วันจันทร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2560

ความบกพร่องทางเทคโนโลยีกับข้อพิจารณาทางกฎหมาย โดย นางสาววารีรัตน์ รัตนวิบูลย์สม

                   ผู้เขียนพบบทความที่น่าสนใจของ Jack Karsten และ Darrell M. West ใน Brookings blog เกี่ยวกับความบกพร่องทางเทคโนโลยีกับข้อพิจารณาทางกฎหมายที่เกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เห็นว่าน่าสนใจมากจึงนำมาเล่าสู่ท่านผู้อ่าน เพื่อจะได้ขบคิดหาทางคิดอ่านแก้ปัญหากันเสียแต่เนิ่น ๆ 

                    ในปัจจุบันนี้การเชื่อมต่อในระบบ wireless LAN (เครือข่าย Wi-Fi) ความความเสถียรมากพอสมควร แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่จะ "ล่ม" เอาดื้อ ๆ ถ้าเป็นการทำงานปกติหรือเป็นประชุมแบบ video calls ผลที่เกิดขึ้นก็เป็นเพียงงานหรือการประชุมนั้นต้องหยุดชะงักไปชั่วคราว แต่ถ้ามีการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาแล้วระบบมันเกิด "ล่ม" แน่นอนว่ามันย่อมกระทบต่อทั้งนักโทษ ความปลอดภัยสาธารณะ และกระบวนการยุติธรรมโดยรวมทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีการใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้กระทำผิดซึ่งอยู่ระหว่างการภาคทัณฑ์หรือคุมประพฤติ

                   อุปกรณ์ที่ว่านี้เริ่มใช้ในสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1990 เพื่อใช้ในการแก้ปัญหานักโทษล้นเรือนจำ จากผลการศึกษาของ Pew Research Center มีการใช้เครื่องมือติดตามตัวผู้กระทำผิดเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 140 ในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 2005-2015 (2548-2558) โดยเครื่องมือติดตามนี้มีศักยภาพที่จะเฝ้าติดตามผู้กระทำผิดที่อยู่นอกเรือนจำได้อย่างปลอดภัย โดยเครื่องมือนี้ใช้งานผ่านสัญญาณวิทยุที่ถูกส่งเชื่อมโยงถึงกันระหว่างอุปกรณ์รัดข้อเท้า (ankle device) กับหน่วยฐาน (base unit) ซึ่งหากอุปกรณ์รัดข้อเท้าอยู่ห่างไกลจากหน่วยฐาน สัญญาณวิทยุก็จะถูกส่งแจ้งเตือนไปยังเจ้าหน้าที่ อีกทั้งเครื่องมือติดตามนี้ยังอาศัยเทคโนโลยีจีพีเอส (GPS) ในการช่วยติดตามและตรวจพบตำแหน่งที่ตั้งของอุปกรณ์รัดข้อเท้าของผู้ที่สวมใส่ด้วย

                   อย่างไรก็ดี แม้ว่าเครื่องมือติดตามตัวผู้กระทำผิดจะถูกนำมาใช้เพิ่มมากขึ้น แต่กลับยิ่งพบถึงความบกพร่องของเครื่องมือดังกล่าวมากขึ้น โดยในปี ค.ศ. 2011 (2554) พบว่า เจ้าหน้าที่ของมลรัฐแคลิฟอร์เนีย (California officials) ได้เคยทำการทดสอบเครื่องมือติดตามตัวผู้กระทำผิดทางเพศที่มีความเสี่ยงสูงจำนวน 4,000 คน รวมถึงสมาชิกของกลุ่มผู้กระทำผิดต่าง ๆ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเครื่องมือติดตามตัวผู้กระทำผิด คือ แบตเตอรี่หมด  เกิดอาการแตกหักหรือชำรุด การแจ้งเตือนล้มเหลว รวมทั้งการเชื่อมต่อสัญญาณที่อยู่ห่างไกลมีความขัดข้อง เป็นต้น  นอกจากนี้ เจ้าพนักงานคุมประพฤติยังถูกแจ้งเตือนในแต่ละวันเป็นจำนวนมากอันนำไปสู่ความวิตกกังวลว่าการติดตามตัวผู้กระทำผิดอาจเกิดการตกหล่นหรือสูญหายขึ้น

                   ข้อกังวลเกี่ยวกับการใช้งานเครื่องมือติดตามตัวผู้กระทำผิดไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่
ในมลรัฐแคลิฟอร์เนียเท่านั้น ในมลรัฐเทนเนสซี
ก็ปรากฏข้อเท็จจริงว่า การแจ้งเตือนจากเครื่องมือติดตามตัวผู้กระทำผิดประมาณร้อยละ 80 ไม่ได้รับการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่รัฐ และเหตุการณ์ลักษณะนี้ก็เคยเกิดขึ้นในมลรัฐโคโลราโด และมลรัฐนิวยอร์ก เช่นเดียวกัน ในขณะที่มลรัฐฟลอริดาพบปัญหาว่าเจ้าหน้าที่รัฐหยุดให้มีการแจ้งเตือนตามเวลาจริง (real-time notifications) ทำให้ไม่ทันสังเกตว่ามีนักโทษคุมประพฤติได้ละเมิดข้อห้ามออกจากเคหสถานในเวลาที่กำหนด (curfew) ถึง 53 ครั้งภายในหนึ่งเดือน ก่อนที่จะไปก่อเหตุฆ่าคนตายจำนวน 3 ศพ!!!

                   ในเวลาเดียวกัน ความบกพร่องของเครื่องมือติดตามตัวผู้กระทำผิดและความไม่เสถียรของระบบอินเตอร์เน็ตยังสร้างปัญหาให้แก่ผู้สวมใส่ด้วย กล่าวคือ นักโทษคุมประพฤติอาจกลายเป็นผู้ที่ฝ่าฝืนหรือละเมิดเงื่อนไขของการปล่อยตัวและอาจส่งผลให้นักโทษผู้นั้นต้องกลับเข้าสู่เรือนจำอีกครั้งหนึ่ง เนื่องมาจากการขัดข้องทางเทคนิคในการแจ้งเตือนของเครื่องมือติดตาม อีกทั้งความบกพร่องของเครื่องมือยังอาจส่งผลกระทบต่อ "โอกาสในการทำงาน" ของผู้สวมใส่ด้วยเช่นกัน โดยในปี ค.ศ. 2011 (2554) สถาบันแห่งชาติของกระทรวงยุติธรรม (National Institute of Justice)[*] ได้ทำการศึกษาวิจัยกรณีตัวอย่างจากผู้กระทำผิดจำนวน 5,000 ราย ที่ถูกติดตามด้วยเครื่องมือติดตามตัวผู้กระทำผิด พบว่าผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวนมากต้องพักงานเพื่อที่จะเดินหาสัญญาณของเครื่องมือบริเวณรอบ ๆ ที่ทำงาน อันเนื่องมาจากสัญญาณของเครื่องมือมักจะขาดหายไปอยู่บ่อยครั้ง ส่งผลให้บุคคลเหล่านี้มักจะโดนไล่ออกหรือขอให้ออกจากงานในที่สุด 

                   นอกจากนี้ อุปสรรคทางการเงินก็เป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการใช้เครื่องมือติดตามตัวผู้กระทำผิด อัตราค่าธรรมเนียมของเครื่องมือติดตามตัวผู้กระทำผิดที่ผู้สวมใส่ต้องชำระอยู่ที่อัตรา 10-15 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน โดยศาลบางแห่งจะพิจารณาค่าใช้จ่ายบนพื้นฐานของความสามารถของผู้ใช้เครื่องมือที่จะสามารถชำระได้ แต่สำหรับศาลบางแห่งจะพิจารณาว่า หากผู้ใช้เครื่องมือไม่สามารถชำระค่าธรรมเนียมได้ก็จะถูกส่งเข้าเรือนจำแทน

                   แม้ว่าการใช้เครื่องมือติดตามตัวผู้กระทำผิดจะเกิดความบกพร่องทางเทคนิคอยู่บ่อยครั้งก็ตาม แต่ไม่พบว่ามีการกำหนดมาตรการบังคับใดไว้สำหรับระบบการเฝ้าติดตาม โดยในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2016 (2559) สถาบันแห่งชาติของกระทรวงยุติธรรมได้เสนอรายงานเพิ่มเติมเกี่ยวกับการกำหนดข้อกำหนดขั้นต่ำ (minimum requirements) ที่ต้องมีไว้สำหรับเครื่องมือติดตามตัวผู้กระทำผิด ทั้งนี้ รวมถึงหลักเกณฑ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับการทดสอบเครื่องมือเหล่านี้ด้วย แต่มาตรฐานทั้งหมดตามที่กล่าวมานั้นมิใช่มาตรการบังคับที่ต้องจัดทำ เป็นแต่เพียงมาตรการที่อาศัยความสมัครใจเท่านั้น

                   การกำหนดมาตรฐานและหลักเกณฑ์การทดสอบเครื่องมือติดตามตัวผู้กระทำผิดข้างต้นก่อนที่จะผลิตเครื่องมือขึ้นมาใหม่ จะช่วยป้องกันปัญหาหรือความบกพร่องต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากระบบการเฝ้าติดตามตัวผู้กระทำผิดได้ มลรัฐแคลิฟอร์เนียเป็นกรณีตัวอย่างที่เห็นได้ชัด โดยมีการออกโปรแกรมการติดตามตัวผู้กระทำผิดขึ้นในปี ค.ศ. 2008 (2551) ด้วยการใช้เครื่องมือที่ใช้สัญญาณดาวเทียม (3M/Satellite) ในการติดตามบุคคล และมีการทดสอบการใช้เครื่องมืออย่างเข้มงวด ผลปรากฏว่า การทดสอบสัญญาณดาวเทียมจากทั้งหมด 102 ครั้ง พบกับความล้มเหลวประมาณ 46 ครั้ง ทำให้มลรัฐแคลิฟอร์เนียต้องเร่งเปลี่ยนและทดแทนเครื่องมือที่ใช้การได้จากผู้ผลิตรายอื่นแทน 

                   มาตรฐานและการทดสอบเครื่องมืออย่างเข้มงวดนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้หน่วยงานราชทัณฑ์หลายแห่งพิจารณาถึงการติดตามตัวผู้กระทำผิดด้วยเครื่องมือทางอิเล็กทรอนิกส์ในรุ่นถัดไป เช่น การนำโปรแกรมของสมาร์ทโฟน (smartphone applications) มาพัฒนาจับคู่กับสายรัดข้อเท้า หรือการนำเทคโนโลยีที่ช่วยให้สื่อสารผ่านเสียงและโปรแกรมตรวจจับและจดจำใบหน้า (voice and facial recognition technology) มาใช้เพื่อยืนยันตัวตนผ่านทางโทรศัพท์มือถือ เทคโนโลยีเหล่านี้จะช่วยให้ผู้ใช้งานเกิดความยืดหยุ่นขึ้นในการติดต่อประสานหรือเชื่อมโยงข้อมูลถึงกัน แต่ทั้งนี้ มิได้หมายความว่า เทคโนโลยีดังกล่าวจะช่วยป้องกันการเกิดข้อผิดพลาดหรือความบกพร่องของการใช้งานเครื่องมือติดตามตัวผู้กระทำผิดแต่อย่างใด แต่ต้องอาศัยความร่วมมือในการทำงานร่วมกันระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายเพื่อให้เครื่องมือที่ผลิตออกมาใช้งานมีมาตรฐานอยู่ในระดับที่สูงต่อไป

                       ระบบอิเล็กทรอนิกส์มันรวดเร็วทันสมัย แต่ก็มีความเสี่ยงในตัวเองเหมือนกัน ต้องพิจารณาให้รอบคอบ




                        [*] สถาบันแห่งชาติของกระทรวงยุติธรรมแห่งสหรัฐอเมริกาเป็นสถาบันที่ทำหน้าที่ในการศึกษาวิจัย พัฒนา และประเมินผล ของกระทรวงยุติธรรม

วันอาทิตย์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2560

ตัวอย่างประชารัฐฉบับญี่ปุ่น โดย ปกรณ์ นิลประพันธ์

ญี่ปุ่นเป็นชาติที่ทำประมง bluefin tuna มากที่สุดในโลก ยิ่งวัฒนธรรมอาหารญี่ปุ่นแพร่หลายไปทั่วโลกในช่วงสามสิบปีที่ผ่านมา ยิ่งทำให้เกิด over fishing เสียจนทำให้ bluefin tuna เกือบหมดทะเล 
คนเดือดร้อนที่สุดคือชาวประมงครับ ปลาไม่มีขาย ทำไงดี พวกเขาจึงมานั่งคิดร่วมกันในระดับท้องถิ่น แล้วขยายไปในระดับชาติ ว่าจะทำอย่างไรดี 

ในที่สุด พวกเขาพบว่าการจับปลาให้น้อยลงเป็นคำตอบหนึ่ง แต่ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย สำหรับพวกเขา คำตอบสุดท้ายคือต้องมี stock ปลา bluefin tuna ให้มากต่างหาก  ถ้ามีปลาเยอะ พวกเขาก็จะมีปลาให้จับได้เรื่อย  ลูกหลานก็สามารถทำอาชีพประมงสืบต่อกันได้อีกหลายชั่วอายุคน ไม่ต้องไปเป็นลูกจ้างใครเขา

หลังจากนั้น พวกเขาเริ่มรวมกลุ่มขยายความคิดไปยังชาวประมงทั่วประเทศ แล้วจึงไปบอกกับรัฐบาลให้ออกกฎหมายห้ามหาปลา bluefin tuna ช่วงที่พวกมันผสมพันธุ์และวางไข่เป็นเวลาสองเดือน  

ที่สำคัญพวกเขาไม่ใช่เอาแต่เรียกร้อง พวกเขาช่วยรัฐดูแลไม่ให้มีใครละเมิดกฎหมายด้วย เพราะตระหนักดีว่ารัฐไม่สามารถดูแลให้ทั่วถึงได้หรอก  เขาใช้วิธีว่าถ้าใครมีปลา bluefin tuna มาขายในช่วงนั้นโดยไม่ใช่ปลานำเข้าละก็ ปลานั่นต้องมาจากการทำประมงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแน่  เขาใช้มาตรการทางสังคมลงโทษด้วยการไม่ให้ขายปลานั้นซึ่งปกติก็คือการประมูลที่สะพานปลา ขณะเดียวกันช่วงนั้นพวกเขาก็ช่วยตัวเองโดยการเปลี่ยนไปหาปลาหมึกขายแทน แม้รายได้ลดลงบ้าง แต่ก็แค่สองเดือน หลังจากนั้นก็ออกหาปลากันตามปกติ ถ้าจับได้ตัวไม่ถึงขนาดก็ปล่อยไป ถ้าใครเอาปลาเล็กมาขายละก็จะถูกตักเตือน แรงสุดคือไม่ค้าขายกับรายนั้นไปเลย คนเขามีวินัย ไม่เห็นแก่ตัว แต่เห็นแก่ส่วนรวม

เพียงสองปีผ่านไป จำนวน bluefin tuna เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีปลาใน stock เพิ่มขึ้นทุกปี และมีให้จับกันทั่วถึงกัน

นี่คือประชารัฐฉบับญี่ปุ่น ความคิดไม่ได้มาจากข้างบนอย่างเดียว แต่มาจากการร่วมคิดร่วมทำของชาวบ้านก่อน แล้วจึงไปร่วมกับรัฐ 

ที่สำคัญ คนของเขาส่วนใหญ่คิดถึงส่วนรวมมากกว่าส่วนตัวครับ.

วันพุธที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2560

NCPO Order No. 40/2560 Re: Air Service Prohibition by Natthanicha Lefilibert

ORDER OF THE HEAD OF THE NATIONAL COUNCIL FOR PEACE AND ORDER
NO. 40/2560
RE: SUPPORTING MEASURES FOR THE EXECUTION OF AIR NAVIGATION TO BE IN ACCORDANCE WITH THE STANDARD OF THE INTERNATIONAL CIVIL AVIATION ORGANIZATION[1]
                       

                 The Civil Aviation Authority of Thailand has submitted the request for progress assessment in relation to significant safety concern (SSC) and recertification of air operator certificate (RE-AOC) to the International Civil Aviation Organization (ICAO) and it has notified an important condition that it shall not grant a permission to any air operator which has not passed the assessment not reissue a certificate for air operator which operates international air service from the 1st of September B.E. 2560 (2017) whereby the International Civil Aviation Organization notified the Civil Aviation Authority of Thailand that the ICAO Coordinated Validation Mission (ICVM) will conduct a progress assessment between the 20th of September B.E. 2560 (2017) and the 27th of September B.E. 2560 (2017). At present, it appears that there are a group of air operators that has not passed the assessment or obtained recertification of air operator certificate (RE-AOC), it is, therefore, necessary to provide powers to the Civil Aviation Authority of Thailand in prescribing that air operators that have not passed the assessment or obtained recertification of air operator certificate (RE-AOC) shall be prohibited from operating international air service for a period of time until the proceeding is complete. This is to ensure the compliance with the significant condition that the Civil Aviation Authority of Thailand has notified the International Civil Aviation Organization in conducting an assessment. The result of such assessment will significantly affect the traffic right and air service operation of Thailand which would negatively affect the credibility and economic security in air aviation of the country.

                       By virtue of section 265 of the Constitution of the Kingdom of Thailand in conjunction with section 44 of the Constitution of the Kingdom of Thailand (Interim) B.E. 2557, the Head of the National Council for Peace and Order, with the approval of the National Council for Peace and Order, hereby issues the Order as follows:

                        Clause 1. To ensure that the supervision and control of air aviation during the period of assessment for recertification of air operator certificate (RE-AOC) is in accordance with the significant condition notified by the Civil Aviation Authority of Thailand to the International Civil Aviation Organization, the Civil Aviation Authority of Thailand shall have the power to prescribe that air operators that have not passed the assessment or obtained recertification of air operator certificate (RE-AOC) shall be prohibited from operating international air service between the 1st of September B.E. 2560 (2017) and the 31st of January B.E. 2561 (2018).
                        Any violation or failure to comply with the prohibition under paragraph one shall be a violation or failure to comply with section 27 of the Air Navigation Act B.E. 2497 and the penalty provision under section 76(2) of the Air Navigation Act B.E. 2497 amended by the Air Navigation Act (No. 11) B.E. 2551 shall apply to such violation or non-compliance.

                        Clause 2. The Civil Aviation Authority of Thailand shall undertake an assessment and recertify air operator certificate promptly and shall ensure that they are in accordance with the standard prescribed by the International Civil Aviation Organization.

                        Clause 3. In the case where it deems appropriate, the Prime Minister or the Council of Ministers may propose to the National Council for Peace and Order to amend this Order.  

                     Clause 4. This Order shall come into force as from the date of its publication in the Government Gazette.
                  
                                                                  Given on the 13th B.E. 2560 (2017)

                                                                        General Prayut Chan-O-Cha

      Head of the National Council for Peace and Order




[1] © 2017 Natthanicha Lefilibert <aneksomboonphon.natthanicha@gmail.com>

วันอังคารที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2560

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โดย นายปกรณ์ นิลประพันธ์

โดยที่มาตรา 54 วรรคหก ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้จัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา และเพื่อเสริมสร้างและพัฒนาคุณภาพและประสิทธิภาพครู โดยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญใช้บังคับ หรือภายในวันที่ 6 เมษายน 2561

"คณะอนุกรรมการกองทุน" ใน "คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา" จึงได้ตั้ง "ตุ๊กตา" เกี่ยวกับการตั้งกองทุนที่ว่านี้ ซึ่งเบื้องต้นขอเรียกว่า "กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา" แล้วออกไปรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนเพื่อนำมาพิจารณาประกอบการจัดทำร่างกฎหมายในกรุงเทพฯ สุรินทร์ และร้อยเอ็ด

ผู้เขียนเห็นว่าเสียงสะท้อนที่ได้รับเป็นข้อมูลที่น่าสนใจ จึงนำมาเผยแพร่ให้ทราบทั่ว ๆ กันว่าพี่น้องประชาชนเขาคิดอย่างไรกับการปฏิรูปการศึกษาและกองทุนนี้


คำถามที่ 1 ความสำคัญของการจัดตั้งกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
  • การปฏิรูปการศึกษาเป็นเรื่องเร่งด่วนและสำคัญต่อประเทศชาติ อาจสำคัญกว่ารถไฟความเร็วสูงเสียอีก  
  • ควรจัดตั้งกองทุนให้โรงเรียนประจำตำบลทุกโรงเรียน และโรงเรียนที่อยู่ห่างไกลกันดารไม่สามารถยุบรวมได้ 
  • การให้เพียงทุนทรัพย์อย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ จําเป็นต้องมีกระบวนการพิเศษในการสร้างเสริมศักยภาพนักเรียนเหล่านี้ ตั้งแต่ระดับชั้นประถม มัธยมรวมถึงวิธีการคัดเลือกต่างจากนักเรียนที่มีโอกาสได้เข้าเรียนในสถาบันการศึกษา  
  • ทุนค่าเรียนอย่างเดียวอาจไม่พอจําเป็นต้องมีค่าเดินทางค่าอาหารค่าที่พักซึ่งผู้ปกครองของเด็กไม่สามารถจ่ายได้  
  • ควรมีกลไกลกำหนดให้ทีการชำระเงินคืนกองทุนอย่างชัดเจน 
  • สภาพความเป็นจริงของชนบทคือ ใจกลางเมืองเป็นเหมือนไข่เเดง ชนบทห่างไกลเหมือนไข่ขาว ขาดแคลน ครู ทรัพยากร  งบประมาณ ในการดูแลเด็กให้มีคุณภาพ ทุกคนวิ่งเข้าหาเมือง วิ่งหนีออกจากชนบทหมด

คำถามที่ 2 กลุ่มเป้าหมายของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา


   2.1 นักเรียนยากจน 
  •  เงินรายหัว 1,700 /ปีเงินเรียนฟรี 15 ปี แต่ละท้องถิ่นมีศักยภาพและทรัพยากรที่ไม่เพียงพอแตกต่างกัน ทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้่ำระหว่างท้องถิ่นที่มีและไม่มีทรัพยากรที่เพียงพอ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นพยายามสนับสนุนครูให้ครบถ้วนเพียงพอ แต่ก็ยังไม่ทั่ว
  • สมาพันธ์ครูเชียงใหม่ - แม้รัฐจะจัดสรรเงินรายหัวให้โดยเท่าเทียมกันทุกคนแล้วในปัจจุบัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว เด็กเยาวชนจำนวนมากยังไปโรงเรียนโดยไม่มีเครื่องแบบ รองเท้า อุปกรณ์การเรียน นอกจากนั้น สำหรับเด็ก ม.ต้น ก็ยังไม่มีอาหารกลางวันให้ทานอีก
  • เด็กนักเรียนวัดบึงทองหลาง - เงินที่รัฐให้ 500 บาทค่าเครื่องแบบ ซื้อกระโปรงได้ 2 ตัวก็หมดเงินแล้ว ไม่เหลือเงินไปซื้อเสื้อนักเรียน หรือเครืองแบบชุดพละไม่เหลือเงินไปซื้อหา เช่น เดียวกับเงินเรียนฟรีอื่นๆ ที่ไม่เพียงพอกับความจำเป็นจริง ๆ
  • เด็กควรเข้าถึงอุปกรณ์เทคโนโลยีที่สนับสนุนการเรียนรู้ เช่น Computer เพื่อใช้ในการสืบค้นและส่งงาน/การบ้าน
  • การให้เงินกองทุนแก่นักเรียนยากจนไม่ควรต้องให้ใช้คืนเพราะจะมีปัญหาเช่นเดียวกับ กยศ. เพราะนักเรียนเหล่านี้มีฐานะที่ยากจน นักเรียนเสนอให้ผู้ได้รับเงินกองทุนไปทำงานให้ ภาครัฐ หรือ ทำงานให้สาธารณะ เป็นการใช้คืนให้แก่สังคมแทนการคืนเป็นเงิน
  • การใช้คืนของผู้รับเงินจากกองทุนในอนาคต ผ่านการบริจาคเงินคืนกลับสู่กองทุน หรือการทำงานบริการสาธารณะหรือทำงานให้ภาครัฐเป็นจำนวนชั่วโมงที่กำหนดไว้ในเงื่อนไขของการรับเงินกองทุน/ทุนการศึกษา
  • ให้ทุนแก่เด็กเยาวชนที่ขาดแคลนได้เรียนในระดับสูงสุดเท่าที่เขาจะมีความสามารถเราเรียนได้ แต่ควรมีเงื่อนไขผลการเรียนประกอบการให้ทุนเรียนต่อในแต่ละระดับ เช่น ผลการเรียนประถมศึกษา(ป1-ป6) ม.ต้น(ม.1-ม.3) ม.ปลาย(ม.4-ม6) นอกจากนี้ หากศักยภาพด้านวิชาการของผู้รับทุนมีจำกัด เช่น เรียนได้แค่ม.ต้น ควรให้ทุนเขาได้ฝึกอาชีพระยะหนึ่ง เพื่อจะได้มีทักษะที่จะไปทำงานได้บ้าง
  • สนับสนุนเงินทุนและสิ่งจำเป็นในการศึกษาใหเด็กได้เข้าเรียน และพิจารณาตามกรณีของเด็กแต่ละคนที่มีฐานะทางครอบครัวแตกต่างกัน หากครอบครัวมีฐานะยากจนมาก  อาจต้องมีเงินทุนเพื่อช่วยเหลือครอบครัวของเด็กด้วย เพื่อให้เด็กไม่ถูกกดดันให้ออกจากโรงเรียนมาทำงานหาเลี้ยงครอบครัว
  • จัดสรรงบประมาณให้สถานศึกษาเพิ่มมากขึ้น  และจัดทุนการศึกษาให้นักเรียนกลุ่มนี้ได้เรียนรู้จนจบ ป.ตรี สำหรับนักเรียนที่ต้องการและมีความพร้อม ให้ทุนอุดหนุนตามความต้องการในการศึกษา ช่วยเหลือด้านงบประมาณ
  • ค่าใช้จ่าย  อุปกรณ์การเรียน  ที่อยู่อาศัย สนับสนุนค่าใช้จ่ายให้เพียงพอตามวัย เพื่อให้เข้าถึงการศึกษาอย่างมีคุณภาพ
  • ให้ความช่วยเหลือทั้งทุนการศึกษาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของครอบครัวไปพร้อมๆกัน
  • ให้ทุนการศึกษาในการเรียนและอุปกรณ์การเรียนต่างๆ ตามค่าใช้จ่ายพื้นฐาน ผ่านหน่วยงานรัฐ
 
 2.2 ครูและการเรียนการสอน
  • ควรพัฒนาครู /ระบบการเรียนการสอน/ และจัดหาอุปกรณ์การเรียนการสอนให้มากเพียงพอและทันสมัย 
  • ไม่สนับสนุนให้เรียนพิเศษตั้งแต่เด็กจนสอบ entrance เสนอให้ศึกษาเกี่ยวกับการเรียนการสอน On demand และ TRUE

คำถามที่ 3 กระบวนการรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติมจากผู้ที่เกี่ยวข้อง และการมีส่วนร่วม
  • ควรรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนที่ยากจนด้วย 1. ควรมีระบบข้อมูลเพื่อการคัดกรองเด็กยากจนที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งระบบติดตามผลของผู้รับทุนด้วย 2. การจัดสรรเงินจากกองทุนให้นักเรียนนั้น จะให้อย่างไร เช่น ให้โรงเรียน ให้ผู้ปกครอง ให้นักเรียนโดยตรง เป็นต้น 3. ระดับการศึกษาที่กองทุนฯ ควรสนับสนุนนั้น ในระยะแรกควรแค่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน(ถึงปวช.)ก่อน ส่วนอุดมศึกษาควรให้ใช้กองทุนกู้ยืมฯ ไปก่อน 
  • แนะนำให้ลงสำรวจสอบถามกับพ่อแม่ที่ลูกกำลังเรียนอยู่ในปัจจุบัน เช่น ไปหน้าสถาบันกวดวิชาที่มีผู้ปกครองรอรับ ลูก สุ่มสอบถามน่าจะได้ความคิดเห็นไอเดียดีๆ รวมไปถึงพ่อแม่ในต่างจังหวัดด้วย
  • ควรจัดเวทีรับฟังความเห็นให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่ม
  • สังคมไทยเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม ย่อมมีความแตกต่างในหลาย ๆ ประเด็น การเข้าถึงสภาพที่เป็นจริงในทุกพื้นที่ ของคณะกรรมการฯ ควรต้องดำเนินการให้ถึง เพื่อมาประมวลผล กำหนดแนวทางให้สอดคล้องกับวิถีวัฒนธรรมที่แตกต่างนั้น ๆ
  • ขอให้การปรับโครงสร้างกระทรวงศึกษาธิการ
  • ควรจัดให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนในการจัดตั้ง ทั้งภาครัฐ ส่วนกลาง ส่วนท้องถิ่นและเอกชน เข้ามามีส่วนร่วม

คำถามที่ 4 การใช้จ่ายเงินกองทุน การติดตาม การตรวจสอบ และความโปร่งใสในการบริหารกองทุน
  • เงินกองทุนควรให้แก่ผู้ที่มีสัญชาติไทย โดยเชื่อมโยงกับฐานข้อมูลการลงทะเบียนคนจน ในรูปแบบการให้สวัสดิการ การศึกษาแก่บุตรหลานของผู้ที่ลงทะเบียนในระบบ ซึ่งเป็นการคัดกรองระดับชาติ และเชื่อมโยงกับทุกระบบ ทั้งการศึกษา  สุขภาพ และการพัฒนามนุษย์
  • ต้องการให้กองทุนมีการบริหารงานด้วยความโปร่งใส มีคุณธรรม เพื่อเด็กและความเจริญของชาติบ้านเมือง
  • ไม่อยากให้มีคนที่มีอำนาจหรือบารมีมาทุจริตและโลภกับกองทุน ควรมีการป้องกันการทุจริตทุกขั้นตอน 
  • ควรมีระบบตรวจสอบผู้ที่จะได้รับความช่วยเหลืออย่างเข้มงวดว่าต้องเป็นผู้ที่เดือดร้อนจริง 
  • รัฐบาลจัดสรรเงินให้กองทุนประกอบกับการรับบริจาคจากผู้มีรายได้สูงเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่หรือจากภาษีบาป
  • การช่วยเหลือควรให้เป็นรูปสิ่งที่ไม่สามารถนำไปหาประโยชน์อย่างอื่นต่อได้ เช่น การให้ชุดนักเรียนแทนเงิน การจ่ายค่า เทอมให้แทนเงิน หรือเป็นคูปองทานอาหาร

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของข้อมูลที่พี่น้องประชาชน พ่อแม่ผู้ปกครอง ครูบาอาจารย์ และตัวนักเรียนเองได้สะท้อนออกมานะครับ แต่คณะอนุกรรมการกองทุนยังต้องการข้อมูลเพิ่มเติมอีกมากเพื่อนำมาประกอบการออกแบบกองทุนนี้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษาให้สมดังเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

เชิญชวนร่วมแสดงความคิดเห็นได้นะครับ ถึงตอนนี้ช่องทางออนไลน์เขายังทำไม่เสร็จ แต่ท่านสามารถส่งจดหมายแสดงความคิดเห็นมาได้ที่ "คณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูปการศึกษา" สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา เลขที่  99/20 ถนนสุโขทัย แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300 ครับ

ร่วมด้วยช่วยกันคนละไม่คนละมือนะครับ เพราะการศึกษาคืออนาคตของลูกหลานไทย



วันเสาร์ที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2560

เมื่อ ดร. มาลงทะเบียนคนจน โดย นายปกรณ์ นิลประพันธ์

ผู้เขียนเป็นคนตกใจง่าย ยิ่งมีข่าวเกี่ยวกับโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐแพล่ม ออกมา ผู้เขียนยิ่งตกใจใหญ่ เพราะตามข่าวนั้นปรากฏว่าในจำนวนผู้มาลงทะเบียนนั้นเป็นผู้มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาเอกถึง 698 คน ปริญญาโท  5,810  คน และปริญญาตรี  359,543 คน
บังเอิญข้อมูลนี้ยังไม่ละเอียดเพียงพอ เพราะไม่ได้ระบุว่ากลุ่มผู้มีการศึกษาระดับนี้ที่อยู่ในช่วงอายุ 20-60 ปี อันเป็นช่วงวัยทำงานสักเท่าไร จึงยังทำให้ผู้เขียนโลกสวยได้บ้าง

แต่ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่าคนกลุ่มนี้อยู่ในช่วงวัยทำงานเป็นส่วนใหญ่แล้วละก็ ผู้เขียนเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่มากมาย

ประการแรก ถ้าเป็นการลงทะเบียนแบบลักไก่ หรือลงเผื่อไว้ว่ารัฐจะตรวจสอบไม่ละเอียด มันแสดงให้เห็นถึงความบกพร่องทางจริยธรรมอย่างรุนแรง มีความรู้มากกว่าเขาแล้วยังจะมาเอาเปรียบคนด้อยโอกาสจริง อีก เรียกว่าขาดความละอายต่อบาป

ประการที่สอง ถ้าพวกเขาไม่ได้หวังจะลักไก่ ส่วนหนึ่งของตัวเลขนี้สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของระบบการศึกษาที่ผ่านมาได้อย่างชัดเจน เพราะไม่สามารถสร้างคนให้มีความสามารถในการทำงานอย่างหลากหลายได้มากมายถึงเกือบสี่แสนคน

ยิ่งระบบเศรษฐกิจเข้าสู่ยุคดิจิทัลเร็วมากขึ้นเท่าไร การจ้างงานแบบมนุษย์เงินเดือนที่มนุษย์ลุงอย่างผู้เขียนคุ้นเคยจะยิ่งลดน้อยลงในอัตราเร่งที่สูงขึ้น หากระบบการสร้างคนยังไม่สามารถปรับตัวให้รองรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ได้ ตัวเลขนี้มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในปีต่อ ไป แทนที่คนกลุ่มนี้จะเป็นพลังของชาติ ดันกลายมาเป็นภาระของรัฐไปเสียอย่างนั้น

ถ้าเป็นนักหมากฮอสเขาเรียกว่ารัฐต้องเสียสองต่อ ต่อแรกคือให้เรียนฟรียาว ๆ ไป ต่อที่สองคือเรียนจบแล้วกลับไม่มีความสามารถในการทำงาน และรัฐต้องเข้าไปดูแลทั้ง ๆ ที่ยังไม่ถึงวัยอันควร แล้วจะเอาเงินที่ไหนมาละนี่

ประการที่สาม มันแสดงให้เห็นว่าสังคมไทยยังมีทัศนคติเกี่ยวกับการศึกษาแบบดั้งเดิม คือให้ลูกหลานตะบี้ตะบันเรียนเพื่อให้ได้ปริญญาสูง ไว้ก่อน สาขาอะไรก็ได้ "เพื่อจะได้เป็นเจ้าคนนายคน" แต่จะไปทำมาหากินอะไรต่อไปไว้ค่อยว่ากัน ไม่ได้ส่งลูกส่งหลานไปหาความรู้เพื่อให้ไปทำมาหากินได้

น่าตกใจไหมล่ะครับ?

นี่ถ้าได้ข้อมูลลึกมากกว่านี้อีกสักหน่อยหนึ่งว่าปริญญาสาขาอะไรที่มาลงทะเบียนมากที่สุด และจากสถาบันอะไรบ้าง ผู้เขียนว่าจะเป็นประโยชน์ไม่น้อย เพราะอย่างน้อยรัฐบาลจะได้แก้ไขปัญหาเร่งด่วนได้ ซึ่งผู้เขียนเสนอว่ารัฐควรประกาศให้พี่น้องประชาชนทราบข้อมูลที่ว่านั้น และถ้าใครเสี่ยงเข้ามาเรียนสาขาที่ว่ามานี้อีกโดยไม่นับคนที่ลงทะเบียนเรียนอยู่แล้วรวมเข้าด้วย รัฐจะไม่ให้สิทธิ์ได้รับสวัสดิการแห่งรัฐ หรือถ้ากลัวเขาว่าใจดำ จะให้บางอย่างก็ได้   

ผู้เขียนเห็นว่ามาตรการเปิดเผยข้อมูลเช่นนี้จะทำให้ชาวบ้านมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจอย่างเพียงพอในการส่งลูกหลานเรียนต่อ โดยให้ไปเรียนสาขาอื่นที่ทำมาหากินได้ จะดีกว่ามุ่งเรียนเอาปริญญาสาขาที่ว่าไปแปะฝาบ้านแต่ไม่รู้จะทำอะไรกิน  

ส่วนระยะยาว เราคงต้องร่วมไม้ร่วมมือกัน "สร้าง" คนของเราให้สามารถเชี่ยวชาญได้ตามความถนัดและความชอบของแต่ละคน เพื่อให้เขามีความสามารถในการทำมาหากิน สามารถทำความฝันของตัวเองให้เป็นจริงขึ้นมาให้ได้ ไม่ใช่เรียนให้ผ่านไปวัน ๆ ตามหลักสูตรปลากระป๋องเพียงเพราะเรียนฟรีตามแนวคิดในการ "ผลิตคน" เพื่อป้อน "ตลาดแรงงาน"  หรือไม่ใช่แค่ผลิตคนทุก ๆ คนที่มีความถนัด ความชอบ หรือความฝันที่ต่างกันออกมาให้เหมือน ๆ กันเพื่อเป็นมนุษย์เงินเดือนเหมือนสี่สิบห้าสิบปีที่ผ่านมาอีกต่อไป 

ในทัศนะของผู้เขียน แนวคิดในการผลิตคนเพื่อป้อน "ตลาดแรงงาน" นั้นมันใช้ได้กับบ้านเมืองที่ใช้แรงงานเข้มข้นหรือไม่ก็โลกยุคโบราณเมื่อหลายสิบปีก่อนที่โลกยังไม่ได้กลายมาเป็นโลกไร้พรมแดนครับ เพราะความต้องการมันชัดเจน  แต่ในอนาคตนั้นตลาดแรงงานบ้านเราดูจะเป็นภาพที่เลือนลางมากก็เพราะการเติบโตอย่างไม่หยุดยั้งของเทคโนโลยีดิจิทัลนี่แหละ

อย่างธนาคารไง เมื่อก่อนคนทำงานแบงค์กันตรึม แต่พอมีโมบายแบงค์กิ้งเข้ามา แบงค์ก็ต้องปรับตัว เอาเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้นเพราะถูกกว่าจ้างคน ปัญหาก็น้อยกว่า เป็นต้น 

ดังนั้น "การสร้างคน" ให้ (1) มีความกระหายหรือความกระตือรือล้นที่จะเรียนรู้ หรือที่เขาเรียกกันทั่วโลกว่ามีทักษะที่จะเรียนรู้ตลอดชีวิต (2) มีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับความท้าทายใหม่  ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และ (3) มีความสามารถในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นที่มีความแตกต่างหลากหลาย จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้คนของเราปรับตัวให้เข้ากับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างเหมาะสม

โลกเปลี่ยนไปไกลมากแล้วครับ.