วันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2567

ความเชื่อมั่น (Trust) ปกรณ์ นิลประพันธ์

 ความเชื่อมั่น (Trust)

ในวงสนทนาเล็ก ๆ วงหนึ่ง หลังจากขุดเรื่องหลังเมื่อครั้งวัยละอ่อนมาละเลงกันทั่วหน้าแล้ว มีคนถามผมว่าอะไรคือปัญหาที่ผมคิดว่าหนักที่สุดของเราในขณะนี้ ระหว่างการเมืองภายใน การเมืองระหว่างประเทศ  เศรษฐกิจตกต่ำ สังคมชำรุด สังคมผู้สูงอายุ การศึกษา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แล้วจะแก้อันไหนก่อนดี

ผมตอบโดยไม่ลังเลเลยว่า “ปัญหาความเชื่อมั่น” (Trust)

คนในวงถามว่ามันเกี่ยวอะไรกัน

ผมเลยถามเขากลับไปว่า นาทีนี้พวกเขาเชื่อมั่น “ในอะไร” ได้บ้าง

ทุกคนลังเลที่จะตอบ 

ผมรู้สึกว่ามีความอึดอัดเกิดขึ้นในการอภิปราย จึงเสนอความเห็นต่อไปว่า ปัญหาที่ยกมาหลายประการนั้นล้วนเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ รวมทั้งของโลกด้วยซ้ำไป 

โอเคละ เราทราบปัญหาและสาเหตุของปัญหาที่ยกขึ้นมาเป็นอย่างดี มีผลงานศึกษาวิจัยมากมาย พูดกันซ้ำไปซ้ำมา  แต่ทำไมเราถึงยังแก้ไขอะไรในเชิงโครงสร้างไม่ได้เลย ได้แต่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า ปะผุไปวัน ๆ ทั้ง ๆ ที่คุยข่มกันว่าซุ่มศึกษากันล่วงหน้ามาหลายปี พร้อมทำทันที 100 วันเผา เอ๊ย 100 วันเห็นผลแน่ ๆ 

ผมบอกเพื่อนว่า ส่วนตัวผมคิดว่าพื้นฐานสำคัญคือไม่มีใครเชื่อมั่นว่าจะมีผู้ใดที่จะแก้ปัญหาได้  ทุกวันนี้ก็ยังรออัศวินขี่ม้าขาวกันอยู่ทั้งที่รู้ว่าคงไม่มีหรอก  ซึ่งถ้าผู้คนคิดเช่นนั้นกันหมด คนมีหน้าที่แก้ปัญหาที่ไม่ว่าจะตั้งใจมาหรือไม่ ก็จะถูกตั้งคำถาม (ด้วยความไม่เชื่อมั่น) ว่าจะทำได้จริงหรืออยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าผู้มีหน้าที่จะร่ำเรียนมาจากสถาบันโด่งดัง มีปริญญายาวเฟื้อย มีประสบการณ์โชกโชนมาเพียงใด  และความไม่เชื่อมั่นของผู้คนก็จะทำให้ผู้มีหน้าที่ขาดแนวร่วม ขาดพลัง ขาดแรงสนับสนุน และขาดความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา เพราะการแก้ไขปัญหาทุกอย่างนั้นมันต้องร่วมด้วยช่วยกัน ทำคนเดียวไม่ได้ ยิ่งเป็นเรื่องใหญ่ มันก็จะมี stakeholders มาก ถ้า stakeholders ไม่เชื่อมั่นในผู้มีหน้าที่แก้ไขปัญหา มันก็จะไม่มีใครฟังใคร

ในการสร้างความเชื่อมั่น ไม่ต้องการคนหน้าตาดี มาดดี พูดเก่ง แต่ต้องหนึ่งมีความมั่นคงแน่วแน่  สองคิดถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก สามมีสติและปัญญาคู่กัน มีปัญญาอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีสติด้วย  สี่ต้องสุจริต เที่ยงธรรม  ห้าต้องตรงไปตรงมา ยึดมั่นในหลักการ  หกมีความรับผิดชอบ  และเจ็ดใจกว้าง รับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย 

นี่ผมว่าตามตำราที่อ่านมานะ แต่เท่าที่เอามาลองใช้ดูในการทำงานจริงมันก็ได้ผลนะ

ถ้าเริ่มต้นจากการสร้างความเชื่อมั่น เมื่อผู้คนเชื่อมั่น ก็จะแก้ทุกปัญหาไปพร้อม ๆ กันในลักษณะ structural change ได้เพราะทุกปัญหามันเกี่ยวโยงกัน

แต่มันก็ยากที่จะสร้างความเชื่อมั่นในสังคมที่มีความเป็น individualism สูงมากตามการพัฒนาของระบบเทคโนโลยีเช่นนี้  ขณะที่การทำลายความเชื่อมั่นโดยใช้เทคโนโลยีมันง่ายกว่าเยอะ

“เปลี่ยนเรื่องคุยเถอะวะ” ใครคนหนึ่งพูดขึ้นมา 

แล้วการสนทนาในประเด็นนี้ก็เป็นอันยุติลง.

วันจันทร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2567

มุมมองต่อการพัฒนากฎหมาย climate change ปกรณ์ นิลประพันธ์

 หลายวันก่อนมีคนชวนผมไปอภิปรายเรื่องมุมมองต่อการพัฒนากฎหมายว่าด้วย climate change  

ผมก็บ่น ๆ ให้เขาฟังกันว่าบ้านเรานี้เอะอะก็บอกว่ายังไม่มีกฎหมาย ตั้งธงจะออกกฎหมายกันท่าเดียว นัยว่าพอมีกฎหมายแล้วปัญหามันจะหายไปง่าย ๆ เนื้อหาในกฎหมายก็ไม่มีอะไรมาก จัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติ ระดับจังหวัด ระดับท้องถิ่น ตั้งกรรมการแล้วยังให้คณะกรรมการไปตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงาน ที่ปรึกษา ฯลฯ กันอีก แล้วก็ให้ไปคิดมาว่าจะทำยังไง แล้วเสนอคณะรัฐมนตรีมีมติสั่งการ มีตั้งสำนักงานมารองรับ มีการตั้งกองทุนที่เอางบประมาณรายจ่ายมาสนับสนุน อ้างว่าเพื่อความคล่องตัวในการทำงาน 

ผมก็หวังว่าถ้าจะมีกฎหมายเรื่อง climate change คงจะไม่มีหน้าตาและโครงสร้างอย่างนี้นะ เพราะที่มีอยู่นั้นมันพิสูจน์แล้วว่าไม่ค่อยได้ผลเท่าไร 

ส่วนตัวผมแอบคิดว่ามันมีกระทรวง ทบวง กรม ที่รับผิดชอบหน้าที่ต่าง ๆ อยู่แล้ว ถ้ากฎหมายจะกำหนดเป้าหมายในการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยลงตามเป้าที่รัฐบาลกำหนดไว้ในปี 2030 และ 2050 แล้วให้ทุกหน่วยงานไปคิดว่าจะ deliver ยังไงในแต่ละปีน่าจะดีกว่า แต่ที่สำคัญทุกหน่วยงานต้องสร้าง climate change literacy ให้กับทั้งข้าราชการ พนักงาน และลูกจ้างในสังกัด รวมทั้งช่วยกันสร้างคนของเราให้มีความตระหนักรู้ในเรื่องclimate change อย่างจริงจังในฐานะที่ทุกคนเป็น global citizen ด้วย 

แค่เพียงเปลี่ยนมาใช้รถ ev หรือใช้ solar roof เพราะเหตุประหยัดพลังงาน ลดค่าใช้จ่าย หรือขายไฟฟ้าคืนเข้ากริดเป็นรายได้ได้ด้วยนี่ ไม่ได้หมายความเขาตระหนักรู้ ตื่นรู้ ในอันตรายที่จะเกิดขึ้นจาก climate change  คือถ้ามี climate change literacy จริง เป็น global citizen จริง ๆ เขาต้องเปลี่ยนพฤติกรรมเพราะเขามุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น ไม่ใช่เพียงเพราะลดต้นทุนหรือให้ดูทันสมัยเท่านั้น 

ในทัศนะผม ชาวยุโรปเหนือมี climate change literacy ที่ชัดเจนมาก เราต้องการให้พลเมืองมีทัศนคติแบบนั้นในการผลักดันเรื่อง climate change ไม่งั้นออกกฎหมายอีกกี่ร้อยฉบับก็ไม่ได้ผล

นโยบายที่ต่อเนื่องและชัดเจนเป็นสาระสำคัญอีกประการหนึ่งที่จะทำให้เรื่องนี้ประสบความสำเร็จ คือต้องถือเรื่องนี้เป็น national interest ทีเดียวเพราะถ้าไม่จริงจังและต่อเนื่อง ไม่ว่าจะระดับรัฐบาล ระดับองค์กร ทั้งภาครัฐภาคเอกชน ก็ยากที่จะผลักดันบรรลุเป้าหมายได้ ทุกภาคส่วนต้องตระหนักว่าปัญหามันร้ายแรงขึ้นเรื่อย ๆ เราต้องสูญเสียงบประมาณ/ต้นทุนจำนวนมากในแต่ละปีเพื่อ mitigate ความเสียหายที่เกิดขึ้นจาก climate change ทั้งทางตรงและทางอ้อม

การบังคับใช้กฎหมายและการปฎิบัติตามกฎหมายก็เป็นประเด็นสำคัญในการต่อสู้กับ climate change โดยเฉพาะในช่วงที่เรายังไม่สามารถเปลี่ยนทัศนคติของคนของเราให้เป็น global citizen ได้ เพราะเป็นธรรมชาติของคนที่กลัวการเปลี่ยนแปลง และจะยกการ์ดสูงอยู่เสมอถ้าต้องเปลี่ยนอะไรก็ตาม ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างมีศิลปะเพื่อลดการต่อต้าน และมีมาตรการกระตุ้นเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ในแง่นี้ การให้ incentive รูปแบบต่าง ๆ จะช่วยให้ผู้คนปฏิบัติตามกฎหมายอย่างยินยอมพร้อมใจ สร้างความร่วมมือ และเป็นพลังผลักดันในที่สุด

นอกจากนี้ การประเมินผลต้องมีความชัดเจนและกระทำสม่ำเสมอเพื่อตรวจสอบสัมฤทธิ์ผลของมาตรการและกลไกต่าง ๆ

สำหรับผม การออกแบบกลไกตามกฎหมายเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์เรื่องนี้ไม่ง่ายเลย เพราะต้องเข้าใจพฤติกรรมและบริบทที่เป็นอยู่จริง ๆ มาตรการต้องสมดุล เป็น stick ที่เข้มข้น เกรงกลัว และเป็น carrot ที่ใคร ๆ ก็อยากได้ เรามีโมเดลอยู่เยอะในฐานข้อมูล https://climate-laws.org/ ต้องศึกษาให้ดี เอาที่เหมาะสมกับบริบทเรามาปรับใช้

ไม่ใช่แค่โยนให้คณะกรรมการไปคิด แล้วคณะกรรมการก็โยนให้คณะอนุกกรมการหรือคณะทำงานไปคิดต่อ 

อันนี้ไม่ได้เรื่องมาเยอะแล้ว




วันศุกร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2567

โครงสร้างที่ต้องปรับเปลี่ยน โดย ปกรณ์ นิลประพันธ์

ติดตามข่าวสารรอบตัวรอบโลกแล้วให้นึกสงสารคนรุ่นใหม่นัก สถานการณ์ต่าง ๆ ทั้งดินฟ้าอากาศ เศรษฐกิจ สังคม การบ้านการเมืองทั้งต่างประเทศในประเทศ ความรู้สึกนึกคิดและพฤติกรรมของผู้คน เปลี่ยนแปลงเร็วมากเสียจนยากที่จะคาดการณ์ได้ 

“การวางแผน” ตามตำรายุค 70s และ ”การกำหนด KPI หรือ OKR“ ในยุค 2000s กลายเป็นอะไรที่ล้าสมัยเพราะมันตายตัว การทบทวนแผน KPI OKR ปีละครั้งแบบดั้งเดิมมันไม่ทันกิน คงต้องทบทวนและปรับเปลี่ยนบ่อยครั้งขึ้น อาจต้องลดเป็นไตรมาสละครั้งหรือเร็วกว่า เพื่อให้รับกับสถานการณ์ 

”งบประมาณ“ ที่วางกันล่วงหน้าคราวละปีก็อาจต้องปรับเหมือนกัน เดิมเคยคิดกันว่าจะเป็นงบสามปีห้าปี จะได้เกิดความต่อเนื่อง แต่ภายใต้ความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วเช่นนี้ คงใช้แบบนั้นไม่ได้แล้ว ปีนึงน่าจะยังพอได้ แต่ต้องปรับวิธีการตั้งงบประมาณเป็นการให้เป็นก้อน ถ้าให้ระยะสั้นก็เพื่อ achieve target หรือถ้าระยะยาวก็ต้องเพื่อให้เกิด outcome ภายในกรอบเวลา ส่วนการใช้จ่ายงบประมาณก็ต้องมีความยืดหยุ่นภายในหลักเกณฑ์ที่กำหนด ไม่ใช่ใช้ตามกฎระเบียบ การตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณก็ไม่ใช่ตรวจว่าถูกระเบียบไหม แต่ตรวจว่า achieve target หรือเกิด outcome ตามที่ขอรับงบประมาณไปใช้หรือไม่

“โครงสร้าง” แบบเดิม ๆ โดยเฉพาะระบบราชการต้องปรับอย่างเร่งด่วน ให้มีความอ่อนตัว ต้องเอื้อให้เกิดการใช้ทรัพยากรในระบบ ทั้งคน เงิน ของ ได้อย่างคุ้มค่าทำงานตาม agenda ได้ ทำงาน cross functions ได้ ไม่ใช่ stand alone เหมือนที่ผ่านมา การรับคนเข้าทำงานคงต้องสนใจ skill attitude creativity และ collaboration ของบุคคล มากกว่าใบปริญญาหรือชื่อเสียงของสถานศึกษาที่เข้าเรียน เหมือนยุคก่อน ๆ work life balance จะเพิ่ม productivity การพัฒนาให้คนมี multi skill และ social skill จะช่วยให้การทำงาน cross functions มีประสิทธิผลมากขึ้น

“วิธีการทำงาน” มี hierarchical structure ได้ แต่กระบวนการทำงานต้องเร็ว ภายใต้ระบบการกลั่นกรองที่เหมาะสม ไม่ล่าช้าและมีคุณภาพ เงื่อนไขคือต้องมีระบบฐานข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ จะทำให้สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ การให้บริการผ่านระบบออนไลน์

“นโยบาย” ต้องคิดแบบ holistically คำนึงถึงผลกระทบด้านต่าง ๆ อย่างรอบด้าน ไม่สุดโต่งไปข้างใดข้างหนึ่ง เพื่อประโยชน์ของทุกกลุ่มในสังคม ไม่ใช่พวกฉัน พวกเธอ แต่เป็น “พวกเรา” ซึ่งเป็นพหุวัฒนธรรม นั่นต้องพูดจากันด้วยเหตุผล รับฟังผู้อื่นที่แตกต่าง ไม่เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ต้องคำนึงถึงความผาสุกของประชาชนเป็นหลัก ไม่ใช่อ้างประชาชนบังหน้าหรือเป็นตัวประกัน การจัดสรรทรัพยากรต้องเป็นไปตามความจำเป็นเร่งด่วนของเรื่อง และต้องเป็นธรรมไปพร้อมกัน

“การเมือง” อันนี้ไม่รู้ …

ผมแก่ใกล้จะปลดระวางแล้ว ก็คิดเทียบเอากับเมื่อสมัยยังเป็นคนรุ่นใหม่ราวสามสี่สิบปีก่อน มันช้ากว่านี้มาก ทำงานง่ายกว่ามาก พอทุกอย่างมันเร็วขึ้นผมก็เป็นรุ่นเก่าพอดี ทำงานยากขึ้น มีปัจจัยและตัวแปรต่าง ๆ มากมายขึ้น ที่บ่น ๆ มาก็คิดว่าถ้าช่วยกันเปลี่ยนบางอย่างได้ ก็จะทำให้พี่น้องประชาชนมีความผาสุกได้เท่านั้นเอง ไม่ได้ฝากอะไรให้ใครทำ เพราะที่บ่นมาอาจไม่เข้าท่าก็ได้

ก็ให้กำลังใจน้อง ๆ คนรุ่นใหม่ทุกคนในทุกภาคส่วนครับ.

วันจันทร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2566

สรุปผลการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก ในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ ๒๘ (COP 28) ​​ นางสาววารีรัตน์ รัตนวิบูลย์สม

 ๑. บทนำ

๑. ความสำคัญของการเข้ามามีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่มิใช่ภาคีที่มาจากภาคส่วนต่าง ๆ ซึ่งประกอบด้วยภาคธุรกิจ นักลงทุน หรือที่มาจากระดับภูมิภาค สังคมเมือง หรือภาคประชาสังคม ในการประชุมระดับพหุภาคีภายใต้กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ได้รับการยอมรับจากภาคีมาเป็นระยะเวลานานโดยย้อนกลับไปในสมัยการประชุมวาระการดำเนินการ Lima-Paris ที่จัดขึ้นในการประชุม COP 20 ณ เมืองลิมา สาธารณรัฐเปรู การแต่งตั้งคณะผู้แทนระดับสูงของสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (High-Level Champions) ในการประชุม COP 21 และความเป็นหุ้นส่วนมาร์ราเกซสำหรับการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก (Marrakech Partnership for Global Climate Action) ที่จัดขึ้นโดย High-Level Champions ในการประชุม COP 22 ซึ่ง High-Level Champions และ Marrakech Partnership ได้ทำให้เกิดผลลัพธ์หลายประการต่อการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกในการประชุม COP 27 และภาคีเหล่านี้ต่างมีความยินดีร่วมกับผู้นำของกลุ่ม High-Level Champions และร่วมสนับสนุนให้ทั้งภาคีและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่มิใช่ภาคีได้เข้ามามีส่วนร่วมในความเป็นหุ้นส่วนมาร์ราเกซ


๒. ผลลัพธ์จากความก้าวหน้าที่ได้ดำเนินการไว้ในการประชุม COP 27 ทำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่มิใช่ภาคีได้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก โดยได้มีการรายงานสรุปผลงานตลอดทั้งปี ๒๕๖๖ ไว้ในรายงานประจำปีของการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศของโลก (Yearbook of Global Climate Action 2023) ที่มี High-Level Championsเป็นผู้นำเสนอในการเปิดการประชุมคณะผู้แทนระดับสูงของการประชุม COP 28


๓. ตลอดการประชุม COP 28 ในช่วงสองสัปดาห์ภายใต้การนำของประธาน COP 28 ได้ปรากฏความคืบหน้าของการดำเนินการต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้วาระการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก โดย High-Level Champions และ Marrakech Partnership ได้จัดกิจกรรมจำนวนมากกว่า ๔๐ งาน รวมถึงงานที่มีลักษณะเป็น Action Events, Implementation Labs และ High-Level Champion Special Events ที่แสดงให้เห็นถึงแรงผลักดันโดยรวมจากทุกภาคส่วนและประเด็นสำคัญที่มีการหารือร่วมกันเพื่อผลักดันให้มีเป้าหมายและการดำเนินงานในระดับโลก การจัดทำปฏิญญาหรือพันธสัญญาใด ๆ ควรได้รับการยอมรับและติดตามอย่างใกล้ชิดเพื่อให้การประชุมระดับพหุภาคีเกิดประสิทธิผลและเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดทำความตกลงปารีส (Paris Agreement) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดให้มีการประเมินสถานการณ์การดำเนินงานระดับโลก (Global Stocktake) เป็นครั้งแรกในการประชุม COP 28


๒. แนวทาง


๔. เอกสารฉบับนี้สรุปถึงภาพรวมของผลลัพธ์ที่สำคัญของการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกโดยแบ่งออกเป็น ๔ เสาหลักตามที่ประธาน COP 28ได้กำหนดไว้ ได้แก่ (๑) การติดตามอย่างเร่งด่วนต่อการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่เป็นธรรม เป็นระบบ และเท่าเทียม (๒) การแก้ไขด้านการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ (๓) การมุ่งเน้นที่ผู้คน ชีวิต และการดำรงชีวิต และ (๔) การสนับสนุนทุกสิ่งโดยไม่แบ่งแยก


๕. ข้อมูลพื้นฐานที่ใช้ในการวิเคราะห์ผลลัพธ์ที่สำคัญได้นำมาจากแหล่งข้อมูลหลายแห่งโดยไม่ได้จำกัดเฉพาะข้อมูลที่มาจากเอกสารสรุปของประธาน COP 28 การประชุมสุดยอดการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก และรายงานสรุปหรือจดหมายข่าวประจำวันที่เผยแพร่โดยคณะผู้แทนระดับสูงหรือฝ่ายเลขานุการของที่ประชุม COP 28 ทั้งนี้ รายชื่อของประกาศและโครงการริเริ่มต่าง ๆ จะสามารถติดตามได้จากช่องทางของหน้าข่าวสารการจัดงานที่มีการเผยแพร่ โดยข้อมูลทั้งหมดที่เผยแพร่นั้นจะเป็นข้อมูลล่าสุด ณ เวลาที่มีการเผยแพร่ (๑๑ ธันวาคม ๒๕๖๖)

 

๓. การติดตามอย่างเร่งด่วนต่อการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่เป็นธรรม เป็นระบบ และเท่าเทียม


๖. การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่รวดเร็วในระบบพลังงานเป็นหัวใจสำคัญของการรักษาเป้าหมายที่จะคงการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไว้ที่ ๑.๕ องศาเซลเซียส เพื่อเป็นแรงขับเคลื่อน
การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดทั้งในแง่ของภาคอุปสงค์และอุปทานโดยการเปลี่ยนผ่านดังกล่าวควรดำเนินการอย่างเป็นระบบ เป็นธรรม และเท่าเทียม และเกิดความมั่นคงด้านพลังงาน


๗. เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาดอย่างเร่งด่วน ประธาน COP 28 ได้มีบทบาทในการเป็นผู้นำการเปิดตัวการจัดทำข้อผูกพันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน ที่เรียกว่า Global Renewables and Energy Efficiency Pledge” ซึ่งประกอบด้วยรัฐบาลจำนวน ๑๓๐ ประเทศ (ข้อมูลวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๖๖) ที่ร่วมลงนามผูกพันในการดำเนินงานร่วมกันเพื่อเพิ่มขีดความสามารถเป็นสามเท่าในการผลิตพลังงานทดแทนให้ได้อย่างน้อย ๑๑,๐๐๐ กิกะวัตต์ ภายในปี ๒๕๗๓ และปรับปรุงประสิทธิภาพด้านพลังงานของโลกเป็นประจำทุกปีโดยเฉลี่ยให้ได้เป็นสองเท่าจากอัตราร้อยละ ๒ เป็นร้อยละ ๔ ของทุกปีภายในปี ๒๕๗๓


๘. ประธาน COP 28 ยังมีบทบาทเป็นผู้นำในการเปิดตัวโครงการริเริ่มการระดม
ความร่วมมือเพื่อนำไปสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกภาคส่วนด้วยการทำงานร่วมกันระหว่างภาคีและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่มิใช่ภาคี โครงการริเริ่มดังกล่าว เรียกว่า Global Cooling Pledge for COP 28 ประกอบด้วยรัฐบาลจาก ๖๖ ประเทศ ที่ร่วมลงนามทำงานร่วมกันโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวข้องกับการทำความเย็นของทุกภาคส่วนให้ได้อย่างน้อยร้อยละ ๖๘ (เทียบกับอัตราในปี ๒๕๖๕) ทั่วโลกภายในปี ๒๕๙๓  นอกจากนี้ รัฐบาลจาก ๓๗ ประเทศ เข้าร่วมในการแสดงเจตนารมณ์การจัดทำแผนงานเกี่ยวกับการใช้พลังงานทดแทนและไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำเพื่อสนับสนุนและยอมรับยุทธศาสตร์และแผนงานด้านไฮโดรเจนร่วมกัน (Mutual Recognition of Certification Schemes for Renewable and Low-Carbon Hydrogen and Hydrogen Derivatives) ในส่วนของการจัดทำกฎบัตรด้านการลดการใช้น้ำมันและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Oil and Gas Decarbonization Charter) นั้น มีผู้ลงนามจำนวน ๕๒ ประเทศเข้าร่วมผูกพันในการดำเนินงานให้เป็นศูนย์ภายในปี ๒๕๙๓ และต้องไม่ดำเนินวิธีการเผาหรือกำจัดก๊าซปิโตรเลียมที่เกี่ยวข้องในปริมาณที่มากเกินความต้องการให้ได้ภายในปี ๒๕๗๓ รวมถึงการเพิ่มกำลังในการลดการปล่อยก๊าซมีเทนให้เกือบเป็นศูนย์ ในส่วนของโครงการริเริ่มด้านพลังงานของประธาน COP 28 ที่สำคัญอีกประการ ได้แก่ Industrial Transition Accelerator ที่มีบริษัทเข้าร่วมจำนวน ๓๕ แห่ง จะช่วยส่งเสริมให้มีการลดการใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคส่วนต่าง ๆ ที่ปล่อยก๊าซเหล่านี้ในปริมาณมากทั้งภาคส่วนด้านพลังงาน ด้านอุตสาหกรรม และด้านการคมนาคมขนส่ง


๙. นอกเหนือจากโครงการริเริ่มที่ประธาน COP 28 ได้เปิดตัวไปข้างต้นนั้น ยังมีโครงการริเริ่มอื่นที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการของโลกในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและมีลักษณะเป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากหลายฝ่าย ได้แก่ โครงการ Powering Past Coal Alliance ที่เป็นโครงการความร่วมมือเพื่อความก้าวหน้าในการเปลี่ยนผ่านจากโรงไฟฟ้าถ่านหินไปสู่การผลิตพลังงานสะอาดแทน  ทั้งนี้ ฝรั่งเศสได้ร่วมมือกับประเทศและองค์กรต่าง ๆ ในการเปิดตัว Coal Transition Accelerator เพื่อร่วมแบ่งปันความเชี่ยวชาญและการออกแบบนโยบายใหม่ ๆ ผ่านแนวปฏิบัติที่ดี (best practices) และบทเรียนที่ได้รับ รวมทั้งเปิดรับแหล่งเงินทุนทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนเพื่ออำนวยความสะดวกในการเปลี่ยนผ่านจากการใช้ถ่านหินไปสู่การใช้พลังงานสะอาด


๑๐. การเปิดตัว Declaration to Triple Nuclear Energyซึ่งเป็นโครงการที่มีผลผูกพันรัฐบาลจำนวน ๒๒ ประเทศเพื่อช่วยยกระดับเป้าหมายของการเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานนิวเคลียร์ให้เป็นสามเท่าทั่วโลกภายในปี ๒๕๙๓ พร้อมทั้งได้เชิญชวนผู้ถือหุ้นของสถาบันทางการเงินระหว่างประเทศเข้าร่วมในโครงการนี้เพื่อสนับสนุนการรวมพลังงานนิวเคลียร์ไว้ในนโยบายการให้กู้ยืมเงินด้านพลังงาน (energy lending policies) ตราบเท่าที่จำเป็น และเพื่อส่งเสริมให้องค์กรระดับภูมิภาคที่ได้รับมอบหมายพิจารณาให้ความช่วยเหลือทางการเงินในการสนับสนุนด้านพลังงานนิวเคลียร์ดังกล่าว


๑๑. คณะผู้แทนระดับสูงของสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ High-Level Championsได้เข้าร่วมการดำเนินงานกับประธาน COP 28 และเป็นผู้นำในการเร่งรัดการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน โดยในการทำงานร่วมกับ International Renewable Energy Agency (IRENA)คณะผู้แทนฯ ได้เปิดตัว Utilities for Zero Alliance ซึ่งมีผู้เข้าร่วมจำนวน ๓๑ คน รวมถึงบริษัทด้านสาธารณูปโภคและพลังงานของโลกจำนวน ๒๕ ราย ได้เข้าร่วมผูกพันเพื่อพัฒนาระบบไฟฟ้า ระบบโครงข่ายไฟฟ้าที่พร้อมใช้หมุนเวียน และการใช้พลังงานสะอาด ให้สอดคล้องกับเป้าหมายของการพัฒนาเทคโนโลยีในปี ๒๕๗๓ พร้อมทั้งจะได้มีการเปิดตัวเทคโนโลยีใหม่ในปีดังกล่าวเพื่อนำมาช่วยลดการใช้ก๊าซมีเทนในภาคส่วนของน้ำมัน ก๊าซ และระบบไฟฟ้า 


๑๒. High-Level Champions ได้ขยายวาระของการพัฒนาด้านเทคโนโลยีที่เปิดตัว
เมื่อครั้งมีการประชุม COP 26 โดยแคนาดาและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีสาระสำคัญมุ่งเน้นที่การเร่งอัตราการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยมีการแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดี (best practices) การทำงานตามมาตรฐานและนโยบาย และการสนับสนุนนวัตกรรมใหม่ในพื้นที่ที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น การกักเก็บและครอบครองก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือการใช้ประโยชน์หรือแนวคิดของเศรษฐกิจหมุนเวียน


๑๓. High-Level Champions ได้นำเสนอกระบวนการตามโครงการริเริ่มที่ยังคงดำเนินการอยู่ โดยในรายงานสรุปความก้าวหน้าประจำปี ๒๕๖๖ ของ Race to Zero Campaignได้ระบุว่า ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่มิใช่ภาคีในปัจจุบันมีจำนวนมากกว่า ๑๓,๕๐๐ ราย เข้าร่วมในโครงการนี้ซึ่งเป็นจำนวนเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าของจำนวนสมาชิกนับตั้งแต่การประชุม COP 26


๑๔. Cargo Owners for Zero Emission Vessels เป็นแพลตฟอร์มความร่วมมือที่ประกาศในระหว่างการประชุม COP 28 โดยออกแบบมาสำหรับให้ผู้ซื้อสินค้าที่ขนส่งมากกว่า ๓๕ ราย ได้ขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายของการขนส่งสินค้าทางทะเลที่ปล่อยก๊าซเป็นศูนย์  นอกจากนี้ Green Maritime Africa Coalition (GMAC) ได้ส่งเสริมการจัดหาและการใช้เชื้อเพลิงที่มีการปล่อยก๊าซเป็นศูนย์ในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเดินเรือในทวีปแอฟริกาซึ่งสอดคล้องกับแผนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปี ๒๕๙๓ ขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization (IMO) โดยในการเรียกประชุมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเดินเรือซึ่งรวมถึงรัฐบาล ผู้กำหนดนโยบาย บริษัทเดินเรือ ผู้เช่าเหมาเรือ ผู้ประกอบการท่าเรือ ธนาคาร และมหาวิทยาลัย นั้น GMAC ได้พยายามที่จะสร้างเสียงสนับสนุนของแอฟริกาเพื่อให้เป็นความพยายามในระดับโลกสำหรับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก


๑๕. ประเทศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Latin American and Caribbean Renewables Hub ได้ยกระดับเป้าหมายของการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดให้เพิ่มขึ้นจากร้อยละ ๗๐ ไปสู่ร้อยละ ๘๐ ภายในปี ๒๕๗๓ และกำหนดเป้าหมายที่จะไปสู่การแบ่งสรรพลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนของพลังงานทั้งหมดอย่างน้อยร้อยละ ๓๖ ภายในปี ๒๕๗๓


๔. การแก้ไขด้านการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ


๑๖. แม้ว่าการระดมเงินทุนทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนจะเป็นเรื่องที่สำคัญก็ตาม 
แต่ความสำคัญของการแก้ไขปัญหาหนี้สินของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและการปฏิรูปโครงสร้างทางการเงินระหว่างประเทศก็ได้รับการยอมรับในการประชุม COP 27 เช่นกัน 


๑๗. ตลอดระยะเวลาการประชุม COP 28 กลุ่มสมาชิกที่ประกอบด้วยรัฐบาลและองค์การจากประเทศต่าง ๆ ได้ประกาศฉันทามติด้านการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปยังพื้นที่ต่าง ๆ โดยมีแหล่งเงินที่มาจากหลายกองทุน เช่น (๑) Green Climate Fund (๒) Adaptation Fund(๓) Least Developed Countries Fund และ (๔) Special Climate Change Fund


๑๘. ภายใต้การนำของประธาน COP 28 รัฐบาลของ ๑๓ ประเทศ ได้ประกาศรับรองปฏิญญาว่าด้วยกรอบการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก โดยกรอบการเงินดังกล่าวมีลักษณะเป็นการเปิดโอกาสในการลงทุนด้านการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านรูปแบบการดำเนินงานร่วมกัน การเปิดโอกาสอย่างทั่วถึง รวมถึงการส่งมอบสินค้าและบริการในปริมาณมาก


๑๙. High-Level Champions ได้นำเสนอผลลัพธ์หลายประการที่ได้จากการทำงานด้านการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกัน ประกอบด้วย (๑) ผลลัพธ์ของ Regional Platforms for Climate Projects ที่จัดขึ้นตลอดทั้งปีร่วมกับคณะกรรมาธิการระดับภูมิภาคของสหประชาชาติ(UN Regional Commissions) และประธาน COP 27 และ COP 28 และได้มีการตีพิมพ์เอกสารที่ชื่อว่า “Assets to Flows II” ที่แสดงให้เห็นว่าแม้จะมีความคืบหน้าไปเพียงใดก็ตาม แต่แรงผลักดันที่สำคัญยังคงเป็นเรื่องการปรับปรุงขนาดคุณภาพ และความก้าวหน้าของการลงทุนและการเงินสำหรับโครงการที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนวาระการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา  นอกจากนี้ ได้มีคณะผู้เชี่ยวชาญระดับสูงอิสระในด้านการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Independent High-LevelExpert Group in Climate Finance) เผยแพร่บทสรุปของรายงานก่อนที่ได้มีการจัดประชุม COP 27 โดยเป็นการทำงานร่วมกับ High-Level Champions เพื่อที่จะสื่อให้เห็นว่า ธนาคารเพื่อการพัฒนาระดับพหุภาคีเป็นหัวใจสำคัญของการสร้างโอกาสทางการลงทุนและการระดมเงินทุนในรูปแบบของการให้กู้ยืมและการกระตุ้นด้านการเงินของภาคเอกชน


๒๐. เพื่อที่จะตอบสนองต่อความต้องการตามที่กล่าวมาข้างต้นในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ
การปฏิรูปโครงสร้างทางการเงินระหว่างประเทศภายใต้การนำของ High-Level Champions ธนาคารเพื่อการพัฒนาระดับพหุภาคีและองค์การระหว่างประเทศ เช่น Green Climate Fund และ Global Environment Facility จึงได้ร่วมลงนามรับรองปฏิญญาร่วมและคณะทำงานขับเคลื่อนเฉพาะด้านว่าด้วยการเพิ่มสินเชื่อทางการเงินที่จะนำมาใช้ในด้านการพัฒนาธรรมชาติและสภาพภูมิอากาศ โดยเป็นการให้ความช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในการแก้ไขปัญหาทางการเงินในระยะยาวรวมทั้งหลีกเลี่ยงการบรรเทาหนี้สินในระยะสั้นที่อาศัยแต่ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศเพียงอย่างเดียว


๒๑. ในการประชุม COP 28 ที่ได้มีประเด็นการเรียกร้องให้มีการทำงานร่วมกันเพื่อเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการระดมเงินทุนจากภาคเอกชนเพื่อนำมาปรับตัวและฟื้นตัวนั้น ได้รับความสนใจจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในภาคเอกชนและสมาชิกของที่ประชุม รวมถึงได้รับการสนับสนุนจาก High-Level Champions


๒๒. นอกจากนี้ Global Capacity Building Coalition ยังได้รับการสนับสนุนจาก Bloomberg Philanthropies และการมีส่วนร่วมจากองค์การต่าง ๆ รวมถึง UN, World Bank,ธนาคารเพื่อการพัฒนาระดับพหุภาคี, กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF), International Sustainability Standards Board, Network for Greening the Financial System, Glasgow Financial Alliance for Net Zero (GFANZ) และUN Principles for Responsible Investment โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความพร้อมและประสิทธิภาพของโครงการให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคทางการเงินเพื่อสภาพภูมิอากาศให้แก่สถาบันการเงินสำหรับตลาดที่เกิดขึ้นใหม่และพื้นที่เศรษฐกิจที่กำลังพัฒนา


๒๓. GFANZ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Global Capacity Building Coalition ได้ทำงานเพื่อพัฒนาเครื่องมือและวิธีการที่จำเป็นเพื่อที่จะเปลี่ยนจากข้อผูกพันสุทธิที่เป็นศูนย์ หรือ net-zero commitments ของสถาบันการเงินไปสู่การปฏิบัติได้จริง โดยในปี ๒๕๖๖ GFANZ ได้เผยแพร่รายงานความก้าวหน้าด้านการเงินที่มีการเปลี่ยนผ่านเพื่อแสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าของการวางแผนการเปลี่ยนผ่านและการระดมเงินทุนในพื้นที่เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นใหม่และกำลังพัฒนา


๒๔. บริษัทตัวแทนสินเชื่อเพื่อการส่งออกจำนวน ๘ แห่ง ที่ได้รับการสนับสนุนจาก GFANZ

 และที่เป็นหุ้นส่วนกับศูนย์การเรียนรู้และนวัตกรรมแห่งมหาวิทยาลัยอ๊อกซ์ฟอร์ดFuture of Climate Cooperation และ UN Environment Programme Finance Initiative (UNEP FI) ได้เปิดตัว UN-convened Net-Zero Export Credit Agencies Alliance หรือ NZECA ซึ่งเป็นโครงการที่จะช่วยลดคาร์บอนไดออกไซด์และเอื้อต่อการปฏิบัติการด้านการเงินร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน


๒๕. ที่ผ่านมาได้มีการเปิดตัวรายงานที่จัดทำขึ้นเกี่ยวกับการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการเงินเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติได้แก่ รายงานของคณะผู้เชี่ยวชาญระดับสูงอิสระในด้านการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และรายงานของคณะผู้แทนระดับสูงของสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เปิดตัวไปก่อนหน้านี้เกี่ยวกับการระดมเงินทุนเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติ รายงานที่พึ่งเปิดตัวโดย Center for Global Commons ณ มหาวิทยาลัยโตเกียว ที่เน้นเรื่องความจำเป็นของการระดมเงินทุนเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติโดยเป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม การทดลองรูปแบบธุรกิจที่ใช้งานได้จริง และการควบคุมนวัตกรรมทางการเงิน


๒๖. อีกหนึ่งตัวอย่างที่ธนาคารเพื่อการพัฒนาระดับพหุภาคีและสถาบันการเงินระหว่างประเทศได้ดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการเงินเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติ คือ การเปิดตัวศูนย์แก้ไขปัญหาทางธรรมชาติ (Nature Solutions Hub) สำหรับเอเชียและแปซิฟิกที่ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asia Development Bank)เป็นผู้จัดตั้งขึ้นเพื่อเพิ่มขนาดการหมุนเวียนทางการเงินของภาครัฐและเอกชนที่จะนำไปใช้ในการอนุรักษ์ธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพที่สูญเสียไปในเอเชียและแปซิฟิก


๕. การมุ่งเน้นที่ผู้คน ชีวิต และการดำรงชีวิต


๒๗. อุณหภูมิที่ทำลายสถิติและภัยพิบัติที่เกิดจากสภาพภูมิอากาศนั้นแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นสำหรับทุกคนที่จะต้องดำเนินการปรับตัวและเตรียมรับมือโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคม
ที่เปราะบาง โดย Sharm el-Sheikh Adaptation Agenda (SAA) ซึ่งได้เปิดตัวต่อสมาชิกในการประชุม COP 27 ได้กระตุ้นให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้ปฏิบัติการดังกล่าวตลอดทั้งปีและนำเสนอเป็นเป้าหมายที่จำเป็นอย่างเร่งด่วนภายในปี ๒๕๗๓ เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับผู้คนจำนวนกว่าสี่พันล้านคน ในขณะที่คณะทำงานขับเคลื่อนเฉพาะด้านที่เกี่ยวข้องกับระบบแรงกระแทก (impact systems) รวมทั้งคณะกรรมการกำกับและติดตามดูแลผลกระทบดังกล่าวก็ได้มีการจัดตั้งขึ้นในปีนี้เช่นกัน


๒๘. รายงานการดำเนินการฉบับแรกที่เผยแพร่ในการประชุม COP 28 ได้มุ่งเน้นไปที่ความก้าวหน้าที่ได้ดำเนินการและความท้าทายที่จะอุดช่องว่างของการปรับตัวและสร้างความยืดหยุ่นในช่วงระหว่างปีปัจจุบันถึงปี ๒๕๗๓  ทั้งนี้ ประเด็นด้านสุขภาพ อาหารและการเกษตร และธรรมชาติ เป็นส่วนหนึ่งที่ SAA ได้ให้ความสนใจ และ High-Level Champions ยังได้แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าตลอดวาระการประชุม COP 28


๒๙. เป็นที่น่าสังเกตว่า รายงานได้มุ่งเน้นไปที่การแนะนำผลลัพธ์จากการปรับตัวใหม่ 
๔ ด้าน ประกอบด้วย ด้านการเงิน ระบบการเฝ้าระวัง การต้านทานความร้อน และโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก เช่นเดียวกับด้านอาหารและการเกษตรที่มุ่งเน้นไปที่โอกาสในการเร่งดำเนินการและการรวมแผนงานเข้ากับแผนและการลงทุนของท้องถิ่นหรือแต่ละภาคส่วนอันแสดงให้เห็นว่าการพัฒนาที่มีอยู่เป็นไปในทิศทางที่ดีในแง่ของมาตรฐานและคำแนะนำ เช่น การยอมรับและการจำกัดความในการแก้ไขปัญหาที่อยู่บนพื้นฐานทางธรรมชาติและมาตรฐานขั้นสูงสำหรับหน่วยงานเอกชนเพื่อที่จะกำหนดเป้าหมายและเปิดเผยความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ รายงานยังได้แสดงให้เห็นถึงจำนวนบริษัทประกันภัยที่เพิ่มมากขึ้น ตลอดจนธนาคารและนักลงทุนยังได้ยอมรับความเสี่ยงของการเพิกเฉย และโอกาสใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปรับตัวและการฟื้นตัวที่กำลังเกิดขึ้น


๓๐. เสาหลักข้อนี้แสดงให้เห็นถึงกรณีที่มีการเปลี่ยนผ่านจากขั้นตอนการเจรจาไปสู่ขั้นตอนการปฏิบัติได้อย่างราบรื่นในการประชุม COP 28 และด้วยการปฏิบัติหน้าที่และการจัดการของกองทุนที่ตอบสนองต่อความสูญเสียและความเสียหายที่ได้ตกลงร่วมกันในวันเปิดการประชุม COP 28 นั้น รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ จำนวนหนึ่งและองค์การต่าง ๆ จึงได้ประกาศข้อผูกพันทางการเงินร่วมกัน


๓๑. เพื่อที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็งของการดำเนินการร่วมกันให้มีการรับมือกับสภาพภูมิอากาศในระดับและความเร็วที่จำเป็นในประเทศและสังคมที่เปราะบางอย่างมาก ภายใต้การนำของประธาน COP 28 รัฐบาลจำนวน ๗๘ ประเทศ (รวมถึง EU) และองค์การต่าง ๆ จำนวน ๔๐ แห่ง ได้ร่วมรับรอง Declaration on Climate Relief, Recovery and Peace โดยผู้ลงนามได้เข้าผูกพันที่จะยกระดับการสนับสนุนทางการเงินเพื่อการปรับตัวและการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสร้างความเข้าใจและการปรับปรุงแนวปฏิบัติที่ดี และการสร้างความเข้มแข็งในการประสานงาน ความร่วมมือ และความเป็นหุ้นส่วนระหว่างกัน  ในการนี้ บรรดาผู้ลงนามดังกล่าวจะร่วมพิจารณากันอีกครั้งในการประชุม COP 29 เพื่อทบทวนความก้าวหน้าและความเป็นไปได้ในการปฏิบัติการเพิ่มเติม


๓๒. นอกจากนี้ เนื่องจากมีความตระหนักถึงความจำเป็นในการเชื่อมโยงระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ประธาน COP 28 จึงได้จัดการประชุมด้านสุขภาพหรือที่เรียกว่า health day ขึ้นเป็น
ครั้งแรกเพื่อสร้างความเข้มแข็งในการเชื่อมโยงระหว่างสุขภาพและสภาพภูมิอากาศในวาระการดำเนินการอันเป็นส่วนสำคัญของการสร้างความยืดหยุ่นที่เน้นผู้คนเป็นหลักรัฐบาลจำนวน ๑๔๑ ประเทศ ได้เข้าร่วมรับรอง COP 28 UAE Declaration on Climate and Health (รวมถึง EU) ซึ่งมุ่งเน้นที่จะให้มีความก้าวหน้าในการพัฒนาการรับมือกับสภาพภูมิอากาศ การสร้างความเข้มแข็งของระบบสุขภาพ และการสร้างสังคมที่ยืดหยุ่นและเติบโตเพื่อประโยชน์แก่คนรุ่นปัจจุบันและอนาคต


๓๓. การสร้างระบบอาหารที่ยืดหยุ่นซึ่งทำให้ปรับตัวเพื่อเตรียมรับผลกระทบกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้นั้น เป็นหัวใจสำคัญของผู้คนที่ต้องการความมั่นคงในการดำรงชีวิต ประธาน COP 28 จึงได้ประกาศปฏิญญา UAE ว่าด้วยการเกษตรที่ยั่งยืน ระบบอาหารที่ยืดหยุ่น และการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก (UAE Declaration on Sustainable Agriculture, Resilient Food Systems, and Climate Action) โดยมีรัฐบาลจำนวน ๑๕๓ ประเทศ (รวมถึง EU) ได้ร่วมลงนามผูกพันการดำเนินการต่าง ๆ รวมไปถึงการเพิ่มระดับของการปรับตัวและการรับมือเพื่อลดความเปราะบางของบรรดาเกษตรกร ชาวประมง และผู้ผลิตอาหาร ที่ได้สร้างผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปฏิญญาดังกล่าวนี้ยังได้ส่งเสริมให้มีความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการเพิ่มขึ้นเพื่อช่วยสนับสนุนกลุ่มคนที่เปราะบาง  ทั้งนี้ ประเทศผู้ลงนามจะได้พิจารณาทบทวนความก้าวหน้าร่วมกันอีกครั้งในการประชุม COP 29 พร้อมกันนี้ กลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่มิใช่ภาคีรวมทั้งองค์การชั้นนำจำนวนมากกว่า ๒๐๐ แห่ง ที่สนับสนุนมาตรการส่งเสริมของที่ประชุมนี้ ได้ลงนามข้อเรียกร้องว่าด้วยการดำเนินการเพื่อเปลี่ยนผ่านระบบอาหารให้แก่ผู้คน ธรรมชาติ และสภาพภูมิอากาศ ร่วมกัน


๓๔. เพื่อที่จะกำจัดความหิวโหยและภาวการณ์ขาดแคลนอาหารทุกรูปแบบโดยไม่ได้
ทำให้อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นเกินกว่า ๑.๕ องศาเซลเซียส นั้น UN Food and Agriculture Organization (FAO) จึงได้เสนอแผนงานระดับโลกเพื่อกำหนดมาตรการสำคัญจำนวนกว่า ๑๒๐ มาตรการ ตามหลักฐานที่ได้รวบรวมมาตลอดหลายปีที่ผ่านมา


๓๕. ความเชื่อมโยงที่เหนียวแน่นระหว่างธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่เพียงแต่จะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เท่านั้น แต่ยังช่วยเสริมสร้าง
ความยืดหยุ่นด้านสภาพภูมิอากาศและการดำรงชีวิตของผู้คนต่าง ๆ ได้ High-Level Champions และ Marrakech Partnership จึงให้ความสำคัญกับธรรมชาติเป็นหลักและ High-Level Champions ได้ประกาศแถลงการณ์ร่วมที่ชื่อว่า COP 28 Joint Statement for Climate, Nature and People โดยมีประเทศต่าง ๆ จำนวน ๑๘ ประเทศ รวมทั้งประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ร่วมกับหุ้นส่วนต่าง ๆ ที่สมัครใจ เข้าร่วมลงนามผูกพันในแถลงการณ์ร่วมฉบับนี้ แถลงการณ์ร่วมฯ มีข้อผูกพันให้ผู้ลงนามร่วมมือในการดำเนินการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติแลสภาพภูมิอากา โดยผู้ลงนามจะมีการพบปะหารือกันเป็นปกติเพื่อทบทวนความก้าวหน้าของการดำเนินการ


๓๖. ประเทศต่าง ๆ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้มีความพยายามที่จะเข้าผูกพันและดำเนินการร่วมกันเพื่อสนับสนุนให้มีการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศบนพื้นฐานทางธรรมชาติด้วยการนำมาตรการทางการเงินที่ลงทุนในด้านธรรมชาติและสภาพภูมิอากาศไปช่วยเหลือในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้ ป่าชายเลน และมหาสมุทร เพื่อมุ่งไปสู่การสร้างความยืดหยุ่นและการบูรณาการระดับโลก


๓๗. ป่าไม้จัดเป็นพื้นที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีผลอย่างใกล้ชิดกับการดำรงชีวิต ในการประชุม COP 28 ประเทศและองค์การต่าง ๆ ได้ร่วมเฉลิมฉลองการครบรอบ ๑๐ ปี ของกรอบงานวอร์ซอ (Warsaw Framework for REDD+) และได้ปรับปรุงข้อมูลล่าสุดของสถานะของประเทศกำลังพัฒนาจำนวน ๖๐ ประเทศที่ดำเนินกิจกรรมตามกรอบงานดังกล่าว บรรดาผู้นำจากรัฐบาล ภาคประชาสังคม และภาคธุรกิจ ได้มารวมตัวกันในการประชุมระดับรัฐมนตรีของการประชุม COP 28 พร้อมกับเป้าหมายใหม่ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาเพื่อให้เป็นไปตามปฏิญญากลาสโกว์ว่าด้วยป่าไม้และการใช้ที่ดิน (2021 Glasgow Leaders’ Declaration on Forests and Land Use) นอกจากนี้ โคลัมเบีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก กานา และปาปัวนิวกินี ได้ประกาศมาตรการระดับประเทศที่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม สำหรับการบริหารจัดการป่าไม้ สภาพภูมิอากาศ และธรรมชาติ


๓๘. Race to Resilience เป็นแคมเปญของ UN ที่มีการทำงานอย่างใกล้ชิดกับ SAA และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่มิใช่ภาคีเพื่อมุ่งเน้นในการสร้างความยืดหยุ่นด้านสภาพภูมิอากาศโดยใช้ระยะเวลาประมาณ ๒ ปี รายงานความก้าวหน้าที่ได้เผยแพร่ภายใต้การนำของ High-Level Champions แสดงให้เห็นว่าคำมั่นที่หุ้นส่วนของแคมเปญดังกล่าวได้ให้ไว้ อาจช่วยยกระดับของการรับมือกับสภาพภูมิอากาศให้แก่ผู้คนจำนวนกว่า ๓.๑๗ พันล้านคนภายในปี ๒๕๗๓ 


๓๙. ในแง่ของความคืบหน้าในการดำเนินการปรับตัวและการฟื้นตัวภายใต้โครงการริเริ่มที่ชื่อว่า Early Warning for All ซึ่งเป็นโครงการที่เลขาธิการสหประชาชาติได้เปิดตัวไปในการประชุม COP 27 โดยสำนักงานเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติและองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกได้เผยแพร่รายงานความก้าวหน้าที่ปรากฏข้อมูลว่าแอฟริกาได้ยกระดับคุณภาพของระบบเตือนภัยล่วงหน้าเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าแต่ยังคงมีเกณฑ์ที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของทั่วโลก


๔๐. แม้ว่าย่อหน้าที่ ๓๙. จะเกี่ยวข้องกับการดำเนินการปรับตัวและการฟื้นตัวก็ตาม 
แต่ผู้คน ชีวิต และการดำรงชีวิต ยังคงจำเป็นที่ต้องมีการดำเนินการในหลายระดับ  ในการนี้ ประธาน COP 28 ร่วมกับ Bloomberg Philanthropies ได้จัดการประชุมสุดยอดการดำเนินการต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของท้องถิ่นเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของผู้นำในด้านสภาพภูมิอากาศทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาคเพื่อเปลี่ยนรูปแบบการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพิ่มศักยภาพการดำเนินการในระดับโลก ติดตามการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานอย่างเร่งด่วน และเสริมสร้างความยืดหยุ่นและการปรับตัวในระดับท้องถิ่น ในการประชุมสุดยอดครั้งนี้ ประธาน COP 28 พร้อมด้วย Bloomberg Philanthropies ได้เปิดตัวความเป็นหุ้นส่วนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เรียกว่า Coalition for High Ambition Multilevel Partnership (CHAMPfor Climate Action โดยมีรัฐบาลจำนวน ๖๕ ประเทศ ร่วมลงนามผูกพันใน CHAMP เพื่อยกระดับความร่วมมือที่สามารถปฏิบัติได้และเหมาะสมร่วมกับรัฐบาลในระดับภูมิภาคในการวางแผนงาน การจัดการด้านการเงิน การดำเนินการ และการตรวจสอบติดตามยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้ ผู้ร่วมลงนามเหล่านี้มีแผนที่จะพบปะหารือกันในเวทีการประชุมทางการเมืองระดับสูงว่าด้วยการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกในหลายระดับทั้งในการประชุม COP 29 และการประชุม COP 30 เพื่อแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีและบทเรียนต่าง ๆ ที่ได้จากการเข้าผูกพันในความเป็นหุ้นส่วน CHAMP


๔๑. หนึ่งในโครงการที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากที่ High-Level Champions ได้เปิดตัวไป คือ การพัฒนาครั้งใหม่ที่ดำเนินการร่วมกับรัฐบาลของฝรั่งเศส ราชอาณาจักรโมร็อกโก และ UNEP มีวัตถุประสงค์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เกือบเป็นศูนย์และสร้างอาคารที่ทนทานพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเพื่อให้เป็นวิถีชีวิตปกติแบบใหม่ภายในปี ๒๕๗๓ โดยเลขาธิการ UNEP/GlobalABC องค์กรพลังงานระหว่างประเทศ ทบวงการพลังงานหมุนเวียนระหว่างประเทศ และ High-Level Champions จะจัดให้มีการทบทวนประจำปีถึงความก้าวหน้าของงานที่ได้ดำเนินการไป


๖. การสนับสนุนทุกสิ่งโดยไม่แบ่งแยก


๔๒. ตามที่ได้กล่าวไว้ในเอกสารนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนและสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชนที่เปราะบางและกลุ่มผู้ด้อยโอกาส การแสดงออกซึ่งเสียงของทุกฝ่ายในโลกจึงเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินงานที่ UN ได้มองเห็นถึงคุณค่า และเมื่อย้อนกลับไปสู่สมัยการประชุม COP 28 ประธาน COP 28 และเลขาธิการ UNFCCC ได้ประกาศแถลงการณ์ร่วมเพื่อผูกพันในการทำงานร่วมกันเพื่อให้ COP 28 เป็นการประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ครอบคลุมมากที่สุดจนถึงปัจจุบัน


๔๓. ในการดำเนินการช่วงต้นของการประชุม COP 28 นั้น ประธานได้แต่งตั้ง Youth Climate Champion เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของผู้แทนจากเยาวชนที่สืบเนื่องมาจากครั้งการประชุม COP 27


๔๔. กลุ่มคนซึ่งประกอบด้วย (๑) ประธาน COP 28 (๒) Youth Climate Champion และ (๓) YOUNGO ซึ่งจัดให้มีเวทีการหารือที่เรียกว่า Dubai Youth Dialogue และ YOUNGO โดยได้รับการสนับสนุนจาก Youth Climate Champion ได้เผยแพร่ผลลัพธ์ของ Youth Stocktake ซึ่งเป็นการประชุมย่อยสมัยที่ ๕๘ เพื่อเก็บรวบรวมความคืบหน้าของการรวมตัวกันของเยาวชนและการดำเนินการตามนโยบาย


๔๕.ความเท่าเทียมทางเพศหรือความเสมอภาคทางเพศเป็นปัจจัยหลักของการหลอมรวมความหลากหลายเข้าไว้ด้วยกัน ประธาน COP 28 และ High-Level Champions มีบทบาทสำคัญต่อการเปิดตัวความเป็นหุ้นส่วนที่เรียกว่า COP 28 Gender-Responsive Just Transitions and Climate Action Partnership รัฐบาลของ ๗๘ ประเทศซึ่งได้ลงนามผูกพันความเป็นหุ้นส่วนระหว่างกัน ได้ทำงานร่วมกันเพื่อสนับสนุนและเปลี่ยนผ่านไปสู่ความเท่าเทียมกันทางเพศและสู่เป้าหมายของการยกระดับโครงการ Lima Work Program on Genderและแผนปฏิบัติการ Gender Action Plan รวมทั้งเพื่อจัดเวทีการประชุมอีกครั้งในการประชุม COP 32 เพื่อที่จะรายงานความก้าวหน้าของการดำเนินการตามพันธสัญญาความเป็นหุ้นส่วนดังกล่าว


๔๖. Global Call to Action ที่มีไปถึงผู้นำโลก ผู้กำหนดนโยบาย และผู้มีบทบาทสำคัญในระบบข้อมูล เพื่อที่จะผลิตและใช้ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมทางเพศในการขับเคลื่อนให้เกิดความก้าวหน้าของพันธสัญญาด้านสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศที่เกี่ยวข้องกับมิติเพศภาวะ เป็นผลลัพธ์มาจากการจัดประชุมร่วมกันโดย (๑) UN Women (๒) ประธาน COP 28 (๓) คณะผู้แทนระดับสูงของการประชุม COP 28 (๔) International Union for Conservation of Nature (IUCN) (๕) Women’s Environment and Development Organization และ (๖) เลขาธิการ UNFCCC


๔๗. การประชุม COP 28 แสดงให้เห็นถึงการขับเคลื่อนให้เกิดการมีส่วนร่วม การไม่แบ่งแยก และความเป็นผู้นำของชนพื้นเมือง กล่าวคือ การมีส่วนร่วมของกลุ่มบุคคลซึ่งประกอบด้วย 
(๑) คณะผู้แทนระดับสูงของการประชุม COP 28 (๒) IUCN(๓) International Indigenous Forum on Biodiversity และ(๔) สมาชิก IUCN Indigenous Peoples Organisations ในการเปิดตัวโครงการริเริ่มที่ชื่อว่า Podong Indigenous Peoples Initiative เพื่อจัดหาเงินทุนให้แก่ชนพื้นเมืองโดยตรงเพื่อให้แน่ใจได้ว่าเงินทุนจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ ๘๕ จะไปถึงพื้นที่และชุมชนของชนพื้นเมืองดังกล่าว


๔๘. การสร้างเทคโนโลยีและขีดความสามารถช่วยให้เกิดการไม่แบ่งแยกได้เช่นกัน
ในการจัดกิจกรรม 5th Capacity-building Hub ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่สร้างการมีส่วนร่วมและหลอมรวมความหลากหลายของผู้มีบทบาทในการสร้างขีดความสามารถไว้ด้วยกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่จัดกิจกรรมการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เรียกว่า Capacities for Rights-based Climate Action Day ซึ่งเป็นวันที่เปิดกว้างสำหรับการหลอมรวมการมีส่วนร่วมตามสิทธิที่จะดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการรวมตัวกันขององค์กรในระดับประชาชนทั่วไป (grassroots organizations)กลุ่มชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่น เยาวชน เด็ก ผู้สนับสนุนทางด้านเพศ และคนพิการที่จะร่วมกันยกระดับขีดความสามารถของการมีส่วนร่วมในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ การให้สินเชื่อส่วนบุคคลยังเป็นรูปแบบหนึ่งที่อยู่ในวาระของการจัดกิจกรรม Private Finance Capacities Day อันเป็นการรวมตัวกันของภาคเอกชน ภาครัฐ และองค์กรการกุศล ที่จะเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้สร้างขีดความสามารถในแง่เงินทุนที่จะนำไปสู่การเป็นผู้มีบทบาทที่กว้างขวาง


๔๙. Technology Executive Committee ร่วมกับ Enterprise Neurosystem ซึ่งเป็นชุมชนปัญญาประดิษฐ์ที่ได้รับการพัฒนาซอฟท์แวร์จากความร่วมมือของนักพัฒนาทั่วโลกโดยไม่แสวงหากำไร ได้เปิดตัว AI Innovation Grand Challenge ในช่วงระหว่างการจัดงาน High-level Event on Artificial Intelligence for Climate Action เพื่อที่จะบ่งบอกและสนับสนุนการพัฒนาแนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ที่มีต่อการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศกำลังพัฒนาโดยเฉพาะอย่างยิ่ง SIDS และ LDCsซึ่งความท้าทายที่ยิ่งใหญ่นี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการริเริ่มการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยกลไกทางเทคโนโลยี (Technology Mechanism)


๕๐. สุดท้ายนี้ ด้วยความต้องการของสังคมและเศรษฐกิจทั้งหมด ภาคส่วนต่าง ๆ เช่น กีฬา แฟชั่น บันเทิงและวัฒนธรรม จึงได้นำเสนอในการประชุม COP 28 เพื่อแสดงให้เห็นถึงการริเริ่ม
เพื่อมุ่งไปสู่การเจรจาแลกเปลี่ยนร่วมกันในทุกระดับที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการริเริ่ม Sports for Climate Action ได้นำเสนอกลยุทธ์ที่จะเพิ่มบทบาทโดยรวมด้านกีฬาในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่านการมีส่วนร่วมของกองเชียร์และคนในชุมชน รางวัล Global Climate Action Awards ได้ประกาศผู้ชนะเลิศของปีนี้ที่แสดงให้เห็นถึงการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเชิงนวัตกรรมที่ว่าคนหนุ่มสาวทั่วโลกอยู่ระหว่างสร้างความมั่นใจว่าสังคมที่ตนอยู่อาศัยนั้นเป็นสถานที่ที่ยั่งยืน ยืดหยุ่น และเสมอภาคเพิ่มมากขึ้น


๗. บทสรุป


๕๑. แม้ว่าผลลัพธ์ที่เอกสารฉบับนี้ทำขึ้นนั้น จะแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าที่เป็นหัวใจหลักและสำคัญของ ๔ เสาหลัก แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นผลลัพธ์ทั้งหมดจากวาระการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกทั้งหมดตลอดสองสัปดาห์  ดังที่กล่าวไว้ข้างต้น กิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จัดขึ้นมากกว่า ๑๗๐ รายการในการประชุม COP 28 สามารถติดตามได้จากหน้าเพจของการประชุม ปฏิญญาที่ประกาศในการประชุม เอกสารเผยแพร่และรายงานต่าง ๆ รวมทั้งข่าวคราวความเคลื่อนไหวล่าสุดซึ่งปรากฏว่ามีจำนวนรายการกิจกรรมที่จัดเพิ่มมากขึ้นเป็นจำนวนถึง ๒ เท่าจากการประชุม COP 27 ครั้งที่ผ่านมา


๕๒. ในช่วงเวลาของการดำเนินงาน การให้คำมั่นสัญญา การประกาศปฏิญญาและ
พันธสัญญาต่าง ๆ ร่วมกันนั้น ข้อริเริ่มเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการปฏิบัติและมีความก้าวหน้าภายใต้คำมั่นหรือพันธสัญญาที่ให้ไว้และควรต้องรายงานและขยายผลให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ได้อย่างแท้จริง


๕๓. เป็นที่น่าสังเกตว่า UNSG ได้จัดประชุมหารือการดำเนินการตามข้อแนะนำของ
คณะผู้เชี่ยวชาญระดับสูงของ UNSG ที่ชื่อว่า UNSGs High-Level Expert Group on Net-Zero Emissions Commitments of Non-State Entities และคณะทำงานขับเคลื่อนเฉพาะด้าน Taskforce on Net Zero Policy และได้เปิดตัวความร่วมมือเพื่อส่งเสริมการแบ่งปันความรู้ แนวปฏิบัติ และข้อมูลเชิงลึกระหว่างผู้กำหนดนโยบายและผู้กำกับดูแลในการขับเคลื่อนนโยบายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิที่เป็นศูนย์ อีกทั้งประธาน COP 28 ได้เปิดตัว Net-Zero Transition CharterAccountability Mobilization for the Private Sector ซึ่งเป็นการเพิ่มบทบาทของภาคเอกชนในการดำเนินการเปลี่ยนผ่านจากอุตสาหกรรมที่มีคาร์บอนไดออกไซด์ให้เหลือสุทธิเป็นศูนย์ด้วยมาตรฐานระดับสูงและด้วยความซื่อสัตย์ เที่ยงตรง สมบูรณ์ และมีการรายงานความก้าวหน้าอย่างโปร่งใส


๕๔. ความรับผิดชอบเป็นหลักสำคัญของทุกคนและทุกสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดังที่เห็นในเอกสารฉบับนี้ ยังมีโครงการริเริ่มหลายกิจกรรมที่จัดขึ้นในการประชุม COP 28 และจำเป็นต้องมีพันธสัญญาร่วมกันที่จะนำมาพิจารณาทบทวนความก้าวหน้าและการดำเนินการต่าง ๆ กันใหม่ในการประชุมครั้งถัดไป โครงการริเริ่มที่มีอยู่จำนวนหนึ่งได้เผยแพร่รายงานความก้าวหน้าเพื่อนำเสนอให้เห็นถึงความสำเร็จ ความท้าทาย แนวโน้มการเติบโต ตลอดจนการสนับสนุนให้มีภาระความรับผิดชอบที่เพิ่มสูงขึ้น


๕๕. ความโปร่งใสเป็นวิถีทางที่นำไปสู่ความรับผิดชอบ เลขาธิการ UNFCCC ได้ทำงานร่วมกับประธาน COP 28 ตามความเหมาะสม เพื่อสร้างความโปร่งใสในโครงการริเริ่มที่ได้เปิดตัวในการประชุม COP 28 อันเป็นการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก รวมทั้งได้มีการจัดหาแพลตฟอร์มเพื่อเป็นช่องทางในการสื่อสารถึงวัตถุประสงค์และการปฏิบัติหน้าที่ต่อสาธารณชน โดยช่องทางการสื่อสารเป็นพื้นฐานที่จะใช้ติดตามความก้าวหน้าโดยจัดให้มีการเปิดเผยข้อมูลและสถานะล่าสุดต่อเลขาธิการ UNFCCC เป็นประจำทุกปี


๕๖. การประเมินสถานการณ์การดำเนินงานระดับโลก หรือ Global Stocktake เป็นครั้งแรกได้เสร็จสิ้นลงในช่วงท้ายของการประชุม COP 28 และจะจัดขึ้นใหม่ทุก ๆ ๕ ปี โดยเป็นการจัดประเมินความก้าวหน้าของการดำเนินงานภายใต้ความตกลงปารีส อาจกล่าวได้ว่า High-Level Champions และ Marrakech Partnership รวมทั้งหุ้นส่วนอื่น ได้รวบรวมแผนงาน 2030 Climate Solutionsan Implementation Roadmap ซึ่งเป็นชุดกรอบแนวทางการแก้ไขปัญหาเฉพาะด้าน
พร้อมด้วยข้อมูลเชิงลึกจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องที่มิใช่ภาคีที่มีต่อมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการดำเนินการที่จำเป็นต้องเพิ่มระดับหรืออุดช่องว่างเพื่อที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลก หรือเพื่อที่จะจัดการกับช่องว่างในการปรับตัวและเพิ่มเตรียมความพร้อมในการรับมือกับความเสี่ยงอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้กับผู้คนจำนวนกว่าสี่พันล้านคนจากกลุ่มคนและสังคมที่เปราะบางให้สำเร็จได้ภายในปี ๒๕๗๓


๕๗. การดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือระหว่างผู้มีบทบาทจำนวนมากในด้านการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วยความรับผิดชอบนั้น เป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะนำไปสู่การแก้ไขให้ถูกต้องและการดำเนินเพื่อบรรลุเป้าหมายของการดำเนินการในศตวรรษนี้.