เมียนมาเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
มีข้อได้เปรียบทางลักษณะภูมิประเทศ ทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรมประเพณี
และเป็นจุดภูมิศาสตร์ที่ดีเนื่องจากมีพื้นที่ติดต่อกับหลายประเทศ ได้แก่
สาธารณรัฐประชาชนจีน ไทย อินเดีย บังกลาเทศ และทะเลอันดามัน
เมือง “ชเวโก๊กโก๋” มีความหมายว่า “จามจุรีทอง” เป็นผลจากความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างจีนและเมียนมา
ทั้งสองประเทศเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์ในทางที่ดีขึ้นเป็นลำดับ มีการพัฒนาความสัมพันธ์โดยใช้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ขยายไปในวงกว้าง
ทำให้เกิดข้อตกลงร่วมกันระหว่างรัฐบาลจีนและรัฐบาลเมียนมาในปี 2557 มีการพบปะหารือระหว่างนาย
สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน และนางอองซาน ซูจี
ผู้แทนจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ทั้งสองประเทศได้สนับสนุนนโยบาย
“One
Belt One Road” (OBOR) ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น
“Belt and Road Initiative” (BRI) ซึ่งเป็นนโยบายที่จีนพยายามผลักดันเพื่อเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน
ทางด้านคมนาคม ด้านโลจิสติกส์ การขนส่งและการติดต่อสื่อสารเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน
เป็นการสร้างความมั่นคงในเส้นทางการค้าทั้งทางบกและทางทะเลของจีนกับประเทศในเส้นทาง
“Belt and Road” ความร่วมมือระหว่างจีนและเมียนมาในการสร้างเมืองชเวโก๊กโก๋นี้เป็นความร่วมมือบนหลัก
“เส้นทางสายไหมทางบก (Silk Road Economic Belt หรือ “One
Belt”
ในอีกแง่หนึ่งของ
BRI
คือการจัดตั้งระเบียบปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ
และการจัดสรรปันส่วนทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยมุ่งเน้นการรวมตัวกันทางด้านการตลาด
และความร่วมมือกันทางเศรษฐกิจ เพื่อกระจายผลประโยชน์สู่ส่วนรวมในภูมิภาค
คณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติของสาธารณรัฐประชาชนจีน
(National
Development and Reform Commission : NDRC) และกระทรวงการวางแผนและการคลัง
(Ministry of Planning and Finance) ของเมียนมา ลงนามบันทึกความเข้าใจ
(Memorandum of Understanding: MOU)
การสร้าง “ระเบียงเศรษฐกิจจีน-เมียนมา” ร่วมกัน
มีการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อหารือด้านการพัฒนาเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศและจัดตั้ง
12 คณะทำงานเฉพาะด้านที่สำคัญ โดยมติที่ประชุมมอบหมายให้ศูนย์แลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศของจีนและกระทรวงการวางแผนและการคลังของเมียนมาเป็นผู้วางแผนแม่บท
จากการหารือร่วมระหว่างจีนและเมียนมา ทำให้บริษัท YATAI
INTERNATIONAL HOLDING GROUP (หย่าไถ้) ซึ่งเป็นบริษัทภายใต้การบริหารจัดการของผู้บริหารจาก
“สหพันธ์ชาวจีนโพ้นทะเลที่กลับมาตุภูมิทั่วประเทศจีน” (All-China Federation of Returned Overseas Chinese) เข้ามาลงทุนทำโครงการอุตสาหกรรมเมืองอัจฉริยะ
YATAI หรือ “เมืองชเวโก๊กโก๋” ในรัฐกระเหรี่ยง เมืองเมียวดี
ประเทศเมียนมา ฝั่งตรงข้ามกับอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ตรงข้ามบ้านวังผา ม.4
ต.แม่จะเรา อ.แม่ระมาด บ้านใหม่ริมเมย ม.10 ต.แม่กาษา อ.แม่สอด และบ้านวังแก้ว ม.4
ต.แม่ปะ อ.แม่สอด รวมเนื้อที่ประมาณ 75,000 ไร่
คาดว่าการลงทุนรวมจะสูงกว่า 15,000 ล้านดอลลาร์ โดยมีแม่น้ำเมยกั้นระหว่างสองฝั่ง
มีการลงนามเซ็นสัญญาก่อสร้างโครงการขึ้นในปี 2561 (ค.ศ. 2018) ระยะเวลาของสัญญาระยะแรก
70 ปี ระยะที่สอง 29 ปี เป็นการลงนามร่วมหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน
ฝ่ายจีน ผู้เข้าร่วมพิธีลงนาม ได้แก่
รองประธานกรรมการสหพันธ์สาธารณรัฐจีนโพ้นทะเล และ
Mr. Xie Guoxiang เอกอัครราชทูตจีนประจำเมียนมาและภาคเอกชนจีน
ฝ่ายเมียนมา ผู้เข้าร่วมพิธีลงนาม ได้แก่ Mr. U Kyaw Myo รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมและข้อมูล
Mr. Wu Hantu รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรการเลี้ยงสัตว์และพลังงาน
Mr. Wu Suo Ai Mao รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานคนเข้าเมืองและประชากรเมืองยะไข่
Mr. U Maung Maung Soe นายกเทศมนตรีย่างกุ้ง
Mr. Saw Chit Tu (นายพล หม่องชิดตู่) ผู้นำรัฐกะเหรี่ยง
เมืองอัจฉริยะ YATAI หรือ “เมืองชเวโก๊กโก๋” ห่างจากท่าเรือเมาะลำเลิง
ประมาณ 130 กิโลเมตร ห่างจากท่าอากาศยานนานาแม่สอด 15 กิโลเมตร เมืองชเวโก๊กโก๋ถือช่องทางเชื่อมต่อระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกและเป็นศูนย์กลางที่สำคัญของระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก
ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แผนการก่อสร้างเมืองคาดว่าแล้วเสร็จภายใน 5 ปี และมีนักลงทุนชาวจีนและชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนและอาศัย
ในพื้นที่เมืองชเวโก๊กโก๋นี้หลักแสนคนในอนาคต
ในปี 2562 นี้
พบว่ามีชาวจีนมาอาศัยอยู่ที่เมืองนี้แล้วหลายพันคน ดังนั้น การสร้างเมืองนี้ถือเป็นสิ่งที่น่าสนใจและเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนในระดับท้องถิ่น
จังหวัดและระดับประเทศต้องจับตามองและให้ความสำคัญเนื่องจากการก่อสร้างเมืองอยู่บนพื้นที่ฝั่งตรงข้ามกับอำเภอแม่สอดและอำเภอใกล้เคียงซึ่งเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษและพื้นที่ค้าชายแดนที่สำคัญของประเทศตามนโยบายที่รัฐบาลกำหนดไว้
การผุดขึ้นของเมืองใหม่ประกอบกับประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนี้จะส่งผลกระทบต่อจังหวัดตากและประเทศไทยอย่างมาก
การพัฒนาเมืองชเวโก๊กโก๋อยู่ภายใต้แนวคิด “The Belt And Road” For China-Thailand-Myanmar
Economic Corridor คือ การสร้างเมืองให้เป็น “Silicon Valley” หรือเมืองที่เป็นศูนย์กลางทางด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมต่างๆในภูมิภาค
ทั้งยังเป็นศูนย์รวมที่พักอาศัยหลากหลายรูปแบบ อาทิ บ้านเดี่ยว คอนโด โรงแรม สถานบริการสถานบันเทิง
Entertainment Complex คาสิโน ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่
แหล่งรวมสินค้าปลอดภาษี โรงภาพยนตร์ระดับนานาชาติ สวนน้ำ ศูนย์แสดงสินค้าชายแดน
โกดังสินค้า แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม พื้นที่เกษตรเชิงนิเวศน์และศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ
One stop service ฯลฯ เป็นต้น
โดยแผนการก่อสร้างเมืองใช้ระยะเวลาเพียง 5 ปี เท่านั้น
ชเวโก๊กโก๋วางผังเมืองเป็นรูปมังกรตามคตินิยมของคนในภูมิภาคโดยแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่
ส่วนหัว เป็นโซนเกษตรกรรม พื้นที่เกษตรเชิงนิเวศน์
ส่วนลำตัว เป็นโซน Silicon Valley ศูนย์กลางนวัตกรรมเทคโนโลยีที่ทันสมัย ศูนย์แสดงสินค้านานาชาติ ศูนย์รวมสถานบันเทิงบริการต่างๆ
Entertainment Complex แหล่ง casino
บริการ spa ห้างสรรพสินค้า ศูนย์จำหน่ายสินค้าปลอดภาษี duty fee โรงภาพยนตร์นานาชาติ
สวนน้ำ
ส่วนหาง เป็นโซนอุตสาหกรรม บ้านจัดสรร คอนโด สนามกอล์ฟขนาดใหญ่
เขตอุตสาหกรรมเทคโนโลยีมีพื้นที่รวม 3,807 ไร่ มีการวางแผนวางฐานนวัตกรรมอินเตอร์เน็ต
ศูนย์บ่มเพาะเทคโนโลยี พื้นที่เครื่องจักรกล และพื้นที่บริการรวม ฯลฯ
คาดว่าเมื่อเขตอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสร้างเสร็จ
มูลค่าการผลิตต่อปีประมาณ 17,000 ล้านหยวน มูลค่าเพิ่มทางอุตสาหกรรมประมาณ 4,000
ล้านหยวน มีตำแหน่งพนักงานประมาณ 3.5
หมื่นคน โดยอนาคตจะพัฒนาให้เป็นซิลิคอนแวลลีย์ (Silicon Valley) ในเมียนมา
เขตท่องเที่ยวพักผ่อนมีพื้นที่ 41,667 ไร่
โครงการครอบคลุมถึงเมืองภาพยนตร์นานาชาติ สวนดอกเฟื่องฟ้านานาชาติ สวนน้ำ
จุดชมวิวแม่น้ำเมย สถานที่บันเทิง ฐานฝึกปืน เทศกาลบอลลูนนานาชาติ อุทยานสัตว์ป่า
สนามกอล์ฟ โครงการท่องเที่ยวขนาดใหญ่ และบ้านพักตากอากาศระดับสูง
สถานที่บันเทิงใช้พื้นที่ประมาณ 4 แสนตารางเมตร
เมื่อสร้างเสร็จจะมีโรงแรมและสปา ขนาดใหญ่ เป็นแหล่งการค้า ที่อยู่อาศัย
และวัฒนธรรม
เมืองภาพยนตร์นานาชาติมีพื้นที่ 1,208 ไร่ เป้าหมายคือ การสร้างเมืองท่องเที่ยว และเมืองพักผ่อนให้เป็นเมืองในฝัน
คาดว่าอนาคตข้างหน้าจะมีนักท่องเที่ยวประมาณ 8 แสน - 1 ล้านคน
อุทยานสัตว์ป่ามีพื้นที่ 8,333 ไร่
มีหน้าที่เพื่อปกป้องสัตว์ป่าเป็นหลัก
ใช้ประโยชน์จากความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศของรัฐกระเหรี่ยง
เพื่อสร้างเป็นสวนสัตว์อุทยานขนาดใหญ่
เขตวัฒนธรรมจะมีการสร้างเจดีย์ 108 ยอด
คือการนำพุทธศาสนาและภูมิทัศนะของมนุษย์มารวมกันเป็นหนึ่งในสถานที่นั้น
เขตการค้าและโลจิสติกส์ ในอนาคตจะมีลานอเนกประสงค์ มีคลังสินค้า
มีโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ และมีบริการข้อมูล ฯลฯ
สำหรับโซนเกษตรกรรม พื้นที่เกษตรเชิงนิเวศมีพื้นที่ทั้งหมด 2,708 ไร่ โดยมีการผลิตผลผลิตทางการเกษตร การแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร
และเป็นการผสมผสานระหว่างการท่องเที่ยวพักผ่อนกับอุตสาหกรรม ฯลฯ
ปัจจุบันเมืองชเวโก๊กโก๋มีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานและมีความคืบหน้าในการก่อสร้างอย่างรวดเร็วคาดว่าจะสร้างเมืองเสร็จตามแผนที่ตั้งไว้ภายใน
5 ปี มีการติดตั้งและพัฒนาระบบระบายน้ำ บำบัดน้ำเสีย น้ำประปา
ก๊าซธรรมชาติ ไฟฟ้า การสื่อสารโทรคมนาคม ท่อส่งความร้อน และเคเบิลทีวี เพื่อรองรับการเข้ามาของนายทุนจีน
เมียมา ไทย และต่างชาติ ซึ่งในปี 2562 นี้มีประชากรเข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองนี้หลายพันคนแล้ว
เป้าหมายของนักลงทุนที่จะเข้ามาอาศัยอยู่ที่เมืองใหม่แห่งนี้อย่างน้อย 300,000
คน หลังจากสร้างเมืองเสร็จ
เมืองชเวโก๊กโก๋เป็นช่องทางเชื่อมต่อระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก
เป็นศูนย์กลางที่สำคัญของระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก
ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยอยู่ห่างจากสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2
เพียง 15 กม. ทางด้านทางรถไฟ
เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเส้นทางรถไฟทรานส์-เอเชีย ไทย-เมียนมา
ทางด้านทางหลวง
ได้เปรียบการจราจร โดยจากคุนหมิงผ่านสปป.ลาว ถึงอำเภอแม่สอด ประเทศไทย
จนถึงกรุงเทพ มีเส้นทางรวม 1,880 กิโลเมตร เท่านั้น
ทางด้านการบิน
ได้ร่วมมือกับทาง Wisdom Airway เปิดเส้นทางการบินจากอำเภอแม่สอดไปยังหลาย
ๆ ประเทศ
ทางด้านทะเล
สามารถขนส่งสินค้าไปทางตะวันออกถึงท่าเรือแหลมฉบัง และจากท่าเรือแหลมฉบัง ส่งตรงถึงกวางโจว
ประเทศจีน ทางตะวันตกสามารถขนส่งไปท่าเมาะลำเลิง และจากเมาะลำเลิงไปยังยุโรปและแอฟริกา
หากมองตามหลักความสัมพันธ์ระหว่างประเทศบทบาทจีนไม่ได้มาเพื่อตอบโจทย์นโยบาย
one
belt one road บนถนนเส้น AH (ASEAN
Highways) เท่านั้น แต่การตั้งเมืองชเวก๊กโก๋โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็น
Hub ทางเทคโนโลยีนวัตกรรมต่าง ๆ เปรียบเสมือนเป็นฐานที่ตั้งกันชนนโยบาย
Look East/Act East ของอินเดียที่เด่นเรื่องเทคโนโลยีนวัตกรรม
และพยายามแพร่ขยายอิทธิพลด้านเทคโนโลยีมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย
ผู้เขียนศึกษาการพัฒนาเมืองชเวโก๊กโก๋แล้ว
มีข้อสังเกตเบื้องต้น ดังนี้
1. ภาคธุรกิจในแม่สอดไม่ได้รับประโยชน์จากการสร้างเมืองใหม่เนื่องจากจีนเตรียมความพร้อมและใช้วัสดุก่อสร้าง
อุปกรณ์ วัตถุดิบต่าง ๆ ในการสร้างเมืองขนส่งมาจากจีนโดยตรง มีเพียงบริษัทเดียวเท่านั้นที่ได้รับสัมปทานเข้าไปสร้างถนน
การคมนาคมขนส่งต่าง ๆ และขายวัสดุก่อสร้างบางประเภท
2. ช่วงระยะเวลาก่อสร้างโครงการส่งผลให้มีนักธุรกิจชาวจีนใช้บริการท่าอากาศยานนานาชาติแม่สอดมากยิ่งขึ้น
และขณะนี้มีเพียงสายการบินนกแอร์ที่เปิดให้บริการขนส่งผู้โดยสารภายในประเทศ
สายการบิน Wisdom
บริการเส้นทางแม่สอด-เชียงใหม่ เท่านั้น
เกิดข้อจำกัดในการใช้บริการสายการบินส่งผลให้ ค่าบัตรโดยสารแพงขึ้นจากราคาปกติ หากไม่มีมาตรการรองรับสถานการณ์อาจทำให้เกิดผลกระทบเชิงลบด้านการท่องเที่ยวและการใช้บริการของคนในพื้นที่
3. โครงการเมืองอัจฉริยะหย่าไถ้ได้รับการสนับสนุนจาก
นายพล หม่อง ชิดตู่ ผู้นำรัฐกะเหรี่ยง ในลักษณะใช้ Connection พึ่งพาตัวบุคคล
ไม่ใช่ลักษณะองค์กรหรือข้อตกลงที่เคร่งครัด ดังนั้นอำนาจและสถานะของนายพล หม่อง
ชิดตู่ มีอิทธิพลต่อเสถียรภาพการสร้างและพัฒนาเมือง
4. โครงการเมืองอัจฉริยะหย่าไถ้ส่วนใหญ่เป็นแหล่งรวมธุรกิจลักษณะสีเทา
เช่น Casino
อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคง คุณภาพชีวิต ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนชายแดน
ซึ่งอาจไม่ก่อให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว ไทยจำเป็นต้องคิดมาตรการรองรับสถานการณ์ที่อาจเปลี่ยนแปลงในอนาคตด้วย
ทั้งในมิติความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม
-----------------------
*ข้าราชการในโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่
(นปร.) รุ่นที่ 13 สำนักงาน ก.พ.ร.
ฝึกปฏิบัติงานในส่วนภูมิภาค ณ จังหวัดตาก
**บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานผลการปฏิบัติราชการของข้าราชการในโครงการ
นปร.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น