เมื่อปี 2551 คณะธุรกิจ (Business School) ของมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ออสเตรเลีย ได้เริ่มต้นโครงการ Genesis ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม Startups เพราะเห็นว่ามหาวิทยาลัยเป็นแหล่งความรู้ที่หลากหลาย น่าจะสามารถช่วยบ่มเพาะ Startups ให้เกิดและเติบโตได้อย่างเข้มแข็งได้ และสอดคล้องกับพันธกิจของมหาวิทยาลัยเองที่จะต้องให้บริการสังคม
โครงการนี้เขาเปิดให้นักศึกษาทุกระดับและพนักงานของมหาวิทยาลัย รวมทั้งศิษย์เก่า เข้าร่วมเสนอโครงการได้ จะเสนอเดี่ยว ๆ หรือเป็นทีมก็ได้ ในกรณีที่เป็นทีม ขออย่างเดียวคือหัวหน้าทีมต้องเป็นนักศึกษา พนักงาน หรือศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยเท่านั้น จะมีคนอื่นมาร่วมแจมด้วยไม่ว่ากัน
ปีหนึ่งเขารับสมัครประมาณ 15 โครงการ โดยคณะธุรกิจจะช่วยจัดหาผู้เชี่ยวชาญในเรื่องต่าง ๆ ทั้งคณาจารย์และนักธุรกิจตัวจริง มาให้คำแนะนำและชี้แนะผู้เข้าร่วมโครงการเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจและการบริหารธุรกิจ ทั้งในภาพรวมและในธุรกิจรายสาขา แนะนำการสร้าง Brand การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ การจัดงานเปิดตัว Startups ผู้เข้าร่วมโครงการโดยเชิญนักธุรกิจและแหล่งทุนเข้าร่วมงาน จับคู่ธุรกิจฯลฯ ทั้งนี้ Startups แห่งปีจะได้รับเงินอุดหนุนจากโครงการเป็นเงินสดจำนวน 25,000 ดอลล่าร์ออสเตรเลีย (ประมาณ 512,500 บาท) เอาไปทำทุนด้วย
จนถึงปัจจุบัน มีนักศึกษา พนักงาน และศิษย์เก่าที่เข้าร่วมโครงการนี้กว่าหนึ่งพันคนจากเกือบทุกคณะของมหาวิทยาลัยได้กลายเป็นผู้ประกอบการจริง ๆ ทั้งธุรกิจทั่วไป และธุรกิจเพื่อสังคม
สิบเอ็ดปีสร้างผู้ประกอบการได้พันกว่าคน ไม่น้อยนะครับนี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในบริบทที่การประกอบธุรกิจเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก
ในปีนี้ (2562) โครงการ ADVOC8 ที่เป็น platform เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของผู้ประกอบการต่อนโยบายสาธารณะต่าง ๆ ในมิติของแผนที่ ได้รับเลือกให้เป็น Startups แห่งปีของ Genesis ทั้งยังได้รับรางวัล NSW iAward จากรัฐ New South Wales ด้วย
ผู้เขียนติดตามโครงการนี้มาหลายปี เห็นว่าการที่สถาบันอุดมศึกษาสนับสนุนการสร้าง Startups นั้นเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะมหาวิทยาลัยมีความพร้อมในทางวิชาการ มีอาจารย์และนักวิจัยจำนวนมาก มีเครื่องไม้เครื่องมือ กับมีเครือข่ายที่เข้มแข็ง ทั้งยังเป็นการประยุกต์องค์ความรู้ทางวิชาการให้เกิดประโยชน์ที่แท้จริงขึ้นได้ และมหาวิทยาลัยก็จะได้องค์ความรู้ใหม่ ๆ กลับไปถ่ายทอดให้นักศึกษาต่อไปด้วย ไม่ได้สอนแต่เรื่องในตำราอย่างเดียวเหมือนมหาวิทยาลัยเมื่อห้าสิบปีที่แล้ว
แต่เดิมนั้นออสเตรเลียเขามีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ส่งเสริม SMEs โดยเฉพาะเหมือนกัน บัดนี้หน่วยงานนั้นเขาก็ยังทำอยู่ แต่เขาส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยทำควบคู่ไปด้วยโดยเหตุผลดังว่า
บ้านเรามีมหาวิทยาลัยมากมาย และกระจายอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ผู้เขียนจึงเห็นว่าหากทุกมหาวิทยาลัยมีโครงการอย่าง Genesis บ้างก็น่าจะดี เพราะนอกจากจะเป็นการสร้าง Startups ขึ้นในทุกพื้นที่แล้ว ยังเป็นการพัฒนาองค์ความรู้ในทางปฏิบัติให้แก่มหาวิทยาลัย และยังทำให้มหาวิทยาลัยให้บริการแก่สังคมได้อย่างแท้จริงด้วย นอกเหนือจากการรับงานวิจัยดังที่ทำ ๆ กันอยู่
ผู้เขียนว่าการให้หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ส่งเสริม Startups ทำอยู่คนเดียวตามหลัก Function base นั้นน่าจะเชยไปแล้วสำหรับยุคนี้ ยุคที่เราต้องรีบปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมให้เป็น “สังคมผู้ประกอบการ” ไม่ใช่สังคมลูกจ้างและข้าราชการเหมือนในยุค 3.0 ที่ผู้เขียนเติบโตมา
เกือบลืม Genesis นี่เขาไม่ได้เน้นให้โครงการที่ผู้ประกอบการสามารถหากำไรสูงสุดเท่านั้นนะครับ เขาเน้นให้ผู้ประกอบการมีคุณธรรมจริยธรรมด้วย เพราะการพัฒนานั้นต้องคำนึงถึง “ความสมดุล” ระหว่างการพัฒนาด้านวัตถุกับการพัฒนาด้านจิตใจ และความอยู่เย็นเป็นสุขของประชาชนประกอบกัน การพัฒนาจึงจะยั่งยืนตามมาตรา 75 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญ 2560
ไม่ใช่คิดแต่ว่าฉันกับพวกจะได้อะไรอย่างเดียว
น่าสนใจนะครับ.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น