วันพุธที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2567

มุมมอง ปกรณ์ นิลประพันธ์

 นาย ก ยืนอยู่ใกล้กับวัตถุ A ส่วนนาย ข ยืนอยู่ใกล้วัตถุ B นายสองคนนี้ยืนอยู่ห่างกัน 30 เมตร สมมุติฐานคือทั้งสองคนสายตาปกติ และวัตถุสองชิ้นนั้นมีความชำรุดบกพร่องที่ต้องซ่อมแซม


แน่นอนว่านาย ก จะมองเห็นวัตถุ A ชัดกว่านาย ข และนาย ข ก็ย่อมมองเห็นวัตถุ B ชัดกว่านาย ก  ดังนั้น จึงเป็นปกติที่นาย ก ย่อมอธิบายรายละเอียดและจุดที่ต้องแก้ไขของวัตถุ B ได้ไม่ดีเท่านาย ข ซึ่งอยู่ใกล้กว่า ในทางกลับกัน นาย ข จะอธิบายถึงรายละเอียดและจุดที่ต้องแก้ไขของวัตถุ A ได้ไม่ละเอียดเท่านาย ก โดยเหตุผลเดียวกัน


การที่นาย ก จะบอกให้นาย ข ซ่อมวัตถุ B ตรงนั้นตรงนี้ หรือนาย ข จะบอกให้นาย ก ซ่อมวัตถุ A ตรงนั้นตรงนี้ จึงอาจเป็นการบอกที่คลาดเคลื่อนไป เพราะคนใกล้จะรู้อยู่ว่าตรงไหนมันแตกร้าวต้องซ่อม


ไม่ใช่การบอกที่ผิด แต่คลาดเคลื่อน เพราะจุดที่มองและมุมที่มองนั้นมีข้อจำกัด


ปัญหาของโจทย์นี้อยู่ที่ “ระยะทาง”


ถ้านาย ก เดินเข้ามาหานาย ข สัก 10 เมตร และนาย ข เดินเข้ามาหานาย ก สัก 10 เมตร ระยะห่างจะเหลือ 10 เมตร ก็จะช่วยทำให้ นาย ก และนาย ข มองเห็นจุดที่ต้องซ่อมของวัตถุของอีกฝ่ายได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ความคลาดเคลื่อนจะน้อยลง แต่ก็ยังมีอยู่


แต่ถ้าใกล้กันมากขึ้นจนต่างคนต่างหยิบวัตถุที่ใกล้คนอื่นมาดูได้ อาจทำให้นาย ก บอกจุดที่ต้องซ่อมเพิ่มเติมแก่นาย ข หรือนาย ข ก็อาจบอกนาย ก ได้ในทางกลับกันด้วย เพราะความไม่คุ้นเคยกับวัตถุจะทำให้การมองต่างมุมออกไป เช่นนี้ การซ่อมวัตถุ A หรือ B ก็จะทำได้ดีขึ้น


โจทย์ของการเข้าใกล้ในระยะเผาขนนี้อยู่ที่ “ความไว้วางใจ“ เพราะทุกคนมีสัญชาติญาณในการสร้าง safe zone และ safe zone ของแต่ละคนมีระยะไม่เท่ากันตามประสบการณ์ของชีวิตที่ผ่านมาแตกต่างกัน 


คนเคยเจ็บหนักมาก่อนเพราะคนอื่น ย่อมมี safe zone กว้างและลึกกว่าคนทั่วไป ยอมรับความเสี่ยงได้น้อย แต่คนกล้าได้กล้าเสียย่อมมี safe zone ไม่มากนัก ยอมรับความเสี่ยงได้มาก


การสร้างความไว้วางใจจึงต้องเข้าใจบริบทของแต่ละคนด้วย แต่ถ้าเข้าใจกันได้จะเป็นเรื่องดีมาก เพราะจะมีสมดุลระหว่างความระมัดระวังหรือเบรค กับพัฒนาหรือคันเร่ง


กาแฟหมดถ้วยพอดี.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น