วันจันทร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

เกร็ดการร่างกฎหมาย 2: ที่มาของการให้รัฐมนตรีมีอำนาจออกกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียม ไม่เกินอัตราที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติ

นายปกรณ์ นิลประพันธ์[1]

                   เดิมนั้นไม่มีแนวทางที่ชัดเจนว่าการกำหนดค่าธรรมเนียมควรกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติหรือกฎกระทรวง จึงทำให้เกิดความลักลั่นขึ้น กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (นายดิเรก ชัยนาม) จึงมีหนังสือ ที่ ฎ. 3191/2479 ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2479 ขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณากำหนดแนวทางดังกล่าวให้ชัดเจน

                   เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาในขณะนั้น (ศาสตราจารย์ เดือน บุนนาค) จึงมอบหมายให้ที่ปรึกษาการร่างกฎหมาย (นาย อาร์. กียอง) ศึกษาและจัดทำความเห็นขึ้น ซึ่งปรึกษาการร่างกฎหมายได้จัดทำบันทึก เรื่อง การเก็บค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ขึ้น ความว่า

          คณะรัฐมนตรีต้องการทราบว่า จะถืออะไรเป็นหลักวินิจฉัยว่าค่าธรรมเนียมอย่างไรควรบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติและค่าธรรมเนียมอย่างไรควรบัญญัติไว้ในกฎกระทรวง นั้น
            ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า
            (ก) จะถือเอาสภาพแห่งค่าธรรมเนียมเป็นหลักวินิจฉัยก็เป็นการยากเพราะเหตุว่า ค่าธรรมเนียมมีมากมายหลายชนิด และว่าด้วยเรื่องต่าง ๆ กันจนนับไม่ถ้วน บางเรื่องก็สำคัญ บางเรื่องก็ไม่สำคัญ ที่จะแยกประเภทของเรื่องต่าง ๆ เหล่านั้นแทบจะเป็นการพ้นวิสัย
            (ข) จะถือเอาจำนวนแห่งค่าธรรมเนียมเป็นหลักวินิจฉัยก็ยากอีก เพราะเหตุว่าจำนวนย่อมมีแตกต่างกันไปมากเหมือนกัน จะถือเอาจำนวนค่าธรรมเนียมเท่าใดเป็นหลักว่าถ้าต่ำกว่านั้น ควรบัญญัติไว้ในกฎกระทรวง และถ้าสูงกว่าจึงควรบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติก็ไม่ได้ เพราะว่า แต่ละจำนวนจะต้องพิจารณาประกอบกับสาระสำคัญแห่งค่าธรรมเนียม เงิน 5 บาท อาจเป็นค่าธรรมเนียมที่มากไปในกรณีหนึ่ง และอาจน้อยเกินไปในอีกกรณีหนึ่งก็เป็นได้
            รวมความว่าหลักที่จะวินิจฉัยแบ่งแยกว่า ค่าธรรมเนียมอย่างไรควรบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติและค่าธรรมเนียมอย่างใดควรบัญญัติไว้ในกฎกระทรวงนั้นมิได้เกี่ยวกับปัญหาในทางบริหารหรือในทางการเงิน
            ทั้งนี้ควรจะเป็นปัญหาในทางนิติบัญญัติ กล่าวคือ ควรมีนโยบายอย่างใดวางลงไว้เสียครั้งหนึ่งตลอดไป เพื่อถือเป็นหลักในการที่จะกำหนดค่าธรรมเนียมโดยอาการอย่างเดียวกัน
            วิธีการต่าง ๆ ที่อาจถือตามได้ มีอยู่ดังต่อไปนี้ คือ
            (ก) กำหนดค่าธรรมเนียมไว้ในพระราชบัญญัติ วิธีนี้มีประโยชน์ในการยังให้มีความเข้าใจอันแท้จริงระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร และจะไม่มีเรื่องข้องใจสงสัยเกิดขึ้นได้ในกาลภายหน้า แต่ก็มีทางเสียในการที่จะต้องออกพระราชบัญญัติทุกครั้ง เมื่อต้องการแก้ค่าธรรมเนียม (ซึ่งบางทีก็เป็นการแก้ไขเล็กน้อย) หรือทุกครั้งเมื่อจะต้องกำหนดค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม เพื่อฝ่ายบริหารจะได้ปฏิบัติการให้เป็นไปตามที่กฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งได้บังคับไว้
            (ข) กำหนดค่าธรรมเนียมไว้ในกฎกระทรวง ซึ่งเป็นวิธีที่กฎหมายต่าง ๆ ที่ใช้อยู่เวลานี้ดำเนินอยู่โดยมาก และเป็นวิธีที่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะในเรื่องเช่นนี้รัฐมนตรีชอบที่จะกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมได้โดยอาศัยอำนาจแห่งพระราชบัญญัติ ซึ่งเป็นเรื่องการมอบอำนาจ แต่ก็มีทางเสีย คือ เป็นการถอนอำนาจการกำหนดค่าธรรมเนียมไปจากฝ่ายนิติบัญญัติ ในบางกรณีฝ่ายนิติบัญญัติอาจจะเห็นว่าค่าธรรมเนียมที่รัฐมนตรีกำหนดไว้นั้นยังไม่เหมาะสม
            (ค) วิธีการที่จะดำเนินเป็นสายกลาง ควรเป็นดังนี้คือ ให้อำนาจไว้ในพระราชบัญญัติให้รัฐมนตรีกำหนดค่าธรรมเนียมได้ แต่ไม่เกินกว่าอัตราคั่นสูงที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติ วิธีนี้ได้เคยมีมาบ้างแล้ว (เช่น ในพระราชบัญญัติการพนันรัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตการเล่นโตแตไลเซเตอร บุ๊กเมกิง ฯลฯ เสียภาษีไม่เกินกว่าร้อยละสิบแห่งรายรับ) วิธีนี้เป็นหลักประกันอันสำคัญว่า ค่าธรรมเนียมจะต้องมีอัตราพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อรัฐมนตรีระวังที่จะไม่กำหนดค่าธรรมเนียมเสียทีเดียวในอัตราคั่นสูง ซึ่งอาจทำให้ค้านได้ว่าเป็นการทำให้เสียความมุ่งหมายอันเที่ยงธรรมแห่งวิธีการนี้
          ฉะนั้น จึงไม่น่าสงสัยว่า นโยบายข้อหลังตามที่กล่าวมาในข้อ (ค) ข้างบนนี้มีเหตุผลดีที่ควรดำเนินตามมากกว่าอื่น
    (Emphasis added)

                   หลังจากนั้น เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาจึงได้มีหนังสือ ที่ 801/2479 ลงวันที่ 10 กันยายน 2479 (หรือเพียง 23 วันเท่านั้นนับแต่วันที่ลงในหนังสือของกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี) ส่งความเห็นของที่ปรึกษาการร่างกฎหมายไปยังกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

             ต่อมา กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้มีหนังสือ ที่ น. 4034/2479 ลงวันที่ 16 กันยายน 2479 แจ้งว่าได้เสนอความเห็นของที่ปรึกษาการร่างกฎหมายต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาแล้ว และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2479 เห็นชอบกับความเห็นของที่ปรึกษาการร่างกฎหมายที่เสนอใน (ค) กล่าวคือ ให้อำนาจไว้ในพระราชบัญญัติให้รัฐมนตรีกำหนดค่าธรรมเนียมได้ แต่ไม่เกินอัตราคั่นสูงที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติ และให้ถือเป็นระเบียบปฏิบัติต่อไปในเมื่อมีการเสนอร่างพระราชบัญญัติซึ่งมีค่าธรรมเนียม

                เห็นไหมล่ะว่าเรื่องนี้มันมีที่มา ... อย่าเอาแต่หลับหูหลับตาอ้างว่ามันเป็น “แบบ” 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

                        เรื่องเสร็จที่ 68/2479



[1]กรรมการร่างกฎหมายประจำ (นักกฎหมายกฤษฎีกาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (2557) 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น