วันพฤหัสบดีที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2561

"เกร็ดการร่างกฎหมาย 16: ดอกผลของเงินและทรัพย์สินของกองทุน" ปกรณ์ นิลประพันธ์


                   พักหลัง ๆ นี้มีการเสนอให้มีกฎหมายจัดตั้งกองทุนหลายฉบับ เมื่อถามหน่วยงานที่เสนอกฎหมายแบบนี้เข้ามาว่าทำไมต้องตั้งกองทุนให้มันวุ่นวายด้วย ทำไมไม่ใช้เงินงบประมาณ เพราะถึงอย่างไรก็ต้องถูกตรวจสอบโดยองค์กรต่าง ๆ อยู่ดี

                   ที่ว่าวุ่นวายเพราะหน่วยงานที่เสนอกฎหมายต้องแยกทำบัญชีของกองทุนอีกต่างหาก ทั้งสร้างต้นทุนในการบริหารจัดการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาอาคารสถานที่ บุคลากร และเครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ ซึ่งแน่นอนว่าต้องปันเงินกองทุนมาใช้จ่ายเพื่อการนี้ ไหนจะเบี้ยประชุม ค่าตอบแทน ค่าใช้จ่ายนั่นนี่นู่น อีกทั้งการแบ่งเงินงบประมาณมาตั้งเป็นกองทุนนี่ก็ทำให้การจัดสรรเงินงบประมาณที่ควรจะเป็นก้อนใหญ่กลับกระจัดกระจายเป็นเบี้ยหัวแตก (diversion of public fund) การใช้จ่ายเงินของกองทุนที่ตั้งขึ้นอย่างมากมายจึงไม่ทรงพลัง เพราะต่างกองทุนต่างก็มีวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน มีคณะกรรมการบริหารกองทุนกันคนละชุด เปรียบเสมือนวงดนตรีวงเล็กวงน้อยที่มาบรรเลงเพลงของตัวเองพร้อม ๆ กันบนเวทีเดียวกัน ไม่ได้เล่นเป็นวงใหญ่ ดนตรีที่ออกมาจึงไม่ไพเราะเสนาะหู รำคาญโสตประสาทเสียมากกว่า     

                   เชื่อไหมครับว่าทุกหน่วยตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าเงินงบประมาณนั้นใช้ยากหนักหนา มีระเบียบกฎเกณฑ์ต่าง ๆ นา ๆ มากมาย แต่ถ้าเป็นการใช้จ่ายเงินกองทุนจะคล่องตัวกว่า เพราะระเบียบการใช้จ่ายเงินต่าง ๆ คล่องตัวกว่าระเบียบกฎเกณฑ์การใช้จ่ายเงินงบประมาณ  ดังนั้น พอเสนอกฎหมายอะไรก็ตามก็เลย “เป็นธรรมเนียม” ว่าจะต้องเสนอให้มีการตั้งกองทุนแถมไปด้วยทุกครั้ง

                   เอ๊ะ ... หรือจะแอบใช้เป็นช่องทางเพิ่มอัตรากำลังและค่าตอบแทนในรูปเบี้ยประชุมแบบเนียน ๆ ก็ไม่รู้ได้ ... แต่ถ้าคิดอย่างหลังนี้นับว่าไม่ดีเอามาก ๆ เข้าข่ายมีเจตนาซ่อนเร้นเพื่อให้ตนได้รับผลประโยชน์นะครับ

                   นี่ถือเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดมากในทัศนะของผู้เขียน เพราะปัญหาที่แท้จริงคือระเบียบกฎเกณฑ์ในการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินมันไม่คล่องตัว แต่แทนที่จะปรับปรุงระเบียบกฎเกณฑ์ที่ว่านี้ กลับใช้วิธีเสนอกฎหมายตั้งกองทุนแทนเพื่อจะมีกฎระเบียบที่คล่องตัวกว่า เอาเข้าไป???

                   อย่างนี้เขาเรียกว่าแก้ปัญหาไม่ถูกจุดหรือเกาไม่ถูกที่คันครับ มันจะหายคันได้อย่างไร

                   แต่ที่จะเล่าในตอนนี้ไม่ใช่เรื่องการตั้งกองทุนหรอกครับเพราะมีคนดูแลเรื่องความจำเป็นที่จะต้องตั้งกองทุนอยู่แล้ว บ่นไปอย่างนั้นเอง หากจะเล่าเรื่องการเขียนบทบัญญัติในการจัดตั้งกองทุนครับ

                   สังเกตนะครับว่าบทบัญญัติเกี่ยวกับการตั้งกองทุนนี้ นอกจากจะมีบทบัญญัติให้ตั้งกองทุนขึ้นแล้ว ยังต้องมีบทบัญญัติที่ต้องบอกให้ชัดเจนว่าวัตถุประสงค์ของกองทุนคืออะไร เงินและทรัพย์สินของกองทุนประกอบด้วยอะไรบ้าง ให้ใช้จ่ายได้เพื่อการใดบ้าง การบริหารกองทุนจะเป็นอย่างไร มีระบบการเงินการบัญชีและการตรวจสอบอย่างไร

                   เรื่องอื่นไว้เล่าที่หลังครับ ตอนนี้จะว่าเฉพาะการเขียนเรื่องเงินและทรัพย์สินของกองทุนก่อน

                   สังเกตไหมครับว่าในเรื่องกองทุนนี้จะต้องมีมาตราหนึ่งเสมอที่เขียนว่ากองทุนประกอบด้วยเงินและทรัพย์สินดังต่อไปนี้ แล้วก็จะมีอนุมาตราจาระไนเรียงกันไปว่าเงินและทรัพย์สินของกองทุนมาจากแหล่งไหนบ้าง ก็ว่ากันมาตั้งแต่แหล่งสำคัญที่สุดลงมา แล้วอนุมาตราสุดท้ายจะจบด้วย “(..) ดอกผลของเงินและทรัพย์สินของกองทุน”

                   เหตุที่ต้องจบด้วย “(..) ดอกผลของเงินและทรัพย์สินของกองทุน” เพราะจะได้รวมดอกผลทุกชนิดของเงินและทรัพย์สินจากทุกแหล่งที่ได้จาระไนตั้งแต่ข้างบนลงมาครับ อันนี้เป็นข้อกฎหมายนะครับ ไม่ใช่ “แบบ” อย่างที่ใคร ๆ ชอบอ้าง เพราะถ้าไปเติมแหล่งเงินอื่น ๆ เข้าไปหลังอนุมาตราที่ว่า “(..) ดอกผลของเงินและทรัพย์สินของกองทุน” จะเกิดปัญหาให้ต้องมาเวียนหัวในการตีความว่าแล้วดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาเพิ่มเติมนั้นจะเป็นของกองทุนหรือเปล่า

                   ดังนั้น เวลามือเก๋าเขาจะเติมแหล่งเงินเข้าไปในมาตราที่ว่าด้วยเงินและทรัพย์สินของกองทุน เขาจะเติมเป็นอนุมาตราก่อนอนุมาตราที่ว่า “(..) ดอกผลของเงินและทรัพย์สินของกองทุน” เสมอ ไม่ใช่นึกจะเติมตรงไหนก็เติม ... เรียกว่าเติมอย่างมีสติ

                   เห็นไหมครับว่าเรื่องมันมีเหตุมีผล ไม่ใช่ “แบบ”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น