วันพฤหัสบดีที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2563

ไฉนอธิบดีผู้พิพากษาจึงมีราชทินนามเป็นสิงโต โดย ปกรณ์ นิลประพันธ์

สมัยผู้เขียนเป็นนักเรียนกฎหมายที่สำนักธรรมศาสตร์นั้น นักศึกษาต้องเรียนวิชาประวัติศาสตร์กฎหมายไทยเพื่อให้ทราบความเป็นมาของระบบกฎหมายไทยด้วย เพราะสำนักธรรมศาสตร์เน้นในทางด้าน Historical approach ในการตอบคำถามพื้นฐานว่ากฎหมายคืออะไร มีบ่อเกิดอย่างไร พัฒนาและคลี่คลายมาเป็นระบบกฎหมายปัจจุบันได้อย่างไร เพื่อให้เข้าใจจิตวิญญาณของระบบกฎหมายด้วย ไม่ใช่แค่อ่านหนังสือรู้ดูกฎหมายเป็นแล้วจะเป็นนักกฎหมายได้

นอกจากวิชาประวัติศาสตร์กฎหมายไทยแล้ว หลักวิชาชีพนักกฎหมายก็เป็นอีกวิชาหนึ่งที่เป็นวิชาบังคับจะได้เรียนรู้วัตรปฏิบัติของการเป็น "นักกฎหมายที่ดี" เพื่อจรรโลงสังคมให้มีความเที่ยงธรรมด้วย วิชานี้จะสอนโดยบรมครูทางกฎหมายซึ่งมีวัตรปฏิบัติงดงาม สะอาด สว่าง และสงบ อาจารย์ท่านจะสอนเราถึงอคติ 4  และวิธี ข่ม” หรือที่เดี๋ยวนี้ใช้แบบฝรั่งว่าการจัดการกับอคติที่ว่าให้หมดไปจากใจ เพราะถ้าผู้เกี่ยวข้องกับกฎหมายมีอคติ ก็จะเกิดความไม่เที่ยงธรรมขึ้น ทั้งในการออกกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย

ก่อนจะพาลเล่าเรื่องหลังเมื่อครั้งยังเยาว์ไปให้เลื่อนเปื้อนเชือนแช ผู้เขียนขอวกกลับมาเข้าเรื่องที่ตั้งไว้เป็นหัวข้อนี้ดีกว่า คือในตอนเรียนวิชาประวัติศาสตร์กฎหมายไทยนั้น ผู้เขียนสงสัยมากว่าทำไมบรรดาศักดิ์ของผู้พิพากษาสำคัญในอดีตจึงเป็น “พระยาไกรสี” เพราะเปิดพจนานุกรมดู คำว่า ไกรสีนั้นเป็นคำนามที่แปลว่า “สิงโต” (แผลงมาจาก เกสรี

ทำไม๊ทำไมอธิบดีผู้พิพากษาจึงเป็นสิงโตไปได้ เพราะดูจากอาจารย์ผู้สอนวิชาหลักวิชาชีพนักกฎหมายซึ่งล้วนแต่เป็นบรมครูทางกฎหมายก็ล้วนแล้วแต่สุขุมคัมภีรภาพกันทุกท่าน ไม่เห็นจะมุทะลุดุดันอย่างสิงโตในสารคดีเลย 

พยายามหาคำตอบนี้มานานว่าทำไมอธิบดีผู้พิพากษาต้องเป็นสิงโตด้วย ถามไถ่ผู้หลักผู้ใหญ่เท่าที่พอจะมีหลงเหลืออยู่ก็ไม่มีท่านใดทราบ ต่างตอบว่าเป็นราชทินนามปกติ ใครเป็นอธิบดีผู้พิพากษาในอดีตก็มีราชทินนามนี้ทั้งนั้น ไม่เห็นจะต้องสงสัยเลย 

แหมก็มันสงสัยนี่นา!

สงสัยหนักเข้าก็เลยไปหยิบ “กฎหมายตราสามดวง” ขึ้นมาอ่าน มิใยที่ใครจะนินทาว่ายุคนี้ยุคดิจิทัลแล้วยังไปอ่านของโบราณอีก แล้วมันจะ 5.0 ได้อย่างไร 

ก็อยากจะแนะนำให้อ่านดูนะครับ จะได้รู้ว่ามีของดี  อยู่ในนั้นมากมาย โดยเฉพาะเรื่องวัตรปฏิบัติและหลักที่นักกฎหมายที่ดีพึงจะต้องปฏิบัติและพึงมีประจำใจ การออกกฎหมาย การใช้กฎหมาย จะได้เที่ยงธรรม ไม่เลอะเทอะ โดยเฉพาะ “อินทภาษ” ซึ่งผู้เขียนยืนยันว่าเป็นหลักการที่ใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย ยิ่งสมัยนี้ยิ่งต้องนำมาใช้ใหญ่เพราะคนเราห่างไกลธรรมะมาก ช่องว่างระหว่างเทคโนโลยีกับศีลธรรมถ่างออกจากกันในระดับเอกโพเนนเชี่ยล

และอินทภาษนี้เองที่ไขข้อข้องใจนานปีของผู้เขียนลงได้บ้างว่าทำไมอธิบดีผู้พิพากษาต้องมีราชทินนามเป็นสิงโต

ในตอนท้ายของอินทภาษเขียนไว้ดังนี้ครับ (ภาษาที่เขียนยึดตามต้นฉบับนะครับ)

“…อนึ่ง ให้ผู้ภิภากษาถือเอาซึ่งแว่นแก้วคือหลักอินทภาษนี้ แล้วเอาพระธรรมศาสตรเปนจักษุซ้ายขวาเอาพระราชกฤษฎีกาเปนเขาพระสุเมรุราชหลักโลกยอันมั่นคง จงมีใจองอาจ์ กระทำอาการประดูจพญาไกรสรสีหราช อันออกจากสุวรรณคูหา ธรรมดาพญาราชสีห์เมื่อออกไปพายนอกยืนอยู่ยังหน้าถ้ำแก้วแล้วย่อมเลงแลดูทิศศานุทิศน้อยใหญ่ หยัดกายสบัดซึ่งเกสรแล้ว ก็เปล่งออกซึ่งสูระสิงหะนาทแผดผาดสำเนียงเปนอันดัง ยังสัตวให้สยบสยอง แล้วก็เผ่นโผนโจนไปจับเอาสัตวเปนภักษาหารได้ โดยฤทธิอำนาจ์แลมีอุประมาประดูจใด ให้อำมาตยผู้วินิจไฉยเลงแลดูถ้อยคำสำนวนจงทั่ว หยิบใจความแลกลพิรุทอันเปนมณทิลนิลโทษแห่งโจทจำเลยนั้นให้ได้ อาไศรยเขาพระสุเมรุคือพระราชกฤษฎีกาแล้ว จึ่งพิภากษาจับเอาจริงเทจ์แห่งโจทจำเลย ออกสำแดงให้ปรากฏแจ้งแก่คนทังหลายให้เหนผิดแลชอบโดยสำนวน จะควนทอดสินไหมพิไนยแลลงโทษผู้กระทำผิดฉันใด ก็ให้พิภากษาเดดขาดดั่งสีหนาท แห่งพญาราชสีห์…” [emphasis added]

คือเวลาตัดสินคดีต้องกระทำเฉกเช่นราชสีห์ตระครุบเหยื่อ ไม่ใช่ให้ดุร้ายดุดันอย่างราชสีห์

อาจจะเป็นเช่นนี้ที่อธิบดีผู้พิพากษาจึงมีราชทินนาม “ไกรสี” หรือสิงห์โต ทั้ง  ที่บุคลิกของแต่ละท่านสุภาพเรียบร้อย

ความข้อนี้ผู้เขียนสันนิษฐานเองนะครับ

ใครสนใจลองค้นต่อ เผื่อจะมีข้อมูลดีกว่าข้อสันนิษฐานนี้

จะได้ช่วยกันจรรโลงประวัติศาสตร์กฎหมายไทยครับ.