สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาหรือเมียนมา
มีเนื้อที่ประมาณ 676,578 ตารางกิโลเมตร (สำนักงาน กสทช.,
ม.ป.ป.) ประกอบไปด้วย 7 รัฐ และ 7 ภูมิภาค เมียนมามีประชากรทั้งสิ้นประมาณ 54,185,760 คน
จากการจัดทำสำมะโนประชากรปี 2014 สัดส่วนของประชาร้อยละ 70 อาศัยอยู่ในชนบท (Ministry of Labour, Immigration and
Population, เข้าถึงข้อมูล ณ วันที่ 2 มิ.ย. 62;
UNFPA, 2017) ภายใต้เงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ของประเทศเมียนมา
ความหลากหลายทางชาติพันธุ์ และการเข้าถึงการพัฒนาเมียนมายังคงเผชิญความขัดแย้งภายในประเทศ
ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการพัฒนาของเมียนมา บทความชิ้นนี้ต้องการนำเสนอภาพรวมของแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืนของเมียนมา (Myanmar Sustainable Development Plan 2014 –
2030: MSDP) ซึ่งเป็นแผนแม่บทในการพัฒนาและมุ่งแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น
ที่ปรึกษาแห่งรัฐ นางออง ซาน
ซู จี อธิบายถึงวัตถุประสงค์ของ MSDP ว่า
“แผนการพัฒนาอย่างยั่งยืนของเมียน
เป็นการแสดงออกซึ่งวิสัยทัศน์ของการพัฒนาของประเทศเรา เป็นวิสัยทัศน์ที่จะแสวงหาความสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับโลก
ในปัจจุบันนี้เมียนมามีแผนการพัฒนาในระดับภาพส่วน กระทรวงและภาคมากมาย
หากแต่การพัฒนาที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้หากแผนเหล่านั้นดำเนินไปภายใต้ร่มของยุทธศาสตร์ระดับชาติเท่านั้น” (MOPF, 2018: p. iii)
แผนการดังกล่าวประกาศใช้เมื่อ ปี ค.ศ.
2018 โดยมุ่งหวังให้เป็นพิมพ์เขียวของการพัฒนาประเทศ ภายใต้การกำหนดวิสัยทัศน์ที่เน้นกรอบการพัฒนาทางเศรษฐกิจ
ซึ่งมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ผ่านการกำหนดกรอบการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่จะสนับสนุนการสร้างความปรองดองในชาติ
และเกลี่ยกระจายทรัพยากรธรรมชาติให้ภาคและรัฐต่าง ๆ อย่างยั่งยืน MSDP ได้กำหนดแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ในสามเสา คือ 1) สันติภาพและความมั่นคง 2)
ความมั่งคั่งและการเป็นหุ้นส่วน 3) ประชากรและโลก
เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนา 5 เป้าหมาย ได้แก่
1) การสร้างสันติภาพ
ความสามัคคีปรองดอง และหลักธรรมาภิบาลที่ดี
2) ความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการสร้างความเข็มแข็งให้การบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาค
3)
การสร้างอาชีพและการเจริญเติบโตโดยมีภาคเอกชนเป็นแกนหลัก (Private
Sector-led Growth)
4)
การพัฒนาสังคมและทรัพยากรมนุษย์ให้สอดคล้องกับศตวรรษที่ 21
5) ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อความมั่นคงของรัฐ
การประกาศใช้ MSDP แสดงให้เห็นถึงความพยายามของรัฐบาลเมียนมาในการสร้างมาตรฐาน (Standardization)
และกำหนดความสำคัญความสำคัญ (Priority) ของของโครงการและแนวทางการพัฒนา
ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้การดำเนิการบรรลุเป้าหมาย ได้มีการกำหนดกลไกหน่วยงานการดำเนินการตามแผน
MSDP หรือ MSDP Implementation Unit (MSDP-IU) ซึ่งประกอบไปด้วยชุดคณะกรรมาธิการย่อย เช่น National Economic
Coordination Committee (NECC) เป็นต้น ที่จะเข้ามากลั่นกรองโครงการที่ถูกเสนอโดยองคาพยพต่าง ๆ
ของเมียนมา โดยมีกระทรวงการวางแผนและการคลัง (Ministry of Planning and
Finance) เป็นเจ้าภาพ
กลไกดังกล่าวจะทำหน้าที่วางแผนงบประมาณในการดำเนินการตาม
MSDP
เพื่อให้มั่นใจว่างบประมาณที่ได้รับทั้งจากแหล่งงบประมาณภายในประเทศและต่างประเทศ
ทั้งจากภาครัฐและเอกชนนั้น ถูกใช้ในโครงการตามลำดับความสำคัญ และเชื่อมโยงกับแผนปฏิบัติการของ
MSDP โดย MSDP-IU ได้พัฒนากลไกสำคัญอีกอย่างหนึ่ง
คือ Project Bank ซึ่งจะเป็นคลังข้อมูลสำหรับรวบรวมโครงการที่เสนอขึ้นมา
เพื่อส่งต่อไปยังแหล่งงบประมาณที่เกี่ยวข้อง (MOPF, 2018)
กระบวนการดังกล่าวเริ่มต้นจากการที่แต่ละกระทรวงเสนอโครงการเข้ามายัง
MoPF และ NECC หลังจากนั้น MoPF และ NECC จะทำหน้าที่กลั่นกรองและจัดทำแผนทางธุรกิจ
(Business Case) และจัดลำดับความสำคัญก่อนส่งข้อมูลไปยัง
Project Bank[1]
เพื่อพิจารณาว่าแหล่งของงบประมาณที่เหมาะสม ได้แก่ การใช้งบประมาณผ่านกระบวนการทางงบประมาณตามปกติ
การใช้งบประมาณผ่านช่องทางหน่วยงานความร่วมมือการช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา (Development
Assistance Coordination Unit: DACU)[2] หรือช่องทางการร่วมลงทุนภาครัฐและเอกชน (Public Private
Partnership: PPP) (Myanmar
Development Institute, 2019) มาตรการเหล่านี้จะช่วยทำให้โครงการที่เสนอเข้ามาได้รับการกลั่นกรอง
วิเคราะห์ความเชื่อมโยงกับแผนปฏิบัติการของ MSDP และความเหมาะสมกับลำดับความสำคัญในแต่ละพื้นที่
ตลอดจนความเหมาะสมในเชิงแหล่งงบประมาณกับลักษณะโครงการ จากรายงานของ World
Bank (2018) วิเคราะห์ว่าการประกาศใช้แผนดังกล่าวสามารถทำให้เกิด
“ความแน่นอนในเชิงนโยบาย (Policy Certainty)”
และทำให้เกิดความชัดเจนของประเทศเชิงนโยบายที่เมียนมาต้องการปฏิรูปให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
การประกาศใช้แผนดังกล่าวจัดว่าเป็นย่างก้าวที่มีความสำคัญของเมียนมา
ประเด็นที่น่าสนใจ คือ
กระบวนการภายใต้ MSDP นั้นได้รับการออกแบบมาตั้งแต่ขั้นตอนการกลั่นกรองโครงการไปจนถึงขั้นตอนงบประมาณ
และออกแบบมาโดยตระหนักถึงบทบาทของภาคเอกชนในเข้ามามีส่วนในการพัฒนาและสร้างการเจริญเติบโตของประเทศเมียนมาด้วย
ซึ่งจุดนี้น่าจะมีส่วนในการขับเคลื่อน MSDP
ให้เกิดผลลัพท์ได้ในความเป็นจริง
นอกจากนี้
การเปิดกว้างของรัฐบาลเมียนมาให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา ย่อมเป็นโอกาสของนักลงทุนไทยในการเข้าไปลงทุนในเมียนมามากขึ้น
โดยพิจารณาโครงการและมิติ ที่รัฐบาลเมียนมาให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก เช่น
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาแหล่งพลังงานเชื้อเพลิง และน้ำมัน การพัฒนาสินค้าเกษตร
เป็นต้น ซึ่งอันที่จริงนักลงทุนไทยก็เข้าไปลงทุนในเมียนมาเป็นอันดับที่ 2 รองจากจีน และสิงคโปร์เท่านั้น[3]
ในธุรกิจพลังงานและทรัพยากรธรรมชาติ สินค้าเกษตร เครื่องดื่ม และธุรกิจการแพทย์
เป็นต้น (ศูนย์ข้อมูลธุรกิจไทยในเมียนมา, ม.ป.ป.) ดังนั้น การทำความคุ้นเคยและเข้าใจกับและติดตามการดำเนินการต่าง
ๆ MSDP
จึงไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่อาจทำให้เห็นช่องทางของการลงทุนใหม่ ๆ ของ
ไทยในเมียนมามากขึ้น และอาจเป็นแรงผลักดันให้ประเทศไทยต้องเร่งพัฒนาภายในด้านระบบขนส่งโลจิสติกส์และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ดียิ่งขึ้นเพื่อรักษาฐานกำลังการผลิต
และยังคงสถานะของการเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานที่มีความสำคัญในภูมิภาคนี้ต่อไป
***********
*ข้าราชการในโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่
รุ่นที่ 12 สำนักงาน ก.พ.ร. ปฏิบัติราชการ ณ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา
[1] Project Bank ในที่นี้ไม่ใช่ธนาคารแต่เป็นคลังข้อมูลโครงการที่สอดคล้องกับ MSDP
[2] DACU
เป็นหน่วยงานซึ่งจะทำหน้าที่หน้าที่ประสานระหว่างรัฐบาลเมียนมาและผู้ให้ทุนโครงการเพื่อการพัฒนาต่าง
ๆ เพื่อให้มั่นใจว่าโครงการเพื่อการพัฒนาเหล่านั้นนั้นสอดคล้องกับมิติที่เมียนมาให้ความสำคัญ
และกำหนดนโยบายเกี่ยวกับความร่วมมือเพื่อการพัฒนาด้วย
[3] โปรดดูข้อมูลของ Directorate of Investment and Company
Administration (DICA) ที่เป็นหน่วยงานที่สนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนของเมียนมา
https://www.dica.gov.mm/sites/dica.gov.mm/files/document-files/country123_0.pdf
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น