วันอาทิตย์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2562

ลาเพื่อสาธารณประโยชน์ (Public service leave) ปกรณ์ นิลประพันธ์

เห็นสถานการณ์หมอกควันและไฟป่าแล้วใจหาย เลยมาคิดว่าข้าราชการน่าจะช่วยอะไรได้บ้าง เพราะภารกิจหนักหนาสาหัสนัก จะให้เจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่โดยตรงที่มีอยู่หยิบมือช่วยกันทำงานง่วนอยู่กับอาสาสมัครก็เห็นว่าไม่น่าจะได้การ เลยพยายามคิดว่าเราจะปรับระบบอะไรได้บ้าง

เรียนว่า กพร ได้สร้างกลไกให้กรมต่าง ๆ สามารถปรับโครงสร้าง หรือ rearrange ได้เองถ้าไม่มีการเพิ่มกอง งบประมาณ และอัตรากำลัง เหตุผลก็เพื่อให้แต่ละกรมสามารถปรับโครงสร้างให้เหมาะสมกับบทบาทภารกิจได้ตามบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่ง กพ ก็กำหนดมาตรการรองรับเรื่องดังกล่าวไปพร้อม ๆ กันด้วยแล้ว และ กพร ก็เริ่มปรับโครงสร้างของตัวเองเป็นตัวอย่างแล้ว

ตอนนี้กำลังร่วมกันคิดกันว่าจะทำอย่างไรให้ข้าราชการสามารถไปปฏิบัติภารกิจของกรมกรมอื่น กระทรวงอื่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน หรือ secondment ได้ เพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เพราะการปฏิบัติราชการในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนั้น ข้าราชการต้องมีความรอบรู้ หรือ all round ไม่ใช่รู้แค่งานตาม job description ที่กำหนดไว้สำหรับตำแหน่งของตัวเองเท่านั้น เช่น นักร่างกฎหมายก็ต้องรู้เรื่องเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก การเงิน การงบประมาณ การเกษตร geopolitics climate change again society ฯลฯ ด้วย ถ้าไม่รู้ก็จะไม่อิน ร่างกฎหมายก็จะดูแต่แบบ ดูแต่ถ้อยคำสำนวน เป็นต้น

แต่เมื่อยังคิดเรื่อง secondment ไม่ตก จึงชวนคิดในเรื่องที่พอทำได้ก่อน ที่ชวนคิดในตอนนี้ก็คือราชการเราควรมีวันลาแบบใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นหรือไม่ จากเดิมที่เป็นการลาเพื่อตัวเอง เช่น ลาพักผ่อน ลาป่วย ลาคลอด ลาบวช ฯลฯ เป็นการลาเพื่อสาธารณประโยชน์ เป็นต้นว่า ลาไปปลูกป่า ลาไปสอนหนังสือเด็กนักเรียน ลาไปเก็บขยะในทะเล ลาไปช่วยดับไฟป่า ลาไปช่วยงานบรรเทาสาธารณภัย ฯลฯ

ส่วนตัวผมคิดว่าการลาประเภทใหม่ ๆ นี้น่าจะเป็นประโยชน์แก่ทั้งตัวข้าราชการเอง และต่อส่วนรวม เพราะข้าราชการเราทำงานเพื่อประโยชน์สาธารณะอยู่แล้ว ถ้าสามารถลาไปทำประโยชน์สาธารณด้วย ก็จะเป็นประโยชน์มาก ได้พักด้วย สนุกด้วย เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะด้วย ทรีอินวันว่างั้น

ก็ชวนคิดครับ และพรุ่งนี้อย่าลืมนะครับ



วันข้าราชการพลเรือน 2562

วันอังคารที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2562

พัฒนาระบบราชการ เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน โดย นางสาวมนวดี จันทิมา*


                   ภายใต้บริบทของโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วและรุงแรง (Disruptive Change) ปัจจุบันโลกที่เราอยู่มีลักษณะที่เรียกกันว่าเป็น VUCA มากขึ้น ผันผวน (Volatile) ไม่แน่นอน (Uncertain) ซับซ้อน (Complex) และยากจะคาดเดา (Ambiguous) เราจะต้องเผชิญกับปัญหาที่เกิดขึ้นใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม ด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัญหาต่าง ๆ อาจแก้ไขได้ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้

                   การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีศักยภาพสูงเข้ามาใช้ทั้งในภาคเอกชนและภาครัฐทำให้เกิดการสร้างโอกาสให้คนจำนวนมาก รวมทั้งเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับประชาชน สร้างอาชีพใหม่ ๆ สร้างวิธีการทำงานรูปแบบใหม่  นอกจากนี้ เทคโนโลยียังเป็นตัวเร่งในการสร้างความท้าทายให้แต่ละหน่วยงานแข่งขันกันเพื่อนำเสนอสินค้าและบริการที่ดีที่สุดเพื่อตอบโจทย์ลูกค้า และประชาชน

                   จากการไปศึกษาดูงานตามโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการบริหารงานภาครัฐ หลักสูตร Public Administration for Better Life in Technological Disruption Era ระหว่างวันที่ ๒ - ๘ ธันวาคม ๒๕๖๑ ของสำนักงาน ก.พ.ร. The National Graduate Institute for Policy Studies (GRIPS) ประเทศญี่ปุ่น ผู้เขียนได้มีโอกาสไปดูงานที่ฟูจิตสึซึ่งเป็นบริษัทเอกชนของประเทศญี่ปุ่นที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ โดยฟูจิตสึมีพันธสัญญาของแบรนด์ว่า “กำหนดอนาคตร่วมกับคุณ” (Shaping Tomorrow with You) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแนวคิด และวิธีการดำเนินธุรกิจ การสร้างความสัมพันธ์ระยะยาวร่วมกับลูกค้า ทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และใช้เทคโนโลยีเพื่อมีส่วนร่วมในความสำเร็จและยกระดับการให้บริการ ซึ่งสอดคล้องกับการพัฒนาระบบราชการให้ทันยุคทันสมัย

                   นอกจากพันธสัญญาแล้ว ฟูจิตสึยังยึดถือวิถีแห่งฟูจิตสึ (FUJITSU Way) “ด้วยนวัตกรรมที่พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งของเรา กลุ่มบริษัทฟูจิตสึวางเป้าหมายที่จะมีส่วนร่วมในการสร้างสังคม เครือข่ายที่มีคุณค่าและปลอดภัย นำมาซึ่งอนาคตที่รุ่งเรืองที่จะเติมเต็มความฝันของคนทั่วโลก”

                   จะเห็นได้ว่าฟูจิตสึใช้แนวคิดของการให้ความสำคัญกับคนและสังคมเป็นศูนย์กลาง (Human Centric Intelligence SOCIETY) ฟูจิตสึจะเก็บข้อมูลความต้องการของลูกค้า และนำมาประมวลผลโดยผ่านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence : AI) เพื่อให้ได้สินค้าและบริการที่ตรงตามความต้องการของลูกค้าและประชาชนมากที่สุด

                   ปัจจุบัน ฟูจิตสึมุ่งพัฒนาศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาใช้กับชีวิตประจำวันในโลกอนาคต ผ่านการจัดแสดงในศูนย์การแสดง Fujitsu Showroom “Net Community” ซึ่งแบ่งการศึกษาออกเป็น 4 กลุ่มหลัก ประกอบด้วย

                   ๑. Business and Shopping : โลกของการจับจ่ายใช้สอยในอนาคต 3D Tele-immersion (TI) จะเข้ามาช่วยในการจำลองสถานที่ซื้อสินค้าจริง ผู้ซื้อสามารถลองชุดผ่านจอเสมือนจริงได้ เพื่อช่วยให้ง่ายต่อการตัดสินใจซื้อสินค้านั้น ๆ นอกจากนี้ ยังมีการนำ AI เข้ามาช่วยประมวลผลและคำนวณว่าสินค้าที่เราได้ซื้อไปใกล้จะหมดหรือยัง พร้อมทั้งมีระบบเตือนและข้อเสนอให้กับเราในการซื้อของครั้งต่อไปว่าควรจะซื้อเมื่อไหร่ จำนวนเท่าไหร่

                   ๒. Education and Training : โลกของการเรียนการสอนในอนาคต นอกจากจะเรียนผ่านออนไลน์แล้ว ครูผู้สอนยังสามารถใช้ AI มาจับอารมณ์ความรู้สึกของผู้เรียน ทำให้สามารถทราบและปรับวิธีการสอนได้อย่างทันถ่วงทีและเหมาะสมกับสถานการณ์ ส่งผลให้การรับรู้เนื้อหาของผู้เรียนมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

                   ๓. Health and Medical Treatment : ในวงการแพทย์ ฟูจิตสึได้พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเก็บข้อมูลบุคคล Personal Lifelog Storage (PLS) : vital-sign sensor  เช่น อุณหภูมิร่างกาย การเต้นของหัวใจ ชีพจร ความดัน เพื่อวิเคราะห์และป้องกันความเสี่ยงต่อการเกิดโรค หรืออันตรายที่อาจเกิดขึ้นได้ในขณะปฏิบัติงานของคนงาน ผ่านการใส่นาฬิกาข้อมือ (The FUJITSU Vital Sensing band)  นอกจากนี้ ในอนาคตรถยนต์จะสามารถจับความรู้สึกของผู้ขับ และนำมาประมวลกับอุณหภูมิของร่างกาย ทำให้รู้ว่าผู้ขับกำลังปวดท้องอยู่ และอยากจะหาห้องน้ำเข้า รถยนต์จะแสดงผลห้องน้ำที่ใกล้สุดและสามารถเข้าได้ผ่านทางหน้าจอให้ผู้ขับทราบ

                   ๔. Food and Agriculture : ในอนาคตอันใกล้นี้ ตู้เย็นซึ่งเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มีประจำทุกบ้านจะสามารถประมวลผลข้อมูลของการที่เจ้าของบ้านเก็บสินค้าอะไรไว้ในตู้ และหยิบออกมาแล้วจำนวนเท่าไหร่ ทำให้ทราบว่าคงเหลืออะไรบ้าง อย่างละเท่าใด ยิ่งไปกว่านั้น จะสามารถคำนวณต่อให้ว่าอาทิตย์ที่ผ่านมาเราทานอะไรไปบ้าง ทานไปแล้วกี่แคลอรี่ และมีข้อเสนอให้ว่าควรจะทำอะไรทานในมื้อต่อ ๆ ไปดี

                   นอกจากนี้ ศูนย์การแสดง Fujitsu Showroom “Net Community” ยังมีจุดแสดงเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่บริษัท FUJITSU ให้บริการจริงกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น ๑) ระบบการยืนยันตัวบุคคลด้วยฝ่ามือ (Palm Vein Authentication – PalmSecure) ซึ่งเป็นระบบที่นำมาใช้ในการเข้าทำงานของบริษัท และใช้ในการเปิดคอมพิวเตอร์ ๒) หุ่นยนต์ “RoboPin” เป็นหุ่นยนต์ที่สามารถสื่อสารได้หลายภาษา และได้มีการนำมาใช้แทนคนเพื่อทำหน้าที่ต้อนรับรวมทั้งประชาสัมพันธ์ข้อมูลของหน่วยงานเบื้องต้น

                   นอกจากการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ในภาคธุรกิจ และชีวิตประจำวันแล้ว ในระดับท้องถิ่นของญี่ปุ่น (Prefecture) ได้นำหุ่นยนต์มาดำเนินการบางอย่างแทนคน Robotic Process Automation (RPA) เพื่อบริการประชาชนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดเวลา และลดภาระงานของข้าราชการในการทำงานที่ต้องใช้เวลาเป็นจำนวนมาก และมีการนำ AI มาพัฒนาเป็นโปรแกรม ESTIMA เพื่อประเมินค่าใช้จ่ายและออกแบบการก่อสร้างในท้องถิ่นอีกด้วย

                   สำหรับประเทศไทย ฟูจิตสึมีความร่วมมือกับบริษัทเอกชนหลายแห่ง ซึ่งแต่ละบริษัทมีการตื่นตัวในการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อยกระดับบริการให้ตอบโจทย์กับความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป และเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการบริการให้ดียิ่งขึ้น เช่น

                   ๑. ธนาคารไทยพาณิชย์นำเทคโนโลยี AI มาใช้เพื่อสนับสนุนนโยบายสังคมไร้เงินสด (Cashless society) โดยเริ่มเปิดตัวไปเมื่อสิงหาคม ๒๕๖๐ ที่ผ่านมา อีกทั้ง ธนาคารไทยพาณิชย์ยังดำเนินกิจกรรมที่สอดคล้องกับนโยบายสังคมไร้เงินสด เช่น ๑) การทำ Cashless point-of-sale solution หรือ Cashless self-checkout ณ จุดชำระเงินของซุปเปอร์ในเครือเดอะมอลล์ ๒) การเปิดตัว “แม่มณี Money Solution” ในรูปแบบของ QR Code ซึ่งเป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ซื้อและผู้ขาย

                   การดำเนินการของธนาคารไทยพาณิชย์นับว่าเป็นการปรับกลยุทธ์การทำตลาดใหม่ โดยเน้นการลงพื้นที่จริงเพื่อไปรับทราบปัญหา (Pain Point) จากผู้ใช้โดยตรง ซึ่งทำให้ทราบว่าแต่ละฝ่ายมีปัญหา ดังนี้
·    ฝ่ายผู้ใช้งานทั่วไป : ทำธุรกรรมหลากหลายประเภท เช่น C2C, C2B, C2M, QR Code
·     ฝ่ายพ่อค้าแม่ค้า : ลูกค้ามีเงินสดไม่พอซื้อ เงินในร้านหาย เงินไม่พอทอน
จากการทราบปัญหา นำมาสู่การทำแอพพลิเคชั่น SCB Easy ที่พัฒนาขึ้นใหม่ให้เป็น Lifestyle Banking ตามแนวคิด “เป็นทุกอย่างเพื่อคุณ” รองรับการใช้งานทั้ง C2C หรือการจ่ายเงิน โอนเงินระหว่างบุคคล, C2B การจ่ายเงินกับธุรกิจ, C2M การจ่ายเงินกับเครื่องแมชชีน และการจ่ายเงินผ่าน QR Code

                   ๒. ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (Siam City Cement : SCCC) ให้ความสำคัญกับนโยบายอุตสาหกรรม ๔.๐ (Industry 4.0) และมุ่งสู่การเป็น “โรงงานดิจิทัลอัจฉริยะ (Digital Connected Plant)” ด้วยการใช้เทคโนโลยี IoT (Internet of Things) เพื่อสร้างเครือข่ายเครื่องจักรและอุปกรณ์การผลิตต่าง ๆ ในโรงงาน ซึ่งเชื่อมต่อผู้คน อุปกรณ์ และกระบวนการต่าง ๆ เข้าด้วยกัน โดยมีเป้าหมายคือ การเข้าใจสถานะการทำงานของโรงงานแบบเรียลไทม์ พร้อมกับควบคุมภาพรวมของโรงงานอย่างเหมาะสม และเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

                   ในการขยายธุรกิจไปยังทั่วภูมิภาคเอเชียนั้น เมื่อโรงงานดิจิทัลอัจฉริยะเกิดขึ้น นอกจากจะนำไปใช้กับแต่ละฝ่ายงานภายในประเทศแล้ว ยังสามารถเชื่อมโยงไปสู่ผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศอีกด้วย การเข้าใจสถานการณ์การผลิตในโรงงานหรือสภาพการทำงานของเครื่องจักร และการแชร์ข้อมูลระหว่างกัน จะทำให้สามารถตรวจพบปัญหาได้เร็ว คาดการณ์ความเสียหายเหล่านั้นได้ กล่าวคือสามารถรับมือกับปัญหาได้อย่างฉับไว ในขณะเดียวกับที่ลดค่าใช้จ่ายที่สิ้นเปลือง ก็ยังสามารถปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตได้อีกด้วย อีกทั้งยังรับรู้การเปลี่ยนแปลงของตลาดได้อย่างว่องไว และสามารถรับมือกับปัญหาขาดแคลนทรัพยากรเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุด้วยระบบอัตโนมัติ

                   ในการทำโรงงานดิจิทัลอัจฉริยะ ปูนซีเมนต์นครหลวงได้ดำเนินการ ๕ ประการ  ดังนี้
                   ๑) การสร้างเครือข่ายโรงงานโดยรวมคือการสร้างรากฐาน จัดตั้งโรงงานดิจิทัลอัจฉริยะด้วยการเชื่อมต่อทุกพื้นที่ในโรงงานขนาดใหญ่
                   ๒) ติดตั้งอุปกรณ์ดิจิทัลในการตรวจตรา ทำให้สามารถรับรู้สภาพภายในอุปกรณ์จากเสียง และอื่น ๆ ได้
                   ๓) การบูรณาการเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology: IT) และเทคโนโลยีส่วนปฏิบัติการ (Operational Technology: OT) เข้าด้วยกัน มีประโยชน์ต่อการจัดการความเสี่ยงในการเกิดปัญหา หากรู้ได้ทันทีว่าเครื่องจักรใดเสีย หรือน่าจะมีปัญหาตรงไหน จะสามารถประหยัดเวลาในการตรวจสอบและซ่อมแซม รวมถึงหลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายสูงในการซ่อมแซมที่อาจเกิดขึ้นในกรณีที่เกิดปัญหาได้
                   ๔) การจัดการผู้รับเหมาจะช่วยประหยัดแรงงานในการซื้อวัสดุที่จำเป็นและการจ่ายเงินให้ผู้รับเหมา ทั้งยังช่วยหลีกเลี่ยงปัญหา เช่น การชำระเงินตกหล่น ซึ่งสิ่งนี้จะเชื่อมโยงกับการเสริมสร้างการปฏิบัติตามกฎระเบียบของสังคม (Compliance)
                   ๕) ศูนย์ปฏิบัติการจากระยะไกล (Remote Operation Center) คือศูนย์รวบรวมข้อมูลของโรงงานทั้งหมดในเครือ
                   ด้วยการสร้างกลไกดังกล่าวนี้ ปัญหาต่าง ๆ จะลดลง เช่น เครื่องจักรอุปกรณ์ชำรุด อีกทั้งยังทำให้ชิ้นส่วนสำรองที่เก็บเตรียมไว้เมื่อเกิดเหตุชำรุดไม่จำเป็นอีกต่อไป นอกจากนี้ยังสามารถลดความซับซ้อนของกระบวนการ และเพิ่มความปลอดภัยให้กับพนักงานได้อีกด้วย

                   ดังนั้น จะเห็นได้ว่าไม่เพียงต่างประเทศเท่านั้นที่เริ่มขยับ ปรับ เปลี่ยน ภาคเอกชนของไทยก็เริ่มนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาบริการให้ตอบโจทย์ผู้รับบริการอย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

                   ภาครัฐเองก็ร่วมขับเคลื่อน โดยนำเทคโนโลยีมาพัฒนาบริการให้ดีขึ้น มุ่งสู่การเป็นระบบราชการ ๔.๐ เน้นการเปิดกว้างและเชื่อมโยงกัน (Open and Connected Government) มีขีดสมรรถนะสูงและทันสมัย (Smart and High Performance Government) โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง (Citizen-Centric Government) เพื่อสร้างภาครัฐให้เป็นที่พึ่งของประชาชนและเชื่อถือไว้วางใจได้ (Credible and Trusted Government)

                   การเปลี่ยนแปลงนี้จะเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพได้นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ร่วมกันสร้างนวัตกรรม และปรับตัวสู่ความเป็นดิจิทัล

                   ผู้เขียนเชื่อมั่นว่าในอนาคตอันใกล้ จะได้เห็นการบูรณาการกันของหน่วยงานภาครัฐอย่างเต็มรูปแบบ รวมทั้งการทำงานเชิงรุกและมองไปข้างหน้า (Proactive Public Services) โดยมุ่งตอบสนองความต้องการของประชาชน (Personalization) มากขึ้น เช่น ๑) การมีแอพลิเคชั่นที่ส่งข้อความมาเตือนเมื่อใกล้ถึงเวลาต่ออายุบัตรประชาชน ใบขับขี่ ๒) การช่วยคำนวณการชำระภาษีประจำปี เป็นต้น

                        ท้ายสุด... การพัฒนาระบบราชการจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องสานพลังกัน เปรียบเสมือนฟันเฟืองที่ช่วยขับเคลื่อนองคาพยพ สู่ระบบราชการ ๔.๐ ร่วมกัน “พัฒนาระบบราชการ เพื่อชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน” หรือ “Good Governance for Better Life

-----------------------
*นักพัฒนาระบบราชการชำนาญการพิเศษ สำนักงาน ก.พ.ร.

วันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2562

ร่างกฎหมายจัดการซากผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์: ของดีที่ยังไม่ผ่าน สนช. โดย นายจิรวัฒน์ จงสงวนดี*


                    ก่อนอื่นขอบอกว่าบทความนี้มีเจตนาที่จะสร้างความตระหนักรู้เพื่อการเตือนภัยและเตรียมรับมือกับภัยอันใกล้ที่จะเกิดอย่างแน่นอนในรุ่นลูกหลานของเรา

                    เข้าใจว่าพวกเราคงเคยได้ยินชื่อโรค “อิไต อิไต” (イタイイタイ病) กันมาบ้างแล้ว คำว่า “อิไต อิไต” เป็นภาษาญี่ปุ่นที่แปลเป็นไทยว่า เจ็บปวด ที่เรียกแบบนี้ก็เพราะว่า ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บปวดรุนแรงแสนสาหัสทีเดียว อันเนื่องมาจากสารแคดเมียมที่ปนเปื้อนมากับสิ่งต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกายไม่ว่าทางน้ำ อาหาร หรืออากาศที่หายใจเข้าไป ด้วยว่าเจ้าแคดเมียมนี่เป็นธาตุที่ละลายน้ำได้ จึงสามารถสะสมในพืชอาหารในระดับที่เป็นพิษต่อคนและสัตว์ได้ (ธนภัทร ปลื้มพวก และคณะ,ปริมาณแคดเมียมในข้าวที่ปลูกในดินนาปนเปื้อนแคดเมียมในพื้นที่ ลุ่มน้ำแม่ดาว จังหวัดตาก ประเทศไทย (๒๕๕๗))

                   โรคนี้เกิดรุนแรงมากในญี่ปุ่นเมื่อราวสามสี่สิบปีที่ผ่านมาพร้อม ๆ กับโรคมินามาตะและโรคคาวาซากิ เพราะยุคนั้นของญี่ปุ่นมีการทิ้งสิ่งของต่าง ๆ ที่ใช้แคดเมี่ยม ตะกั่ว และปรอทเป็นองค์ประกอบกันเรี่ยราดมากทั้งบนบกและในทะเล แคดเมี่ยม ตะกั่ว และปรอทจึงปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกายของคนและสัตว์ไปทั่ว ยิ่งปลานี่ยิ่งเยอะ แถมชาวญี่ปุ่นนิยมกินปลา มันก็เลยเข้าไปในร่างกายผู้บริโภคกันอย่างอิ่มหนำสำราญ

                   กรณีแคดเมียม เมื่อสะสมในร่างกายปริมาณมากจะไปทำลายไต รวมทั้งระบบประสาทและสมอง ในกรณีสตรีมีครรภ์อาจมีผลให้เด็กพิการแต่กำเนิดได้ เมื่อสะสมในกระดูกจะทำให้กระดูกผุ และยังเป็นสารก่อมะเร็งที่ไตและต่อมลูกหมาก และอาการเลือดจางอีกด้วย ทำให้หลายประเทศแบนสินค้าทางการเกษตรและอาหารที่มีการปนเปื้อนแคดเมียม

                   ที่ผ่านมาประเทศไทยก็เคยมีปัญหาอย่างนี้เหมือนกัน แต่ไม่ใช่ในปลา เป็นข้าวอันเป็นอาหารหลักของเรา โดยเพราะพบว่ามีการปนเปื้อนแคดเมี่ยมในข้าว เช่น ในปี พ.ศ. ๒๕๕๒ มีข่าวว่าข้าวไทยปนเปื้อนสารแคดเมียมถึง ๐.๔๘ ๐.๕๗๑ มิลลิกรัม ซึ่งเกินมาตรฐานที่กำหนดไว้ไม่เกิน ๐.๒ มิลลิกรัม แน่นอนว่าหากหลุดรอดออกไปขายต่างประเทศ จะทำให้ข้าวไทยเสียชื่อเสียง เสียตลาด และแน่นอน เสียความสามารถในการแข่งขัน

                   ที่น่าสนใจก็คืองานวิจัยชิ้นหนึ่งที่เสนอในการประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ ๕๔ แสดงให้เห็นว่า ในตัวอย่างข้าวทั้งหมด ๕๔ ตัวอย่าง มีการปนเปื้อนแคดเมียมเกินค่ามาตรฐานสูงสุด ๔ ตัวอย่าง ปนเปื้อนโครเมียมเกินค่ามาตรฐานสูงสุดพบในข้าวขาวร้อยละ ๓๓.๓๓ ข้าวกล้องร้อยละ ๒๓.๘๑ และข้าวสีนิลร้อยละ ๕๐ โดยข้าวสีนิลมีการปนเปื้อนตะกั่วเกินค่ามาตรฐานสูงสุดคิดเป็นร้อยละ ๘๓.๓๓ ข้าวขาวและข้าวกล้องมีการปนเปื้อนของตะกั่วเกินค่ามาตรฐานสูงสุดที่กำหนดไว้คือร้อยละ ๔๐.๗๔ และร้อยละ ๒๓.๘๑ (วิภาดา ศิริอนุสรณ์ศักดิ์ และคณะ, การวิเคราะห์ปริมาณโลหะหนัก (แคดเมียม โครเมียม และตะกั่ว) ในข้าวไทย (๒๕๕๙))

                    แล้วโรคอิไต อิไต หรือแคดเมี่ยมมาเกี่ยวอะไรกับร่างกฎหมายการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ฯ ได้อย่างไรล่ะ

                   เรื่องมันเป็นอย่างนี้ครับ สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาศึกษาวิจัยวิจัยแล้วพบว่า ซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (Waste from Electrical and Electronic Equipment : WEEE) ในบ้านเรานั้นนับวันจะเพิ่มมากขึ้นทุกที และชิ้นส่วนต่าง ๆ ของซากผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีโลหะหนักเป็นส่วนประกอบ เช่น ตะกั่ว แคดเมียม ปรอท และอื่น ๆ อีกหลายอย่าง หากนำไปกำจัดโดยวิธีการเหมือนการจัดการขยะธรรมดาที่ใช้วิธีเผาหรือฝังกลบ ก็จะเกิดการรั่วไหลของสารต่าง ๆ ไปสู่ดินและแหล่งน้ำ ทั้งน้ำใต้ดินและน้ำผิวดิน รวมทั้งสิ่งแวดล้อมด้วย ซึ่งมันก็จะกลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบรุนแรงต่อระบบนิเวศและสุขภาพของประชาขน  

                   กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตระหนักถึงภัยคุกคามดังกล่าวจึงได้เสนอร่างกฎหมายที่มีหลักการในการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าอย่าง “ถูกวิธี” เพื่อป้องกันไม่ให้มีการรั่วไหลของสารพิษและโลหะหนักที่จะเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมครับ วิธีการที่ว่านี้ไม่กระทบต่อกิจการค้าของเก่าและซาเล้งที่ทำมาหากินกันอยู่ แต่ใช้ “ความร่วมมือ” จากผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในการรับคืนซากผลิตภัณฑ์เหล่านั้น โดยการนำหลัก Polluter Pays Principle หรือหลักผู้ก่อให้เกิดมลพิษเป็นผู้จ่ายมาใช้ เพราะปัจจุบันผู้ผลิตไม่ได้คิดต้นทุนในการจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นรวมไว้ทำให้ต้นทุนสินค้าและบริการ ปล่อยให้เป็นภาระของภาครัฐและประชาชน ซึ่งไม่เป็นธรรมและไม่สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล

                   กฎหมายที่ว่านี้ชื่อว่า “ร่างพระราชบัญญัติการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ....” ครับ ผ่านคณะรัฐมนตรีและเสนอไปที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว และสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติรับหลักการเมื่อวันที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๖๒ และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นเพื่อพิจารณา ซึ่งในการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญดังกล่าวได้มีการนำผลการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกระดับและกฎหมายต่างประเทศที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณาด้วย โดยได้พิจารณาเสร็จและส่งให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อพิจารณาในวาระ ๒ และวาระ ๓ ต่อไปแล้วตั้งแต่วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๒

                        เสียดายมากที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติมีกฎหมายที่สำคัญจะต้องพิจารณาจำนวนมาก หากสภานิติบัญญัติแห่งชาติไม่สามารถหยิบยกร่างกฎหมายนี้ขึ้นพิจารณาได้ทัน ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต้องตกไป ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ก็จะกลายเป็นระเบิดเวลาที่รอเวลาระเบิดต่อไปในรุ่นลูกและหลาน เพราะการแก้ปัญหาดินและน้ำปนเปื้อนนั้นต้องใช้เวลานานกว่าปัญหาฝุ่นละอองในปัจจุบัน เพราะกว่าญี่ปุ่นที่ว่าแน่ ๆ นั้น กว่าจะจัดการปัญหานี้ได้ก็ต้องใช้เวลาสามสี่สิบปีทีเดียว ซึ่งในระหว่างนั้นภัยร้ายแรงจากขยะปนเปื้อนดังกล่าวก็ส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนจำนวนมากไปพร้อมกันด้วย ซึ่งมันไม่คุ้มเลย

                   ที่เขียนมานี้ก็เพื่อแจ้งให้พี่น้องประชาชนทราบว่ามีร่างกฎหมายดี ๆ เช่นนี้อยู่นะครับ จะได้ทราบทั่วกันว่าหลังเลือกตั้งแล้วจะไปตามหาร่างกฎหมายที่คุ้มครองสุขภาพของประชาชนเช่นนี้ได้ที่ไหน

---------------
*นักกฎหมายกฤษฎีกาชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา

วันศุกร์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2562

“ทบทวน” ปกรณ์ นิลประพันธ์

ปัญหาที่หมักหมมอยู่ในวันนี้ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะวิชาประวัติศาสตร์เราอ่อนแอ ไม่มีการบันทึกและวิเคราะห์กันอย่างจริงจัง การเรียนการสอนและการวัดผลที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง  ประวัติศาสตร์ของตัวเองยังไม่รู้ไม่เข้าใจ ระบบการเมืองการปกครองจึงวนไปวนมา ย่ำอยู่กับที่ ไม่มีอะไรใหม่ ทั้งยังไม่เข้าใจประวัติศาสตร์สากลด้วย การค้าการลงทุนเราจึงมีปัญหาเพราะไม่รู้ historical background ของคู่ค้า ไม่รู้ geopolitics หาความเชื่อมโยงไม่ได้

ในประเทศพัฒนาแล้ว วิชาประวัติศาสตร์เขาแข็งแรงมาก ทั้งประวัติศาสตร์ชาติของเขาเองและประวัติศาสตร์สากล เขาสอนให้คนรุ่นหลังรู้และเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตไม่ว่าจะเป็นสงคราม ความขัดแย้ง ความรุ่งเรือง ความตกต่ำ และบอกว่าบริบทในช่วงนั้นเป็นอย่างไร ใครเกี่ยวข้องบ้าง และใครทำอะไร อย่างไร โดยไม่ได้บอกว่าใครดีไม่ดี เพราะมันเป็น subjective และเป็นการชี้นำอันเนื่องมาจากความคิดเห็นของคนสอน สังคมก็มีส่วนสร้างความเข้มแข็งในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดนิทรรศการ การทำหนังสารคดี ซึ่งล้วนแล้วแต่อยู่บนหลักการที่ว่าบอกข้อเท็จจริงทุกมิติ ไม่มีการ “ชี้” ว่าใครถูกใครผิด ซึ่งต่างจากประเทศด้อยพัฒนา

การศึกษาอบรมด้านคุณธรรมจริยธรรมก็เน้นการท่องจำว่ามีอะไรบ้าง กี่ข้อ แต่ละข้อแปลว่าอะไร แทนที่จะมุ่งให้ลงมือทำ เลยได้แต่ท่องจำ ไม่เกิดเป็นวัตรปฏิบัติอันดีงามอันจะกลายเป็นสามัญสำนึกหรือสันดานที่ดีของปัจเจกบุคคล กลายเป็นคนพูดอย่างทำอย่างไป

การเน้นสะเต็มศึกษาจึงไม่สามารถแก้ปัญหาของบ้านเมืองได้ครบวงจร ตรงข้าม ปัญหาด้านสังคมจะรุนแรงขึ้นจากความไม่รู้เรื่องทางประวัติศาสตร์ และการขาดสามัญสำนึกในด้านคุณธรรมจริยธรรม 



ทั้งที่มันต้องไปด้วยกัน.