ก่อนอื่นขอบอกว่าบทความนี้มีเจตนาที่จะสร้างความตระหนักรู้เพื่อการเตือนภัยและเตรียมรับมือกับภัยอันใกล้ที่จะเกิดอย่างแน่นอนในรุ่นลูกหลานของเรา
เข้าใจว่าพวกเราคงเคยได้ยินชื่อโรค “อิไต อิไต” (イタイイタイ病) กันมาบ้างแล้ว คำว่า “อิไต อิไต” เป็นภาษาญี่ปุ่นที่แปลเป็นไทยว่า “เจ็บปวด”
ที่เรียกแบบนี้ก็เพราะว่า ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บปวดรุนแรงแสนสาหัสทีเดียว อันเนื่องมาจากสารแคดเมียมที่ปนเปื้อนมากับสิ่งต่าง
ๆ เข้าสู่ร่างกายไม่ว่าทางน้ำ อาหาร
หรืออากาศที่หายใจเข้าไป ด้วยว่าเจ้าแคดเมียมนี่เป็นธาตุที่ละลายน้ำได้
จึงสามารถสะสมในพืชอาหารในระดับที่เป็นพิษต่อคนและสัตว์ได้ (ธนภัทร ปลื้มพวก
และคณะ,ปริมาณแคดเมียมในข้าวที่ปลูกในดินนาปนเปื้อนแคดเมียมในพื้นที่
ลุ่มน้ำแม่ดาว จังหวัดตาก ประเทศไทย (๒๕๕๗))
โรคนี้เกิดรุนแรงมากในญี่ปุ่นเมื่อราวสามสี่สิบปีที่ผ่านมาพร้อม
ๆ กับโรคมินามาตะและโรคคาวาซากิ เพราะยุคนั้นของญี่ปุ่นมีการทิ้งสิ่งของต่าง ๆ ที่ใช้แคดเมี่ยม
ตะกั่ว และปรอทเป็นองค์ประกอบกันเรี่ยราดมากทั้งบนบกและในทะเล แคดเมี่ยม ตะกั่ว
และปรอทจึงปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกายของคนและสัตว์ไปทั่ว ยิ่งปลานี่ยิ่งเยอะ
แถมชาวญี่ปุ่นนิยมกินปลา มันก็เลยเข้าไปในร่างกายผู้บริโภคกันอย่างอิ่มหนำสำราญ
กรณีแคดเมียม
เมื่อสะสมในร่างกายปริมาณมากจะไปทำลายไต รวมทั้งระบบประสาทและสมอง ในกรณีสตรีมีครรภ์อาจมีผลให้เด็กพิการแต่กำเนิดได้
เมื่อสะสมในกระดูกจะทำให้กระดูกผุ และยังเป็นสารก่อมะเร็งที่ไตและต่อมลูกหมาก
และอาการเลือดจางอีกด้วย
ทำให้หลายประเทศแบนสินค้าทางการเกษตรและอาหารที่มีการปนเปื้อนแคดเมียม
ที่ผ่านมาประเทศไทยก็เคยมีปัญหาอย่างนี้เหมือนกัน
แต่ไม่ใช่ในปลา เป็นข้าวอันเป็นอาหารหลักของเรา โดยเพราะพบว่ามีการปนเปื้อนแคดเมี่ยมในข้าว
เช่น ในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ มีข่าวว่าข้าวไทยปนเปื้อนสารแคดเมียมถึง ๐.๔๘ – ๐.๕๗๑ มิลลิกรัม ซึ่งเกินมาตรฐานที่กำหนดไว้ไม่เกิน ๐.๒
มิลลิกรัม แน่นอนว่าหากหลุดรอดออกไปขายต่างประเทศ จะทำให้ข้าวไทยเสียชื่อเสียง
เสียตลาด และแน่นอน เสียความสามารถในการแข่งขัน
ที่น่าสนใจก็คืองานวิจัยชิ้นหนึ่งที่เสนอในการประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ครั้งที่ ๕๔ แสดงให้เห็นว่า ในตัวอย่างข้าวทั้งหมด ๕๔ ตัวอย่าง
มีการปนเปื้อนแคดเมียมเกินค่ามาตรฐานสูงสุด ๔ ตัวอย่าง ปนเปื้อนโครเมียมเกินค่ามาตรฐานสูงสุดพบในข้าวขาวร้อยละ
๓๓.๓๓ ข้าวกล้องร้อยละ ๒๓.๘๑ และข้าวสีนิลร้อยละ ๕๐
โดยข้าวสีนิลมีการปนเปื้อนตะกั่วเกินค่ามาตรฐานสูงสุดคิดเป็นร้อยละ ๘๓.๓๓
ข้าวขาวและข้าวกล้องมีการปนเปื้อนของตะกั่วเกินค่ามาตรฐานสูงสุดที่กำหนดไว้คือร้อยละ
๔๐.๗๔ และร้อยละ ๒๓.๘๑ (วิภาดา ศิริอนุสรณ์ศักดิ์ และคณะ, การวิเคราะห์ปริมาณโลหะหนัก
(แคดเมียม โครเมียม และตะกั่ว) ในข้าวไทย (๒๕๕๙))
แล้วโรคอิไต อิไต หรือแคดเมี่ยมมาเกี่ยวอะไรกับร่างกฎหมายการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ฯ
ได้อย่างไรล่ะ
เรื่องมันเป็นอย่างนี้ครับ
สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาศึกษาวิจัยวิจัยแล้วพบว่า
ซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (Waste from Electrical and Electronic Equipment : WEEE) ในบ้านเรานั้นนับวันจะเพิ่มมากขึ้นทุกที และชิ้นส่วนต่าง
ๆ ของซากผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีโลหะหนักเป็นส่วนประกอบ เช่น ตะกั่ว แคดเมียม ปรอท และอื่น
ๆ อีกหลายอย่าง หากนำไปกำจัดโดยวิธีการเหมือนการจัดการขยะธรรมดาที่ใช้วิธีเผาหรือฝังกลบ
ก็จะเกิดการรั่วไหลของสารต่าง ๆ ไปสู่ดินและแหล่งน้ำ ทั้งน้ำใต้ดินและน้ำผิวดิน รวมทั้งสิ่งแวดล้อมด้วย
ซึ่งมันก็จะกลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบรุนแรงต่อระบบนิเวศและสุขภาพของประชาขน
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ตระหนักถึงภัยคุกคามดังกล่าวจึงได้เสนอร่างกฎหมายที่มีหลักการในการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอย่าง
“ถูกวิธี” เพื่อป้องกันไม่ให้มีการรั่วไหลของสารพิษและโลหะหนักที่จะเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมครับ
วิธีการที่ว่านี้ไม่กระทบต่อกิจการค้าของเก่าและซาเล้งที่ทำมาหากินกันอยู่ แต่ใช้ “ความร่วมมือ”
จากผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในการรับคืนซากผลิตภัณฑ์เหล่านั้น โดยการนำหลัก Polluter Pays Principle
หรือหลักผู้ก่อให้เกิดมลพิษเป็นผู้จ่ายมาใช้
เพราะปัจจุบันผู้ผลิตไม่ได้คิดต้นทุนในการจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นรวมไว้ทำให้ต้นทุนสินค้าและบริการ
ปล่อยให้เป็นภาระของภาครัฐและประชาชน ซึ่งไม่เป็นธรรมและไม่สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล
กฎหมายที่ว่านี้ชื่อว่า
“ร่างพระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
พ.ศ. ....” ครับ ผ่านคณะรัฐมนตรีและเสนอไปที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว และสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติรับหลักการเมื่อวันที่
๑๑ มกราคม ๒๕๖๒ และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นเพื่อพิจารณา ซึ่งในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญดังกล่าวได้มีการนำผลการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกระดับและกฎหมายต่างประเทศที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณาด้วย
โดยได้พิจารณาเสร็จและส่งให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อพิจารณาในวาระ ๒
และวาระ ๓ ต่อไปแล้วตั้งแต่วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์
๒๕๖๒
เสียดายมากที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีกฎหมายที่สำคัญจะต้องพิจารณาจำนวนมาก หากสภานิติบัญญัติแห่งชาติไม่สามารถหยิบยกร่างกฎหมายนี้ขึ้นพิจารณาได้ทัน
ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต้องตกไป ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ก็จะกลายเป็นระเบิดเวลาที่รอเวลาระเบิดต่อไปในรุ่นลูกและหลาน
เพราะการแก้ปัญหาดินและน้ำปนเปื้อนนั้นต้องใช้เวลานานกว่าปัญหาฝุ่นละอองในปัจจุบัน
เพราะกว่าญี่ปุ่นที่ว่าแน่ ๆ นั้น กว่าจะจัดการปัญหานี้ได้ก็ต้องใช้เวลาสามสี่สิบปีทีเดียว
ซึ่งในระหว่างนั้นภัยร้ายแรงจากขยะปนเปื้อนดังกล่าวก็ส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนจำนวนมากไปพร้อมกันด้วย
ซึ่งมันไม่คุ้มเลย
ที่เขียนมานี้ก็เพื่อแจ้งให้พี่น้องประชาชนทราบว่ามีร่างกฎหมายดี
ๆ เช่นนี้อยู่นะครับ จะได้ทราบทั่วกันว่าหลังเลือกตั้งแล้วจะไปตามหาร่างกฎหมายที่คุ้มครองสุขภาพของประชาชนเช่นนี้ได้ที่ไหน
---------------
*นักกฎหมายกฤษฎีกาชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น