วันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ยุทธศาสตร์ใหม่ด้านหุ่นยนต์ของญี่ปุ่น (New Robot Strategy) โดยนางสาววารีรัตน์ รัตนวิบูลย์สม


                  นับตั้งแต่ทศวรรษที่ ๑๙๘๐ เป็นต้นมา วิวัฒนาการของหุ่นยนต์ในญี่ปุ่นมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วและมีผลต่อวงการอุตสาหกรรมและภาคการผลิตเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมด้านยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเหล่านี้เป็นปัจจัยผลักดันให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศอันดับหนึ่งของโลกในด้านการนำหุ่นยนต์มาใช้ในชีวิตประจำวัน

                   อย่างไรก็ดี ญี่ปุ่นต้องเผชิญกับปัญหาทางสังคมที่สำคัญ ได้แก่ อัตราการเกิดลดลงในขณะที่จำนวนผู้สูงอายุมีมากขึ้น ส่งผลให้ญี่ปุ่นขาดแคลนแรงงานและมีต้นทุนทางสังคมที่สูงกว่าอีกหลายประเทศ โดยญี่ปุ่นได้เคยสำรวจจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นพบว่า ในปี ๒๐๑๓ (๒๕๕๖) มีจำนวนประชากรอาวุโสในประเทศที่มีอายุตั้งแต่ ๖๕ ปีขึ้นไป เพิ่มสูงขึ้นถึง ๓๑.๙ ล้านคน คิดเป็นร้อยละ ๒๕.๑ ของจำนวนประชากรทั้งหมด ในขณะที่ประชากรที่อยู่ในวัยทำงานจากเดิมมีจำนวน ๘๐ ล้านคน ลดลงเหลือประมาณ ๗๙.๐๑ ล้านคน จากปัญหาที่กล่าวมานี้ เป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นริเริ่มการปฏิรูประบบเศรษฐกิจสังคม (socioeconomic system) อย่างจริงจัง โดยต้องอาศัยการรวบรวมความรู้และความเชี่ยวชาญที่มีอยู่ตลอดจนการคิดค้นเทคโนโลยีใหม่ ๆ ขึ้นอยู่เสมอ

                  ในปัจจุบัน หลายประเทศได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาหุ่นยนต์ให้เป็นยุทธศาสตร์ระดับชาติ เช่น สหรัฐอเมริกาได้ประกาศให้มี “National Robotics Initiative” ขึ้นในปี ๒๐๑๑ (๒๕๕๔) โดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้จัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนกองทุนศึกษาวิจัยในด้านการพัฒนาหุ่นยนต์ในสาขาของปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ไว้เฉลี่ยปีละประมาณ ๑๐ ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ยุโรปก็ได้ออก “EU SPARC Project” ในปี ๒๐๑๔ (๒๕๕๗) ซึ่งเป็นโครงการที่เน้นการศึกษาวิจัยและการคิดค้นเทคโนโลยีหุ่นยนต์ โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างคณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) บริษัทเอกชนมากกว่า ๑๘๐ แห่ง และหน่วยงานวิจัยต่าง ๆ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการนำหุ่นยนต์มาใช้ในภาคการผลิต เกษตรกรรม สาธารณสุข การขนส่ง ความปลอดภัยทางสังคม และภาคครัวเรือน เป็นต้น  นอกเหนือจากสหรัฐอเมริกาและยุโรปแล้ว ทางฝั่งเอเชียก็มีความตื่นตัวในการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เช่นกัน โดยในปี ๒๐๑๒ (๒๕๕๕) จีนได้ประกาศใช้ “Development Plan for Intelligent Manufacturing Equipment Industry” มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้มีการนำหุ่นยนต์มาช่วยเพิ่มยอดขายสำหรับการค้าภายในประเทศให้มากขึ้นภายในปี ๒๐๒๐ (๒๕๖๓)  ทั้งนี้ มีผลให้มีการใช้แรงงานหุ่นยนต์เพิ่มมากขึ้น และจะทำให้จีนสามารถแซงหน้าญี่ปุ่นขึ้นไปเป็นประเทศผู้นำอันดับต้น ๆ ของโลกที่มีการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์อย่างก้าวหน้ามากที่สุด

                   การตื่นตัวของประเทศผู้นำของโลกหลายประเทศ นำมาสู่แรงผลักดันให้ญี่ปุ่นมีความคิดริเริ่มในการปฏิวัติหุ่นยนต์เพื่อก้าวทันต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในอนาคตมากยิ่งขึ้น

เป้าหมายของการปฏิวัติหุ่นยนต์
                   
               การปฏิวัติหุ่นยนต์มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสร้างหุ่นยนต์ด้วยนวัตกรรมความก้าวหน้าของอุปกรณ์รับส่งสัญญาณที่ไวต่อแสงหรืออุณหภูมิ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า เซ็นเซอร์ (sensor) และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI technologies) ซึ่งหุ่นยนต์ที่สร้างขึ้นนี้อาจอยู่ในรูปของรถยนต์ (automobile) เครื่องใช้ในบ้าน (household appliance) หรือโทรศัพท์มือถือ (mobile phone) เป็นต้น  นอกจากนี้ เป้าหมายที่สำคัญอีกประการหนึ่งของการปฏิวัติหุ่นยนต์ ได้แก่ การเพิ่มมูลค่าให้แก่สังคมซึ่งมีลักษณะเป็นการเพิ่มความสะดวกสบายและความมั่งคั่งให้แก่คนในสังคมโดยสนับสนุนให้มีการแข่งขันระหว่างกันในระดับโลกทั้งในภาคการผลิต การบริการ และการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม

เคล็ดลับความสำเร็จของการพัฒนาหุ่นยนต์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

                  หุ่นยนต์นั้นต้องประกอบด้วย
              (๑) แพลตฟอร์ม (platform) ในการใช้หุ่นยนต์ต้องเป็นที่เข้าใจได้ง่ายต่อผู้ใช้งานทั่วโลก อุปกรณ์ต้องมีความยืดหยุ่น และหุ่นยนต์ในอนาคตต้องสามารถตอบสนองความต้องการทั้งในภาคการผลิต ภาคอุตสาหกรรม และรองรับความต้องการของบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กที่ยังต้องพึ่งพาแรงงานมนุษย์เป็นส่วนใหญ่ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากบริษัทเหล่านี้จะมีการใช้งานหุ่นยนต์เพื่อตอบสนองต่อวัตถุประสงค์ที่หลากหลาย ทำให้หุ่นยนต์ที่ถูกผลิตออกมาต้องมีความยืดหยุ่นและเหมาะสม
                   (๒) การปรับเปลี่ยนโครงสร้างต้องเกิดขึ้นในด้านของผู้ผลิตหุ่นยนต์ และผู้ใช้งานควรจะได้รับมูลค่าที่สูงขึ้นจากการใช้งานหุ่นยนต์เหล่านี้ ซึ่งการปรับเปลี่ยนโครงสร้างที่จะมีผลให้หุ่นยนต์มีประสิทธิภาพมากที่สุดนั้น หุ่นยนต์ต้องมีความยืดหยุ่นและเป็นมิตรต่อผู้ใช้งานมากที่สุด รวมทั้งต้องสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ
                   (๓) แนวความคิดของการพัฒนาหุ่นยนต์ต้องครอบคลุมไปถึงการรองรับแนวโน้มที่จะมีการริเริ่มสิ่งใหม่ ๆ ขึ้น และการพัฒนาที่ไม่หยุดยั้ง เช่น การสร้างระบบคอมพิวเตอร์ที่รองรับการใช้งาน การประมวลผล และการจัดเก็บข้อมูลได้อย่างมหาศาล เป็นต้น

เสาหลักของการปฏิวัติหุ่นยนต์
                   รัฐบาลญี่ปุ่นได้กำหนดยุทธศาสตร์ ๓ ด้าน เพื่อให้การปฏิวัติหุ่นยนต์ประสบผลสำเร็จ ได้แก่
                   (๑) Global base for robot innovation
                    ญี่ปุ่นได้กระตุ้นการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน การเพิ่มโอกาสการพบปะกันระหว่างผู้ใช้งานและผู้ผลิตให้มากขึ้น ตลอดจนการกำหนดมาตรฐานและการพัฒนาเทคโนโลยีรุ่นถัดไป และการขยายตัวเพื่อก้าวเข้าสู่ระดับโลก เพื่อให้ญี่ปุ่นเป็นศูนย์กลางของการสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์อย่างแท้จริง
                    (๒) World’s leading society maximizing robot capacity
                    ญี่ปุ่นจำเป็นต้องพัฒนายุทธศาสตร์ด้านหุ่นยนต์และส่งเสริมการจ้างแรงงานหุ่นยนต์เพื่อให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการสร้างสรรค์และใช้งานหุ่นยนต์อย่างเกิดประโยชน์สูงสุดในแง่ของการผลิตและเพื่อประโยชน์ของธุรกิจทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก ภาคบริการ การพยาบาล และการแพทย์ เป็นต้น
                   (๓) World’s leading strategy for a new robot era
                    ในแง่ของสังคมข้อมูลที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน การเชื่อมต่อข้อมูลผ่านเครือข่ายและการสร้างข้อมูลขนาดใหญ่หรือมีปริมาณมาก (big data) เป็นสิ่งสำคัญต่อชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก เนื่องจากข้อมูลลักษณะดังกล่าวนี้จะมีมูลค่าในตัวเอง  ดังนั้น การริเริ่มในการจัดทำให้ข้อมูลมีความเชื่อมโยงระหว่างกันอย่างมีประสิทธิภาพต้องเริ่มต้นจากการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อส่งเสริมให้ธุรกิจสร้างคลังสะสมข้อมูลและใช้งานข้อมูลเหล่านี้ผ่านการเชื่อมโยงระหว่างกันโดยใช้หุ่นยนต์เป็นกลไกขับเคลื่อนของกระบวนการดังกล่าว ซึ่งธุรกิจเหล่านี้ต้องสร้างความเชื่อมั่นและความปลอดภัยจากการใช้งานข้อมูลเหล่านี้ให้เกิดขึ้นไปพร้อมกันด้วย  ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่า หุ่นยนต์ไม่สามารถทำงานทดแทนมนุษย์ได้ทั้งหมด แต่สามารถเป็นส่วนเติมเต็มของมนุษย์เพื่อช่วยผลักดันให้มนุษย์ทำสิ่งที่เพิ่มมูลค่าหรือเดินหน้าต่อไปได้

มาตรการที่มีผลต่อการปฏิวัติหุ่นยนต์
                  
                    ประการที่หนึ่ง   การส่งเสริมความสามารถในการสร้างสรรค์หุ่นยนต์
                   (๑) การสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในการสร้างสรรค์นวัตกรรม (Building infrastructure for innovation)
                        การสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในการสร้างสรรค์นวัตกรรมจะช่วยผลักดันให้ญี่ปุ่นกลายเป็นประเทศศูนย์กลางด้านนวัตกรรมหุ่นยนต์อันดับต้น ๆ ของโลก มาตรการที่จะส่งเสริมให้ญี่ปุ่นประสบผลสำเร็จตามที่คาดหวังได้นั้น ผู้ที่เกี่ยวข้องย่อมต้องมีความชัดเจนในเรื่องขอบเขตงานที่ทำรวมทั้งต้องมีการแบ่งปันกระบวนการหรือขั้นตอนการทำงานให้แก่ผู้ร่วมงานคนอื่นทราบไปพร้อมกัน การกระทำดังกล่าวเรียกว่า “Robot Revolution Initiative” ซึ่งมีลักษณะเป็นการสร้างช่องทางความร่วมมือระหว่างกันเพื่อนำไปสู่ผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรมในภายหลัง โดย Robot Revolution Initiative ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมที่สำคัญ ดังนี้ (๑) การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนรวมถึงการสร้างความเข้ากันได้ (matching) ระหว่างผู้ใช้งานและผู้ผลิต อีกทั้งยังเป็นแหล่งรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างได้ผล (๒) การวางแผนและการสร้างเค้าโครงของโครงการศึกษาวิจัยร่วมกันในระดับนานาชาติในเรื่องที่เกี่ยวกับวิวัฒนาการของโลก เช่น การพัฒนาหุ่นยนต์ร่วมกันระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาเพื่อเตรียมป้องกันภัยพิบัติ (๓) การร่างยุทธศาสตร์และการใช้มาตรฐานระดับโลก ข้อเสนอด้านการปฏิรูปกฎหมาย และการสร้างกฎเกณฑ์ด้านความปลอดภัยของข้อมูล และ (๔) การแบ่งปันและการเผยแพร่หลักปฏิบัติที่ดี (best practice)
                        การดำเนินการเพื่อให้ขั้นตอนต่าง ๆ เกิดผลสำเร็จได้ ผู้ที่เกี่ยวข้องควรต้องประสานงานร่วมกับสภาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (Council for Science, Technology and Innovation) ซึ่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักด้านการประสานงานในภาพรวมและการกำหนดยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม
                    (๒) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human resource development)
                        การริเริ่มสร้างสรรค์นวัตกรรมต่าง ๆ ต้องเริ่มที่การสนับสนุนด้านทรัพยากรมนุษย์เพื่อให้การปฏิวัติหุ่นยนต์ประสบผลสำเร็จ เช่น การสร้างผู้เชี่ยวชาญด้าน IT (information technology) เพื่อดูแลซอฟต์แวร์ (software) ในระบบหุ่นยนต์ เป็นต้น การสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านดังกล่าวนี้ ควรที่จะคำนึงถึงการสร้างความเชื่อมั่นในด้านความปลอดภัยของข้อมูลที่เพียงพอรวมถึงต้องสร้างบุคคลที่มีความรู้อย่างลึกซึ้งในด้านหุ่นยนต์อย่างแท้จริงเพื่อที่จะให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญ และส่งเสริมให้มีการเผยแพร่ความรู้ด้านหุ่นยนต์เพื่อเป็นแนวทางการศึกษาสำหรับบุคคลที่สนใจด้านนี้อีกด้วย โดยอาจสร้างเป็นพิพิธภัณฑ์ทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ที่ใช้งานหุ่นยนต์ในชีวิตประจำวันให้เข้าใจถึงโครงสร้างการทำงานของหุ่นยนต์มากยิ่งขึ้น
                   (๓) การเตรียมการสำหรับรุ่นถัดไป (Preparing for the next generation) ประกอบด้วย
                        (๓.๑) การพัฒนาและส่งเสริมเทคโนโลยีรุ่นถัดไป
                               เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ที่รวดเร็ว การศึกษาวิจัยและการพัฒนาเทคโนโลยีควรมุ่งเน้นที่เทคโนโลยีที่เป็นส่วนสำคัญ หรือเทคโนโลยีแกน (core technology) เช่น ปัญญาประดิษฐ์ การสำรวจและการสแกน กลไกและการเคลื่อนไหว หรือระบบการควบคุม เป็นต้น ซึ่งเทคโนโลยีแกนนี้เปรียบเสมือนเป็นสมอง ตา และนิ้ว ของหุ่นยนต์อันมีผลเป็นการสร้างมูลค่าทางสังคมให้เพิ่มขึ้น
                        (๓.๒) มาตรฐานที่เกี่ยวกับการพัฒนาระดับโลก
                               การกำหนดมาตรฐานระดับโลกเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการเตรียมการก้าวไปสู่การพัฒนาด้านหุ่นยนต์ในระดับโลกของญี่ปุ่น โดยต้องมีการสนับสนุนให้มีการใช้มาตรฐานระดับโลกกับอุปกรณ์และซอฟต์แวร์ การต่อประสาน (interface) สำหรับการสร้างระบบหุ่นยนต์เครือข่าย (networked robot systems) ตลอดจนการติดต่อสื่อสารและการทำงานร่วมกันของระบบหุ่นยนต์ เป็นต้น

                   ประการที่สอง    การใช้ประโยชน์และความแพร่หลายของหุ่นยนต์
                   มาตรการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการใช้หุ่นยนต์อย่างคุ้มค่ามากที่สุดเพื่อแก้ปัญหาหรือความท้าทายที่เกิดขึ้น
                   (๑) มุมมองพื้นฐานในด้านการใช้ประโยชน์จากหุ่นยนต์: การนำหุ่นยนต์มาใช้แก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งมิได้หมายความถึงเฉพาะการใช้แรงงานหุ่นยนต์เท่านั้น แต่รวมถึงการนำหุ่นยนต์มาแก้ปัญหาอย่างครอบคลุมทุกด้าน อาทิเช่น การศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับขั้นตอนการทำงานและสภาพแวดล้อมในการทำงานเพื่อที่จะสามารถโอนถ่ายแรงงานมนุษย์มาสู่แรงงานหุ่นยนต์ได้อย่างราบรื่น
                   (๒) การนำดัชนีชี้วัดความสำเร็จมาปรับใช้: ก่อนเริ่มดำเนินการตามยุทธศาสตร์ใด ผู้รับผิดชอบควรกำหนดดัชนีชี้วัดความสำเร็จ หรือ Key Performance Indicator: KPI เพื่อเชื่อมโยงกับความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ในแต่ละสาขา เช่น การผลิต การบริการ การพยาบาล การแพทย์ การก่อสร้าง และเกษตรกรรม เป็นต้น
                   (๓) สาขาต่าง ๆ ที่มีการนำหุ่นยนต์มาใช้ประโยชน์: ในปัจจุบันนี้อาจกล่าวได้ว่า หุ่นยนต์เป็นนวัตกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับหลายสาขา เช่น ด้านบันเทิง หรือด้านอื่นที่ขีดความสามารถของมนุษย์มีข้อจำกัด
                   (๔) การปฏิรูปกฎหมายและสถาบันเพื่อการนำหุ่นยนต์มาใช้ประโยชน์: การปฏิรูปให้เกิดความสมดุลในด้านกฎหมายและสถาบันต้องคำนึงถึงทั้งในแง่ของการลดจำนวนกฎหมายที่ไม่จำเป็นและการกำหนดกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ขึ้นใหม่ โดยมุ่งเน้นให้เกิดการส่งเสริมและนำหุ่นยนต์มาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่สังคมได้อย่างสูงสุดและแท้จริง การลดจำนวนกฎหมายและสถาบันที่ไม่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์ของหุ่นยนต์เป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยส่งเสริมให้การใช้ประโยชน์จากหุ่นยนต์มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และการสร้างกฎเกณฑ์ขึ้นใหม่นั้นต้องมุ่งเน้นที่การสร้างความร่วมมือระหว่างมนุษย์กับหุ่นยนต์บนพื้นฐานของความเข้าใจระหว่างกันและอยู่ภายใต้ความร่วมมือกับสภาปฏิรูปกฎหมาย (Regulatory Reform Council) ที่กำลังพิจารณาลดทอนกฎหมายที่ไม่จำเป็นอยู่เช่นกัน

                   ประการที่สาม    วิวัฒนาการและกระบวนการปฏิวัติหุ่นยนต์ตามทัศนคติของชาวโลก
                   มาตรการที่สามนี้มุ่งหมายที่จะสร้างแพลตฟอร์มการปฏิวัติหุ่นยนต์ในสังคมไอทีและมุ่งหมายที่จะเป็นผู้นำในการปฏิวัติหุ่นยนต์ของโลก ประกอบด้วย
                   (๑) การใช้ข้อมูลให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่สังคมที่ทำงานด้วยข้อมูลเป็นหลัก (data-driven society)
                   (๒) การสร้างสังคมที่ไร้อุปสรรคด้านหุ่นยนต์ (robot barrier-free society) เพื่อให้เกิดการทำงานร่วมกันได้เป็นอย่างดีระหว่างมนุษย์และหุ่นยนต์ ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีความเข้มแข็งในการแข่งขันได้ในทุกสถานการณ์

แผนปฏิบัติการ ๕ ปี (Action Plan: Five-year Plan)

                  แผนปฏิบัติการ ๕ ปี ดังกล่าว ประกอบด้วย เนื้อหาที่สำคัญ ดังนี้
                   ๑. ประเด็นที่มีความทับซ้อนกับเรื่องต่าง ๆ ได้แก่
                       ๑.๑ การจัดตั้ง Robot Revolution Initiative: RRI
                             เนื่องจากญี่ปุ่นมีความคาดหวังที่จะก้าวเป็นเบอร์หนึ่งของโลกในด้านนวัตกรรมทางหุ่นยนต์ และมุ่งส่งเสริมและรักษาโครงสร้างและสภาพแวดล้อมในการพัฒนาหุ่นยนต์อย่างต่อเนื่อง RRI จึงได้ถูกจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางสำหรับผู้ที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งต้องอาศัยการทำงานและแบ่งปันสถานะหรือขั้นตอนการทำงานต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมยุทธศาสตร์ด้านหุ่นยนต์ของญี่ปุ่นร่วมกัน
                            RRI มีหน้าที่ที่สำคัญ สรุปได้ดังนี้
                            (๑) ส่งเสริมความเข้ากันได้ระหว่างกันของผู้ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้ผลิต ระบบรวบรวมข้อมูล ผู้ใช้งาน สถาบันการเงิน มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย และสถาบันทางวิชาการอื่นที่เกี่ยวข้อง โดย RRI จะทำหน้าที่ร้องขอให้ผู้ใช้งานนำเสนอความท้าทายและประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากหุ่นยนต์ รวมทั้งการยกประเด็นปัญหาทางเทคนิคเพื่อเติมเต็มความต้องการของผู้ใช้งาน และนำไปสู่การพัฒนาที่สำคัญของผู้ผลิต มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัย
                             (๒) วางแผนงานด้านยุทธศาสตร์และนำมาตรฐานระหว่างประเทศและมาตรการด้านความปลอดภัยมาใช้ประโยชน์ เช่น การวางแผนและการเผยแพร่มาตรฐานระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับระบบการผลิตหุ่นยนต์ในรุ่นถัดไป  ทั้งนี้ RRI จะทำหน้าที่ตรวจสอบการจัดตั้งและการรักษากฎเกณฑ์ด้านความปลอดภัยของหุ่นยนต์ด้วย
                             (๓) แบ่งปันและเผยแพร่หลักปฏิบัติที่ดีที่สุด รวมทั้งวางแผนงานโครงการศึกษาวิจัยระหว่างประเทศเพื่อเตรียมรับมือกับการนำหุ่นยนต์มาใช้ประโยชน์ โดย RRI จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ด้วย
                       ๑.๒ การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อมุ่งไปสู่รุ่นถัดไป
                             ในการพัฒนาหุ่นยนต์ให้มีความก้าวหน้านั้น หุ่นยนต์ดังกล่าวต้องได้รับการพัฒนาทั้งในด้านเทคนิคและส่วนประกอบอื่นประกอบกัน เช่น การป้อนข้อมูลให้หุ่นยนต์สามารถมีความคิดของตนเองได้ เพิ่มขีดความสามารถทางด้านร่างกายและความคิด รวมทั้งมีการหลอมรวมเทคโนโลยีพื้นฐานเข้าไว้ด้วยกัน หากญี่ปุ่นสามารถพัฒนาศักยภาพของหุ่นยนต์ได้ตามที่กล่าวมาได้นั้น จะทำให้ญี่ปุ่นสามารถพัฒนาศักยภาพในด้านการผลิตแรงงานและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในประเทศได้อีกด้วย
                            นอกจากนี้ ญี่ปุ่นต้องให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการศึกษาวิจัยเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ในหุ่นยนต์และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้เหล่านี้จะสร้างผลกระทบอย่างยิ่งใหญ่ต่อปัญญาประดิษฐ์ การสำรวจและการสแกน กลไกและการเคลื่อนไหว หรือระบบการควบคุม ตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์จะกำหนดให้หุ่นยนต์คิดหรือทำตามคำสั่งที่ได้รับจากมนุษย์หรือจากสภาพแวดล้อมรอบตัว หากมีการศึกษาวิจัยเพื่อที่จะพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ให้มีความก้าวหน้ายิ่งขึ้น ในอนาคตเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้จะสามารถเผชิญและรองรับกับความท้าทายต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
                       ๑.๓ นโยบายที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานด้านวิทยาการหุ่นยนต์
                            ญี่ปุ่นได้ตระหนักถึงความสำคัญของการกำหนดกฎระเบียบระหว่างประเทศร่วมกันรวมถึงกรอบงานเพื่อเผยแพร่การใช้งานหุ่นยนต์ไปทั่วโลก ซึ่งกฎระเบียบเหล่านี้ต้องสอดคล้องกับกฎหมายภายในของแต่ละประเทศด้วย ในอดีตที่ผ่านมา การนำหุ่นยนต์มาใช้ในญี่ปุ่นยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง เช่น หุ่นยนต์มีข้อจำกัดในการดำเนินกิจกรรมบางประเภท ได้แก่ การวาดรูป การเชื่อมโลหะ หรือการติดตั้งส่วนประกอบต่าง ๆ ในโรงงาน รัฐบาลญี่ปุ่นจึงได้พิจารณาแล้วเห็นว่า วิธีการที่จะแก้ไขข้อจำกัดต่าง ๆ ของหุ่นยนต์ให้เหลือน้อยที่สุด คือ การส่งเสริมมาตรฐานระหว่างประเทศรวมทั้งการสร้างแพลตฟอร์มร่วมกัน เพื่อจะได้อาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน
                       ๑.๔ การทดสอบหุ่นยนต์ภาคสนาม
                            เป้าหมายของการปฏิวัติหุ่นยนต์ที่สำคัญประการหนึ่ง คือ การสร้างหุ่นยนต์ให้สามารถตอบสนองความต้องการของสังคมได้ในทุกแง่มุม ทั้งในเรื่องชีวิตความเป็นอยู่และการแก้ไขปัญหาทางสังคมในประเด็นต่าง ๆ แผนปฏิบัติการฉบับนี้จึงได้นำเสนอให้ต้องมี “ขั้นตอนสุดท้าย (final stages)” ก่อนที่จะนำหุ่นยนต์ไปใช้งานจริง ซึ่งในขั้นตอนสุดท้ายนี้ ผู้ที่รับผิดชอบยังสามารถแก้ไขหรือปรับเปลี่ยนรายละเอียดได้อยู่หากปรากฏว่ามีเหตุต้องดำเนินการเช่นว่านั้นภายหลังจากที่ได้ทดสอบในสนามจริงแล้ว  ทั้งนี้ การทดสอบหุ่นยนต์ภาคสนามจะช่วยให้ผู้รับผิดชอบสามารถทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานและความปลอดภัยอันเกิดจากการใช้งานหุ่นยนต์ก่อนนำมาใช้ได้จริง
                       ๑.๕ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
                            เพื่อให้การนำหุ่นยนต์มาใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวางภายในปี ๒๐๒๐ (๒๕๖๓) องค์ความรู้ด้านหุ่นยนต์ของมนุษย์เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ญี่ปุ่นจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยที่ไม่ได้เน้นเพียงแค่การให้ความรู้ด้านหุ่นยนต์เท่านั้น แต่รวมถึงการสร้างองค์ความรู้ที่ครอบคลุมหลายด้าน เช่น ด้าน IT ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญด้วย  นอกจากนี้ มนุษย์ยังจำเป็นต้องมีความเข้าใจด้านเทคโนโลยี หลักการ และขั้นตอนกระบวนการต่าง ๆ เกี่ยวกับการใช้หุ่นยนต์ในสถานที่ทำงาน โดยต้องมีการจัดฝึกอบรมให้แก่พนักงานและการรับรองคุณวุฒิให้แก่ทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้งานหุ่นยนต์
                       ๑.๖ การปฏิรูปด้านกฎหมายหุ่นยนต์
                            โดยทั่วไปแล้ว หุ่นยนต์ควรต้องปฏิบัติตามหลักกฎหมายและกฎระเบียบที่มีอยู่ แต่ในกรณีที่กฎหมายที่มีอยู่ยังไม่เหมาะสมกับพฤติการณ์ทางสังคมเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ก็มีความจำเป็นต้องกำหนดให้มีกฎระเบียบใหม่ ๆ หรือแก้ไขกฎระเบียบเดิมที่มีอยู่ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ญี่ปุ่นกำลังได้รับการจับตามองจากสหรัฐอเมริกา เยอรมนี และจีน เนื่องจากประเทศเหล่านี้อยู่ระหว่างการพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์โดยเฉพาะด้านหุ่นยนต์เพื่อแข่งขันกับญี่ปุ่น  ดังนั้น การส่งเสริมให้มีการปฏิรูปกฎหมายจึงจำเป็นต้องพิจารณาถึงความสมดุลทั้งในแง่ของการลดจำนวนกฎหมายที่ไม่จำเป็นและการออกกฎหมายใหม่ที่จำเป็นเพื่อรองรับการใช้ประโยชน์จากหุ่นยนต์ให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด
                             ประเด็นด้านกฎหมายที่ญี่ปุ่นได้กำหนดเป้าหมายให้ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี ๒๐๒๐ (๒๕๖๓) คือ การปฏิรูประบบกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้ประโยชน์จากหุ่นยนต์โดยมี RRI เป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ การปฏิรูปกฎหมายแบ่งออกได้เป็น ๒ กรณี ได้แก่
                            (๑) การผ่อนคลายกฎระเบียบและการกำหนดให้มีระบบกฎหมายใหม่และการใช้ประโยชน์จากสภาพแวดล้อมเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการใช้งานหุ่นยนต์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น
                                  - กรณีที่มีความจำเป็นต้องกำหนดให้มีระบบการใช้งานคลื่นวิทยุ (radio wave utilization) เพื่อสนับสนุนการใช้งานหุ่นยนต์
                                 - กรณีที่ต้องกำหนดคุณภาพความปลอดภัยและประสิทธิภาพของเครื่องมือแพทย์หรือผลิตภัณฑ์ยีนบำบัด
                                 - กรณีที่ต้องกำหนดให้มีระบบประกันสุขภาพในระยะยาว
                                 - การออกกฎหมายเพื่อควบคุมยานยนต์หรืออากาศยานที่ไร้คนขับ/กฎหมายเกี่ยวกับการบำรุงรักษาและซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะ/กฎหมายที่เกี่ยวกับความปลอดภัยจากแรงดันสูงจากก๊าซหรือของเหลว
                            (๒) การกำหนดให้มีกรอบงานในแง่มุมของการคุ้มครองผู้บริโภค
                                 ญี่ปุ่นมีแนวความคิดว่า ในอนาคตอันใกล้ หุ่นยนต์จะยิ่งมีอิทธิพลต่อชีวิตประจำวันของคนในสังคมมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องสร้างมาตรการด้านการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มแข็งให้แก่ผู้บริโภค โดยอาจให้มีการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องและจัดให้มีการสอบสวนสาเหตุของอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากหุ่นยนต์หรืออยู่ในความรับผิดชอบของผู้ผลิต ซึ่งการรวบรวมข้อมูลและสอบสวนสาเหตุดังกล่าวต้องอยู่บนพื้นฐานของความสอดคล้องกับกฎหมายหรือกฎระเบียบที่มีอยู่ในปัจจุบัน
                       ๑.๗ การเพิ่มรางวัลที่เกี่ยวข้องกับหุ่นยนต์
                            การสร้างแรงจูงใจด้วยการให้รางวัลจะทำให้เกิดแรงผลักดันให้แก่บุคคลที่เกี่ยวข้องในการดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวันรวมไปถึงสร้างแรงกระตุ้นในระดับชาติให้ตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ประโยชน์จากหุ่นยนต์ “รางวัลหุ่นยนต์ หรือ (Robot Award)” เริ่มนำมาใช้ในปี ๒๐๐๖ (๒๕๔๙) โดยความร่วมมือของ Ministry of Economy, Trade and Industry และ Japan Machinery Federation ที่พยายามหาแรงจูงใจในการสร้างตลาดด้านหุ่นยนต์ในอนาคตจึงได้มีการจัดการแข่งขันด้านหุ่นยนต์และมอบรางวัลให้เป็นสิ่งตอบแทนความพยายามในการคิดค้นหรือการสร้างสรรค์นวัตกรรม  อย่างไรก็ดี รางวัลหุ่นยนต์ดังกล่าวสมควรได้รับการพิจารณาบรรจุเข้าเป็นกรอบงานที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเพื่อให้รางวัลหุ่นยนต์เป็นแรงขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิวัติหุ่นยนต์ต่อไป
                       ๑.๘ การพิจารณาถึงการแข่งขันมหกรรมกีฬาด้านหุ่นยนต์
                            การจัดกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกขึ้นที่กรุงโตเกียว ปี ๒๐๒๐ (๒๕๖๓) รัฐบาลญี่ปุ่นจำเป็นต้องลงทุนในด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับการแข่งขันรวมทั้งการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการคมนาคมขนส่งให้เพิ่มมากขึ้น จึงมีความเป็นไปได้ที่กีฬาโอลิมปิกจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญอีกประการหนึ่งสำหรับการปฏิวัติหุ่นยนต์ เนื่องจากญี่ปุ่นจะมีการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาจัดแสดงในการแข่งขันครั้งนี้ด้วย

                   ๒. ภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
                       ยุทธศาสตร์ด้านหุ่นยนต์ของญี่ปุ่นได้กำหนดแนวความคิดพื้นฐานในการใช้ประโยชน์จากหุ่นยนต์ในภาคส่วนต่าง ๆ ได้แก่ ภาคการผลิต ภาคบริการ ภาคการพยาบาลและการแพทย์ ภาคการก่อสร้าง การเตรียมความพร้อมด้านภัยพิบัติ และโครงสร้างพื้นฐาน และภาคอุตสาหกรรมอาหาร การประมง การป่าไม้ และเกษตรกรรม โดยมีหลักการพื้นฐานสำคัญที่ควรคำนึงถึง ดังนี้
                       (๑) ความท้าทายที่สำคัญประการหนึ่งในการนำหุ่นยนต์มาใช้ในภาคการผลิต คือ ทำอย่างไรให้การใช้หุ่นยนต์ไม่ได้อยู่เฉพาะในกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่นำหุ่นยนต์มาใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ แต่สามารถกระตุ้นให้บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กเห็นความสำคัญของการนำหุ่นยนต์มาใช้ด้วย
                       (๒) การนำหุ่นยนต์มาใช้ต้องสามารถสนองตอบต่อความต้องการของผู้ใช้งานได้ และถูกออกแบบมาให้ใช้งานง่ายและสะดวก ตลอดจนต้องมีการเพิ่มความหลากหลายของการใช้ประโยชน์จากหุ่นยนต์ให้ครอบคลุมอุตสาหกรรมการผลิตให้มากขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร เครื่องสำอาง และเภสัชกรรม
                       (๓) การนำหุ่นยนต์มาใช้งานจำเป็นต้องวิเคราะห์งานและผลกระทบอันเกิดจากการใช้ข้อมูล กล่าวคือ ต้องมีการกำหนดภาพของการทำงานให้ชัดเจนว่างานประเภทใดที่มนุษย์หรือหุ่นยนต์สามารถให้บริการได้ และควรส่งเสริมให้มีการร่วมมือกันระหว่างมนุษย์และหุ่นยนต์ให้มากยิ่งขึ้นเพื่อให้งานมีความราบรื่น
                       (๔) ในส่วนของภาคบริการ เนื่องจากการนำหุ่นยนต์มาใช้งานในภาคบริการยังไม่เป็นที่แพร่หลาย จึงทำให้มีผู้เชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์ในภาคบริการเป็นจำนวนน้อย  ดังนั้น รัฐบาลจึงจำเป็นต้องพัฒนาบุคลากรให้มีบทบาทและมีความเชี่ยวชาญไม่ว่าจะอยู่ในฝั่งของผู้ใช้บริการหรือผู้ใช้บริการ
                       (๕) สำหรับภาคการพยาบาลและการแพทย์ การนำหุ่นยนต์มาใช้งานเพื่อให้บริการด้านการสาธารณสุขแก่คนในสังคมโดยมุ่งหมายให้คนเหล่านี้มีชีวิตที่ยืนยาว การนำเทคโนโลยีมาคิดค้นเครื่องมือเพื่อรักษาโรคจึงควรคำนึงถึงความต้องการที่แท้จริงเพื่อสนับสนุนให้การรักษาพยาบาลและการแพทย์ในสังคมสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที เช่น การนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาคิดค้นเก้าอี้รถเข็นสำหรับผู้ป่วย หรือการคิดค้นเทคโนโลยีที่ทันสมัยสำหรับสร้างความปลอดภัยให้แก่ผู้สูงอายุ เป็นต้น
                       (๖) การนำหุ่นยนต์มาใช้ในแง่ของการเตรียมความพร้อมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการรับมือกับอุบัติภัยที่จะเกิดขึ้นเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งทั้งในปัจจุบันและในอนาคต จึงจำเป็นที่ต้องเตรียมการในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนงานก่อสร้างและพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อใช้ประโยชน์เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน
                       (๗) เพื่อให้การปฏิวัติหุ่นยนต์ภายในปี ๒๐๒๐ (๒๕๖๓) บรรลุผลสำเร็จ ญี่ปุ่นวางแผนงานที่จะนำระบบกำหนดตำแหน่งบนโลก (global positioning system: GPS) มาใช้งานร่วมกับหุ่นยนต์ รวมทั้งสร้างกลไกการทำงานด้านแรงงานด้วยระบบอัตโนมัติ เช่น การสร้างหุ่นยนต์เพื่อทำหน้าที่ให้อาหารโดยอัตโนมัติแก่สัตว์เลี้ยง หรือการเคลื่อนย้ายพุ่มไม้หรือต้นไม้ในป่า เป็นต้น

สรุป
                   ในปัจจุบันนี้ เทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์ได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็วและได้รับความสนใจจากประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศที่มีอิทธิพลอย่างสูงต่อโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา จีน และญี่ปุ่น ทำให้ญี่ปุ่นซึ่งเคยได้รับการยกย่องว่าเป็นเจ้าพ่อแห่งหุ่นยนต์เริ่มที่จะต้องมีการเคลื่อนไหวในการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวให้มีความล้ำหน้ามากขึ้น เนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเป็นตัวแปรสำคัญของการประเมินความเป็นผู้นำของโลกสมัยใหม่
                   ยุทธศาสตร์ด้านหุ่นยนต์จึงได้ถูกริเริ่มขึ้นเป็นวาระแห่งชาติโดยอาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ได้แก่ (๑) Council for Science, Technology and Innovation (๒) Ministry of Economy, Trade and Industry และ (๓) Japan Machinery Federation รวมทั้งต้องมีการประสานความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ เช่น ภาคการผลิต ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ ซึ่งสาระสำคัญของยุทธศาสตร์ฉบับนี้ได้คำนึงถึงการนำหุ่นยนต์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนของประเทศโดยกำหนดกรอบความคิดและเป้าหมายไว้อย่างครอบคลุม อีกทั้งญี่ปุ่นได้กำหนดเป้าหมายไว้ว่า จะต้องผลักดันการปฏิวัติหุ่นยนต์ให้สำเร็จภายในปี ๒๐๒๐ (๒๕๖๓) เพื่อเตรียมนำเสนอในการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ ได้แก่ กีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกที่ประเทศญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพ จึงทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์ฉบับนี้เป็นอย่างมาก
                    เมื่อพิจารณาถึงสาระสำคัญของยุทธศาสตร์ด้านหุ่นยนต์ฉบับนี้แล้ว อาจสรุปได้ว่า “หุ่นยนต์” เป็นระบบที่ใช้เทคโนโลยีเครือข่ายและดิจิทัลร่วมกับเทคโนโลยีขั้นสูง ได้แก่ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และเหตุผลที่ญี่ปุ่นมีความคิดริเริ่มให้ปฏิวัติหุ่นยนต์ เนื่องจากมีวัตถุประสงค์ ดังนี้
                   (๑) เป็นส่วนผลักดันให้ญี่ปุ่นเป็นศูนย์กลางของโลกด้านนวัตกรรมหุ่นยนต์
                   (๒) ส่งเสริมให้ญี่ปุ่นเป็นผู้นำโลกในด้านการนำหุ่นยนต์มาใช้ในสังคม
                   (๓) แสดงศักยภาพของญี่ปุ่นให้เป็นผู้นำโลกยุคใหม่ในด้านหุ่นยนต์รวมถึงก้าวทันต่อการเข้ามาของ Internet of Things: IoT (หมายถึง อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ถูกเชื่อมโยงทุกสิ่งเข้าสู่โลกอินเตอร์เน็ต และทำให้มนุษย์สามารถสั่งการควบคุมการใช้งานอุปกรณ์ต่าง ๆ ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตได้)

                     ท้ายนี้ ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่าประเด็นสำคัญในการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาใช้ก็คือ ผลกระทบทางด้านสังคม เพราะยิ่งเทคโนโลยีฉลาดมากขึ้นเท่าไร มีความสามารถมากขึ้นเท่าไร แรงงานมนุษย์จะยิ่งได้รับผลกระทบโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในทุกภาคส่วนที่หุ่นยนต์สามารถทดแทนแรงงานมนุษย์ได้ เพราะต้นทุนถูกกว่ามาก มีความสม่ำเสมอในการทำงานมากกว่า ฯลฯ ค้อนเคียวไม่ได้หายไป แต่คีย์แพดได้เข้ามาเสียบแบบเงียบ ๆ มานานแล้ว 

                  ผู้เขียนไม่ใช่หมอดู แต่เห็นว่าโดยบริบทที่เปลี่ยนไปนี้ ระบบกฎหมายแรงงานและระบบกฎหมายสวัสดิการสังคมในอนาคตจะต้องเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบันโดยสิ้นเชิง อุตสาหกรรมในอนาคตอันใกล้ ไม่ใช่โรงงานแบบ ๐.๑ ที่เราคุ้นเคยในช่วง ๔๐ ปีที่ผ่านมาอีกต่อไปแล้ว 

                         หันมาเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้น่าจะดีกว่าตั้งหน้าตั้งตาหาเรื่องทะเลาะกัน

                         ประเทศไทยจะได้ก้าวไกลไปพร้อมโลกนะคะ

**********


                     [๑] ข้อมูลจากเอกสารวิชาการ เรื่อง New Robot Strategy: Japan’s Robot Strategy จัดทำโดย The Headquarters for Japan’s Economic Revitalization
                     [๒] ผู้เขียนเป็นนักกฎหมายกฤษฎีกาชำนาญการ ฝ่ายอาเซียนและกิจการต่างประเทศ กองกฎหมายต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น