วันศุกร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2561

“เรียนไปทำไม” ปกรณ์ นิลประพันธ์

หลายวันก่อนมีการเผยแพร่ผลคะแนนสอบโอเน็ตสูงสุด (ค่าเฉลี่ยรวม 5 วิชา ไทย สังคม อังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์) ของโรงเรียนที่อยู่ใน 400 อันดับแรกออกมาแล้วมีการนำไปเผยแพร่ต่อในโซเชียลเน็ตเวอร์คกันอย่างแพร่หลายว่า เป็นการจัดอันดับ 400 โรงเรียนที่เจ๋งที่สุดในประเทศไทย

ว้าว ฟังแล้วมันน่าดิ้นรนส่งลูกหลานเข้าไปเรียนยิ่งนัก ...

ผู้เขียนยินดีด้วยครับกับโรงเรียนที่อยู่ในบัญชีรายชื่อที่ว่า แต่อีกใจหนึ่งก็ถามตัวเองว่าการพาดหัวหรือการชวนเชื่ออย่างนั้นมันถูกต้องหรือเปล่า?

จริงอยู่ครับที่ผลคะแนนของเด็กขึ้นอยู่กับผลการสอน แต่เด็กยุคนี้เขาก็ไม่ได้เรียนอยู่แต่เฉพาะในโรงเรียนเหมือนครั้งกระโน้นอย่างที่ลุง ป้า อย่างเรายังใส่ชุดนักเรียน

วันนี้ เด็กจำนวนมหาศาลจากโรงเรียนดัง นี่แหละครับที่แห่กันไปเรียนพิเศษกวดวิชากันอย่างเอาเป็นเอาตายเมื่อโรงเรียนเลิก ไม่ต้องเชื่อครับ แนะนำให้ไปดูเองเลยตามแหล่งที่ตั้งของโรงเรียนกวดวิชา เรียนมาทั้งวันในโรงเรียน เย็นย่ำค่ำมืดยังถ่อมาเรียนพิเศษกันอีก เสาร์อาทิตย์ก็มาเรียน ตะบี้ตะบันเรียนมันเข้าไป บางคนดูจะสนิทสนมกับยามที่เฝ้าตึกเรียนพิเศษมากกว่าครูประจำชั้นของตัวเองเสียอีก

ไม่ใช่ว่าเลิกเรียนแล้วต้องรีบกลับบ้านไปช่วยพ่อแม่ทำงานบ้านหรือขายของต่อเหมือนในยุค 70 ไม่ได้อยู่เล่นบอลต่อที่โรงเรียนเหมือนยุค 80 ไม่ได้ไปซิ่งต่อเหมือนยุค 90 แล้วนะครับ จะว่าไม่มีเด็กกลุ่มนี้เลยก็คงไม่ใช่ แต่มันมีน้อยลงจนเห็นได้ชัด

นอกจากนี้ยังมี platform การเรียนรู้ใหม่ ผ่านระบบไอทีอีกเป็นจำนวนมากที่เด็กสามารถเข้าถึงได้ ทั้งแบบเสียสตางค์และไม่เสียสตางค์ 

อ้าว ถ้าโรงเรียนดีขนาดนั้นแล้วทำไมเด็กต้องเสียเงินเสียเวลาไปเรียนกวดวิชากันอีกเล่า??? แล้วเด็กที่พ่อแม่ไม่มีตังส่งไปเรียนกวดวิชาหรือที่ต้องช่วยทางบ้านทำมาหากิน เรียนอยู่เฉพาะในโรงเรียนจะไปสู้ใครเขาได้

ผู้เขียนจึงเห็นว่าการที่เด็กในโรงเรียนใด ก็ตามได้คะแนนสอบระดับชาติสูง นั้น ไม่ใช่บทสรุปว่าโรงเรียนนั้นเจ๋ง แต่ต้องดูบริบทแวดล้อมที่ว่าด้วย

ในทางตรงข้าม การที่เด็กต้องเรียนอย่างหัวปักหัวปำนี่มันก็ไม่ใช่ว่าจะดีนะครับ วัยเรียนนี้นอกจากความฉลาดทางปัญญาแล้ว ต้องมีความฉลาดทางอารมณ์และสังคมด้วย ฉลาดแต่เห็นแก่ตัว หรืออยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมอย่างผาสุกไม่ได้นี่เราไม่น่าจะเรียกว่าเก่งนะครับ อันนี้โบราณท่านว่าความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด 

นอกจากขาดพัฒนาการที่จำเป็นสำหรับการอยู่ร่วมกันในสังคมดังว่าแล้ว การเรียนแต่ตำราทำให้เด็กขาดทักษะในการดำรงชีวิตและการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้วยนะครับ เพราะในตำรามีแค่ถูกกับผิด ... เจอปัญหานอกตำราเข้าไปไม่เป็นเลย ทั้งที่ปัญหานอกตำรานี่แหละที่เราต้องเจอกันในชีวิตกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน เก่งแต่ชี้ปัญหา แต่ไม่รู้จะแก้ปัญหาอย่างไร เลยใช้วิธีหนีปัญหาไปเสียอย่างนั้น

จินตนาการก็หดหาย จากละอ่อนสดใสใฝ่ฝันอยากเป็นนั่นเป็นนี่ สร้างนั่นสร้างนี่ พอเข้าระบบไป วัน ก็นั่งอยู่ในกล่องสี่เหลี่ยมแคบ เรียนมันเข้าไป เรียนเพื่อให้สอบผ่าน เมื่อไปกวดวิชาเพิ่มหลายที่เขาก็ให้เรียนกับครูตู้หรือครูคอมพิวเตอร์ ยิ่งแคบหนักกว่าเดิม เวลาว่างก็สาละวนอยู่กับมือถือบ้าง แทบเล็ตบ้าง ซึ่งยิ่งเหลี่ยมยิ่งเล็กหนักข้อเข้าไปอีก จินตนาการเอย ความคิดสร้างสรรค์เอย นวัตกรรมเอย มันจะเกิดได้ยังไง ... 

ไหนจะพัฒนาการด้านร่างกายของเด็กอีกล่ะ เน้นกันแต่ทางวิชาการ ลืมด้านพัฒนาการทางด้านร่างกายไป เรียนกันจนหัวโตตัวซีดเป็นถั่วงอก เจอแดดเจอฝนเข้าหน่อยก็ร่วงแล้ว ปรับตัวไม่ทัน อันนี้สำคัญมากนะครับ สภาพภูมิอากาศของโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง จริง ๆ เด็ก ของเราต้องแข็งแกร่งกว่าเดิม เพราะต้องพร้อมรับทุกสถานการณ์ 

ปัจจุบัน พละศึกษาดูจะเป็นวิชาที่โรงเรียนให้ความสำคัญน้อยลงมากทั้ง ที่กีฬาเป็นยาวิเศษแก้กองกิเลสทำตนให้เป็นคน ... นักกีฬาใจกล้าหาญ เชี่ยวชาญชิงชัยไม่ย่นย่อ คราวชนะรุกใหญ่ไม่รีรอ คราวแพ้ก็ไม่ท้อกัดฟันทน ... ร่างกายกำยำล้ำเลิศ กล้ามเนื้อก่อเกิดทุกแห่งหน แข็งแรงทรหดอดทน ว่องไวไม่ย่นระย่อใคร…” ดังเพลงกราวกีฬาที่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีท่านประพันธ์ไว้

จะว่าไปกีฬานี่เป็นพื้นฐานของผู้คนในระบอบประชาธิปไตยนะครับ สังเกตท่อนหลังที่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีท่านประพันธ์ไว้สิครับ คนที่เป็นนักกีฬาอย่างแท้จริงนี่ นอกจากร่างกายกำยำล้ำเลิศแล้วยังมี “…ใจคอมั่นคงทรงศักดิ์ รู้จักที่หนีที่ไล่ รู้แพ้รู้ชนะรู้อภัย ไว้ใจได้ทั่วทั้งรักชัง ... ไม่ชอบเอาเปรียบเทียบแข่งขัน สู้กันซึ่งหน้าอย่าลับหลัง มัวส่วนตัวเบื่อเหลือกำลัง เกลียดชังการเล่นเห็นแก่ตัวเห็นไหมล่ะ 

ลางทีการที่ประชาธิปไตยไทยอ่อนแอ อาจจะเป็นเพราะขาดน้ำใจนักกีฬาก็ได้หนา น่าทำวิจัยเหมือนกันแฮะน้ำใจนักกีฬากับการพัฒนาประชาธิปไตยนี่ตั้งชื่อหัวข้อให้เสร็จสรรพ เผื่อท่านใดสนใจจะไปวิจัยต่อ

ยิ่งเดี๋ยวนี้มีกีฬาอาชีพด้วย ทำเงินเป็นกอบเป็นกำ ใช่เรื่องเล่น เสียที่ไหนล่ะ

สรุปแล้วผู้เขียนจึงไม่เห็นด้วยสักเท่าไรที่มีการสรุปเอาง่าย ตามโซเชียลว่าผลการสอบโอเน็ตที่ว่านี้แสดงว่าโรงเรียนไหนเจ๋งสุด แล้วก็ไม่ใช่ว่าโรงเรียนที่ไม่มีรายชื่อในบัญชีที่ว่านี้จะเป็นโรงเรียนที่ไม่เอาไหน 

กลับกัน มันน่าจะแสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในการจัดการศึกษาและการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพและเหมาะสมสำหรับคนในศตวรรษที่ 21 เสียมากกว่า

นอกจากนี้ มันแสดงให้เห็นถึงความทุกข์ระทมของเด็กที่ต้องเรียนกันอย่างลำบากตรากตรำ 

การศึกษาไม่ได้เป็นบ่อน้ำที่มีไว้เพื่อดับความกระหายใคร่รู้ของราษฎรให้อิ่มเอมเปรมปลื้มกับความรู้ที่ตนได้ตักมาดื่มอย่างเต็มใจสำหรับพัฒนาตน พัฒนาชุมชน พัฒนาสังคม และพัฒนาประเทศชาติเหมือนในอดีตอีกต่อไป หากกลายเป็นสมรภูมิรบอันดุเดือดและบีบคั้นที่เด็ก ถูกผลักไสให้เข้าร่วมต่อสู้เพื่อให้ได้ใบปริญญามาประดับประหนึ่งเหรียญกล้าหาญ คนไม่มีปริญญากลายเป็นผู้พ่ายแพ้ในสายตาของสังคมที่กระหายใบประกาศเกียรติคุณ ... มันใช่การศึกษาที่ควรจะเป็นไหมนี่ ...  

ลองถามนักรบผู้ไร้เดียงสาเหล่านี้ดูบ้างดีหรือไม่ว่าทุกวันนี้เขาเรียนอย่างมีความสุขหรือเปล่า หรือเขาได้เรียนอย่างที่เขาชอบเขาถนัดไหม เขาต้องการความรู้ ทักษะ ความรู้ความชำนาญในเรื่องใด เพราะเขาคือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตัวจริง

จะได้ไม่มีเสียงบ่นว่าเรียนไปทำไม(วะ)”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น