วันอังคารที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2562

"การพัฒนาระบบราชการเพื่อสร้าง Smart Farmers" โดย นางสาวสุปรียา กลิ่นสุวรรณ*

                    สถานการณ์ราคาพืชผลทางการเกษตรที่ผันผวนและไม่มีเสถียรภาพมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยางพาราและปาล์มน้ำมัน ทำให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เห็นว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาระบบราชการเพื่อช่วยป้องกัน บรรเทา หรือแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วย


              สำหรับปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อราคายาง ได้แก่ ผลผลิตที่เกินความต้องการของตลาด สภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงอันทำให้ยางสังเคราะห์ซึ่งใช้แทนยางธรรมชาติได้มีราคาถูกลง ประกอบกับประเทศไทยเป็นหนึ่งในแหล่งผลิตยางที่สำคัญของโลก แต่ใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ค่อนข้างน้อย ทำให้แทบจะไม่สามารถกำหนดราคายางพาราได้เลย


                    ส่วนราคาผลปาล์มก็ปรับลดลงเนื่องจากมีสต๊อกปาล์มเก่าที่ยังคงค้างอยู่สูง ซึ่งเป็นผลจากตลาดโลกที่ซบเซา รวมถึงสภาพอากาศร้อนจัด ส่งผลให้ปาล์มสุกเร็ว ทำให้ผลผลิตปาล์มดิบออกสู่ตลาดมาก แม้รัฐบาลจะออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขปัญหา เช่น ปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศโดยใช้น้ำมันปาล์มดิบไปผลิตกระแสไฟฟ้า ส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซล บี 20 รวมทั้งเข้มงวดตรวจสอบสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบคงเหลือ                    ปัญหาราคาพืชผลทางเกษตรที่ผันผวนจึงเป็นโจทย์สำคัญและท้าทายอย่างยิ่ง ซึ่งสำนักงาน ก.พ.ร. เห็นว่าระบบราชการมีส่วนร่วมอย่างสำคัญที่จะใช้วิธีการต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหา

                  ประการแรก การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับข้อมูลด้านการเกษตร โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้พัฒนาระบบแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุกออนไลน์ (Agri-Map Online) เป็นเครื่องมือที่แสดงผลข้อมูลเชิงภูมิสารสนเทศ สำหรับบริหารจัดการเกษตร ที่สามารถเข้าถึงข้อมูลและติดตามข้อมูลได้อย่างถูกต้องรอบด้าน นำไปใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การเพาะปลูกและผลผลิตด้านการเกษตร ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ทั้งปัจจัยการผลิต อุปสงค์ อุปทาน ที่จะตอบโจทย์การช่วยเหลือ และแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรไทยได้


                    ประการที่สอง เร่งพัฒนา Smart Farmer ที่ให้เกษตรกรเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นเพื่อนำไปประกอบการตัดสินใจในการวางแผนการผลิต เช่น ข้อมูลราคาย้อนหลัง ข้อมูลสภาพอากาศ ข้อมูลสภาพดิน ฯลฯ รวมทั้งการนำนวัตกรรมมาใช้ประโยชน์ ใช้ภูมิปัญญา ความรู้ความเชี่ยวชาญ ผสมผสานกับเทคโนโลยี มาใช้หรือพัฒนาการผลิตสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพ ข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้เกษตรกรตัดสินใจวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดบนฐานข้อมูลที่ถูกต้อง สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการเพาะปลูกหรือแม้กระทั่งการหาราได้ให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปได้


                   หนึ่งในแนวทางที่ภาคราชการได้ดำเนินการเพื่อให้เกิด Smart Farmer คือ การที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้พัฒนา Big Data ด้านการเกษตรให้เป็นเอกภาพและเชื่อมโยงกับระบบของรัฐบาลให้ก้าวทันยุคดิจิทัล โดยใช้ฐานข้อมูลเกษตรกรกลาง (Farmer ONE) ในการบริหารจัดการเชิงนโยบายด้วยการจัดทำ Big data ที่จะเชื่อมโยงกับภาคการตลาด ซึ่งจะช่วยให้ทราบปริมาณผลผลิต ช่วงเวลา แหล่งผลิตที่สำคัญ เพื่อใช้บริหารจัดการการจำหน่าย การกระจายสินค้า กำหนดราคาได้อย่างเหมาะสม

              ประการที่สาม คือการส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาทำการเกษตรแบบผสมผสานตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การไม่ยึดติดกับการปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่มีความเสี่ยงสูง หากเกิดความผันผวนของราคาตลาดที่เป็นมาต่อเนื่องหลายปี อันเป็นภูมิคุ้มกันที่ดีให้แก่เกษตรกร

                    นอกจากแนวทางแก้ไขปัญหาที่กล่าวมานั้น ภาครัฐยังผลักดันการขับเคลื่อนไปสู่ Smart Farmer โดยกำหนดเป็นตัวชี้วัด อาทิ ประเมินความสำเร็จของการพัฒนา Big Data ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อช่วยให้เกษตรกรมีข้อมูลสนับสนุนในการวางแผนการผลิต ประเมินประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญ เพื่อผลักดันให้เกิดการยกระดับผลิตภาพ ประสิทธิภาพการผลิต ให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น ตลอดจนผลักดันให้มีพื้นที่ทำการเกษตรยั่งยืน เพื่อให้เกษตรกรปรับรูปแบบระบบการทำการเกษตรที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน                    การดำเนินการของภาครัฐเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ไขปัญหาสถานการณ์ราคาพืชผลทางเกษตร ซึ่งภาครัฐจะมุ่งมั่นให้การทำงานให้เป็นแบบระบบราชการ 4.0 ด้วยการสร้างนวัตกรรม พัฒนาเป็นระบบดิจิทัล เพื่อปรับเปลี่ยนการเกษตรแบบดั้งเดิมให้เป็นเกษตรสมัยใหม่ที่เน้นการจัดการและเทคโนโลยี ตอบสนองความต้องการและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้แก่ประชาชน

---------------
*นักพัฒนาระบบราชการชำนาญการ สำนักงาน ก.พ.ร.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น