วันอังคารที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2559

"บทบาทของประชาชน" ตามร่างรัฐธรรมนูญฯ

นายปกรณ์ นิลประพันธ์
รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
เลขานุการคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ คนที่ ๑

[]                หากพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ได้รับความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียงข้างมากในการออกเสียงประชามติเมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๙ ที่ผ่านมาโดยละเอียด จะพบว่าร่างรัฐธรรมนูญฯนี้ แตกต่างจากรัฐธรรมนูญที่ผ่าน ๆ มาหลายประการ โดยหลักการสำคัญประการหนึ่งคือการรับรองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างกว้างขวาง กล่าวคือ นอกจากสิทธิและเสรีภาพสำคัญ ๆ ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นการเฉพาะแล้ว การใดที่มิได้ห้ามหรือจำกัดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะกระทำการนั้นได้ หรือกล่าวโดยสรุปได้ว่าอะไรที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายมิได้ห้ามไว้ พี่น้องประชาชนทำได้หมด (มาตรา ๒๕)

[]                นอกจากนี้ ร่างรัฐธรรมนูญฯนี้ยังกำหนดกรอบของกฎหมายที่จะตราขึ้นมาจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไว้ชัดเจนด้วย เพื่อมิให้มีการตรากฎหมายจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างพร่ำเพรื่อ โดยเมื่อร่างรัฐธรรมนูญฯนี้มีผลใช้บังคับ การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่หากรัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้ กฎหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ รวมทั้งต้องระบุเหตุผลความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย (มาตรา ๒๖) และก่อนที่จะมีการตรากฎหมายขึ้นใช้บังคับก็ต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณา ในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน  เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว รัฐพึงจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายทุกรอบระยะเวลาที่กำหนดโดยรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วย เพื่อพัฒนากฎหมายทุกฉบับให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย (มาตรา ๗๗)

[]                แต่หลักการสำคัญที่ผู้เขียนจะนำเสนอในบทความนี้เป็น “การเปลี่ยนแปลงบทบาทของพี่น้องประชาชน” จาก “บทบาทในเชิงรับ” เป็น “บทบาทในเชิงรุก” หรือเป็น Active Citizen

[]                คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ตระหนักดีว่าการบริหารประเทศไม่ใช่เรื่องของนักการเมืองและข้าราชการเท่านั้น หากแต่เป็นเรื่องของประชาชนทุกคนเพราะประเทศชาติเป็นของทุกคน และการบริหารประเทศไม่ได้มีผลเพียงแค่วันนี้พรุ่งนี้ ไม่ใช่เพียงแค่ปีนี้ปีหน้า GDP จะโตเท่าไร หากแต่มีผลไปถึงชีวิตความเป็นอยู่ของลูกไทยหลานไทยของเราในอนาคตอีกเป็นสิบเป็นร้อยปีข้างหน้า ดังนั้น พี่น้องประชาชนจึงต้องมีส่วนร่วมคิดร่วมทำในการนำพาประเทศของเราไปสู่ “เป้าหมายร่วมกัน” ของทุกคนด้วย ทุกภาคส่วนจะได้จับมือกันเดินไปข้างหน้าอย่างพร้อมเพรียงกันได้ และจะไม่มีใครถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง

[]                กรธ. พบว่าได้มีความพยายามที่จะผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นรูปธรรมมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญฯ ๒๕๔๐ โดยการบัญญัติว่าพี่น้องประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพอะไรบ้าง และมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมในเรื่องใดบ้าง ซึ่งรัฐธรรมนูญฯ ๒๕๕๐ ก็บัญญัติในแนวทางเดียวกัน และพี่น้องประชาชนตื่นรู้ในสิทธิดังกล่าวมากขึ้น แต่ในห้วงเวลาที่ผ่านมานั้น เราพบว่ามีผลผลิต (output) อันเกิดจากบทบัญญัติที่รับรองสิทธิและเสรีภาพที่จะมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการขอเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นหรือเข้าร่วมทำกิจการต่าง ๆ แต่ผลลัพธ์ (outcome) ที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นไปตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญฯทั้งสองฉบับ กล่าวคือ สิ่งที่พี่น้องประชาชนแสดงความคิดเห็นถูกละเลยไป หรือมิได้มีการนำเข้าสู่พิจารณาในกระบวนการบริหารหรือทางนิติบัญญัติ ประชาชนจึงขาดความเชื่อมั่นหรือความศรัทธาในอำนาจรัฐ (Trust in Government) และนำมาซึ่งปัญหาระหว่างผู้ใช้อำนาจรัฐกับประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อรัฐคิดจะทำสิ่งใด ประชาชนจึงไม่เชื่อไว้ก่อน อันทำให้เกิดปัญหาในการบริหารรราชการแผ่นดิน กล่าวได้ว่า ประชาชน Active แล้ว แต่รัฐยังไม่ Active

[]                ดังนั้น ลำพังการรับรองว่าพี่น้องประชาชนมีสิทธิที่จะมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดบ้าง หรือกระทำการใดบ้างนั้นตามที่เคยบัญญัติมาแต่เดิมในรัฐธรรมนูญฯฉบับก่อน ๆ นั้นจึงยังไม่พอเพียงที่จะทำให้พี่น้องประชาชนเป็น Active Citizen ได้อย่างแท้จริง ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาในการดำเนินการของภาครัฐได้  กรธ. เห็นว่าจำเป็นต้องมีการกำหนดให้เป็น “หน้าที่” ของรัฐที่จะต้อง “รับฟัง” ความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะต่าง ๆ ของพี่น้องประชาชน ต้องนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของพี่น้องประชาชน “มาประกอบพิจารณา” ถึงผลดีผลเสีย การให้พี่น้องประชาชนได้รับประโยชน์ในการดำเนินการต่าง ๆ อย่างเป็นธรรม มีมาตรการป้องกัน แก้ไข หรือเยียวยาผลกระทบต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นอย่างเหมาะสม รวมทั้งต้องให้พี่น้องประชาชนในฐานะที่เป็นหุ้นส่วนร่วมกันของประเทศได้มี “ส่วนร่วม” ในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาประเทศไปพร้อมกันด้วย หากไม่กำหนดให้เป็นหน้าที่ของรัฐโดยชัดแจ้ง อาจเกิดกรณีเพิกเฉยขึ้นอีกได้ และทำให้เกิดปัญหาเดิม ๆ ตามมา

[]                เมื่อเป็นเช่นนี้ ในเรื่องที่มีผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน เช่น การจะกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนในสังคมต้องเห็นดีเห็นงามร่วมกันเพื่อจับมือเดินไปในทางเดียวกันเพื่อลูกหลานในอนาคตนั้นต้องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึง (มาตรา ๖๕) หรือเมื่อมีกรณีที่พี่น้องประชาชนเข้าชื่อกันเพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการใดอันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนหรือชุมชน หรืองดเว้นการดำเนินการใดอันจะกระทบต่อความเป็นอยู่อย่างสงบสุขของประชาชนหรือชุมชน หน่วยงานของรัฐต้องพิจารณาข้อเสนอแนะนั้นโดยให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการพิจารณาด้วย และมีหน้าที่แจ้งผลการพิจารณาให้พี่น้องประชาชนทราบโดยรวดเร็ว (มาตรา ๔๓ (๓)) หรือการดำเนินการของรัฐหรือที่รัฐจะอนุมัติอนุญาตให้ดำเนินการหากอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชนหรือสิ่งแวดล้อม รัฐต้องดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการหรืออนุญาตตามที่กฎหมายบัญญัติ (มาตรา ๕๘) เป็นต้น

[]                ทั้งนี้ กรธ. บัญญัติหลักการสำคัญไว้ในมาตรา ๗๘ ว่ารัฐพึงส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ การจัดทำบริการสาธารณะทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมตลอดทั้งการตัดสินใจทางการเมือง และการอื่นใดบรรดาที่อาจมีผลกระทบต่อประชาชนหรือชุมชน ส่วนในระดับท้องถิ่นนั้นมาตรา ๒๕๓ บัญญัติว่าในการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่นต้องเปิดเผยข้อมูลและรายงานผลการดำเนินงานให้ประชาชนทราบ รวมตลอดทั้งมีกลไกให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมด้วย

[]                อย่างไรก็ดี การมีส่วนร่วมและการแสดงความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนนั้นต้องอยู่บนพื้นฐานของการเคารพและไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น และไม่กระทำการใดที่อาจก่อให้เกิดความแตกแยกหรือเกลียดชังในสังคม ซึ่งเป็นหน้าที่ของปวงชนชาวไทย (มาตรา ๕๐ (๖)) เพราะการใช้สิทธิและเสรีภาพโดยปราศจากความรับผิดชอบต่อผู้อื่นหรือต่อสังคมส่วนรวมนั้นมิใช่วิถีทางของประชาธิปไตย ทั้งยังเป็นอันตรายต่อความเป็นอยู่ของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันเป็นประมุขด้วย

[๑๐]              ท้ายนี้ ผู้เขียนขอย้ำว่า สิทธิในการแสดงความคิดเห็นนั้น ไม่ใช่การสักแต่พูด แต่ต้องพูดอย่างมีเหตุผล และมันมาคู่กับหน้าที่โดยปริยายที่จะต้องยอมรับฟังในความเห็นที่แตกต่าง หากแสดงความคิดเห็นโดยไม่ยอมรับฟังในความคิดเห็นที่แตกต่างนั้นไม่ใช่ประชาธิปไตยแล้ว


ภาคผนวก
บทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับ
การรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชน

การรับฟังความคิดเห็น

                   มาตรา ๕๘  การดำเนินการใดของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้ผู้ใดดำเนินการ ถ้าการนั้นอาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง รัฐต้องดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการหรืออนุญาตตามที่กฎหมายบัญญัติ
                   บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยงานของรัฐก่อนการดำเนินการหรืออนุญาตตามวรรคหนึ่ง
                   ในการดำเนินการหรืออนุญาตตามวรรคหนึ่ง รัฐต้องระมัดระวังให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ชุมชน สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพน้อยที่สุด และต้องดำเนินการให้มีการเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหายให้แก่ประชาชนหรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรมและโดยไม่ชักช้า

                   มาตรา ๖๕  รัฐพึงจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาลเพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนต่าง ๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการกันเพื่อให้เกิดเป็นพลังผลักดันร่วมกันไปสู่เป้าหมายดังกล่าว
                   การจัดทำ การกำหนดเป้าหมาย ระยะเวลาที่จะบรรลุเป้าหมาย และสาระที่พึงมีในยุทธศาสตร์ชาติ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ  ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึงด้วย
                   ยุทธศาสตร์ชาติ เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

                    มาตรา ๗๗  รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน และดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงตัวบทกฎหมายต่าง ๆ ได้โดยสะดวกและสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่ายเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง
                   ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน  เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว รัฐพึงจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายทุกรอบระยะเวลาที่กำหนดโดยรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วย เพื่อพัฒนากฎหมายทุกฉบับให้สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทต่าง ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป
                   รัฐพึงใช้ระบบอนุญาตและระบบคณะกรรมการในกฎหมายเฉพาะกรณีที่จำเป็น พึงกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐและระยะเวลาในการดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายให้ชัดเจน และพึงกำหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง


การมีส่วนร่วมของประชาชน

                   มาตรา ๔๓  บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิ
                   (๑) อนุรักษ์ ฟื้นฟู หรือส่งเสริมภูมิปัญญา ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีอันดีงามทั้งของท้องถิ่นและของชาติ
                   (๒) จัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืนตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ
                   (๓) เข้าชื่อกันเพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการใดอันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนหรือชุมชน หรืองดเว้นการดำเนินการใดอันจะกระทบต่อความเป็นอยู่อย่างสงบสุขของประชาชนหรือชุมชน และได้รับแจ้งผลการพิจารณาโดยรวดเร็ว  ทั้งนี้ หน่วยงานของรัฐต้องพิจารณาข้อเสนอแนะนั้นโดยให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการพิจารณาด้วยตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ[๑]
                   (๔) จัดให้มีระบบสวัสดิการของชุมชน
                   สิทธิของบุคคลและชุมชนตามวรรคหนึ่ง หมายความรวมถึงสิทธิที่จะร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือรัฐในการดำเนินการดังกล่าวด้วย

                    มาตรา ๔๕  บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันจัดตั้งพรรคการเมืองตามวิถีทาง
การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามที่กฎหมายบัญญัติ
                   กฎหมายตามวรรคหนึ่งอย่างน้อยต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารพรรคการเมืองซึ่งต้องกำหนดให้เป็นไปโดยเปิดเผยและตรวจสอบได้ เปิดโอกาสให้สมาชิกมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในการกำหนดนโยบายและการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง และกำหนดมาตรการให้สามารถดำเนินการโดยอิสระไม่ถูกครอบงำหรือชี้นำโดยบุคคลซึ่งมิได้เป็นสมาชิกของพรรคการเมืองนั้น รวมทั้งมาตรการกำกับดูแลมิให้สมาชิกของพรรคการเมืองกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง

                   มาตรา ๕๔  รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาเป็นเวลาสิบสองปีตั้งแต่ก่อนวัยเรียนจนจบการศึกษาภาคบังคับอย่างมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย
                   รัฐต้องดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาตามวรรคหนึ่ง เพื่อพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัย โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชนเข้ามีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย
                   รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการในระบบต่าง ๆ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต และจัดให้มีการร่วมมือกันระหว่างรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคเอกชนในการจัดการศึกษาทุกระดับ โดยรัฐมีหน้าที่ดำเนินการ กำกับ ส่งเสริม และสนับสนุนให้การจัดการศึกษาดังกล่าวมีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล  ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติซึ่งอย่างน้อยต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ และการดำเนินการและตรวจสอบการดำเนินการให้เป็นไปตามแผนการศึกษาแห่งชาติด้วย
                   การศึกษาทั้งปวงต้องมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ สามารถเชี่ยวชาญได้ตามความถนัดของตน และมีความรับผิดชอบต่อครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ

                   มาตรา ๕๗  รัฐต้อง
                   (๑) อนุรักษ์ ฟื้นฟู และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นและของชาติ และจัดให้มีพื้นที่สาธารณะสำหรับกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชน ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ใช้สิทธิและมีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย
                   (๒) อนุรักษ์ คุ้มครอง บำรุงรักษา ฟื้นฟู บริหารจัดการ และใช้หรือจัดให้มีการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ ให้เกิดประโยชน์อย่างสมดุลและยั่งยืน โดยต้องให้ประชาชนและชุมชนในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมดำเนินการและได้รับประโยชน์จากการดำเนินการดังกล่าวด้วยตามที่กฎหมายบัญญัติ

                   มาตรา ๖๓  รัฐต้องส่งเสริม สนับสนุน และให้ความรู้แก่ประชาชนถึงอันตราย
ที่เกิดจากการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน และจัดให้มีมาตรการและกลไก
ที่มีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันและขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบดังกล่าวอย่างเข้มงวด รวมทั้ง
กลไกในการส่งเสริมให้ประชาชนรวมตัวกันเพื่อมีส่วนร่วมในการรณรงค์ให้ความรู้ ต่อต้าน
หรือชี้เบาะแส โดยได้รับความคุ้มครองจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ

                   มาตรา ๖๕  รัฐพึงจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาลเพื่อใช้เป็นกรอบในการจัดทำแผนต่าง ๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการกันเพื่อให้เกิดเป็นพลังผลักดันร่วมกันไปสู่เป้าหมายดังกล่าว
                   การจัดทำ การกำหนดเป้าหมาย ระยะเวลาที่จะบรรลุเป้าหมาย และสาระที่พึงมีในยุทธศาสตร์ชาติ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ  ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึงด้วย
                   ยุทธศาสตร์ชาติ เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้

                   มาตรา ๖๗  รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น
                   ในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทย
ส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาทเพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด และพึงส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วมในการดำเนินมาตรการหรือกลไกดังกล่าวด้วย

                   มาตรา ๗๘  รัฐพึงส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ การจัดทำบริการสาธารณะทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ รวมตลอดทั้งการตัดสินใจทางการเมือง และการอื่นใดบรรดาที่อาจมีผลกระทบต่อประชาชนหรือชุมชน

                   มาตรา ๑๗๘  พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่นกับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ
                   หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา และหนังสือสัญญาอื่นที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้าหรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวาง ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา  ในการนี้ รัฐสภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง หากรัฐสภาพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบ
                   หนังสือสัญญาอื่นที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้าหรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวางตามวรรคสอง ได้แก่ หนังสือสัญญาเกี่ยวกับการค้าเสรี เขตศุลกากรร่วม หรือการให้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ หรือทำให้ประเทศต้องสูญเสียสิทธิในทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมดหรือบางส่วน หรือหนังสือสัญญาอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ
                   ให้มีกฎหมายกำหนดวิธีการที่ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและได้รับการเยียวยาที่จำเป็นอันเกิดจากผลกระทบของการทำหนังสือสัญญาตามวรรคสามด้วย
                   เมื่อมีปัญหาว่าหนังสือสัญญาใดเป็นกรณีตามวรรคสองหรือวรรคสามหรือไม่ คณะรัฐมนตรีจะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็ได้  ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ

                   มาตรา ๒๕๒  สมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง
                   ผู้บริหารท้องถิ่นให้มาจากการเลือกตั้งหรือมาจากความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น หรือในกรณีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ จะให้มาโดยวิธีอื่นก็ได้ แต่ต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
                   คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้งและผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติซึ่งต้องคำนึงถึงเจตนารมณ์ในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตตามแนวทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย

                   มาตรา ๒๕๓  ในการดำเนินงาน ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่นเปิดเผยข้อมูลและรายงานผลการดำเนินงานให้ประชาชนทราบ รวมตลอดทั้งมีกลไกให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมด้วย  ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ

                   มาตรา ๒๕๗  การปฏิรูปประเทศตามหมวดนี้ต้องดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมาย ดังต่อไปนี้
                   (๑) ประเทศชาติมีความสงบเรียบร้อย มีความสามัคคีปรองดอง มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และมีความสมดุลระหว่างการพัฒนาด้านวัตถุกับการพัฒนาด้านจิตใจ
                   (๒) สังคมมีความสงบสุข เป็นธรรม และมีโอกาสอันทัดเทียมกันเพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำ
                   (๓) ประชาชนมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

                   มาตรา ๒๕๘[๒]  ให้ดำเนินการปฏิรูปประเทศอย่างน้อยในด้านต่าง ๆ ให้เกิดผล ดังต่อไปนี้
                   ก. ด้านการเมือง
                       (๑) ให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองรวมตลอดทั้งการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ รู้จักยอมรับในความเห็นทางการเมืองโดยสุจริตที่แตกต่างกัน และให้ประชาชนใช้สิทธิเลือกตั้งและออกเสียงประชามติโดยอิสระ ปราศจากการครอบงำไม่ว่าด้วยทางใด
                       (๒) ให้การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองเป็นไปโดยเปิดเผยและตรวจสอบได้ เพื่อให้พรรคการเมืองพัฒนาเป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชนซึ่งมีอุดมการณ์ทางการเมืองร่วมกัน มีกระบวนการให้สมาชิกพรรคการเมืองมีส่วนร่วมและมีความรับผิดชอบอย่างแท้จริงในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองและการคัดเลือกผู้มีความรู้ความสามารถ ซื่อสัตย์สุจริต และมีคุณธรรมจริยธรรม เข้ามาเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม
                       (๓) มีกลไกที่กำหนดความรับผิดชอบของพรรคการเมืองในการประกาศโฆษณานโยบายที่มิได้วิเคราะห์ผลกระทบ ความคุ้มค่า และความเสี่ยงอย่างรอบด้าน
                       (๔) มีกลไกที่กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และรับผิดชอบต่อประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่ของตน
                       (๕) มีกลไกแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองโดยสันติวิธีภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
                   ข. ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน
                       (๑) ให้มีการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาประยุกต์ใช้ในการบริหารราชการแผ่นดินและการจัดทำบริการสาธารณะ เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดิน และเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน
                       (๒) ให้มีการบูรณาการฐานข้อมูลของหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานเข้าด้วยกันเพื่อให้เป็นระบบข้อมูลเพื่อการบริหารราชการแผ่นดินและการบริการประชาชน
                       (๓) ให้มีการปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างและระบบการบริหารงานของรัฐและแผนกำลังคนภาครัฐให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ ๆ โดยต้องดำเนินการให้เหมาะสมกับภารกิจของหน่วยงานของรัฐแต่ละหน่วยงานที่แตกต่างกัน
                       (๔) ให้มีการปรับปรุงและพัฒนาการบริหารงานบุคคลภาครัฐเพื่อจูงใจให้ผู้มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริงเข้ามาทำงานในหน่วยงานของรัฐ และสามารถเจริญก้าวหน้าได้ตามความสามารถและผลสัมฤทธิ์ของงานของแต่ละบุคคล มีความซื่อสัตย์สุจริต กล้าตัดสินใจและกระทำในสิ่งที่ถูกต้อง โดยคิดถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว มีความคิดสร้างสรรค์และคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อให้การปฏิบัติราชการและการบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมีมาตรการคุ้มครองป้องกันบุคลากรภาครัฐจากการใช้อำนาจโดยไม่เป็นธรรมของผู้บังคับบัญชา
                       (๕) ให้มีการปรับปรุงระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้มีความคล่องตัว เปิดเผย ตรวจสอบได้ และมีกลไกในการป้องกันการทุจริตทุกขั้นตอน
                   ค. ด้านกฎหมาย
                       (๑) มีกลไกให้ดำเนินการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับต่าง ๆ ที่ใช้บังคับอยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ให้สอดคล้องกับหลักการตามมาตรา ๗๗ และพัฒนาให้สอดคล้องกับหลักสากล โดยให้มีการใช้ระบบอนุญาตและระบบการดำเนินการโดยคณะกรรมการเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อให้การทำงานเกิดความคล่องตัว โดยมีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจน และไม่สร้างภาระแก่ประชาชนเกินความจำเป็น เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ
                       (๒) ปฏิรูประบบการเรียนการสอนและการศึกษาอบรมวิชากฎหมายเพื่อพัฒนา
ผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายให้เป็นผู้มีความรอบรู้ มีนิติทัศนะ และยึดมั่นในคุณธรรมและจริยธรรมของนักกฎหมาย
                       (๓) พัฒนาระบบฐานข้อมูลกฎหมายของรัฐโดยใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลกฎหมายได้สะดวก และสามารถเข้าใจเนื้อหาสาระของกฎหมายได้ง่าย
                       (๔) จัดให้มีกลไกช่วยเหลือประชาชนในการจัดทำและเสนอร่างกฎหมาย
                   ง. ด้านกระบวนการยุติธรรม
                       (๑) ให้มีการกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมที่ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมโดยไม่ล่าช้า และมีกลไกช่วยเหลือประชาชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ รวมตลอดทั้งการสร้างกลไกเพื่อให้มีการบังคับการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในสังคม
                       (๒) ปรับปรุงระบบการสอบสวนคดีอาญาให้มีการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการอย่างเหมาะสม กำหนดระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายให้ชัดเจนเพื่อมิให้คดีขาดอายุความ และสร้างความเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการในการสอบสวนคดีอาญา รวมทั้งกำหนดให้การสอบสวนต้องใช้ประโยชน์จากนิติวิทยาศาสตร์ และจัดให้มีบริการทางด้านนิติวิทยาศาสตร์มากกว่าหนึ่งหน่วยงานที่มีอิสระจากกัน เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างมีทางเลือก
                       (๓) เสริมสร้างและพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรขององค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรม ให้มุ่งอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนโดยสะดวกและรวดเร็ว
                       (๔) ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับหน้าที่ อำนาจ และภารกิจของตำรวจให้เหมาะสม และแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลของข้าราชการตำรวจให้เกิดประสิทธิภาพ มีหลักประกันว่าข้าราชการตำรวจจะได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม ได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้ง และโยกย้าย และการพิจารณาบำเหน็จความชอบตามระบบคุณธรรมที่ชัดเจน ซึ่งในการพิจารณาแต่งตั้งและโยกย้ายต้องคำนึงถึงอาวุโสและความรู้ความสามารถประกอบกัน เพื่อให้ข้าราชการตำรวจสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีอิสระ ไม่ตกอยู่ใต้อาณัติของบุคคลใด มีประสิทธิภาพ และภาคภูมิใจในการปฏิบัติหน้าที่ของตน 
                   จ. ด้านการศึกษา
                       (๑) ให้สามารถเริ่มดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษาตามมาตรา ๕๔ วรรคสอง เพื่อให้เด็กเล็กได้รับการพัฒนาร่างกาย จิตใจ วินัย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาให้สมกับวัยโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย
                       (๒) ให้ดำเนินการตรากฎหมายเพื่อจัดตั้งกองทุนตามมาตรา ๕๔ วรรคหก ให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้
                       (๓) ให้มีกลไกและระบบการผลิต คัดกรองและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครูและอาจารย์ให้ได้ผู้มีจิตวิญญาณของความเป็นครู มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริง ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับความสามารถและประสิทธิภาพในการสอน รวมทั้งมีกลไกสร้างระบบคุณธรรมในการบริหารงานบุคคลของผู้ประกอบวิชาชีพครู
                        (๔) ปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนทุกระดับเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตามความถนัด และปรับปรุงโครงสร้างของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวโดยสอดคล้องกันทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่
                   ฉ. ด้านเศรษฐกิจ
                       (๑) ขจัดอุปสรรคและเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพื่อให้ประเทศชาติและประชาชนได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมกลุ่มเศรษฐกิจต่าง ๆ อย่างยั่งยืน โดยมีภูมิคุ้มกันที่ดี
                       (๒) สร้างกลไกเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการนำความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
                       (๓) ปรับปรุงระบบภาษีอากรให้มีความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มพูนรายได้ของรัฐด้านต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ และปรับปรุงระบบการจัดทำและการใช้จ่ายงบประมาณให้มีประสิทธิภาพและสัมฤทธิผล
                       (๔) สร้างกลไกเพื่อส่งเสริมสหกรณ์และผู้ประกอบการแต่ละขนาดให้มีความสามารถในการแข่งขันอย่างเหมาะสม และส่งเสริมการประกอบวิสาหกิจเพื่อสังคม และวิสาหกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสร้างกลไกเพิ่มโอกาสในการทำงานและการประกอบอาชีพของประชาชน
                   ช. ด้านอื่น ๆ
                       (๑) ให้มีระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่มีประสิทธิภาพ เป็นธรรมและยั่งยืน โดยคำนึงถึงความต้องการใช้น้ำในทุกมิติ รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศประกอบกัน
                       (๒) จัดให้มีการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม รวมทั้งการตรวจสอบกรรมสิทธิ์และการถือครองที่ดินทั้งประเทศเพื่อแก้ไขปัญหากรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครองที่ดินอย่างเป็นระบบ
                       (๓) จัดให้มีระบบจัดการและกำจัดขยะมูลฝอยที่มีประสิทธิภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ด้านอื่น ๆ ได้
                       (๔) ปรับระบบหลักประกันสุขภาพให้ประชาชนได้รับสิทธิและประโยชน์จากการบริหารจัดการ และการเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพและสะดวกทัดเทียมกัน
                       (๕) ให้มีระบบการแพทย์ปฐมภูมิที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวดูแลประชาชน
ในสัดส่วนที่เหมาะสม

                  มาตรา ๒๕๙  ภายใต้บังคับมาตรา ๒๖๐ และมาตรา ๒๖๑ การปฏิรูปประเทศตามหมวดนี้ ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ ซึ่งอย่างน้อยต้องมีวิธีการจัดทำแผน การมีส่วนร่วมของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขั้นตอนในการดำเนินการปฏิรูปประเทศ การวัดผลการดำเนินการ และระยะเวลาดำเนินการปฏิรูปประเทศทุกด้าน ซึ่งต้องกำหนดให้เริ่มดำเนินการปฏิรูปในแต่ละด้านภายในหนึ่งปีนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้รวมตลอดทั้งผลสัมฤทธิ์ที่คาดหวังว่าจะบรรลุในระยะเวลาห้าปี
                   ให้ดำเนินการตรากฎหมายตามวรรคหนึ่ง และประกาศใช้บังคับภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้
                   ในระหว่างที่กฎหมายตามวรรคหนึ่งยังไม่มีผลใช้บังคับ ให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการปฏิรูปโดยอาศัยหน้าที่และอำนาจที่มีอยู่แล้วไปพลางก่อน

                  






          [๑]มาตรา ๒๕  สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย นอกจากที่บัญญัติคุ้มครองไว้เป็นการเฉพาะในรัฐธรรมนูญแล้ว การใดที่มิได้ห้ามหรือจำกัดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือในกฎหมายอื่น บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะทำการนั้นได้และได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ตราบเท่าที่การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเช่นว่านั้นไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น
            สิทธิหรือเสรีภาพใดที่รัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ หรือให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ แม้ยังไม่มีการตรากฎหมายนั้นขึ้นใช้บังคับ บุคคลหรือชุมชนย่อมสามารถใช้สิทธิหรือเสรีภาพนั้นได้ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
            บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ สามารถยกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญเพื่อใช้สิทธิทางศาลหรือยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีในศาลได้
            บุคคลซึ่งได้รับความเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพหรือจากการกระทำความผิดอาญาของบุคคลอื่น ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาหรือช่วยเหลือจากรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ

           [๒]มาตรา ๒๕๘ อยู่ภายใต้บังคับมาตรา ๒๕๗ ที่กำหนดเป้าหมายการปฏิรูป 

วันพุธที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

"ความคุ้มค่า" ของการทำงานในระบบ "คณะกรรมการ": ตัวอย่างการวิเคราะห์ RIA โดยนายปกรณ์ นิลประพันธ์

ถ้าท่านผู้อ่านลองสังเกตดูจะพบว่าประเทศไทยเรานี้เป็นประเทศที่อุดมไปด้วยองค์กรกลุ่มที่เราเรียกกันจนชินว่าคณะกรรมการ อนุกรรมการ และคณะทำงานต่าง ๆ เต็มไปหมด บางที่ก็เรียกองค์กรกลุ่มเหล่านี้ว่าสภานั่นสภานี่แทนการเรียกว่าคณะกรรมการก็มี ซึ่งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ คณะทำงาน และสภาเหล่านี้ถูกจัดตั้งในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งตามกฎหมาย ระเบียบ หรือคำสั่งภายในต่าง ๆ

เพื่อความสะดวกในการเขียนบทความนี้ ผู้เขียนขอใช้คำว่า "คณะกรรมการ" ในการเรียกองค์กรกลุ่มเหล่านี้ก็แล้วกันนะครับ จะได้ไม่ต้องจาระไนให้ยืดยาว

ทำไมเราต้องมีคณะกรรมการอะไรต่าง ๆ เยอะแยะขนาดนี้ บางเรื่องมีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงอยู่แล้ว ทำไมยังต้องมีคณะกรรมการในเรื่องทำนองเดียวกันขึ้นอีก หรือว่าการทำงานแบบคณะกรรมการ "มีประสิทธิภาพมากกว่า" การมอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเป็นผู้ดำเนินงาน? เคยสงสัยไหมครับว่าการทำงานแบบคณะกรรมการ "คุ้มค่า" หรือไม่?


โดยหลักแล้วการทำงานในลักษณะองค์กรกลุ่มนี้มีความจำเป็นสำหรับงานที่ต้องการ "การปรึกษาหารือ" ของผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ เพื่อให้การคิดการทำงานมีความละเอียดรอบคอบ มองอะไรรอบด้าน หรือการทำงานที่ต้องการ "การประสานความร่วมมือ" ของหน่วยงานที่รับผิดชอบที่มีภารกิจแตกต่างกันไป เพื่อให้การทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกันและมุ่งไปสู้เป้าหมายเดียวกัน เป็นระบบระเบียบ โดยจับผู้แทนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาคุยกันเสียให้รู้เรื่องรู้ราวก่อน นั่นคือข้อดีของการทำงานในรูปของคณะกรรมการ ทั้งนี้ ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าคุยกันแล้วต้องเอาไปทำตามที่ตกลงกันไว้นะ ไม่ใช่ตกลงกันอย่าง แต่ยังต่างคนต่างทำเหมือนเดิม

แต่เหรียญมีสองด้านนะครับ การทำงานแบบคณะกรรมการนี้มีต้นทุนค่อนข้างสูง เพราะต้องมีการเรียกประชุม ต้องมีค่าใช้จ่ายในการประชุม ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดการประชุม เช่น น้ำร้อนน้ำชา ค่าใช้จ่ายในการจัดทำเอกสารการประชุม ค่าเบี้ยประชุม  ค่าส่งหนังสือเชิญประชุมและเอกสารการประชุม ฯลฯ ทั้งยังต้องเสียเวลาอีกด้วยเพราะเรามีแบบธรรมเนียมว่าทุกคนต้องมาประชุมร่วมกันในที่ใดที่หนึ่งโดยพร้อมเพรียงกัน ผู้มาประชุมก็ต้องเสียเวลาทำงานไปอย่างน้อย ๆ ก็สามชั่วโมง แถมยังต้องเสียค่าน้ำมันและค่าเดินทางมาประชุมด้วย เมื่อประชุมเสร็จก็ต้องเดินทางกลับ ซึ่งต้องใช้ทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายมิใช่น้อย  ดังนั้น การมีคณะกรรมการจำนวนมหาศาลจึงมีต้นทุนในการจัดประชุม "สูงมาก"

นอกจากนี้ โดยที่การทำงานแบบคณะกรรมการต้องมีการประชุมร่วมกัน บางทีกว่าจะนัดประชุมได้ก็เสียเวลาไปเยอะแยะ ยิ่งคณะกรรมการที่ประกอบด้วยกรรมการชั้นยอดหรือตำแหน่งสูง ๆ ยิ่งนัดยากใหญ่เพราะแต่ละท่านต่างมีภารกิจเยอะแยะทั้งสิ้น การทำงานแบบคณะกรรมการจึงเต็มไปด้วยความล่าช้า  และถ้าเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง หลายตำแหน่งต้องส่งเด็ก ๆ ที่ไม่สามารถตัดสินใจทางนโยบายได้มาประชุมแทนเยอะไป เพราะบางตำแหน่งนั้นเป็นกรรมการในคณะกรรมการหลายร้อยคณะกรรมการเหลือเกิน เมื่อส่งเด็ก ๆ มา แทนที่จะได้งานหรือตกลงอะไรกันได้ กลับตกลงกันไม่ได้เสียอีก เพราะเด็ก ๆ ก็มักจะ "รับไปหารือผู้บังคับบัญชา" หรือไม่ก็ "ขอไปรายงานท่านก่อน" งานจึงยิ่งช้าไปกันใหญ่

ดังนั้น ยิ่งมีคณะกรรมการมากเท่่าไร การทำงานจึงยิ่งช้าและมีต้นทุนสูงมากขึ้นเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ "ความคุ้มค่า" ของการมีคณะกรรมการก็จะยิ่งลดน้อยลง

ที่ผู้เขียนนำเสนอนี้มิได้มุ่งหมายให้เลิกใช้ระบบคณะกรรมการ เพียงแต่ประสงค์ให้มีการใช้ระบบคณะกรรมการเพียงเท่าที่จำเป็นจริง ๆ คือมีแล้วใช้ให้คุ้มค่า ไม่ใช่เอะอะก็ต้องมีคณะกรรมการ ร่างกฎหมายก็ไม่จำเป็นต้องมีคณะกรรมการทุกร่างไปเพราะที่ไปลอก ๆ กันมาเขามีคณะกรรมการกันทุกฉบับ อันนี้ต้องคิดให้มากนะครับ มันไม่ใช่สักแต่ว่าเอาง่าย ๆ เพราะมันเป็น "แบบ" หรือถ้ามีหน่วยงานอื่นมาร่วมเป็นกรรมการในคณะกรรมการของหน่วยงานเราแล้ว เรื่องการของบประมาณหรือเริื่องอะไรจะได้ราบรื่น นักร่างกฎหมายรุ่นเก่าแก่เขาไม่ได้คิดแบบนี้นะครับ ผมได้รับการอบรมสอนสั่งมาว่าให้คิดถึงความคุ้มค่าเป็นหลัก การตั้งคณะกรรมการมันเป็นภาระงบประมาณและสิ้นเปลืองเวลาทำงาน ถ้าไม่ได้ประโยชน์อะไรมากนักก็ไม่จำเป็นต้องมีคณะกรรมการหรอก เอาเงินไปทำประโยชน์อื่นให้แก่ประชาชนจะดีกว่า

ในร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติก็เขียนเรื่องนี้ไว้ชัดเจนในมาตรา 77 วรรคสาม นะครับว่า "รัฐพึงใช้ระบบอนุญาตและระบบคณะกรรมการในกฎหมายเฉพาะในกรณีที่จำเป็น ..."

ผมฝากประเด็นนี้ไว้ช่วยกันคิดนะครับ มันดูเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ถ้าคิดให้รอบคอบ เราคงมีงบประมาณและเวลาไปทำอย่างอื่นที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนได้มากโขอยู่.


วันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

เมื่อข้าว(อยู่)นอกนา โดย นายปกรณ์ นิลประพันธ์

เมื่อวันก่อนผู้เขียนไปกินข้าวแกงที่โรงอาหารธรรมศาสตร์ ก็ไปเข้าคิวตามปกติแหละครับ มีเด็กหนุ่มสาวรอก่อนหน้าผู้เขียนสัก 5-6 คน แล้วบังเอิญได้ยินน้องคิวแรกสั่งว่า "เอาข้าวน้อย ๆ นะคะ" ผู้เขียนสะกิดใจขึ้นมาเพราะสมัยผู้เขียนเป็นเด็ก เรามักจะ "ขอข้าวเยอะ ๆ นะป้า" จะได้อิ่ม ๆ เลยลองสังเกตน้อง ๆ คิวถัด ๆ มาด้วย พบว่ากลุ่มตัวอย่างที่เป็นธรรมชาติทั้ง 5-6 คนนี้มีพฤติการณ์เดียวกันหมด คือ "เอาข้าวน้อย ๆ นะคะ/ครับ"



ระหว่างนั่งกินข้าว ผู้เขียนก็สังเกตเห็นว่าน้อง ๆ ส่วนใหญ่ในโรงอาหารกินข้าวไม่หมดจานอีก ทั้ง ๆ ที่ข้าวก็น้อยอยู่แล้ว เมื่อเดินสำรวจชั้นวางจานใช้แล้ว พบว่ามีข้าวเหลือเกือบทุกจาน และเมื่อกินข้าวเสร็จ น้อง ๆ ส่วนใหญ่จะกินกาแฟเย็นแก้วใหญ่คนละแก้ว พร้อมด้วยขนมห่อ ๆ สารพัดระหว่างนั่งคุยกัน



ดูหนังดูละครแล้วก็ย้อนมาดูตัว ผู้เขียนพบว่าอย่าว่าแต่วัยรุ่นเลย เดี๋ยวนี้รุ่นกลางอย่างผู้เขียนไล่ไปจนถึงรุ่นดึกก็กินข้าวน้อยลงเหมือนกัน เหตุเพราะกลัวอ้วน อ้วนแล้วโรคเยอะ เลยอนุมานเอาเองว่าวัยรุ่นเขาก็คงคิดเหมือนเรานั่นแหละ เพราะรายงานทางวิชาการต่าง ๆ ก็บ่งชี้มาตรงกันว่าข้าวเป็นคาร์โบไฮเดรต กินมาก ๆ แล้วอ้วน ถ้าไม่อยากอ้วนก็จงกินข้าวน้อย ๆ



ดังนี้ ผู้เขียนจึงสรุปเอาดื้อ ๆ ว่าพฤติกรรมการบริโภคข้าวของคนไทยได้เปลี่ยนไปแล้ว จากเดิมที่เน้นข้าวเยอะ ๆ กินกับน้อย ๆ ไม่งั้นจะเป็นตานขโมย เป็นกินข้าวน้อย ๆ แทน แถมเดี๋ยวนี้เขากินอย่างอื่นแทนข้าวได้อีก เช่น ขนมปัง ซีเรียล มูสลี่ เป็นต้น ส่วนเหตุผลก็น่าจะเป็นเรื่องสุขภาพนี่แหละ ยิ่งเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น จึงมีเหตุอันควรเชื่อว่าคนไทยก็จะกินข้าวน้อยลงเรื่อย ๆ ไม่ใช่ว่าไม่มีเงินจะกินนะ แต่กินน้อยเพื่อรักษาสุขภาพ



สวนทางกับการบริโภคที่ลดลง เกษตรกรไทยเราเก่งขึ้น ปลูกข้าวได้ผลดีมากขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ปัญหาโลกแตกก็ตามมาเชียว นั่นคือราคาข้าวตกต่ำ การกระตุ้นให้คนร่วมแรงร่วมใจกันบริโภคก็ทำไม่ได้เสียแล้ว เพราะเราถูกปลูกฝังให้เชื่อโดยสุจริตแล้วว่ากินข้าวกินแป้งมาก ๆ ไม่ดีต่อสุขภาพ ถ้าให้ช่วยกันซื้อก็คงได้สักรอบสองรอบ เพราะเมื่อซื้อไปแล้วคงต้องกินให้หมดก่อนไปซื้อรอบใหม่ ซึ่งเป็นนิสัยคนทั่วไป ครั้นจะส่งออกไปขายนอกบ้าน ประเทศอื่นเขาก็พัฒนาการปลูกข้าวเหมือนกัน แถมต้นทุนถูกกว่าเรา เขาจึงขายข้าวในราคาต่ำกว่าเรา ของเราก็ขายยากขึ้น แถมประเทศที่กินข้าวกันเป็นหลักต่างก็ปลูกข้าวได้กันทั้งนั้น



แต่เมื่อกระดูกสันหลังของชาติเดือดร้อน เราจะนิ่งดูดายกันได้อย่างไร ทุกรัฐบาลต่างก็เข็นมาตรการเร่งด่วนต่าง ๆ ออกมาช่วยเหลือเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง จนหลายครั้งเป็นเรื่องเป็นราวอื้อฉาวเกิดขึ้น แต่ข้าวปลูกได้ปีละหลายรอบ แก้รอบนี้ อีกสามสี่เดือนก็ต้องตามมาแก้กันอีก นี่ยังไม่นับของเก่าคงค้างที่ยังเคลียร์ไม่เสร็จอีกนะ เรื่องข้าวจึงกลายเป็นปัญหาคลาสสิคของชาติ รัฐบาลไหนไม่ได้วุ่นวายกับข้าว ให้เดาได้เลยว่าเป็นรัฐบาลอายุสั้น ข้าวยังไม่ทันเกี่ยวก็ไปเสียแล้ว



ผู้เขียนไม่ได้เป็นนักวิชาการด้านข้าว ไม่ได้เป็นพ่อค้า แต่เป็นนักกฎหมาย จึงคิดเอาเองว่าการแก้ปัญหาสินค้าต่าง ๆ คงต้องนำพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปมาประกอบการพิจารณาด้วยเพื่อให้การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างยั่งยืน



โลกเปลี่ยนไปแล้วจริง ๆ นะครับ.

วันเสาร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2559

ทางน้ำไหล โดย นายปกรณ์ นิลประพันธ์

ถึงตอนนี้เราคงพอทราบกันแล้วว่าทุก 10-15 ปี โลกจะต้องเผชิญหน้ากับความแห้งแล้งอย่างรุนแรง (เอล นินโญ) กับความชุ่มโชก (ลา นินญ่า) และระยะเวลาดังกล่าวนี้จะหดสั้นลงเรื่อย ๆ และรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์

ชาวโลกเขาตื่นตัวเรื่องนี้กันมาก และมีการเตรียมการรับมือเรื่องนี้อย่างจริงจัง แต่ชาวเราดูจะมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว ไม่ค่อยตื่นเต้นเท่าไร ทั้ง ๆ ที่เผชิญกับปัญหานี้กันทุกปี น้ำแล้งบ้าง น้ำท่วมบ้าง เสียหายกันปีละมิใช่น้อย ๆ รัฐต้องใช้เงินและบุคลากรจำนวนมากเพื่อช่วยเหลือเยียวยาความเสียหาย  

เราดูเหมือนจะเป็นกบในหม้อต้มน้ำ (frog in the boiler) ตามสุภาษิตฝรั่ง คือ ถ้าจับกบไปใส่ไว้ในหม้อแล้วค่อย ๆ ต้มน้ำให้ร้อนขึ้นทีละน้อย จะไม่หนีออกจากหม้อ สิ่งที่กบทำคือมันปรับตัวเองให้เข้ากับสภาพน้ำที่ค่อย ๆ ร้อนขึ้น จนถึงจุดหนึ่งที่เกินจะปรับตัวได้มันก็จะไม่มีความสามารถที่จะหนีไปไหนแล้วและตายคาหม้อ

ถ้าเราไม่อยากเป็นกบตัวที่ว่านี้ เราก็ต้องหาวิธีการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างเหมาะสม ไม่ใช่แค่เชิงรับ คือตระเตรียมข้าวของไว้ช่วยเหลือผู้ประสบภัย หากต้องทำในเชิงรุกด้วย คือป้องกันให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด (Minimize loss)

ปีนี้เราชุ่มโชกมาก ฝนตกน้ำท่วมหลายจุด ผู้เขียนสังเกตว่าน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมหลายพื้นที่ที่ไม่ควรจะท่วม และฝนตกน้ำขังในที่ที่ไม่ควรจะขัง จึงลองวิเคราะห์แบบบ้าน ๆ ดูว่าทำไมน้ำถึงเปลี่ยนเส้นทางการไหล ทำให้การรับมือกับน้องน้ำที่วางแผนกันไว้ล่วงหน้าแล้วมีปัญหาอยู่ตลอดเวลา

ตามปกติ น้ำจะไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ เส้นทางการไหลของน้ำจะบอกว่าตรงไหนเป็นมาที่สูง ตรงไหนเป็นที่ต่ำ เดิมเส้นทางนี้คาดการณ์ได้ง่ายเพราะคนไทยโบราณเราปลูกบ้านอย่างชาญฉลาด ใช้เรือนยกใต้ถุนสูง ไม่ใช้การถมดินเพื่อปลูกบ้าน แต่ต่อมาเมื่อมีการปลูกบ้านอย่างฝรั่งกันมากขึ้น เราก็กลัวน้ำจะท่วมบ้าน ก่อนปลูกบ้านจึงต้องถมที่ให้สูงก่อน น้ำจะได้ไม่ท่วมบ้านสวย ๆ

เมื่อนาย ก. ถมที่ บ้านเขาก็น้ำไม่ท่วม แต่บ้านนาย ข. นาย ค. นาง ง. และใครต่อใครต่าง ๆ อีกมากมายที่อยู่รอบ ๆ ต้องรับภาระน้ำแทน คราวนี้เวลาใครจะสร้างบ้านก็จะถมที่ให้สูงกว่าคนอื่นอยู่เสมอ และความคิดนี้ได้กลายมาเป็นชุดความคิดมาตรฐานในการก่อสร้างอาคารและการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไปแล้ว

การวิเคราะห์แบบบ้าน ๆ ของผู้เขียนนี้นำไปสู่สมมุติฐาน (แบบบ้าน ๆ อีกเหมือนกัน) ว่า บัดนี้ความสูงต่ำของพื้นที่ (Contours) ทั่วประเทศเปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว และยังคงเปลี่ยนแปลงทุกวันเพราะการถมดินเพื่อปลูกสร้างอาคารเป็นกิจวัตรประจำวันของชาวเราไปแล้ว  เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจึงไม่อาจคาดการณ์ได้ชัดเจนว่าถ้ามีน้ำไหลหลากมา น้องน้ำจะไหลไปทางไหน ยิ่งมีการพัฒนาพื้นที่ใหม่รอบ ๆ เมืองเก่า เขตเมืองเก่าจะกลายเป็นที่ลุ่มต่ำไปโดยปริยาย เพราะการพัฒนาพื้นที่ใหม่รอบ ๆ นั้นจะมีการถมที่ให้สูงขึ้นเรื่อย ๆ นั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมพื้นที่ในเขตเมืองเดิมจึงกลายเป็นแอ่งรองน้ำ และมี "น้ำรอการระบาย" ทุกทีที่ฝนตก และในพื้นที่อื่นน้ำจะไหลหลากไปทางไหน เพราะตอนนี้ไม่รู้แล้วว่าตรงไหนสูงกว่าตรงไหน

จะดีไหมครับ ถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะฉวยโอกาสตอนนี้แหละตรวจสอบ contours ของพื้นที่ทั่วประเทศใหม่ทั้งหมด การวางผังเมืองก็ต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย มีการทำแผนที่เส้นทางการไหลของน้ำเสียให้ชัดเจน แล้วประกาศให้ประชาชนทราบ มีกลไกและมาตรการห้ามปลูกสร้างใด ๆ รวมทั้งการถมดินในเส้นทางน้ำไหลนี้อย่างเด็ดขาด ใครฝ่าฝืนจัดการอย่างเฉียบขาด ไม่ปล่อยไว้ให้เป็นปัญหารุงรัง ประกาศให้สังคมทราบเพื่อใช้มาตรการทางสังคมกดดันคนที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวมด้วย ส่วนทางราชการที่จะสร้างถนนหนทาง หรือทางรถไฟผ่านแนวนี้ต้องทำเป็นสะพานเท่านั้น เป็นต้น

เราจะได้มีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันเพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นรูปธรรม ดีกว่ามานั่งตำหนิติเตียนหรือจับผิดกันไปวัน ๆ

มาช่วยกันคิดช่วยกันทำเพื่อพัฒนาบ้านเมืองกันดีกว่าครับ



วันพฤหัสบดีที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2559

คำแปลหลักการปารีส โดย นางณัฏฐณิชา เลอฟิลิแบร์ต

คำแปล
หลักการเกี่ยวกับสถานะของหน่วยงานระดับชาติ[1]
โดยนางณัฏฐณิชา เลอฟิลิแบร์ต[2]

อำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ

1.       ให้หน่วยงานระดับชาติ[3] มีอำนาจหน้าที่ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

2.       ให้หน่วยงานระดับชาติมีอำนาจอย่างกว้างเท่าที่จะเป็นไปได้ตามที่บัญญัติไว้อย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายที่กำหนดองค์ประกอบและขอบเขตอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานระดับชาติ

3.       ให้หน่วยงานระดับชาติมีบรรดาความรับผิดชอบ ดังต่อไปนี้
          (เอ) เสนอความเห็น คำแนะนำ ข้อเสนอ และรายงานที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อรัฐบาล รัฐสภา และหน่วยงานอื่นที่มีอำนาจ บนพื้นฐานของการให้คำแนะนำ ไม่ว่าตามคำร้องขอของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือตามผลการพิจารณาของหน่วยงานระดับชาติที่ต้องสามารถดำเนินการได้เองโดยไม่ต้องอาศัยองค์กรอื่น และหน่วยงานระดับชาติมีอำนาจตัดสินใจที่จะเผยแพร่บรรดาความเห็น คำแนะนำ ข้อเสนอ และรายงานเหล่านั้นได้  และหน่วยงานระดับชาติต้องมีอำนาจในกรณีดังต่อไปนี้ด้วย
                    (i) กรณีบทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือคำสั่งทางปกครองใด ๆ รวมถึงบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับองค์การตุลาการที่มุ่งรักษาและให้ความคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยหน่วยงานระดับชาติต้องพิจารณาบทบัญญัติแห่งกฎหมายหรือคำสั่งทางปกครองใดที่มีผลบังคับใช้ รวมถึงร่างพระราชบัญญัติและข้อเสนอเกี่ยวกับคำสั่งทางปกครองดังกล่าว และให้คำแนะนำตามที่เห็นสมควรเพื่อประกันว่าบทบัญญัติหรือคำสั่งเหล่านั้นสอดคล้องกับหลักการพื้นฐานสำคัญของสิทธิมนุษยชน และในกรณีที่จำเป็น ให้หน่วยงานระดับชาติให้คำแนะนำให้มีการตรากฎหมายขึ้นใหม่ หรือให้มีการแก้ไขกฎหมายที่ใช้บังคับแล้ว รวมทั้งการมีคำสั่งทางปกครองใหม่หรือแก้ไขคำสั่งทางปกครองที่ใช้อยู่
                    (ii) กรณีที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่หน่วยงานระดับชาติเห็นควรพิจารณาดำเนินการ
                    (iii) กรณีการจัดทำรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของชาติ ทั้งสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วไป และเฉพาะเรื่อง
                    (iv) สร้างความตระหนักแก่รัฐบาลเกี่ยวกับสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศและมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเพื่อยุติสถานการณ์ดังกล่าว และหากจำเป็น อาจต้องแสดงความเห็นต่อจุดยืนและปฏิกิริยาของรัฐบาล
          (บี) ส่งเสริมและทำให้เกิดความมั่นใจว่ากฎหมาย กฎ ระเบียบ และการปฏิบัติต่าง ๆ ของประเทศสอดคล้องกับความตกลงด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ประเทศนั้นเป็นภาคี และมีการปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ
          (ซี) สนับสนุนการให้มีการให้สัตยาบันความตกลงด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ประเทศนั้นเป็นภาคี หรือการภาคยานุวัติความตกลงเหล่านั้น และติดตามว่ามีการปฏิบัติตามความตกลงดังกล่าว
          (ดี) มีส่วนร่วมในรายงานต่าง ๆ ที่รัฐต้องรายงานต่อหน่วยงานและคณะกรรมาธิการของสหประชาชาติและหน่วยงานระดับภูมิภาค และตามพันธกรณีในหนังสือสัญญา และให้เสนอความเห็นที่จำเป็นในเรื่องดังกล่าวอย่างอิสระ
          (อี) ร่วมมือกับสหประชาชาติและหน่วยงานของสหประชาชาติ หน่วยงานระดับภูมิภาค และหน่วยงานระดับชาติของประเทศอื่นที่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
          (เอฟ) ช่วยเหลือในการกำหนดโปรแกรมการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน และมีส่วนร่วมในการดำเนินการในแวดวงโรงเรียน มหาวิทยาลัย และวิชาชีพ
          (จี) ให้ความรู้แก่สาธารณชนเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและความพยายามในการกำจัดการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ โดยการเพิ่มความตระหนักให้แก่สาธารณชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผ่านข้อมูลข่าวสารและการศึกษา และสื่อต่าง ๆ

องค์ประกอบและหลักประกันความเป็นอิสระและความแตกต่างหลากหลาย
1.       องค์ประกอบของหน่วยงานระดับชาติและการแต่งตั้งสมาชิก ไม่ว่าจะโดยการเลือกตั้งหรือวิธีอื่นใด ต้องสอดคล้องกับกระบวนการที่สามารถประกันได้ว่าจะได้สมาชิกที่มีความแตกต่างหลากหลายทางพลังสังคม (ของสังคมพลเรือน) บรรดาที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของผู้แทนจากแวดวง ดังต่อไปนี้
          (เอ) NGOs ที่ดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนและการต่อสู้กับการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติ สมาคมการค้า องค์กรทางสังคมและวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง เช่น วิชาชีพนักกฎหมาย แพทย์ สื่อสารมวลชน และนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียง
          (บี) นักคิดทางปรัชญาหรือศาสนา
          (ซี) มหาวิทยาลัยและผู้ทรงคุณวุฒิ
          (ดี) รัฐสภา
          (อี) หน่วยงานของรัฐ (หากมีผู้แทนกลุ่มนี้ ผู้แทนกลุ่มนี้ควรมีส่วนร่วมเฉพาะการพิจารณาข้อเสนอแนะเท่านั้น)

2.       หน่วยงานระดับชาติต้องมีโครงสร้างที่เหมาะสมต่อการดำเนินงานต่าง ๆ ให้เป็นไปโดยราบรื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีงบประมาณที่เพียงพอที่จะจ้างเจ้าหน้าที่และจัดหาสถานที่เพื่อประกันความเป็นอิสระจากรัฐบาล และไม่อยู่ภายใต้บังคับการควบคุมทางการเงินที่อาจส่งผลต่อความเป็นอิสระ

3.       เพื่อประกันว่าสมาชิกของหน่วยงานระดับชาติจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ตามอาณัติที่ได้รับมอบหมายอย่างมั่นคง ซึ่งหากปราศจากหลักประกันนั้นแล้วจะไม่มีความเป็นอิสระที่แท้จริง การแต่งตั้งสมาชิกต้องดำเนินการอย่างเป็นทางการและภายในระยะเวลาที่ชัดเจน ทั้งนี้ ระยะเวลาดังกล่าวอาจขยายออกไปได้หากเป็นไปเพื่อให้ได้สมาชิกที่มีความแตกต่างหลากหลายอย่างแท้จริง

วิธีดำเนินงาน

          หน่วยงานระดับชาติต้องมีวิธีดำเนินงานดังนี้
          (เอ) พิจารณาเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่อย่างเสรี ไม่ว่าเป็นเรื่องที่เสนอโดยรัฐบาล หรือเป็นเรื่องที่หน่วยงานระดับชาติยกขึ้นมาพิจารณาเองโดยไม่ต้องอาศัยองค์กรอื่น และไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่สมาชิกยกขึ้นหรือเป็นเรื่องที่มีการร้องเรียนเข้ามา
          (บี) รับฟังบุคคลใด ๆ และรับข้อมูลและเอกสารใด ๆ ที่จำเป็นต่อการประเมินสถานการณ์ที่อยู่ภายในอำนาจหน้าที่
          (ซี) แสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะโดยตรง หรือโดยผ่านสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแสดงความคิดเห็นและคำแนะนำต่อสาธารณะ
          (ดี) ประชุมร่วมกันอย่างสม่ำเสมอและเมื่อใดก็ตามที่จำเป็นต่อการปรากฏตัวของสมาชิกทั้งหมดเมื่อมีการเรียกประชุมอย่างเป็นทางการ
          (อี) ตั้งคณะทำงานจากสมาชิกในกรณีที่จำเป็น และจัดตั้งส่วนงานในท้องถิ่นหรือในภูมิภาคเพื่อช่วยปฏิบัติหน้าที่
          (เอฟ) หารือกับหน่วยงานอื่น ไม่ว่าจะเป็นองค์กรตุลาการหรือหน่วยงานอื่นใด ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้ไกล่เกลี่ย และหน่วยงานอื่นในทำนองเดียวกัน)
          (จี) ร่วมมือกับ NGOs ที่ทำงานด้านการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม การต่อสู้กับการเหยียดชาติพันธุ์ การคุ้มครองกลุ่มผู้ด้อยโอกาส (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็ก แรงงานอพยพ ผู้ลี้ภัย ผู้พิการทางสมอง) หรือด้านเฉพาะอย่างอื่น เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานระดับชาติ

หลักการเพิ่มเติมเกี่ยวกับสถานะของคณะกรรมการที่มีอำนาจกึ่งตุลาการ

          หน่วยงานระดับชาติอาจได้รับอำนาจให้ดำเนินกระบวนวิธีพิจารณาการร้องเรียนและร้องทุกข์เกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของปัจเจกบุคคล โดยคดีอาจเข้าสู่การกระบวนวิธีพิจารณาดังกล่าวโดยบุคคลธรรมดา ตัวแทน บุคคลที่สาม NGOs สมาคมการค้า หรือตัวแทนขององค์การอื่น  ในกรณีเช่นนั้นและโดยไม่ขัดต่อหลักการข้างต้นเกี่ยวกับอำนาจอื่นของคณะกรรมการ การดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายอาจต้องอยู่บนพื้นฐานของหลักการดังต่อไปนี้
          (เอ) ดำเนินการระงับข้อพิพาทอย่างเป็นฉันท์มิตร โดยการไกล่เกลี่ย หรือการวินิจฉัยที่มีผลผูกพันตามที่กฎหมายบัญญัติ บนพื้นฐานการรักษาความลับในกรณีที่จำเป็น
          (บี) แจ้งให้ผู้ร้องทราบเกี่ยวกับสิทธิของตน โดยเฉพาะการเยียวยาที่บุคคลดังกล่าวอาจได้รับ และดำเนินการให้เขาได้รับการเยียวยาดังกล่าว
          (ซี) ดำเนินกระบวนการพิจารณาคำร้องเรียนหรือร้องทุกข์ หรือส่งคำร้องเรียนหรือร้องทุกข์ นั้นไปยังหน่วยงานอื่นที่มีอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติ
          (ดี) เสนอแนะหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ โดยเฉพาะ การเสนอให้ปรับปรุงแก้ไขหรือการปฏิรูปกฎหมาย กฎ และมาตรการทางปกครอง ในกรณีที่กฎหมาย กฎ หรือมาตรการทางปกครองดังกล่าวเป็นอุปสรรคในการร้องทุกข์เพื่อให้มีการดำเนินการให้เป็นไปตามสิทธิของบุคคล




[1]หลักการปารีส: The Paris Principles
[2]นักกฎหมายกฤษฎีกาชำนาญการ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ©2016
[3]หน่วยงานระดับชาติเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน 

วันอาทิตย์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

การอุทธรณ์คำพิพากษาในคดีอาญาตามหลักสากล โดย นายปกรณ์ นิลประพันธ์

          ตาม Article 14 (5) ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) ที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีโดยการภาคยานุวัติเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2539 (ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2539) และมีผลใช้บังคับกับประเทศไทยเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2540 นั้น บุคคลทุกคนซึ่งต้องคำพิพากษาลงโทษในความผิดอาญา ย่อมมีสิทธิที่จะให้คณะตุลาการชั้นเหนือขึ้นไปพิจารณาทบทวนการลงโทษและคำพิพากษาได้ตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งเป็นไปตามหลัก fair trial เพื่อประกันความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม (protect against miscarriages of justice)

          ในทางปฏิบัติ รัฐภาคีต่างมีกฎหมายภายในของตนเองที่บัญญัติเกี่ยวกับการอุทธรณ์คำพิพากษาในคดีอาญาไว้ บางประเทศให้อุทธรณ์ได้ทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมาย บางประเทศให้อุทธรณ์ได้เฉพาะกรณีกระบวนวิธีพิจารณาไม่ชอบหรือเฉพาะในปัญหาข้อกฎหมาย กรณีจึงมีปัญหาเกี่ยวกับขอบเขตการอุทธรณ์ขึ้น และเคยมีกรณีที่เข้าสู่การพิจารณาของ The Human Rights Committee ซึ่งคณะกรรมการดังกล่าวได้วางหลักไว้ในคดี Vazquez v Spain (Communication No. 701/1996) ว่าการที่กฎหมายภายในของสเปนบัญญัติให้อุทธณ์คำพิพากษาคดีอาญาได้เฉพาะกระบวนวิธีพิจารณาไม่ชอบกับในปัญหาข้อกฎหมายเท่านั้น ไม่ต้องด้วย Article 14(5) ของ ICCPR

          ต่อมา ในปี 2002 The Human Rights Committee ได้วางหลักการอุทธรณ์คดีอาญาไว้ชัดเจนในคดี Bandajevsky v Belarus (Communication No. 1100/2002) ว่าการอุทธรณ์คดีอาญาตามเจตนารมณ์ของ Article 14(5) ของ ICCPR นั้น ต้องอุทธรณ์ได้ทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมาย (both as to sufficient of the evidence and of the law)

          โดยที่เจนารมณ์ของหลักประกันการอุทธรณ์ในคดีอาญาเพื่อประกันความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม ผู้มีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาคดีอาญาจึงได้แก่ "คู่ความในคดี" ไม่ใช่เฉพาะแต่ผู้ต้องคำพิพากษาในคดีอาญาเท่านั้นที่มีสิทธิอุทธรณ์ เพียงแต่ ICCPR รับรองสิทธิของผู้ต้องคำพิพากษาในการอุทธรณ์ไว้ให้ชัดเจนเท่านั้น

          ดังนั้น การพิจารณาสิทธิในการอุทธรณ์คำพิพากษาในคดีอาญาจึงต้องพิจารณาจาก "สายตาของคู่ความ" อันได้แก่ ทั้งโจทก์และจำเลย มิใช่มองจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่เพียงฝ่ายเดียว

          เมื่อเป็นเช่นนี้
          1. ในกรณีที่ศาลที่พิจารณามีคำพิพากษาลงโทษอาญา ผู้ต้องคำพิพากษาลงโทษย่อมมีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษานั้น ขณะเดียวกันคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งก็ย่อมต้องมีสิทธิอุทธรณ์เช่นกันว่าโทษที่ศาลลงแก่ผู้ต้องคำพิพากษานั้นไม่ได้สัดส่วนกับความร้ายแรงของการกระทำความผิดของผู้ต้องคำพิพากษาให้ลงโทษนั้น
          2. ในกรณีที่ศาลที่พิจารณามีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง โจทก์ก็ย่อมอุทธรณ์คำพิพากษานั้นได้ เพราะการอุทธรณ์มิใช่สิทธิฝ่ายเดียวของผู้ต้องคำพิพากษาหรือจำเลยตามหลักความเท่าเทียมกันของคู่ความในคดีอาญา

          กล่าวโดยสรุป การอุทธรณ์คำพิพากษาในคดีอาญามิได้เป็นไปเพื่อประโยชน์แก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ... แต่เป็นไป "เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม"