วันอังคารที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2563

มาตรการจัดการโควิด 19 ของญี่ปุ่น และผลกระทบต่อสาธารณรัฐเกาหลี โดย นางสาวปิยวรรณ ซอน นักกฎหมายกฤษฎีกาชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา


               ประเทศญี่ปุ่นตรวจพบประชาชนที่ติดเชื้อโควิด-๑๙ อย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมกราคม ๒๕๖๓ โดยเมื่อวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ คณะรัฐมนตรีได้มีมติกำหนดให้โรคติดเชื้อโควิด-๑๙ เป็นโรคติดต่ออันตรายตาม Infectious Deseases Act และต่อมาได้มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ อนุมัติเงินจำนวน ๑,๕๓๐ ล้านเยน เพื่อจัดทำมาตรการฉุกเฉินทางเศรษฐกิจเพื่อรองรับปัญหาที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙

               ในเบื้องต้น เมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ นายกรัฐมนตรี (นายชินโซ อาเบะ) ได้แถลงขอความร่วมมือจากประชาชนในการงด หรือเลื่อน หรือลดขนาดของการจัด “งานแข่งขันกีฬาขนาดใหญ่” หรือ “งานกิจกรรมขนาดใหญ่” เป็นระยะเวลาอย่างน้อย ๒ สัปดาห์ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ซึ่งภาคเอกชนก็ได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการงดจัดงานขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด  ต่อมา เมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ นายกรัฐมนตรีได้แถลงในที่ประชุม ของศูนย์ปฏิบัติการโควิด-๑๙ (The Novel Coronavirus Response Headquarter) ซึ่งมีการประชุมมาอย่างต่อเนื่องว่า รัฐบาลญี่ปุ่นประสงค์ขอความร่วมมือจากโรงเรียนประถมศึกษาและโรงเรียนมัธยมศึกษา ทั้งภาครัฐและเอกชน ให้ปิดการเรียนการสอน ตั้งแต่วันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๖๓ เป็นต้นไป ซึ่งถึงแม้นายกรัฐมนตรีจะไม่ได้แถลงการณ์ในลักษณะที่เป็นการบังคับก็ตาม ต่อมา กระทรวงศึกษาธิการฯ แห่งญี่ปุ่น (Ministry of Education,Cuture, Sports, Science and Technology (MEXT)) ก็ได้ประกาศให้โรงเรียนทั่วประเทศปิดการเรียนการสอน ซึ่งรวมถึงการยกเลิกงานจบการศึกษาทั้งหมดในช่วงเดือนมีนาคมด้วย

               ในส่วนของมาตรการภายใต้กฎหมายตรวจคนเข้าเมืองของประเทศญี่ปุ่นนั้น มาตรา ๕-๑-๑๔ แห่ง Immigration Control and Refugee Recognition Act (Cabinet Order No. 319 of October 4, 1951) กำหนดให้ญี่ปุ่นสามารถปฏิเสธการเข้าเมืองของคนต่างด้าวได้ หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมพิจารณาแล้วเห็นว่า บุคคลดังกล่าวอาจเป็นอันตรายต่อประเทศ[1] โดยในกรณีของโควิด-๑๙ นั้น ประเทศญี่ปุ่นภายใต้การดำเนินการของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (Immigration Services Agency of Japan) ได้ประกาศการปฏิเสธการเข้าเมืองของคนต่างด้าวสำหรับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
               -๓๑ มกราคม ๒๕๖๓ - คนต่างด้าวที่มีประวัติการพำนัก ณ มณฑลหูเป่ย์ ประเทศจีน
               -๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ - คนต่างด้าวที่โดยสารอยู่ในเรือสำราญ Westerdam
               -๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ - คนต่างด้าวที่มีประวัติการพำนัก ณ มณฑลเจ้อเจียง ประเทศจีน
               -๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ - คนต่างด้าวที่ได้ลงมาจากเรือสำราญ Westerdam
               -๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ - คนต่างด้าวที่มีประวัติการพำนัก ณ เมืองแทกู หรือเมืองคยองซังเหนือ ประเทศเกาหลี
               -๕ มีนาคม ๒๕๖๓ - คนต่างด้าวที่มีประวัติการพำนัก ณ เมืองคยองซังเหนือ (เฉพาะท้องที่ที่กำหนดเพิ่มเติม) ประเทศเกาหลี หรือมีประวัติการพำนัก ณ ประเทศอิหร่าน (เฉพาะเมืองที่กำหนด)

               นอกจากนี้ การดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-๑๙ ในประเทศญี่ปุ่นนั้น มิได้จำกัดอยู่ที่กระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง หากแต่เป็นการดำเนินการแยกย่อยในหลายภาคส่วน โดยมีตัวอย่างการดำเนินการ ดังนี้
                ๑. กระทรวงเศรษฐกิจฯ (Ministry of Economy, Trade and Industry (METI)) พิจารณาเสนอมาตรการช่วยเหลือ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-๑๙ โดยการให้กู้ยืมเงิน
           ๒. กระทรวงศึกษาธิการฯ (Ministry of Education, Cuture, Sports, Science and Technology (MEXT)) กระทรวงฯ ได้ดำเนินกระบวนการขออนุญาตตาม Act on the Conservation and Sustainable Use of Biological Diversity through Regulations on the Use of Living Modified Organisms (Act No. 97 of June 18, 2003) เมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓ เพื่อขออนุญาตในการทดลองเกี่ยวกับ DNA ของโควิด-๑๙ เพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดในประเทศญี่ปุ่น
                   ๓. กระทรวงสิ่งแวดล้อม (Ministry of Environment) ประกาศมาตรการที่จำเป็นเกี่ยวกับการจัดการขยะติดเชื้อ รวมถึงการกำหนดแนวทางการส่งเสริมการใช้แอลกอฮอล์เพื่อฆ่าเชื้อโรคตามสถานที่ต่าง ๆ
                   ๔. กระทรวงสาธารณสุขฯ (Ministry of Health, Labour and Welfare) (๑) ให้ใช้ National Institute of Public Heath of Japan เป็นสถานที่ชั่วคราวเพื่อดำเนินมาตรการป้องกันเชื้อโควิด-๑๙ (๒) ประกาศขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการผลิตหน้าการอนามัยให้บริหารจัดการสินค้าเพื่อให้สามารถวางจำหน่ายในตลาดได้อย่างต่อเนื่อง (๓) ประกาศแนวทางช่วยเหลือผู้สูงอายุที่พักอาศัยอยู่ในห้องที่ไม่มีหน้าต่าง หรือมีหน้าต่างที่เปิดไม่ได้ หรือผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว ให้มีโอกาสได้ตรวจอณูชีวโมเลกุล  Polymerase Chain Reaction (การตรวจ PCR) รวมถึงอำนวยความสะดวกที่พักอาศัยชั่วคราว (๔) ออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหารและที่พักประเภท Ryokan โดยจัดตั้งระบบให้กู้ยืมเงินเพื่อรับมือกับผลกระทบจากโควิด-๑๙ โดยให้ร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบกู้ยืมเงิน ๑๐ ล้านเยน โรงแรมที่พักประเภท Ryokan กู้ยืมเงิน ๓๐ ล้านเยน เป็นระยะเวลา ๗ ปี โดยสามารถเข้าร่วมระบบได้ตั้งแต่วันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๓ ทั้งนี้ต้องเป็นกรณีที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากเหตุการณ์โควิด-๑๙ เท่านั้น

               สำหรับสาธารณรัฐเกาหลี แม้จะมีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-๑๙ อย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมกราคม ๒๕๖๓ จนปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อกว่า ๗,๐๐๐ รายก็ตาม รัฐบาลเกาหลีได้ประกาศเมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๖๓ ว่า อัตราการติดเชื้อในเกาหลีได้ลงลดจนอยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดในรอบสิบวันที่ผ่านมา โดยทางการได้ดำเนินการตรวจเชื้อโควิด-๑๙ ในบรรดาผู้ที่นับถือลัทธิชอนชอนจิไปแล้วกว่าสองแสนราย และปัจจุบันเรียกว่าตรวจสอบเกือบครบถ้วนทั้งหมดแล้ว  อย่างไรก็ตาม รัฐบาลยังคงเฝ้าระวังเพื่อป้องกันการติดเชื้อในกลุ่มชุมชนที่มีขนาดเล็กอย่างต่อเนื่อง

               โดยที่ผ่านมา รัฐบาลเกาหลีได้ประกาศการยกระดับการเตือนภัยโควิด-๑๙ ในประเทศเป็นระดับสูงสุด และได้มีการกำหนดให้เขตพื้นที่ในเมืองแทกู และเมืองคยองซังเหนือ เป็นเขตบริหารจัดการพิเศษ โดยให้ผู้ที่พักอาศัย หรือเคยเดินทางไปยังเขตบริหารจัดการพิเศษดังกล่าวหลีกเลี่ยงการออกนอกบริเวณเป็นระยะเวลาอย่างน้อยสองสัปดาห์ โดยผู้ใดที่มีอาการในระหว่างที่จำกัดบริเวณก็จะต้องติดต่อโดยเร็วไปยังสถานีอนามัยที่ใกล้ที่สุดและรักษาตัวอย่างเร่งด่วน โดยเทศบาลท้องถิ่นต่าง ๆ ได้สั่งให้ห้ามการชุมนุม รวมถึงเปิดสถานีอนามัยในพื้นที่เพื่อให้บริการผู้ป่วยได้ ๒๔ ชั่วโมง

               สำหรับมาตรการปฏิเสธคนเข้าเมืองของเกาหลีนั้น ตามที่ประเทศญี่ปุ่นได้จัดให้มีมาตรการเข้มงวดในป้องกันประชาชนของประเทศอย่างสูงสุด โดยการปฏิเสธการเข้าเมืองของคนต่างด้าวจากประเทศเกาหลี  ในการนี้ กระทรวงการต่างประเทศแห่งประเทศเกาหลีได้ประกาศแนวทางของมาตรการตอบโต้ประเทศญี่ปุ่นอย่างรุนแรงเช่นกัน โดยเกาหลีจะยกเลิกระบบการให้ชาวญี่ปุ่นสามารถพำนักในเกาหลีได้โดยไม่ต้องมีการตรวจลงตราเป็นระยะเวลา ๙๐ วัน อีกทั้งรัฐบาลเกาหลีจะกำหนดให้การอนุญาตการพำนักข้างต้นที่ได้ออกไปแล้วสิ้นผลไปด้วย โดยบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๖๓ เป็นต้นไป โดยกระทรวงการต่างประเทศของเกาหลีได้ตอบโต้ว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีแนวทางแก้ไขการระบาดของโควิด-๑๙ อย่างไม่โปร่งใสและมีเพียงแต่มาตรการเชิงรับมาโดยตลอด การดำเนินมาตรการอย่างรุนแรงของญี่ปุ่นต่อเกาหลีในครั้งนี้ เป็นสิ่งที่ยากแก่การยอมรับและทำความเข้าใจ  อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบแหล่งข่าวพบว่า ถึงแม้จะมีประเทศต่าง ๆ ที่ปฏิเสธการเข้าเมืองของคนต่างด้าวจากประเทศเกาหลีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ประเทศเกาหลีได้ตัดสินใจดำเนินมาตรการตอบโต้ในลักษณะเช่นนี้ต่อประเทศญี่ปุ่นเพียงประเทศเดียว ซึ่งกรณีนี้อาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ในระดับระหว่างประเทศของญี่ปุ่นและเกาหลีต่อไปในอนาคต



[1] (xiv) In addition to those persons listed in items (i) to (xiii), a person whom the Minister of Justice has reasonable grounds to believe is likely to commit an act which could be detrimental to the interests or public security of Japan.