วันศุกร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

เร็วขึ้น ง่ายขึ้น และถูกลง โดยศุภานัน เฉลิมชัย สำนักงาน ก.พ.ร.

                เมื่อพูดถึงบริการภาครัฐ...สมัยก่อนใครๆ ต่างก็พร้อมใจกันเบ้ปากมองบน เพราะทั้งระยะเวลาให้บริการที่ยาวนานข้ามวัน เจ้าหน้าที่ทำหน้าโหดเหมือนโกรธใครมา บางครั้งไปครั้งเดียวไม่จบ ต้องหอบเอกสารไป ๆ กลับ ๆ อยู่อย่างนั้น

              แต่เดี๋ยวนี้ ภาครัฐเองก็มีการปรับตัวเพื่อพัฒนางานบริการให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนได้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อก้าวเข้าสู่ยุคปัจจุบันที่มีวิกฤติการณ์ต่าง ๆ รอบตัวทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 รวมถึงภัยธรรมชาติ ภัยที่เกิดจากมนุษย์ต่างดาหน้ากันเข้ามาให้เราต้องใช้วิทยายุทธและทักษะที่มีในการอยู่รอด ภาครัฐจึงไม่สามารถยืดหยัดด้วยการทำงานแบบเดิมๆ การทำงานเพื่อให้ทันต่อโลกที่ปรับเปลี่ยน สิ่งรอบตัวจะต้องถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีมากยิ่งขึ้น การให้บริการของภาครัฐจึงต้องเน้นให้ประชาชนเกิดความสะดวก รวดเร็ว โดยนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการทำงานและการให้บริการประชาชน

             อย่างที่ได้เคยกล่าวไว้แล้วว่า พระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 นั้น มีเจตนารมณ์ที่จะปลดล็อกความไม่สะดวกนานัปการของบริการภาครัฐ ซึ่งในความเป็นจริงนั้นการดำเนินการจะต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายๆ ส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานภาครัฐเองจะต้องมีความตั้งใจและมีวิสัยทัศน์ในการพัฒนางานบริการของตนให้ตอบโจทย์ตรงใจประชาชนหรือผู้รับบริการได้มากที่สุด

            โดยตลอดระยะเวลาที่พระราชบัญญัติฯ มีผลใช้บังคับ หน่วยงานภาครัฐได้มีการปรับปรุงบริการด้านต่าง ๆ ที่สามารถมองเห็นได้อย่างเป็นรูปธรรม ตามแนวคิด เร็วขึ้น (Faster) ง่ายขึ้น (Easier) และถูกลง (Cheaper) ได้แก่

               การให้บริการรวดเร็วขึ้น (Faster) ด้วยการลดขั้นตอนและระยะเวลาในการให้บริการจากระยะเวลาเดิมไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 - 50 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ ด้วยการปรับปรุงขั้นตอนกระบวนการ Redesign process ลด ละ เลิก ขั้นตอนที่ยุ่งยาก ซับซ้อน ไม่จำเป็นออก พร้อมทั้งปรับปรุงคู่มือสำหรับประชาชนในแต่ละบริการให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ

               การปรับบริการให้ง่ายขึ้น (Easier) และทันสมัย (Smarter) ด้วยการพัฒนาระบบการให้บริการแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) โดยปัจจุบันมีบริการภาครัฐกว่า 325 งานบริการ ที่เป็น e-Service แล้ว อีกทั้งได้พัฒนาระบบ Biz Portal พอร์ทัลกลางเพื่อภาคธุรกิจที่ทำให้ผู้ประกอบการสามารถทำธุรกรรมในการขออนุมัติ อนุญาตกับหน่วยงานภาครัฐผ่านช่องทางออนไลน์ได้ถึง 25 ประเภทธุรกิจ 78 ใบอนุญาต ขณะที่ผู้รับบริการสามารถใช้พอร์ทัลกลางเพื่อประชาชน (Citizen Portal) ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันรวมงานบริการที่ได้รับความนิยมจากผู้ใช้บริการ พร้อมเปิดให้บริการแล้วกว่า 10 บริการ ซึ่งปัจจุบันพบว่างานบริการแบบอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐได้รับการตอบรับจากประชาชนผู้ใช้บริการเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการจองคิวรับบริการ ที่ทำให้ไม่ต้องไปนั่งแออัดเสี่ยงโควิดกันตามสถานที่รับบริการต่าง ๆ ช่วยลดการเดินทาง ทำให้การติดต่อราชการสามารถทำได้ง่ายๆ แค่เพียงปลายนิ้วคลิก 

               การลดค่าใช้จ่ายของประชาชน (Cheaper) ได้มีการส่งเสริมให้ภาครัฐไม่เรียกสำเนาเอกสาร  โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน เพราะถือว่าภาครัฐจะต้องมีการเชื่อมโยงข้อมูลทางหลังบ้านระหว่างกัน รวมทั้งหากประชาชนต้องการเอกสารราชการที่แปลเป็นภาษาอังกฤษ ยกตัวอย่างเช่น เอกสารการเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล เอกสารใบสมรส ก็สามารถขอพรินต์ออกมาได้ง่าย ๆ ที่สำนักงานทะเบียนอำเภอ สำนักงานเขต ซึ่งถือเป็นความร่วมมือของกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ และกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ในการช่วยลดค่าใช้จ่ายที่ประชาชนจะต้องนำเอกสารไปแปล ซึ่งถ้าดูจากจำนวนเอกสารภายในหนึ่งปีที่ประชาชนต้องขอแปล ประมาณ 100,000 ฉบับ ก็ถือว่าสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนไปได้อย่างน้อย 40 ล้านบาท ต่อปีเลยทีเดียว

               อย่างไรก็ตาม คงต้องยอมรับว่า การบริการของภาครัฐเองก็ยังมีหลายส่วนที่ยังต้องปรับปรุง ขณะเดียวกันภาครัฐเองก็ยังไม่หยุดที่จะพัฒนาการให้บริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่มีผลกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในวงกว้าง รวมทั้งปัญหาวิกฤติการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งยังต้องทำงานร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งประชาชนและภาคเอกชน เพื่อพัฒนางานบริการ อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน และส่งเสริมให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน

               โดยหวังว่าในทุกๆ ครั้งที่ประชาชนมารับบริการจากภาครัฐ จะได้ของแถมกลับไป...คือรอยยิ้ม

วันพุธที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

เร่งเครื่องสู่ Digital Government โดยชยพล อริยคุณากูร สำนักงาน ก.พ.ร.

                     ทิศทางของการพัฒนาบริการภาครัฐต่อไปยังต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ก้าวทันต่อบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการปรับวิธีคิดหรือ Mindset  หรือวิธีทำงานให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับการมาถึงอย่างรวดเร็วของยุคดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การเมืองระหว่างประเทศ และยิ่งต้องมาประสบกับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ทำให้ภาครัฐทั่วโลกต้องปรับตัวกันขนานใหญ่

                  เริ่มจากวิธีการปฏิบัติราชการที่เปลี่ยนไปจากแบบ "เดิม ๆ" เช่น การให้ข้าราชการทำงานจากที่บ้าน หรือ Work from home แต่ต้องรักษามาตรฐานและคุณภาพของการให้บริการที่เหมือนเดิม หรือไม่ก็ต้องทำให้ดีขึ้นกว่าเดิมเพื่อให้การบริการภาครัฐไม่สะดุด ตอบสนองได้ทันท่วงที มีการใช้ช่องทางออนไลน์มาเป็นช่องทางหลักในการติดต่อกับภาครัฐ แม้กระทั่งจะไปหาหมอที่โรงพยาบาล ไม่ต้องไปด้วยตัวเองแล้ว โควิด-19 ทำให้เราเปลี่ยนวิธีการจากที่ต้องไปรับบัตรคิวที่โรงพยาบาล มาเป็นจองคิวออนไลน์และใช้วิดีโอคอลปรึกษาอาการกับคุณหมอผ่านระบบ telemedicine ที่โรงพยาบาลจัดให้แทน จ่ายเงินค่ารักษาก็สามารถทำผ่านออนไลน์ และคุณหมอก็จะจัดส่งยามาให้เราถึงที่บ้านได้อีกเช่นกัน

                  การที่ภาครัฐสามารถให้บริการผ่านระบบออนไลน์หรือ e-Service ได้นั้น ส่วนสำคัญเนื่องมาจากการที่รัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ขึ้นเพื่อปลดล็อกบริการภาครัฐไปสู่การบริการผ่านดิจิทัล  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กฎหมายที่ระบุให้ต้องมาขอรับบริการ ณ สถานที่ให้บริการ การลงนามในใบอนุญาต/หนังสือรับรอง การกำหนดวิธีการแจ้งผลการพิจารณา และการรับใบอนุญาต ไม่สามารถทำผ่านวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ได้ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและไม่เป็นไปตามยุคตามสมัย รวมถึงผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการผ่าน e-Service โดยเน้นการให้บริการได้ตั้งแต่ต้นจนจบ เรียกได้ว่าสุดท้ายปลายทางคือการออกใบอนุญาตเป็นดิจิทัลให้ประชาชนได้เลย


                   ตัวอย่างที่หลายหน่วยงานของรัฐกำลังดำเนินการอยู่ คือการออกเอกสารราชการแบบดิจิทัล หรือ e-Document เพื่อทดแทนการใช้กระดาษแบบเดิม ๆ เช่น กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้พัฒนาหนังสือรับรองนิติบุคคลรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ผู้ประกอบการสะดวก ไม่ต้องเสียระยะเวลารอคอยนาน ลดการเดินทาง ลดต้นทุนทางธุรกิจ รวมถึงมหาวิทยาลัยขอนแก่นก็ได้ออก e-transcript ให้กับนักศึกษาเป็นรูปแบบดิจิทัล และเมื่อนำ e-transcript ดังกล่าวไปสมัครงานหน่วยงานที่รับสมัครบัณฑิตที่จบจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นก็สามารถตรวจสอบเอกสารที่ได้มานั้นถูกต้องหรือไม่ ด้วยระยะเวลาที่ไม่นาน ก็สามารถรับเข้าทำงานได้ทันที สะดวกรวดเร็วทั้งทางฝั่งผู้จ้างและบัณฑิต รวมถึงฝ่ายทะเบียนของมหาวิทยาลัยก็ไม่ต้องทำงานซ้ำซ้อนอีกด้วย


                   แต่กว่าจะไปถึงการบริการที่คนมักเรียกกันว่าเป็นการบริการ e-Service ที่สุดซอย คือการออกใบอนุญาตเป็น e-Document ออกมาได้ เบื้องหลังก็คือหน่วยงานภาครัฐได้ร่วมมือกันที่จะปลดล็อกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการให้บริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยในระยะแรกตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2563 มีกฎหมายถึง 84 ฉบับ ไม่ว่าจะเป็นระดับพระราชบัญญัติ กฎกระทรวง ระเบียบ ประกาศต่าง ๆ ที่หน่วยงานเจ้าของกฎหมายจะต้องทบทวนหรือแก้ไขกฎหมายเหล่านั้นเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคอีกต่อไป และปัจจุบันมีกฎหมายเกือบ 50 ฉบับแล้วที่ทบทวนหรือแก้ไขแล้วเสร็จ ดังตัวอย่างของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้ออกประกาศกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เรื่องการยื่นคำขอตามกฎหมายว่าด้วยสถานประกอบการเพื่อสุขภาพทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้


                   จากที่กล่าวมาทั้งหมดในตอนนี้ คงจะเห็นภาพความพยายามของทุกฝ่ายที่จะร่วมกันแก้ไขกฎหมายเพื่อให้เกิด e-Service และเห็นได้อย่างชัดเจนว่า กฎหมายการอำนวยความสะดวกได้ช่วยปลดล็อกอุปสรรค ทำให้บริการภาครัฐสะดวกขึ้นได้อย่างไร

วันพฤหัสบดีที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

ปลดล็อกบริการภาครัฐ ด้วยกฎหมายการอำนวยความสะดวก โดยอักสรณ์ ทองศรี นักพัฒนาระบบราชการชำนาญการพิเศษ สำนักงาน ก.พ.ร.

ในโลกยุคปัจจุบันที่วิถีชีวิตของประชาชน หรือพฤติกรรมต่าง ๆ มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ทุกวันนี้ประชาชนสามารถเข้าถึงและรับข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว ดูเหมือนว่าคนไทยส่วนใหญ่จะมีชีวิตที่ผูกติดกับดิจิทัลมากขึ้น จะเห็นได้จากข้อมูลผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยปี  2563 ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA พบว่าคนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ยวันละ 11 ชั่วโมง 25 นาที ในปี 2563 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2562 ถึง 1 ชั่วโมง 3 นาที ด้วยเหตุผลหลักก็คือ สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่าย และมีเครือข่ายที่ครอบคลุม ส่วนสาเหตุรองลงมาคือมีความจำเป็นต้องใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น และบริการต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันสามารถทำผ่านออนไลน์ได้ ขณะเดียวกันก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าผลกระทบจาก COVID-19 เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นให้ผู้คนหันมาเลือกทำกิจกรรมออนไลน์เพิ่มมากขึ้น แทนที่จะต้องเดินทางออกจากบ้านหรือเพื่อหลีกเลี่ยงการพบปะผู้คนโดยเฉพาะในที่สาธารณะ

หากถามถึงบริการภาครัฐ ไม่ว่าใครก็ต้องตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า ต้องการบริการที่มีคุณภาพ สะดวก รวดเร็ว สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างทันท่วงที และหากเป็นไปได้ผู้รับบริการต่างต้องการบริการที่เกินความคาดหวัง ดังนั้น ภาครัฐต้องตระหนักในเรื่องดังกล่าวและปรับตัวให้การทำงานหรือส่งมอบบริการที่มีความหลากหลายและยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง

ที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐได้ดำเนินการตามพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อแก้ปัญหาความไม่สะดวกต่าง ๆ ของการอนุมัติ อนุญาตที่ปัจจุบันมีกฎหมายว่าด้วยเรื่องดังกล่าวอยู่เป็นจำนวนมาก รวมถึงความไม่ชัดเจนในรายละเอียดของขั้นตอนการอนุมัติ อนุญาต ซึ่งถือเป็นอุปสรรคสำคัญของการให้บริการภาครัฐ ภายใต้แนวคิด เร็วขึ้น (Faster) ง่ายขึ้นหรือสะดวกขึ้น (Easier) ค่าใช้จ่ายที่ถูกลง (Cheaper) และทันสมัย (Smarter) ซึ่งถือเป็นการปลดล็อกงานบริการในหลายๆ เรื่อง เช่น

การจัดทำคู่มือสำหรับประชาชน ซึ่งจะมีการกำหนดรายละเอียดของการให้บริการที่ผู้รับบริการอยากจะรู้ ทั้งหลักเกณฑ์ วิธีการเงื่อนไขในการยื่นคำขอ ขั้นตอน ระยะเวลาในการพิจารณาอนุมัติ อนุญาต ค่าธรรมเนียม (ถ้ามี) และรายการเอกสารหรือหลักฐานต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ รวมทั้งให้ระบุช่องทางร้องเรียนอย่างชัดเจน ซึ่งถือเป็นเครื่องมือในการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ ที่นำไปสู่การให้บริการที่มีมาตรฐาน สะดวก รวดเร็ว และโปร่งใส

การลดขั้นตอน ระยะเวลาการให้บริการ ด้วยการปรับปรุงขั้นตอนกระบวนงานลดความซ้ำซ้อนในการอนุมัติ อนุญาต ลดโอกาสในการเรียกรับผลประโยชน์จากประชาชนเพื่อจะให้ได้รับบริการที่เร็วขึ้นสามารถลดขั้นตอน ระยะเวลาได้ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 30 - 50 ของระยะเวลาในการให้บริการเดิม

การพัฒนาการอนุมัติอนุญาตไปสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Service) เพื่อลดการติดต่อระหว่างเจ้าหน้าที่กับประชาชน ช่วยให้การอนุมัติ อนุญาตเป็นไปด้วยความโปร่งใสด้วยการพัฒนาการให้บริการด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Services) โดยปัจจุบันสามารถดำเนินการได้ 325 งานบริการ แบ่งเป็นการให้บริการได้ครบวงจร 92 งานบริการ การยื่นคำขอผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ 90 งานบริการ การยื่นคำขอและจ่ายเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ จำนวน 119 งานบริการ และการบริการข้อมูลหรือตรวจสอบสิทธิ์ 24 งานบริการ ซึ่งจะเป็นการตอบโจทย์การให้บริการของภาครัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ทำให้สามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่อง

การชำระค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาตแทนการยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาต ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการและประชาชนสามารถจ่ายค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาตแล้วถือว่าได้รับการต่ออายุใบอนุญาตในทันที ทำให้สามารถทำธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง โดยมีใบอนุญาตที่สามารถทำได้ตามกฎหมายแนบท้ายพระราชกฤษฎีกาการกำหนดให้ผู้รับอนุญาตชำระค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาตแทนการยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาต พ.ศ. 2564 จำนวน 31 ประเภทใบอนุญาต ซึ่งนอกจากจะเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนแล้ว ยังส่งผลต่อการลดช่องว่างของระยะเวลาในการต่อใบอนุญาตเพื่อเรียกรับผลประโยชน์อีกด้วย

จากที่ได้กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างการดำเนินงานที่ผ่านมาซึ่งได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจนทำให้ประเทศไทยได้รับการจัดจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจของธนาคารโลกอยู่ในอันดับที่ 21 ของโลก ในปี 2563 และผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดย IMD อยู่อันดับที่ 28 ของโลก ในปี 2564

อย่างไรก็ตาม คงปฏิเสธไม่ได้ว่าทิศทางการให้บริการของรัฐในก้าวต่อไปยังคงต้องมีการเปลี่ยนแปลงอีกมากมายจึงจะสามารถก้าวทันการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล สิ่งสำคัญก็คือ การปรับ Mindset ของข้าราชการในการคิดให้เป็น “ดิจิทัล” คิดให้ทันต่อ “การเปลี่ยนแปลง” มิใช่การนำเทคโนโลยีมาครอบวิธีการทำงานแบบเดิม ๆ แต่ต้องก้าวข้ามผ่านขั้นตอน กฎระเบียบที่ไม่จำเป็น โดยต้องตั้งคำถามว่า กฎระเบียบที่มีอยู่นั้น “มีไว้เพื่อใคร และเพื่ออะไร” รวมถึงการบูรณาการการทำงานและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างภาครัฐและภาคส่วนต่าง ๆ การวางแผนเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤตการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต

เหล่านี้จึงจะสามารถปลดล็อกความยุ่งยาก อํานวยความสะดวกในการให้บริการประชาชนได้อย่างสมบูรณ์แบบ ส่งผลให้เกิดความเข้มแข็ง (Stronger) ประสิทธิภาพการให้บริการ (Smarter) และส่งผลให้ประชาชน มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น (Better life) ในท้ายที่สุด


****************


วันอาทิตย์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

สังคายนาระบบราชการ โดยปกรณ์ นิลประพันธ์

ราชการเป็นโครงสร้างหลักในการบริหารงานแผ่นดินและการจัดทำและการให้บริการสาธารณะทั้งหลายทั้งปวง ระบบราชการจึงต้องทันต่อการเปลี่ยนแปลงและมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา


ในปี 2431 (1888) รัชสมัยพระพุทธเจ้าหลวง ทรงโปรดเกล้า  ให้ “สังคายนา” (หรือที่ปัจจุบันเรียกว่า “ปฏิรูป”) ระบบราชการมาแล้วคราวหนึ่ง โดยยกเลิกการจัดระเบียบราชการตามภารกิจแบบจตุสดมภ์ ที่มีเวียง วัง คลัง นา เป็นหลัก ควบคู่กับการแบ่งการปกครองตามพื้นที่โดยสมุหกลาโหม สมุหนายก และกรมท่า ที่มีมาแต่ครั้งกรุงเก่า ซึ่งทำงานสับสนปนเปกันอยู่เป็นอันมาก เพราะต่างคนต่างว่ากันไปคนละทิศละทาง หาระเบียบแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนไม่ได้ จนประเทศตะวันตกใช้เป็นข้ออ้างหนึ่งในการรุกรานประเทศไทย 


หลังจากยุบระบบเดิมแล้ว ทรงโปรด  ให้จัดตั้งกระทรวงและกรมเพื่อรับผิดชอบกิจการต่าง  ตามภารกิจ (functional base) ตามแบบอย่างการจัดระบบราชการของประเทศยุโรป ณ เพลานั้น (ย้ำว่าที่ใช้ในยุโรป ณ เพลานั้น เพราะเวลานี้เขาเปลี่ยนไปหลายตลบแล้ว) เพื่อให้การทำงานของระบบราชการมีความชัดเจนและเป็นเอกภาพ ซึ่งเป็นการรากฐานของระบบราชการในปัจจุบัน


หลังจากใช้ระบบราชการแบบ functional based มา 113 ปี ประกอบกับในปี 2540 ประเทศไทยต้องประสบปัญหาวิกฤติต้มยำกุ้ง จึงมีข้อเสนอแนะจากต่างประเทศให้ปฏิรูประบบราชการเสียใหม่ ให้เป็นระบบที่มีขนาดกระทัดรัด คือพอเหมาะพอสม ไม่ใหญ่โตเทอะทะอุ้ยอ้าย จะได้ไม่ต้องใช้งบประมาณประจำมาก เอาไปใช้เป็นงบลงทุนภาครัฐแทน อะไรที่ผ่องถ่ายให้เอกชนทำได้ก็อย่าทำเองเลย outsourcing ให้เอกชนเขาทำเถิด จะได้เร่งการเจริญเติบโตตามสูตร GDP ได้ ขณะเดียวกันก็ให้ระบบราชการมุ่งเน้นประสิทธิภาพและประสิทธิผล (output and outcome) ในการทำงาน แทนการทำงานให้ถูกต้องตามกฎระเบียบ (rules base) ตามหน้าที่ (function) เท่านั้น ให้ทำตามประเด็นสำคัญ หรือ Agenda based บ้าง ปรับปรุงระบบการจ้างข้าราชการใหม่จาก lifetime employment คือเกษียณ 60 ขวบ เป็น contract base สามปีห้าปี โดยมีการประเมินผลการปฏิบัติงานทุกรอบระยะเวลา ที่เรียกอย่างโก้ในสมัยนั้นว่า NPM (New Public Management) และปรับระบบงบประมาณจากspecific line item budgeting ที่ใช้กันมาตั้งแต่ปี 2502 ให้เป็น lump sum budgeting แทน เพราะระบบงบประมาณเดิมมันเหมาะสำหรับใช้ซื้อของ ไม่ตอบโจทย์ประสิทธิภาพและประสิทธิผล ฟังดูดี๊ดี


รัฐบาลเมื่อปี 2544 จึงกำหนดเป็นวาระเร่งด่วนให้มีการปฏิรูประบบราชการขึ้นมาโดยเอาแนวคิดที่ต่างประเทศเสนอมาประกอบการพิจารณาด้วย 


การปฏิรูประบบราชการในคราวนั้นประสบความสำเร็จในการปรับโครงสร้าง (Rearrange) ของกระทรวง ทบวง กรม ให้สอดคล้องกับประเด็นการพัฒนา (agenda based) และการนำแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาระบบราชการและการประเมินผลการปฏิบัติราชการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการไทย แต่ก็ยังไม่ถึง “กึ๋น” ใน 3 เรื่องในความเห็นของผู้เขียน และทำให้ระบบราชการเป็นจำเลยรักของสังคมเรื่อยมา


ประการแรก ในระบบกฎหมายไทยถือว่ารัฐไม่เป็นนิติบุคคล โดยนักกฎหมายไทยยึดหลักกันมาว่านิติบุคคลต้องจัดตั้งขึ้นโดยกฎหมายเท่านั้น เมื่อไม่มีกฎหมายใดบอกว่ารัฐเป็นนิติบุคคล รัฐจึงไม่เป็นนิติบุคคล ต่างจากกระทรวง ทบวง กรม ที่ประมวลกฎหมายแพ่งและกฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดินรับรองว่าเป็นนิติบุคคล 


เรื่องนี้บ้านเราถือแตกต่างจากกฎหมายต่างประเทศ โดยต่างประเทศเขาถือว่ารัฐเป็นิติบุคคลทั้งตามกฎหมายภายในและกฎหมายระหว่างประเทศ หน่วยงานของรัฐเป็นเพียงองคาพยพของรัฐ ที่กฎหมายเขียนให้หน่วยงานใดเป็นนิติบุคคลก็เพื่อประโยชน์ในการฟ้องและถูกฟ้องคดีเท่านั้น จะได้ไม่ต้องมอบอำนาจในการฟ้องและถูกฟ้องกันให้วุ่นวาย ไม่ใช่แยกกันเป็นรัฐอิสระ  ดังนั้น การยุบรวมหรือตั้งหน่วยงานใหม่ของเขาจึงง่ายมาก ออกคำสั่งปฏิบัติการตูมเดียวจบ ถือเป็นวิธีการในการจัดสรรทรัพยากร (resources allocation) ของรัฐที่มีจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วย 


ส่วนบ้านเราถือว่ารัฐเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศ แต่กลับไม่เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทย จัดว่าแปลกมาก ไม่รู้ว่าเป็นที่เดียวในโลกหรือเปล่า เพราะเวลาไปลงนามในหนังสือสัญญากับต่างประเทศถือเป็นนิติบุคคล แถมเป็นนิติบุคคลที่มีอำนาจอธิปไตย (sovereignty) เสียด้วย ซึ่งนิติบุคคลตามกฎหมายธรรมดาหามีไม่ พอเข้าบ้าน ดันไม่เป็นนิติบุคคลซะงั้น ดังนั้น เมื่อกระทรวง ทบวง กรม ต่างเป็นนิติบุคคล มันจึงกลายเป็นองคาพยพที่แยกต่างหากจากกัน ถึงจะมีกฎหมายกำหนดลำดับชั้นบังคับบัญชาไว้ก็ตาม นี่จึงเป็นพื้นฐานของหลักที่ว่าการจัดตั้ง การรวม การโอนหน่วยงานของรัฐที่เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทยต้องตราเป็นพระราชบัญญัติ เว้นแต่ถ้าเป็นการรวมหรือการโอนโดยไม่มีการตั้งอัตราหรือตำแหน่งใหม่ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา  ซึ่งทำให้ resources allocation ของรัฐบาลไทยทำได้ยากมากกกกกกก ขอบอก …


นี่เป็นเรื่องที่ผู้เขียนเห็นโดยสุจริตว่าต้องแก้โดยเร่งด่วน


นอกจากความยากเช่นว่า การทำงานข้ามกรมข้ามกระทรวงก็ยากตามไปด้วยเพราะเจ้าที่เจ้าทางเยอะไปหมด การประสานงานระหว่างหน่วยงานจึงมักจบลงด้วยโศกนาฏกรรมที่เป็น “การประสานงา” กันไปเสียฉิบ อย่าว่าแต่ข้ามกระทรวงเลย ในกระทรวงที่มีหลายกรมแต่ไม่คุยกันก็มี ที่ไม่คุยกันไม่ใช่เพราะเจ้าหน้าที่ไม่คุยกัน บางทีเป็นเรื่องหัวหน้าไม่ถูกกัน เอาเข้าไป แยกงานกันส่วนตัวไม่ออก ไม่รู้เจริญก้าวหน้ามาได้ยังไง เพราะไม่ได้ยึดประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นหลัก น่าตีนักพวกนี้


จำได้ว่าในการออกกฎหมายปฏิรูประบบราชการในปี 2544 ฝ่ายกฎหมายได้เสนอประเด็นนี้ให้ฝ่ายนโยบายพิจารณาด้วย แต่ขณะนั้นเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่ จึงให้ชะลอไว้ก่อน ทั้ง  ที่เรื่องดังกล่าวเป็นเพียงเพื่อประโยชน์ในการจัดสรรทรัพยากรของรัฐที่มีจำกัดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดเท่านั้น และทำให้แนวคิดเกี่ยวกับความเป็นนิติบุคคลของรัฐของบ้านเราสอดคล้องกับหลักสากลด้วย ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับสิทธิประโยชน์ของข้าราชการซึ่งต้องย้ายที่ทำงานเลย อาจมีกระทบบ้างเรื่องภารกิจและสถานที่ทำงานที่อาจต้องเปลี่ยนแปลงไป แต่มันก็เป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว และรัฐต้องมีมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนที่อาจเกิดขึ้นอยู่แล้ว ซึ่งต่างประเทศเขาก็ทำแบบนี้ แต่เมื่อฝ่ายนโยบายให้รอ ก็ต้องรอไว้ก่อนครับ เพราะท่านรับผิดชอบทางการเมืองต่อสภา


ดังนั้น การยุบรวมหน่วยงานของรัฐของไทยจะเพื่อประหยัดงบประมาณก็ดี เพื่อจัดสรรทรัพยากรให้เหมาะสมก็ดี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานก็ดี จึงยากมากมาย และไม่ทันต่อการพัฒนาและความเปลี่ยนแปลงด้านต่าง  ที่รวดเร็วมากจน functional based แบบดั้งเดิมไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการที่เกิดขึ้นได้ 


อ้อ … ถ้าแก้ไขให้รัฐเป็นนิติบุคคลได้ตามข้อเสนอ การเขียนมาตรารักษาการในกฎหมายก็จะต้องเขียนใหม่ด้วย ไม่ใช่ระบุตำแหน่งว่ารัฐมนตรีคนไหนรักษาการตามกฎหมายเหมือนอย่างที่เขียนในปัจจุบัน  เพราะจะไม่สอดคล้องกันกับหลักที่ว่า 


ประการที่สอง เมื่อเรานำหลักการปฏิบัติราชการว่าต้องมุ่งผลสัมฤทธิ์เข้ามาใช้ มีการเปลี่ยนระบบประเมินผลการปฏิบัติราชการโดยเน้น output outcome แต่ระบบงบประมาณของราชการยังเป็น specific line items เหมือนเดิม มันจึงไม่สอดคล้องกัน เพราะระบบเก่าเน้นซื้อของ ไม่ได้เน้น output outcome การพิจารณางบประมาณแต่ละปียังคงลงลึกว่าซื้อหรือใช้ไปทำไม ของเก่ามีอยู่แล้ว น่าจะพอแล้ว คนพิจารณารู้มากกว่าเราคนใช้อีก หรือไม่ก็ทำไมแพงกว่าราคากลาง ฯลฯ ไม่ได้ดูว่าถ้าเป้าประสงค์ของการใช้จ่ายงบประมาณแต่ละเรื่องคืออะไร แล้วจัดสรรงบประมาณให้เหมาะสมว่าจะทำภารกิจหรือพันธกิจที่ได้รับมอบหมายให้ประสบความสำเร็จเป็นที่พึงพอใจของประชาชนหรือผู้รับบริการหรือไม่ การบริหารงบประมาณก็ยังเป็น rule based อยู่มาก นี่ขนาดว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องท่านลดความแข็งตัวลงไปเยอะแล้ว แถมมีระบบดิจิทัลมาช่วยนะครับ แต่ก็ยังคงเป็นปัญหาสำคัญอยู่ ข้าราชการเองก็แอบหวังอยู่ลึก ๆ ว่าเมื่อไรระบบงบประมาณจะเป็น lump sum bedgetting เสียทีหนอ


เรื่องตรวจสอบการใช้จ่ายนี่เรายินดีให้ตรวจสอบครับ สุจริตเสียอย่าง ไม่ต้องปิดบัง จะทำระบบดิจิทัลมาให้เราใช้หรือไม่ก็เชื่อมโยงระบบเราไปดูก็ได้ ง่ายดีเสียอีก เราจะได้เอาเวลาไปทำอย่างอื่นได้ ไม่ต้องทำคำชี้แจงให้วุ่นวาย แถมฝ่ายตรวจสอบยังตรวจสอบแบบ ongoing ได้ด้วยนะเออ


ประการที่สาม โครงสร้างและการบริหารงานบุคคลยังใช้ระบบ one size fits all อยู่ จึงทำให้การจัดโครงสร้างและการบริหารงานบุคคลของเราค่อนข้างแข็ง ทั้ง  ที่งานแต่ละอย่างมีธรรมชาติที่แตกต่างกันไป การให้ใช้ระบบเดียวกันทุกหน่วยงานทั้งประเทศจึงทำให้หน่วยงานของรัฐขาดความยืดหยุ่นในการรองรับภารกิจใหม่ ๆ รวมทั้งโครงสร้างของและความต้องการของบุคคลากรที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย กฎเกณฑ์จำนวนมากไม่สอดคล้องกับสภาพการทำงาน เชื่อไหมว่ากฎหมายแม่ที่เกี่ยวข้องตายไปหลายปีแล้ว กฎหมายลูกยังใช้ต่อเนื่อง กลายเป็น พ.ร.บ. ใหม่ แต่ไส้ในเก่า มันจึงเกิดภาวะชะงักงันทางการบริหาร พ.ร.บ. เดินหน้า แต่ลูกบทรั้งไว้ที่เดิม จะขำก็ขำไม่ออก แต่กำลังหาทางปรับปรุงกันครับ ไม่ได้บ่นอย่างเดียว จะได้ทำให้ HRM (Human resources management) เป็น HRD (Human resources development) เสียที นิ่งมานานแล้ว


อย่างช่วงโควิดนี่พอให้ทำงาน work from home แค่นี้ก็เกิดปัญหาแล้วว่าจะลงเวลาทำงานกันอย่างไร จะรับส่งงานกันอย่างไร แทนที่จะคิดถึง output และ outcome จากการทำงานแบบ WFH ผู้บังคับบัญชาบางส่วน (ใหญ่) ก็มัวแต่คิดว่าจะประเมินผลงานผู้ใต้บังคับบัญชาอย่างไร แทนที่จะดูที่ผลสัมฤทธิ์ของงาน ดันไปวุ่นวายกับการตอกบัตรลงเวลา เป็นต้น ทำเป็นโรงงานทอผ้ายุคปฏิวัติอุตสาหกรรมไปได้ ถ้าคนยุคนั้นฟื้นคืนมาได้ ผมว่านี่คงเป็นสิ่งที่เขาต้องจำได้ 


แต่กรณีนี้นอกจากเป็นเรื่องกฎเกณฑ์ที่คร่ำคร่าไม่ทันยุคแล้ว ยังเป็นเรื่องทัศนคติและวิธีคิดส่วนบุคคลด้วย ซึ่งต้องร้องว่า … เฮ้อ!!! แล้วจะพัฒนาไป work from anywhere ยังไงกันล่ะ?? 


เรื่องยุบเลิกหน่วยงานนี่เป็นอะไรที่ท้าทายมาก ทั้ง  ที่ไม่ได้กระทบสิทธิประโยชน์ของผู้ปฏิบัติงาน มันเป็นเรื่องศักดิ์ศรีล้วน  ซึ่งเป็นเรื่องของบ้านเราโดยเฉพาะ ตั้งอะไรนี่ง่ายดายเหลือเกิน แต่จะยุบเข้าสักอันนี่ร้องกันคอแตกทีเดียวว่ากระทบนั่นกระทบนี่ บางทีฟ้องกันอีรุงตุงนัง ไปทุกศาล จะอะไรกันนักหนาไม่รู้ หรือนั่งทับอะไรกันไว้ กลัวคนอื่นเขาจะเข้าไปเจอตอนชำระบัญชีหรือไงก็ไม่ทราบได้ อันนี้บ่นนะครับ … แฮะ 


ที่ผู้เขียนเสนอมาเป็นตุเป็นตะได้นี่เพราะตอนเด็ก  มีโอกาสได้ช่วยพี่  เขาทำเรื่องปฏิรูประบบราชการมานานครับ บางช่วงก็มีโอกาสปฏิบัติเองด้วย จึงเห็นว่าถ้าถึงกึ๋นดังว่าเสียหน่อยจึงจะทำได้ และไม่ขอเรียกปฏิรูป เสนอให้เรียกว่าสังคายนาดีกว่า เพราะปฏิรูปมันแค่เปลี่ยนรูป ไส้ไม่เปลี่ยน แต่สังคายนานี่รื้อทั้งระบบทีเดียว


เอาละค่ำแล้ว แบตใกล้จะหมด จึงขอพักเรื่องนี้ไว้เพียงเท่านี้ก่อน 


ขอบพระคุณที่อ่านจนจบนะครับ.