วันอังคารที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

เอา "ปรับเป็นพินัย" มาใช้แทน "โทษอาญา" ดีไหม โดยนายคนันท์ ชัยชนะ

ในสังคมยุคใหม่ที่มีความซับซ้อน มีการตรากฎหมายเป็นจำนวนมากเพื่อกำหนด กฎกติกาในเรื่องต่าง ๆ ของชีวิต มีทั้งการกำหนดข้อห้ามและข้อควรปฏิบัติต่าง ๆ ทำให้กฎหมายเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องและแทรกแซงในชีวิตประจำวันของประชาชนมากขึ้นเรื่อย ๆ  ดังนั้น การที่บุคคลจะกระทำผิดกฎหมายจึงมีโอกาสเกิดขึ้นได้ง่ายมาก 

อย่างไรก็ดี ความผิดตามกฎหมายจำนวนมากไม่ใช่การกระทำที่มีความชั่วร้ายในตัวหรือผิดศีลธรรมจรรยา (malum in se) แต่เป็นเพียงการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามสิ่งที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น กล่าวคือ เป็นความผิดเพียงเพราะกฎหมายกำหนดว่าเป็นความผิด (malum prohibitum) บุคคลที่กระทำความผิดเหล่านี้ส่วนใหญ่ก็เป็นคนปกติทั่วไปในสังคมที่อาจมีพลั้งเผลอ หรือมีความมักง่ายบ้าง แต่ไม่ถึงกับเป็นคนซึ่งมีจิจใจชั่วร้ายหรือเป็นอาชญากรที่สมควรจะได้รับโทษร้ายแรงอย่างโทษอาญา 

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกที่กำหนดหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายทั้งในเชิงเนื้อหาและกระบวนการ โดยมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดโทษอาญา คือ มาตรา 77 วรรคสาม ที่บัญญัติว่า รัฐพึงกำหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง  สำหรับ ความผิดไม่ร้ายแรง” ดังกล่าวข้างต้นนั้น รัฐธรรมนูญให้เป็นดุลพินิจของฝ่ายนิติบัญญัติในการพิจารณานำโทษหรือมาตรการประเภทอื่นมาใช้ตามที่เห็นสมควร 

เพื่อบรรลุเป้าหมายในการปฏิรูปกฎหมายดังกล่าว คณะกรรมการพัฒนากฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการดำเนินการศึกษาและปรับปรุงกฎหมายเพื่อป้องกันมิให้มีการใช้ประโยชน์จากโทษอาญาตามกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย” และมอบหมายให้ทบทวนกฎหมายที่ปัจจุบันกำหนดโทษอาญาสำหรับความผิดที่ไม่ร้ายแรง เพื่อปรับเปลี่ยนให้เป็นโทษทางปกครองหรือมาตรการอื่นที่ไม่ใช่โทษอาญา
  
นอกจากนี้ ปัจจุบันประเทศไทยยังคงขาดซึ่งกฎหมายกลางที่กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาลงโทษปรับทางปกครองทั้งในทางสารบัญญัติและวิธีสบัญญัติ เป็นเหตุให้การพิจารณาลงโทษปรับทางปกครองตามกฎหมายต่าง ๆ ยังขาดความเป็นเอกภาพและมีหลายมาตรฐาน  คณะกรรมการพัฒนากฎหมายจึงได้มีคำสั่งแต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการศึกษาและยกร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินการปรับและระงับคดีที่มีโทษปรับทางปกครอง 
เป็นการเฉพาะ” ขึ้นอีกคณะหนึ่งด้วยโดยมอบหมายให้ศึกษาและยกร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินการปรับและบังคับคดีที่มีโทษปรับทางปกครองเป็นการเฉพาะ โดยให้ศึกษาหลักการและแนวคิดของกฎหมายเยอรมันเพื่อนำมาประกอบการพิจารณายกร่างกฎหมายกลางสำหรับความผิดที่ไม่ร้ายแรงในประเทศไทย เนื่องจากประเทศเยอรมนีได้มีการออกกฎหมายกลางเพื่อใช้ในการพิจารณาโทษสำหรับความผิดไม่ร้ายแรง เรียกว่า “กฎหมายว่าด้วยความผิดต่อกฎระเบียบ” (Gesetz über Ordnungswidrigkeiten / Act on Regulatory Offencesซึ่งใช้บังคับมาตั้งแต่ พ.ศ. 2495 โดยมีแนวคิดและความเป็นมาใกล้เคียงกับสถานการณ์ของประเทศไทยในปัจจุบัน 

นั่นก็คือ การกำหนดให้ใช้โทษอาญาเฉพาะกับความผิดร้ายแรงเท่านั้น   

 คณะอนุกรรมการศึกษาและยกร่างกฎหมายว่าด้วยการดำเนินการปรับและระงับคดีที่มีโทษปรับทางปกครองเป็นการเฉพาะ ได้เสนอผลงานต่อคณะกรรมการพัฒนากฎหมายเป็นร่างพระราชบัญญัติหนึ่งฉบับ คือ ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการฝ่าฝืนกฎหมายที่มีโทษปรับเป็นพินัย พ.ศ. .... (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. ....) มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาทั้งในเชิงสารบัญญัติและวิธีสบัญญัติสำหรับการกระทำความผิดที่ไม่สมควรได้รับโทษอาญา (ความผิดที่ไม่ร้ายแรงโดยคณะอนุกรรมการฯ ได้เสนอให้เรียกมาตรการที่จะดำเนินการกับผู้กระทำความผิดที่ไม่ร้ายแรงนี้ว่า “ค่าปรับเป็นพินัย” แทนการเรียกว่า “โทษปรับทางปกครอง” 

ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนกับ “ค่าปรับทางปกครอง” ซึ่งเป็นมาตรการบังคับให้ทางปกครองเป็นผลตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และเพื่อให้ชัดเจนว่า คำสั่งปรับเป็นพินัยนั้นไม่ใช่คำสั่งทางปกครอง ไม่สามารถอุทธรณ์โต้แย้งต่อศาลปกครองได้  เนื่องจากคณะอนุกรรมการฯ เห็นว่า การพิจารณาค่าปรับเป็นพินัยตามร่างพระราชบัญญัตินี้เป็นเรื่องของการแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นโดยสำเร็จแล้ว เพื่อนำมาพิจารณากำหนดโทษที่จะลง (ค่าปรับสำหรับการกระทำนั้น ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ประกอบกับอาจมีบางกรณีที่มีความทับซ้อนหรือเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันระหว่างการปรับเป็นพินัยกับโทษอาญา เช่น กรณีกรรมเดียวเป็นทั้งความผิดทางพินัยและความผิดอาญา  คณะอนุกรรมการฯ จึงเห็นว่าสมควรกำหนดให้คดีค่าปรับเป็นพินัยอยู่ในเขตอำนาจของศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญา (ศาลยุติธรรม) ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการพิจารณาพยานหลักฐานเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำความผิดตลอดจนการกำหนดอัตราโทษให้เหมาะสมกับสภาพความผิด 

สำหรับโทษปรับทางปกครองที่ปรากฏอยู่ในกฎหมายต่าง ๆ กว่า 20 ฉบับ นั้น คณะอนุกรรมการฯ ได้เสนอให้เปลี่ยนมาเป็นการปรับเป็นพินัยด้วย เพื่อให้สามารถดำเนินการตามหลักเกณฑ์และกลไกของร่างพระราชบัญญัตินี้ได้ด้วย เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายกลางที่กำหนดหลักกฎหมายสารบัญญัติและวิธีสบัญญัติสำหรับการพิจารณาโทษปรับทางปกครองไว้เป็นการเฉพาะ ทำให้เกิดปัญหาในการบังคับใช้และความไม่ชัดเจนในเรื่องต่าง ๆ เช่น อายุความของโทษปรับทางปกครอง การใช้กฎหมายกรณีกรรมเดียวผิดหลายบท (ผิดกฎหมายหลายฉบับ) หรือกรณีกรรมเดียวผิดทั้งกฎหมายที่กำหนดโทษปรับทางปกครองและกฎหมายที่กำหนดโทษอาญา เป็นต้น  

ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. .... มีหลักการสำคัญ ดังนี้ 

 1. เป็นกฎหมายกลาง 
     ร่างพระราชบัญญัตินี้เป็นกฎหมายกลางที่กำหนดหลักเกณฑ์ในทางสารบัญญัติและวิธีสบัญญัติเพื่อใช้กับบรรดาความผิดที่มีกฎหมายกำหนดให้ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัย (กฎหมายต่าง ๆ จะต้องระบุให้ชัดเจนว่าการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้น ๆ จะต้องได้รับโทษอาญา หรือเป็นความผิดที่ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัย) 

 2. ความผิดทางพินัยและผลของการกระทำความผิดทางพินัย 
     ความผิดทางพินัย คือ ความผิดที่ไม่ร้ายแรงอันเกิดจากการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่กำหนดให้ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัย  
     ค่าปรับเป็นพินัย คือ เงินค่าปรับที่ต้องชำระให้แก่รัฐ อันเป็นมาตรการทางกฎหมายที่จะนำมาใช้แทนโทษอาญาสำหรับผู้กระทำความผิดไม่ร้ายแรงที่มีกฎหมายกำหนดให้ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัย  
     ผลของการกระทำความผิดทางพินัยมีเพียงการปรับเท่านั้น ไม่มีการจำคุก หรือกักขังแทนการปรับ ตลอดจนไม่มีการบันทึกลงในประวัติอาชญากรรมหรือทะเบียนประวัติอาชญากร ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องและได้สัดส่วนกับสิ่งที่ผู้กระทำความผิดได้กระทำลงไปซึ่งเป็นเพียงความผิดที่ไม่ร้ายแรง 
      ในการกำหนดค่าปรับเป็นพินัยจะต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับข้อเท็จจริง ดังต่อไปนี้ 
      ก. ระดับความรุนแรงของผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชนหรือสังคมจากการกระทำความผิดทางพินัย และพฤติการณ์อื่นอันเกี่ยวกับสภาพความผิดทางพินัย  
      ข. ความรู้ผิดชอบ อายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิต นิสัย อาชีพ สิ่งแวดล้อม และสิ่งอื่นทั้งปวงเกี่ยวกับผู้กระทำความผิดทางพินัย  
      ค. ผลประโยชน์ที่ผู้กระทำความผิดหรือบุคคลอื่นได้รับจากการกระทำความผิดทางพินัย 
      ง. สถานะทางเศรษฐกิจของผู้กระทำความผิด 
       ในกรณีที่บุคคลใดได้กระทำความผิดทางพินัยเพราะเหตุแห่งความยากจนข้นแค้นหรือเพราะความจำเป็นอย่างแสนสาหัสในการดำรงชีวิต จะกำหนดค่าปรับเป็นพินัยต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงใดหรือจะว่ากล่าวตักเตือนโดยไม่ปรับเป็นพินัยเลยก็ได้  
ในการกำหนดค่าปรับเป็นพินัย เมื่อพิจารณาสถานะทางเศรษฐกิจของผู้กระทำความผิดแล้วจะกำหนดให้ผ่อนชำระเป็นรายงวดก็ได้  
        ผู้กระทำความผิดที่ไม่มีเงินชำระค่าปรับอาจยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอทำงาน บริการสังคมหรือทำงานสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับก็ได้ 

3. กระบวนการพิจารณาในชั้นเจ้าหน้าที่ของรัฐ 
     บุคคลสำคัญที่เป็นตัวหลักในการดำเนินการพิจารณาความผิดทางพินัย คือ “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ซึ่งร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. .... ได้กำหนดบทนิยามไว้ว่าหมายถึง “พนักงานเจ้าหน้าที่ เจ้าพนักงาน นายทะเบียน หรือคณะบุคคล และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เรียกชื่ออย่างอื่น บรรดาที่กฎหมายกำหนดให้มีอำนาจในการดำเนินการปรับเป็นพินัย” ซึ่งโดยปกติแล้วก็คือ เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบการบังคับใช้กฎหมายนั้นเอง 
เจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่และอำนาจในกระบวนการพิจารณาความผิดทางพินัย ดังนี้ 
    3.1 แสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิด  
    3.2 แจ้งให้ผู้ต้องหาทราบถึงข้อกล่าวหาเพื่อให้มีโอกาสได้ชี้แจงหรือโต้แย้งข้อกล่าวหาภายในระยะเวลาที่เจ้าหน้าที่ของรัฐกำหนด 
    3.3 ในกรณีที่ผู้ต้องหายอมรับการกระทำความผิด ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีคำสั่งกำหนดค่าปรับเป็นพินัยพร้อมทั้งกำหนดระยะเวลาที่ต้องชำระค่าปรับ หากไม่มีการชำระค่าปรับให้ครบถ้วนภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐยื่นคำร้องต่อศาลให้ออกหมายบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินของผู้นั้นแล้วนำมาชำระค่าปรับ 
     3.4 ในกรณีที่ผู้ซึ่งได้รับแจ้งตาม 3.2 มีข้อโต้แย้งหรือมิได้ชี้แจงหรือโต้แย้งภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐสรุปข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย พยานหลักฐาน และส่งสำนวนให้พนักงานอัยการเพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลต่อไป 
    โดยสรุปแล้ว เจ้าหน้าที่ของรัฐมีอำนาจสั่งปรับเป็นพินัยได้เฉพาะในกรณีที่ผู้ต้องหายอมรับการกระทำความผิดเท่านั้น สำหรับกรณีอื่น ๆ (ผู้ต้องหาโต้แย้งหรือนิ่งเฉยจะต้องส่งสำนวนไปยังพนักงานอัยการเพื่อฟ้องเป็นคดีต่อศาลต่อไป 
     ในการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิดนั้น เจ้าหน้าที่ของรัฐมีอำนาจเท่าที่กฎหมายแต่ละฉบับกำหนดไว้เท่านั้น ร่างพระราชบัญญัตินี้มิได้ให้อำนาจเพิ่มเติม และมิได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐมีอำนาจเทียบเท่ากับพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เนื่องจากจะเป็นการไม่สอดคล้องและไม่ได้สัดส่วนกับความผิดที่ไม่ร้ายแรง  

4. กระบวนการพิจารณาในชั้นพนักงานอัยการ 
    เมื่อพนักงานอัยการได้รับสำนวนคดีความผิดทางพินัยจากเจ้าหน้าที่ของรัฐแล้ว  หากพนักงานอัยการเห็นควรสั่งฟ้อง ให้ดำเนินการเพื่อฟ้องคดีต่อศาล โดยไม่ต้องนำตัวผู้กระทำความผิดไปเพื่อยื่นฟ้องด้วยเพราะไม่ใช่คดีอาญา 
     ร่างพระราชบัญญัตินี้ไม่ได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่ของรัฐดำเนินการฟ้องคดีเอง เนื่องจากต้องการให้พนักงานอัยการได้กลั่นกรองความสมบูรณ์ของพยานหลักฐาน ตลอดจนประเด็นข้อกฎหมายต่าง ๆ ให้อีกชั้นหนึ่งเสียก่อน โดยเฉพาะในกรณีที่มีความคาบเกี่ยวกับความผิดอาญา เช่น กรณีการกระทำกรรมเดียวเป็นทั้งความผิดทางพินัยและความผิดทางอาญา เป็นต้น 

5. กระบวนการพิจารณาในชั้นศาล 
    ศาลแขวงเป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีความผิดทางพินัย โดยให้ดำเนินกระบวนพิจารณาตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกาโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา  โดยข้อบังคับดังกล่าวต้องคำนึงถึงความสะดวก รวดเร็ว เป็นธรรม และไม่เป็นภาระแก่ผู้เกี่ยวข้องจนเกินสมควร และจะกำหนดให้ศาลพิจารณาลับหลังจำเลยก็ได้ แต่ไม่ว่ากรณีจะเป็นประการใด จำเลยมีสิทธิตั้งบุคคลให้มาต่อสู้คดีแทนได้ โดยมิให้ถือว่าเป็นการพิจารณาลับหลังจำเลย  
     ผู้กระทำความผิดและพนักงานอัยการมีสิทธิอุทธรณ์ได้เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายเท่านั้น ภายใต้เงื่อนไขที่จะได้กำหนดในข้อบังคับของประธานศาลฎีกาโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา และคำพิพากษาของศาลชั้นอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด 
     บทบัญญัติในส่วนนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อลดขั้นตอนและความยุ่งยากในกระบวนการพิจารณาคดีความผิดทางพินัย เพื่อให้การพิจารณาสิ้นสุดได้รวดเร็ว และไม่เป็นภาระงบประมาณของประเทศจนเกินสมควร เนื่องจากเป็นเพียงความผิดไม่ร้ายแรงและมีเพียงการปรับเป็นเงินเท่านั้น ไม่มีโทษจำคุก 
      ในการบังคับตามคำพิพากษาที่กำหนดค่าปรับเป็นพินัย ให้ศาลมีอำนาจออกหมายบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินของผู้ต้องคำพิพากษาเพื่อใช้ค่าปรับ 

 6. ความแตกต่างจากโทษอาญาที่เปรียบเทียบได้ 
     ในกรณีความผิดอาญาที่อาจเปรียบเทียบได้ เมื่อเจ้าหน้าที่ได้ทำการเปรียบเทียบแล้ว หากผู้กระทำความผิดไม่นำเงินมาชำระตามที่ได้มีการเปรียบเทียบภายในระยะเวลาที่กำหนด เจ้าหน้าที่จะต้องไปกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีอาญาต่อไป ในขณะที่ในกรณีความผิดทางพินัยที่ผู้ต้องหายอมรับการกระทำความผิดและเจ้าหน้าที่ของรัฐได้มีคำสั่งกำหนดค่าปรับเป็นพินัยแล้ว หากไม่มีการชำระค่าปรับให้ครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กำหนด เจ้าหน้าที่ของรัฐมีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลให้ออกหมายบังคับคดีเพื่อยึดทรัพย์สินหรืออายัดสิทธิเรียกร้องในทรัพย์สินของผู้นั้นแล้วนำมาชำระค่าปรับ โดยในการพิจารณาของศาลจะไม่มีการพิจารณาความผิดของผู้ต้องหาอีก เพราะถือว่าผู้ต้องหาได้ยอมรับผิดมาตั้งแต่ต้นแล้ว ในกรณีนี้ศาลในคดีความผิดทางพินัยจึงมีอำนาจออกหมายบังคับคดีได้ทันที 

7. ผลกระทบต่อการร่างกฎหมายในอนาคต 
    เมื่อร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. .... มีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายแล้ว ผู้ร่างกฎหมายจะต้องระบุในกฎหมายแต่ละฉบับให้ชัดเจนว่าการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้น ๆ จะต้องได้รับโทษอาญาหรือต้องชำระค่าปรับเป็นพินัย ตลอดจนสมควรกำหนดให้ชัดเจนด้วยว่า ใครจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้มีอำนาจดำเนินการปรับเป็นพินัย  
     อย่างไรก็ดี ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. .... ไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาว่าการกระทำใดสมควรกำหนดให้เป็นความผิดทางพินัยและการกระทำใดสมควรกำหนดให้เป็นความผิดอาญา กรณีจึงเรื่องที่ผู้ร่างกฎหมายต้องพิจารณาตามความเหมาะสมให้สอดคล้องกับบริบทของกฎหมายแต่ละฉบับ โดยพิจารณาตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2561 เรื่อง การกำหนดโทษทางอาญาในกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 
      นอกจากนี้ ในการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายตามพระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562 หน่วยงานผู้รับผิดชอบการประเมินผลสัมฤทธิ์ก็ควรที่จะทบทวนความจำเป็นและเหมาะสมของการกำหนดโทษอาญาในกฎหมายของตน พร้อมทั้งพิจารณาความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนโทษอาญามาเป็นการปรับเป็นพินัยด้วย 

8. ประโยชน์ที่จะได้รับจากร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. .... 
     ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรับเป็นพินัย พ.ศ. .... เป็นกฎหมายที่ออกแบบมาเพื่อนำมาใช้กับความผิดที่ไม่ร้ายแรงเพื่อให้เหมาะสมกับลักษณะความผิด ลักษณะของผู้กระทำความผิด ลักษณะของโทษ และลักษณะของผู้ใช้กฎหมาย ซึ่งมีความแตกต่างจากกฎหมายอาญาและกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหลายประการ ประโยชน์ของการมีกฎหมายว่าด้วยการปรับเป็นพินัย อาจพิจารณาได้จาก 2 มุม ได้แก่ 
    8.1 ในมุมประชาชน  
          - ประชาชนจะได้รับโทษที่เหมาะสมและได้สัดส่วนกับระดับความผิดของตน โดยเป็นโทษที่ไม่มีผลกระทบต่อชีวิต หน้าที่การงาน และไม่ทำให้เสื่อมเสียประวัติ 
          - เจ้าหน้าที่ของรัฐมีอำนาจอย่างจำกัดเมื่อเทียบกับอำนาจของพนักงานสอบสวนในคดีอาญา ทั้งนี้ เพื่อให้เหมาะสมและได้สัดส่วนกับความเล็กน้อยของความผิดและความเล็กน้อยของโทษ 
     8.2 ในมุมรัฐ 
           - การนำการปรับเป็นพินัยมาใช้แทนโทษอาญาจะทำให้รัฐสามารถประหยัดทรัพยากรได้เป็นอย่างมาก เนื่องจากมีการลดขั้นตอน ลดความยุ่งยากซับซ้อน และไม่ต้องใช้กระบวนพิจารณาเต็มรูปแบบดังเช่นในคดีอาญา อันจะเป็นการแบ่งเบาภาระของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ทำให้มีเวลาให้กับคดีที่ยุ่งยากซับซ้อนได้มากขึ้น 
          - การให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นตัวหลักในการดำเนินการปรับเป็นพินัย เป็นการแบ่งเบาและช่วยผ่องถ่ายภาระของพนักงานสอบสวน ทำให้พนักงานสอบสวนมีเวลาให้กับคดีที่ยุ่งยากซับซ้อนมากขึ้น 
          นอกจากนี้ หากประเทศไทยมีกฎหมายกลางที่กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีพิจารณาสำหรับความผิดที่ไม่ร้ายแรงโดยเฉพาะ ก็จะทำให้การดำเนินการเกี่ยวกับความผิดที่ไม่ร้ายแรงที่กำหนดไว้ในกฎหมายต่าง ๆ เป็นไปอย่างมีเอกภาพและมีมาตรฐานเดียวกัน  และจะเป็นการวางรากฐานทางกฎหมายเพื่อรองรับมาตรการสำหรับความผิดที่ไม่ร้ายแรงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ตลอดจนรองรับการเปลี่ยนโทษอาญาสำหรับความผิดที่ไม่ร้ายแรงมาเป็นโทษหรือมาตรการประเภทอื่น เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 77 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 

                                                                                    **************

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น