วันอังคารที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2566

ครอบครัวอบอุ่น ป้องกันสังคมยุ่งเหยิงได้ : ปกรณ์ นิลประพันธ์

มีคนบ่นกับผมเยอะแยะว่าไม่มีกฎหมายนั่น ไม่มีกฎหมายนี่ หรือไม่ก็ว่าเจ้าหน้าที่ไม่บังคับใช้กฎหมายเคร่งครัด ทำให้คนละเมิดกฎหมาย สังคมยุ่งเหยิง ทุจริต ประพฤติมิชอบ ฯลฯ สรุปคือกฎหมายเป็นแพะรับบาป (เรื่องแพะรับบาปนี่เคยเล่าไปแล้วนะครับว่ามีที่มาที่ไปยังไง คงไม่เล่าซ้ำอีก)


ผมในฐานะมีหน้าที่ยกร่างกฎหมาย ฟังแล้วก็ได้แต่ถอนหายใจ ก็เข้าใจครับว่าคนบ่นเขาคงไม่เข้าใจตรรกะของกฎหมาย และเห็นกฎหมายมันพูดไม่ได้ และไม่มีผู้แทนเป็นของตัวเอง ก็เลยโทษไว้ก่อน ขืนไปโทษคน เขาคงจะด่าคืนได้


ตามหลักที่นักเรียนกฎหมายต้องยอมรับหรือเชื่อในเบื้องต้นเสียก่อนจะร่ำเรียนคือที่ไหนมีสังคม ที่นั่นมีกฎหมาย (Ubi societas, ibi ius) ก่อนจะเรียนลึกลงไป เหมือนกับจะเรียนคณิตศาสตร์ให้ได้ดีต้องเชื่อว่าเลขมีแค่ 0-9 เท่านั้น ถ้าผ่าไปสงสัยว่าทำไมมีแค่นี้ ก็จะเห็นอนาคตว่าเรียนเลขไม่เก่งแน่นอน


ความเชื่อที่ว่าที่ไหนมีสังคม ที่นั่นมีกฎหมายนั้น ไม่ได้มีการอธิบายให้เข้าใจกระจ่างกันมากนัก ส่วนมากจึงมักจะท่องจำได้ ยกขึ้นอ้างเป็นนกแก้วนกขุนทองเสมอ พูดละตินผสมอีกนิดหน่อยก็จะดูว่าเป็นผู้มีภูมิความรู้สูงด้วย


เหตุที่ว่าที่ไหนมีสังคม ที่นั่นมีกฎหมาย ในประเทศตะวันตกจะมีการให้คำอธิบายในทางตำราลึกซึ้งเยอะแยะครับ จอนห์ ล๊อค โทมัส ฮอป เป็นอาทิ แต่มันเป็นวิชาปรัชญา อ่านแล้วถ้าไม่อินกับความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของตะวันตกตามหลัก historical approach ก็จะงงมากมาย และจะหยุดอ่าน เอาเป็นว่าที่ไหนมีสังคม ที่นั่นมีกฎหมาย Ubi societas, ibi ius ก็พอ เก๋แล้ว


แต่จริง ๆ แล้วเป็นธรรมชาติของคนเราครับที่เมื่อเกิดมาก็อยู่ในสังคมแล้ว เพราะเราต้องอยู่ร่วมกับคนอื่น แรกเกิดก็มีพ่อแม่พี่น้องปู่ย่าตายาย ต่อไปก็ญาติข้างพ่อข้างแม่ โตหน่อยก็เพื่อนข้างบ้าน ต่อไปก็โรงเรียน ที่ทำงาน ฯลฯ สังคมของเราจะเปลี่ยนตลอดเวลาครับ ยิ่งในโลกเสมือนนี่สังคมเยอะหนักข้อมาก อย่างกลุ่มไลน์นึงก็สังคมนึง มีเยอะมากก็เป็นพวกสังคมนิยม เอ๊ย! นิยมสังคม


จริง ๆ การอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมไม่ง่ายนักนะครับ ตอนไร้เดียงสาก็จะง่ายหน่อย แต่พอโตขึ้นมีความรู้สึกนึกคิดเป็นของตนเองก็จะเริ่มเยอะ เริ่มยากละ เพราะในเรื่องเดียวกัน แต่ละคนจะมีปฏิกริยากับเรื่องนั้นแตกต่างกันไปตามความรู้สึกนึกคิด ตามอารมณ์ ตามพื้นเพภูมิหลัง ความชอบไม่ชอบ และความอื่น ๆ อีกจิปาถะ  การอยู่ร่วมกันเป็นสังคมจึงต้องละหรือสละอะไรที่เป็น “ตัวกูของกู” หรือการ “เอาแต่ใจตัวเอง” ลงบ้างไม่มากก็น้อย ไม่งั้นก็จะเข้ากับใครไม่ค่อยจะได้ 


การที่ทุกคนละการเอาแต่ใจตัวเองลงนี่แหละที่มันทำให้เกิดกฎเกณฑ์กติกามารยาทบางอย่างในการอยู่ร่วมกันเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เขาเรียกว่า social norm  เจ้ากฎเกณฑ์กติกามารยาทนี่ในแต่ละกลุ่มแต่ละสังคมนี่ก็ผิดแผกแตกต่างกันไปนะครับ ไม่เหมือนกันเลย ที่เหมือนกันน่าจะมีเพียงหนึ่งเดียวคือใครแหกกฎที่ว่านี้ก็จะถูกตำหนิ ไม่เป็นที่ยอมรับของกลุ่มหรือสังคม จนถึงอาจถูกอัปเปหิออกมาได้ เผลอ ๆ อาจโดนทัวร์ลงอีก


เมื่อทุกสังคมมีกฎกติกามารยาทในการอยู่ร่วมกันเป็นของตัวเอง ลองคิดดูครับว่าพอเป็นสังคมเล็ก ๆ เหล่านี้มารวมกันเป็นเครือญาติ เผ่าพันธุ์ ชุมชน สังคมเมือง สังคมประเทศ สังคมโลก  กฎกติกามารยาทนี่มันจะสลับซับซ้อนขนาดไหน บางกลุ่มย่อยของสังคมอาจมีกฎกติกามารยาทที่แปลกประหลาดขึ้นมาเพื่อให้ดูโดดเด่น อย่างเวลาไปงานต่าง ๆ เขาแจงว่าต้องแต่งตัวอย่างไร (dress code) ก็จะแหวกแนวไป เอาที่ตัวเองสบายใจ  บางพวกอาจมีคติประจำกลุ่มหรือสังคมว่า “กฎมีไว้แหก” ซึ่งอาจเป็นเพราะต้องการการยอมรับ หรือไม่ก็แหกไปเพื่อเรียกร้องความสนใจ  พอแหกเข้ามันก็เดือดร้อนคนอื่นละสิทีนี้ ความไม่สงบเรียบร้อยในสังคมก็จะบังเกิด  ดังนั้น กติกาและการลงโทษทางสังคมที่มีอยู่ เป็นต้นว่าไม่สนทนาวิสาสะด้วย จึงไม่พอรับมือ และเป็นเหตุให้ต้องมีกฎหมายเกิดขึ้น มีบทลงโทษชัดเจนแน่นอนตามความหนักเบา


กฎหมายจึงเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพบางอย่างของคนในสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทุกสังคมย่อย ๆ อยู่ร่วมกันได้อย่างผาสุก 


ด้วยเหตุนี้พอผมได้ยินว่าต้องมีกฎหมายโน่นนี่นั่น จึงรู้ว่าคนพูดไม่ได้เข้าใจหลักการสำคัญอันนี้เลย ยิ่งมีกฎหมายมาก ยิ่งจำกัดสิทธิเสรีภาพคนมาก มีลงโทษด้วย จะมีพวกอำนาจนิยมนี่แหละที่ชอบออกกฎหมายมาควบคุม โทษนี่ต้องหนักเข้าไว้เหมือนพวกซาดิสม์  ส่วนพวกเสรีนิยมนี่เขาจะไม่เน้นการออกกฎหมายมาควบคุม เน้นการกำกับดูแลกันเอง จะออกกฎหมายเท่าที่จำเป็นจริง ๆ เพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคมเท่านั้น


ในทัศนะของคนทำร่างกฎหมาย การมีกฎหมายมาก ๆ โทษหนัก ๆ นี่ไม่มีผลต่อการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเลย เพราะเรารู้ว่าจริง ๆ มันอยู่ที่จิตสำนึกของคนในสังคมที่มีต่อตนเองและผู้อื่นต่างหาก  ถึงไม่มีกฎหมาย ถ้ามีจิตสำนึกต่อสังคม รู้สำนึกว่าอะไรควรไม่ควร มีวินัย คนก็จะไม่ทำอะไรที่มันผิด ไม่ทำเรื่องให้คนอื่นเดือดร้อน แต่ถ้าไม่มีจิตสำนึก อยากทำอะไรตามใจตัวเอง ไม่สนกฎเกณฑ์กติกาสังคม ถึงมีกฎหมายเขาก็ฝ่าฝืน 


ง่าย ๆ อย่างขี่รถสวนทางที่เห็นกันทุกวี่ทุกวันนี่ชัดเจนว่าคนทำไม่มีสำนึกต่อสังคมเอาเลย จะว่าไป กฎหมายจราจรมีมาหลายสิบปี จะว่าไม่รู้ก็ไม่ได้ เอามักง่ายเข้าว่า แป๊บนึง อะไรประมาณนั้น และเมื่อถูกจับเข้า ก็เถียงอีกว่าทำไมจับฉัน คันอื่นไม่จับ กลายเป็นเจ้าหน้าที่สองมาตรฐานเสียอย่างนั้นไป!


เมื่อค่านิยมกฎมีไว้แหกกลายเป็นค่านิยมหลัก สังคมมันก็วุ่นวายมากขึ้นดังนี้แล


เรื่องสำนึก วินัย รวมทั้งคุณธรรมจริยธรรม นี่ส่วนตัวผมคิดว่ามาจากการอบรมระดับครอบครัว โรงเรียนนี่มาทีหลัง ยิ่งในระดับที่ทำงานนี่ไกลมากเลย แต่เวลาโดนด่านี่โรงเรียนโดนก่อน แทนที่จะตำหนิคนฝ่าฝืนกฎเกณฑ์ของสังคมหรือกฎหมาย  ดังนั้น ภาพสะท้อนของการฝ่าฝืนกฎกติกาสังคมหรือกฎหมายในสายตาคนแก่ ๆ อย่างผมจึงเป็นภาพสะท้อนของปัญหาครอบครัวเป็นอันดับหนึ่ง ระบบโรงเรียนนั้นรองลงมามาก แต่คนส่วนใหญ่ไม่นึกถึงเรื่องนี้ เน้นออกกฎหมายกันท่าเดียว


ตามตู้ตำรวจจราจรนั้นเดิมมีข้อความเชิงประชดประชันว่า วินัยจราจร สะท้อนวินัยชาติ เป็นเรื่องที่ผมคิดว่าจริง แต่ส่วนตัวคิดว่าวินัยจราจร สะท้อนการอบรมระดับครอบครัวก็ได้เหมือนกัน นักวิจัยสังคมน่าจะลองศึกษาดูนะ 


ผมง่วงนอนแล้ว ขอสรุปเอาดื้อ ๆ ว่าเรื่องที่คนมาบ่นกับผมในย่อหน้าที่หนึ่งของบทความนี้ มีเหตุผลมาจากการอบรมระดับครอบครัวเป็นสำคัญตามความคิดแปลก ๆ แบบของผม ระยะหลังผมจึงให้ความสำคัญในการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการละเมิดกฎหมายหรือทำเรื่องอะไรที่ไม่ถูกกาละเทศะโดยการสร้างความอบอุ่นของครอบครัว ไม่ชอบแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเพราะมันไม่ยั่งยืน


อย่ามัวสนใจแต่จะเอาชนะคะคานกันเลยครับ คิดถึงเรื่องความผาสุกของสังคมส่วนรวมกันบ้าง 


มันยุ่งเหยิงมากเต็มทีแล้ว.