วันพุธที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2564

หลักสากลในการควบคุมฝูงชน โดย พลเอก กฤษณะ บวรรัตนารักษ์

      ตามที่ปรากฏเป็นข่าวเกี่ยวกับการชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองของกลุ่มต่างๆ และบางครั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐจำเป็นต้องใช้กำลังเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือบังคับใช้กฎหมายที่เรียกว่าการควบคุมฝูงชนหรือการสลายฝูงชน หลังเหตุการณ์ก็จะมีการวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย ทั้งกล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการเกินกว่าเหตุ กับเห็นว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการไม่เกินกว่าเหตุ บทความนี้เน้นหลักสากลเกี่ยวกับขั้นตอน อุปกรณ์ และวิธีการใช้กำลังหรือยุทธวิธีโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อเป็นข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ นักวิชาการ ประชาชนผู้สนใจ ตลอดจนสื่อมวลชน นำไปศึกษาและใช้ประโยชน์ต่อไป  

     ที่มาหลักสากลเกี่ยวกับการควบคุมหรือสลายฝูงชน 


   ศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งคำพิพากษาตลอดจนความเห็นของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สรุปได้ว่า การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อสลายการชุมนุมจะต้องมีลำดับขั้นตอนตามหลักสากลไม่อาจดำเนินการตามอำเภอใจได้ และไม่ว่าการชุมนุมจะเป็นไปโดยสงบที่จะได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ การกระทำของผู้ชุมนุมไม่ใช่การก่ออาชญากรรมโดยแท้ จึงไม่อาจปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมทั้งหมดด้วยวิธีการเดียวกับการจับกุมผู้กระทำความผิดอาญาได้ ซึ่งคำสั่งและคำพิพากษาของศาลปกครองและตลอดจนความเห็นของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติสามารถนำไปประกอบพยานหลักฐานในศาลยุติธรรมและต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้


     หลักสากลเกี่ยวกับการควบคุมหรือสลายฝูงชน


     หลักการพื้นฐานขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการใช้กำลังบังคับและอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย สรุปได้ว่า กรณีที่จะสลายการชุมนุมที่มิชอบด้วยกฎหมายแต่มิได้มีการก่อเหตุร้าย เจ้าหน้าที่จะต้องหลีกเลี่ยงการใช้กำลังบังคับ แต่ในกรณีที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ให้การใช้กำลังบังคับนั้นเป็นไปในระดับที่น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นเท่านั้น สำหรับกรณีที่จะสลายการชุมนุมที่ก่อเหตุร้าย เจ้าหน้าที่จะใช้อาวุธปืนได้เฉพาะต่อเมื่อวิธีการอื่นที่มีอันตรายน้อยกว่านั้นไม่สามารถใช้ได้ผลแล้ว อีกทั้งการใช้อาวุธจะต้องเป็นไปในระดับที่น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น และไม่ว่าในกรณีใดจะต้องไม่ใช้อาวุธปืนกับบุคคลอื่นเว้นแต่ในกรณีเพื่อป้องกันตัวหรือป้องกันผู้อื่นให้พ้นภัยจากภยันตรายร้ายแรงที่ใกล้จะมาถึงและมีความรุนแรงที่อาจถึงแก่ชีวิตหรืออันตรายสาหัส และรัฐบาลกับหน่วยงานเกี่ยวข้องพึงพัฒนาวิธีการใช้อาวุธและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องให้มีความหลากหลาย เพื่อให้เหมาะสมกับความจำเป็นที่แตกต่างกันของแต่ละสถานการณ์ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่พึงได้รับอุปกรณ์ป้องกันตัวด้วย ในอารัมภบทของหลักการพื้นฐานข้างต้นมีข้อความที่น่าสนใจยิ่ง คือ งานของเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือผู้บังคับใช้กฎหมายเป็นงานบริการสังคมเพื่อให้สังคมปลอดภัยมีความสงบเรียบร้อย    การคุกคามต่อชีวิตและความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ย่อมเป็นการคุกคามต่อเสถียรภาพของสังคมทั้งมวลด้วย


     ประมวลระเบียบการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย ขององค์การสหประชาชาติ สรุปได้ว่า ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือผู้บังคับใช้กฎหมายนั้นต้องกระทำโดยเคารพและมุ่งคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตลอดจนพิทักษ์รักษาสิทธิมนุษยชนของทุกคนรวมทั้งฝูงชนที่ชุมนุมที่มิชอบด้วยกฎหมายด้วย ใช้กำลังบังคับได้ต่อเมื่อมีเหตุจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อป้องกันอาชญากรรมหรือในการจับกุมผู้กระทำผิดหรือผู้ต้องสงสัยโดยชอบด้วยกฎหมาย


     แนวปฏิบัติขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการใช้อาวุธที่เป็นอันตรายที่ไม่ถึงแก่ชีวิต (อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำ) เพื่อการบังคับใช้กฎหมาย สรุปได้ดังนี้

     หลักทั่วไปว่าด้วยการใช้กำลัง เจ้าพนักงานต้องเลือกใช้วิธีการที่ไม่ใช้ความรุนแรงเท่าที่สามารถกระทำได้แล้วจึงค่อยใช้กำลังหรืออาวุธปืน เจ้าพนักงานสามารถใช้กำลังได้ก็ต่อเมื่อการใช้วิธีการอื่นนั้นไม่มีประสิทธิภาพหรือไม่สามารถทำให้บรรลุเป้าหมาย เจ้าพนักงานต้องมีอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลที่เหมาะสม หากมีการใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลที่เหมาะสมความจำเป็นในการใช้อาวุธไม่ว่าชนิดใดก็จะลดน้อยลง

     หลักการใช้ความระมัดระวัง จะต้องมีการวางแผนและดำเนินการโดยใช้ความระมัดระวังที่จำเป็นทุกประการเพื่อป้องกันหรือลดโอกาสที่เจ้าพนักงานและประชาชนจะใช้กำลัง ลดความร้ายแรงของการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้น เจ้าพนักงานควรชะลอการปะทะหรือเผชิญหน้ากับประชาชนโดยตรงหากเป็นไปได้ และจะต้องมีการฝึกอบรมเจ้าพนักงาน การจัดเตรียมอุปกรณ์ป้องกันอย่างเพียงพอและอาวุธที่ไม่ร้ายแรงชนิดต่างๆที่เหมาะสม ตลอดจนการเตรียมความพร้อมโดยมีมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายที่ไม่จำเป็นหรือเกินควร

     หลักความจำเป็น การใช้กำลังจะต้องปรากฏว่าในขณะนั้นไม่มีวิธีการอื่นที่สามารถนำไปสู่การบรรลุวัตถุประสงค์ของการบังคับใช้กฎหมายอันชอบด้วยกฎหมาย ต้องหาหนทางเพื่อบรรเทาสถานการณ์รวมถึงพยายามประนีประนอมสถานการณ์ที่อันตรายอย่างสันติตราบเท่าที่สามารถทำได้ หากเห็นสมควรว่ามี     ความจำเป็นต้องใช้กำลังในสถานการณ์นั้นจะต้องใช้กำลังอย่างน้อยที่สุดเพียงเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวและต้องหยุดการใช้กำลังทันทีที่หมดความจำเป็น

     หลักการสัดส่วนที่เหมาะสม ลักษณะและระดับการใช้กำลังรวมไปถึงความเสียหายที่คาดหมายว่าสามารถเกิดขึ้นได้ต้องได้สัดส่วนกับภยันตรายที่เกิดขึ้น บรรเทาผลข้างเคียงจากการใช้กำลังที่สามารถเกิดขึ้นกับผู้อยู่ในเหตุการณ์หรือสัญจรผ่าน บุคลากรทางการแพทย์และนักข่าว ห้ามเจ้าพนักงานใช้กำลังกับบุคคลดังกล่าวและผลกระทบข้างเคียงนั้นต้องได้สัดส่วนกับวัตถุประสงค์อันชอบธรรม


     การจัดการความสงบเรียบร้อยขณะการชุมนุม เจ้าพนักงานควรเคารพและคุ้มครองสิทธิในการชุมนุมอย่างสันติโดยไม่เลือกปฏิบัติ ตามกฎหมายระหว่างประเทศ และสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน แม้ว่าการชุมนุมนั้นไม่เป็นไปตามกฎหมายก็ตาม ควรใช้เทคนิคในการบรรเทาสถานการณ์เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรง  ควรตระหนักว่าการนำอาวุธที่ไม่ร้ายแรงออกแสดงให้เห็นอาจเป็นการเพิ่มความตึงเครียดให้สถานการณ์ ต้องใช้มาตรการป้องกันล่วงหน้าและใช้ความระมัดระวังเพื่อเลี่ยงสถานการณ์หรืออย่างน้อยลดอันตรายที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บหรือเสียชีวิต ในกรณีที่บุคคลที่ใช้ความรุนแรงในการชุมนุมเจ้าพนักงานมีหน้าที่แยกแยะระหว่างบุคคลที่ใช้ความรุนแรงในการแสดงออกกับบุคคลอื่นที่เข้าร่วมการชุมนุมซึ่งยังคงมีสิทธิในการชุมนุมอย่างสันติควรใช้ความระมัดระวังกับบุคคลที่สามที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงและผู้สัญจรผ่าน การใช้อาวุธที่ไม่ร้ายแรงใน   การสลายการชุมนุมควรเป็นหนทางสุดท้าย ควรพยายามระบุตัวบุคคลผู้ใช้ความรุนแรงและแยกตัวบุคคลนั้นออกจากผู้ชุมนุมคนอื่นก่อนที่จะสลายการชุมนุม เพื่อทำให้การชุมนุมหลักสามารถดำเนินต่อไปได้ ถ้าการใช้มาตรการขัดขวางแบบเจาะจงตัวบุคคลนั้นไม่มีประสิทธิภาพจึงสามารถใช้อาวุธที่มีเป้าหมายแบบวงกว้าง (เช่นปืนฉีดน้ำหรือแก๊สน้ำตา) แทนอาวุธที่มีเป้าหมายแบบเจาะจงตัวบุคคลก็ต่อเมื่อได้เตือนอย่างเหมาะสมเว้นเสียแต่ว่าการเตือนจะทำให้การดำเนินการล่าช้าและอาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บสาหัส หรือทำให้มาตรการดังกล่าวไร้ผลในบางสถานการณ์ ต้องให้เวลากับผู้ชุมนุมในการปฏิบัติตามคำเตือน และจัดเตรียมพื้นที่หรือเส้นทางที่ปลอดภัยให้แก่ผู้ชุมนุมในการเดินทาง การใช้อาวุธปืนเพื่อสลายการชุมนุมนั้นผิดกฎหมาย            ในสถานการณ์ที่จำเป็นต้องใช้กำลังเจ้าพนักงานสามารถใช้อาวุธที่ไม่ร้ายแรงเท่านั้น เพราะสามารถกำหนดเป้าหมายแบบเจาะจงตัวบุคคลและมุ่งใช้กับบุคคลผู้ใช้ความรุนแรงโดยเฉพาะเว้นเสียแต่ว่าสถานการณ์นั้นกฎหมายอนุญาตให้สลายการชุมนุมทั้งหมด การใช้อาวุธดังกล่าวควรคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้ชุมนุมที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรงหรือผู้อยู่ในเหตุการณ์ และจะต้องพิจารณาถึงความเป็นไปได้ที่ฝูงชนจะแตกตื่นและวิ่งอลหม่านอาวุธที่ใช้ต้องเป็นอาวุธที่มีความแม่นยำตามมาตรฐานระหว่างประเทศ การใช้เครื่องกีดขวางควรเป็นไปโดยไม่สร้างอันตรายแก่สวัสดิภาพ การใช้ลวดเหล็กลวดหนามหรือเครื่องกีดขวางอื่นที่มีเดือยแหลมเป็นการทำอันตรายโดยไม่จำเป็นแก่ผู้ชุมนุม หากจำเป็นต้องมีการใช้เครื่องกีดขวางควรเลือกใช้เครื่องมืออื่นที่มีปลอดภัยมากกว่า บุคลากรทางการแพทย์ไม่ว่าจะปฏิบัติงานในฐานะเจ้าหน้าที่หรือในฐานะอาสาสมัครควรที่จะสามารถเข้าให้ความช่วยเหลือแก่บุคคลที่ได้รับบาดเจ็บได้อย่างปลอดภัย

     กระบอง ใช้เพื่อป้องกันตัวเองจากผู้ใช้ความรุนแรงหรือใช้ในการจับกุมผู้ที่ขัดขืนโดยใช้ความรุนแรง       ถูกออกแบบมาเพื่อใช้กับบุคคลที่สร้างความเสียหายหรือขู่ว่าจะสร้างความเสียหายแก่เจ้าพนักงานหรือบุคคลทั่วไป การตีควรเล็งไปที่แขนหรือขาของผู้จู่โจม ควรหลีกเลี่ยงการตีกระบองบริเวณเหนือแขน การจิ้มหรือแทงด้วยกระบองไปที่ทรวงอก คอ หัว กระดูกสันหลัง ไต และช่องท้อง เพราะมีความเสี่ยงที่จะทำให้บาดเจ็บและอวัยวะสำคัญฉีกขาด อาจเป็นการใช้กระบองที่ผิดกฎหมาย การล็อคคอด้วยกระบองเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำเนื่องจากเกิดความเสี่ยงสูงที่จะเสียชีวิตหรือบาดเจ็บสาหัส

     สารเคมีที่ทำให้ระคายเคือง(น้ำตาไหล)แบบมือถือ ใช้จัดการหรือห้ามปรามผู้ใช้ความรุนแรงหรือใช้ช่วยในการจับกุมผู้ที่ขัดขืนโดยใช้ความรุนแรง ออกแบบเพื่อพ่นใส่บริเวณหน้าของบุคคลในระยะห่างหลายเมตรทำให้เกิดการระคายเคืองต่อตาระบบทางเดินหายใจช่วงบนและผิวหนัง ควรนำมาใช้เฉพาะกรณีที่เจ้าพนักงานมีเหตุสมควรอันจะเชื่อว่าภัยจากการทำร้ายนั้นใกล้ตัว การควบคุมตัวผู้ต้องหาโดยจัดให้นอนคว่ำหลังเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง ไม่ควรนำไปใช้ในการต่อต้านคำสั่งอย่างสงบโดยสิ้นเชิง ไม่ใช้กับบุคคลที่อยู่ภายใต้การควบคุมของเจ้าหน้าที่ และไม่ควรใช้ในสภาพแวดล้อมปิดที่ไม่มีการระบายอากาศเพียงพอหรือไม่มีทางออก เพราะสามารถทำให้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บสาหัสจากการขาดอากาศหายใจ

     สารเคมีที่ทำให้ระคายเคืองชนิดปล่อยจากระยะไกล (แก๊สน้ำตายิงได้จากระยะไกลไปสู่กลุ่มบุคคลที่มีส่วนร่วมในความรุนแรงเพื่อสลายตัวและระงับการใช้ความรุนแรง ควรยิงด้วยมุมสูง การแตกตื่นเป็นผลที่อาจเกิดขึ้นหากสารระคายเคืองถูกนำมาใช้กับฝูงชนในพื้นที่ปิด เช่น สนามฟุตบอล ในพื้นที่เปิดแก๊สน้ำตาอาจมีผลกระทบแบบไม่เจาะจงเป้าหมายเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทิศทางลม ในบางกรณีอาจทำให้เสียชีวิตเช่นหากสารเคมีถูกปล่อยในพื้นที่ที่จำกัดและทำให้สัมผัสสารปริมาณมาก การยิงอาจส่งผลให้เสียชีวิตหากยิงไปใกล้วัสดุที่ติดไฟง่ายและทำให้เกิดเพลิงไหม้ ไม่ควรยิงไปในพื้นที่ด้านหลังของกลุ่มผู้ใช้ความรุนแรงเพราะอาจกระตุ้นให้เคลื่อนที่ไปยังเจ้าหน้าที่และเพิ่มความเสี่ยงในการเผชิญหน้าและการใช้ความรุนแรง ไม่ควรเล็งยิงไปยังบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ไม่ควรยิงไปยังบริเวณหัวหรือใบหน้า เพราะทำให้มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตหรือบาดเจ็บสาหัส     ไม่ควรใช้ในพื้นที่ปิดซึ่งเป็นสถานที่ที่ไม่มีทางออกหรือการระบายอากาศที่เพียงพอเช่นกัน

     อาวุธนำไฟฟ้า (“ปืนไฟฟ้า”) ใช้ส่งกระแสประจุไฟฟ้าซึ่งทำให้กล้ามเนื้อของเป้าหมายเกร็งตัวแล้วไม่อาจเคลื่อนไหว เพื่อทำให้บุคคลในระยะไกลไม่สามารถคุกคามที่เป็นอันตรายที่ใกล้ตัวเจ้าหน้าที่หรือบุคคลอื่น     ไม่ควรใช้กับผู้สูงอายุ และไม่ควรใช้ยิงไปบริเวณศีรษะซึ่งอาจเกิดการล้มลงจากที่สูงหรือล้มฟาดพื้น หลีกเลี่ยงการเล็งไปที่อกด้านหน้าบริเวณใกล้หัวใจเพื่อที่จะลดความเสี่ยงของการบาดเจ็บสาหัสหรือการเสียชีวิต เด็กและผู้ใหญ่ที่มีรูปร่างผอมบางอาจมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับอันตรายภายใน ไม่ควรใช้ยิงใกล้กับของเหลวติดไฟง่ายหรือไอน้ำที่อาจระเบิดได้ และไม่ควรใช้กับผู้ที่ต่อต้านคำสั่งของเจ้าพนักงานด้วยการนิ่งเฉย

     กระสุนยาง ใช้เพื่อจัดการกับบุคคลที่ใช้ความรุนแรง ควรเล็งยิงไปที่บริเวณช่องท้องส่วนล่างหรือขาของบุคคลที่ใช้ความรุนแรงเท่านั้น เพื่อยับยั้งภัยอันใกล้จะถึงซึ่งอาจส่งผลให้เจ้าหน้าที่หรือบุคคลอื่นได้รับบาดเจ็บการเล็งยิงไปที่ใบหน้า ศีรษะ หรือลำคอ อาจทำให้กะโหลกร้าวและการบาดเจ็บทางสมอง ความเสียหายต่อดวงตารวมถึงการสูญเสียการมองเห็นถาวร หรือแม้กระทั่งการเสียชีวิต ไม่ควรยิงจากที่สูงเพิ่มความเสี่ยงที่จะยิงเข้าที่บริเวณศีรษะ เล็งบริเวณลำตัวก็สามารถก่อให้เกิดการบาดเจ็บที่อวัยวะสำคัญรวมถึงอาจทำให้กระสุนทะลุเข้าในร่างกายโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อยิงระยะใกล้ ต้องเป็นกระสุนที่มีความแม่นยำที่มีกลุ่มกระสุนไม่เกิน 10 เซนติเมตรการใช้กระสุนยางที่แยกชิ้นส่วนออกไปเมื่อกระทบพื้นก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บร้ายแรงจากการขาดความแม่นยำไม่ควรถูกยิงในโหมดอัตโนมัติ การยิงพร้อมกันหลายนัดไม่มีความแม่นยำ และต้องได้รับการทดสอบและอนุมัติให้ใช้ได้เพื่อประกันว่าสามารถใช้ยิงจากระยะที่กำหนดให้ตกกระทบเป้าทดสอบที่มีขนาดเท่าตัวคนจริงในบริเวณที่ปลอดภัยโดยไม่แรงจนเกินไป ซึ่งอาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บได้ กระสุนเหล็กที่หุ้มด้วยยางเป็นกระสุนที่มีความอันตรายอย่างยิ่งไม่ควรนำมาใช้

     รถฉีดน้ำแรงดันสูง ยานพาหนะที่ถูกออกแบบมาเพื่อฉีดน้ำด้วยแรงดันเพื่อสลายฝูงชน ปกป้องทรัพย์สินหรือระงับเหตุรุนแรง สารระคายเคืองทางเคมี สารที่มีกลิ่นเหม็น หรือสารที่อันตรายต่อสุขภาพบางครั้งอาจถูกผสมในน้ำเพื่อใช้ฉีดได้ โดยหลักแล้วควรถูกใช้เฉพาะในสถานการณ์ที่เกิดความวุ่นวายอย่างร้ายแรงในสังคมลักษณะที่น่าจะก่อให้เกิดการสูญเสียชีวิตการบาดเจ็บสาหัสหรือการทำลายทรัพย์สินเป็นวงกว้าง ควรมีการวางแผนอย่างระมัดระวังและถูกควบคุมด้วยคำสั่งที่ชัดเจนกับถูกกำกับโดยเจ้าหน้าที่ระดับสูง ไม่ควรใช้กับบุคคลซึ่งอยู่บนที่สูงซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเกิดการบาดเจ็บ และความเสี่ยงของการลื่นหรือถูกน้ำดันกระแทกกำแพงหรือวัตถุอื่น ต้องไม่ฉีดใส่บุคคลในระยะใกล้เนื่องจากอาจทำให้เกิดการสูญเสียการมองเห็นถาวรหรือการบาดเจ็บ ไม่ควรใช้กับบุคคลที่ถูกควบคุมหรือที่ไม่สามารถเคลื่อนที่ได้

     อุปกรณ์และอาวุธเสียง อุปกรณ์แจ้งเตือนโดยเสียงบางประเภทอาจถูกใช้เป็นอาวุธเสียง อาวุธเสียงในโหมดเตือนภัยสามารถนำมาใช้ได้ระหว่างการชุมนุมบนเงื่อนไขว่าต้องมีการทดสอบอย่างเหมาะสม และต้องหลีกเลี่ยงความเสี่ยงด้านสุขภาพร้ายแรงหลายประการโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อใช้ในระยะใกล้ด้วยระดับเสียงที่ดังและ/หรือเป็นระยะเวลานาน มีตั้งแต่อาการเจ็บปวดชั่วคราวแก้วหูทะลุและการสูญเสียการทรงตัวจนถึงหูหนวก เพื่อที่จะลดความเสี่ยงและป้องกันการบาดเจ็บควรมีการกำหนดระดับความดังในหน่วยวัดเดซิเบลเอสูงสุดและระยะห่างขั้นต่ำไว้ล่วงหน้าการใช้อาวุธเสียงกับกลุ่มบุคคลโดยไม่เลือกหน้าหรือในระยะที่ความดังของเสียงน่าจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างถาวรต่อระบบการได้ยินของบุคคลเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย     


      หลักกฎหมายที่สำคัญนอกเหนือจากประมวลกฎหมายอาญา


     พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2548 มาตรา 19 สรุปได้ว่า ผู้ปฏิบัติหน้าที่ต้องผ่าน           การฝึกอบรมให้มีทักษะ ความเข้าใจ และอดทนต่อสถานการณ์การชุมนุมสาธารณะและต้องแต่งเครื่องแบบเพื่อแสดงตน และอาจใช้เครื่องมือควบคุมฝูงชนได้ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง เครื่องมือควบคุมฝูงชนในการชุมนุมสาธารณะลงวันที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 ซึ่งได้กำหนดให้อาจเลือกใช้ได้ 48 รายการข้อสังเกต การใช้ตู้คอนเทนเนอร์วางเป็นแนวป้องกันนั้นเข้าข่ายลำดับที่ 32 อุปกรณ์สำหรับป้องกันสถานที่ไม่ต้องห้ามการใช้เพราะไม่ได้สร้างอันตรายต่อผู้ชุมนุม ส่วนลำดับที่ 33 ลวดหีบเพลงแถบหนาม ต้องห้ามตามหลักสากลเพราะเป็นเครื่องกีดขวางสร้างอันตรายโดยไม่จำเป็นแก่ผู้ชุมนุม


     พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 หากมีการชุมนุมในระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน มาตรา 17 กำหนดสรุปได้ว่า ในการควบคุมหรือสลายฝูงชนพนักงานเจ้าหน้าที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่สุจริต (ซื่อตรง ตรงไปตรงมา ไม่กลั่นแกล้ง) ไม่เลือกปฏิบัติ (ปฏิบัติเท่าเทียมกัน ไม่สองมาตรฐาน ไม่ว่าจะแตกต่างในเรื่องเชื้อชาติ ความเชื่อทางศาสนา หรือความคิดเห็นทางการเมือง) ไม่เกินสมควรแก่เหตุ (ไม่มีทางเลือกที่จะป้องกันด้วยวิธีการอื่น) หรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น (ไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้) ไม่อาจกระทำการตามอำเภอใจ แล้วไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง อาญา และวินัย 


     คู่มือการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจตามหลักสิทธิมนุษยชน จัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและมหาวิทยาลัยมหิดล สรุปได้ ดังนี้ ให้ใช้มาตรการควบคุมฝูงชนจากเบาไปหาหนักและมีการประกาศขั้นตอนการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ให้ทราบก่อนทุกครั้ง พยายามเน้นการป้องกันก่อนการใช้กำลัง ต้องเตรียมกำลังให้พร้อมที่จะจับกุมแกนนำและจับกุมกลุ่มผู้ชุมนุมขนาดใหญ่เมื่อมีการทำผิดกฎหมายเกิดขึ้น ต้องเตรียมกำลังให้พ้นจากสายตาของกลุ่มผู้ชุมนุม และการแสดงกำลังนี้ต้องไม่มีลักษณะเป็นการข่มขู่ผู้ชุมนุมที่ยังไม่มีการทำผิดกฎหมาย ผู้ปฏิบัติงานต้องแต่งเครื่องแบบพร้อมติดเครื่องหมายยศ สังกัด และป้ายชื่อให้สามารถตรวจสอบถึงชื่อและสังกัดได้ชัดเจนในระยะพอสมควร ในการตกลงใจของผู้บัญชาการเหตุการณ์ที่จะเลือกใช้วิธีการปฏิบัติในการควบคุมฝูงชนโดยคำนึงถึงการยอมรับได้ของสังคมหรือความชอบธรรมทางกฎหมายด้วย การปฏิบัติจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นหรือไม่ และหากมีการจับกุมเฉพาะแกนนำจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นมากกว่าการสลายฝูงชนหรือไม่ มีเส้นทางที่จะให้กลุ่มผู้ชุมนุมออกจากที่ชุมนุมได้ปลอดภัยหรือไม่ เมื่อมีการสลายการชุมนุมจะต้องแน่ใจว่าจะไม่ผลักดันไปในพื้นที่อันตราย เช่น จนมุม หรืออยู่ในที่คับแคบ ต้องเปิดช่องทางหลบหนีที่โล่งและเห็นได้ชัดเจนเสมอ และจัดให้มีการฝึกอบรมอย่างสม่ำเสมอ เช่น การปฐมพยาบาลเบื้องต้น การป้องกันตัว การใช้อาวุธอาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำ พฤติกรรมฝูงชน การแก้ไขความขัดแย้ง       การบริหารจัดการความเครียด การไกล่เกลี่ยและการเจรจา 


     มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2544 เรื่อง การปรับปรุงบริเวณรอบนอกทำเนียบรัฐบาล และการจัดสถานที่พักอาศัยแห่งใหม่ของผู้ชุมนุมเรียกร้อง เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2546 เรื่อง การจัดสถานที่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้อง เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2545 และวันที่ 30 กรกฎาคม 2545  เรื่อง หลักการและแนวทางการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในการชุมนุมเรียกร้อง สรุปได้ว่า ผู้ชุมนุมไม่ควรใช้สถานที่บริเวณรอบนอกทำเนียบรัฐบาลเป็นที่พักอาศัย การชุมนุมรอบนอกบริเวณทำเนียบรัฐบาลหรือส่วนราชการใด ก็ให้เป็นไปเพื่อยื่นข้อเรียกร้องเท่านั้น หากจะมีการชุมนุมยืดเยื้อก็ขอให้ไปรวมกันที่บริเวณที่จัดไว้ให้ แล้วให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องหรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ไปพูดคุยเพื่อรับฟังปัญหาของผู้ชุมนุมเรียกร้อง เพื่อให้เห็นว่ารัฐบาลให้ความสนใจกับปัญหา และพร้อมที่จะแก้ไขด้วยหลักเมตตาธรรมต่อผู้ที่เคารพกฎกติกาของบ้านเมืองและสังคม และให้ข้าราชการที่เกี่ยวข้องใช้หลักเมตตาธรรมควบคู่หลักนิติธรรม หากผู้ชุมนุมเรียกร้องใช้วิธีรุนแรงโดยกระทำผิดกฎหมายก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของทางราชการและเอกชน ละเมิดสิทธิผู้อื่นให้ใช้วิธีการเจรจาก่อน โดยเสนอแนะให้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย หากไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือยังคงมีการกระทำที่ก้าวร้าวรุนแรง ก็ให้ดำเนินการตามกฎหมายโดยให้ดำเนินการในระดับถ้อยทีถ้อยอาศัย และต้องมองว่าทุกคนเป็นผู้ร่วมชาติ


     สรุป ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการควบคุมหรือสลายฝูงชนนั้น ผู้ปฏิบัติหน้าที่จะต้องได้รับการฝึกอบรมสม่ำเสมอจนมีทักษะ ความเข้าใจ และอดทนต่อสถานการณ์การชุมนุมที่อาจผิดกฎหมายและมีการใช้ความรุนแรง ภายใต้หลักกฎหมาย หลักสากล หลักสิทธิมนุษยชน และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องซึ่งจะส่งผลให้บรรลุภารกิจที่มีความชอบธรรมทางกฎหมาย และจะได้รับการยอมรับจากสังคม รวมทั้งพ้นจากการรับผิดทั้งทางแพ่ง อาญา และวินัย

วันอังคารที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2564

นักกฎหมายในยุค Post-constitutionalim : ปกรณ์ นิลประพันธ์

เมื่อเดิมนั้นกฎหมายระหว่างประเทศเป็นเรื่องที่ไกลตัวมาก กฎหมายภายในของแต่ละประเทศมีความสำคัญมากกว่ากฎหมายระหว่างประเทศ และโดยที่กฎหมายภายในตราขึ้นตามกฎหมายสูงสุดของแต่ละประเทศ คือ รัฐธรรมนูญ นักวิชาการด้านกฎหมายเปรียบเทียบจึงนิยมเรียกยุคนี้ว่าเป็น "ยุครัฐธรรมนูญนิยม" หรือ Constitutionalism 


เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะการเดินทางและการติดต่อสื่อสารยังพัฒนาไม่มากนัก โลกยังมีพรมแดนตามธรรมชาติเป็นอุปสรรคขวางกั้นการถ่ายทอดองค์ความรู้และความคิดด้านกฎหมายที่เป็นสากลไปสู่ประเทศต่าง  


อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา กฎหมายระหว่างประเทศเริ่มขยายขอบเขตเข้ามาทับซ้อนกับกฎหมายภายในมากขึ้น ทั้งนี้ สืบเนื่องมาจากการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการสื่อสาร หรือที่นิยมเรียกกันจนเป็นคำแห่งยุคสมัยว่า “คลื่นลูกที่สาม” ทำให้พันธกรณีระหว่างประเทศกลายมาเป็น “เงื่อนไข” ในการตรากฎหมายภายในของทุกประเทศมากขึ้นเรื่อย  


หากพิเคราะห์กฎหมายในช่วงปี 1990-1999 ให้ดี จะพบว่าหลายประเทศปรับตัวไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงเช่นว่านี้ เช่น รัฐธรรมนูญของบางประเทศที่ออกในช่วงปลายปี 1997 ไม่สอดคล้องกับพันธกรณีตาม International Covenant on Civil and Political Rights หรือ ICCPR ที่มีผลบังคับมาตั้งแต่ปี 1976 แต่ประเทศนั้นเพิ่งให้ภาคยานุวัติในช่วงปลายปี 1996 และมีผลผูกพันประเทศนั้นตอนต้นปี 1997 เป็นต้น


และนับตั้งแต่เริ่มต้นศตวรรษที่ 21 มา กฎหมายระหว่างประเทศมีความแนบแน่นจนแทบแยกไม่ออกจากกฎหมายภายในโดยผลของการติดต่อสื่อสาร ประเด็นเล็ก ๆ ในมุมหนึ่งของโลกได้ก่อให้เกิดเป็น Global issues มากมาย ไม่มีประเด็นใดที่เป็นประเด็นกฎหมายภายในอย่างเดียวแล้ว จนทำให้นักกฎหมายเปรียบเทียบเห็นพ้องกันว่าโลกในยุคปัจจุบันเป็น Post-Constitutionism ไปแล้ว 


ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้กฎหมายระหว่างประเทศมีความสำคัญไม่แพ้กฎหมายภายใน ประเทศใดที่ยังหมกมุ่นอยู่กับกฎหมายภายใน โดยไม่ให้ความสำคัญต่อกฎหมายระหว่างประเทศ และขาดนักกฎหมายระหว่างประเทศที่มีความรู้ความเข้าใจกฎหมายระหว่างประเทศและบริบทระหว่างประเทศอย่างแตกฉาน ก็จะส่งผลกระทบต่อ “สถานะ” ของประเทศได้


ที่ผู้เขียนยกเรื่องนี้ขึ้นมาชวนคิดก็เนื่องจากปัจจุบันมี Global issues ที่ส่งผลกระทบหรืออาจส่งผลกระทบทั้งทางตรงทางอ้อมต่อประเทศไทยมากมาย แต่ประเด็นเหล่านี้กลับไม่เป็นที่สนใจของวงการกฎหมายไทย เช่น การที่ญี่ปุ่นมีแผนจะปล่อยน้ำที่ปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีจากโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟูกูชิมะลงสู่ทะเล เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลมากไม่แพ้การระบาดของโควิด 19 เพราะการปล่อยน้ำทิ้งดังกล่าวส่งผลกระทบต่อมหาสมุทรทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะทะเลญี่ปุ่น รวมทั้งระบบนิเวศน์ทางทะเล และอาจเลยเถิดไปถึงสภาพอากาศของโลกด้วย กล่าวได้ว่าประเด็นข้างต้นกระทบต่อความปลอดภัยของทุกชีวิต รวมทั้งความมั่นคงของชาติด้วย 


แต่ประเด็นนี้ไม่มีการหยิบยกขึ้นถกแถลงกันในประเทศไทยเลย (ทั้งที่เรากินอาหารทะเลจากญี่ปุ่นมิใช่น้อยอาจจะเป็นเพราะไม่ได้ติดตามข่าวสารพวกนี้ หรือไม่ก็คงคิดว่าไกลเกินตัว รบกับโควิดก็วุ่นวายพอแล้ว


ช่วงนี้อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ และ work from anywhere น่าจะได้ประเด็นอะไรมาชวนคิดอีก.

วันจันทร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2564

ชวนคิด: Sustainable Budgeting ปกรณ์ นิลประพันธ์

 เราใช้ระบบงบประมาณแบบปัจจุบันมาตั้งแต่ปี 2502 เน้นจัดสรรงบประมาณที่มีอยู่จำกัดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด แรก ๆ ก็เน้นการจัดทำโครงสร้างพื้นฐาน น้ำไหล ไฟสว่าง ทางดี มีงานทำ 


แต่เมื่อขอบเขตภารกิจของรัฐถูกขยายออกไปมากขึ้นเรื่อย ๆ บนพื้นฐานแนวคิดที่ว่ารัฐต้องเป็น policy maker เป็น regulator และเป็น operator เองครบวงจร จึงมีการตั้งหน่วยงาน/องค์การอะไรต่าง ๆ ขึ้นมาปฏิบัติภารกิจนี้กันเยอะแยะตาแป๊ะไก่ ทั้ง ๆ ที่เอกชนมีขีดความสามารถในการทำกิจการในฐานะ operator ได้ดีกว่ารัฐในหลายเรื่อง งบรายจ่ายประจำจึงแซงงบลงทุนไปมากมาย แถมด้วยกฎระเบียบจำนวนมากทั้งในกระบวนการเบิกจ่ายและกระบวนการตรวจสอบที่ทำให้การตั้งและใช้จ่ายงบประมาณมีลักษณะเป็น rule base คือเน้นการปฏิบัติตามกฎระบียบและขั้นตอนที่กำหนดไว้มากกว่า output และ outcome


เพียงทำตามกฎระเบียบ ชีวิตราชการท่านจะปลอดภัยไปเรื่อย ๆ จึงยากที่จะมี innovation เกิดขึ้นในระบบราชการ เคยทำกันมาอย่างไรก็ทำกันไปอย่างนั้น ในขณะที่บริบทต่าง ๆ มีพลวัตรสูงมาก และ ecosystem ในแต่ละเรื่องก็เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว นี่จึงเป็นหนึ่งในความท้าทายของการพัฒนาระบบราชการ


ที่บ่นมาเป็นปฐมนั้นเป็นปัญหาที่ราก แต่ที่อยากจะชวนดูชวนคิดคือมันมีงบประมาณอยู่ส่วนหนึ่งที่เพิ่มมากขึ้นทุกปีแบบเงียบ ๆ คือ “รายจ่ายเพื่อการเยียวยาผู้ประสบภัยและฟื้นฟูพื้นที่ภัยพิบัติ” ดังจะเห็นว่ามีการจ่ายงบกลางแบบนี้เพิ่มมากขึ้นทุกปี ไม่ใช่เพราะทุจริต แต่เป็นเพราะภัยพิบัติต่าง ๆ มันเกิดขึ้นบ่อยและรุนแรงมากขึ้นจริง ๆ มีผู้เดือดร้อนและต้องช่วยเหลือจริง ๆ แม้จะมีการจัดงบปกติไว้เตรียมการช่วยเหลือแล้ว แต่มันก็ไม่พอ


ผลงานวิจัยเรื่อง climate change ทั่วโลกยืนยันตรงกันว่าประเทศกำลังพัฒนาจะต้องใช้งบประมาณมหาศาลเพื่อการนี้ทุกปี และเป็นส่วนหนึ่งของ middle incom trap ที่ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาก้าวข้ามกับดักนี้ไปได้ เยียวยา/ฟื้นฟูรอบเก่ายังไม่ทันจบ รอบใหม่มาอีกแล้ว และมีแนวโน้มว่าจะถี่ขึ้นเรื่อย ๆ


ผมเห็นว่าการนำแนวคิดเรื่อง Sustainable Budgeting มาประยุกต์ใช้ น่าจะเป็น “ส่วนหนึ่ง” ที่ช่วยทำให้ประเทศก้าวข้ามปัญหานี้ไปได้โดยการกำหนด output และ outcome ของงบประมาณให้ชัดเจนว่าจะก่อให้เกิด sustainable output/outcome อะไรบ้างที่จับต้องได้ เวลาของประมาณจะต้องมองแบบ wholistic เป็นการขอแบบ integration ไม่ใช่เฉพาะกรมฉัน กระทรวงฉัน อย่างที่แล้ว ๆ มา


นอกจากนี้ก็ต้องมีการประเมินผลอย่างจริงจัง ถ้ากำหนดลงไปในรายละเอียดได้ก็จะยิ่งทำให้เราสามารถจัดการความเสียหายที่เกิดขึ้นจากพิบัติภัยธรรมชาติได้อย่างเหมาะสมและเป็นระบบ ทั้งยังจะช่วยทำให้ทุกภาคส่วนตระหนักถึงความสำคัญของปัญหา climate change และร่วมมือกันแก้ไขปัญหาด้วย


ฝ่ายอนุมัติงบประมาณก็คงต้องเลิกดูแบบ line items กันเสียที


นี่มันก็เลยศตวรรษที่ 18 มานานแล้ว