วันจันทร์ที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ตลาดชุมชน โดย นายปกรณ์ นิลประพันธ์

ผู้เขียนไม่ใช่กูรูด้านการตลาดอันใด เพียงแต่ดูข่าวสารต่าง แล้วชื่นใจมาก ว่าเดี๋ยวนี้ผู้คนบ้านเราสนใจเรื่องการค้าการขายมากขึ้น ไม่ว่าจะตลาดแบบดั้งเดิมที่ผู้ซื้อไปซื้อหาสินค้าโดยตรงจากผู้ขาย หรือตลาดออนไลน์ แทนที่จะมุ่งเรียนเพื่อให้ได้ปริญญาเพื่อไปเป็นลูกจ้างเขาหรือไปเป็นข้าราชการอย่างแต่ก่อน
ที่สำคัญคือภาครัฐให้ความสำคัญกับการส่งเสริมตลาดชุมชนมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนมากขึ้นตามไปด้วย  อันนี้ดีมากครับ เพราะเป็นการกระจายรายได้ลงไปสู่ชุมชนได้อย่างทั่วถึง

แต่ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่าตลาดที่ได้รับการรื้อฟื้น ส่งเสริม หรือที่พัฒนาขึ้นใหม่นี้มีกลิ่นอายที่แตกต่างไปจากตลาดแบบดั้งเดิม เพราะรายได้หลักที่เกิดขึ้นของตลาดมาจากนักท่องเที่ยวเป็นหลัก แทนที่จะเป็นรายได้ที่เกิดขึ้นจากการขายสินค้าของชุมชนนั้นจริง  

ในทัศนะของผู้เขียน ตลาดที่มีรายได้หลักจากนักท่องเที่ยวนี้มีแนวโน้มที่จะไม่ยั่งยืน เพราะเมื่อไรที่หมดจุดขายหรือคนไปจนเบื่อแล้ว ตลาดนั้นก็จะไม่เป็นที่น่าสนใจและคนจะซาไปในที่สุด กลายเป็นตลาดร้าง เหมือนกับแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมทั้งหลาย เพราะไม่มีอะไรใหม่ ขณะที่นักท่องเที่ยวชอบอะไรที่แปลกใหม่

คำถามที่น่าสนใจก็คือแล้วจะทำอย่างไรเพื่อให้ตลาดชุมชนที่มีการรื้อฟื้นขึ้นมาหรือที่พัฒนาขึ้นใหม่เหล่านี้อยู่ได้อย่างยั่งยืนและสามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนได้อย่างต่อเนื่องและมั่นคง

ผู้เขียนไม่ค่อยได้ไปราชการต่างประเทศสักเท่าไรเพราะภาษาอยู่ในระดับไม่เอาไหน เกรงว่าถ้าไปแล้วจะเป็นการใช้ภาษีประชาชนโดยไม่เกิดประโยชน์ จึงเก็บเงินไปเอง และเวลาไปก็มักจะหลบไปสิงอยู่เงียบ ไปเที่ยวในที่ที่นักท่องเที่ยวหรือนักดูงานเขาไม่ไปกันเพราะเบื่อ ไปไหน ๆ ก็ต้องแห่ไปถ่ายรูปมุมนี้ หรือไม่ก็ต้องไปดูงานที่นี่ ไม่รู้จะไปซ้ำ ๆ กันทำไม 

ที่ชอบมากที่สุดคือเดินตลาดเพราะชอบหาของกินอร่อย โดยเฉพาะของกินแบบบ้าน   เนื่องจากร้านหรู อย่างร้านติดดาวมันแพง แถมกินไม่อิ่ม และไม่ชอบแต่งตัว

จากการสังเกตของผู้เขียน ตลาดชุมชนของต่างประเทศนั้นเป็นตลาดซื้อขายสินค้าจริง ที่คนในชุมชนเอาสินค้าที่ผลิตได้ในชุมชนมาซื้อขายแลกเปลี่ยนกันเป็นหลัก แต่ละตลาดก็จะมีสินค้ามีชื่อแตกต่างกันไป ที่สำคัญคือคนในชุมชนเขาซื้อขายกันเองเป็นหลัก ซึ่งนั่นทำให้รายได้หมุนเวียนในชุมชนตลอดเวลา ตลาดของเขาจึงมีชีวิตชีวา ไม่ดูแห้ง เหมือนตลาดอีเว้นท์ ถึงไม่มีนักท่องเที่ยวเข้าไป เขาก็อยู่ได้ เงินทองหมุนเวียนตามปกติ การท่องเที่ยวจึงเป็นส่วนเสริมที่ทำให้มีการใช้จ่ายในตลาดชุมชนมากขึ้น เรียกว่าเป็นประโยชน์ทางอ้อมว่างั้น

ดังนั้น ในความเห็นของผู้เขียน โจทย์ใหญ่ในการพัฒนาตลาดชุมชนจึงไม่ได้อยู่ที่ว่าทำอย่างไรจึงจะให้เกิดตลาดชุมชนขึ้นทั่วทุกหัวระแหง แต่อยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้คนในชุมชนใช้เป็นสถานที่ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าที่ผลิตในชุมชนได้อย่างแท้จริง มีชีวิตชีวา ไม่ใช่ตลาดนัด ไม่ใช่เสาร์อาทิตย์มาขายกันที และสินค้าที่นำมาซื้อขายแลกเปลี่ยนกันก็ควรเป็นสินค้าชุมชนนั้นอย่างแท้จริง ไม่ใช่ขนเข้าไปจากที่อื่น เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น ซื้อจากร้านสะดวกซื้อก็ได้ 

ส่วนตัวเห็นว่าการที่ทุกตลาดขายของเหมือน กันมันเป็นการทำลายมนต์เสน่ห์หรืออัตลักษณ์ของตลาดชุมชนแต่ละแห่งไปอย่างน่าเสียดาย

ส่วนการพัฒนาสินค้าชุมชนนั้น ผู้เขียนพบว่าเขาเน้นทำขายคนในชุมชนเป็นหลักก่อน และรายได้หลักอยู่ที่รายได้จากคนในชุมชน อย่างขนมปังหรือเต้าหู้เนี่ยะ เขาทำสด วันต่อวัน ชาวบ้านในชุมชนก็มายืนเข้าคิวรอซื้อกัน ต่อเมื่อมีคนสนใจมากเข้า เขาจึงค่อย พัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อส่งขายร้านสะดวกซื้อหรือโมเดิร์นเทรด ไม่มีใครอยู่ ก็ผลิตขายร้านสะดวกซื้อหรือโมเดิร์นเทรดเลยหรอก เขาบอกว่ามันเสี่ยงมากเกินไป ถ้าลงทุนไปแล้วตลาดไม่เอาด้วยก็มีแต่เจ๊ง ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น เขานั่นแหละที่ต้องเป็นหนี้เป็นสิน 

นี่สัมภาษณ์สดแบบเสน็ค ฟิช มาหลายเจ้าแล้วครับ ได้ความตรงกันอย่างนี้

ผมว่าเขาคิดดีมีเหตุผลนะ ทำแบบพอเพียง หารายได้โดยมีภูมิคุ้มกัน ไม่คิดจะรวยเร็วจนละเลยความยั่งยืนในอาชีพ

น่าสนใจนะครับ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น