วันพุธที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

"ทิศทางข้าวเวียดนาม: ผลกระทบต่อข้าวไทย" โดยนางสาวพรจันทร์ จงศรี*

ปริมาณและมูลค่าการส่งออกสินค้าข้าวไทยและสินค้าข้าวเวียดนาม

                   ในปี 2561 กรมการค้าต่างประเทศเผยว่า ประเทศไทยส่งออกข้าวมากถึง 11.13 ล้านตัน โดยมีมูลค่าการส่งออกคิดเป็น 180,413 ล้านบาท โดยประเทศไทยส่งออกข้าวเป็นอันดับ 2 รองจากอินเดีย และเวียดนามเพื่อนบ้านของเราส่งออกข้าวเป็นอันดับ 3 ซึ่งมูลค่าการส่งออกข้าวของประเทศไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.50 จากปี 2560 ประเทศที่ไทยส่งออกข้าวมากที่สุด 5 ลำดับแรกในปี 2561 คือ ประเทศเบนิน ประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศแอฟริกาใต้ และประเทศจีน (ที่มา: สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย, ออนไลน์)

                   เมื่อเทียบกับประเทศเวียดนามพบว่า ตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญ 5 อันดับแรกของเวียดนามในเดือนมกราคมปี 2562 ได้แก่ ฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 46.70) ฮ่องกง (ร้อยละ 7.10) โกตดิวัวร์ (ร้อยละ 5.20) กานา (ร้อยละ 4.40) และมาเลเชีย (ร้อยละ 3.90) (ที่มา: สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์อ้างถึงกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเวียดนาม, ออนไลน์)

พื้นที่ปลูกข้าวของประเทศไทยและเวียดนาม

                   ในปี 2561 ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมดประมาณ 70 ล้านไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การปลูกข้าวของไทยแบ่งเป็น 2 แบบ คือ (1) ข้าวนาปี มีปริมาณร้อยละ 80 ของผลผลิตข้าวรวมทั้งประเทศ เน้นพึ่งน้ำฝนมีช่วงเวลาเพาะปลูกในฤดูฝนช่วงเดือน ก.ค. - ก.ย.ของทุกปี และเก็บเกี่ยวในช่วงปลายปี (2) ข้าวนาปรัง มีการเพาะปลูกร้อยละ 20 ปลูกในฤดูแล้งซึ่งต้องอาศัยน้ำจากระบบชลประทาน เพาะปลูกในภาคเหนือและภาคกลาง (ที่มา: สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย, ออนไลน์)

                   ข้าวเป็นพืชเศรษฐกิจที่เวียดนามมีการเพาะปลูกมากที่สุด โดยมีเนื้อที่ปลูกข้าวทั่วประเทศประมาณร้อยละ 70 ของพื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมด แหล่งปลูกข้าวสำคัญ 2 แหล่ง ได้แก่ บริเวณที่ราบลุ่มปากแม่น้ำแดงทางภาคเหนือ (Red river delta) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการปลูกข้าวเพื่อการบริโภคภายในประเทศ และบริเวณที่ราบลุ่มปากแม่น้ำโขงทางภาคใต้ (Mekong river delta) ซึ่งเป็นแหล่งปลูกข้าวสำคัญมีขนาดใหญ่ที่สุดและส่วนใหญ่เป็นการปลูกข้าวคุณภาพดีเพื่อการส่งออก

                   ผลผลิตข้าวจากแหล่งปลูกพื้นที่ราบลุ่มปากแม่น้ำโขงของเวียดนามมีสัดส่วนโดยประมาณร้อยละ 90 ของปริมาณการส่งออกข้าวทั้งหมดของเวียดนามในปัจจุบัน (ที่มา: สำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ (2558), ออนไลน์) โดยข้อมูลจากสถิติของกระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเวียดนามในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2561 (ระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 15 มีนาคม) พบว่า เวียดนามมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวในช่วงฤดูหนาว - ฤดูใบไม้ผลิเพิ่มขึ้น โดยในปี 2561 เวียดนามมีพื้นที่เพาะปลูกข้าวประมาณ 19 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2560 ที่มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวประมาณ 18 ล้านไร่

แนวโน้มทิศทางการส่งออกสินค้าข้าวเวียดนามในอนาคต

                    เวียดนามยังคงมุ่งเน้นการส่งออกข้าวในตลาดเอเชียเป็นหลัก โดยในปี 2562 ประเทศจีน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซียมีความต้องการนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจีนคาดว่าจะมีการนำเข้าข้าว 5.2 ล้านตัน โดยเพิ่มขึ้น 200,000 ตันจากเมื่อปี 2561 ครึ่งหนึ่งเป็นการนำเข้าภายใต้รัฐวิสาหกิจและอีกครึ่งหนึ่งเป็นการนำเข้าของภาคเอกชน ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าจากเวียดนาม ไทย กัมพูชา และพม่า

                    อินโดนีเซียมีนโยบายนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้น 800,000 ตันจากปี 2561  สำหรับตลาดฟิลิปปินส์คาดว่าในปี 2562 จะมีการนำเข้าข้าวปริมาณ 2.3 ล้านตัน อีกทั้ง ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ได้ออกกฎหมายอนุญาตให้บริษัทเอกชสามารถนำเข้าข้าวโดยไม่จำกัดปริมาณ ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทเอกชนในฟิลิปปินส์จำนวน 180 ราย ที่ได้ขึ้นทะเบียนเพื่อนำเข้าข้าวจากเวียดนามปริมาณรวม 1.2 ล้านตัน แสดงให้เห็นว่าตลาดฟิลิปปินส์เป็นอีกหนึ่งตลาดส่งออกข้าวที่มีความสำคัญของเวียดนาม

                    นอกจากนี้ในปี 2562 ประเทศมาเลเซียมีเป้าหมายจะนำเข้าข้าวปริมาณ 950,000 ตันอีกด้วย ซึ่งมีความเป็นไปได้ในการนำเข้าข้าวจากเวียดนาม เนื่องจากเวียดนามมีความสามารถในการแข่งขันด้านราคา (ที่มา: สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครโฮจิมินห์, 2561)

                    ปัจจุบันเวียดนามมีการออกนโยบายในการผลักดันตนเองให้เป็น “ผู้นำในการส่งออกข้าว” โดยกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าของเวียดนาม ได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาการส่งออกข้าวในช่วงปี 2017 - 2020 มีการวางกลยุทธ์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และส่งเสริมการส่งออกข้าวโดยการเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันและ “สร้างแบรนด์ข้าวเวียดนาม” เพื่อส่งออกและเพิ่มศักยภาพในการกระจายตลาดส่งออก (Vietnam Economic News, online)

                    กลยุทธ์ดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายของนายกรัฐมนตรีเวียดนามที่ได้มีการอนุมัติโครงการพัฒนาแบรนด์ข้าวของเวียดนาม ซึ่งมีการแสดงวิสัยทัศน์ว่า ภายในปี 2573 “ข้าวเวียดนามจะเป็นข้าวอันดับหนึ่งของโลก ทั้งในด้านคุณภาพและความปลอดภัยทางอาหาร” โดยวัตถุประสงค์ของโครงการนี้คือการกำหนดมูลค่าและภาพลักษณ์ของข้าวเวียดนาม เพิ่มการรับรู้ของผู้ผลิต/ผู้นำเข้า/ผู้จัดจำหน่าย/ลูกค้าภายในประเทศ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก และเมื่อวันที่ 18 - 24 มกราคม 2561 ในงานเทศกาลข้าวเวียดนามที่จังหวัดลองอาน กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทได้เปิดเผยโฉมโลโก้ “ข้าวเวียดนาม”  โดยสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาแห่งชาติรับรองให้เป็นเครื่องหมายการค้าอย่างเป็นทางการครั้งแรกสำหรับแบรนด์ข้าวของประเทศ นับตั้งแต่เวียดนามเริ่มมีส่วนในการค้าข้าวทั่วโลกครั้งแรกในปี 2532 (ที่มา: Viet Nam News, online)

                     เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและพัฒนาชนบทเวียดนาม และบริษัท Korea Rural Community Corporation (KRC) ได้มีการลงนามข้อตกลงในโครงการ "ที่ราบลุ่มปากแม่น้ำแดง" โดย ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าของข้าวภายใต้เงินทุนสนับสนุนจากรัฐบาลเกาหลีใต้จำนวน 5 พันล้านวอนหรือ 4.5 ล้านเหรียญสหรัฐ เป้าหมายของโครงการเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับผู้อยู่อาศัยบริเวณดังกล่าว เพิ่มกำลังการผลิตในภูมิภาค และเพิ่มคุณภาพของข้าวเวียดนามผ่านการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง โดยโครงการจะดำเนินการในพื้นที่บริเวณทางตอนเหนือของจังหวัดท้ายบิ่ญในช่วงปี 2562-2566 (ที่มา: The Saigon Times (12 July 2019), online)

การวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์สินค้าข้าวไทยและสินค้าข้าวเวียดนาม

                    ในอดีต ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวหอมมะลิรายใหญ่ของโลก แต่ปัจจุบันเผชิญภาวะการแข่งขันรุนแรงขึ้นเป็นลำดับจากประเทศคู่แข่งที่มีการพัฒนาพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพใกล้เคียงกัน อาทิ ข้าวบาสมาติของอินเดีย และข้าวกลิ่นหอมของสหรัฐฯ หรือ American Jasmine และข้าวหอมพันธุ์ ST 21 ของเวียดนาม เป็นต้น อีกทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรมข้าวของไทยที่ผ่านมายังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร โดยที่ผ่านมาเป็นการเน้นเพิ่มปริมาณการผลิตมากกว่าการยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์หรือพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ ให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น ไทยยังประสบปัญหาด้านระบบงบประมาณในการวิจัย แม้ไทยจะมีงานวิจัยสายพันธุ์ข้าวมากมาย แต่ยังมีการติดปัญหาเรื่องงบประมาณและกำลังคนในการพัฒนาระบบวิจัย นอกจากนี้ ไทยยังประสบปัญหาด้านแรงงาน สัดส่วนการผลิตของภาคเกษตรลดลงเป็นลําดับ และยังมีแนวโน้มลดลงต่อไป เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมและบริการมีมูลค่าเพิ่มสูงกว่า

                    ส่วนเวียดนามนั้นเขาปกครองด้วยระบบสังคมนิยม ทำให้มีเสถียรภาพทางการเมืองสูง นักลงทุนมีความเชื่อมั่น และตั้งแต่ปี 2560 กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนามได้ยกเลิกกฎระเบียบหลายประการที่เห็นว่าเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาของอุตสาหกรรมข้าวเวียดนาม และมีการร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ ในการนำเทคโนโลยีมาใช้กระบวนการผลิต มีการเน้นการรวมกลุ่มเกษตรกรในลักษณะ Contract Farming รวมทั้งให้ความสําคัญกับภาคการเกษตรโดยเฉพาะเรื่อง Food Security

                    จากการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์สินค้าข้าวไทยและสินค้าข้าวเวียดนาม จะเห็นได้ว่าสินค้าข้าวเวียดนามสามารถเข้ามาตีตลาดสินค้าข้าวไทยได้ในเรื่องราคาข้าว ปริมาณการผลิต รวมไปถึงการผลักดันจากรัฐบาล ในขณะที่สินค้าข้าวไทยสามารถแข่งขันกับสินค้าข้าวเวียดนามได้ในเรื่องของคุณภาพสินค้าข้าวซึ่งได้รับการยอมรับด้านคุณภาพในระดับสากล อีกทั้งข้าวหอมมะลิไทยขึ้นชื่อระดับโลกและเป็นที่ต้องการของตลาดโลก  หากเราสามารถนำจุดแข็งนี้มาใช้ในการวางแผนกลยุทธ์ ก็น่าจะเป็นประโยชน์มาก

                    นอกจากนี้ ประเด็นที่จำเป็นอื่นได้แก่การสนับสนุนให้มีการวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภาพข้าว มีนโยบายสนับสนุนนักลงทุนเพื่อมาลงทุนในการจำหน่ายสินค้าข้าว รวมไปถึงควรปรับรูปแบบการผลิตไปเน้นการผลิตแบบเกษตรประณีต มีการผลิตข้าวที่มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล และมุ่งตลาดเฉพาะ (Niche Market) บนพื้นฐานของการปรับปรุงประสิทธิภาพ การผลิตโดยให้มีต้นทุนการผลิตลดลง ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น ทั้งจากการพัฒนาเมล็ดพันธุ์ พัฒนาแหล่งน้ำให้กระจายทั่วถึงด้วย

                                                   ************************

*นักพัฒนาระบบราชการปฎิบัติการ (นปร. รุ่นที่ 12) ปฏิบัติราชการ ณ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครโฮจิมินห์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น