วันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2562

LIBRA มาแล้ว โดย นายจินตพันธุ์ ทังสุบุตร

เมื่อไม่กี่วันมานี้ Facebooks ได้แถลงข่าวเปิดตัวเงินดิจิทัลสกุลใหม่ที่ชื่อว่า Libra ซึ่งเป็นข่าวที่ทำให้แวดวงธุรกิจการเงินการธนาคาร รวมไปถึงหน่วยงานของรัฐบาลต่างๆ ออกมาให้วิเคราะห์และให้ความเห็นกันอย่างมากมาย

เหตุที่หลายฝ่ายตื่นเต้นกับ Libra นั้นก็เนื่องจาก Libra นั้นเป็นเงินดิจิทัลประเภทที่มีมูลค่าคงที่ (Stable Coin) ซึ่งเป็นเงินดิจิทัลที่มียักษ์ใหญ่ในภาคธุรกิจให้การสนับสนุนและมีคุณสมบัติที่สามารถแก้จุดอ่อนของเงินดิจิทัลอื่นๆ เช่น Bitcoin  Ethereum ได้ หลายคนจึงเห็นว่า Libra มีโอกาสที่จะเติบโตเป็นเงินสกุลกลางในโลกออนไลน์ในระยะอันใกล้ได้

เพื่อให้เข้าใจว่าทำไมหลายฝ่ายจึงตื่นเต้นไปกับการเปิดตัวเงินดิจิทัล Libra เราคงต้องเข้าใจก่อนว่าเงินที่เรารู้จักและใช้อยู่ในปัจจุบันคืออะไร มีข้อจำกัดอย่างไร

ในทางตำรา (Prof. Mann, 1939) เงินมีหน้าที่พื้นฐาน (function) 3 ประการคือ (1) เป็นหน่วยวัดมูลค่า (2) เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (3) เก็บรักษาความมั่งคั่ง 

เงินที่รัฐบาลต่างๆ พิมพ์ออกใช้ในประเทศไม่ว่าจะเป็นดอลลาร์ เยน หรือบาทนั้นล้วนแต่ทำหน้าที่ทั้งสามประการได้ครบถ้วน แต่สิ่งที่ทำให้เงินที่รัฐบาลออกใช้เป็นเงินตราที่สมบูรณ์ได้นั้นคือ “ความเชื่อถือ” (trust) ซึ่งความเชื่อถือของเงินแบบดั้งเดิม (fiat money) เกิดจากการรัฐเป็นผู้ออกและรับรองสถานะของเงิน ว่าสามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย  ความมั่นคงของรัฐและความเชื่อมั่นต่อรัฐในฐานะผู้ออกใช้และรับรองเงินจึงมีผลโดยตรงกับมูลค่าของเงิน

แต่การที่รัฐมีอำนาจผูกขาดและมีอิสระในการออกและควบคุมปริมาณเงินนั้นหลายๆ ครั้งได้นำไปสู่การดำเนินนโยบายของรัฐบาล การเงินการคลังที่ผิดพลาดจนหลายกรณีได้กลายเป็นวิกฤตที่ส่งผลให้มูลค่าของเงินลดลง 

นอกจากนี้ การทำธุรกรรมที่ใช้ fiat money ส่วนใหญ่อยู่ในการกำกับดูแลของรัฐผ่านสถาบันการเงิน และนับวันรัฐก็ยิ่งเพิ่มการกำกับและควบคุมการทำธุรกรรม fiat money มากขึ้นโดยอ้างเหตุเพื่อการป้องกันการฟอกเงินและการหลีกเลี่ยงภาษีอากร ส่งผลให้การทำธุรกรรมมีขั้นตอนยุ่งยากและมีค่าใช้จ่ายสูง ดังจะเห็นได้จากการโอนเงินข้ามประเทศที่มีค่าธรรมเนียมสูง และต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์การกำกับดูแลของทั้งประเทศต้นทางและปลายทาง

แต่เมื่อเทคโนโลยีด้านการสื่อสารและคอมพิวเตอร์มีความพร้อม นักคอมพิวเตอร์กลุ่มหนึ่งจึงได้พยายามแก้ไขปัญหาและข้อจำกัดของเงินดั้งเดิม (fiat money) โดยนำเทคโนโลยี block chain อันเป็นวิธีในการบันทึกข้อมูลรายการธุรกรรม (transaction) โดยใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ยืนยันความถูกต้องและมีการเก็บข้อมูลแบบกระจายตัวโดยไม่มีศูนย์กลาง (distributed ledger) มาใช้ออกเงินสกุลดิจิทัลต่างๆ เช่น Bitcoin Ethereum เงินดิจิทัลจึงเป็นเงินที่สร้างขึ้นโดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์และปลอดจากการควบคุมของรัฐ ซึ่งในทางทฤษฎีนั้นการที่รัฐไม่มีอำนาจควบคุม เงินดิจิทัลจึงไม่ถูกกระทบจากการดำเนินนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ทั้งยังปลอดจากการถูกตรวจสอบในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมการโอนเงินเข้าออกประเทศ ภาษีอากร หรือการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

โดยที่เงินสกุลดิจิทัลในลักษณะของ Bitcoin เป็นเงินที่สร้างขึ้นโดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ไม่มีสินทรัพย์จริงๆ หนุนหลัง Bitcoin จึงทำหน้าที่ได้แต่เพียงเป็น “หน่วยวัดมูลค่า” และเป็น “สื่อกลาง” ในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการเท่านั้น มูลค่าของ Bitcoin ขึ้นอยู่กับ “ความเชื่อของประชาชน” (public trust) ล้วน ๆ ดังนั้น มูลค่าของ Bitcoin จึงเปลี่ยนแปลงได้ง่ายและรวดเร็ว ไม่มีเสถียรภาพเพียงพอที่จะทำหน้าที่ในการเก็บรักษาความมั่งคั่ง ปัจจุบัน Bitcoin จึงเป็นเพียง “ช่องทางเก็งกำไร” ของนักลงทุน แต่ไม่มีการนำมาใช้จ่ายอย่างแพร่หลาย

เพื่อแก้ไขข้อด้อยของเงินสกุลดิจิทัลแบบ Bitcoin จึงมีความพยายามที่จะสร้างเงินดิจิทัลที่มีมูลค่าคงที่หรือที่เรียกกันว่า Stable Coin ขึ้นโดย Stable Coin นั้นใช้เทคโนโลยีเช่นเดียวกับ Bitcoin หากแต่นำแนวคิดดั้งเดิมของ fiat money ในการสร้างมูลค่าของเงินและแก้ไขปัญหาความผันผวน โดยนำสินทรัพย์หนุนหลัง Stable Coin ที่ออกใช้ดังเช่นกรณีของ TrueUSD ที่อ้างว่ามีอัตราส่วนเงินดอลลาร์หนุนหลังอยู่ในอัตราส่วน ต่อ 1  พร้อมทั้งรับรองว่าผู้ที่ได้รับการ KYC จะสามารถแลกเงินดิจิทัล TrueUSD ดังกล่าวกลับเป็นเงินได้

แม้ว่าแนวคิดของ Stable Coin จะสามารถแก้ไขข้อด้อยของเงินสกุลดิจิทัลแบบ Bitcoin ในด้านความผันผวนและความเชื่อถือของประชาชนได้ระดับหนึ่ง แต่หลายคนยังคงมีคำถามว่าสินทรัพย์ที่หนุนหลัง Stable Coin มีอยู่จริงหรือไม่ TrueUSD หรือTether ซึ่งเป็น Stable Coin ก็เคยมีการตรวจสอบสินทรัพย์ แต่เป็นการตรวจสอบอย่างไม่เป็นทางการ โดยบริษัทกฎหมายซึ่งผู้ออกเงินดิจิทัลเป็นผู้ว่าจ้างเท่านั้น ทำให้คำกล่าวอ้างว่าเงินดิจิทัลเหล่านี้มีสินทรัพย์หนุนหลังยังเป็นที่น่าสงสัย

Facebook จึงได้นำข้อดีข้อด้อยของเงินดิจิทัลที่มีอยู่ในปัจจุบันมาเป็นแนวทางในการออกเงิน Libra โดย Facebook เล็งเห็นว่าความสำเร็จของเงินดิจิทัลนั้นขึ้นอยู่กับ ความเชื่อถือ” Facebook จึงให้ Libra อยู่ในรูปแบบ Stable Coin ที่มีสินทรัพย์หนุนหลัง โดยทุกหน่วยของเงิน Libra ที่ออกใช้จะต้องมี “สินทรัพย์จริง” ซึ่งจะประกอบไปด้วยเงินตราสกุลต่างๆ รวมถึงพันธบัตรระยะสั้นของรัฐบาลหนุนหลังในอัตราส่วนเท่ากัน ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับการมีเงินสำรองในการออกธนบัตรของรัฐบาล

สำหรับการเปลี่ยนเงินสกุลต่างๆ ให้เป็น Libra นั้น Facebook ชี้แจงว่าผู้ที่ต้องการ Libra จะต้องนำเงินของประเทศต่างๆ (fiat money) ไปแลก และหากต้องการแลกกลับ ก็จะสามารถแลกกับตัวแทนรับแลกเงินได้ในลักษณะเดียวกับการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ โดยจะมีการกำหนดค่าแลกเปลี่ยนโดยเทียบกับตะกร้าสกุลเงิน

นอกจากนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้ Facebook ตกเป็นเป้าหมายหรือถูกกดดันจากหน่วยงานของรัฐให้ชะลอหรือระงับโครงการ Facebook จึงได้ประกาศว่า Facebook เป็นแต่เพียง “ผู้ริเริ่มคนหนึ่ง” เท่านั้น การดำเนินการในระยะต่อไปจะดำเนินการโดย Libra Association ซึ่งมีสถานะเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร 

ทั้งนี้ Libra Association เลือกจัดตั้งสำนักงานใหญ่ขึ้นที่เมืองเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เนื่องจากเป็นประเทศที่ระบบกฎหมายยอมรับเงินดิจิทัลเป็นสินทรัพย์ และมีกฎเกณฑ์รองรับการจัดทำและจำหน่ายเงินดิจิทัล (ICO) ภายใต้การกำกับดูแลของ FINMA  อีกทั้งเป็นประเทศที่ได้รับความเชื่อถือจากประชาชนทั่วไป ว่ามีความมั่นคงและสามารถปกป้องสิทธิของบุคคลที่อยู่ภายในประเทศได้เป็นอย่างดี  ดังนั้น การที่ Libra Association เลือกจัดตั้งที่สวิสเซอร์แลนด์จึงมีผลในการสร้างความเชื่อมั่นใน Libra  อีกทางหนึ่งด้วย

วิธีการบริหารจัดการ Libra Association ก็เป็นอีกความพยายามหนึ่งในการสร้างความน่าเชื่อถือให้เงินดิจิทัล Libra  โดย Facebook ได้ประกาศว่า Libra Association จะใช้การบริหารแบบสภา (council) ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกเริ่มต้นจำนวน 28 บริษัทซึ่งล้วนแต่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ในกลุ่มธุรกิจต่างๆ ตั้งแต่กลุ่มธุรกิจระบบการชำระเงิน เช่น Visa Master กลุ่มเทคโนโลยีกลุ่มทุน (venture capital) กลุ่มสื่อสาร และประกาศว่าจะขยายจำนวนสมาชิกให้ถึง 100 รายให้ได้ภายในปี 2563 เพื่อให้เกิดการยอมรับจากประชาชนโดยเร็วที่สุด

ในมุมมองของรัฐ ความน่ากลัวของ Libra อยู่ที่ความเป็นไปได้ในการสร้างความน่าเชื่อถือกับสาธารณชน จากการพิจารณาเอกสาร white paper จะเห็นได้ว่า Facebook มุ่งเน้นเรื่องความน่าเชื่อถือ ทั้งในตัวองค์กรการบริหารจัดการทรัพย์สิน สถานที่ตั้ง ชื่อเสียงของสมาชิก รวมถึงเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ ประกอบกับคุณลักษณะของ Libra ที่เป็นเงินดิจิทัลซึ่งสามารถโอนได้ทันทีโดยไม่มีข้อจำกัดด้านกายภาพแล้ว รัฐต่างๆ ย่อมคาดการณ์ได้ว่า Libra อาจกลายเป็นเงินสกุลใหม่ที่อยู่ “นอกการควบคุม” จากอำนาจรัฐแบบเดิม และหากความนิยมในการใช้ Libra เพิ่มขึ้นถึงจุดหนึ่งแล้ว การใช้ Libra ก็อาจกระทบอำนาจอธิปไตย (sovereignty) ของรัฐ ในออกใช้เงินตราของตัวเอง อันเป็นอำนาจที่สำคัญต่อ “ความเป็นอิสระทางเศรษฐกิจ” และเสรีภาพของรัฐในการบริหารการเงินการคลัง หรืออาจส่งผลกระทบกับประสิทธิภาพของรัฐในการกำกับดูแลกิจกรรมต่างๆ เช่น การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน การจัดการกับกิจกรรมเศรษฐกิจนอกระบบ (shadow economy) รวมถึงการจัดเก็บภาษี

แต่การที่รัฐจะจัดการกับ Libra นั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในกรณีของรัฐที่ Libra Association มิได้มีสำนักงานหรือทรัพย์สินตั้งอยู่ เนื่องจากระบบกฎหมายของประเทศต่างๆ ในปัจจุบันนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของอำนาจรัฐ (sovereignty) ที่จำกัดเฉพาะภายในอาณาเขต ในขณะที่ Libra และเงินดิจิทัลอื่นสามารถเคลื่อนย้ายผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้อย่างรวดเร็วโดยไม่มีข้อจำกัดทางกายภาพ การใช้กฎหมายของประเทศหนึ่งเพื่อกำกับดูแลเงินดิจิทัลจึงไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

แม้ว่าที่ผ่านมาหลายประเทศจะได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับเงินดิจิทัลแล้ว แต่จนถึงในปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่ากฎหมายเหล่านั้นมีประสิทธิภาพในการควบคุมเงินดิจิทัลได้เพียงใด การที่ Facebook ออก Libra จึงอาจเป็น “จุดเปลี่ยน” ที่ทำให้รัฐต่างๆ ต้องหันมาพิจารณาวิธีการกำกับดูแลเงินดิจิทัล และหาหนทางที่จะกำกับดูแลให้สอดคล้องกับสถานการณ์ “อย่างเร่งด่วน” กันต่อไป

                             *************

1 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณครับบทความดีๆ สฝน่าสนใจมากครัย ผมสงสัยว่าทุกวันนี้ถ้าเราจะซื้อ bitcoin ก็ต้องเอาเงินบาทไปซื้อซึ่งมันก็จะมีอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ว่าต้องใช้บาทเท่าไหร่ใช่ไหมครับ แล้วเงินสกุล libra นี้ก็ใช้หลักการเดียวกันใข่ไหมครับ แล้วคนกำหนดอัตรามันมาจากเงื่อนไขอย่างไรหรือครับ

    ตอบลบ