วันอาทิตย์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

ความปั่นป่วนทางสังคม (Societal Disruption) ปกรณ์ นิลประพันธ์

ยุคนี้หันซ้ายหันขวาก็จะได้ยินเรื่องความปั่นป่วนหรือ Disruption ไม่ขาดสาย โดยเฉพาะความปั่นป่วนทางเทคโนโลยีหรือ Technology Disruption ว่าจะทำให้โลกเปลี่ยนไปอย่างนั้นอย่างนี้ ที่พูดกันมากก็คือ บ้านเมืองเราจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับเทคโนโลยีเหล่านี้อย่างไรไม่ว่าจะเป็น 5G AI หรือ IoT แล้วกลุ่มไหนค่ายไหนจะได้ประโยชน์ใครเอื้อใคร ฯลฯ 

เรื่องที่ว่าก็น่าสนใจอยู่หรอกครับ แต่มีคนคอยช่วยดูมากแล้ว ผู้เขียนจึงอยากจะชวนไปดูความปั่นป่วนในมิติอื่นบ้าง โดยเฉพาะความปั่นป่วนทางสังคมหรือ Societal Disruption ที่เกิดจาก Technology Disruption เหตุที่ผู้เขียนสนใจความปั่นป่วนในแง่มุมนี้เพราะมันเกี่ยวข้องกับทัศนคติและพฤติกรรมของคนในสังคมในภาพรวมครับ และแน่นอนว่าเมื่อเป็นเรื่องทัศนคติและพฤติกรรมของมนุษย์แล้วมันแก้ไขยากมากและส่งผลยาวนานจากรุ่นสู่รุ่นกันเลยทีเดียว

จากการติดตามการแสดงความคิดเห็นในเวปไซต์หรือเพจต่าง ๆ เป็นกรณีตัวอย่าง ผู้เขียนพบว่าเจ้าเวปไซต์หรือเพจเหล่านี้มักจะตั้งค่าเป็นสาธารณะหรือ Public ใคร ๆ ก็สามารถที่จะเข้าไปดูหรือแสดงความคิดเห็นได้ ที่ผู้เขียนพบก็คือ บรรดาผู้แสดงความคิดเห็นจำนวนมากไม่ได้แสดงความคิดเห็นอย่างที่ควรจะเป็นแต่เป็น การแสดงอารมณ์” ว่าตนชอบหรือไม่ชอบสิ่งนั้นสิ่งนี้ และส่วนใหญ่เป็นการแสดงอารมณ์ด้วยถ้อยคำหรือข้อความที่หยาบคายรุนแรงหรือเสียดสี เรียกว่าเป็นการระบายหรือระเบิดอารมณ์น่าจะตรงกว่า และเมื่อมีคนหนึ่งเริ่มต้นก็จะมีการสนับสนุนหรือตอบโต้กันอย่างไม่ยอมลดราวาศอก

ความปั่นป่วนมันเกิดขึ้นตรงที่ว่าเจ้าเวปไซต์หรือเพจเหล่านี้มักจะตั้งค่าเป็นสาธารณะหรือ Public นี่แหละ เพราะเด็ก ๆ ก็สามารถเข้าถึงเวปไซต์หรือเพจพรรค์นี้ได้ด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้การเรียนรู้ตามธรรมชาติก็จะเกิดขึ้น เด็กก็จะเข้าใจไปว่าพฤติกรรมเหล่านี้เป็น "สิ่งปกติที่ใคร ๆ เขาก็ทำกัน" และพวกเขาก็ทำบ้าง ผู้เขียนจึงไม่แปลกใจสักเท่าใดที่เด็ก ๆ ของเรามีแนวโน้มที่จะแสดงพฤติกรรมระเบิดอารมณ์ออกมาเมื่อการไม่ได้เป็นไปตามที่ต้องการ และด้วยคำพูดที่มนุษย์ลุงอย่างผู้เขียนไม่สามารถจะนึกออกมาได้

หลายท่านแสดงทัศนะว่า การพูดการจาและพฤติกรรมเหล่านี้เป็นเสรีภาพในการแสดงออกหรือ Freedom to the right of expression หรือไม่ก็เป็นเสรีภาพในการพูดหรือ Freedom to the right of speech แต่ในทางกฎหมายแล้ว เสรีภาพในการแสดงออกก็ดี เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นก็ดี เป็นเสรีภาพที่อยู่ภายใต้ข้อจำกัดบางประการ หรือเป็นเสรีภาพสัมพันธ์ (Relative) นั่นก็คือบุคคลจะใช้เสรีภาพที่ว่าจนกระทบกระเทือนความเป็นอยู่ของรัฐไม่ได้ เช่น จะกล่าวปลุกปั่นหรือยุยงให้เกิดความแตกแยกขึ้นในบ้านเมืองไม่ได้ เพราะถ้าบ้านเมืองไม่สงบ นอกจากคนอื่นจะต้องวุ่นวายแล้วมันจะกระทบกระเทือนความเป็นรัฐด้วย  นอกจากนี้ บุคคลก็ไม่สามารถใช้เสรีภาพนั้นจนกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่นด้วย เพราะคนอื่นเขาก็มีสิทธิและเสรีภาพ "เท่าเทียมกันกับคุณ" และนั่นเป็นที่มาของกฎหมายหมิ่นประมาท

การเข้าถึงข้อมูลที่สื่อถึงความรุนแรงหรือเรื่องทางเพศได้ง่าย ๆ อันเนื่องมาจากความปั่นป่วนทางเทคโนโลยี ก็ทำให้สังคมปั่นป่วนรุนแรงเหมือนกัน ยิ่งยุคนี้เลี้ยงลูกเลี้ยงหลานกันด้วยมือถือและแทบเล็ตด้วยยิ่งไปกันใหญ่ เพราะเมื่อเห็นเรื่องแบบนี้บ่อย ๆ เข้ามันก็จะกลายเป็น "ความเคยชิน" ผู้เขียนพบว่าข่าวการใช้ความรุนแรงระหว่างคนในสังคมดูจะมากขึ้นทุกวัน เช่นเดียวกับอาชญากรรมทางเพศที่มากขึ้นอย่างน่าตระหนก

จริง ๆ ความปั่นป่วนทางสังคมยังมีอีกมาก ไม่ว่าจะเป็นในด้านการศึกษาที่ยังคงยึดกระบวนการเรียนการสอนที่เป็นแบบเดียวกันทั่วประเทศ กับให้ความสำคัญกับตัวบทกฎหมายความเป็นสถาบันและวิทยะฐานะต่าง ๆ มากกว่าการยึดความถนัดของเด็กหรือผู้เรียนที่แตกต่างกันเป็นตัวตั้งในการพัฒนา หรือด้านแรงงานที่การใช้แรงงานเข้มข้นจะลดน้อยลงในอัตราเร่งที่สูงมาก จนทำให้แรงงานแบบดั้งเดิมปรับตัวไม่ทันและไม่สามารถพัฒนา ความสามารถในการหารายได้” ในโลกที่แตกต่างไปจากเดิมได้ ซึ่งยิ่งจะเกิดความเหลื่อมล้ำ

ผู้เขียนคิดว่าความปั่นป่วนทางสังคมนี้มีผลกระทบรุนแรงและลึกลงไปถึงครอบครัวอันเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดของสังคม จึงเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสนใจอย่างใกล้ชิด  ยิ่งเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยด้วยปัญหาจะยิ่งซับซ้อนมากขึ้น 

โจทย์ข้อนี้จึงสำคัญกว่าใครจะได้นั่งเก้าอี้ตัวไหนร้อยเท่าพันทวี.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น