วันอังคารที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2563

เกร็ดการร่างกฎหมาย 16 : มอบอำนาจ v มอบหมาย ปกรณ์ นิลประพันธ์

                   คนเราเวลาทำงานไปนาน ๆ เข้า ก็เป็นเรื่องปกติธรรมดาที่เรามักจะมองข้ามเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ไป ลางทีทำให้ "คนละเรื่อง" กลายเป็น "เรื่องเดียวกัน" ไปเสียก็มี

                   อย่างเรื่อง “มอบอำนาจ” กับ “มอบหมาย” ในกฎหมาย ผู้เขียนเชื่อว่าคนจำนวนมากคงเข้าใจว่ามันก็เหมือนกันนั่นแหละเพราะ “มอบ” เหมือนกัน แต่ผลมันต่างกันนะครับ

                   มอบอำนาจ” นี่ผู้มอบต้องมีอำนาจในการทำเรื่องใดเรื่องหนึ่งก่อน อย่างเช่นมอบอำนาจในการทำนิติกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้มอบต้องมีความสามารถและมีอำนาจในการทำนิติกรรมตามที่กฎหมายกำหนดก่อน จึงจะมอบอำนาจนั้นให้ผู้อื่นไปใช้แทนตัวได้ คนไร้ความสามารถ ก็ดี คนเสมือนไร้ความสามารถก็ดี ถือว่าไม่มีความสามารถในการทำนิติกรรม จะมอบอำนาจให้ใครไปทำอะไรต่อมิอะไรไม่ได้ หรืออย่างผู้เยาว์นี่มีความสามารถจำกัด มอบได้บางเรื่องตามที่กฎหมายกำหนดครับ 

                     ปกตินั้นการมอบอำนาจเขาจะมอบกันเป็นเรื่อง ๆ ไปว่าให้ผู้รับมอบอำนาจไปทำเรื่องนั้นเรื่องนี้แทนซึ่งต้องระบุไว้ให้ชัด บางเรื่องที่ต้องทำเองเฉพาะตัวนี่โดยสภาพก็มอบไม่ได้นะครับ อย่างให้ไปแต่งงานแทนนี่ทำไม่ได้ ต้องทำเอง เหตุผลคงชัดเจนอยู่ในตัวแล้วนะครับ อิอิ

                    สำหรับผลของการมอบอำนาจนั้น ผู้มอบมีอำนาจแค่ไหน ก็มอบได้แค่นั้นนะครับ และเมื่อมอบอำนาจไปแล้ว ผู้มอบอำนาจย่อมถูกผูกพันหรือมีความรับผิดในการเรื่องที่ผู้รับมอบอำนาจไปตามที่ได้รับมอบมาด้วย จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ และสิ่งที่ผู้รับมอบอำนาจจะกระทำได้ก็เฉพาะแต่ในขอบอำนาจที่ได้รับมอบมา ถ้าทำเกินที่มอบอำนาจ (ultra viresก็ไม่ผูกพันผู้มอบ แถมต้องรับผิดชอบเป็นการส่วนตัว

                   การมอบอำนาจตามกฎหมายอื่นก็เป็นอย่างเดียวกันกับหลักที่ว่าไว้ข้างต้นนี่แหละครับ คือถ้ามีอำนาจก็สามารถมอบอำนาจได้ ซึ่งถ้าดูมาตรา ๓ แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการมอบอำนาจ พ.ศ. 2550 เขากำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการมอบอำนาจไว้ชัดเจนว่า ถ้ากฎหมาย กฎ ระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่ง หรือมติของคณะรัฐมนตรีในเรื่องนั้นมิได้กำหนดเรื่องการมอบอำนาจไว้เป็นอย่างอื่น หรือมิได้ห้ามการมอบอำนาจไว้ ผู้มีอำนาจย่อมมีดุลพินิจที่จะมอบอำนาจให้แก่ผู้รับมอบอำนาจเพื่อปฏิบัติราชการแทนตนทั้งหมดหรือบางส่วนตามที่ได้รับมอบอำนาจก็ได้ โดยมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 ได้กำหนดว่าผู้มอบอำนาจมีหน้าที่ที่จะต้องกำกับดูแลและติดตามผลการปฏิบัติราชการของผู้รับมอบอำนาจ ตลอดจนให้คำแนะนำหรือแก้ไขการปฏิบัติราชการของผู้รับมอบอำนาจด้วย ไม่ใช่มอบแล้วมอบเลย ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรอย่างที่ใคร ๆ เข้าใจผิดกัน 

                   ส่วนการ “มอบหมาย” นั้นเป็นกรณีที่มีกฎหมายกำหนดบทบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะให้ผู้ดำรงตำแหน่งที่กำหนดหรือบุคคลอื่นซึ่งได้รับมอบหมายมีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดภายในกรอบวัตถุประสงค์และอำนาจที่กฎหมายได้ให้ไว้ เช่น มอบหมายให้เป็นผู้อนุญาต มอบหมายให้เข้าประชุมแทน และเมื่อมีการมอบหมายแล้ว ผู้รับมอบหมายจะมีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายนั้นได้บัญญัติให้อำนาจไว้ในฐานะที่เป็นอำนาจของตนเอง รวมทั้งสามารถใช้ดุลพินิจในการตัดสินใจได้ในนามของตนเองภายใต้กรอบวัตถุประสงค์และขอบเขตของภารกิจที่ได้รับมอบหมายนั้นหรือตามที่กฎหมายกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ 

                   เห็นความแตกต่างไหม

***********

ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมาย กองที่ 1) เรื่องเสร็จที่ 102/2493
ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 2) เรื่องเสร็จที่ 74/2554
ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ในเรื่องเสร็จที่ 135/2551