วันพุธที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

เร่งเครื่องสู่ Digital Government โดยชยพล อริยคุณากูร สำนักงาน ก.พ.ร.

                     ทิศทางของการพัฒนาบริการภาครัฐต่อไปยังต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ก้าวทันต่อบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการปรับวิธีคิดหรือ Mindset  หรือวิธีทำงานให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับการมาถึงอย่างรวดเร็วของยุคดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การเมืองระหว่างประเทศ และยิ่งต้องมาประสบกับการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ทำให้ภาครัฐทั่วโลกต้องปรับตัวกันขนานใหญ่

                  เริ่มจากวิธีการปฏิบัติราชการที่เปลี่ยนไปจากแบบ "เดิม ๆ" เช่น การให้ข้าราชการทำงานจากที่บ้าน หรือ Work from home แต่ต้องรักษามาตรฐานและคุณภาพของการให้บริการที่เหมือนเดิม หรือไม่ก็ต้องทำให้ดีขึ้นกว่าเดิมเพื่อให้การบริการภาครัฐไม่สะดุด ตอบสนองได้ทันท่วงที มีการใช้ช่องทางออนไลน์มาเป็นช่องทางหลักในการติดต่อกับภาครัฐ แม้กระทั่งจะไปหาหมอที่โรงพยาบาล ไม่ต้องไปด้วยตัวเองแล้ว โควิด-19 ทำให้เราเปลี่ยนวิธีการจากที่ต้องไปรับบัตรคิวที่โรงพยาบาล มาเป็นจองคิวออนไลน์และใช้วิดีโอคอลปรึกษาอาการกับคุณหมอผ่านระบบ telemedicine ที่โรงพยาบาลจัดให้แทน จ่ายเงินค่ารักษาก็สามารถทำผ่านออนไลน์ และคุณหมอก็จะจัดส่งยามาให้เราถึงที่บ้านได้อีกเช่นกัน

                  การที่ภาครัฐสามารถให้บริการผ่านระบบออนไลน์หรือ e-Service ได้นั้น ส่วนสำคัญเนื่องมาจากการที่รัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 ขึ้นเพื่อปลดล็อกบริการภาครัฐไปสู่การบริการผ่านดิจิทัล  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กฎหมายที่ระบุให้ต้องมาขอรับบริการ ณ สถานที่ให้บริการ การลงนามในใบอนุญาต/หนังสือรับรอง การกำหนดวิธีการแจ้งผลการพิจารณา และการรับใบอนุญาต ไม่สามารถทำผ่านวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ได้ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและไม่เป็นไปตามยุคตามสมัย รวมถึงผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการผ่าน e-Service โดยเน้นการให้บริการได้ตั้งแต่ต้นจนจบ เรียกได้ว่าสุดท้ายปลายทางคือการออกใบอนุญาตเป็นดิจิทัลให้ประชาชนได้เลย


                   ตัวอย่างที่หลายหน่วยงานของรัฐกำลังดำเนินการอยู่ คือการออกเอกสารราชการแบบดิจิทัล หรือ e-Document เพื่อทดแทนการใช้กระดาษแบบเดิม ๆ เช่น กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้พัฒนาหนังสือรับรองนิติบุคคลรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ผู้ประกอบการสะดวก ไม่ต้องเสียระยะเวลารอคอยนาน ลดการเดินทาง ลดต้นทุนทางธุรกิจ รวมถึงมหาวิทยาลัยขอนแก่นก็ได้ออก e-transcript ให้กับนักศึกษาเป็นรูปแบบดิจิทัล และเมื่อนำ e-transcript ดังกล่าวไปสมัครงานหน่วยงานที่รับสมัครบัณฑิตที่จบจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นก็สามารถตรวจสอบเอกสารที่ได้มานั้นถูกต้องหรือไม่ ด้วยระยะเวลาที่ไม่นาน ก็สามารถรับเข้าทำงานได้ทันที สะดวกรวดเร็วทั้งทางฝั่งผู้จ้างและบัณฑิต รวมถึงฝ่ายทะเบียนของมหาวิทยาลัยก็ไม่ต้องทำงานซ้ำซ้อนอีกด้วย


                   แต่กว่าจะไปถึงการบริการที่คนมักเรียกกันว่าเป็นการบริการ e-Service ที่สุดซอย คือการออกใบอนุญาตเป็น e-Document ออกมาได้ เบื้องหลังก็คือหน่วยงานภาครัฐได้ร่วมมือกันที่จะปลดล็อกกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการให้บริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยในระยะแรกตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2563 มีกฎหมายถึง 84 ฉบับ ไม่ว่าจะเป็นระดับพระราชบัญญัติ กฎกระทรวง ระเบียบ ประกาศต่าง ๆ ที่หน่วยงานเจ้าของกฎหมายจะต้องทบทวนหรือแก้ไขกฎหมายเหล่านั้นเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคอีกต่อไป และปัจจุบันมีกฎหมายเกือบ 50 ฉบับแล้วที่ทบทวนหรือแก้ไขแล้วเสร็จ ดังตัวอย่างของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้ออกประกาศกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เรื่องการยื่นคำขอตามกฎหมายว่าด้วยสถานประกอบการเพื่อสุขภาพทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้


                   จากที่กล่าวมาทั้งหมดในตอนนี้ คงจะเห็นภาพความพยายามของทุกฝ่ายที่จะร่วมกันแก้ไขกฎหมายเพื่อให้เกิด e-Service และเห็นได้อย่างชัดเจนว่า กฎหมายการอำนวยความสะดวกได้ช่วยปลดล็อกอุปสรรค ทำให้บริการภาครัฐสะดวกขึ้นได้อย่างไร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น