เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
ผู้เขียนได้มีโอกาสรับฟังการถ่ายทอดความรู้จากท่านองคมนตรี นายแพทย์เกษม วัฒนชัย เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาความยากจนของประเทศจีน
ทำให้ผู้เขียนเรียนรู้ว่าหลังจากท่านสี จิ้น ผิง (Xi Jinping) ได้รับเลือกเป็นเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2555 ท่านได้กล่าวถึง
“ความฝันของจีน1” (Chinese dream) ว่า “ความฝันของคนจีนในวันนี้คือการฟื้นฟูชาติ” และท่านได้ออกมาตรการต่าง ๆ และเร่งดำเนินการอย่างจริงจังและเป็นระบบ
จนมีแนวโน้มว่าความฝันของจีนจะสำเร็จเป็นจริงได้ภายในปี 2020
ปัจจัยของความสำเร็จนอกจากระบบการเมืองการปกครองที่ทำให้นโยบายมีความต่อเนื่องแล้ว
ยังมีภาคราชการที่เข้มแข็งและจริงจัง มีมาตรการช่วยเหลืออย่างตรงจุดและตรงกลุ่ม2 รวมตลอดทั้งวัฒนธรรม ความเชื่อ
และการดำรงชีวิตตามปรัชญาและคำสอนของนักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่อย่างขงจื๊อ เล่าจื๊อ
ผู้เขียนนำข้อคิดที่ได้รับจากท่านองคมนตรีมาคิดวิเคราะห์ต่อว่า
นอกจากแนวคิดแนวปฏิบัติที่ภาครัฐจะต้องเข้าใจ และเข้าถึง เพื่อนำไปพัฒนาคุณภาพชีวิตคนจน
รวมไปถึงบริบทของครอบครัวและสังคมของคนกลุ่มนี้แล้วนั้น อะไรคือเครื่องมืออันชาญฉลาดที่ช่วยให้ภาครัฐสามารถทุ่นแรงในการนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาความยากจนของคนในชาติโดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นรูปธรรม
คำตอบหนึ่งที่มีอยู่คงไม่หนีพ้นเรื่องของการใช้
“เทคโนโลยี” (Technology)
เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน
ฟังดูแล้วการใช้เทคโนโลยีมาแก้ไขปัญหาความยากจนออกจะไกล
ๆ กันสักหน่อย แต่จริง ๆ แล้ว ภาครัฐของประเทศจีนทุ่มเทเทคโนโลยีมาสนับสนุนการแก้ไขปัญหาความยากจนมาเป็นระยะเวลานาน บนหลักการที่ว่า
“ต้องแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด” ซึ่งการจะแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดได้
ต้องมีข้อมูลระดับครัวเรือน เพราะแต่ละครัวเรือนยากจนเพราะปัญหาที่แตกต่างกัน
การมีข้อมูลความยากจนของครัวเรือนโดยละเอียดและทันสมัยจึงจะทำให้ภาครัฐรู้ว่าปัญหาของและครัวเรือนคืออะไร
จะแก้ปัญหาได้ตรงจุด ไม่ใช้ระบบ one size fits
all
ที่สำคัญคือ เจ้าหน้าที่ภาครัฐต้องรู้จักคุณค่าและความสำคัญของเทคโนโลยีที่ว่าและนำมาใช้อย่างจริงจัง
ไม่ว่าจะอยู่พื้นที่ใดก็สามารถหยิบยกข้อมูลที่เกิดจากระบบเทคโนโลยีไปใช้เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนในระดับครัวเรือนได้จากทุกที่
ทุกเวลา
จากการศึกษาเพิ่มเติม ผู้เขียนพบว่าจีนใช้ยุทธศาสตร์การเก็บข้อมูล
(Data)3 เพื่อที่จะนำมาใช้เป็นหลักเกณฑ์ที่จะใช้วัดความยากจน
ซึ่งประเทศจีนมีความพยายามในการเก็บรวบรวมข้อมูลเรื่องความยากจนและเผยแพร่แก่คนทั่วไป
อันจะทำให้นักวิเคราะห์สามารถนำข้อมูลมาใช้ประเมินผลลัพธ์ของนโยบายรัฐ ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐเองก็สามารถอาศัยข้อมูลมาใช้กำหนดนโยบายต่อสู่กับความยากจน
และปรับปรุงนโยบายเมื่อสภาพการณ์เปลี่ยนแปลงไป
รัฐบาลจีนเลือกใช้วิธีเก็บปริมาณข้อมูลจำนวนมหาศาลที่มีอยู่ทุกรูปแบบ (Big Data) โดยกำหนดให้มณฑลกุ้ยโจวเป็นที่ตั้งของศูนย์ Big Data
แห่งแรกของประเทศจีน ทั้ง ๆ ที่มณฑลกุ้ยโจวมีประชากรยากจนอยู่ในอันดับต้น ๆ ของจีน
แต่กลับมีข้อได้เปรียบด้านปัจจัยการพัฒนา Big Data
หลายประการ ทั้งในด้านสภาพภูมิอากาศ (Weather) เพราะมีอุณหภูมิ
(Temperature) ที่เหมาะสม
ส่งผลดีต่อการควบคุมอุปกรณ์ IT มีต้นทุนค่าไฟฟ้าถูกเพราะเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าที่สำคัญของประเทศจีน และที่สำคัญคือโครงข่ายอินเทอร์เน็ตที่สมบูรณ์
เพราะกุ้ยโจวเป็นเมืองแรกของประเทศจีน ที่มี Wi-Fi ครอบคลุมทั้งเมือง
ประชาชนจึงเข้าถึงเทคโนโลยีสารสนเทศได้อย่างง่ายดาย4
เจ้า Big Data นี่เอง
ที่ทำให้กุ้ยโจว มณฑลที่มีประชากรยากจนจำนวนมากเป็นอันดับต้น ๆ ของจีน เปลี่ยนแปลงไปอย่างมหัศจรรย์ กล่าวคือ เพียงแค่ 5 ปี อัตราคนยากจนลดลงจากร้อยละ 26.8
เหลือเพียงร้อยละ 8 เท่านั้น5 ซึ่งไม่เพียงแต่จะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนแล้ว
ยังเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของมณฑลกุ้ยโจวให้ก้าวหน้ายิ่ง
ๆ ขึ้น โดยที่ปัจจุบัน
กุ้ยโจวยังคงสามารถรักษาอัตราการเติบโตของ GDP ให้ติด 1 ใน 3 ของจีน ต่อเนื่องกันมานานถึง 7 ปี6
โดยรัฐบาลกุ้ยโจวใช้ Big
Data ควบคู่ไปกับระบบคอมพิวเตอร์ที่พร้อมรองรับการทำงานของผู้ใช้งานในทุก
ๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นระบบเครือข่าย การจัดเก็บข้อมูล การทดสอบระบบหรือติดตั้งฐานข้อมูล
หรือการใช้งานซอฟต์แวร์เฉพาะด้านในธุรกิจต่าง ๆ โดยที่ผู้ใช้งานไม่ต้องติดตั้งระบบทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ไว้ที่สำนักงานให้ยุ่งยาก
แต่สามารถใช้งานในสิ่งที่ต้องการได้ด้วยการเชื่อมต่อกับระบบอินเทอร์เน็ตหรือที่เรียกว่า
“Cloud Computing”
ในการทำ Cloud Computing จะมีการสร้างแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า
“Poverty Alleviation Cloud”
ซึ่งทำงานบนระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System : GIS) เพื่อเก็บข้อมูลคนจนตัวจริง ตรวจสอบ และให้ความช่วยเหลืออย่างทั่วถึง
โดยเชื่อมโยงข้อมูลกับ 17 หน่วยงานในระดับมณฑลที่เกี่ยวข้อง เช่น
สำนักงานตำรวจ กรมการศึกษา สำนักงานทรัพยากรมนุษย์และประกันสังคม เข้าไว้ด้วยกัน สามารถแชร์ข้อมูลร่วมกันแก้ไขปัญหาความยากจนผ่านแพลตฟอร์มรัฐบาลกุ้ยโจวที่ชื่อว่า
Guizhou-Cloud
ตัวอย่างการใช้แพลตฟอร์มที่ว่านี้ เช่น เด็กนักเรียนที่อยู่ในครอบครัวฐานะยากจนที่สอบชิงทุนหรือขอทุนได้ แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อใช้จ่ายระหว่างรอรับทุน 4 – 6 เดือน เด็กนักเรียนคนนั้น ก็จำเป็นที่จะต้องสละสิทธิ์และโอกาสเรียน
แต่เมื่อกุ้ยโจวใช้ Big Data ตรวจสอบว่า
นักเรียนที่ยื่นขอทุนที่มีฐานะยากจนจริง
ก็จะได้เรียนหนังสือโดยไม่ต้องจ่ายค่าเล่าเรียน เป็นต้น7
จริง ๆ แล้ว การโยงใยในระบบแพลตฟอร์มดังกล่าว ทำให้ผู้เขียนนึกไปถึงการซักประวัติ
Genograms8 เพื่อคัดกรองประวัติวินิจฉัยหาสาเหตุโรคตามโรงพยาบาล
ซึ่งค่อนข้างมีความแม่นยำและมีข้อมูลรายละเอียดตรงกับความเป็นจริง โดยที่ข้อมูลเหล่านั้น
จะไม่ได้ตัดปัจจัยที่อาจจะทำให้เกิดสาเหตุของการเกิดโรคนั้นแม้แต่เพียงประการเดียว
ซึ่งการวินิจฉัยรูปแบบนี้ไม่เพียงแต่จะทำให้ทราบถึงรายละเอียดข้อมูลของคนไข้
ยังรวมไปถึงญาติพี่น้องอีกด้วย
แพลตฟอร์มฐานข้อมูลข้างต้นนี้ มีความครอบคลุมในทุก ๆ
ด้าน แถมยังมีการวิเคราะห์เพื่อสนับสนุนการชื่อเสียงและมาตรฐานให้กับผลิตภัณฑ์ในแต่ละพื้นที่
แล้วทางภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ประกอบการ ร่วมหารือปลุกปั้นกันอย่างจริงจังตั้งแต่เริ่มจนถึงการสร้างรายได้
(Value Chain) อีกด้วย ซึ่งถือว่า เป็นการแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุดและตรงกลุ่ม
กล่าวได้ว่าแพลตฟอร์มนี้เขาครบเครื่องจริง ๆ และถือเป็น “การให้ความหวังกับคนจน9” อย่างแท้จริงดังวาทะของนายหม่า หยุน หรือแจ๊ค หม่า (Jack Ma) ประธานกลุ่มบริษัทอาลีบาบาเคยกล่าวไว้
อีกตัวอย่างของการใช้เทคโนโลยีขจัดความยากจน คือ “การทำให้มีตลาดขึ้นในทุกที่”
หรือ E-Marketplace หรือ E-Commerce ซึ่งการนำกลยุทธ์การทำตลาดออนไลน์เหล่านี้ให้เข้าถึงชนบท (Rural E-commerce) นั้น
เป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่ประเทศจีนใช้ ทำให้สามารถกระจายสินค้าจากภาคเกษตรกรรม
ซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนจีนให้เป็นที่รู้จักและมีโอกาสสร้างรายได้เพิ่มขึ้นด้วย โดยที่ผู้ผลิตและเกษตรกรในชนบทสามารถได้รับรายได้จากสินค้าของตัวเองมากที่สุด
เพิ่มช่องทางการสร้างรายได้ และลดต้นทุนการผลิต ค่าขนส่ง10
หน่วยงานของรัฐจีนมีการร่วมมือกับภาคเอกชน
อาทิเช่น Alibaba Group เพื่อร่วมกันพัฒนา
E- commerce เข้าไปช่วยสร้างและสอนคนชนบทให้สามารถขายสินค้าการเกษตรและอื่น
ๆ ผ่านระบบออนไลน์ รวมไปถึงระบบ Logistics
ซึ่งเป็นระบบขนส่งสินค้าตามคำสั่งไปถึงบ้านด้วยระบบการส่งของทั่วประเทศ
อันจะนำมาสู่การสร้างงานระดับท้องถิ่นเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และในขณะเดียวกัน ก็สามารถช่วยให้ผู้อยู่ห่างไกลสามารถเข้าถึงตลาดข้างนอกผ่านระบบแพลตฟอร์มของบริษัทเหล่านี้ได้เช่นเดียวกัน11
จะเห็นได้ว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการพัฒนา Rural E-commerce ดังสถิติของทางสถาบัน National Academy of Economic Strategy, CASS ที่ได้เปิดเผยตัวเลขสถิติธุรกิจ E- commerce ของจีนในช่วงครึ่งแรกของปี 2017 ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2559
- เดือนพฤษภาคม 2560 ว่า ประเทศจีนมียอดการค้าปลีกออนไลน์สูงถึง
3,022,900 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
แบ่งเป็นยอดค้าปลีกสินค้าทางออนไลน์มีมูลค่า 2,327,200 ล้านหยวน
ยอดค้าปลีกบริการทางออนไลน์มีมูลค่า 695,700 ล้านหยวน ครองสัดส่วนร้อยละ 13.2 ของยอดการค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค12 และมีแนวโน้มที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการขายสินค้าหรือบริการนั้น
ถ้าไม่สามารถความไว้วางใจในสินค้าหรือบริการได้
ก็คงยากที่จะทำให้ลูกค้าตกลงปลงใจที่จะเลือกซื้อสินค้าได้ จีนจึงใช้อีกเทคโนโลยีหนึ่งในการสร้างการรับรู้รายละเอียดของสินค้าหรือบริการให้แก่ผู้เลือกซื้อสินค้าหรือบริการ
นั่นก็คือก็คือระบบ QR Code ที่ทุกคนรู้จักกันดีนี่แหละค่ะ
จริง ๆ ระบบ QR Code นี้ใช้ได้หลากหลายมาก ไม่ว่าจะใช้ในการเพิ่มเพื่อนในแอปพลิเคชั่นพูดคุย การชำระค่าบริการและสินค้า การสมัครเป็นสมาชิก
หรือแม้กระทั่งใช้ในการตอบแบบสอบถาม รัฐบาลจีนส่งเสริมให้มีการใช้ระบบนี้เพื่อให้ภาครัฐสามารถเข้าถึงข้อมูลคนยากจนได้ง่ายขึ้น
ขณะเดียวกัน มันก็ช่วยทำการตลาดออนไลน์ได้ด้วย ผู้ที่เลือกซื้อสินค้าสามารถใช้สมาร์ทโฟนสแกนดูข้อมูลเกี่ยวกับสินค้านั้น
ๆ อาทิเช่น สินค้าเกษตร สามารถดูเวลาและสถานที่เพาะปลูก เวลาที่บรรจุสินค้า แล้วหลังจากนั้นก็ใช้เทคโนโลยีระบบรวบรวมยอดขายผ่านระบบสแกนบาร์โค้ด (Barcode) ซึ่งสามารถวิเคราะห์เส้นทางการขาย
รวมถึงการต่อยอดการขายผลิตภัณฑ์ออนไลน์ได้อีกด้วย13
การใช้ระบบ QR Code นั้น เป็นเรื่องที่น่าสนใจและเหมาะกับยุคสมัย
เพราะในปัจจุบัน เครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้สื่อสารส่วนใหญ่ที่ผลิตขึ้นมานั้น
มีระบบการทำงานที่สามารถเชื่อมต่อระบบอินเทอร์เน็ตและสามารถสแกน QR Code ได้แทบทั้งสิ้น
เมื่อมองกลับมาที่ประเทศไทย
ปัจจุบันหลายหน่วยงานมีความมุ่งมั่นร่วมมือกันในการพัฒนาระบบการบริหารจัดการข้อมูลแบบตรงจุด
การบริหารจัดการตลาด และการสร้างความเชื่อมั่น เพื่อตอบโจทย์ปัญหาความยากจนของประชาชน
และในทุกพื้นที่ต่างก็มีการดำเนินการโครงการพัฒนาช่วยกันแก้ไขปัญหายากจนให้เป็นความจริงในปัจจุบัน เช่น โครงการจับคู่เสี่ยว
เกี่ยวก้อย แก้จน คนขอนแก่น ซึ่งดำเนินการในพื้นที่ที่ผู้เขียนเคยได้รับมอบหมายไปปฏิบัติราชการในช่วงที่อยู่ในโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ (โครงการ น.ป.ร. ของสำนักงาน
ก.พ.ร.)
อย่างไรก็ดี ผู้เขียนเห็นว่า การตอบโจทย์ของปัญหานี้
มิใช่ว่าจะพัฒนาเทคโนโลยีให้ก้าวไกลไปเพียงด้านเดียว แต่ขึ้นอยู่กับการเห็นประโยชน์และคุณค่าของสิ่งที่จะทำ
รวมไปถึงความสามัคคีร่วมมือร่วมใจกัน เพื่อจะนำสิ่งที่พัฒนาไปประยุกต์ใช้ให้คนพ้นจนได้เป็นจริงด้วย
หากใช้เทคโนโลยีมาผสมผสานกับการดำเนินงานที่เป็นอยู่ ก็จะเร่งให้ประชาชนพ้นจากความยากจนได้เร็วขึ้น อีกทั้งยังสามารถติดตามงานอย่างใกล้ชิด
ไม่ใช่ว่าพ้นจนแล้วยังกลับไปจนอีกรอบ
เหมือนดั่งที่มีคนเคยกล่าวว่า เป็นการหาจุดอุดรอยโอ่ง ในขณะที่เติมน้ำใส่ไปพร้อมกันอีกด้วย
ทั้งนี้ ผู้เขียนในฐานะนักพัฒนาระบบราชการ สำนักงาน ก.พ.ร. ยังคงเชื่อมั่นศรัทธาในพลังความร่วมมือร่วมใจและศักยภาพของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะช่วยกันพัฒนาประเทศชาติเพื่อให้ประชาชนไทยมีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างแท้จริงได้ในเร็ววัน
***********************
*นักพัฒนาระบบราชการปฏิบัติการ สำนักงาน ก.พ.ร.
1 ความฝันจีนเป็นความฝันของคนจีน
ประกอบด้วยเป้าหมาย 200 ปี
กับเป้าหมายแห่งการฟื้นฟูประเทศของจีน ซึ่งเกี่ยวข้องกับสวัสดิการของ
ประชาชน (ที่มา: http://aseanecon.info/20180111/758)
2 รัฐบาลจีนได้กำหนดระบบการจัดการขจัดความยากจน
แบ่งเป็น 6 ระบบย่อยคือ
มาตรการ-ตั้งทีมงาน-ประเมิน-รับผิดชอบ-ปฎิบัติ-ติดตามและตรวจสอบ มาตรการการช่วยเหลือผู้ยากจนของรัฐบาลจีนไม่ใช่การหว่านแห
แต่คือการช่วยเหลืออย่างตรงจุดและตรงกลุ่มหรือที่ภาษาจีนกล่าวว่า “จิงจุ่น”(精准)หน่วยงานที่ดูแลมีการเข้าไปสอดส่องและตามงานอย่างใกล้ชิด
สิ่งสำคัญคือ การช่วยเหลือคนจนและไม่ให้คนจนกลับไปจนอีกรอบ (ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์,
ออนไลน์ , https://mgronline.com/china/detail/9610000107276)
3 ที่มา : https://thaipublica.org/2018/01/pridi84/
4 ที่มา :https://www.thaibizchina.com/กุ้ยโจว-จากมณฑลยากจนสู่/
5 ที่มา
: http://www.1one.asia/featured/big-data-ดัน-ศก-จีนโตพุ่งพรวด/
6 ที่มา
: http://www.thaiembbeij.org/thaibizchina/th/business-opportunity/detail.php?SECTION_ID=616&ID=18261
7 ที่มา : https://www.salika.co/2018/08/08/guizhou-use-big-data-and-cloud-reduce-poverty/
8 Genograms เป็นเครื่องมือทางคลินิกที่ช่วยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว
ในการนำข้อมูลของครอบครัว
ในการนำข้อมูลของครอบครัวผู้ป่วยมาเขียนโครงสร้างครอบครัว (Family tree) เพื่อให้เข้าใจความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวทั้งด้านการเจ็บป่วย
ความสัมพันธ์ทางสังคม ได้อย่างรวดเร็ว และนำไปใช้ในการแก้ปัญหา ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่
http://www.oocities.org/thaifammed/genograms.htm
9 ที่มา : http://tha.briia.org/node/90
10 ที่มา :
https://www.ditp.go.th/contents_attach/160670/160670.pdf
11 ที่มา : https://www.thaipost.net/main/detail/26350
12 ที่มา : https://www.ditp.go.th/contents_attach/180267/180267.pdf
13 ที่มา
: https://globthailand.com/china_0168/
บทความนี้ทำให้เห็นว่า 1.ข้อมูลของทุกสิ่งที่อยู่ในบริบทของการพัฒนาเป็นเรื่องสำคัญ การจัดเก็บ การรวบรวม การประมวลผล อย่างถูกต้องเแ็นจุดเริ่มต้น 2.การตั้งจุดมุ่งหมาย และการวัดผล ของพัฒนาการ มีทั้งระดับของความสำเร็จและกำหนดเวลา 3.บุคคลากรทุกระดับ เข้าถึงระบบประมวลผลและ ข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์เตรียมไว้สำหรับประมวลผลออกมาในรูปแบบที่ต้องการ 4.มีการนำผลดารแระมวบไปใช้อย่างเหมาะสม
ตอบลบThanks for sharing, nice post! Post really provice useful information!
ตอบลบHương Lâm chuyên cung cấp bán máy photocopy và dịch vụ cho thuê máy photocopy giá rẻ, uy tín TP.HCM với dòng máy photocopy toshiba và dòng máy photocopy ricoh uy tín, giá rẻ.