การชุมนุมเรียกร้องสามารถดำเนินการได้เพราะเป็นส่วนหนึ่งของการปกครองระบอบประชาธิปไตย
ในส่วนของหน่วยงานของรัฐโดยเฉพาะหน่วยทหารที่เกี่ยวข้องที่จะต้องมาดูแลการชุมนุมสาธารณะให้เป็นไปโดยเรียบร้อยนั้น
ก็ต้องยึดถือปฏิบัติตามหลักกฎหมาย ทั้งกฎหมายภายในประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศ หลักสากล
หลักสิทธิมนุษยชน คำสั่งและคำพิพากษาของศาลปกครอง มติคณะรัฐมนตรี ข้อบังคับ และกฎในการบริหารจัดการการชุมนุมเรียกร้อง
สรุปได้ดังนี้
1. กฎหมายภายในประเทศซึ่งในบทความนี้จะไม่รวมถึงประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
1.1 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 44 บัญญัติสรุปได้ว่า บุคคลมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ การจำกัดสามารถกระทำได้ตามบทบัญญัติที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ
ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่นและมาตรา
52 บัญญัติสรุปได้ว่า รัฐต้องจัดให้มีการทหารเพื่อความมั่นคงของรัฐและความสงบเรียบร้อยของประชาชน
1.2 พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มีทั้งสิ้น 35 มาตรา ซึ่งเหตุผลในการประกาศใช้สรุปได้ว่า
สมควรกำหนดหลักเกณฑ์การใช้สิทธิชุมนุมสาธารณะให้ชัดเจนและสอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยเป็นภาคี
เพื่อให้การชุมนุมสาธารณะเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของชาติ
ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีตลอดจนสุขอนามัยของประชาชน หรือความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ
และไม่กระทบกระเทือนสิทธิและเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น
1.3 พระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม
พ.ศ. 2551 มาตรา 8 มาตรา 35 และมาตรา 40 มีบทบัญญัติสรุปได้ว่า
กระทรวงกลาโหมมีอำนาจหน้าที่ในการปราบจลาจล โดยให้การใช้กำลังทหารเพื่อปราบปรามการจลาจล
ให้เป็นไปตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี และในการปฏิบัติหน้าที่ในการใช้กำลังทหารปราบปรามการจลาจล
ให้เจ้าหน้าที่ทางทหารเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
1.4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68 สรุปได้ว่า การใช้กำลังหรืออาวุธต้องพอสมควรแก่เหตุหรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าไม่เกินกว่าเหตุ ถือว่าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายและอยู่ภายใต้หลักการป้องกันตนเอง
สำหรับบทบัญญัติความผิดและบทลงโทษเป็นไปตามมาตรา 215 สรุปได้ว่า ผู้ใดมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง
ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าผู้กระทำความผิดคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ บรรดาผู้ที่กระทำความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี
หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการ
ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา
216 สรุปได้ว่า เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมเพื่อกระทำความผิดตามมาตรา 215
ให้เลิกไป ผู้ใดไม่เลิก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. กฎหมายระหว่างประเทศ
2.1 ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 20 (1) กำหนดให้ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งการชุมนุมโดยสันติ
2.2 กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 21 กำหนดให้สิทธิในการชุมนุมโดยสงบย่อมได้รับการรับรอง สามารถจำกัดสิทธิได้หากกำหนดโดยกฎหมายเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ความมั่นคงแห่งชาติ
หรือความปลอดภัย ความสงบเรียบร้อย การสาธารณสุข หรือศีลธรรมของประชาชน หรือการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น
3. หลักสากล
หลักการพื้นฐานว่าด้วยการใช้กำลังบังคับและอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน้าที่บังคับใช้กฎหมายซึ่งรับรองโดยที่ประชุมขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด
ครั้งที่ 8 ณ กรุงฮาวานา
ประเทศคิวบา เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม ถึง 7 กันยายน ค.ศ. 1990 ซึ่งพอจะเทียบเคียงได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของหลักสากลในการสลายการชุมนุม
สรุปได้ว่า กรณีที่จะสลายการชุมนุมที่มิชอบด้วยกฎหมาย แต่มิได้มีการก่อเหตุร้ายใด ๆ
นั้น เจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายจะต้องหลีกเลี่ยงการใช้กำลังบังคับ แต่ในกรณีที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
ให้การใช้กำลังบังคับนั้นเป็นไปในระดับที่น้อยที่สุดโดยใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น สำหรับกรณีที่จะสลายการชุมนุมที่ก่อเหตุร้าย เจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจบังคับใช้กฎหมายจะใช้อาวุธปืนได้เฉพาะต่อเมื่อวิธีการอื่นที่มีอันตรายน้อยกว่านั้นไม่สามารถใช้ได้ผลแล้ว
อีกทั้งการใช้อาวุธจะต้องเป็นไปในระดับที่น้อยที่สุดโดยใช้เท่าที่จำเป็น และไม่ว่าในกรณีใดเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจหน้าที่บังคับใช้กฎหมายจะต้องไม่ใช้อาวุธปืนกับบุคคลอื่นเว้นแต่
ในกรณีเพื่อป้องกันตัวหรือป้องกันผู้อื่นให้พ้นภัยจากภยันตรายร้ายแรงที่ใกล้จะมาถึงและมีความรุนแรงที่อาจถึงแก่ชีวิตหรืออันตรายสาหัส
4. หลักสิทธิมนุษยชน
ซึ่งความหมายของหลักสิทธิมนุษยชนที่เข้าใจง่ายที่ควรนำไปปฏิบัติ คือ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา ไม่ดูถูกเหยียดหยาม ไม่เลือกปฏิบัติ
คุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ประการสำคัญต้องไม่มีการกระทำทารุณกรรมในการสลายการชุมนุมอย่างเด็ดขาด
5. คำสั่งและคำพิพากษาของศาลปกครอง
5.1 คำสั่งของศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ 1605/2551 เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2551 เรื่อง คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
สรุปได้ว่า ศาลปกครองกลางมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองชั่วคราวตามคำสั่งศาล
ดังนี้ การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อสลายการชุมนุมจะต้องกระทำเท่าที่จำเป็น โดยคำนึงถึงความเหมาะสม
มีลำดับขั้นตอนตามหลักสากลที่ใช้ในการสลายการชุมนุมของประชาชน เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่อาจดำเนินการตามอำเภอใจได้
5.2 คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อ.280/2556 หมายเลขแดงที่ อ.1442/2560 ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ได้รับความเสียหายจากการชุมนุมบริเวณหน้ารัฐสภาเมื่อปี
พ.ศ. 2551 และยกฟ้องสำนักนายกรัฐมนตรี
สรุปคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดได้ว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และสำนักนายกรัฐมนตรีผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 มีอำนาจหน้าที่ยับยั้งการชุมนุมที่ฝ่าฝืนกฎหมายโดยปิดล้อมรัฐสภาเพื่อไม่ให้รัฐบาลแถลงนโยบายได้
แต่ไม่ว่าการชุมนุมจะเป็นไปโดยสงบที่จะได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญหรือไม่
ผู้มีอำนาจหน้าที่ก็ต้องปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมตามขั้นตอนและวิธีการที่เหมาะสม แต่การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่
1 มีข้อบกพร่องในการเตรียมการหารถดับเพลิงมาใช้ในการสลายการชุมนุมและวิธีการยิงแก๊สน้ำตาประกอบกับแก๊สน้ำตาที่นำมาใช้ได้ซื้อมาเป็นเวลานานจึงมีประสิทธิภาพต่ำ
ทำให้ต้องใช้แก๊สน้ำตาจำนวนมากกว่าปกติทั่วไป ทำให้เกิดการปั่นป่วนชุลมุนและผู้ชุมนุมได้รับอันตรายเกิดความเสียหายแก่ชีวิตร่างกายและทรัพย์สินของผู้ชุมนุม
จึงเป็นการกระทำละเมิดที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ที่ต้องรับผิดในความเสียหายดังกล่าว
ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 นั้น มติคณะรัฐมนตรีที่ให้มีการแถลงนโยบายที่รัฐสภาเป็นไปตามปกติ
ซึ่งหากมีเหตุการณ์ไม่สงบเรียบร้อย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 สมควรติดตามสถานการณ์และเตรียมการเพื่อแก้ไขปัญหา
นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีจึงไม่ได้กำหนดขั้นตอนและวิธีการในการสลายการชุมนุม จึงไม่ได้กระทำละเมิดที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่
2 จะต้องรับผิดต่อผู้ได้รับความเสียหาย
สำหรับความรับผิดของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 นั้น การกระทำละเมิดสืบเนื่องมาจากการชุมนุมบางส่วนที่มีลักษณะทำให้ผู้อื่นเกรงกลัวซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่
1 ที่จะต้องระงับยับยั้งการกระทำดังกล่าว จึงให้ลดค่าเสียหายลงจากที่ศาลปกครองกลางกำหนด
ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำพิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลปกครองกลางเป็นให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติผู้ถูกฟ้องคดีที่
1 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ฟ้องคดีและผู้ร้องสอด
จำนวน 254 ราย ลดลงจากที่ศาลปกครองชั้นต้นกำหนดร้อยละ
20 และยกฟ้องสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ถูกฟ้องคดีที่
2
ทั้งนี้ มีประเด็นที่น่าสนใจในคำพิพากษาดังกล่าวด้วยนอกเหนือจากข้างต้นดังนี้ว่า
คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีความเห็นว่าเป็นการกระทำความผิดฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด
และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีความเห็นว่าเป็นการกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ
ได้รับอันตรายสาหัส ฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และการกระทำของผู้ชุมนุมเป็นการขัดขวางไม่ให้นายกรัฐมนตรีเข้าแถลงนโยบายต่อรัฐสภาไม่ใช่การก่ออาชญากรรมโดยแท้
จึงไม่อาจปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมทั้งหมดด้วยวิธีการเดียวกับการจับกุมผู้กระทำความผิดอาญาได้
แต่หากการชุมนุมเป็นไปโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายทำให้ผู้อื่นเกิดความเกรงกลัว ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองย่อมมีอำนาจหน้าที่ระงับยับยั้งได้
แต่ต้องปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมตามกฎหมาย ระเบียบและขั้นตอนวิธีการที่เหมาะสมตามที่กำหนดไว้
นอกจากนั้น หลักในการควบคุมฝูงชนมี 2 วิธี คือ 1.เจรจา 2.เจรจาไม่ได้ผลจึงใช้กำลังโดยให้เจ้าหน้าที่นำโล่และแก๊สน้ำตาติดตัวไปโดยไม่มีกระบอง
ขั้นตอนปฏิบัติคือ 1.ใช้กำลังผลักดัน
2.รถฉีดน้ำ 3.แก๊สน้ำตา 4.กระสุนยาง 5.ปืนยิงแหจู่โจมจับแกนนำ รวมทั้งการให้ถ้อยคำของกลุ่มเจ้าหน้าที่รัฐที่มีความชำนาญเฉพาะด้านมายืนยันความไม่เหมาะสมในวิธีการสลายการชุมนุมและการใช้แก๊สน้ำตาอีกด้วยว่า
การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจมีข้อบกพร่องในขั้นตอนการเตรียมการหารถดับเพลิงมาใช้ในการสลายการชุมนุม
และมีข้อบกพร่องในวิธีการยิงแก๊สน้ำตาโดยยิงในแนวตรงขนานกับพื้นซึ่งไม่เป็นไปตามวิธีการที่ถูกต้องที่ต้องยิงเป็นวิถีโค้ง
6. มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องดังนี้
6.1 มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่
17 เมษายน 2544 เรื่อง การปรับปรุงบริเวณรอบนอกทำเนียบรัฐบาล และการจัดสถานที่พักอาศัยแห่งใหม่ของผู้ชุมนุมเรียกร้อง
สรุปได้ว่า ผู้ชุมนุมไม่ควรใช้สถานที่บริเวณรอบนอกทำเนียบรัฐบาลเป็นที่พักอาศัยซึ่งทำให้ไม่เหมาะสม
รัฐบาลได้จัดสถานที่พักอาศัยแห่งใหม่ให้กับผู้ชุมนุมเรียกร้องแล้ว เป็นพื้นที่ของกรุงเทพมหานครบริเวณใกล้สวนจตุจักร
มีห้องประชุมและห้องนอน สำหรับผู้ว่าราชการจังหวัด เพราะถือว่าการชุมนุมเรียกร้องเป็นหน้าที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีการเรียกร้องต้องเดินทางมาควบคุม
ดูแล และประสานทำความเข้าใจกับผู้ชุมนุมเรียกร้องอย่างใกล้ชิดโดยตลอดจนกว่าการชุมนุมเรียกร้องจะยุติ
6.2 มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2545 เรื่อง หลักการและแนวทางการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในการชุมนุมเรียกร้อง
เห็นชอบหลักการและแนวทางแก้ไขปัญหาความรุนแรงในการเรียกร้องของกลุ่มต่าง ๆ โดยให้ข้าราชการหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องดำเนินการโดยใช้หลักเมตตาธรรมควบคู่หลักนิติธรรม
แต่หากผู้ชุมนุมกระทำผิดกฎหมายก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของทางราชการและเอกชน
เป็นการกระทำเกินกว่าการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญของตน เป็นการละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญของผู้อื่น
มีการใช้วิธีการรุนแรงหรือไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงหรือเงื่อนไขที่ได้เจรจาตกลงไว้แล้ว
หรือทำให้ทรัพย์สินของทางราชการหรือเอกชนเสียหาย ก็ให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างจริงจัง
และให้หัวหน้าส่วนราชการและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจได้กำชับข้าราชการและพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบให้ยึดถือตามหลักการและแนวทางดังกล่าวข้างต้นโดยเคร่งครัด
ต่อมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2545 เรื่อง หลักการและแนวทางการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในการชุมนุมเรียกร้อง ว่ายังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนในแนวทางปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่
23 เมษายนดังกล่าว สมควรซักซ้อมเพื่อให้การปฏิบัติมีความถูกต้องตรงกันว่า
การมีมติเช่นนี้ก็เพื่อให้ข้าราชการและพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบมีหลักและแนวทางเพื่อยึดถือปฏิบัติในทิศทางเดียวกัน
อยู่บนพื้นฐานของความถูกต้องและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย เพราะถ้าไม่กำหนดหลักการและแนวทางปฏิบัติไว้
หากเกิดการชุมนุมเรียกร้องที่รุนแรงก็จะไม่มีผู้ใดเข้ารับผิดชอบดำเนินการ หรืออาจมีการแก้ปัญหาด้วยวิธีรุนแรงเกินขอบเขตอันจะนำไปสู่ปัญหาที่บานปลายยากแก่การแก้ไข ดังนั้น ขอให้ข้าราชการและพนักงานเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบดำเนินการตามแนวทางดังนี้
1) การใช้หลักเมตตาธรรม ต้องตั้งสมมติฐานก่อนว่า ผู้มาชุมนุมเรียกร้องมีความเดือดร้อนและมีความทุกข์จริง
ๆ ซึ่งต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือ ข้าราชการและพนักงานเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบก็ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ามีความเดือดร้อนและมีความทุกข์ตามข้อเรียกร้องจริงหรือไม่
ถ้ามีจริงก็ต้องให้ความช่วยเหลือตามอำนาจหน้าที่
2) การใช้หลักกฎหมาย หากผู้ชุมนุมเรียกร้องใช้วิธีการรุนแรงโดยกระทำผิดกฎหมาย
และเป็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่น ให้ข้าราชการและพนักงานเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบใช้วิธีการเจรจาก่อน
โดยเสนอแนะให้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย หากไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย หรือยังคงมีการกระทำที่ก้าวร้าว
รุนแรง ก็ให้ดำเนินการตามกฎหมาย โดยให้ดำเนินการในระดับถ้อยทีถ้อยอาศัย
และต้องมองว่าทุกคนเป็นผู้ร่วมชาติ
และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่
4 กุมภาพันธ์ 2546 เรื่อง การจัดสถานที่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้อง ซึ่งสืบเนื่องมาจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่
17 เมษายน 2544 ที่ไม่ควรให้ผู้ชุมนุมเรียกร้องใช้สถานที่บริเวณรอบนอกทำเนียบรัฐบาลเป็นที่พักอาศัย
และรัฐบาลได้จัดสถานที่พักอาศัยแห่งใหม่ให้กับผู้ชุมนุมเรียกร้องแล้วเป็นพื้นที่ของกรุงเทพมหานครบริเวณใกล้สวนจตุจักรนั้น
จึงมีมติว่าเพื่อเป็นการแสดงความตั้งใจของรัฐบาลในการจัดระเบียบของสังคม ต่อไปหากมีการชุมนุมรอบนอกบริเวณทำเนียบรัฐบาลหรือส่วนราชการใด
ๆ ก็ให้เป็นไปเพื่อยื่นข้อเรียกร้องหรือแสดงเหตุผลของการชุมนุมเรียกร้องเท่านั้น หากจะมีการชุมนุมยืดเยื้อข้ามวัน
ก็ขอให้ผู้ชุมนุมไปรวมกันที่บริเวณสวนจตุจักรตามที่จัดไว้ให้ แล้วให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องหรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่รัฐมนตรีมอบหมายไปพบปะพูดคุยเพื่อรับฟังปัญหาของผู้ชุมนุมเรียกร้อง
อันเป็นการแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลให้ความสนใจกับปัญหาและพร้อมที่จะแก้ไขปัญหาด้วยหลักเมตตาธรรมต่อผู้ที่เคารพกฎกติกาของบ้านเมืองและสังคม
7. ข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการใช้กำลังทหาร
การเคลื่อนกำลังทหาร และการเตรียมพร้อม พ.ศ. 2545
ส่วนหนึ่งได้กำหนดการใช้กำลังทหารเพื่อปราบปรามการจลาจล โดยมีเรื่องที่เกี่ยวข้อง
คือ การกำหนดความหมายของ “การจลาจล” หมายความว่า “การก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง ซึ่งมีความรุนแรงถึงขนาดมีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ” ซึ่งมีความหมายแตกต่างจาก “การก่อความไม่สงบ” ที่หมายความว่า “การกระทำความผิดตามกฎหมาย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง” รวมทั้งได้กำหนดให้การใช้กำลังทหารที่มีอาวุธเพื่อปราบปรามการจลาจล
จะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ตลอดจนกำหนดให้ผู้บังคับบัญชาทหารกำหนดกฎการใช้กำลังหรือแนวทางการใช้อาวุธให้สอดคล้องกับกฎหมายภายในประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศ
8. คำสั่งกระทรวงกลาโหม
(เฉพาะ) ที่ 59/50 ลงวันที่ 7 มีนาคม 2550 เรื่อง กฎการใช้กำลังของกองทัพไทย
ได้กำหนดให้มีกฎการใช้กำลังเฉพาะการใช้กำลังทหารปราบปรามการจลาจล
ประกอบกฎการใช้กำลังของกองทัพไทย เพื่อให้มีการควบคุมการใช้กำลังได้อย่างเหมาะสมและบรรลุภารกิจกับอยู่ภายใต้กฎหมาย
รวมทั้งกำหนดให้ผู้บังคับบัญชาทหารทุกระดับมีหน้าที่ในการอบรมให้ความรู้ความเข้าใจกฎการใช้กำลังดังกล่าวแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาของตน
และเพื่อป้องกันการใช้กำลังเกินกว่าเหตุ รวมทั้งป้องกันมิให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของพลเรือนเกินความจำเป็น
โดยกำหนดแนวทางปฏิบัติและข้อจำกัดเกี่ยวกับการใช้กระบอง กระสุนยาง การใช้น้ำฉีด การใช้สารควบคุมการจลาจลและการใช้แก๊สน้ำตา
นอกจากนั้นยังกำหนดแนวทางการปฏิบัติหลังการใช้กำลังประกอบด้วยการช่วยเหลือทางการแพทย์
การบันทึกและการรายงาน การปฏิบัติต่อพื้นที่เกิดเหตุ และการเคลื่อนย้ายผู้ถูกกักตัวหรือผู้ถูกจับกุม
สรุป ในการบริหารจัดการการชุมนุมเรียกร้องให้สำเร็จลุล่วงด้วยดี
เพื่อให้สังคมเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและสงบสุขภายใต้หลักนิติธรรมหรือหลักนิติรัฐ สมควรนำหลักกฎหมาย
ทั้งกฎหมายภายในประเทศและกฎหมายระหว่างประเทศ หลักสากล หลักสิทธิมนุษยชน คำสั่งและคำพิพากษาของศาลปกครอง
มติคณะรัฐมนตรี ข้อบังคับ และกฎดังกล่าวข้างต้น มาเป็นส่วนหนึ่งประกอบการพิจารณาจัดทำคู่มือหรือแนวทางการบริหารจัดการการชุมนุมสาธารณะด้วย
เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของรัฐถือปฏิบัติต่อไป
-----------------------
*ที่ปรึกษาพิเศษ
สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น