วันพุธที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

จากนโยบายรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ สู่การบริหารรัฐบาลท้องถิ่นอัจฉริยะในกรุงโซล โดยนางสาวสุพิชา มีกลุ่ม*

ช่วงศตวรรษที่ 1970 ประเทศเกาหลีใต้เปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจจากอุตสาหกรรมเบาไปสู่อุตสาหกรรมหนัก รัฐบาลมีความต้องการเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันเศรษฐกิจ อีกทั้งพัฒนาประสิทธิภาพของการบริหารภาครัฐให้สอดรับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ จึงนำมาสู่การริเริ่มนโยบายรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (E-government) 

        ในปี ค.ศ. 1978 เกาหลีใต้ได้จัดทำแผนการบริหารทางระบบคอมพิวเตอร์ (ฉบับแรก) กระทรวงพัฒนาระบบราชการ (MOGA) นำการประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในหน่วยงานภาครัฐ พร้อมประกาศกฎหมาย “พระราชบัญญัติเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (ฉบับแรก) และแต่งตั้งคณะกรรมการด้านการบริหารงานคอมพิวเตอร์

ระยะที่ 2 ช่วงวางรากฐาน (ค.ศ. 1987-1996) ออกกฎหมายรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government) ฉบับแรก และวางโครงสร้างเทคโนโลยีสารสนเทศ เช่น โครงการเครือข่ายบรอดแบนด์ความเร็วสูง โครงการเครือข่ายคอมพิวเตอร์ภายในกระทรวงให้มีระบบการทำงานเดียวกัน อีกทั้งริเริ่มโครงการจัดเก็บสถิติพื้นฐาน เช่น ทะเบียนบ้าน อสังหาริมทรัพย์ ระบบสวัสดิการ ก่อให้เกิดบริการภาครัฐสู่ประชาชนในรูปแบบดิจิทัล เช่น การจดสิทธิบัตร การจัดเก็บภาษีบุคคล และภาษีศุลกากร

ระยะที่ 3 (ค.ศ. 1997-2002) ช่วงแห่งการเติบโตอย่างก้าวกระโดดจากแผนพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ e-Goverment เกาหลีใต้มุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายการบริหารแบบบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ด้วยการสร้างการเรียนรู้ในข้าราชการระหว่างรัฐบาลส่วนกลาง และรัฐบาลท้องถิ่น ในขณะเดียวกัน ได้กระจายโครงสร้างพื้นฐานทางคอมพิวเตอร์ และอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงภายใภาครัฐ จากการวางรากฐานระบบการทำงานเดียวกัน ทำให้เกิดโครงการแห่งความสำเร็จด้าน e-Government หลายโครงการ เช่น การเชื่อมต่อระบบข้อมูลระบบประกันสังคม ระบบข้อมูลการเงินระดับชาติ ระบบงานบุคคลกร (Personnel Policy Support System (PPSS) การรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (E-approval) เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (E-document)  การนำข้อมูลระหว่างหน่วยงานคาดการณ์ความต้องการบริการ ICT 

        ในส่วนของด้านกฎหมายมีการเพิ่มเติม และปรับปรุงกฎหมายรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ให้มีความทันสมัย เพื่อรองรับสภาพแวดล้อมในช่วงเวลาดังกล่าว เช่น กฎหมาย e-Signature เพื่อรองรับลายมืออิเล็กทรอนิกส์สำหรับการบริหารการแบ่งปันข้อมูล 

ในช่วงที่ 4 (พ.ศ. 2003-2012) เน้นการบริหารจัดการด้วย E-Participation คือ การการบริหารการมีส่วนร่วมในภาคประชาชน และเอกชนผ่านเทคโนโลยี เกิด “นวัตกรรมทางการบริหาร” ที่เป็นรูปแบบการศึกษาด้านการบริหารจัดการภาครัฐด้วยเทคโนโลยีให้แก่หลายประเทศ  

นโยบายรัฐบาลอิเล็กทรอนิสก์ของเกาหลีใต้ เป็นแนวทางการบริหารภาครัฐทั้งในระดับส่วนกลาง และรัฐบาลท้องถิ่น หนึ่งในรัฐบาลท้องถิ่นของเกาหลีใต้ที่ประสบความสำเร็จจากการดำเนินนโยบายรัฐบาล และการบริหารราชการไปสู่การยกระดับเป็น Smart Government City อันดับ 3 ของโลก (Eden Strategy Institute, 2019) คือ รัฐบาลท้องถิ่นกรุงโซล Seoul Municipal Government (SMG) 

ในอดีตที่ผ่านมาการบริหารราชการของกรุงโซลมีสภาปกครองส่วนท้องถิ่น อันประกอบด้วยฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนกรุงโซล อย่างไรก็ตาม ความเป็นพลวัตรของสังคมด้วยกระแสโลกาภิวัฒน์ และจากประชากรในกรุงโซลที่มีเพิ่มขึ้นกว่า 25 ล้านคน รัฐบาลท้องถิ่นกรุงโซลตระหนักว่า ยุทธศาสตร์การบริหารเมืองรูปแบบเดิมไม่สามารถตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงทางสังคม และภาครัฐก็ไม่สามารถเป็นผู้ดำเนินนโยบายได้เพียงฝ่ายเดียวภายใต้การขยาย “ความเป็นเมือง” (Urbanization) ของกรุงโซล

ดังนั้น ในปี 2011 Seoul Municipal Government (SMG)  ได้ปรับยุทธศาสตร์เชิงการบริหารกรุงโซลจากแบบ Top-down เป็น การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ด้วย e-Government ให้ประชาชนกรุงโซลเป็นหัวใจสำคัญ โดยมีกลยุทธ์การบริหารงานแนวใหม่ ดังนี้ 

1. การวางโครงสร้างพื้นฐานใน e-Government เพื่อเชื่อมโยงกับประชาชน

ในปี 2003 กรุงโซลได้ติดตั้ง e-Seoul กว่า 36 หน่วยงานผ่านเครือข่าย Fiber optic ในรถไฟใต้ดิน เพื่อวางรากฐานโครงข่ายการสื่อสารอินเทอร์เน็ต ให้ประชาชนเชื่อมโยงการบริการของรัฐกับอุปกรณ์สื่อสารได้ทุกที่ทุกเวลา ซึ่งเป็นนิยามของคำว่า Smart City ทำให้รัฐบาลท้องถิ่นมีข้อมูลในการพัฒนานโยบายครอบคลุมทุกบริการสาธารณะ เช่น วางผังเมือง วัฒนธรรม การท่องเที่ยว การขนส่ง และที่อยู่อาศัย

2. การวางยุทธศาสตร์เมืองเชิงรุก

ประชาชนยุคปัจจุบันเปลี่ยนการสื่อสารจากการใช้คอมพิวเตอร์เป็นการใช้สมาร์ทโฟนเพิ่มมากขึ้น ในปี 2013 รัฐบาลท้องถิ่นกรุงโซลจึงเน้นกลยุทธ์เชิงรุก “การบริการภาครัฐผ่านโทรศัพท์มือถือ” ประกาศ “แผนแม่บทมือถือ” (Mobile Master Plan) มีจุดประสงค์เพื่อสร้างแพลตฟอร์มต่าง ๆ ผ่านการใช้งานบนโทรศัพท์มือถือ ให้ประชาชนสามารถแบ่งปันข้อมูล และบริหารจัดการเมืองร่วมกัน เช่น การกำหนดความต้องการสวัสดิการสังคม การสร้างเศรษฐกิจอย่างสมดุลร่วมกัน รวมไปถึงสุขภาพ ความปลอดภัยทางการขนส่ง และสิ่งแวดล้อม 

3“การบริหารภาครัฐอัฉริยะ” (Smart Goverment) 

      ในปี 1999 รัฐบาลท้องถิ่นกรุงโซลจัดระเบียบโครงสร้างการดำเนินงาน e-Governmennt ของรัฐบาลท้องถิ่นกรุงโซลให้สอดคล้องกับภารกิจงานใหม่ ด้วยการแต่งตั้งหัวหน้าสารสนเทศ หรือ Chief Information Officer (CIO) ทำหน้าที่รับผิดชอบภารกิจงานด้านเทคโนโลยี และนโยบายการบริการภาครัฐด้วยเทคโนโลยี ภายใต้กลุ่มงานใหม่ ที่ชื่อว่ากลุ่มส่งเสริมรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ มีบุคลากร 195 คน แบ่งภารกิจออกเป็น 4 กอง ได้แก่ กองการวางแผนข้อมูล กองระบบข้อมูล กองข้อมูลเชิงพื้นที่ กองข้อมูลการสื่อสารและความปลอดภัย อีกทั้ง จัดตั้งหน่วยงานใหม่เพื่อให้ภาครัฐสนับสนุนการพัฒนากรุงโซลสู่เมืองอัจฉริยะ ได้แก่  ศูนย์ข้อมูลโซล (Seoul Data Center) ในการควบคุมแบบระบบเซิร์ฟเวอร์ และระบบป้องกันข้อมูล สำนักนวัตกรรมกรุงโซล (The Seoul Innovation Bureau) วางแผนนโยบายนวัตกรรมในกรุงโซล ซึ่ง “นวัตกรรม” มิได้หมายถึงเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึง ความร่วมมือที่เกิดขึ้นจากการร่วมแก้ไขปัญหาของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ร่วมมือกันทุกฝ่าย

4. “การบริหารอย่างมีส่วนร่วมแบบอิเล็กทรอนิกส์” (E-Participation)

         ช่วงปี 2000 ในยุคระบบราชการ 3.0 ของเกาหลีใต้ เป็นต้นมา ได้นำการบริหารงานภาครัฐแบบใหม่ (New Public Management: NPM) เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้านการบริหารงานราชการผ่านนโยบายแบบ Top-down ในขณะที่ความต้องการของประชาชนยุคปัจจุบัน ต้องการร่วมออกแบบนโยบายที่มาปัญหาในวิถีชีวิตประจำวันของตน รัฐบาลท้องถิ่นกรุงโซลจึงใช้หลักการ การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วมแบบอิเล็กทรอนิกส์” ด้วยการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย และรับฟังความคิดเห็นของประชานผ่านทางเทคโนโลยี สร้างการมีส่วนร่วมอย่างจริงใจ มีคุณภาพ จากระดับล่างขึ้นสู่ระดับบน ตัวอย่างเช่น การลงคะแนนเสียง M-Voting บนมือถือ

        ในปี 2014 รัฐบาลท้องถิ่นกรุงโซลเปิดตัว M-Voting (Mobile Voting System) เป็นแอปพลิเคชันในการสื่อสารกับประชาชน โดยประชาชนสามารกำหนดนโยบายด้วยการลงคะแนนแบบเรียลไทม์บนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะมีผลต่อตัดสินใจนำนโยบาย แอปพลิเคชันนี้เป็นกระบวนการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ภาคประชาชน (Citizen empowerment) ให้ประชาชนเข้ามามีบทบาทโดยตรงผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์

5. การสร้างประชาชนให้เป็นนักนวัตกรรม 

       รัฐบาลท้องถิ่นกรุงโซล ต้องการสร้าง "สภาพแวดล้อมแห่งนวัตกรรม” (Innovation Ecosystem) ทั้งมิติสังคม เศรษฐกิจ และการบริหารงานของภาครัฐ เพื่อส่งเสริมการบริหารแบบมีส่วนร่วมให้สำเร็จ ด้วยการสนับสนุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 

การสนับสนุนโครงข่ายพื้นฐานของภาครัฐส่วนกลาง เช่น การกระจายเครือข่ายอินเตอร์เน็ตฟรีในที่สาธารณะที่ช่วยสร้างโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลภาครัฐ และบริการของรัฐ

       รวมศูนย์แพลตฟอร์มข้อมูลสาธารณะ และการบริการของภาครัฐ ในเว็บไซต์ http://opengov.seoul.go.krhttp://data.seoul.go.kr มีชุดข้อมูลกว่า 4,700 ชุด ใน 10 พื้นที่ เช่น การบริหารทั่วไป วัฒนธรรม การท่องเที่ยวสาธารณะ สุขภาพ สิ่งแวดล้อม ซึ่งประชาชนสามารถสามารถเข้าถึงข้อมูลสาธาณะเพื่อการใช้ประโยชน์ และการตรวจสอบการบริหารงานของภาครัฐ ในขณะเดียวกัน เพื่อสนับสนุนให้หน่วยงานส่วนราชการใช้ข้อมูลจากเว็บไซต์ดังกล่าวในการปรับปรุงและพัฒนานโยบาย รวมทั้งคิดค้นนวัตกรรมร่วมกับชุมชน 

ศูนย์สนับสนุนชุมชนโซล  เพื่อสนับสนุนชุมชนท้องถิ่นให้เข้มแข็ง ตั้งแต่การเชิญให้ประชาชนมาร่วมอภิปรายปัญหาปัญหากับประชาชนในพื้นที่เพื่อค้นหาวิธีแก้ไขปัญหาในชุมชนร่วมกัน การเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มตรวจสอบการบริหารงานเมือง ให้ประชาชนมีความรู้สึกถึงการเป็นเจ้าของชุมชนร่วมกับรัฐบาลท้องถิ่น

ศูนย์เศรษฐกิจสังคมโซล เป็นศูนย์รวมของนวัตกรรมการทำงานร่วมกันเพื่อเศรษฐกิจสังคมที่ยั่งยืนยิ่งขึ้นเชื่อมโยงผู้สร้างนวัตกรรม ผู้ประกอบการ และบริษัทท้องถิ่น เพื่อค้นหาวิธีแก้ไขปัญหาสังคมร่วมกัน

การจัดตั้ง Seoul Innovation Park เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ สำหรับการทดลองนวัตกรรมทางสังคม (Living Lab) เช่น ลานจอดรถมีความสุข (การทดลองในการแบ่งปันพื้นที่จอดรถส่วนตัว) โครงการรีไซเคิลแบตเตอรี่ การศึกษาด้านการจัดการเมืองเพื่อกลุ่มผู้พิการ  

โครงการร่วมทุน (The Seoul Digital Foundation) เป็นกองทุนสำหรับกลุ่มเศรษฐกิจดิจิทัล ที่จะเป็นผู้ร่วมทุน สนับสนุนนวัตกรรมเพื่อการพัฒนากรุงโซล

ผลลัพธ์ของการสร้างสภาพแวดล้อมแห่ง “นวัตกรรม” ทำให้เกิดระบบนิเวศทางเทคโนโลยี (Ecosystem Technologies)  และกลุ่มผู้ดำเนินนโยบายใหม่ร่วมกับรัฐ เช่น ในระดับภาคประชาชน เกิดการรับรู้ทางด้านความเป็นพลเมือง และเจ้าของร่วมกันกับภาครัฐ ในภาคเอกชน มีพื้นที่การแข่งขันทางเศรษฐกิจ สรรสร้างให้กลุ่มกำหนดนโยบายเหล่านี้ผลิตนวัตกรรมที่สร้างคุณค่าให้แก่สังคม ตัวอย่างเช่น NIGHT BUS ROUTE OPTIMIZATION เป็นการร่วมมือระหว่างภาครัฐโดยกรุงโซล และภาคเอกชนจากบริษัเครือข่ายโทรคมนาคม (KT) ในการจัดเก็บข้อมูลการขนส่งสาธารณะของประชากรที่โดยสารขนส่งสาธารณะ เพื่อออกแบบเส้นทางเดินรถโดยสารให้เหมาะสมตามพื้นที่ และช่วงเวลา เช่น การเพิ่มเส้นทางเดินรถขนส่งสาธารณะรอบกลางคืนในเส้นทางเฉพาะ

กล่าวโดยสรุป ปัจจัยแห่งความสำเร็จที่นโยบายรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ให้เกิดผลลัพธ์เป็นรูปธรรมในรัฐบาลท้องถิ่น และสามารถยกระดับสู่การริหารภาครัฐอัจฉริยะในกรุงโซล ประกอบด้วย

1. การวางแผนตั้งแต่ระดับโครงสร้างพื้นฐานให้เปิดกว้าง และเชื่อมโยงกัน เช่น การวางโครงสร้างพื้นฐาน ระหว่างกระทรวงตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ยุทธศาสตร์ และปรับปรุงกฎหมายให้มีความเท่าทันการเปลี่ยนแปลงในสังคม เพื่อสร้างความมั่นคงไปสู่การกระจายอำนาจให้รัฐบาลระดับท้องถิ่น ให้มีศักยภาพที่จะดำเนินนโยบายรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ต่อได้

2. การปรับบทบาท ภารกิจ และออกแบบขนาดของภาครัฐท้องถิ่นให้เหมาะสม (Re-designing of government services) ด้วยการปรับโครงสร้างการบริหารงานสอดรับกับภารกิจใหม่ด้านเทคโนโลยี ไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน และสร้างทรัพยากรภายในพื้นที่ เช่น ศูนย์การจัดการข้อมูล ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน เพื่อเป็นกลไกเชื่อมต่อระหว่างภาครัฐ และภาคประชาชน 

3. การบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม ด้วยการสร้างระบบนิเวศทั้งด้านสังคม และเศรษฐกิจใหม่ หน่วยงานรัฐพร้อมจะสร้างสมดุล และจัดการความสัมพันธ์ระหว่างกลไกภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคส่วนอื่น  ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายท้องถิ่นจากวัฒนธรรมลำดับชั้น (Hierarchical Culture) เปลี่ยนแปลงไปสู่การสร้างวัฒนธรรมความเป็นพลเมืองร่วมกัน


*******************

*ข้าราชการในโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ รุ่นที่ 12 สำนักงาน ก.พ.ร. ปฏิบัติราชการ ณสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น