วันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2561

กบในหม้อต้ม โดย นายปกรณ์ นิลประพันธ์


แน่นอนครับว่าทุกประเทศในโลกยุคนี้กำลังเผชิญกับปัญหาสำคัญ 3 ประการ หนึ่งคือการเปลี่ยนแปลงอย่างโกลาหลทางเทคโนโลยีหรือที่ผู้คนในสังคมเรียกกันติดปากว่า Disruptive Technology สองคือการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุหรือ Aging Society และสามคือ Climate and Geologic change หรือการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและธรณี

การเปลี่ยนแปลงทั้งสามประการนี้ส่งผลกระทบอย่างสำคัญทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง จนกล่าวได้ว่าทุกวงการย่อมได้รับแรงสั่นสะเทือนไปด้วย

ปัญหาอยู่ที่ว่าประเทศไหน สังคมไหน วงการไหน จะตระหนักรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนนี้ว่ามันมีกำลังรุนแรงมหาศาลมากเพียงใด และจะเตรียมตัวให้พร้อมรับมือกับแรงสั่นสะเทือนนี้อย่างไร

ถ้าไม่รู้สึกรู้สาอะไรมากนัก ประเทศนั้น สังคมนั้น วงการนั้น ก็จะมีลักษณะไม่แตกต่างไปจากกบในหม้อต้มหรือที่ฝรั่งเรียกว่า frog in a broiler

เหตุที่เปรียบเทียบเช่นนี้เพราะถ้าจับกบไปใส่ไว้ในหม้อที่มีน้ำ กบก็จะลอยคอตาแป๋วนิ่งอยู่ ถ้าเราเปิดไฟอ่อน ๆ น้ำในหม้อก็จะค่อย ๆ ร้อนขึ้นทีละนิด กบมันจะไม่กระโดดหนี แต่จะปรับตัวของมันให้เข้ากับสภาพแวดล้อมแทน กว่าจะรู้ว่าถูกต้มก็สุกเสียแล้ว แบบนั้นน่ะครับ

ในวงการอื่น ๆ ที่ใช้เทคโนโลยีในการทำงานเยอะ ๆ อย่างภาคเอกชนและภาควิชาการนี่ ผู้เขียนว่าเขาตระหนักในเรื่องนี้มานานแล้ว ดังจะเห็นได้จากการที่เขาติดตามและตระเตรียมการรองรับความเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้มาตลอด

แต่ในวงการที่ทำงานอย่างอนุรักษ์นิยม ใช้กระดาษ ใช้ลายเซ็น เป็นหลักในการอนุมัติอนุญาตนี่น่ากลัวครับว่าจะทันการเปลี่ยนแปลงไหม ถ้าไม่ทันก็ยุ่งเลยนะครับ เพราะจะกลายเป็นตัวถ่วงการพัฒนาของวงการอื่น ๆ เขาไปเสียได้

กลับมาพูดถึงวงการเล็ก ๆ แต่มีผลกระทบกว้างขวางมากอย่างวงการร่างกฎหมายดีกว่า ในทัศนะของผู้เขียนนั้น ทั้ง Disruptive Technology, Aging Society และ Climate and Geologic change นั้นเป็นปัจจัยสำคัญที่นักร่างกฎหมายต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะมันจะมีผลกระทบต่อกลไกของกฎหมายที่จะจัดทำขึ้น ถ้ากลไกของกฎหมายไม่สามารถรองรับความเปลี่ยนแปลงสำคัญทั้งสามประการที่เกิดขึ้นได้ กฎหมายก็รังแต่จะกลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาไป สร้างต้นทุนแก่ภาครัฐ สร้างภาระที่ไม่จำเป็นแก่ประชาชน เป็นอุปสรรคต่อการแข่งขัน ทั้งยังทำให้การพัฒนาประเทศกระพร่องกระแพร่งและไม่ยั่งยืนอีกด้วย

อย่าง Disruptive Technology นี่ ทั่วโลกเขานำเทคโนโลยีมาใช้ในการประกอบธุรกิจมานานมากแล้ว ในภาครัฐเองเกือบทุกประเทศเขาก็พัฒนาเทคโนโลยีขึ้นเพื่อใช้ในการให้บริการประชาชนกันอย่างกว้างขวางนานแล้ว ทั้งยังมีผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ในการให้บริการประชาชนให้สะดวกมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะการบริการแบบเบ็ดเสร็จผ่านระบบออนไลน์ (e-Service) ดังนั้น การออกกฎหมายของเขาจึงต้อง “คิดตลอดเวลา” ว่ากลไกที่จะกำหนดไว้ในกฎหมายนั้นจะสามารถให้บริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้หรือไม่ อย่างไร จะเชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐเข้าด้วยกันอย่างไร ถ้าเรื่องใดไม่สามารถให้บริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ เขาไม่เขียนกฎหมายให้ทำหรอกครับ วัตถุประสงค์คือเพื่อลดภาระของประชาชน และเพื่อลดต้นทุนของรัฐในการบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย ไม่ใช่ออกกฎหมายใหม่แต่ไปลอกกลไกตามกฎหมายเก่า ๆ มาใช้เพราะมันเป็น “แบบกฎหมาย” หรือเป็นเพราะหน่วยงาน “ปฏิบัติกันอย่างนี้มานมนาน” วิธีคิดแบบนี้เขาไม่เรียกพัฒนาครับ 

แหม ... ก็จะพัฒนายังไงล่ะ โลกหมุนไปไกลแล้ว ยังมัวงมโข่งอยู่กับกลไกหรือวิธีการแบบเก่า ๆ อยู่อีก บังคับให้ประชาชนต้องทำอะไรแล้ว ยังสร้างความลำบากให้เขาในการปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายเสียอีกแน่ะ

Aging Society ก็เหมือนกัน กฎหมายเก่า ๆ นั้นตราขึ้นตั้งแต่สมัยที่ทั่วโลกมีอัตราการเกิดสูงมาก ระบบการดูแลสุขภาพและการรักษาพยาบาลก็ยังไม่ทันสมัยอย่างทุกวันนี้ ระบบครอบครัวก็เป็นครอบครัวใหญ่ การศึกษาก็ยังไม่กว้างขวาง แรงงานก็เป็นแรงงานในระบบโรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ เมื่อเป็นเช่นนี้กลไกของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา แรงงาน การดูแลสังคม การดูแลสุขภาพ จึงวางอยู่บนสมมุติฐานแบบนั้น  แต่บัดนี้สถานการณ์กลับตาลปัตรไปแล้ว อัตราการเกิดต่ำกว่าอัตราการตายมาก มากเสียจนหลายประเทศจะมีพลเมืองลดลงหลายสิบล้านคนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ระบบครอบครัวเป็นครอบครัวเดี่ยว แรงงานขาดแคลนจนต้องนำเข้าแรงงาน มีการนำหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์มาใช้ การศึกษาก็ทั่วถึง(แม้จะยังไม่ทัดเทียม) ระบบการดูแลสุขภาพและรักษาพยาบาลก็ทันสมัย  ฯลฯ การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ทำให้นักร่างกฎหมายต้อง “ตามให้ทัน” และต้อง “คิดใหม่” เพื่อพัฒนากฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นกฎหมายการศึกษา กฎหมายแรงงาน กฎหมายสวัสดิการสังคม กฎหมายเกี่ยวกับสุขภาพ ฯลฯ ให้รองรับสถานการณ์เช่นนี้ให้ได้

ไม่ใช่เอะอะก็ปรับปรุงองค์ประกอบคณะกรรมการ เพิ่มอำนาจหน้าที่ เพิ่มหน่วยงาน เพิ่มอัตรากำลัง ตั้งกองทุน ฯลฯ แบบนี้เขาเรียกแก้ผ้าเอาหน้ารอดครับ ดูเหมือนทันสมัยขึ้น แต่เนื้อหาเดิม ๆ ซ้ำร้ายจะสร้างภาระแก่ประชาชนและภาระงบประมาณมากกว่าเดิมเสียอีก เพราะยิ่งมีอะไรรุงรังเพิ่มขึ้นเต็มไปหมด

Climate and Geologic change มีผลกระทบต่อการประกอบอาชีพ การตั้งถิ่นฐาน การอพยพย้ายถิ่น การสาธารณสุข การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ฯลฯ อย่างมาก อย่างการก่อสร้างอาคารต่าง ๆ ต้องมีการถมที่ให้สูงขึ้นเพื่อหนีน้ำท่วม มันก็กระทบต่อความสูงต่ำของพื้นที่ไปโดยปริยาย จนปัจจุบันเราแทบจะไม่รู้แล้วว่าเวลาฝนตกลงมาน้ำจะไหลไปทางไหน ความสูงของอาคารก็กระทบต่อการไหลของอากาศในเมือง กลายเป็นเรามีเรือนกระจกครอบเมืองไว้ ป่าลดน้อยลงเรื่อย ๆ แทนที่จะเพิ่มขึ้นทั้งที่ทุกภาคส่วนมีโครงการปลูกป่ากันทั้งปี ชายทะเลหดหายไปมากเข้า ทั้งจากน้ำทะเลสูงขึ้น ป่าชายเลนถูกทำลาย ครั้นจะถมทะเลเอาที่คืนก็ทำไม่ได้ ฯลฯ

ในทัศนะของผู้เขียน นี่เป็นผลมาจากการที่เราไม่ได้มองเรื่องเหล่านี้อย่างเป็นระบบ หากมองแบบแยกส่วนอย่างที่เคย ๆ ทำมาในอดีต แนวคิดเรื่องการแบ่งงานตามหน้าที่ (Functional Base) ยังคงมีอิทธิพลอย่างสูงในระบบการจัดทำกฎหมายและระบบราชการของประเทศไทย ขณะที่ระบบกฎหมายและระบบราชการของประเทศที่พัฒนาแล้วเขามุ่งไปสู่ “ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” หรือ “ผาสุกขึ้น” (Better life) ของประชาชน ซึ่งโดยนัยนี้ การคิดของภาคราชการและนักร่างกฎหมายต้องมองปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาแบบ “องค์รวม” (Holistic) เพื่อให้โครงการ กิจกรรม หรือร่างกฎหมายที่จัดทำขึ้นนั้นจะทำให้ประชาชนมี “ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” หรือ “ผาสุกขึ้น” 

ไม่ใช่คิดแต่ตัวฉัน ของฉัน หน่วยงานของฉัน

ก็ถ้าใช้ “ฉัน” เป็นหลัก “ฉัน” เท่านั้นที่จะได้สิ่งที่ “ฉัน” ต้องการ

แล้ว “ประชาชน” จะมี “ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น” หรือ “ผาสุกมากขึ้น” ได้อย่างไรเล่า???

ถ้าไม่ปรับตัว เราจะกลายเป็น frog in the broiler นะครับ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น