD
วางหลักในการรับฟังความคิดเห็นไว้ว่าหน่วยงานของรัฐต้องรับฟังผู้ที่อาจได้รับผลกระทบอย่างกว้างขวางที่สุดทั้งผู้ที่อาจได้รับผลกระทบโดยตรงและโดยอ้อม
และไม่ว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบนั้นจะเป็นเอกชนหรือหน่วยงานของรัฐด้วยกันเอง
แนวทางในการวิเคราะห์ผู้ได้รับผลกระทบจากร่างกฎหมายจึงอาจกำหนดได้ ดังต่อไปนี้
ผู้ได้รับผลกระทบ
|
ลักษณะ
|
ภาคเอกชน
|
(1) เป็นประชาชน กลุ่มบุคคล สมาคม
หรือองค์กรวิชาชีพซึ่งมีลักษณะดังต่อไปนี้
-มีหน้าที่ปฏิบัติตามร่างกฎหมายนั้น
-ทำงานหรืออยู่ใกล้ชิดกับปัญหาภายใต้บังคับของร่างกฎหมายนั้น
-มีประโยชน์ทางเศรษฐกิจเกี่ยวกับร่างกฎหมายนั้น
-ความเชื่อทางศาสนาอาจได้รับผลกระทบจากร่างกฎหมายนั้น
(2)
นอกจากภาคเอกชนที่มีลักษณะตาม
(1) ซึ่งเป็นผู้ที่อาจได้รับผลกระทบจากร่างกฎหมายโดยตรงแล้ว
หน่วยงานของรัฐอาจรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนอื่นด้วยก็ได้
|
ภาครัฐ
|
(1) เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับร่างกฎหมายนั้น
(Functional or Agenda Based Agencies)
โดยพิจารณาจากอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานตามกฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดินหรือกฎหมายจัดตั้งหน่วยงาน
(2)
เป็นหน่วยงานของรัฐที่มีพื้นที่รับผิดชอบเกี่ยวกับร่างกฎหมายนั้น (Area Based
Agencies)
|
นอกจากนี้ หน่วยงานของรัฐจะรับฟังความคิดเห็นจาก “ผู้เชี่ยวชาญ”
ซึ่งอาจเป็นนักวิชาการหรือผู้มีประสบการณ์เป็นที่ยอมรับในเรื่องที่เกี่ยวกับร่างกฎหมายนั้นด้วยก็ได้
3. Sincerity
ความสำเร็จของการรับฟังความคิดเห็นอันเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการมีส่วนร่วมนั้นวางอยู่บนพื้นฐานของความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจระหว่างหน่วยงานของรัฐและประชาชน
หน่วยงานของรัฐจึงต้องดำเนินการอย่างเปิดเผย ซื่อสัตย์ ปราศจากอคติ และมีการสื่อสารสองทางตลอดเวลา
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปิดเผยสรุปผลการรับฟังความคิดเห็น
การนำความคิดเห็นที่ได้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาจัดทำร่างพระราชบัญญัติ
และการเปิดเผยความคิดเห็นตอบของหน่วยงานของรัฐ (Response) ที่มีต่อความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง
3.4 Suitability
OECD
มิได้กำหนดวิธีการที่เหมาะสมในการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบการจัดทำร่างกฎหมายไว้ตายตัวเนื่องจากมีวิธีการที่หลากหลาย
และสถานการณ์ในการรับฟังความคิดเห็นแตกต่างกันไปในแต่ละเรื่อง
แต่มีข้อแนะนำให้ฝ่ายบริหารพิจารณาเลือกใช้ตามความเหมาะสมโดยคำนึงถึงความคุ้มค่าของวิธีการที่เลือกใช้กับเนื้อหาสาระของกฎหมาย
และโดยที่ปัจจุบันระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
พ.ศ. 2548
กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในกรณีทั่ว ๆ
ไปไว้แล้วหลายวิธี กรณีจึงอาจนำวิธีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามข้อ
9 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548
มาใช้กับการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่อาจได้รับผลกระทบจากร่างกฎหมายด้วยโดยอนุโลม
ทั้งนี้
ในการพิจารณาเลือกวัน เวลา สถานที่ และวิธีการรับฟังความคิดเห็นต้องคำนึงว่าผู้ที่อาจได้รับผลกระทบต้องมีโอกาสที่จะแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางที่สุด
และหากกฎหมายใดเป็นกฎหมายที่มีผลกระทบอย่างกว้างขวาง
หน่วยงานของรัฐอาจจัดการรับฟังความคิดเห็นโดยใช้หลากหลายวิธีการและหลายครั้งก็ได้
นอกจากการดำเนินการตามหลัก 4S ดังกล่าวข้างต้นแล้ว
กรณีมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานของรัฐต้องวางแผนการจัดทำและเสนอกฎหมายอย่างชัดเจน
เพื่อจะได้วางแผนได้อย่างถูกต้องว่าจะต้องดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการจัดทำร่างพระราชบัญญัติเมื่อใด
และจะได้วางแผนงบประมาณเผื่อสำหรับการดำเนินการดังกล่าวด้วย
อย่างไรก็ดี
ผู้เขียนเห็นว่าร่างกฎหมายดังต่อไปนี้ไม่จำเป็นต้องรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่อาจได้รับผลกระทบ
เพราะอาจก่อให้เกิดความได้เปรียบหรือเสียเปรียบบุคคลอื่น
(ก)
ร่างกฎหมายที่เป็นการเปลี่ยนแปลงอัตราภาษี
ค่าธรรมเนียม หรือสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ
(ข) ร่างกฎหมายที่หากจัดให้มีการรับฟังแล้ว
บุคคลหรือองค์กรที่เข้าร่วมแสดงความเห็นอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบบุคคลอื่น
(ค) ร่างกฎหมายที่หากนำออกรับฟังแล้วอาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ
ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในยุคที่ประชาชนมีความตื่นตัวทางการเมืองสูงและทุกคนล้วนต้องการที่จะให้ประเทศไทยอันเป็นที่รักของเราพัฒนาไปข้างหน้าเหมือนอย่างเช่นประเทศเพื่อนบ้านเขาบ้าง
ทุกฝ่ายคงจะหันมาให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำนโยบายสาธารณะกันบ้าง.
[1]กรรมการร่างกฎหมายประจำ
(นักกฎหมายกฤษฎีกาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (2557) อนึ่ง
บทความนี้เป็นความคิดเห็นทางวิชาการส่วนบุคคลของผู้เขียน
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไม่จำเป็นต้องเห็นพ้องด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น