วันพุธที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

เกร็ดการร่างกฎหมาย 15 โดย นายปกรณ์ นิลประพันธ์


                   ก่อนที่จะต้องยุติบทบาทการเป็นนักร่างกฎหมาย ผู้เขียนขอฝากเกร็ดการร่างกฎหมายเล็ก ๆ น้อย ๆ ไว้ให้นักร่างกฎหมายรุ่นต่อ ๆ ไปได้ทราบกันไว้อีกสักเรื่องหนึ่ง เผื่อเวลามีใครเขาถามจะได้อธิบายเหตุผลให้เขาฟังได้ ไม่ใช่ตอบว่าแบบหรือแนวทางการเขียนกฎหมายที่ลอก ๆ กันสืบต่อมากันเพรื่อไป

                   เรื่องที่ว่านี้ก็คือความแตกต่างระหว่าง “อนุมัติ” กับ “อนุญาต

                   เหตุที่จะฝากเรื่องนี้ไว้เพราะไม่ใคร่จะมีใครใส่ใจเท่าไร ฟังดูมันคล้าย ๆ กัน น่าจะแทนกันได้ เวลามีผู้ถามว่ามันเหมือนกันหรือต่างกันอย่างไรจึงมักจะตอบเขาไม่ได้

                   เรื่องนี้เรื่องใหญ่นะครับเพราะมันเป็นกลไกสำคัญของกฎหมายทีเดียว

                   อันว่า “อนุมัติ” นี่ที่มาจากคำว่า “อนฺมติ” (อะ-นุ-มะ-ติ) ในภาษาบาลีสันสฤตซึ่งแปลว่า รู้ตาม หรือเห็นตาม ในการร่างกฎหมายจะใช้กับการยินยอมหรือเห็นชอบเรื่องที่ผู้น้อยเสนอ ซึ่งผู้เสนอก็ได้แก่ผู้ใต้บังคับบัญชาหรือหน่วยงานของรัฐอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของผู้มีอำนาจ เช่น การดำเนินโครงการต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีก่อน หรือต้องได้รับอนุมัติจากปลัดกระทรวงก่อน ในภาษาอังกฤษถ้าเป็นกริยาใช้ว่า approve ถ้าเป็นคำนามใช้ว่า approval

                   อนุมัตินี้จะทำด้วยวาจาหรือเป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้แล้วแต่เรื่อง

                   สำหรับ “อนุญาต” มีที่มาจากคำว่า “อนฺญฺญฺาต” (อะ-นุน-ยา-ตะ) ในภาษาบาลีซึ่งแปลว่า ยอม ยินยอม หรือตกลง ในภาษาไทยเราใช้ในความหมายที่ว่ายินยอมตามที่ผู้น้อยขอ เช่น นักเรียน (ผู้น้อย) ขออนุญาต คุณครู (ผู้มีอำนาจควบคุมดูแลนักเรียน) ไปดื่มน้ำหรือไปปัสสาวะ คุณครูก็อนุญาตให้ ส่วนในการร่างกฎหมายจะใช้กับการที่ผู้มีอำนาจหรือสิทธิตามกฎหมายให้ความยินยอมแก่ผู้ขอ เช่น มีผู้มาขออนุญาตก่อสร้าง ทางราชการอนุญาตให้ก่อสร้างได้ตามที่ขอ แม้ในระหว่างเอกชนก็ใช้ เช่น บริษัท ก. อนุญาตให้บริษัท ข. ผลิตสินค้าภายใต้สิทธิบัตรที่บริษัท ก. เป็นเจ้าของ

                   ในภาษาอังกฤษ การอนุญาตถ้าเป็นกริยาใช้ permit ถ้าเป็นคำนามใช้ว่า permission หากเป็นการอนุญาตโดยที่ผู้มีอำนาจหรือมีสิทธิตามกฎหมายออกเอกสารแสดงการอนุญาตหรือที่เรียกว่า “ใบอนุญาต” ไว้ให้เป็นหลักฐานด้วย ก็ใช้คำว่า license

                   ไม่ว่าอย่างไร อนุมัติกับอนุญาต นั้นมีลักษณะที่เหมือนกันประการหนึ่ง คือ ผู้มีอำนาจอนุมัติหรืออนุญาตนั้นมี “ดุลพินิจ” ที่จะอนุมัติอนุญาตหรือไม่ก็ได้ และการใช้ดุลพินิจนี้เองเป็นช่องทางให้ผู้มีอำนาจใช้อำนาจในทางที่ไม่ชอบด้วยเหตุผลขึ้นได้ มาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจึงได้กำหนดไว้ชัดเจนว่าการใช้ระบบอนุมัติอนุญาตในกฎหมายต้องกระทำเพียงเท่าที่จำเป็น และต้องกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ดุลพินิจไว้ให้ชัดเจนด้วย

                   ส่วนระบบทะเบียน (Registration) นั้นแตกต่างจากระบบอนุมัติอนุญาต เพราะเป็นระบบที่ผู้ประสงค์จะการทำการตามที่กำหนดต้องให้ข้อมูลบางอย่างแก่รัฐเพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแลหรือบริหารจัดการ เช่น ทะเบียนพาณิชย์ ทะเบียนอาวุธปืน ในทางเอกชนก็ใช้ระบบทะเบียนเพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานเหมือนกัน เช่น ทะเบียนผู้เข้าร่วมกิจกรรมวิ่งการกุศล ทะเบียนผู้ป่วย

                   ปัญหาต่อมาของระบบทะเบียนก็คือ จะ “ลง” ทะเบียนหรือ “ขึ้น” ทะเบียนดี อันนี้แล้วแต่เรื่องนะครับ แต่ไม่ใช่ว่าจะใช้อย่างไรก็ได้ตามที่สบายใจ ถ้าเป็นการเอาเข้าไปไว้ในทะเบียน ก็ใช้ “ขึ้น” ทะเบียน เช่น ขึ้นทะเบียนนักศึกษา ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ขึ้นทะเบียนทหาร แต่ถ้าเป็นการจดเป็นหลักฐาน เขาใช้ “ลง” ทะเบียน เช่น ลงทะเบียนเรียน เรื่องนี้ภาษาไทยแท้ ๆ นะครับ ไม่ใช่หลักกฎหมายอันใด และมักมีผู้สงสัยเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้เสมอ จะได้ตอบเขาให้ถูก สีข้างจะได้ไม่แดง

                   แถมพกเรื่องใบรับรอง (Certificate) ให้ด้วยก็แล้วกัน ไหน ๆ ก็ไหน ๆ แล้ว  ใบรับรองนี้เขาใช้กับการรับรองคุณลักษณะ (Characteristics) ของบุคคล สิ่งของ สถานที่ หรือองค์กรนะครับ เช่น ใบรับรองการตรวจสอบ ใบรับรองว่าผ่านการฝึกอบรม ใบรับรองจึงต่างจากใบอนุญาตนะครับ คนละเรื่องกันเลย

                   ฝากไว้เพียงเท่านี้แหละครับ

**********

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น