บทความนี้ต่อเนื่องจากบทความเรื่อง"สรุปหลักกฎหมาย หลักสากล
หลักสิทธิมนุษยชน คำสั่งและคำพิพากษาของศาลปกครอง มติคณะรัฐมนตรี ข้อบังคับ
และกฎในส่วนที่เกี่ยวกับทหารกับการบริหารจัดการการชุมนุมเรียกร้อง"
ที่ลงพิมพ์ในวารสารหลักเมืองฉบับ เดือนมิถุนายน 2561 ซึ่งฉบับที่แล้วกล่าวถึงหลักการ
ส่วนฉบับนี้จะกล่าวถึงข้อสังเกตสำคัญบางประการเพื่อประกอบการพิจารณาในการจัดทำแผนหรือสั่งการหรือปฏิบัติต่อไป
ซึ่งมาจากการรวบรวมข้อมูลด้านกฎหมายและหลักสากล โดยเป็นเพียงข้อสังเกตของผู้เขียนซึ่งไม่ผูกพันส่วนราชการใดแต่ประการใด
สรุปได้ดังนี้
1.
การที่สื่อมวลชนหรือบางหน่วยงานใช้คำภาษาอังกฤษว่า “mob”(ม็อบ) เช่น มีม็อบมาอยู่หน้าทำเนียบรัฐบาล
ขณะนี้มีม็อบเกษตรกรมาชุมนุมเรียกร้องหน้าศาลากลางจังหวัดหรือกระทรวง หรือมีม็อบพืชไร่ปิดถนนเพื่อเรียกร้องให้ทางราชการพยุงราคาพืชไร่
เป็นต้นนั้น เป็นการเรียกหรือใช้คำที่คลาดเคลื่อน ความหมายตามภาษาอังกฤษ “ม็อบ”หมายถึงฝูงชนที่บ้าคลั่งเผาทำลายสิ่งของ
หรือออกอาละวาดเผาทำลายทรัพย์สินของประชาชน หรือออกปล้นสะดม ซึ่งที่ถูกต้องแล้วสื่อมวลชนและหน่วยงานควรรายงานหรือกล่าวว่า
มีกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องมาอยู่หน้าทำเนียบรัฐบาล
ขณะนี้มีกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องเกษตรกรมาชุมนุมเรียกร้องหน้าศาลากลางจังหวัดหรือกระทรวง
หรือมีกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องพืชไร่ปิดถนนเพื่อเรียกร้องให้ทางราชการพยุงราคาพืชไร่
2.
การฝึกอบรม กำลังพลทหารที่จะมาบริหารจัดการการชุมนุมสาธารณะ (ควบคุมฝูงชนหรือหากสถานการณ์รุนแรงมีผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติอาจจำเป็นต้องปราบปรามการจลาจล)
จะต้องได้รับการฝึกอบรมให้มีทักษะ ความเข้าใจ และอดทนต่อสถานการณ์การชุมนุมสาธารณะเป็นประจำเป็นอย่างดี
ไม่ควรมอบหมายให้กำลังพลที่ไม่ได้เข้ารับการฝึกอบรมโดยเด็ดขาด หากมอบหมายมีแนวโน้มสูงว่าจะปฏิบัติการผิดพลาด
เพราะการบริหารจัดการการชุมนุมสาธารณะนั้นมีวิธีการและขั้นตอนแตกต่างจากการปฏิบัติการทางทหารในลักษณะ
Combat Operations ที่กำลังพลทหารส่วนใหญ่ได้รับการฝึกอบรมเฉพาะการปฏิบัติการทางทหารดังกล่าวข้างต้นเท่านั้น
ซึ่งเน้นการใช้อาวุธยุทโธปกรณ์ที่ร้ายแรงกับความรุนแรงเป็นหลัก นอกจากนั้นกำลังพลที่ใช้ในการบริหารจัดการการชุมนุมสาธารณะจะต้องมีความอดทนและอดกลั้นเป็นอย่างสูงต่อการยั่วยุ
สำหรับผู้บังคับบัญชาทหารควรจะมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการชุมนุมเรียกร้องว่ากรณีใดเป็นการชุมนุมที่ชอบด้วยกฎหมาย
กรณีใดเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และสำหรับกรณีการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น
ก็แบ่งเป็นการชุมนุมที่ไม่ก่อเหตุร้ายกับการก่อเหตุร้าย เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาตัดสินใจในการใช้กำลังทหารในส่วนที่เกี่ยวข้อง
3.
อุปกรณ์การควบคุมฝูงชนนั้นจะต้องใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสมโดยเฉพาะเท่านั้น
ประกอบด้วยเครื่องแบบของเจ้าหน้าที่ที่ตัดเย็บมาโดยเฉพาะและกันความร้อนหรือไฟ อุปกรณ์ที่เรียกว่า"สนับ"เพื่อป้องกันส่วนที่สำคัญของร่างกาย
หมวกที่มีความแข็งแรง หน้ากากป้องกันแก๊สน้ำตาหรือไอพิษ โล่ กระบอง ระเบิดเสียง
ระเบิดควัน แก๊สน้ำตา กระสุนยาง และรถฉีดน้ำ
ซึ่งอุปกรณ์ที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ คือ กระสุนยาง และรถฉีดน้ำ กล่าวคือ
ต้องมั่นใจว่ากระสุนยางที่จะนำมาใช้ต้องไม่หมดอายุ
เพราะหากหมดอายุกระสุนยางที่เคยนิ่มหรืออ่อนตัวจะมีความแข็งเสมือนวัสดุของแข็ง
ใช้ไปย่อมก่อให้เกิดความบาดเจ็บอย่างรุนแรงอาจถึงแก่ชีวิตหรือบาดเจ็บสาหัสได้
ส่วนรถฉีดน้ำนั้นควรเป็นรถฉีดน้ำที่จัดทำมาเพื่อควบคุมฝูงชนโดยเฉพาะที่มีระบบความปลอดภัยของพลขับและกำลังพลในรถ
ตลอดจนสามารถเคลื่อนที่ไปฉีดน้ำไป หากใช้รถดับเพลิงมาใช้ฉีดน้ำสลายการชุมนุม
นอกจากเป็นการใช้อุปกรณ์ผิดวัตถุประสงค์แล้ว ต่อไปรถดับเพลิงจะกลายเป็นเป้าหมายในการทำลายจากฝูงชนแล้วอาจเป็นผลให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงไม่สามารถใช้การได้หากมีอัคคีภัยในพื้นที่เกิดขึ้น
นอกจากนั้นรถดับเพลิงต้องหยุดกับที่เวลาฉีดน้ำกับไม่มีระบบความปลอดภัยของพลขับและกำลังพลในรถ
4.
กฎการใช้กำลังหรือเดิมที่เรียกว่ากฎการปะทะหรือกฎการโจมตีของทหารนั้น
ในการควบคุมฝูงชนจะต้องเหมาะสมกับสถานการณ์และอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย กระชับและเข้าใจง่าย
รวมทั้งไม่กำหนดให้เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของกำลังพลทหาร
ตลอดจนสามารถปรับเปลี่ยนได้ให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ที่อาจมีการเปลี่ยนแปลง และควรกำหนดในกฎการใช้กำลังให้มีการเตรียมการรักษาพยาบาลเบื้องต้นกรณีมีผู้บาดเจ็บของกลุ่มฝูงชนและกำลังพลที่มาปฏิบัติหน้าที่
ตลอดจนการส่งผู้บาดเจ็บสาหัสไปยังโรงพยาบาล ซึ่งการยกร่างกฎการใช้กำลังนั้นควรดำเนินการโดยฝ่ายยุทธการหรือผู้ปฏิบัติของหน่วยทหารแล้วให้เจ้าหน้าที่ทหารฝ่ายกฎหมายร่วมพิจารณาในประเด็นข้อกฎหมาย
5.
หากเป็นการใช้กำลังทหารปราบปรามการจลาจลนั้นจะต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบภายใต้พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม
พ.ศ. ๒๕๕๑ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๕๑
และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘
แต่หากเป็นการใช้กำลังทหารปราบปรามการจลาจลในพื้นที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก ไม่จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบก่อนจากคณะรัฐมนตรี
6.
เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารอาจเข้าไปเกี่ยวข้องกับการชุมนุมสาธารณภายใต้พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ
พ.ศ. 2558 ได้ในสองกรณี กรณีแรกตามมาตรา 19 วรรคหก
เจ้าพนักงานตำรวจที่ดูแลการชุมนุมสาธารณะอาจร้องขอให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารในท้องที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะดำเนินการตามคำร้องขอภายในขอบอำนาจหน้าที่ของผู้นั้น
ซึ่งกรณีนี้เป็นการสนับสนุนช่วยเหลือ มิใช่การขอให้ใช้กำลังทหารควบคุมฝูงชนโดยตรง
หน่วยทหารที่ได้รับการร้องขอจะต้องพิจารณาดำเนินการภายใต้อำนาจหน้าที่ของหน่วยเป็นเรื่องๆ
ไป เช่น หน่วยทหารขนส่งอาจสนับสนุนยานพาหนะในการเคลื่อนย้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ
หน่วยแพทย์ทหารอาจสนับสนุนการปฐมพยาบาลฝูงชนที่เจ็บป่วยระหว่างการชุมนุม เป็นต้น
และกรณีที่สองตามมาตรา 23 วรรคสอง และวรรคสาม
กรณีผู้ชุมนุมไม่เลิกการชุมนุมสาธารณะตามคำสั่งศาลและมีการประกาศกำหนดพื้นที่ควบคุม
นายกรัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้อาจมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเป็นผู้ควบคุมสถานการณ์เพื่อให้มีการเลิกชุมนุมได้
กรณีนี้เป็นการใช้กำลังทหารเข้าควบคุมฝูงชนโดยตรง ทั้งนี้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้กำลัง
กรณีไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ให้ใช้กำลังและเครื่องมือควบคุมฝูงชนเพียงเท่าที่จำเป็น
โดยใช้มาตรการจากเบาไปหาหนักและมีการเตือนด้วยเครื่องขยายเสียงทุกขั้นตอน สำหรับเครื่องมือควบคุม
ฝูงชนต้องเป็นไปตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน
2558 เรื่อง เครื่องมือควบคุมฝูงชนในการชุมนุมสาธารณะ ที่ได้กำหนดไว้
48 รายการ ซึ่งหน่วยทหารที่เกี่ยวข้องควรตรวจสอบเครื่องมือควบคุมฝูงชนและจัดหาให้ครบถ้วนตามประกาศดังกล่าว
7.
กรณีสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือหน่วยงานในสังกัดร้องขอให้ฝ่ายทหารจัดกำลังทหารไปช่วยเหลือในการระงับเหตุ/อารักขา/รักษาสถานที่และทรัพย์สินของทางราชการ
โดยกำลังทหารดังกล่าวเป็น ผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงาน ซึ่งอยู่ภายใต้การสั่งการ/กำกับดูแลของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
การดำเนินการข้างต้นเป็นเรื่องที่สำนักตำรวจแห่งชาติหรือหน่วยงานในสังกัดมีหนังสือร้องขอไปยังหน่วยทหาร
โดยหน่วยทหารดังกล่าวจะต้องรายงานขออนุมัติตามสายการบังคับบัญชาแล้วมีหนังสือแจ้งตอบไปว่าสามารถดำเนินการตามที่ได้รับการร้องขอได้หรือไม่
ถ้าได้ควรแนบรายชื่อกำลังพลที่จะปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือเจ้าพนักงานไปด้วยเพื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือหน่วยงานในสังกัดไปดำเนินการออกเป็นคำสั่งในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ซึ่งผู้บังคับบัญชาหน่วยทหารที่ได้รับการร้องขอดังกล่าวข้างต้นจะต้องพิจารณาอย่างระมัดระวังและรอบคอบว่ากรณีดังกล่าวไม่ได้เป็นการใช้กำลังทหารควบคุมฝูงชนหรือปราบปรามการจลาจล
โดยควรปรึกษาหารือกับเจ้าหน้าที่ทหารฝ่ายกฎหมายเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างการระงับเหตุ/อารักขา/รักษาสถานที่และทรัพย์สินของทางราชการกับการควบคุมฝูงชนหรือการปราบปรามการจลาจล
ซึ่งมีลักษณะการปฏิบัติการที่แตกต่างกัน หากเข้าข่ายการควบคุมฝูงชนหรือการปราบปรามการจลาจล
ผู้บังคับบัญชาหน่วยทหารดังกล่าวก็จะต้องพิจารณาดำเนินการตามที่กล่าวแล้วข้างต้นทุกประการ
สรุป
การบริหารจัดการการชุมนุมสาธารณะโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารนั้นนอกจากอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย
หลักสากล หลักสิทธิมนุษยชน และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องแล้ว
ยังจะต้องมีการฝึกอบรมกำลังพลทหารที่เกี่ยวข้อง
การใช้เครื่องมืออุปกรณ์หรือเครื่องมือควบคุมฝูงชนที่เหมาะสม
กฎการใช้กำลังที่เหมาะสมมีความอ่อนตัวปรับเปลี่ยนได้
-------------------------------
*ที่ปรึกษาพิเศษ
สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น