ผู้คนส่วนใหญ่เริ่มตระหนักว่า disruptive technology, robotic, IoT และ AI จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในอนาคต แต่ไม่มีใครแน่ใจว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นคืออะไร และจะส่งผลกระทบรุนแรงมากน้อยแค่ไหน
โดยที่ผู้เขียนถูกฝึกให้เป็นนักกฎหมายเปรียบเทียบ (ถึงตอนนี้จะไม่ได้ทำหน้าที่นี้แล้วก็ตาม) จึงทำให้ติดนิสัยแปลก ๆ ของนักกฎหมายเปรียบเทียบมาอย่างหนึ่ง คือ ชอบทำตัวเป็นนักสังเกตการณ์สังคม หรือ social reality observer คอยสังเกตสังกาว่ามันมีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง เพราะนักกฎหมายเปรียบเทียบทั้งโลกตระหนักดีว่าใด ๆ ในโลกล้วนอนิจจัง การเปลี่ยนแปลงจึงเป็นนิรันดร์ และการเปลี่ยนแปลงนี้เองที่ทำให้ระบบต่าง ๆ ของสังคมเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ซึ่งรวมถึงระบบกฎหมายด้วย แล้วเราจะพัฒนาระบบต่าง ๆ ให้รองรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นอย่างไร
จากการสังเกตผู้เขียนพบว่า disruptive technology, robotic, IoT และ AI ทำให้ลักษณะประการหนึ่งมีความเด่นชัดมากขึ้นเรื่อย ๆ ในสังคม นั่นคือ ลักษณะที่เรียกว่า personalisation หรือความเป็นตัวเองของปัจเจกชนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความคิด ความเชื่อ และการแสดงออก หากพิเคราะห์ให้ลึกลงไป ผู้เขียนเห็นว่าการตอบสนองความเป็นตัวของตัวเองของปัจเจกบุคคลที่มีมากขึ้นเรื่อย ๆ นี้เป็นไปเพื่อให้ตนเองมีชีวิตที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ (Better life) ซึ่งผู้เขียนเห็นต่อไปด้วยว่าลักษณะฉะนี้จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งในภาคเอกชนและภาครัฐ รวมทั้งระบบการเมืองด้วย
ในภาคเอกชน สินค้าและบริการในอนาคตมีแนวโน้มที่จะเป็นการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะบุคคลนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ brand royalty ยังคงมีอยู่ แต่สินค้าและบริการของ brand ต้องมีสิ่งที่เป็น option ให้เลือกเพิ่มเติมมากขึ้นเพื่อให้ตรงกับรสนิยมหรือความต้องการเฉพาะของลูกค้าแต่ละรายที่นับวันจะแตกต่างหลากหลายมากขึ้น ไม่ใช่ mass product ที่เหมือนกันทุกชิ้นอีกต่อไป ใครที่ไม่สามารถปรับตัวได้ จะไม่ได้รับความนิยม และยากที่จะยืนอยู่ในตลาดได้
ตรงกันข้าม สินค้าและบริการที่เกิดจากการใช้ความคิดสร้างสรรค์ (creativity) มีลักษณะเฉพาะตัว มีความเป็น unique และไม่ใช่ mass production จะเป็นที่ต้องการเพราะตอบสนองความเป็น personalisation ได้อย่างตรงจุด ผู้ผลิตและผู้ให้บริการของสินค้าหรือบริการทุกอย่างที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์จะสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากในอนาคต
ในภาครัฐ รสนิยม personalisation ส่งผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดินด้วย ที่สำคัญคือการจัดทำบริการสาธารณะหรือการให้บริการต่าง ๆ ของภาครัฐต้องตอบสนองความต้องการที่แตกต่างกันแม้จะเป็นบริการเดียวกันก็ตาม ซึ่งเรื่องนี้ไม่จัดว่าเป็นการเลือกปฏิบัติเพราะมีหลากหลายวิธีการในการให้บริการให้ประชาชนเป็นผู้เลือกใช้
วิธีการให้บริการแบบ one size fits all แบบเดิม ๆ และการให้ประชาชนเดินทางเข้ามารับบริการ ไม่สอดคล้องกับ personalisation ของผู้รับบริการที่แตกต่างหลากหลายอีกต่อไปแล้ว และจะทำให้ผู้รับบริการเกิดทัศนคติในเชิงลบต่อบริการของภาครัฐ ทั้งไม่มั่นใจในศักยภาพและประสิทธิภาพในการให้บริการสาธารณะนั้น อันจะทำให้ความเชื่อมั่น (trust) ที่มีต่อหน่วยงานนั้นและต่อรัฐในภาพรวมคลอนแคลนมากขึ้น
ดังนั้น บุคลากรในระบบราชการไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานใดจึงต้องตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงนี้ และต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานและวิธีให้บริการตามภารกิจของหน่วยงานให้สอดคล้องกับความเป็น personalisation เพื่อ Better life ของประชาชนด้วย มิฉะนั้นจะไม่สามารถให้บริการที่ตอบสนองต่อความต้องการ (responsive service) ได้อย่างแท้จริง ไม่ว่าผู้รับบริการจากหน่วยงานนั้นจะเป็นประชาชนหรือแม้แต่หน่วยงานของรัฐด้วยกันก็ตาม
ปัญหาสำคัญในการปรับเปลี่ยนนี้ไม่ได้อยู่ที่เทคโนโลยี เพราะถ้าเอกชนสามารถให้บริการในทำนองเดียวกันหรือสลับซับซ้อนกว่าการยื่นขอใบอนุญาตได้โดยตอบสนองต่อ personalisation ของปัจเจกบุคคลได้ ก็ไม่มีเหตุผลอันใดเลยที่ภาครัฐจะทำไม่ได้ หากสิ่งที่เป็นอุปสรรคอยู่ที่ทัศนคติของบุคคลากรในภาครัฐที่ยังมีอยู่อีกส่วนหนึ่งที่ยังไม่ตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องพัฒนาโครงสร้าง วิธีการทำงาน และวิธีให้บริการให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และยังคงยึดมั่นในความถูกต้องของกระบวนงาน (process) มากกว่าประสิทธิภาพ ประสิทธิผล การบรรลุเป้าหมาย และผลลัพธ์
เน้นพิธีรีตองว่างั้นเถอะ แก่นสารสาระไม่ค่อยมีหรอก
แท้จริงแล้ว หากหน่วยงานของรัฐนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการทำงานมากขึ้น มีการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานของรัฐแห่งอื่นที่เกี่ยวข้องไว้ล่วงหน้า ก็จะสามารถให้บริการต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และตอบสนองต่อ personalisation ของผู้รับบริการได้มากขึ้น ทั้งจะทำให้ผู้ให้บริการภาครัฐมีชีวิตที่ดีขึ้น (Better life) ไปพร้อมกันด้วย กฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เขาก็รองรับเรื่องพรรค์นี้ไว้ตั้งนานแล้ว ยังต้องมานั่งทนลำบากตรากตรำวุ่นวายอยู่กับการจัดเก็บและการเซ็นชื่อในเอกสารที่แม้แต่ตัวเองก็ไม่อยากจะหยิบขึ้นมาชื่นชมอีก หรือถ้าจะมีหยิบมาดูบ้าง ก็คงจะเป็นตอนที่ต้องไปชี้แจงหน่วยตรวจสอบหรือศาลนั่นแหละว่าเซ็นต์อะไรไปบ้าง
สำหรับการเมือง personalisation ได้ส่งผลกระทบให้เป็นตัวอย่างมาหลายที่แล้ว แต่ไม่ขอกล่าวถึงดีกว่า เพราะอาจมีผู้เข้าใจผิดคิดยัดเยียดให้ผู้เขียนเป็นฝ่ายโน้นฝ่ายนี้ให้รำคาญ ซึ่งเป็นอะไรที่น่าเบื่อมากถึงมากที่สุด
มาจบแบบ personalisation ของตัวเองได้ยังไงก็ไม่รู้.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น