วันอาทิตย์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

เกร็ดการร่างกฎหมาย 3: การใช้คำว่า "กับ" และ "แก่"

นางสมาพร นิลประพันธ์[1]


หลักการใช้คำว่า “กับ” และ “แก่”

                   ในการร่างกฎหมาย คำที่สร้างปัญหาปวดเศียรเวียนเกล้าให้แก่นักร่างกฎหมายมากที่สุดคงหนีไม่พ้นคำว่า “กับ” แก่” “แต่” “ต่อ” “และ” “หรือ” เพราะคนไทยส่วนใหญ่มักจะทึกทักว่าตนเข้าใจไวยากรณ์ไทยดี  ดังนั้น เมื่อใดที่มีการรับฟังความคิดเห็นหรือเมื่อมีการพิจารณาร่างกฎหมาย ผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นก็ดี ผู้ร่วมพิจารณาร่างกฎหมายก็ดี ไม่ว่าท่านจะเป็นนักกฎหมายหรือบุคคลทั่วไป จึงมักทุ่มเทกำลังสติปัญญาไปในการพิจารณาการใช้คำเหล่านี้ แทนที่จะสนใจหลักการของร่างกฎหมาย ทำเอานักร่างกฎหมายมือใหม่หรือนักกฎหมายที่สันทัดแต่ภาษาต่างประเทศเหงื่อตกไปตาม ๆ กันเพราะไม่รู้จะตอบอย่างไร

                   จริง ๆ แล้วในการใช้คำว่า “กับ” แก่” “แต่” “ต่อ” “และ” “หรือ” ในร่างกฎหมายนั้น ผู้เขียนได้รับการถ่ายทอดจากทั้งอดีตผู้บังคับบัญชาและกรรมการร่างกฎหมายว่า โดยที่กรรมการร่างกฎหมายและเจ้าหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกานั้นไม่ได้จบอักษรศาสตร์ การใช้ถ้อยคำต่าง ๆ ในการเขียนกฎหมายและความเห็นทางกฎหมายจึงต้องว่ากันตามตำรา และตำราที่ว่านี้ก็คือ “มูลบทบรรพกิจ วาหนิติ์นิกร อักษรประโยค สังโยคพิธาน ไวพจน์พิจารณ์ พิศาลการันต์” แบบสอนหนังสือไทยของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เมื่อครั้งยังเป็นหลวงสารประเสริฐ ไม่ใช่เขียนไปเรื่อยเปื่อยอย่างที่ใครหลายคนเข้าใจ

                   สำหรับการใช้คำ “กับ” และ “แก่” ตามมูลบทบรรพกิจมีหลักการใช้ดังนี้

การใช้คำว่า “กับ”

                   คำว่า “กับ” นั้น พระยาศรีสุนทรโวหารท่านย้ำหนักหนาว่า “ ในคำเหล่าที่ว่ามานี้ ต้องที่ใช้ว่า กับ กับ จะใช้อย่างอื่นไม่ได้เลย คือ” (1) คนอยู่ด้วยกัน (2) ไปด้วยกัน (3) มาด้วยกัน (4) นั่งนอนด้วยกัน (5) ทำด้วยกัน (6) กินด้วยกัน (7) เล่นด้วยกัน (8) พูดกัน (9) เจรจากัน (10) ปฤกษากัน (11) คิดอ่านกัน (12) ดูเหมือนกัน (13) คล้ายกัน (14) อย่างเดียวกัน (15) เรื่องเดียวกัน (16) ชอบกัน (17) วิวาทกัน (18) ชกตีกัน (19) รักใคร่กัน (20) สมคบกัน (21) ภบปะกัน (22) ร่วมกัน (23) ช่วยกัน (24) พร้อมกัน (25) สร้างด้วยกัน (26) ผูกพันกัน (27) ร้อยด้วยกัน (28) คู่กัน (29) สำหรับกัน (30) ตรงกัน (31) ต้องกัน (32) ติดเนื่องกัน (33) ตลอดถึงกัน (34) เพื่อนกัน (35) นับถือกัน (36) เป็นไมตรีกัน (37) ชิดกัน (38) ซ้ำกัน (39) ใกล้กัน (40) เคียงกัน (41) ต่อกัน (42) รวมกัน (43) แข่งกัน (44) แย่งชิงกัน (45) สมทบกัน (46) ประจวบกัน (47) โดนกัน (48) คล้องจองกัน (49) ถูกต้องกัน (50) ผสมกัน (51) คละกัน (52) เจือปนกัน (53) บวกเข้าด้วยกัน (54) คราวเดียวกัน (55) เสมอกัน (56) เท่ากัน

การใช้คำว่า “แก่”

                   ส่วนคำว่า “แก่” นั้น ตามมูลบทบรรพกิจฯ ท่านใช้ในกรณีดังต่อไปนี้เท่านั้น ใช้อย่างอื่นไม่ได้เลย (1) ให้ (2) ส่งให้ (3) ยอมให้ (4) แจกให้ (5) บอกให้ (6) บอกเล่า (7) เสียเงินให้ (8) ตัดสินให้ (9) แบ่งให้ (10) ให้ถ้อยคำ (11) ให้การ (12) มอบไว้ (13) ขายไว้ (14) จำนำไว้ (15) อายัดไว้ (16) ฝากไว้ (17) ไว้ธุระ (18) ไว้ใจ (19) ปลงใจ (20) ไว้ความ (21) แจ้งความ (22) ชี้แจง (23) แพ้ความ (24) แพ้รู้ (25) บอกไป (26) เสียของไป (27) เสียที (28) เสียกล (29) เสียอะไร ๆ (30) ควร (31) สมควร (32) ว่า (33) ต่อว่า (34) ตอบ (35) ขึ้น (36) ทำคุณ (37) ทำโทษ (38) ลงโทษ (39) ทำร้าย (40) ทำอะไร ๆ (41) แจกจ่าย (42) แบ่งปัน (43) ปรับไหม (44) เอ็นดู (45) เป็นสิทธิ์ (46) ลุ่มหลง (47) ทอดเท (48) ทับถม (49) ฆ่าศึก (50) สงเคราะห์ (51) อนุเคราะห์

                   คำที่มักถกเถียงอยู่บ่อยครั้ง คือ “ให้” จะใช้ “กับ” หรือ “แก่” คงได้คำตอบชัดเจนแล้ว และเป็นหลักภาษาไทยโดยแท้ ไม่ใช่ “แบบ”

                   รู้แล้วอย่าใช้ผิดอีกล่ะ!

ข้อมูลอ้างอิง

                   มูลบทบรรพกิจ วาหนิติ์นิกร อักษรประโยค สังโยคพิธาน ไวพจน์พิจารณ์ พิศาลการันต์ แบบสอนหนังสือไทยของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร), สำนักพิมพ์คลังวิทยา, ฉบับพิมพ์ครั้งที่สี่ พ.ศ. 2521, หน้า 269-283.




[1]ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายสวัสดิการสังคม กองกฎหมายสวัสดิการสังคม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (2557) 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น