วันพฤหัสบดีที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2565

เล่าให้ฟัง : หนังสือสำคัญ ปกรณ์ นิลประพันธ์

วันนี้มีประชุมประกาศเรื่องนึง เกี่ยวกับการออกหนังสือรับรองคุณลักษณะของสินค้าที่รัฐมนตรีเป็นผู้ออก

ประเด็นคือเขาใช้คำว่า “หนังสือสำคัญที่รัฐมนตรีออกให้ …” เลยถามคนร่างว่าใส่คำว่า “สำคัญ” ขยายมาทำไม เจ้าของร่างทำหน้าตาเลิ่กลั่ก ถามต่อไปอีกว่าคุณไม่รู้ได้ไงล่ะ เขียนมาเองกับมือ เขาเลยอ้อมแอ้มตอบมาว่าไม่รู้เหมือนกัน ตัดออกก็ได้ … เป็นงั้นไป

ถามฝ่ายเลขาฯ ก็ปรากฎว่าไม่มีใครรู้ บอกว่าเคยได้ยินว่าใช้กับเอกสารที่เรียกว่า “หนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง” หรือ นสล. แต่ก็ไม่เคยสงสัยว่าทำไมมันถึงต้องมีคำว่าสำคัญใส่ไว้ด้วย นับเป็นการเชื่อโดยปราศจากข้อสงสัย

จริง ๆ พอใช้คำว่าสำคัญ เราจะเข้าใจกันโดยทั่วไปว่าหมายถึงอะไรที่เป็นพิเศษกว่าธรรมดา ใช่ครับ สำคัญแบบนี้เป็นคำวิเศษณ์ (ว)  เช่น ของสำคัญ เรื่องสำคัญ เป็นอาทิ ถ้าภาษาฝรั่งคงจะเป็นคำประเภท superlative degree ประมาณนั้น ซึ่งเวลาพูดว่าอะไรสำคัญ มันก็จะมีการเปรียบเทียบเสมอว่าก็คงมีอะไรที่ไม่สำคัญอยู่ด้วยแหละ อันนี้สำคัญกว่า

อย่างหนังสือสำคัญที่ว่า ผมก็แกล้งถามเขาไปว่า มันมีหนังสือที่รัฐมนตรีออกแล้วไม่สำคัญด้วยหรือ จึงเงอะงะกันไปดังว่า

ถ้าละเอียดอ่อนในภาษาไทยอยู่บ้าง ก็จะทราบว่า สำคัญนั้นไม่ได้มีความหมายว่า “พิเศษกว่าธรรมดา” แต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น จะหมายความว่า “เข้าใจ” ซึ่งเป็นคำกริยา (ก) ก็ได้ เป็นต้นว่า สำคัญว่ามีอำนาจ ก็หมายความว่าเข้าใจว่ามีอำนาจ

อีกนัยหนึ่ง สำคัญที่เป็นคำนาม (น) นั้นหมายถึง เครื่องหมาย เครื่องจดจำหรือหลักฐานที่ไว้แสดงกับใครต่อใคร เช่น ให้ไว้เป็นสำคัญ ก็หมายความว่าให้ไว้เป็นเครื่องหมายหรือหลักฐาน  ซึ่งคำว่าหนังสือสำคัญก็จะหมายถึง หนังสือที่เป็นเครื่องหมายหรือหลักฐาน เป็นคำที่ใช้มาแต่โบราณ อย่าง นสล. ก็คือหนังสือที่เป็นหลักฐานสำหรับที่หลวง เป็นต้น  

ดังนั้น หนังสือสำคัญตามประกาศที่พิจารณากันวันนี้จึงไม่ใช่ในความหมายว่าพิเศษกว่าธรรมดา แต่หมายถึงหนังสือที่เป็นเครื่องหมายหรือหลักฐาน

อันนี้ไม่ใช่กฎหมายเลยนะครับ ภาษาไทยล้วน ๆ คนร่างอาจเรียนเมืองนอกเมืองนามา จึงอาจอ่อนแอนิดหน่อย ไม่ว่ากัน

ก็เล่าสู่กันฟังครับ เผื่อเด็กถามจะได้ถ่ายทอดได้ คนรุ่นผมคงน้อยลงทุกทีแล้ว

ไม่ได้บ่นนะนี่.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น