วันอาทิตย์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2566

ชวนคิด เข้ม ดำ ขม นมไม่มี : ปกรณ์ นิลประพันธ์

เมื่อเช้าวานออกจากบ้านไปธุระแถววังนันทอุทยาน เห็นว่ามีร้านกาแฟแบรนด์ไทยชื่อดังตั้งอยู่ จึงสั่งเข้มดำขมนมไม่มีมาแก้วหนึ่งแล้วหาที่นั่งรอ สังเกตว่าผู้คนเข้าออกพลุกพล่าน สมกับเป็นร้านกาแฟมีชื่อ มีทั้งคนมานั่งประชุมในร้าน นั่งเล่นเกมส์ นั่งกินกาแฟไปสังสรรค์เสวนาไป บ้างก็คงนั่งรอญาติพี่น้องเพื่อนฝูงอยู่ แต่ทุกคนทุกคนไถโทรศัพท์กันง่วน กาแฟแก้วนึงก็ 35 บาทขึ้นไป แต่ปกติเขาก็จะสั่งในราคาที่เกิน 60 บาท ในร้านมีกาแฟกินกันทุกคน


ร้านเป็นกระจกใสจึงเห็นมีป้าคนหนึ่งอายุคงสักหกสิบปีเศษเดินมายืนรออยู่ตรงประตูที่ต้องกดเปิดปิด ใส่เสื้อแขนยาวสวมหมก เหงื่อซึมตามใบหน้า เสื้อลายสก๊อตแขนยาวก็ดูเปียกเหงื่อ สุขภาพดูไม่ค่อยดีเพราะเดินโขยกเขยก สองแขนพะรุงพะรังไปด้วยถุงพลาสติกใส่ขนมสุดคลาสสิค แขนขวาเป็นนางเล็ด แขนซ้ายเป็นขนมปังเนยน้ำตาลอบกรอบ ข้างละสามสิบถุงได้ พอมีคนกดออกจากร้านแกก็รีบสาวเท้าสวนเข้ามาในร้านคงเพราะยกแขนไม่ไหว แล้วก็เปิดการขายโดยไม่รอช้า


“ช่วยป้าซื้อหน่อยนะจ๊ะ” 


ป้าเดินไปทุกที่นั่งยกเว้นผมคนเดียว เข้าใจว่าผมคงจะแต่งตัวชำรุดทรุดโทรมพอ ๆ กัน ป้าจึงยกเว้นให้ ในร้านมีคนสักสามสิบที่นั่งอยู่ แกขายขนมปังกรอบได้ถุงนึงในราคา 20 บาท สุภาพสตรีท่านหนึ่งช่วยอุดหนุนหลังจากสอบถามอยู่พักใหญ่ว่าไปรับที่ไหนมา อร่อยไหม เอาเงินไปทำอะไร ส่วนใหญ่ทำเป็นมองไม่เห็น ที่สบตาแกก็ส่ายหน้าเป็นคำตอบ ป้าก็เข้าใจสัญญาณนั้นและไม่รบกวน 


เดินวนเวียนทั้งร้านแล้วได้เท่านี้ ป้าก็ออกจากร้านแอร์เย็นฉ่ำไปยืนถอนหายใจอยู่นอกประตูในตอนสายของวันที่เขาว่าร้อนที่สุดของเดือนมีนาคม แล้วพาร่างชราเดินจากไปอย่างช้า ๆ แต่พ้นมุมต้นไม้นั้นแล้ว ผมก็ไม่เห็นต่อไปว่าป้าแกเดินไปขายที่ไหนต่อ เดาเอาว่าเธอคงเดินไปชายต่อบริเวณหน้าโรงพยาบาลเอกชนใกล้เคียงกัน


ส่วนขนมที่สุภาพสตรีท่านนั้นซื้อไป เธอไม่ได้หยิบไปด้วย คงวางอยู่ที่โต๊ะที่เธอเคยนั่งอยู่ เธอออกไปหลังจากป้าออกจากร้านไปครู่หนึ่ง เดินไปคนละทางกันกับป้า และตอนผมออกจากร้านหลังจากนั้นอีกราวยี่สิบนาที ขนมถุงนั้นยังคงวางอยู่ ณ ที่เดิม เธอคงซื้อเพราะอยากช่วยเหลือ หรือไม่ก็ตัดรำคาญ ไม่ได้ต้องการกินมันอย่างแท้จริง


ห้วงเวลาที่ป้าเดินเข้ามาขายขนมนั้นไม่ยาวนานนัก สักสิบนาทีเห็นจะได้ แต่มันสร้างคำถามในใจผมมากมายทีเดียว ทั้งด้านครอบครัว การศึกษา ความเหลื่อมล้ำ ความเป็นธรรมและความโอบอ้อมอารีในสังคม ความสามารถในการหารายได้ตามช่วงวัย  สุขภาพ การปฏิรูปสวัสดิการผู้สูงวัย การปฏิรูประบบภาษี ขยะพลาสติก food waste ฯลฯ


ถ้าเรื่องราวนี้ถึงหูพรรคการเมือง ผมอยากจะขอให้ทีมเศรษฐกิจทั้งหลายคิดวิเคราะห์ให้ดี ก็จะสามารถสร้างชุดนโยบายสำคัญที่เหมาะสมกับความเป็นจริงได้โดยใช้ภาษีของประชาชนที่เป็นงบประมาณได้ตรงจุด ไม่คิดแบบ one size fits all แล้วสาดเงินงบประมาณไปทั่ว ทั้งที่มันไม่ใช่เงินของท่าน แต่เป็นเงินแผ่นดิน การใช้ other money มันง่าย แต่ถ้าไม่อยากให้เป็นประชานิยมก็ต้องใช้อย่างตรงเป้า คุ้มค่า


กาแฟเข้ม ดำ ขม นมไม่มี โนเช้าวันนั้นรสชาติยังเป็นไปตามมาตรฐานของแบรนด์ แต่มันทำให้ผมฟุ้งซ่านมาก


ผสมอะไรเข้าไปด้วยหรือเปล่านี่!

วันอังคารที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2566

เกร็ดการร่างกฎหมาย มีนาคม 2566 ปกรณ์ นิลประพันธ์

 พระราชกฤษฎีกานี่มี 2 ประเภท


ประเภทที่หนึ่ง คือพระราชกฤษฏีกาที่ตราขึ้นตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเลย คือรัฐธรรมนูญกำหนดชัดเจนว่าเรื่องนั้นเรื่องนี้ต้องตราเป็นพระราชกฤษฎีกา เช่น การเรียกประชุม การขยายระยะเวลาประชุม การปิดประชุมสภา การยุบสภา พระราชกฤษฎีกาประเภทนี้จะเป็นเรื่องความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างรัฐบาลกับรัฐสภา


ประเภทที่สอง คือพระราชกฤษฎีกาที่ตราขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติทั่วไปของรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจในการตราพระราชกฤษฎีกา เช่น มาตรา ๑๗๕ ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พระราชกฤษฎีกาประเภทนี้จะเป็นการกำหนดเรื่องต่าง ๆ ตามกฎหมายแต่ละฉบับ หรือไม่ก็กำหนดเรื่องต่าง ๆ เพื่อประโยชน์ในทางบริหาร เป็นต้นว่า การจ่ายเงินเบี้ยประชุม ค่าเช่าบ้าน 


ความแตกต่างในรูปแบบของพระราชกฤษฎีกาทั้ง 2 ประเภทคือ ประเภทแรกจะไม่มีเหตุผลท้ายพระราชกฤษฎีกา เขาจะเขียนเหตุผลไว้ในคำปรารภเลย เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้ทำเป็นพระราชกฤษฏีกาอยู่แล้ว แต่ประเภทที่สองนี่จะมีเหตุผลท้ายพระราชกฤษฎีกาด้วยเพราะเป็นการจำกัดสิทธิหรือเป็นเรื่องเกี่ยวกับเงินงบประมาณตามกฎหมายแต่ละฉบับ


พระราชกฤษฎีกายุบสภานี่จัดอยู่ในประเภทที่หนึ่ง แต่รัฐธรรมนูญกำหนดเงื่อนไขไว้เป็นพิเศษว่า “ให้กระทําได้เพียงคร้ังเดียว ในเหตุการณ์เดียวกัน”


ที่กระทำได้เพียงครั้งเดียวเพราะเมื่อยุบสภาแล้ว สภาก็สิ้นอายุเลย ก็ต้องจัดเลือกตั้งทั่วไปตามลำดับเพื่อให้มีสภาใหม่ ยุบแล้วยุบอีกคงไม่ได้ ส่วนที่บอกว่า “ในเหตุการณ์เดียวกันนั้น” ความมุ่งหมายคือเขาให้ระบุ “เหตุแห่งการยุบสภา” ไว้ในพระราชกฤษฎีกายุบสภาด้วย ไม่ใช่อ้างบทศัยอำนาจอย่างเดียวเหมือนพระราชกฤษฎีกาประเภทที่หนึ่ง เนื่องจากผลคือสภาจะสิ้นสุดลง ต้องบอกเหตุผลในการยุบสภาไว้ด้วย


เหตุการณ์ที่ว่านี้ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องการทะเลาะเบาะแว้ง ไม่ลงรอยกัน ระหว่างรัฐบาลกับสภา ถ้ารัฐบาลคะแนนเสียงดีอยู่ และจะยุบสภาเพื่อว่าเลือกตั้งใหม่แล้วจะได้ผู้แทนมากขึ้นก็ทำได้ อังกฤษ กับญี่ปุ่น ทำบ่อย ๆ ไป และไม่มีเงื่อนไขด้วยว่าจะต้องทำในระหว่างที่กำลังมีการประชุมสภา ระหว่างปิดสมัยประชุมก็ทำได้ เป็นมิติทางการเมืองในแต่ละกรณีโดยแท้ 


ยุบสภานี่ประชาชนไม่ได้เสียประโยชน์อะไรนะครับ ดีเสียอีกที่จะได้เลือกตั้งใหม่โดยไม่ต้องรอให้อายุสภาสิ้นสุดลงตามปกติ ได้มีโอกาสแก้เบื่อและได้ตั้งสติคิดทบทวนกันใหม่ว่าที่ผ่านมาใครทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ หรือเลื่อนเปื้อนเลอะเทอะ จะได้เลือกให้ถูก


ลืมบอกไปอีกอย่าง การยุบสภานี่เป็น acte de gouvernement นะถ้าจำไม่ผิด เพราะเป็นการกระทำที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับสภา


ส่วนกระบวนการในการตราพระราชกฤษฎีกายุบสภาล่าสุดนี้ ก็เป็นไปตามมาตรา 7 แห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรี 28 มกราคม 2563 นะครับ