วันอาทิตย์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2561

เป้าหมายของการเรียนรู้ (Learning Goal) ปกรณ์ นิลประพันธ์


          เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกว่า “ความเหลื่อมล้ำทางปัญญา” นั้นเป็นเหตุแห่งความเหลื่อมล้ำทั้งปวง การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำที่รากเหง้าจึงต้องแก้กันที่ความเหลื่อมล้ำทางปัญญานี่แหละ ไม่ใช่ไปแก้ที่อื่น ไปแก้ที่อื่นก็เหมือนเกาไม่ถูกที่คัน มันจะหายคันได้อย่างไร

          รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบัน จึงได้วางรากฐานในการแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางปัญญาไว้ชัดเจน ดังปรากฏตั้งแต่แรกในอารัมภบทและในบทบัญญัติอีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาตรา ๕๔ และในหมวดการปฏิรูปประเทศ

          สำหรับกฎหมายสำคัญที่สุดในการแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางปัญญา ได้แก่กฎหมายการศึกษาแห่งชาติซึ่งตอนนี้กำลังพิจารณากันอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งขึ้นเป็นการเฉพาะกำลังถกกันอย่างหน้าดำคร่ำเครียดว่าจะปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... อย่างไรจึงจะดี

          เบื้องต้น คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายเห็นว่าถ้าเขียนแบบเดิม ๆ คือโผล่มาก็จะมีบทบัญญัติเกี่ยวกับคณะกรรมการนโยบาย คณะกรรมการบริหาร หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการ การประชุม เบี้ยประชุม ตั้งกรมตั้งสำนักงาน ตั้งกองทุน การออกใบอนุญาต โทษ ฯลฯ จนสุดท้ายปลายทางก็ไม่มีทางที่จะรู้ว่าเป้าหมาย (Goal) ของการศึกษาคืออะไร เพราะมีแต่ “กระพี้” เต็มไปหมดดังว่า จึงคิดกันว่ากฎหมายการศึกษาแห่งชาติที่จะเขียนกันในคราวนี้ควรจะใช้วิธีเขียนอย่างประเทศที่เขาพัฒนาแล้วบ้าง

          อย่างญี่ปุ่นนี่กฎหมายพื้นฐานด้านการศึกษาของเขานี่ใส่ปรัชญาในการเรียนรู้ของปัจเจกชนไว้ชัดเจนเลย ว่าวัตถุประสงค์คืออะไร เป้าหมายคืออะไร การจัดการศึกษาและการให้การเรียนรู้แก่ผู้คนต้องเป็นไปเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้ หาได้กำหนดรายละเอียดยิบย่อยไว้จนหลงลืมหลักการอย่างกับวิธีการเขียนกฎหมายโดยเน้น “ลอกแบบ” แต่ประการใดไม่

          เมื่อคิดเห็นเป็นเช่นนี้ คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายจึงยึดหลักว่าเมื่อครบเกณฑ์อายุที่กำหนด ผู้เรียนจะได้อะไรจากการศึกษาในแต่ละช่วงชั้นบ้าง

          เริ่มจากเด็กตั้งแรกเกิดแต่ไม่เกินสามขวบ อันนี้เป็นหน้าที่ของบิดามารดาผู้ปกครองที่จะต้องให้ความรัก ความอบอุ่น เอาใจใส่ดูแลเด็กให้มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงสมวัย มีพัฒนาการทางอารมณ์ที่ดี รู้จักช่วยเหลือตัวเองได้ ไม่ใช่ให้เป็นหน้าที่ของมือถือหรือแท็บเล็ตอย่างที่เห็นกันดาษดื่น นั่นคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายเห็นว่าพ่อแม่กำลังรังแกลูกนะครับ ไม่ใช่รักลูก

          ต่อไปเป็นเด็กอายุไม่เกินหกขวบ วัยนี้เริ่มเข้าเรียนอนุบาลกันแล้วแต่ยังไม่เข้าประถมศึกษา  คณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายยึดหลักว่าเมื่อถึงอายุหกขวบ ผู้เรียนต้องได้เรียนรู้ (Learning) ในด้านต่าง ๆ ดังนี้มาแล้ว ได้แก่ ด้านสุนทรียศาสตร์และการแสดงออกที่สร้างสรรค์ (Aesthetics and Creative Expression) คือ ให้สนุกกับศิลปะ ดนตรี และกิจกรรมการแสดงออกต่าง ๆ รู้จักแสดงออกซึ่งอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด และจินตนาการผ่านศิลปะ ดนตรี และเคลื่อนไหวร่างกาย ด้านการค้นพบโลก (Discovery of the World) คือ ให้รู้จัดสภาพแวดล้อมที่เขาอาศัยอยู่ ค้นหาว่าทำไมปรากฏการณ์ต่าง ๆ ถึงเกิดขึ้นได้โดยผ่านกระบวนการคิดแบบง่าย ๆ และมีทัศนคติที่ดีที่มีต่อสิ่งต่าง ๆ รอบตัว ไม่ใช่เรียนแบบเอาเป็นเอาตายอย่างเด็กน้อยบ้านเรา ด้านภาษา (Language and literacy) เอาแค่สามารถสื่อความหมายได้ตรง ส่วนการเขียน ให้เขียน ก ไก่ ข ไข่ a b c ได้อย่างสนุกสนานก็พอ ยังไม่ต้องเก่งกาจขนาดผสมคำได้ เอาไวโตหน่อยก่อน ด้านการเคลื่อนไหว (Motor skills development) ให้สามารถร่วมกิจกรรมของเด็ก ๆ ได้อย่างสนุกสนาน มีความระมัดระวังอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่บ้าน ที่โรงเรียน หรือที่สาธารณะอื่น ๆ แค่นั้นพอ ด้านการคำนวณ (Numeracy) เอาแค่รู้จักตัวเลข ๐-๑๐ การเพิ่มและการลดจำนวน รูปทรงพื้นฐานสี่เหลี่ยมสามเหลี่ยม บอกได้ถูกต้องว่าอยู่ข้างบน ข้างล่าง ข้างซ้าย ข้างขวาเป็นอันพอ ส่วนด้านสังคมและอารมณ์ (Social and emotional development) ให้รู้จักควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมของตัวเอง รู้จักเคารพความแตกต่างหลากหลาย รู้จักสื่อสารและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น และมีความรับผิดชอบในการกระทำของตนเองพอ

          ทีนี้เมื่อมีอายุสิบสองปี จบระดับประถมศึกษา (Primary education) ผู้เรียนต้องสามารถแยกแยะสิ่งที่ถูกต้องกับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง (be able to distinguish right from wrong) รู้ว่าตนมีความถนัดในด้านใด (know their strengths and area of growth) สามารถอยู่และทำงานร่วมกันกับผู้อื่นได้อย่างเข้าใจ รู้จักแบ่งปันให้แก่ผู้อื่น (be able to cooperate, share and care for others) มีความสงสัยใคร่รู้ในเรื่องต่าง ๆ (have lively curiosity about things) สามารถคิดและแสดงออกอย่างมีเหตุผลได้อย่างมั่นใจ (be able to think for and express themselves confidently) มีความภูมิใจในสิ่งที่ทำ (take pride in their work) มีสุขภาพแข็งแรงและสนใจในศิลปะ (have healthy habits and awareness of the arts) และภูมิใจในชาติ (know and love Thailand)

          เมื่อมีอายุสิบห้าปี คือจบระดับมัธมศึกษา (Secondary education) ผู้เรียนต้องยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้อง (have moral integrality) มีความเชื่อมั่นในความสามารถของตนและสามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไป (believe in their abilities and be able to adapt to change) สามารถทำงานเป็นทีมและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (be able to work in teams and show empathy for others) มีความคิดสร้างสรรค์และใฝ่เรียนรู้ (be creative and have inquiring mind) รู้จักยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายและสามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ (be able to appreciate diverse views and communicate effectively) รับผิดชอบที่จะเรียนรู้ด้วยตนเอง (take responsibility for own learning) รู้จักพัฒนาสุขภาพกายร่างกายและซาบซึ้งในศิลปะ (enjoy physical activities and appreciate the arts) และเชื่อมั่นในความเป็นไทยและเข้าใจการธำรงความเป็นไทย (believe in Thailand and understand what matters to Thailand)

          เมื่อมีอายุสิบแปดปี หรือจบมัธยมศึกษาตอนปลายหรือ ปวช. (Post-Secondary education) ผู้เรียนต้องมีความกล้าหาญที่จะยืนหยัดกระทำในสิ่งที่ถูกต้อง (have moral courage to stand up for what is right) มีความสามารถในการแก้ไขฟื้นฟูสถานการณ์ที่เลวร้าย (be resilient in the face of adversity) สามารถที่จะอยู่และทำงานร่วมกับผู้คนที่แตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมและมีความรับผิดชอบต่อสังคม (be able to collaborate across cultures and be socially responsible) สามารถริเริ่มในสิ่งใหม่และสามารถเป็นผู้ประกอบการ (be innovative and enterprising) สามารถคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบและสามารถในการสื่อสารเพื่อโน้มน้าวให้ผู้อื่นคล้อยตาม (be able to think critically and communicate persuasively) มีความมุ่งมั่นที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ให้ดีที่สุด (be purposeful in pursuit of excellence) ดำรงชีวิตตามสุขภาวะที่ดีและดื่มด่ำในสุนทรียศาสตร์ (pursue a healthy lifestyle and have an appreciation for aesthetics) และภูมิใจในความเป็นคนไทยและเข้าใจบทบาทของประเทศไทยในสังคมโลก (be proud to be Thais and understanding Thailand in relation to the World)

          ผู้เขียนเห็นว่าแนวทางการพิจารณาร่างกฎหมายการศึกษาแห่งชาติของคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นอะไรที่น่าสนใจมากจึงนำมาเล่าสู่กันฟังครับ เพราะเป็นการค่อย ๆ พัฒนาเด็กไปตามช่วงอายุ ช่วงวัย ไม่ใช่ตะบี้ตะบันยัดเยียดให้เรียนมันเข้าไปตั้งแต่ตัวเท่าเมี่ยง

          ถ้าท่านผู้อ่านท่านใดมีไอเดียดี ๆ สามารถส่งความเห็นเพิ่มเติมของท่านไปประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายการศึกษาแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เลยนะครับ.