วันศุกร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2562

“ทบทวน” ปกรณ์ นิลประพันธ์

ปัญหาที่หมักหมมอยู่ในวันนี้ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะวิชาประวัติศาสตร์เราอ่อนแอ ไม่มีการบันทึกและวิเคราะห์กันอย่างจริงจัง การเรียนการสอนและการวัดผลที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง  ประวัติศาสตร์ของตัวเองยังไม่รู้ไม่เข้าใจ ระบบการเมืองการปกครองจึงวนไปวนมา ย่ำอยู่กับที่ ไม่มีอะไรใหม่ ทั้งยังไม่เข้าใจประวัติศาสตร์สากลด้วย การค้าการลงทุนเราจึงมีปัญหาเพราะไม่รู้ historical background ของคู่ค้า ไม่รู้ geopolitics หาความเชื่อมโยงไม่ได้

ในประเทศพัฒนาแล้ว วิชาประวัติศาสตร์เขาแข็งแรงมาก ทั้งประวัติศาสตร์ชาติของเขาเองและประวัติศาสตร์สากล เขาสอนให้คนรุ่นหลังรู้และเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตไม่ว่าจะเป็นสงคราม ความขัดแย้ง ความรุ่งเรือง ความตกต่ำ และบอกว่าบริบทในช่วงนั้นเป็นอย่างไร ใครเกี่ยวข้องบ้าง และใครทำอะไร อย่างไร โดยไม่ได้บอกว่าใครดีไม่ดี เพราะมันเป็น subjective และเป็นการชี้นำอันเนื่องมาจากความคิดเห็นของคนสอน สังคมก็มีส่วนสร้างความเข้มแข็งในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดนิทรรศการ การทำหนังสารคดี ซึ่งล้วนแล้วแต่อยู่บนหลักการที่ว่าบอกข้อเท็จจริงทุกมิติ ไม่มีการ “ชี้” ว่าใครถูกใครผิด ซึ่งต่างจากประเทศด้อยพัฒนา

การศึกษาอบรมด้านคุณธรรมจริยธรรมก็เน้นการท่องจำว่ามีอะไรบ้าง กี่ข้อ แต่ละข้อแปลว่าอะไร แทนที่จะมุ่งให้ลงมือทำ เลยได้แต่ท่องจำ ไม่เกิดเป็นวัตรปฏิบัติอันดีงามอันจะกลายเป็นสามัญสำนึกหรือสันดานที่ดีของปัจเจกบุคคล กลายเป็นคนพูดอย่างทำอย่างไป

การเน้นสะเต็มศึกษาจึงไม่สามารถแก้ปัญหาของบ้านเมืองได้ครบวงจร ตรงข้าม ปัญหาด้านสังคมจะรุนแรงขึ้นจากความไม่รู้เรื่องทางประวัติศาสตร์ และการขาดสามัญสำนึกในด้านคุณธรรมจริยธรรม 



ทั้งที่มันต้องไปด้วยกัน.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น