วันเสาร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

คันฉ่องส่องทาง โดย นางสมาพร นิลประพันธ์

บ้านเรานี่พอมีปัญหาอะไรขึ้นมา ประโยคที่มักจะได้ยินบ่อย จากเกือบทุกผู้คือเรื่องนี้ยังไม่มีกฎหมายเพราะเหตุนี้ บ้านเมืองเราจึงมีกฎหมายจำนวนมากมายมหาศาล เพราะมีกฎหมายดูแลกันทุกเรื่อง ทุกกิจกรรม
บางครั้งผู้เขียนเองก็อดสงสัยใจไม่ได้ว่า มีสักกี่เรื่องกันเชียวนะที่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมาย จริง น่าจะเป็นว่ามีกฎหมาย แต่กฎหมายมันไม่ทันยุคทันสมัยเสียมากกว่า ไม่ใช่ไม่มีกฎหมาย มีกฎหมายจำนวนมากนะคะที่ออกมาหลายสิบปีแล้ว แต่แก้ไขสองสามครั้งเองทั้ง ๆ ที่เราก็กำลังเข้าสูงยุค Disruptive Technology ที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเร็วมาก   

ยกตัวอย่างที่เราเห็นกันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันก็คือการขับขี่รถย้อนศร การจอดในที่ห้าม ฝ่าไฟแดง บรรทุกเกิน ฯลฯ  ถามว่ามีกฎหมายไหม ตอบได้เลยว่ามันก็มีกฎหมายมานมนานแล้ว หรือเอาที่ร้ายแรงหน่อยคือทำร้ายร่างกาย ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ค้ายาเสพติด ค้ามนุษย์ ฯลฯ เรื่องเหล่านี้มันก็มีกฎหมายมานานแล้ว แต่ทำไมยังมีเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นทุกวัน และนับวันจะมากขึ้น รุนแรงขึ้น

หลายท่านมักจะพูดว่าโทษน้อยไปคนเลยไม่กลัว ต้องเพิ่มโทษ คนจึงจะกลัว 

อภิโถ ตอนนี้กฎหมายก็เยอะเสียจนแทบจะไม่รู้แล้วละค่ะว่าทำอย่างนี้ก็ผิดกฎหมายด้วยหรือ เช่น ใบอนุญาตต้องติดไว้ในที่ที่เห็นได้ง่าย ก็แล้วตรงไหนเล่าที่มันเห็นได้ง่าย อาคารต้องไม่มีสภาพสกปรกรกรุงรัง อย่างไรจึงจะเป็นสกปรกรกรุงรังล่ะเจ้าคะ ฯลฯ

ทั้งจะว่าไปอย่างเรื่องทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ค้ายาเสพติด ฯลฯ นี่โทษถึงจำคุกตลอดชีวิต ถึงประหารชีวิต เชียวนะคะ มันจะมีอะไรแรงกว่านี้อีก หรือจะต้องให้สับเป็นชิ้น อย่างที่แม่หญิงการะเกดเสนอไว้ในละคร แต่นั่นก็ออกจะดูขัดต่อสิทธิมนุษยชนไปมิใช่น้อย

ถึงตรงนี้ขอนอกเรื่องนิดนึงว่าการสับเป็นชิ้น นี่ฝรั่งก็เคยใช้นะคะ แถมโหดกว่าเราอีกนะเจ้าคะ เช่น ในอังกฤษในช่วงกษัตริย์เฮนรี่ที่ 3 เรื่อยมาจนถึงปี 1870 นั้น กบฏที่ถูกจับได้จะมีชะตากรรมน่าสมเพชกว่าอีตาคอนแสตนติน ฟอลคอน เสียอีกนะคะ คือจะถูกผูกกับบันไดไม้ ให้ม้าลากทเวณไปทั่วพระนคร มาจบแถว ที่คนเยอะ เช่น ลอนดอนบริดจ์ ถ้าท่านอึดและยังมีลมหายใจมาถึงที่นั้นได้ และเป็นผู้ชาย ท่านจะถูกตัดอวัยวะเพศและอัณฑะออกก่อนเป็นลำดับแรกทั้งที่ยังหายใจอยู่นั่นแหละ ต่อด้วยตัดหัวตัดแขนตัดขา เหลือแต่ตัว วิธีตัดนี่ไม่ใช้มีดนะคะ ใช้ผูกอวัยวะกับตัวม้าค่ะ ... ม้าจริง ๆ นะเจ้าคะ แล้วดึงไปคนละทิศละทาง ... ยังค่ะ ยังไม่จบ ตัวที่เหลือจะถูกสับเป็นสี่ส่วนด้วย น่าสยดสยองมาก เขาเรียกโทษนี้ว่า Hanged, drawn and quartered ใครไปถ่ายรูปแถวลอนดอนบริดจ์ ถ้ามีภาพนี้ติดมาด้วยก็อย่าได้ตกใจนะเจ้าคะ  

เห็นไหมคะว่ากว่าฝรั่งจะมีสิทธิมนุษยชนอย่างทุกวันนี้ เขาผ่านอะไรมาบ้าง สิทธิมนุษย์ชนจึงไม่ใช่แค่ตัวหนังสือที่เห็น แต่เป็นพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ที่ค่อย พัฒนามาเป็นร้อย ปี ที่แอบนอกเรื่องมานี้เพื่อจะบอกว่าเรื่องสิทธิมนุษยชนนี้อย่าเอาแต่จำขี้ปากฝรั่งนะคะ เมื่อไม่กี่ปีมานี้ทหารยังต้องเข้าไปช่วยยุติการชุมนุมในประเทศเสรีนิยมพี่เบิ้มอยู่เลย ตีกันอลเวงทีเดียวเชียวหลังเลือกตั้ง ดูข่าวกันบ้างนะคะ เผื่อจะเอาไปทักท้วงเขาในเวทีระหว่างประเทศบ้าง ไม่ใช่ให้เขามาใส่เราฝ่ายเดียว

กลับมาเรื่องที่กฎหมายขาดความศักดิ์สิทธิ์ต่อดีกว่า หลายท่านมุ่งตำหนิเจ้าหน้าที่ว่าไม่บังคับใช้กฎหมายจริงจัง ทั้งที่ออกกฎหมายมาเสียเยอะแยะ อำนาจก็เต็มไปหมด ดันไม่ใช้บังคับ ไม่รู้จะออกกฎหมายมาทำไมถ้าไม่พร้อมจะบังคับใช้ 

อันนี้ก็คงจริง แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด เจ้าหน้าที่ที่เขาเอาจริงเอาจังก็มี แถมมีเป็นส่วนใหญ่ (รวมถึงผู้เขียน) ด้วย แต่เจ้าหน้าที่มีหยิบมือเท่านั้น ขณะที่ประชาชนมีตั้ง 60 กว่าล้านคน แล้วจะจับกันอย่างไรไหว มันจะดูแลทั่วถึงได้อย่างไร แต่ญี่ปุ่นเขามีคนราว 120 ล้านคน มีตำรวจราว 3 แสนคนเท่านั้น ทำไมเขาอยู่กันได้เรียบร้อยกว่าบ้านเราล่ะ 

ผู้เขียนว่าเรื่องที่เราลืมกันไปเลยคือลืมดูตัวเองว่าตัวเราเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาหรือไม่ เมื่อเกิดสิ่งใดขึ้นแล้วมันไม่ดีไม่งาม เราจะโทษผู้อื่นและสิ่งอื่นไว้ก่อนเสมอ 

การที่เราลืมส่องคันฉ่องนี่เองที่ทำให้ปัญหาต่าง แก้ไขได้ยากเย็นมาก เพราะแก้ไม่ถูกจุด เกาไม่ถูกที่คัน

เชื่อไหมคะว่าทุกคนรู้ดีว่าขับขี่ย้อนศรนี่มันผิดกฎหมายและอาจเกิดอันตรายขึ้นได้ แต่หลายคนคิดว่านิดเดียวเอง ไม่เป็นไรหรอกจึงขับขี่ย้อนศร ทำไปเรื่อย จนเป็นปกติวิสัย คิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่ผิดไปเสียอย่างนั้น 

พอเจ้าหน้าที่กวดขันวินัยจราจร แทนที่จะทบทวนสิ่งที่ตัวเองทำลงไปว่ามันถูกหรือไม่ถูก กลับไปว่าเจ้าหน้าที่ว่ารีดไถคนยากจนไปนั่น ถ้าไม่ทำผิดจะต้องกลัวอะไรล่ะคะ แล้วจนกับกระทำความผิดมันเกี่ยวกันตรงไหน ผู้เขียนหาเข้าใจไม่เจ้าค่ะ

หรือค้ายาเสพติด ค้ามนุษย์ ฯลฯ เหล่านี้มันก็เป็นเรื่องที่ทุกคนรู้แก่ใจว่ามันไม่ดี ไม่ถูกต้อง มันผิดกฎหมาย โทษก็แรง แต่ยังมีคนทำผิด เพียงเพราะได้เงินดี คนอื่นจะเป็นอย่างไรช่างหัวมัน ดันโง่เสพย์เข้าไปเอง ช่วยไม่ได้

ในทัศนะของผู้เขียนซึ่งดูแลกฎหมายด้านการสาธารณสุขอยู่ เห็นว่าสังคมเราเผชิญกับมลพิษของบริโภคนิยมจนคนจำนวนมากป่วยเป็นโรคขาดหิริโอตตัปปะ หรือขาดความละอายต่อบาปอย่างรุนแรงมาก มันมากเกินจนผู้ป่วยไม่รู้ว่าอะไรควรหรือไม่ควร แถมลุกลามไปถึงขนาดขาดความรู้จักผิดชอบชั่วดีกันแล้ว โทษตามกฎหมายจึงไม่สามารถเหนี่ยวรั้งมิให้ผู้คนกระทำความผิดได้ ส่วนมากมักจะอ้างว่าไม่มีหลักฐานแสดงให้เห็นแบบจะ ได้ว่าฉันลงมือทำ จึงเอาผิดฉันไม่ได้ แม้จะมีหลักฐานกองโตอยู่คาตา

ที่เบาหน่อยก็ป่วยอีกแบบหนึ่ง คือไม่รู้ว่าอะไรควรหรือไม่ควรผู้ป่วยประเภทนี้มักจะกระหยิ่มใจในความมั่งมี ความกว้างขวาง ความมีบารมี ความรู้ข้อกฎหมาย ถึงกับบังอาจใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการสนับสนุนการกระทำที่ไม่ถูกไม่ควรของเขาว่ากฎหมายไม่ได้ห้าม จึงทำได้ ทั้งที่แท้จริงแล้วถึงกฎหมายไม่ได้ห้ามไว้ตรง แต่ถ้ามีสำนึกในใจบ้างว่าอะไรควร อะไรไม่ควร ก็จะเข้าใจได้ไม่ยากว่าถ้าการกระทำนั้นมันละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนอื่น หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของสังคม หรือกระทบกระเทือนหรืออาจเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ หรือไม่ ซึ่งถ้ารู้สำนึกว่ามันไม่ควร มันก็ล้วนแล้วแต่ไม่พึงกระทำทั้งสิ้น 

ข้ออ้างข้าง คู โดยปราศจากความละอายนี้เองที่ทำให้กฎหมายกลายเป็นแพะของสังคมไปโดยปริยาย ไม่มีกฎหมายบ้าง กฎหมายมีช่องโหว่บ้าง น่าสงสารนัก

ผู้เขียนเห็นการแก้ไขปัญหานี้ก็คงไม่ใช่เพิ่มวิชาให้เด็กไปท่องบ่นเป็นมนตราว่าความละอายต่อบาปคือ 1-2-3-4 ฯลฯ เพราะเรื่องนี้มีอยู่แล้วในตำรา และภาครัฐฝ่ายเดียวแก้ปัญหานี้ไม่ได้หรอกค่ะ  ครอบครัว ชุมชน และสังคมต้องร่วมด้วยช่วยกันอย่างจริงจัง ผู้ใหญ่จึงควรไปส่องคันฉ่องแล้วทำตัวให้เป็นแบบอย่างแก่เด็ก เขาจะได้ทำตามแต่ในสิ่งที่มันถูกต้อง สิ่งที่มันสมควร  ไม่งั้นเรียนไปท่องจำได้ สอบได้ แต่เวลาทำนั้นก็ทำเหมือนที่พ่อแม่ทำ หรือที่ใคร เขาก็ทำกันไปเสียอย่างนั้น 

พูดอย่างทำอย่างว่างั้นเถอะ

สังคมเราเจริญงอกงามทางจิตใจไม่ได้หรอกเจ้าค่ะ ถ้าเราไม่ร่วมมือกัน

ไปส่องคันฉ่องกันนะคะ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น