วันเสาร์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

“การฝากร้าน กับ Sharing economy” ปกรณ์ นิลประพันธ์

ถ้าลองสังเกตกันดี  เราจะพบว่า ท่ามกลางกลางหยุดชะงักของกลไกทางเศรษฐกิจแบบดั้งเดิมอันเนื่องมาจากมาตรการป้องกันการระบาดของโรคติดต่อร้ายแรงที่มีชื่อยาวเฟื้อยว่าโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) หรือที่เราเรียกกันสั้น  ว่า “โควิด” นั้น กลไกทางเศรษฐกิจแบบใหม่ได้พัฒนาคู่ขนานไปอย่างเงียบ  แต่รวดเร็วนักผ่านโซเชี่ยลมีเดีย

มันคือระบบเศรษฐกิจแบ่งปัน หรือ sharing economy 

หลายคนอาจนึกไม่ออกว่ามันคืออะไร 

แต่ถ้าพูดถึงมาเก็ตเพลสบนเฟสบุ๊คอย่าง “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และการฝากร้าน” อย่าง “จุฬาฯมาร์เก็ตเพลส” เอย “ตลาดนัด มศว” และอื่น  (ขออภัยที่ไม่ได้เอ่ยนามที่หลาย  คนได้เข้าไปฝากร้านและซื้อขายของกันอย่างคึกคักในช่วงที่ผ่านมา คงร้องอ๋อกันทีเดียว

ในช่วงแรกที่ทางราชการแนะนำให้ work from home นั้นเหล่าข้าราชการและพนักงานเอกชนก็หน้าใสไปตามกัน ทำงาน online โดยไม่ต้องออกไปเซ็นชื่อ ตอกบัตร หรือสแกนนิ้วเข้าออกงานเหมือนโรงงานสมัยร้อยปีที่ผ่านมา ไม่ต้องออกจากบ้านฝ่าการจราจรที่เข้าขั้นวิกฤติไปนั่งซึมอยู่ที่ทำงาน สวรรค์ชัด 

ดีใจไชโยกันได้พักเดียวว่าเป็นไทเสียที ก็เริ่มจะหงุดหงิด เพราะไม่ได้ออกจากบ้าน กับต้องกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรวมทั้งสารพัดไข่ที่อุตส่าห์ไปเข้าแถวซื้อกักตุนกัน (ทำไมไม่รู้ได้สี่ห้ามื้อ ความอยากออกจากบ้านเหมือนที่เคยทำมาเป็นสิบปีก็เริ่มบังเกิด ความอยากอาหารอย่างอื่นก็เข้ามาแทนที่ วัน  นั่งฝันหวานน้ำลายยืดว่าจะกินอะไรดี รู้สึกอยากกินไปเสียทุกอย่าง แต่ร้านรวงที่เคยขายแบบดั้งเดิมก็ต้องปิดชั่วคราวตามไปด้วย  ร้านค้าก็เดือดร้อน ต้องหาวิธีขายใหม่โดยใช้แพลตฟอร์มดิลิเวอรี่ที่มีอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว ทีนี้อยากกินอะไรสั่ง อุปสงค์และอุปทานตรงกัน ก็สั่งวน  ไป

น้ำหนักขึ้น ตัวบวม หน้าบานกันโดยไม่รู้ตัว

มีหลายธุรกิจได้รับกระทบรุนแรงมากจากโควิดถึงขั้นที่ต้องหยุดประกอบกิจการทั้งชั่วคราวและถาวรเพราะไม่มีลูกค้า โดยเฉพาะธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจการบิน และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง กระทบคนหลายหมื่น พนักงานจำนวนมากตกงาน ไม่มีรายได้ ต้องหารายได้เสริมจากทักษะการทำอาหารหรือขนมขาย ขายรถขายคอนโด ขายบ้าน ฯลฯ แรกเริ่มก็มีหน้าร้านของตัวเองบนโซเชียลมีเดีย แต่มันก็ขายยากเพราะฐานลูกค้าก็จำกัดเฉพาะคนรู้จักและบอกต่อกันเท่านั้น ยิ่งคนที่ทำอาหารหรือขนมขายนี่ลงทุนไปแทบไม่ได้อะไรเลยก็มาก

จุดนี้เองที่ sharing economy ก้าวเข้ามามีบทบาทในระบบเศรษฐกิจบนพื้นฐานของ “ความเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน” เพราะแต่ละคนย่อมต้องเคยอยู่ในชุมชนแห่งใดแห่งหนึ่งมาก่อน โดยเฉพาะในช่วงที่เป็นวัยใสวัยเรียน และคนในชุมชนเดียวกันก็มักจะช่วยเหลือเกื้อกูลกันในยามยาก มาเก็ตเพลสของชุมชนของสถาบันการศึกษาดังกล่าวข้างต้นจึงเกิดขึ้นเพื่อให้ “คนในชุมชน” ได้มีโอกาส “ช่วยเหลือกูลเกื้อกัน” โดยการฝากร้าน” แทนที่จะ stand alone ร้านใครร้านมันแบบเดิม   นอกจากนี้ มาเก็ตเพลสที่ว่ายังตอบสนองการแสวงหา “ความแปลกใหม่” ของผู้บริโภคในชุมชนที่ธุรกิจดิลิเวอรี่แบบเดิม ไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้ 

พลังของมาเก็ตเพลสออนไลน์นี้ทำให้เรารู้ว่าวิศวกรจำนวนมากมีสกิลในการทำเบเกอรี่ขั้นเทพ อร่อยกว่าตามร้านดัง  เสียอีก นักบินและแอร์โฮสเตสที่ต้องหยุดบินหันมาทำขนมจีนน้ำยาปูได้ร่อยจังหู้ สปาเก็ตตี้เอย อาหารตามสั่งเอย ข้าวแช่เอย ทุเรียน มังคุด และอื่น  อีกมากมายสารพัด มีหมด สั่งมาแล้วติชมกันได้ ทำให้กินใหม่ฟรี  ก็มี เป็นการพัฒนาคุณภาพสินค้า หลายรายขับรถมาส่งเองเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างผู้ขายผู้ซื้อมากขึ้นไปอีก บางคนกะว่าทำเผื่อจะขายได้ กลายเป็นขายดีมากจนต้องปิดรับออร์เดอร์เพราะทำไม่ไหว บ้างถึงกับรำพันว่าเรียนวิชาที่เคยเรียนมาทำไมก็ไม่รู้ ยากก็ยาก จบมาก็ต้องไปเป็นลูกจ้างเขาวันยังค่ำ สู้มาประกอบอาชีพตามที่ตัวเองถนัดอย่างนี้ดีกว่า เป็นเจ้าของกิจการของตัวเอง เลี้ยงตัวได้ตามฐานานุรูป ไปนั่นเลย

อ้อ เครื่องอุปโภคบริโภคอื่นนอกจากอาหารก็มีนะครับ

ผู้เขียนมีโอกาสสัมภาษณ์สดลูกค้าประจำของมาเก็ตเพลสแบบนี้ของสถาบันหนึ่ง (ขอสงวนนามเธอบอกว่าการซื้อของออนไลน์นั้นปกติเราไม่ได้สนใจอยู่แล้วว่าใครเป็นผู้ขาย เราเพียงอยากได้ของที่เราต้องการ แต่ถ้าเป็นการซื้อจาก …(ชื่อมาเก็ตเพลส)… ถือว่าเป็นการอุดหนุนพี่  เพื่อน  น้อง  ในชุมชนของเรา ถ้าใน …(ชื่อมาร์เก็ตเพลส)… มีของที่เราต้องการจะซื้อ เธอจะสนับสนุนพวกเราก่อนเพราะเป็นคนในชุมชนเดียวกัน เป็นพวกเดียวกัน เลือดสีเดียวกัน 

เห็นไหมครับว่า sharing economy มีพลังมากแค่ไหน โดยเฉพาะถ้าเป็น sharing economy ของคนในชุมชนเดียวกัน

ผู้เขียนเคยดูสารคดีเรื่อง sharing economy ของญี่ปุ่น เขาก็ใช้แนวคิด sharing economy ตั้งแต่ในระดับชุมชน โดยเขาส่งเสริมให้คนในชุมชนทำ community platform มีทั้งขายสินค้าและให้บริการในชุมชนบ้านหนึ่งเป็นช่างไฟ บ้านหนึ่งเป็นช่างประปา บ้านหนึ่งขับแท็กซี่ บ้านนึงปลูกหัวไชเท้า บ้านนึงขายปลา บ้านนึงขายผัก บ้านนึงขายมิโซะ ฯลฯ เขาจะซื้อสินค้า/บริการที่มีภายในท้องถิ่นก่อนเป็นการ share ความเอื้อเฟื้อให้แก่กัน ซื้อขายกันเองเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ระบบเศรษฐกิจระดับชุมชน และไม่ต้องถ่อเดินทางเข้าไปในเมืองให้เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง สร้างมลพิษ ถ้าไม่มีในชุมชน เขาจึงจะไปเชื่อมกับ platform ของชุมชนใกล้  กัน และเชื่อมกันจนเป็น network ขนาดใหญ่ ไม่ได้ขายเอารวยคนเดียวเหมือน platform ขนาดใหญ่ของบริษัทขนาดยักษ์ของต่างชาติ

แต่ทุกคนในชุมชน “มีโอกาส” ขายได้ มีรายได้ มีกินมีใช้ มีความสุขตามอัตภาพ

ผู้เขียนเชื่อว่า new normal อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นและจะค่อย  พัฒนาไปเรื่อย  ในบ้านเมืองเราจากโควิดคือ sharing economy เพราะคนไทยส่วนใหญ่เป็นคนเอื้อเฟื้อ รู้จักแบ่งปัน ซึ่งเป็นพื้นฐานของความมั่นคงพอเพียง และยั่งยืน ซึ่งนอกจากปรากฏการณ์มาเก็ตเพลสที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ยังมี “ตู้ปันสุข” เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของความงดงามในการแบ่งปัน การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของคนในชุมชน

โควิดแสดงให้เห็นแล้วว่ามันทำให้ระบบทุนนิยมที่มือใครยาวสาวได้สาวเอาล้มระเนระนาดลงได้ภายในพริบตาอย่างไร และแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่เอาเปรียบรายย่อยอย่างไร

ถ้าเรายังไม่เปลี่ยน ก็แสดงว่าเราไม่รู้จักที่จะเรียนรู้ และคงต้องพ่ายแพ้อีกในอนาคต

อย่างแน่นอน.

1 ความคิดเห็น: