วันพุธที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

“พัฒนาดีกว่าปฏิรูป” ปกรณ์ นิลประพันธ์

เราคงได้ยินเรื่องการปฏิรูปด้านต่างๆ กันมากมายในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมานี้นะครับ 

ปฏิรูปการศึกษานี่ดูเหมือนจะนำโด่งฮอตฮิตติดชาร์ทมานาน ใครนึกไม่ออกหรือไม่เคยได้ยินนี่เรียกว่าเชยแหลกทีเดียว แต่ปฏิรูปมานานการศึกษาเราก็รู้สึกจะถดถอยลงไปเรื่อยๆ สัมผัสได้ในระดับครัวเรือนกันทีเดียว

ต่อมาก็คงเป็นเรื่องปฏิรูประบบราชการ ปฏิรูปมาหลายปี เลิกระบบซีมาเป็นระบบแท่งสิบกว่าปีแล้ว แต่เดี๋ยวนี้ก็ยังพูดติดปากกันเสมอว่าใครซีอะไร นับว่างงมาก 

และนอกจากสองเรื่องนั้นแล้วที่ไม่เคยตกขบวนเลยคือปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและกฎหมาย

ว่ากันว่าเมื่อพูดคำว่า ปฏิรูป” ทีไรคนทั่วไปก็จะสามเรื่องนี้ไว้ก่อนทุกที และที่นึกต่อไปก็คือเมื่อไรจะสำเร็จ

อันที่จริงคำว่าปฏิรูปนี่คือ “การเปลี่ยนรูปเปลี่ยนหน้าตา” ถ้าเปลี่ยนรูปเปลี่ยนหน้าตาไปจากเดิม ไม่ว่าผลจะดีขึ้นหรือไม่ ก็เรียกได้ว่าปฏิรูปแล้ว และทั้งสามเรื่องที่ปฏิรูปกันมานมนานนี่ก็เปลี่ยนรูปไปจากเดิมทุกครั้ง  ดังนั้น จะว่าปฏิรูปไม่สำเร็จก็คงไม่ถูกต้องนัก

แต่สิ่งที่สังคมมุ่งประสงค์จริงๆ คือการทำให้เรื่องที่ปฏิรูปมัน ดีขึ้น” ซึ่งตรงกับคำว่า “พัฒนะ” หรือ “พัฒนา” ที่แปลว่า “ทำให้ดีขึ้น” มากกว่า ซึ่งแน่นอนว่าการทำให้ดีขึ้นนี้หมายถึงว่าต้องดีขึ้นตลอดเวลาตามบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะโลกหมุนไปทุกวัน การพัฒนาจึงต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องให้สอดคล้องกับบริบทต่างที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ใช่งานแบบทำทีเดียวจบแล้วเก็บของกลับบ้านเหมือนปฏิรูป ที่ Face off แล้วเป็นอันเลิกรา

ดังนั้น งานพัฒนาจึงเป็นงานที่ต้องทำต่อเนื่องครับหยุดไม่ได้ แต่คนเรานี่แปลกนะครับ เมื่อปักใจกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้วก็จะหยุดการพัฒนาไปเสียเฉยๆ เหมือนอย่างกับที่ใครต่อใครมักปักใจกับตำราของนักวิชาการฝรั่งผู้มีชื่อเสียงเมื่อหลายร้อยปีก่อน (บางทีเลยไปถึงกรีกและโรมันโบราณแล้วนำมาประยุกต์ใช้กับบริบทในโลกยุค 5G อยู่นั่นแหละ แทนที่จะอ่านเรื่องที่มันร่วมสมัยบ้าง

แน่นอนครับว่าหลักการบางอย่างของเก่านั้นเขาก็มีคุณค่าที่ดีและงดงามซึ่งมันก็ยังคงใช้ได้ อย่างเรื่องคุณธรรมจริยธรรม (แต่ไม่ค่อยนำมาพูดกัน) ส่วนเรื่องระบบหรือวิธีการอะไรต่างๆ (ที่พูดกันจัง) นี่มันไม่สามารถใช้เหมือนได้อย่างแน่แท้แล้ว เพราะบริบทมันต่างกันอย่างสิ้นเชิง 

ลองคิดดูง่ายๆ สิครับว่าทำไมฝรั่งในยุคนี้จึงไม่ปฏิบัติเหมือนฝรั่งในยุคศตวรรษที่18 เหมือนเดิมทุกประการเล่า แม้ในประเทศเดียวกันเองก็ตาม คำตอบง่ายๆ ที่ไปถามฝรั่งดูก็ได้ก็คือบริบทมันต่างกันอย่างสิ้นเชิงแล้ว แถมถ้าไปเจอฝรั่งที่เป็นนักวิชาการที่เป็นกลาง ไม่มี hidden agenda เขาอาจถามกลับมาด้วยว่ามงเตสกิเออร์เอย อาดัมสมิทธเอย ไดซี่เอย ค้านท์เอย เฮเก้ลเอย ฯลฯ จากโลกนี้ไปนานเป็นร้อยปีแล้ว ยูคิดว่า context ในสิ่งที่เขาเขียนมันเหมือนกับโลกปัจจุบันหรือ ถ้ามันไม่เหมือน ยูจะเอาแนวคิดเขามาใช้ยังไง จะไม่รีโทรมากเกินไปหน่อยหรือ

จริงๆ นะครับ ตำราที่ผู้เขียนเรียนในยุค 90 หลายเรื่องยังประยุกต์กับบริบทปัจจุบันไม่ได้เลย อย่างเรื่องการค้าโลกนี่ปะไร ใครจะคิดว่าโลกหมุนกลับมาที่protectionism ได้อีกในปี2019 จนหากินฝืดเคืองกันทั่วโลก  ดังนั้น ถ้าใครมัวท่องจำขี้ปากฝรั่งตามหนังสือ เชื่อว่าคงสอบได้คะแนนดี แต่ถ้าประยุกต์ไม่เป็นละก็ เชื่อได้เลยว่าไม่มีอนาคต กลายเป็นแผ่นเสียงตกร่อง ยิ่งถ้าไม่รู้จักคิดถึงอนาคตข้างหน้ายิ่งมืดมน

ที่เขียนมาทั้งหมดนี่ก็ไม่ใช่อะไรหรอกครับ เพียงต้องการชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่สังคมต้องการจริงๆ คือ การพัฒนา” ไม่ใช่ปฏิรูป และการพัฒนานี้ต้องทำไปเรื่อยๆ อย่างต่อเนื่องไม่มีวันหยุด การเมืองเก่าไป การเมืองใหม่เข้ามาก็ต้องพัฒนา ข้าราชการคนเก่าไป คนใหม่เข้ามาก็ต้องพัฒนา ส่งไม้ต่อกันไปเป็นทอดจากรุ่นสู่รุ่น เพื่ออนาคตของบ้านเมืองและ “เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน”

ไม่ใช่เอะอะก็จะนับหนึ่งกันใหม่ แถมต้องนับหนึ่งอย่างที่ฉันกับพวก (จำนวนหนึ่ง) ต้องการเท่านั้นด้วย 

อย่างนั้นไม่เรียกว่าพัฒนาครับ เพราะมันตอบคำถามไม่ได้ว่า “ประชาชนได้อะไร” 

ตอบได้เพียงว่า “พวกฉัน” ได้อะไร.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น