วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2561

"สุจริตคือเกราะบัง ศาสตร์พ้อง" ปกรณ์ นิลประพันธ์


บางส่วนจากหนังสือ
"ความในใจของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐"


                                                                   ***************

                   จุดเริ่มต้นของ “ความประทับใจ” ของผมในการทำงานในฐานะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญหรือที่ใครต่อใครเรียกเราสั้น ๆ ว่า “กรธ.” นั้นเกิดขึ้นจาก “ความระทึกใจ” เพราะก่อนหน้าที่จะมีการแต่งตั้ง กรธ. นั้นคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเพิ่งประสบชะตากรรมอันโหดร้ายไปหยก ๆ ซึ่งนับเป็นโศกนาฏกรรรมครั้งใหญ่สำหรับนักวิชาการและผู้มีความมุ่งมั่นตั้งใจทำงานเพื่อบ้านเมือง

                   หลังจากนั้นก็มีข่าวหนาหูขึ้นเรื่อย ๆ ว่าจะมีการตั้ง กรธ. มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อเป็นหลักชัยของประเทศชาติโดยมีท่านมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ผมเองก็ไม่ได้คิดว่าจะได้รับแต่งตั้งอะไรกับใครเขาเพราะพรรษาน้อยนัก ยิ่งคิดถึงชะตากรรมของชุดก่อนด้วยแล้วยิ่งหวาดหวั่น จนเมื่อวันหนึ่งท่านประธานมีชัยฯ มาประชุมที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและเรียกผมไปพบ ท่านบอกสั้น ๆ ที่ผมจำติดหูมาจนบัดนี้ว่า “ถ้าผมต้องไปช่วยเขาทำร่างรัฐธรรมนูญ ปกรณ์ไปช่วยผมนะ” ผมก็ “ครับ” อย่างเคยชินเพราะคิดว่าท่านคงให้ไปช่วยค้น ช่วยเขียน เหมือนที่ท่านใช้งานผมอยู่ที่กฤษฎีกา คงไม่มีอะไร

                   อีกไม่กี่วันต่อมาท่านเรียกผมไปอีกแล้วถามว่าผมกับบอย (คุณธนาวัฒน์ สังข์ทอง) ใครอาวุโสกว่ากัน ผมก็เรียนท่านว่าผมครับ ท่านบอกว่า “งั้นปกรณ์เป็นเลขานุการคนที่ ๑ และบอยเป็นเลขานุการคนที่ ๒ นะ” ผมก็ “ครับ” ง่าย ๆ อีก ยังใจเย็น เพราะคิดว่าเลขานุการไม่ต้องเป็นกรรมการก็ได้ เป็นเลขานุการเฉย ๆ ช่วยค้นคว้า ช่วยทำงานวิชาการ ช่วยยกร่างปรับร่างเสนอกรรมการแบบที่ทำอยู่ที่กฤษฎีกา

                   จนเมื่อมีประกาศแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญออกมานั่นแหละจึงรู้ว่ามันไม่ตรงกับที่คิด และยังงงว่าจะทำยังไงดีกับชีวิต เพราะเคยแต่ร่างพระราชบัญญัติซึ่งเป็นการกำหนดหลักการในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพเป็นเรื่อง ๆ ไป แต่รัฐธรรมนูญนี่เป็นการวางหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชน กำหนดโครงสร้างอำนาจรัฐ จัดสมดุลการใช้อำนาจอธิปไตย และการตรวจสอบการใช้อำนาจต่าง ๆ ให้พอเหมาะพอสม มันคนละเรื่องกันเลยกับงานที่เคยทำ ๆ มา เคราะห์ดีอยู่หน่อยที่ว่าเคยไปช่วยงานวิชาการท่านอาจารย์บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และพี่แป๋วหรือคุณกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ เลขานุการคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มาระยะหนึ่ง จึงพอทราบเลา ๆ ว่าเขาต้องทำอะไรบ้าง

                   ระหว่างที่มึน ๆ อยู่นั้น ชีวิตก็เริ่มมีเรื่องแปลกใหม่เข้ามาอีกเพราะสื่อมวลชนซึ่งไม่รู้ไปหาเบอร์โทรศัพท์ผมมาจากไหนเริ่มระดมโทรศัพท์เข้ามาถามไถ่เรื่องนั้นเรื่องนี้ตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มประชุมด้วยซ้ำไป ดึกดื่นเที่ยงคืนเขาก็พยายามหาข่าวกัน นับเป็นสีสันใหม่ของชีวิต

                   เมื่อเราประชุมนัดแรกที่ห้องงบประมาณ ผมจำได้ว่าเป็นการประชุมเพื่อเลือกผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ในคณะกรรมการ คนที่ผมรู้จักเป็นการส่วนตัวมาก่อนมีเพียงท่านประธานมีชัยฯ ท่านอัชพรฯ ท่านอาจารย์เธียรชัยฯ และบอยเท่านั้น นอกนั้นท่านเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมืองซึ่งผมรู้จักท่านเป็นอย่างดีผ่านสื่อและผลงานวิชาการแขนงต่าง ๆ แต่ท่านไม่รู้จักผม  จะว่าไปผมเพิ่งเคยพบตัวเป็น ๆ ของหลายท่านในวันนั้นเอง  อย่างไรก็ดี ในโมเมนต์นั้นผมสัมผัสได้ว่าทุกท่านล้วนมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะสร้างผลงานที่ดีที่สุดทิ้งไว้ให้ลูกหลาน และนั่นเป็น First impression ที่ผมมีต่อ กรธ. และยังคงติดตาตรึงใจมาผมจนทุกวันนี้ เพราะตลอดระยะเวลาสองปีเศษที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาด้วยกัน ทุกท่านยังคงแสดงออกซึ่งความมุ่งมั่นนี้เสมอมา  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวลาที่เราแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาตามหลักวิชาการในสภานิติบัญญัติแห่งชาติในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญทุกฉบับ

                   เรื่องสำคัญที่ผมต้องบันทึกไว้ก็คือ กรธ. ไม่เคยต้องลงมติกันเลย ไม่ว่าจะในเรื่องใด เรียกว่าเป็นการประชุมที่ว่ากันด้วยกันด้วยเหตุด้วยผลอย่างแท้จริง ไม่มีการชี้นำ ไม่มีการเอาชนะคะคาน ไม่มีโพย ไม่มีใบสั่ง ไม่มีคำว่าคุณขอมา ซึ่งนอกจากที่การประชุมที่กฤษฎีกาแล้ว ผมพบบรรยากาศการประชุมแบบนี้ไม่มากนักในบ้านเรา

                   ในช่วงแรก ๆ กรธ. คุยกันก่อนว่าเราจะยกร่างรัฐธรรมนูญแบบปะผุหรือจะรื้อใหญ่ดี เพราะเวลาทำงานมีเพียง ๑๘๐ วันเท่านั้นเอง หักวันหยุดไปก็เหลือในราว ๑๖๐ วัน สุดท้ายได้ข้อสรุปว่าเราช่วยกันจะรื้อใหญ่ให้เป็นรัฐธรรมนูญที่สอดคล้องกับเสียงของพี่น้องประชาชนที่ต้องการให้มีการปฏิรูปประเทศ เพราะเราอยู่นิ่ง ๆ มานานจนเพื่อนบ้านแซงไปไกลแล้ว ถ้ายังทำแบบปะผุกันอยู่อีก เห็นทีบ้านเมืองไม่ต้องไปไหนกัน คงวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏเดิม ลูกไทยหลานไทยจะอยู่กันอย่างไรในอนาคตที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแบบ exponential

                   เมื่อตกลงกันได้เช่นนี้ เราจึงเห็นพ้องกันว่าต้องให้พี่น้องประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง ซึ่งแน่นอนว่าเราต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ และนี่ทำให้ผมประทับใจมากที่เห็น กรธ. ทำงานเป็นทีมอย่างสมบูรณ์แบบทั้ง ๆ ที่เราไม่เคยทำงานร่วมกันมาก่อนเลยโดยมีฝ่ายเลขานุการที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจัดมานำโดย ผบ. นาถะฯ เป็นผู้ช่วยที่เข้มแข็ง  ใครทำอะไรได้ก็ช่วยกัน ไม่เห็นแก่เหน็ดแก่เหนื่อยทั้งที่สื่อมวลชนค่อนขอด กรธ. ไว้แต่เริ่มต้นแล้วว่าเราเป็น “กรธ. พันปี” เพราะพวกเรามีอายุรวมกว่าพันปี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงแรก ๆ ที่เราเปิดรับฟังความคิดเห็นในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศนั้น เดินทางกันแทบทุกวัน วันละหลายที่ จนต้องแบ่งสายกันไป กรธ. ผู้ใหญ่หลายท่านเดินทางจนป่วยเป็นไข้บ้าง ปวดแข้งปวดขาบ้าง บ้านหมุนบ้าง ฯลฯ แต่ก็ยังกัดฟันไปปฏิบัติภารกิจจนลุล่วงไปได้

                   นอกจากนี้ กรธ. ยังเปิดช่องทางการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างกว้างขวางทั้งช่องทางดั้งเดิมอย่างจดหมาย และช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัยต่าง ๆ ซึ่งการเปิดช่องทางการสื่อสารนี้เองทำให้พี่น้องประชาชนตื่นตัวและร่วมแสดงความคิดเห็นเข้ามาเป็นจำนวนมาก

                   ดังนั้น กรณีมีผู้วิจารณ์ว่าร่างรัฐธรรมนูญที่ กรธ. จัดทำขึ้นนี้ขาดความเชื่อมโยงกับประชาชนนั้น ผมขอยันในทุกท่าไม่ว่าจะนั่ง นอน หรือยืนว่าไม่จริงดังเหตุผลที่ได้เล่ามาแล้ว โดย กรธ. ตระหนักดีว่าการรับฟังความคิดเห็นมิได้เป็นเพียงพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ที่สักแต่ว่าต้องทำให้ครบ แต่เป็นอะไรที่จะทำให้เราได้รับทราบความต้องการที่แท้จริงของพี่น้องประชาชนอันเป็นประโยชน์ยิ่งต่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ และเราได้นำความคิดเห็นทั้งหลายมาวิเคราะห์และประมวลเป็นกลุ่มไว้ ในเวลาที่มีการพิจารณาประเด็นใดที่มีผู้แสดงความคิดเห็นเข้ามา จะมีเจ้าหน้าที่คอยขานความคิดเห็นเหล่านั้นต่อที่ประชุมเพื่อประกอบการพิจารณา ร่างรัฐธรรมนูญที่ กรธ. จัดทำขึ้นนี้จึงเต็มไปด้วยเสียงสะท้อนของพี่น้องประชาชน และมีกลิ่นโคลนสาบควาย กลิ่นท้องไร่ท้องนา กลิ่นตลาดสด กลิ่นหยาดเหงื่อของพี่น้องประชาชน ติดอยู่ในรัฐธรรมนูญมากกว่าฉบับอื่น ๆ และ กรธ. ได้นำกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องที่เราทำอยู่นี้ไปบรรจุไว้ในมาตรา ๗๗ ของร่างรัฐธรรมนูญด้วย

                   หลายท่านวิจารณ์ในทางตรงข้ามกับเมื่อกี้เลยว่า กรธ. ร่างรัฐธรรมนูญ “แบบบ้าน ๆ” ไม่มี “ความเป็นสากล” จะมีอะไรเป็นหลักประกันว่ากลไกตามรัฐธรรมนูญแบบบ้าน ๆ นี้จะประสบความสำเร็จ กรธ. ก็คิดเรื่องนี้กันครับ แล้วพบว่าฝรั่งเศสกับเยอรมันมีพรมแดนติดกัน ทำไมฝรั่งเศสไม่ลอกรัฐธรรมนูญเยอรมันมาใช้ล่ะ กลับกัน ทำไมเยอรมันไม่ลอกรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสมาใช้ หรือทำไมเยอรมันต้องคิดวิธีการเลือกตั้งแบบพิสดารขึ้นมา ทำไมไม่ใช้วิธีการเลือกตั้งแบบอังกฤษล่ะ แล้วระบบเลือกตั้งของอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน อเมริกา ทำไมไม่เหมือนกันล่ะ เราจึงได้ข้อสรุปตามหลักวิชากฎหมายเปรียบเทียบ (Comparative Law) ว่าแต่ละประเทศต่างมีบริบท (Context) เป็นของตัวเอง รัฐธรรมนูญของประเทศใดก็ต้องสอดคล้องกับบริบทของประเทศนั้น ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว การลอกฝรั่งจึงไม่ใช่หลักประกันว่าเราจะเป็นอย่างฝรั่ง  นอกจากนี้ เรามีบทเรียนมากมายที่ลอกรัฐธรรมนูญบางมาตราของฝรั่งมาทั้งดุ้น แต่กลับกลายเป็นบทบัญญัติที่สร้างวิกฤติขึ้นในประเทศเรา  ดังนั้น รัฐธรรมนูญไทยที่สอดคล้องกับบริบทแบบไทย ๆ จึงถูกต้องตามหลักวิชากฎหมายเปรียบเทียบแล้ว

                   อย่างไรก็ดี ไม่ใช่ว่ารัฐธรรมนูญนี้จะไม่มีกลิ่นนมกลิ่นเนยเหลืออยู่เลย กรธ. ตระหนักดีครับว่าประเทศไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างยุค Constitutionalism กับยุค Post-Constitutionalism เราจึงไม่สามารถ “เขียนอะไรก็ได้” ลงไปในรัฐธรรมนูญเหมือนในยุค Constitutionalism เมื่อสามสี่สิบปีก่อนอีกแล้ว ในยุคที่โลกไร้พรมอย่าง Post-Constitutionalism ในปัจจุบัน เราย่อมถูกผูกพันด้วยกฎหมายระหว่างประเทศและพันธกรณีต่าง ๆ ที่ประเทศไทยเป็นภาคี การร่างรัฐธรรมนูญจึงต้องคำนึงถึงเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้ด้วย ถ้าเปิดอ่านหมวดสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยและหมวดหน้าที่ของปวงชนชาวไทยแบบละเอียด ท่านจะได้กลิ่นนมเนยฟุ้งไปหมดเพราะต้องสอดคล้องกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และพันธกรณีเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนหลายฉบับที่ประเทศไทยเป็นภาคี  หมวดหน้าที่ของรัฐกับหมวดแนวนโยบายของรัฐก็เหมือนกัน สองหมวดนี้สะท้อนแนวคิด Sustainable Development and Inclusive Growth ซึ่งสอดรับกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร อย่างชัดเจน ส่วนหมวดรัฐสภา หมวดคณะรัฐมนตรี หมวดศาล หมวดองค์กรอิสระ หมวดปฏิรูป และอีกหลายหมวดนี่ บริบทของเราแท้ ๆ ครับ

                   ในระหว่างที่ทำร่างรัฐธรรมนูญ กรธ. มีสถานะไม่แตกต่างไปจากตำบลกระสุนตก มีผู้ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คและสื่อต่าง ๆ บิดเบือนข้อมูลเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญไปเผยแพร่ให้พี่น้องประชาชนเพื่อให้เกิดความเข้าใจผิดในหลายเรื่องหลายประเด็น ไม่รู้เหมือนกันว่าทำอย่างนั้นทำไม บางคนถึงกับใช้วิธีนับจำนวนคำในร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ. เทียบกับรัฐธรรมนูญเก่า แล้วออกสื่อว่าจำนวนในร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ. น้อยกว่าของเก่า หลายอย่างต้องหายไปแน่ ๆ  เอาละ เมื่อเลอะเทอะได้ใจกันขนาดนี้ กรธ. จึงต้องมาช่วยกันหาทางเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องแก่พี่น้องประชาชนไปพร้อม ๆ กันด้วยทั้ง ๆ ที่ยังทำร่างไม่เสร็จเลย แล้วเรื่องโซเชียลเน็ตเวิร์คกับผู้สูงวัยนี่เป็นอะไรที่ท้าทายมากนะครับ แต่โชคดีที่ กรธ. ได้รับความอนุเคราะห์อย่างดียิ่งจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จึงสามารถทำ infographic เผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องแก่พี่น้องประชาชนไปพร้อม ๆ กันได้ด้วย

                   ในระหว่างอยู่ในตำบลกระสุนตก ท่านประธานมีชัยฯ คอยย้ำเตือนพวกเราอยู่เสมอว่าเราทำงานโดยสุจริต ไม่ต้องกลัว เพราะ “สุจริตคือเกราะบัง ศาสตร์พ้อง” ท่านว่าอย่างนั้น และส่วนตัวผมสัมผัสได้ว่า กรธ. ทุกคนทำงานด้วยใจ ไม่มีนอกมีในอะไรกับใครเขา คำของท่านประธานจึงกระตุ้นให้ กรธ. เกิดแรงใจที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้องที่สุดต่อไปเพื่อบ้านเมือง โดยไม่นึกกริ่งเกรงอะไร

                   เมื่อยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ กระสุนไปตกที่อื่นบ้าง กรธ. จึงมีเวลาหายใจหายคอเดินสายไปชี้แจงทำความเข้าใจหลักการสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญให้พี่น้องประชาชนฟังทั่วประเทศอีกรอบหนึ่ง ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์อย่างดียิ่งจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเหมือนเช่นเดิม ทำให้ภารกิจลุล่วงไปได้ด้วยดี

                   เมื่อถึงวันลงประชามติ ท่านประธานมีชัยฯ นัด กรธ. ไปฟังผลการลงคะแนนที่ห้องงบประมาณอันเป็นห้องประชุมของพวกเรา ผลการลงประชามติปรากฏว่ามีผู้เห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ๑๖,๘๒๐,๔๐๒ คะแนน คิดเป็นร้อยละ ๖๑.๓๕ มีผู้ไม่เห็นชอบ ๑๐,๕๙๘,๐๓๗ คะแนน คิดเป็นร้อยละ ๓๘.๖๕ ซึ่งถือว่าร่างรัฐธรรมนูญได้รับความเห็นชอบในการออกเสียงประชามติ และเมื่อได้ปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับคำถามพ่วงของสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว กรธ. ได้ส่งร่างรัฐธรรมนูญให้แก่นายกรัฐมนตรีเพื่อนำขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย

                   ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงลงพระปรมาภิไธยและพระราชทานรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๐ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม

                   ภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ กรธ. ซึ่งตอนนี้เหลือเพียง ๒๐ คน เนื่องจากพลเอก นิวัติ ศรีเพ็ญ ถึงแก่กรรมไป ยังมีภารกิจต้องยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ จำนวน ๑๐ ฉบับ ให้แล้วเสร็จภายใน ๒๔๐ วัน เท่ากับ กรธ. มีเวลาเฉลี่ยในการร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับละ ๒๔ วันเท่านั้น ทั้งเมื่อได้ยกร่างเสร็จและเสนอไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว ยังต้องส่งพวกเราจำนวนหนึ่งไปเป็นกรรมาธิการวิสามัญด้วย การทำงานของ กรธ. ในช่วงนี้จึงสาหัสมิใช่น้อย

                   ในการยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ กรธ. ได้กลายเป็นตำบลกระสุนตกอีกครั้งหนึ่ง เนื่องมาจากการที่เรายึดมั่นในหลักการซึ่งอาจไม่ถูกใจใครหลายคน แต่เราก็ไม่ได้นำมาเป็นอารมณ์ จึงไม่เสียเวลาขว้างก้อนหินใส่ และพยายามทำกันอย่างเต็มที่จนสามารถดำเนินการเสร็จทันตามกำหนดเวลา ต้องบันทึกว่าในช่วงแปดเดือนนี้ กรธ. หลายท่านป่วยด้วยความตรากตรำและความเครียดกันคนละหลายรอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่านประธานมีชัยฯ ผมเองถึงจะมีอายุน้อยกว่า กรธ. หลายท่าน ก็สะบักสบอมเหมือนกัน

                   สำหรับผม กรธ. เป็นครอบครัวใหญ่ที่มีความเป็นประชาธิปไตยสูงมาก ทันสมัย เปิดกว้าง ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างอย่างมีเหตุผล และมั่นคงในหลักการที่ถูกต้อง ผมได้รับความรู้และประสบการณ์อันล้ำค่ามากมายรวมทั้งความเมตตาปราณีจากท่านผู้ใหญ่ทุกท่าน และเป็นเกียรติสูงยิ่งที่ผมได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวนี้

                   รักนะ จุ๊บ ๆ

***************