ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ได้รับการยอมรับว่ามีระบบป้องกันสาธารณภัยที่ดีที่สุดประเทศหนึ่งของโลก แต่อุทกภัยที่เกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม 2561 มีการสูญเสียสูงมาก โดยเฉพาะผู้สูงวัย ผู้เขียนขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้สูญเสียทุกท่านมา ณ โอกาสนี้
อย่างไรก็ดี สาธารณภัยในครั้งนี้ได้แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ว่าระบบป้องกันสาธารณภัยที่มีอยู่ในปัจจุบัน ไม่เหมาะสมกับสังคมผู้สูงวัย (Ageing society) และสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป (Climate change) เสียแล้ว
สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้สาธารณภัยที่เกิดขึ้นในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะ น้ำท่วมฉบับพลัน มีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ มาตรการป้องกันสาธารณภัยที่รุนแรงขึ้นจึงต้อง “รวดเร็ว” และ “ทันท่วงที” มากขึ้น และนั่นหมายความว่าต้องมีการทบทวนความเหมาะสมของระบบป้องกันสาธารณภัยอย่างสม่ำเสมอเช่นเดียวกับการทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย
ระบบการแจ้งเตือนล่วงหน้าระดับชั่วโมง การสร้างเส้นทางหลบหนีภัยขึ้นที่สูง มีป้ายบอกทางชัดเจน ที่เป็นมาตรฐานและใช้กันอยู่ทั่วโลกในปัจจุบัน แม้ยังคงมีประโยชน์สำหรับผู้มีกำลังวังชามากพอสมควร แต่สำหรับผู้สูงอายุแล้ว การเตือนภัยล่วงหน้าเช่นนี้ดูเหมือนจะกระชั้นไป ส่วนเส้นทางหนีภัยที่เคยใช้สมัยยังเดินเหินสะดวก กลับกลายเป็นอะไรที่ยากเย็นในการจะใช้หลบให้พ้นจากภัยเสียแล้ว ยิ่งเป็นผู้สูงอายุติดเตียงแล้วยิ่งเป็นไปไม่ได้เลยที่จะใช้หลีกเลี่ยงสาธารณภัยได้เพราะขาดความสามารถในการเคลื่อนไหว
อุทกภัยในญี่ปุ่นครั้งนี้จึงเป็นสัญญาณเตือนให้ทุกประเทศที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยตระหนักว่า ระบบการแจ้งเตือนและการป้องกันสาธารณภัยที่มีอยู่นี้ไม่เหมาะสมกับสังคมผู้สูงวัยแล้ว ทุกประเทศจึงต้องแสวงหามาตรการหรือวิธีการใหม่ ๆ เพื่อรองรับสถานการณ์เช่นนี้
แนวคิดที่ว่าผู้สูงวัยควรพำนักอยู่ชั้นล่างเพื่อไม่ต้องเดินขึ้นลงบันไดเพื่อลดความเสี่ยงอันอาจเกิดจากการพบัดตกจากบันไดอาจใช้ไม่ได้ในทุกกรณี เพราะหากมีสาธารณภัยที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้สูงวัยจะได้รับภัยนั้นก่อนใครและจะช่วยเหลือตัวเองได้ยากมาก
การจัดลำดับความสำคัญในกระบวนการป้องกันความเสียหายอันเกิดจากสาธารณภัยอาจต้องเปลี่ยนแปลงใหม่ การประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดสาธารณภัยเป็นประเด็นที่ต้องมีการพัฒนามากขึ้น เพื่อให้โอกาสที่ประชาชนจะต้องประสบภัยลดลง
ระบบการแจ้งเตือนที่มีประสิทธิภาพและสามารถเข้าถึงผู้สูงวัยได้อย่างทั่วถึงก็ต้องพัฒนาขึ้นเช่นกัน จะใช้วิธีการส่งข้อความเข้าโทรศัพท์มือถือเป็นหลักโดยไม่ทราบว่าผู้สูงวัยได้รับข้อความนั้นจริงหรือไม่ คงใช้ไม่ได้แล้ว การอพยพผู้สูงวัยอาจต้องจัดเป็นความสำคัญลำดับแรก ซึ่งแน่นอนว่าฐานข้อมูลเกี่ยวกับที่อยู่ของผู้สูงวัยในแต่ละพื้นที่ต้องมีความถูกต้องและเป็นปัจจุบัน การอพยพจึงจะทันท่วงที
วิธีการอพยพผู้สูงวัยก็แตกต่างจากการอพยพคนทั่ว ๆ ไป เพราะอาจต้องใช้เครื่องไม้เครื่องมือพิเศษ รวมทั้งผู้มีความชำนิชำนาญเป็นพิเศษ ซึ่งต้องเตรียมไว้ให้พร้อมกับจำนวนผู้สูงวัยในแต่ละท้องที่ที่แตกต่างกัน เมื่ออพยพไปแล้วต้องจัดการดูแลผู้สูงวัยให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายและจิตใจของผู้สูงวัยด้วย
ประเด็นเหล่านี้เป็นประเด็นปัญหาสากลที่ทุกประเทศต้องเผชิญ หากเราใช้บทเรียนที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นมาเป็นแนวทางในการพัฒนาระบบป้องกันสาธารณภัยของเรา ก็จะเป็นประโยชน์ไม่น้อย
ผู้เขียนขอเป็นหนึ่งในกำลังใจให้แก่ชาวญี่ปุ่นทุกท่านให้ผ่านพ้นวิกฤติการณ์นี้ไปได้ด้วยดีครับ.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น