วันอังคารที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2562

"ญี่ปุ่น : สุดทันสมัย แต่ทำไมยังชอบใช้เงินสด" โดย นางสาวพรธีรา โอสถธนากร* (นปร. 12)


                    ประเทศญี่ปุ่นเป็นดินแดนที่มีเสน่ห์ในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นทิวทัศน์ วัฒนธรรม แฟชั่น หรือเทคโนโลยีที่ทันสมัย ในปัจจุบันจึงมีคนไทยเดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่นกว่า 1.1 ล้านคนต่อปี ส่วนใหญ่เป็นการเดินทางเพื่อวัตถุประสงค์ด้านการท่องเที่ยว จับจ่ายใช้สอย และธุรกิจ แต่ท่านผู้อ่านเคยสังเกตหรือไม่ว่า ถึงแม้จะเป็นประเทศที่เทคโนโลยีล้ำหน้าไปไกลแค่ไหน แต่คนญี่ปุ่นก็ยังนิยมจับจ่ายใช้สอยโดยใช้เงินสด เราอาจจะได้เห็นคนที่ยืนนับเงินมูลค่าเป็นหมื่นเป็นแสนเพื่อซื้อของในห้างสรรพสินค้าโดยที่ไม่ถือเป็นเรื่องแปลกอะไร และหากได้ทำความคุ้นเคยกับคนญี่ปุ่นมากขึ้น ก็จะพบว่าคนที่นี่ไม่นิยมใช้บัตรเครดิต และแม้จะมีเทคโนโลยีอย่างบัตรแทนเงินสด (Pre-paid card เช่น Suica PASMO) แต่นอกเหนือจากใช้จ่ายค่าขนส่งสาธารณะแล้ว คนญี่ปุ่นก็กลับไม่ใช้สำหรับจับจ่ายที่อื่นไปเสียอย่างนั้น คำถามคือ ทำไมจึงเป็นเช่นนี้?

                    ญี่ปุ่นมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากสหรัฐอเมริกาและจีน โดยมีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP สูงถึง 4.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (2017) โดยกว่า 20% ของ GDP เป็นธุรกรรมที่เกิดจากเงินสด ซึ่งหากเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วอื่น ๆ ที่มีสัดส่วนธุรกรรมเงินสดนี้เพียง 2 – 3% หรือประเทศกำลังพัฒนาที่ประมาณ 5% ก็ถือว่าญี่ปุ่นใช้เงินสดเป็นสัดส่วนที่สูงมากเลยทีเดียว และการพิมพ์เงินสดนี้เองก็เป็นต้นทุนที่สูงมากของ Bank of Japan ในการหมุนเวียนเงินตราในแต่ละปี

                    หากจะหาเหตุผลมาอธิบายว่าเหตุใดประเทศญี่ปุ่นจึงยังเป็นสังคมใช้เงินสดอยู่เช่นทุกวันนี้ ก็ต้องขอบอกผู้อ่านทุกท่านเลยว่า แม้แต่รัฐบาลญี่ปุ่นเองก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนให้กับเรื่องนี้เช่นเดียวกัน และถึงแม้รัฐบาลจะพยายามผลักดันให้เกิดการใช้จ่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ให้มากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่ก็ดูเหมือนจะยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาทางวิชาการของแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ประกอบกับประสบการณ์และการสังเกตของผู้เขียน ซึ่งมีโอกาสได้ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศญี่ปุ่น ก็พอจะสรุปเหตุผลความเป็นไปได้ในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้

                    ความสะดวก : คนญี่ปุ่นมีความรู้สึกว่าการใช้จ่ายด้วยเงินสดเป็นเรื่องของความสะดวกและสามารถรับรู้เงินที่ตนเองใช้จ่ายได้ชัดเจน เคยมีการสำรวจว่าเหตุใดคนญี่ปุ่นจึงไม่นิยมใช้ e-Payment หรือแอปพลิเคชันประเภท Mobile Banking/Mobile Payment ซึ่งผลการสำรวจส่วนใหญ่ได้รับเหตุผลว่า ผู้คนรู้สึกไม่สะดวกที่จะต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชันก่อนแล้วค่อยนำมาใช้จ่ายเงิน ยิ่งไปกว่านั้น คนญี่ปุ่นยังมีค่านิยมแบบดั้งเดิมที่มีความสุขกับการได้จับเงินสด การเก็บเงินสดไว้ในบ้าน มากเสียยิ่งกว่าการนำไปฝากธนาคารหรือลงทุน จนมีคำศัพท์เฉพาะสำหรับพฤติกรรมดังกล่าวว่า “Tansu Yokin” (箪笥預金) ซึ่งแปลตรงตัวว่า “บัญชีในตู้เสื้อผ้า” นั่นเอง

                    การเงินการธนาคาร : เป็นที่ทราบกันดีว่าดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารพาณิชย์ของญี่ปุ่นนั้นต่ำมาก ๆ หรือจะพูดให้ถูกก็คือไม่มีดอกเบี้ยเลยเสียมากกว่า คนญี่ปุ่นจึงรู้สึกว่าไม่มีประโยชน์อะไรที่จะนำเงินไปฝากธนาคาร สู้ถือเงินสดเก็บไว้กับตัวยังจะดีกว่า ทำให้ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ของญี่ปุ่นไม่ค่อยมีบทบาทต่อลูกค้าในระดับบุคคลมากนัก การตลาดของธนาคารต่าง ๆ จึงไม่ได้เจาะเป้าหมายไปที่ลูกค้าซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภค หากจะให้ยกตัวอย่างเปรียบเทียบกับธนาคารของไทยให้ผู้อ่านนึกภาพออกง่าย ๆ ก็คือว่า ธนาคารที่ญี่ปุ่นไม่มีแคมเปญลดแลกแจกแถมจากการเปิดบัญชี สมัครบัตรเครดิต หรือซื้อประกันภัย ดังนั้น เราจึงไม่ได้เห็นคนญี่ปุ่นจริงจังกับเรื่องการใช้บัตรเครดิตเท่ากับประเทศไทยหรือประเทศอื่น ๆ ทั้งนี้ สำหรับธนาคารพาณิชย์ทั้งหลายนั้น รายได้หลักของธนาคารที่จะได้จากฝั่งผู้บริโภคก็คงหนีไม่พ้นค่าธรรมเนียมที่ได้จากการรับฝาก-ถอน-โอนเงินสดผ่านเครื่อง ATM และการขึ้นเช็คเงินสดนั่นเอง

                    ความปลอดภัย : ทุกคนคงทราบกันดีอยู่แล้วว่าประเทศญี่ปุ่นนั้นมีความปลอดภัยมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก และเราคงเคยได้ยินข่าวว่าเวลามีคนทำของหายหรือเงินหาย ก็มักได้คืนอยู่เสมอ ดังนั้น คนญี่ปุ่นจึงรู้สึกสบายใจที่จะเดินไปไหนต่อไหนพร้อมเงินสดติดตัวจำนวนมากเพื่อจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน

                    จากที่ได้กล่าวมาข้างต้นเป็นเหตุผลคร่าว ๆ ที่คนญี่ปุ่นยังนิยมใช้เงินสดมากกว่าพึ่งพาการเงินในระบบอิเล็กทรอนิกส์ อาจมีเหตุผลอื่น ๆ ประกอบอีก เช่น ประเทศญี่ปุ่นประสบภัยพิบัติบ่อย จึงเกิดเหตุไฟฟ้าดับอยู่เป็นประจำ ทำให้ผู้คนรู้สึกว่าการใช้เงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์อาจไม่เสถียร อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีใครสามารถหาสาเหตุและแนวทางวิธีการปรับเปลี่ยนค่านิยมนี้ได้อย่างชัดเจน

                    จากสถานการณ์ด้านเทคโนโลยีของโลกที่เปลี่ยนไป ประกอบกับต้นทุนมหาศาลในการหมุนเวียนเงินสด รัฐบาลญี่ปุ่นเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อสภาวะดังกล่าว และได้พยายามหามาตรการกระตุ้นให้ประชาชนหันมาทำธุรกรรมผ่านช่องทางเลือกอื่น ๆ นอกเหนือจากการใช้เงินสดมากขึ้น โดยในเดือนตุลาคม 2562 นี้ รัฐบาลวางแผนจะขึ้นภาษีผู้บริโภคจาก 8% เป็น 10% เพื่อจัดเก็บรายได้ให้ได้มากขึ้นสำหรับนำมาแก้ปัญหางบประมาณขาดดุลอย่างต่อเนื่องและภาระค่าใช้จ่ายของรัฐที่มากขึ้นในด้านสวัสดิการสังคม การศึกษาปฐมวัยและผู้สูงอายุ รวมถึงภาระดอกเบี้ยจากหนี้สาธารณะ ทั้งนี้ รัฐจะใช้โอกาสนี้ในการออกมาตรการให้คนหันมาใช้จ่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น โดยผู้บริโภคจะได้รับเงินคืน 5% จากการใช้จ่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น บัตรเครดิตและแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ ในช่วงตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 ไปจนถึงเดือนสิงหาคม 2563 ที่โตเกียวจะเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก “Tokyo Olympic 2020” รัฐบาลเชื่อว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยเพื่อเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และจะเป็นการจูงใจและเปลี่ยนพฤติกรรมให้คนหันมาใช้จ่ายผ่านระบบที่ไม่ใช่เงินสดมากขึ้นเพื่อลดรายจ่ายสาธารณะภาพรวมในระยะยาว ส่วนจะได้ผลหรือไม่ และส่งผลต่อสภาพสังคมของชาวญี่ปุ่นอย่างไร คงเป็นเรื่องที่เราต้องติดตามกันต่อไป

                    จากกรณีตัวอย่างของประเทศญี่ปุ่น ที่แม้ว่าจะมีภาพลักษณ์เป็นสังคมแห่งนวัตกรรมและความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเทคโนโลยีจะสามารถเข้ามามีบทบาทกับชีวิตของผู้คนในทุกด้านได้เสมอไป เพราะอาจมีค่านิยมบางอย่างที่ Disruptive Technology ไม่สามารถเอาชนะได้ อย่างเช่นเทคโนโลยีด้านการเงิน ที่ดูจะไม่ประสบความสำเร็จนักในการเปลี่ยนวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่นกว่า 126 ล้านคน แต่สำหรับประเทศไทยที่สังคมดูจะตื่นตัวมากในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของระบบพร้อมเพย์ (Promt-Pay) และการยกเลิกค่าธรรมเนียมธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของบรรดาธนาคารพาณิชย์ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว และมีนโยบายทางการเงินหลายอย่างที่อยู่ระหว่างการศึกษาและรอการผลักดัน ดังนั้น หากประเทศไทยต้องการจะเปลี่ยนเป็นสังคมไร้เงินสดตามหลาย ๆ ประเทศที่ได้เดินหน้าไปแล้ว เช่น สวีเดน สหรัฐอเมริกา จีน เป็นต้น ก็คงมีข้อท้าทายและข้อควรระวังที่ภาครัฐน่าจะต้องควบคุมดูแลและจับตามองอย่างใกล้ชิด อาทิ

1) การเกิดขึ้นของธุรกิจออนไลน์และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง : การทำธุรกรรมที่สะดวกผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ทำให้เกิดธุรกิจออนไลน์ขึ้นมากมาย รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น บริการขนส่ง (Delivery) เป็นต้น ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเกิดใหม่ที่รัฐต้องให้ทั้งการสนับสนุนและการควบคุม รวมถึงมีกระบวนการตรวจสอบรายได้ของผู้ประกอบการที่มีประสิทธิภาพ

2) ความปลอดภัยของข้อมูล (Cyber Security) : ปัจจัยความสำเร็จอย่างหนึ่งของการทำธุรกรรมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ คือ ต้องทำให้ผู้บริโภคเชื่อถือในความปลอดภัยของข้อมูล ซึ่งประเด็นด้านความปลอดภัยนี้ไม่เพียงแต่สร้างความเชื่อมั่นในกลุ่มผู้บริโภคเท่านั้น แต่ยังส่งผลถึงภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือของสถาบันการเงิน รวมทั้งความเชื่อมั่นจากนักธุรกิจและนักลงทุน

3) Digital Literacy : รัฐจะต้องจัดให้มีการสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องของธุรกรรมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์อย่างครอบคลุมและทั่วถึง เพื่อให้ประชาชนมีความรู้เท่าทันภัยที่อาจเกิดขึ้น และสามารถใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ อำนวยความสะดวก ยกระดับคุณภาพชีวิต แต่หากปล่อยให้ประชาชนใช้งานได้อย่างอิสระโดยไม่มีความรู้ เทคโนโลยีอาจกลายเป็นโทษและเกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมาได้

                    ในทางตรงกันข้ามกับสถานการณ์ข้างต้น ในชีวิตประจำวันก็ยังมีหลายอย่างที่ทำให้คนไทยยังต้องจับจ่ายใช้สอยด้วยเงินสด เนื่องจากสังคมไทยมีผู้ประกอบการรายย่อย ร้านค้า ร้านอาหาร ที่ไม่สามารถรับภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการใช้ระบบบัตรเครดิตหรือเครื่องมือต่าง ๆ ได้ อีกทั้งเป็นวิถีชิต โดยเฉพาะในสังคมชนบท ที่ผู้คนยังให้คุณค่ากับการเก็บทรัพย์สินในรูปแบบของเงินสดมากกว่าใช้บริการสถาบันการเงิน ซึ่งการจะปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตนั้นแน่นอนว่าเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ทั้งนี้ หากจะคงสภาพสังคมเงินสดนี้ไว้ รัฐเองก็มีบางประเด็นที่ควรให้ความสนใจ อาทิ

1) การกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว : การมีช่องทางใช้จ่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เช่น บัตรเครดิต และ Alipay สำหรับนักท่องเที่ยวจีน เป็นต้น ช่วยอำนวยความสะดวกในการจับจ่ายใช้สอยสำหรับนักท่องเที่ยวและลดความเสี่ยงที่จะต้องถือเงินสด ร้านค้าที่มีช่องทางในการรับจ่ายเงินที่หลากหลายจึงมีโอกาสในการสร้างรายได้ที่มากกว่าร้านค้ารายย่อย ซึ่งรัฐคงต้องเข้ามาดูแลและให้การสนับสนุนเพื่อให้เกิดการกระจายรายได้อย่างทั่วถึงและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน

2) การเฝ้าระวังการทุจริต : การใช้เงินสดเป็นช่องทางที่อาจเกิดการทุจริตได้ทั้งในภาครัฐและเอกชน ซึ่งแต่ละองค์กรจะต้องหมั่นตรวจสอบดูแล ทั้งด้วยตัวระบบและตัวบุคคล สำหรับประเทศญี่ปุ่นนั้น มีแนวทางวิธีการในการตรวจสอบและมีกฎหมายที่เข้มงวดรัดกุม จึงไม่ค่อยเกิดปัญหาดังกล่าว 

                    ทั้งนี้ ระหว่างที่ไทยยังอยู่ระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่านจากสังคมที่ทำธุรกรรมผ่านเงินสดแบบดั้งเดิมไปเป็นสังคมไร้เงินสดมากขึ้น อาจมีปัญหาอุปสรรคเกิดขึ้นมากมาย ซึ่ง “รัฐ” จะเป็นผู้เล่นหลักที่มีบทบาทในการตัดสินใจและผลักดันว่าไทยควรก้าวต่อไปเป็นสังคมไร้เงินสดหรือไม่ ถ้าหากพิจารณาแล้วว่าการก้าวไปสู่สังคมไร้เงินสดนั้นอาจไกลเกินไป การยึดแนวทางอนุรักษ์นิยมแบบญี่ปุ่น ก็อาจไม่ใช่แนวทางที่เรียกว่าล้าสมัยเสมอไป เพราะญี่ปุ่นได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการยึดถือค่านิยมแบบดั้งเดิมบางอย่างก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ เพราะที่ญี่ปุ่นมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลกอย่างทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งก็มาจากธุรกรรมเงินสดนี่เอง

*************

*ข้าราชการในโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ รุ่นที่ 12 สำนักงาน ก.พ.ร. ปฏิบัติราชการ ณ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว

**แหล่งข้อมูลเพื่อศึกษาเพิ่มเติม:
World Bank’s DataBank Nominal Data (2017)
Nikkei Asia Review

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น