วันพฤหัสบดีที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2557

ความเป็นโมฆะของการเลือกตั้ง โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์

                   การที่รัฐธรรมนูญมาตรา 108 กำหนดให้ต้องกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร ก็เพราะต้องการให้เกิดความสุจริตและเที่ยงธรรม ไม่เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบในระหว่างพรรคการเมือง ผู้สมัคร และเสียหายต่อการใช้สิทธิลงคะแนนของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง การเลือกตั้งที่ทำกะปริดกะปรอย ส่งผลต่อการลงคะแนนอย่างมาก เพราะธรรมชาติของมนุษย์ถ้ารู้ว่าใครแพ้หรือชนะ ก็มักจะถูกครอบงำโดยผลแพ้ชนะนั้น สุดแต่ว่าจะชอบเข้าข้างคนชนะ หรือขี้สงสารคนแพ้ ยิ่งถ้าได้คะแนนใกล้เคียงกัน ก็หมิ่นเหม่ต่อการทุจริตเพื่อเอาชนะกันได้ง่าย

                   ในขณะนี้ปรากฏชัดเจนว่ามีเขตเลือกตั้งถึง 27 เขต ที่สมัครรับเลือกตั้งไม่ได้ (ไม่ใช่ไม่มีคนสมัคร) การเลือกตั้งจึงไม่อาจทำได้ในวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร ปัญหาจึงอยู่ที่ว่าการที่ไม่อาจจัดให้มีการเลือกตั้งได้ใน 27 เขต ถ้าไปจัดให้มีการเลือกตั้งในภายหลัง (หลังจากที่มีการเลือกตั้งเขตอื่น ๆ ไปแล้ว) จะถือว่าเป็นการค่อย ๆ เลือกไปหรือเป็นการเลือกซ่อม

                   ถ้าศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าเป็นการค่อย ๆ เลือกไป ก็จะเข้าข่ายต้องห้าม คือ ไม่ได้ทำในวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร แต่ถ้าถือว่าเป็นการเลือกซ่อมทำนองเดียวกับการเลือกซ่อมเมื่อมีการให้ใบเหลืองใบแดง ก็อาจไม่เข้าข่ายต้องห้าม จึงขึ้นอยู่กับการเสนอข้อเท็จจริงและข้อโต้แย้งต่อศาล

                   ในเรื่องนี้ดูเหมือน กกต. เองก็ไม่แน่ใจอยู่ เพราะมีข่าวออกมาว่า กกต. เกรงว่าจะถูกฟ้องให้เป็นโมฆะ เพราะไม่ได้จัดให้มีขึ้นในวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร ซึ่งในเรื่องนี้ กกต. ออกจะไม่รอบคอบ เพราะทางที่ถูก กกต. ในฐานะผู้รับผิดชอบในการจัดให้มีการเลือกตั้งให้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ กกต. ควรต้องพิจารณาในประเด็นนี้ให้เป็นที่ยุติในหมู่ กกต. เสียก่อน ถ้า กกต. เห็นว่าถูกต้องตามรัฐธรรมนูญแล้ว จะเดินหน้าต่อไปตามใจรัฐบาลก็เดินหน้าไปได้  แต่ถ้า กกต. เองก็เห็นว่าการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ หัวเด็ดตีนขาด กกต. ก็จัดให้มีการเลือกตั้งต่อไปไม่ได้ ไม่ว่ารัฐบาลจะว่าอย่างไร ต้องการอย่างไร ก็ไม่มีอำนาจที่จะบังคับให้ กกต. ทำในสิ่งที่ กกต. เห็นว่าเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ ถ้ารัฐบาลยืนยันให้ กกต. เดินหน้า และ กกต. ไม่อาจเดินหน้าได้ ก็อาจถือเป็นกรณีขัดแย้งกันที่จะสามารถส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ ถ้าทำได้เช่นนี้ กกต. ก็จะปลอดภัย

                   แต่น่าเสียดายที่ กกต. ไม่ได้ทำเช่นนั้น  ดังนั้น ถ้าภายหลังศาลวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะ กกต. ก็อาจพลอยต้องไปรับผิดชอบในผลนั้น ส่วนรัฐบาลน่ะ ถึงตอนนั้นท่านก็คงปฏิเสธว่าท่านมิได้เป็นคนจัดการเลือกตั้ง ท่านมีแต่ความอยากให้มีการเลือกตั้งตามที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา


                                                                   มีชัย ฤชุพันธุ์

วันพุธที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2557

เราควรออกไปเลือกตั้งหรือไม่

                   เมื่อการเลือกตั้งทำท่าว่าจะมีขึ้นแน่ ๆ ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ คำถามที่มีคนถามอยู่เป็นประจำก็คือ แล้วประชาชนทุกฝ่ายควรจะทำอย่างไร  ควรออกไปเลือกตั้ง หรือควรอยู่เฉย ๆ ไม่ออกไปเลือกตั้ง

                   มีคนส่งข้อความใน social media ชักชวนให้ทุกคนไม่ออกไปเลือกตั้งเพื่อว่าถ้ามีคนออกไปเลือกตั้งไม่ถึงร้อยละ 50 แล้วจะทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ

                   คนที่ส่งข้อความนั้นจะมีเจตนาอย่างไรไม่ทราบ แต่ความเข้าใจนั้นเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะถึงจะมีคนไปเลือกเพียงร้อยละ 10 การเลือกตั้งนั้นก็ไม่เป็นโมฆะ เพราะกฎหมายให้นับแต่เฉพาะคะแนนของคนที่ไปลง ไม่ได้นับคนที่ไม่ไปใช้สิทธิ์

                   สมมุติว่าในเขตเลือกตั้งหนึ่ง มีผู้มีสิทธิลงคะแนนจำนวน 100,000 คน มีผู้สมัคร 2 คน  ในวันเลือกตั้ง ทั้งเขตมีคนไปลงคะแนนเพียง 10 คน  นาย ก. ได้ 10 คะแนน นาย ข. ไม่ได้คะแนนเลย  นาย ก. ก็ได้รับเลือกตั้ง ทั้งยังกล่าวอ้างอย่างเต็มปากด้วยความภูมิใจว่า ได้รับเลือกมาด้วยคะแนน 100 เปอร์เซ็นต์ การเลือกตั้งนั้นก็ใช้ได้ตามกฎหมาย

                    ความเป็นโมฆะของการเลือกตั้ง จะไม่ได้เกิดจากจำนวนคนที่ออกไปใช้สิทธิ หากแต่อาจจะเกิดขึ้นจากการที่ไม่อาจจัดการเลือกตั้งได้ในวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร  ซึ่งทั้งรัฐบาลก็รู้ และ กกต. ก็รู้  เพียงแต่ยังไม่ได้มีการพูดกันอย่างจริงจัง  ซึ่งนั่นก็คงนำไปสู่ความรับผิดชอบทั้งทางอาญาและทางแพ่งที่อาจจะเกิดมีขึ้นกับรัฐบาลและ กกต. ในวันข้างหน้า ขึ้นอยู่กับว่าใครจะป้องกันตัวเองได้รอบคอบกว่ากัน

                   ถ้ามีการเลือกตั้งเกิดขึ้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ และคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลพากันไม่ออกไปลงคะแนนเลือกตั้ง คงมีแต่คนที่เห็นด้วยกับรัฐบาลออกไปลงคะแนน  ผลจะเป็นดังนี้
                   1. คนที่ไม่ออกไปใช้สิทธิจะถูกตัดสิทธิทางการเมืองทุกคน เว้นแต่คนที่ได้แจ้งเหตุไม่ไปลงคะแนนไว้แล้ว
                   2. คะแนนที่ปรากฏจาการเลือกตั้ง จะเป็นว่า ผู้มาใช้สิทธิทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์หรือเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ เลือกผู้สมัครของรัฐบาล ซึ่งเป็นผลดีต่อรัฐบาลทำให้เกิดกำลังใจในการดำเนินการตามนโยบายที่คิดว่าดีแล้วต่อไปได้อย่างเต็มที่ และใช้เป็นข้ออ้างตามหลักของการเลือกตั้งปัจจุบันได้ว่าคนทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดสนับสนุนการกระทำของรัฐบาล
                   3. ส่วนคนที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ก็จะถูกกล่าวอ้างได้ว่า เป็นพวกที่ไม่สนใจในการเลือกตั้ง หรือไม่สนใจในผลของการเลือกตั้ง ใครจะทำอย่างไรก็รับได้เสมอ

                   แต่ถ้าผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของรัฐบาลพากันออกไปใช้สิทธิลงคะแนน ผลจะเป็นดังนี้
                   1. คนที่เห็นดีเห็นงามกับรัฐบาลก็จะเป็นโอกาสแสดงให้รัฐบาลรับรู้ถึงความเห็นด้วยนั้น อันเป็นกำลังใจที่สำคัญให้แก่รัฐบาลที่จะทำการตามนโยบายของรัฐบาลต่อไป ส่วนคนที่ไม่เห็นด้วย ก็จะได้ใช้โอกาสนี้ไปแสดงให้ปรากฏว่าไม่เห็นด้วย โดยการไปทำเครื่องหมายในช่อง “ไม่ประสงค์จะลงคะแนนเลือกตั้ง” หรือที่เรียกกันว่า no vote หรือ vote no หรือแม้แต่ผู้ที่คัดค้านการเลือกตั้ง ก็ต้องไปใช้สิทธิด้วยการทำเครื่องหมายในช่องดังกล่าว เพราะเป็นทางเดียวที่จะแสดงออกอย่างเป็นทางการได้
                   2. สำหรับในเขตที่มีคนสมัครคนเดียว คนที่ไม่เห็นด้วยยิ่งต้องไปใช้สิทธิเพื่อแสดงออก เพราะตามกฎหมายนั้น เมื่อมีผู้สมัครคนเดียว ผู้สมัครคนนั้นจะได้รับเลือกตั้งก็ต่อเมื่อได้คะแนนไม่น้อยกว่าร้อยละ ๒๐ ของผู้มีสิทธิลงคะแนนในเขตนั้น และต้องได้คะแนนมากกว่าจำนวนผู้ vote no การไปใช้สิทธิเพื่อทำเครื่องหมายในช่องดังกล่าวจึงเป็นความสำคัญ และมีผลตามกฎหมาย เพราะเป็นวิธีเดียวที่จะขจัดคนที่เราเห็นว่าไม่ดี ให้ไม่ได้รับเลือกตั้ง
                   3. สำหรับในเขตที่มีคนสมัครมากกว่าหนึ่งคน แม้คะแนน vote no จะไม่มีผลต่อการได้รับเลือกตั้งของผู้สมัคร  แต่ก็จะเป็นเครื่องหมายแสดงว่ามีประชาชนไม่ต้องการผู้สมัครคนนั้นขนาดไหน ยิ่งถ้าคะแนน vote no มีมากกว่าคะแนนที่เขาได้รับ  เขาก็จะอ้างไม่ได้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ได้เลือกให้เขามาเป็นผู้แทน  ข้อสำคัญน้ำหนักของคะแนน vote no จะเป็นแรงกระตุ้นให้มีการแก้ไขกฎหมายเลือกตั้ง ให้พัฒนาไปอีกขั้นหนึ่ง คือ ต่อไป ไม่ว่าจะมีผู้สมัครกี่คน  สมควรจะกำหนดไว้ในกฎหมายหรือไม่ว่า คนที่จะได้รับเลือกตั้งจะต้องได้คะแนนมากกว่าคะแนน vote no  และเมื่อมีการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ (เพราะไม่มีใครได้รับเลือกตั้ง)  คนที่สมัครแล้วได้คะแนนน้อยกว่าคะแนน vote no จะต้องหมดสิทธิในการลงรับสมัครในการเลือกตั้งครั้งนั้น  เพราะถือว่าประชาชนเสียงข้างมากได้แสดงให้ปรากฏว่าไม่เอาคนนั้นแล้ว จึงไม่มีเหตุผลอะไรที่จะดึงดันให้ประชาชนต้องเลือกอีก  ถ้าสามารถผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งให้มีผลดังกล่าวได้ สิทธิของเราจะสมบูรณ์ยิ่งขึ้น  เพราะบอกได้ว่าเราจะเอาหรือไม่เอาใคร
                   4. การไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งกันทั้งหมด ก็จะพากันถูกตัดสิทธิในทางการเมือง ในยามจำเป็นที่จะต้องเข้าชื่อกันเพื่อดำเนินการบางอย่าง เช่น ถอดถอน หรือเสนอกฎหมาย ก็จะไม่เหลือใคร
                   5. การไปใช้สิทธิ จะแสดงว่าประชาชนมิได้รังเกียจการเลือกตั้งหรือคัดค้านการเลือกตั้ง เพียงแต่เห็นว่ามีความจำเป็นต้องปรับปรุงกติกาเสียใหม่ให้เกิดความสุจริตและเที่ยงธรรมเสียก่อน จึงแสดงออกด้วยการ vote no การไม่ไปใช้สิทธิ นอกจากความสะใจแล้ว ก็ไม่ได้ผลอะไร ทั้งยังอาจถูกแปลไปว่าไม่มีใครสนใจในการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นปกติของการเลือกตั้งทั่วไปที่คนเกือบครึ่งหนึ่งมิได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ทั้งการเลือกตั้งนั้นก็ยังดำเนินต่อไป และใช้อ้างอิงได้
                   6. ถ้าคนส่วนใหญ่ไม่ออกไปใช้สิทธิ จะแน่ใจได้อย่างไรว่าจะไม่มีใครถือโอกาสขนใครไปใช้สิทธิแทนเรา ขนาดการใช้สิทธิล่วงหน้า ยังมีคนขนคนที่ไม่มีบัตรแสดงตนมาลงคะแนนเอาด้าน ๆ เมื่อจับได้คาหนังคาเขา ตำรวจยังปล่อยตัวไปเสียอย่างนั้นแหละ

                   โดยสรุป การเลือกครั้งนี้ (หากจะมีขึ้นตามความต้องการของรัฐบาล) ประชาชนทุกคนที่มีสิทธิเลือกตั้ง  ต้องออกไปใช้สิทธิกันทุกคน ทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล เพราะเป็นโอกาสเดียวที่จะแสดงออกให้เห็นถึงความประสงค์อันแท้จริงของประชาชน  อุตส่าห์ออกกันมามืดฟ้ามัวดิน  แต่ถูกเขากล่าวหาว่ามีเพียงไม่กี่หมื่นกี่แสนคน  เพราะไม่มีใครนับมายืนยันให้ยอมรับกันได้ว่าเป็นแสนหรือเป็นล้าน  การไปใช้สิทธินี่แหละจะยืนยันได้ว่าคนไม่เห็นด้วยมีจำนวนเพียงไม่กี่แสนคนจริงหรือ

                   ที่สำคัญคนที่เห็นด้วยกับรัฐบาลก็ต้องออกไป เพื่อเป็นกำลังใจให้รัฐบาล ในขณะเดียวกันคนที่ไม่เห็นด้วยก็ต้องออกไปเพื่อไปแสดงออกให้เป็นที่ประจักษ์ ด้วยการ vote no  คนจำนวนมากเขาลำบากตรากตรำ พลัดที่นาคาที่อยู่ มากินนอนกลางถนนด้วยความเหนื่อยยากเป็นเดือน ๆ แม้แต่ชีวิตก็ต้องเสียไป  แล้วเราจะนั่งรอเสวยผลจากความลำบากของเขา บนชีวิตเลือดเนื้อของเขา โดยไม่ทำอะไรเลย แม้เพียงแค่ออกไปแสดงให้ปรากฏในคูหาเลือกตั้ง  จะไม่เป็นการเอาเปรียบเขาเกินไปหรือ จะไม่อายตัวเองและลูกหลานทีเดียวหรือ

                   ส่วนการที่การเลือกตั้งที่จัดให้มีขึ้นจะกลายเป็นโมฆะในภายหลังหรือไม่ ก็ไม่มีผลกระทบกับการออกไปใช้สิทธิของประชาชน  เพราะตัวเลขที่จะปรากฏจากผลการออกไปใช้สิทธิจะยังใช้ได้และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรหลายอย่างได้ในที่สุด  เพราะเหตุที่จะกลายเป็นโมฆะนั้น จะไม่เกี่ยวกับจำนวนคนที่ออกไปใช้สิทธิ หากแต่เกี่ยวกับกระบวนการในการจัดการเลือกตั้ง  และวันที่กำหนดให้มีการเลือกตั้ง

                   แต่ถ้าเกิดเหตุเภทภัยใดจนทำให้ไม่สามารถเข้าไปใช้สิทธิเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้งได้ ก็เป็นอันจนใจ  ไม่จำเป็นต้องลำบากถึงขนาดจะต้องดันทุรังให้เป็นภัยแก่ตัวเอง  เพราะถ้ามีเหตุเกิดขึ้นเช่นนั้น การเลือกตั้งในหน่วยนั้นก็คงไม่มีอยู่ดีแหละ

มีชัย ฤชุพันธุ์
                                                                                        29 มกราคม 2557                  

วันพุธที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2557

ปัญหาน่าขบ 3: เลื่อนได้หรือไม่ได้

ปกรณ์ นิลประพันธ์

                   ลูกชายผมดูข่าวทีวีแล้วมีคำถามอีกแล้วครับ คืออย่างนี้ครับ สองสามวันก่อนหนุ่มน้อยดูข่าวสารบ้านเมืองเราที่วนเวียนวุ่นวายกับการถกเถียงของผู้เซี่ยวซานทั้งหลายว่าการเลื่อนเลือกตั้งทั่วไปทำได้หรือไม่ได้ หลังจากนั้นก็เป็นข่าวต่างประเทศเกี่ยวกับ Polar Vortex ที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาที่หนาวสุดขั้วจนชาวบ้านออกมาจากบ้านไม่ได้ เขาจึงยิงคำถามมาที่ผมทันทีว่าถ้านักอุตุนิยมวิทยามีข้อมูลที่ "คาดว่า" จะเกิดเหตุการณ์ Polar Vortex เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นที่สหรัฐอเมริกาสองสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น ครอบคลุมพื้นที่ประเทศไทย "ทั้งประเทศ" ในช่วงที่มีการเลือกตั้งทั่วไป เราจะเลื่อนวันเลือกตั้งทั่วไปได้หรือไม่? เพราะเหตุใด?

                   ผมตอบลูกไปว่าการเลือกตั้งทั่วไปไม่ได้เป็นเพียงพิธีกรรมในระบอบประชาธิปไตยที่ต้องทำเมื่ออายุของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงไม่ว่าด้วยเหตุครบวาระการดำรงตำแหน่งหรือเมื่อมีการยุบสภา แต่เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนทั้งประเทศมาเจตนารมณ์โดยพร้อมเพรียงกันเพื่อตัดสินใจว่าของพวกเขาต้องการเลือกพรรคการเมืองใดที่มีนโยบายตรงกับความต้องการของเขาให้เข้ามาบริหารประเทศ ดังนั้น การดำเนินการเลือกตั้งจึงต้องเอื้อต่อการแสดงความต้องการที่แท้จริงของประชาชนทั้งประเทศ เช่น วันเวลาที่ประชาชนสะดวก สถานที่เลือกตั้งต้องสะดวกต่อการเดินทางไปใช้สิทธิของคนในเขตเลือก คูหาเลือกตั้งต้องจัดในลักษณะที่ผู้มีสิทธิสามารถใช้สิทธิได้อย่างสมบูรณ์ คือ ไม่มีใครเห็นว่าเราลงคะแนนเลือกใคร เป็นต้น ในกรณีที่นักอุตุนิยมวิทยามีข้อมูลที่คาดว่าจะเกิดเหตุการณ์ Polar Vortex แน่นอน แต่ยังคงดึงดันให้มีการเลือกตั้งในช่วงสภาวะวิกฤติเช่นนั้น ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนมากคงไม่สามารถออกมาใช้สิทธิได้ เนื่องจากปัจจัยภายนอกที่คุกคาม หรือหากออกมาใช้สิทธิได้ การใช้สิทธินั้นก็ไม่อยู่บนพื้นฐานของการรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายของผู้สมัครที่เพียงพอ เพราะในสภาวการณ์เช่นนั้น คงไม่มีผู้สมัครรายใดออกมาหาเสียงเลือกตั้งได้เช่นกัน ด้วยเหตุผลเช่นนี้ หากดันทุรังให้มีการเลือกตั้งต่อไป ผลการเลือกตั้งที่ออกมาก็จะไม่สะท้อนความต้องการที่แท้จริงของประชาชนอันเป็นเจตนารมณ์ที่แท้จริงของการเลือกตั้ง การที่กฎหมายมีบทบัญญัติเพื่อเป็นหลักประกันให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยบริสุทธิ์และยุติธรรมก็เพื่อให้ได้มาซึ่งแสดงออกถึงความต้องการที่แท้จริงของประชาชนนั่นเอง กรณีจึงมิใช่ว่าหากกฎหมายไม่ได้เขียนให้เลื่อนจึงเลื่อนไม่ได้ อันการตีความตามตัวอักษรโดยมิได้คำนึงถึงเจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมายซึ่งให้ผลที่แปลกประหลาด (Absurd) 

                   ถูกหรือผิดก็ไม่รู้ และประยุกต์ใช้กับประเทศไทยได้หรือไม่ก็ไม่รู้ อิอิ!!

วันจันทร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2557

ความเป็นกลางในการตีความกฎหมาย

นายปกรณ์ นิลประพันธ์[1]

[1]                การตีความหรือการให้ความหมาย (Construal or Interpretation) ในเรื่องต่าง ๆ นั้น มีหลากหลายวิธี แต่ไม่ว่าจะเป็นวิธีใดต่างก็มีวัตถุประสงค์สุดท้าย (Ultimate purpose) อย่างเดียวกัน นั่นก็คือ เพื่อให้เจตนารมณ์ที่แท้จริงของเรื่องนั้นปรากฏขึ้น

[2]                วัตถุประสงค์ของการตีความกฎหมายก็หาได้แตกต่างจากหลักการตีความดังกล่าวข้างต้นไม่ แม้ระบบกฎหมายจะแบ่งออกเป็น 2 ระบบใหญ่ ๆ คือ ระบบจารีตประเพณี (Common Law System) กับระบบประมวลธรรม (Civil Law System) และแต่ละระบบกฎหมายต่างก็มี “นิติวิธี” (Juristic methods) หรือการใช้การตีความกฎหมายที่แตกต่างกัน แต่การตีความกฎหมายของทั้งสองระบบต่างก็มุ่งไปสู่วัตถุประสงค์เช่นเดียวกัน นั่นก็คือ เพื่อให้ทราบถึงความมุ่งหมายหรือเจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมาย อันจะทำให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างถูกต้องและเป็นธรรม

[3]                ในบทความนี้ ผู้เขียนจะไม่กล่าวถึงรายละเอียดของนิติวิธีในการตีความกฎหมายของทั้งระบบกฎหมายจารีตประเพณี[2] และการตีความกฎหมายของระบบประมวลธรรม[3] เนื่องจากมีตำราว่าด้วยวิธีการตีความกฎหมายของนักวิชาการหลายท่านได้อรรถาธิบายไว้โดยพิสดารแล้ว แต่จะขอกล่าวถึงหลักเกณฑ์ที่เป็นกรอบในการตีความกฎหมายที่ไม่มีใครพูดถึง นั่นก็คือ ความเป็นกลางในการตีความกฎหมาย

[4]                ผู้เขียนเห็นว่าการให้ความเห็นทางกฎหมายของนักกฎหมายกับการพิพากษาอรรถคดีของผู้พิพากษาหรือตุลาการนั้นต่างก็เป็นการตีความกฎหมายและมี “เนื้อหา” เป็นอย่างเดียวกัน เพราะเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งเจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมายเพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น (กรณีนักกฎหมายทั่วไป) หรือเพื่อนำไปใช้ในการพิพากษาอรรถคดีเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่คู่กรณี (กรณีผู้พิพากษาหรือตุลาการ)

[5]                อย่างไรก็ดี “ผลที่เกิดขึ้น” ของการให้ความเห็นทางกฎหมายของนักกฎหมายทั่วไปในวาระและโอกาสต่าง ๆ กับการพิพากษาอรรถคดีของผู้พิพากษาหรือตุลาการนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากการให้ความเห็นทางกฎหมายของนักกฎหมายทั่วไปนั้นมีผลกระทบต่อความรู้ความเข้าใจของสังคมที่มีต่อกฎหมายในวงกว้างเพราะนักกฎหมายทั่วไปนั้นสัมผัสใกล้ชิดกับประชาชนมากกว่าผู้พิพากษาหรือตุลาการซึ่งต้องดำรงตนตามกรอบจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ และการตีความกฎหมายเพื่อประโยชน์ในการพิพากษาอรรถคดีของผู้พิพากษาหรือตุลาการก็มีผลผูกพันเฉพาะคู่กรณีเท่านั้น อีกทั้ง “การเข้าถึง” คำพิพากษาหรือคำวินิจฉัยของผู้พิพากษาหรือตุลาการนั้นยังมีข้อจำกัดอยู่มาก

[6]                แม้การให้ความเห็นทางกฎหมายของนักกฎหมายทั่วไปจะมี ผลกระทบ ที่กว้างขวางกว่าการตีความกฎหมายเพื่อประโยชน์ในการพิพากษาอรรถคดีของผู้พิพากษาหรือตุลาการดังกล่าวข้างต้น แต่นักกฎหมายส่วนใหญ่กลับมิได้ตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการให้ความเห็นทางกฎหมายของตน นักกฎหมายจำนวนมากจึงมิได้วางจิตให้เป็นกลางในการให้ความเห็นทางกฎหมายทั้งที่เรื่องดังกล่าวเป็นหัวใจสำคัญของการตีความกฎหมายของผู้พิพากษาหรือตุลาการในการพิพากษาอรรถคดี การให้ความเห็นของนักกฎหมายส่วนใหญ่จึงมิได้คำนึงถึงวัตถุประสงค์สุดท้าย (Ultimate purpose) ของการตีความกฎหมายที่มุ่งหมายให้ให้เจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมายนั้นปรากฏขึ้นเนื่องจากมิได้มีจิตเป็นกลางมาแต่ต้น และหลายกรณีเป็นการให้ความเห็นโดยมิได้อยู่บนพื้นฐานของนิติวิธี (Juristic Method) ในการตีความกฎหมาย

[7]                ดังนี้ การให้ความเห็นทางกฎหมายของนักกฎหมายจำนวนมากที่ละเลยหลักการข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อดังกล่าวข้างต้น จึงให้ผลที่ไม่สมเหตุสมผลหรือ “แปลกประหลาด” (Absurd) อยู่เสมอ อันทำให้สังคมเกิดความสับสนและขาดความเชื่อถือศรัทธาที่มีต่อนักกฎหมายและผู้ประกอบวิชาชีพกฎหมายโดยรวม และสร้างบรรทัดฐานที่ไม่ชอบด้วยเหตุผล (Absurd norms) ขึ้นในสังคม ทั้งยังส่งผลให้ผู้ประกอบอาชีพอื่น ๆ เข้ามาร่วมตีความกฎหมายด้วยทั้งที่ไม่เคยศึกษาหลักการและนิติวิธีในการตีความกฎหมาย ซึ่งยิ่งทำให้สังคมสับสนมากยิ่งขึ้น เช่น การให้ความเห็นว่าบุคคลกระทำที่กฎหมายบัญญัติไว้เป็นความผิดเป็นการกระทำที่บกพร่องโดยสุจริต การให้ความเห็นว่าบุคคลมิได้กระทำความผิดตามกฎหมายเพียงแต่กระทำการอันกฎหมายห้าม การให้ความเห็นว่าเสียงข้างมากเป็นเผด็จการ การให้ความเห็นว่าการชุมนุมในที่สาธารณะเป็นการใช้สิทธิที่รัฐธรรมนูญรับรอง ผู้ชุมนุมจึงย่อมปิดกั้นถนนหนทางใด ๆ หรือบุกรุกเข้าไปในหรือปิดกั้นสถานที่ราชการได้ การให้ความเห็นว่าการปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีในบางกรณีไม่ต่างจากบุรุษไปรษณีย์ เป็นต้น

[8]                ผู้เขียนเห็นว่าโดยที่การให้ความเห็นทางกฎหมายของนักกฎหมายกับการพิพากษาอรรถคดีของผู้พิพากษาหรือตุลาการนั้นมีเนื้อหาอย่างเดียวกันดังกล่าวแล้วใน [4] นักกฎหมายซึ่งจะแสดงอรรถกถาหรือให้ความเห็นทางกฎหมายในเรื่องใด ๆ จึงต้องกระทำโดยมีจิตเป็นกลางเช่นเดียวกับการพิพากษาอรรถคดีของผู้พิพากษาหรือตุลาการ ศึกษาวิเคราะห์และอธิบายตรรกะของเรื่องตามนิติวิธีในการตีความกฎหมาย โดยมุ่งหมายให้ให้เจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมายนั้นปรากฏขึ้น มิใช่เพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งของผู้ใดหรือแนวทางที่ตนเองจะได้ประโยชน์

[9]                โดยที่การทำจิตให้เป็นกลางในการพิพากษาอรรถคดีของผู้พิพากษาหรือตุลาการนั้นนักกฎหมายไทยยึดถือตามหลัก “อินทภาษ” มาแต่โบราณ แต่โดยที่หลักการนี้ไม่มีการอบรมสั่งสอนกันในมหาวิทยาลัยเนื่องจากไม่ถือว่าเป็นศาสตร์ หากเป็นจารีตปฏิบัติในการประกอบวิชาชีพซึ่งก็มิได้มีการอบรมสั่งสอนกันอย่างจริงจัง ผู้เขียนจึงใคร่ขอถือโอกาสนี้คัดลอกหลักอินทภาษตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายตราสามดวงมาเพื่อท่านผู้อ่านได้ศึกษาและยึดถือเป็นหลักปฏิบัติเพื่อให้มีจิตใจที่เป็นกลางในการประกอบอาชีพและการให้ความเห็นทางกฎหมาย เพื่อป้องกันมิให้มีการให้ความเห็นทางกฎหมายที่สร้างความสับสนแก่สังคมอีกต่อไป โดยผู้เขียนคัดลอกมาจากหนังสือ เรื่อง กฎหมายเมืองไทย จัดพิมพ์โดยมิศเตอร์ ดีบีบรัดเล พิมพ์ครั้งที่ 8 จุลศักราช 1251 ปีฉลูเอกศก หน้า 29-30 ดังนี้

[10]               "ในเทวอรรถาธิบายว่า บุทคลผู้ใดจะเปนผู้พิภาคษาตัดสินคดีการแห่งมนุษนิกรทั้งหลาย พึงกระทำสันดาน ให้นิราศปราศจากอะคติธรรมทั้ง ๔ คือ ฉันทาคติ ๑ โทสาคติ ๑ ภะยาคติ ๑ โมหาคติ ๑ ทั้ง ๔ ประการนี้เปนทุจริตธรรม อันมิได้สอาจ มิได้เปนของแห่งสัปรุษแล้ว ธรรมทั้ง ๔ เรียกว่าอะคตินั้น ด้วยเหตุเป็นดังฤา อะคตินั้นแปลว่ามิได้เป็นที่ดำเนินแห่งสัปรุษ และฉันทะ ๑ โทสะ ๑ ไภยะ ๑ โมหะ ๑ ธรรมทั้ง ๔ นี้ นักปราชมิควรถึงมิคงรดำเนินไปตาม และฉันทะนั้นถ้าจะว่าตามภูมก็เปนอัญญัสะมาณะราษีเจตสิก กุศลเกิดได้ฝ่ายอกุศลก็เกิดได้ แต่ทว่าเอามาจัดเข้าในคตินี้ ฉันทะนั้นเปนอกุศลจิตโดยแท้ แลโทสะ ไภยะ โมหะ สามด้วงนี้ เปนอะกุศลเจตสิกฝ่ายเดียว แลซึ่งว่าผู้พิภาคษาปราศจากฉันทาคตินั้น คือทำจิตรให้นิราศจากโลภ อย่าได้เหนแก่ลาภโลกามิตรสินจ้างสินบน อย่าได้เข้าด้วยฝ่ายโจทยฝ่ายจำเลยเป็นเหตุจะได้วิญญาณพัศดุ แสอวิญญาณพัศดุ ให้กระทำจิตรให้เปนจัตุรัศเที่ยงแท้ เปนนท่ำกลางดังตราชูยกขึ้น อย่าได้กดขี่ฝ่ายโจทยฝ่ายจำเลย ยกข้างฝ่ายโจทย กดข้างฝ่ายจำเลย ให้พ่ายแพ้แก่กันลงด้วยอำนาจของตน ถึงมาทว่าผู้ต้องคดีนั้นจะเปนเผ่าพันธุ เปนต้นว่าบิดามารดาก็ดี อย่าพึงเข้าด้วยสามารถฉันทาคติ อันมิควรจะพึงไป จงทำจิตรให้ตั้งอยู่ในอุเบกขาญาณ จึ่งได้ชื่อว่าเปนองคตุลาการ มีอาการอันเสมอเหมือนด้วยตราชูให้พิจารณาไต่ไปตามพระธรรมสาตรราชสาตร อันโบราณบัณฑิตยชาติ และกระษัตริยแต่ป่างก่อนบัญญัติไว้อย่าให้พลั้งพลาด แลผู้พิภาคษาตระลาการ ไต่ไปโดยคลองธรรมดังกล่าวมานี้ ได้ชื่อว่าปราศจากฉันทาคติ คืออะคติเป็นประถม ๑ ฯ แลปราศจากโทสาคตินั้นคือให้ผู้พิภาคษาตระลาการ ทำจิตรให้เสมอ อย่าได้ไต่ไปตามอำนาจโทสาพยาบาท จองเวรว่าผู้นั้นเปนปฏิปักข ฆ่าศึกผิดกันกับอาตมา อย่ากระทำซึ่งความโกรธ แลเวรพยาบาทเปนเบื้องน่า แล้วแลพิจารณากดขี่ให้พ่ายแพ้ ถึงมาทว่าฝ่ายโจทยฝ่ายจำเลยก็ดีจะเปนคนฆ่าศึกผิดกันกับตนอยู่ในกาลก่อน ก็อย่าได้ปล่อยซึ่งจิตร ให้ไต่ไปตามอำนาจโทสาคติ พึงดำเนินไปตามพระธรรมสาตรราชสาตร แลตั้งจิตรไว้ในมัชตุเบกขาให้แน่แน่ว แล้วจึ่งพิจารณาตัดสินเป็นท่ำกลาง อย่าให้ฝ่ายโจทยฝ่ายจำเลยแพ้ชนะกันด้วยอำนาจโทสะจิตรจองเวรแห่งตน เมื่อตระลาการพิภาคษาผู้ใดประพฤติได้ดังกล่าวมานี้ ได้ชื่อว่าพิภาคษาตระลาการผู้นั้นปราศจากโทสาคติ มิได้ตามอะคติเป็นคำรบสอง ฯะ"

[11]              ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า นักกฎหมายผู้ซึ่งจะให้ความเห็นทางกฎหมายในเรื่องใด ๆ ภายหลังจากที่ได้อ่านบทความนี้แล้ว จะได้ปฏิบัติตามหลักอินทภาษเพื่อทำจิตให้เป็นกลางก่อนให้ความเห็นทางกฎหมายเพื่อให้ได้มาซึ่งเจตนารมณ์ที่แท้จริงของกฎหมาย และโดยถูกต้องตามนิติวิธีในการตีความกฎหมายต่อไป

                   “นัตวาชินาหังปะวะรังมุนินทัง ธัมมัญจะสังฆังวะระอัฐฐะสาธังวักขามิเสฐฐังวะระอินทภาสัง ปรัมปราภัตะกะวานสารัง ฯ อะหัง นัตวาชินัง มุนุนทัง เสฐฐัง ปะวะรัง จะปะนะเกวะละเมวะ นัตวาธัมมัง ปริญัติ จะปะนะเกวะละเมวะ นัตวาสังฆัง วะระอัตถสาธัง วักขามิ คัณฐัง อินทภาสัง ปรัมปราภัตตะกะถานุสารัง วะรัง

                   




[1]กรรมการร่างกฎหมายประจำ (นักกฎหมายกฤษฎีกาทรงคุณวุฒิ) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (2557) อนึ่ง บทความนี้เป็นความคิดเห็นทางวิชาการโดยอิสระส่วนบุคคลของผู้เขียน หน่วยงานอันเป็นต้นสังกัดของผู้เขียนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ กับบทความนี้
[2]ได้แก่ Literal rule, Golden rule และ Mischief rule
[3]ได้แก่ Literal Approach กับ Purposive Approach 

วันพฤหัสบดีที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2557

สิทธิและหน้าที่ของอารยชนในการชุมนุม

ร่าง
พระราชบัญญัติ
การชุมนุมสาธารณะ
พ.ศ. ....
                       

..................................
..................................
..................................

                        ...........................................................................................................
..................................

                   โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ

                        พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๓๒ มาตรา ๓๔ และมาตรา ๖๓ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

                        ...........................................................................................................
..................................

                   มาตรา ๑  พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. ....

                มาตรา ๒  พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

                                มาตรา ๓  พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับกับการชุมนุมสาธารณะ ดังต่อไปนี้
                   (๑) การชุมนุมเนื่องในงานพระราชพิธีและงานรัฐพิธี
                   (๒) การชุมนุมเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาหรือกิจกรรมตามประเพณีหรือตามวัฒนธรรมแห่งท้องถิ่น
                   (๓) การชุมนุมเพื่อจัดแสดงมหรสพ กีฬา หรือกิจกรรมอื่นเพื่อประโยชน์ทางการค้าปกติของผู้จัดการชุมนุมนั้น
                        (๔) การชุมนุมภายในสถานศึกษา
                   (๕) การชุมนุมหรือการประชุมตามบทบัญญัติของกฎหมายหรือการประชุมสัมมนาทางวิชาการของสถานศึกษาหรือหน่วยงานที่มีวัตถุประสงค์ทางวิชาการ

                   มาตรา ๔  การชุมนุมสาธารณะในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือประกาศใช้กฎอัยการศึก และการชุมนุมสาธารณะที่จัดขึ้นเพื่อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้งในช่วงเวลาที่มีการเลือกตั้ง ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น

                        มาตรา ๕  ในพระราชบัญญัตินี้
                        “การชุมนุมสาธารณะ” หมายความว่า การชุมนุมของบุคคลในที่สาธารณะเพื่อเรียกร้อง สนับสนุน คัดค้าน หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยแสดงออกต่อประชาชนทั่วไป และบุคคลอื่นสามารถเข้าร่วมการชุมนุมนั้นได้ ไม่ว่าการชุมนุมนั้นจะมีการเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายด้วยหรือไม่
                        “ที่สาธารณะ” หมายความว่า ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอันเป็นทรัพย์สินของแผ่นดินที่ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันหรือที่หน่วยงานของรัฐมิได้เป็นเจ้าของแต่เป็นผู้ครอบครองหรือใช้ประโยชน์ บรรดาซึ่งประชาชนมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้ รวมตลอดทั้งทางหลวงและทางสาธารณะ
                   “ทางหลวง” หมายความว่า ทางหลวงตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวง
                   “ทางสาธารณะ” หมายความว่า ทางบกหรือทางน้ำสำหรับประชาชนใช้ในการจราจร และให้หมายความรวมถึงทางรถไฟและทางรถรางที่มีรถเดินสำหรับประชาชนโดยสารด้วย
                        “ผู้จัดการชุมนุม” หมายความว่า ผู้จัดให้มีการชุมนุมสาธารณะ และให้หมายความรวมถึงผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะตามมาตรา ๑๐ วรรคสอง และผู้ซึ่งเชิญชวนหรือนัดหมายให้ผู้อื่นมาร่วมการชุมนุมสาธารณะโดยแสดงออกหรือทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้จัดหรือร่วมจัดให้มีการชุมนุมนั้น
                        “ผู้ชุมนุม” หมายความรวมถึง ผู้จัดการชุมนุม และผู้เข้าร่วมการชุมนุมสาธารณะไม่ว่าจะเข้าร่วมการชุมนุมสาธารณะนั้นตามคำเชิญชวนหรือนัดหมายของผู้จัดการชุมนุมหรือไม่
                        “หน่วยงานของรัฐ” หมายความว่า ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การของรัฐบาล องค์การมหาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานอื่นของรัฐ
                   “ผู้รับแจ้ง” หมายความว่า หัวหน้าสถานีตำรวจแห่งท้องที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะหรือบุคคลอื่น ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดให้เป็นผู้มีหน้าที่รับแจ้งการชุมนุมสาธารณะตามพระราชบัญญัตินี้
                        “ศาล” หมายความว่า ศาลแพ่งหรือศาลจังหวัดที่มีเขตอำนาจเหนือสถานที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะ
                        “รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้
  
                   มาตรา ๖  ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
                   ประกาศนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

หมวด ๑
บททั่วไป
                       

                   มาตรา ๗  การชุมนุมสาธารณะต้องเป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ
                   การใช้สิทธิและเสรีภาพของผู้ชุมนุมในระหว่างการชุมนุมสาธารณะต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมาย

                   มาตรา ๘  การชุมนุมสาธารณะต้องไม่กีดขวางทางเข้าออกสถานที่ ดังต่อไปนี้
                   (๑) สถานที่ประทับของพระมหากษัตริย์ พระราชินี และพระรัชทายาทและสถานที่พำนักของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
                   (๒) รัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล ศาล และหน่วยงานของรัฐ
                   (๓) ท่าอากาศยาน ท่าเรือ สถานีรถไฟ หรือสถานีขนส่งสาธารณะ
                   (๔) โรงพยาบาล สถานศึกษา และศาสนสถาน
                   (๕) สถานทูตหรือสถานกงสุลของรัฐต่างประเทศ

                   มาตรา ๙  ในกรณีที่เห็นสมควร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจจัดให้มีสถานที่เพื่อใช้สำหรับการชุมนุมสาธารณะก็ได้
                        ในการจัดให้มีสถานที่สำหรับการชุมนุมสาธารณะตามวรรคหนึ่ง ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นคำนึงถึงผลกระทบต่อความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะนั้นด้วย
                   การจัดให้มีสถานที่เพื่อการชุมนุมสาธารณะตามมาตรานี้ไม่กระทบต่อเสรีภาพของประชาชนที่จะจัดการชุมนุมสาธารณะในที่สาธารณะอื่น
                        มิให้นำความในหมวด ๒ การแจ้งการชุมนุมสาธารณะ มาใช้บังคับกับการชุมนุมสาธารณะในบริเวณสถานที่ตามวรรคหนึ่ง

หมวด ๒
การแจ้งการชุมนุมสาธารณะ
                       

                        มาตรา ๑๐  เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะและเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของผู้อื่นตามกฎหมาย ผู้ใดประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะและการชุมนุมนั้นกระทบต่อความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะให้มีหนังสือแจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่าเจ็ดสิบสองชั่วโมง
                        ให้ถือว่าผู้เชิญชวนหรือนัดหมายให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุมในวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนด รวมทั้งผู้ขออนุญาตใช้สถานที่หรือเครื่องขยายเสียงหรือขอให้ทางราชการอำนวยความสะดวกในการชุมนุม เป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะตามวรรคหนึ่ง
                        หนังสือแจ้งการชุมนุมสาธารณะให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

                   มาตรา ๑๑  ให้ผู้รับแจ้งเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

                        มาตรา ๑๒  ให้ถือว่าการชุมนุมสาธารณะที่อาจก่อให้เกิดกรณีดังต่อไปนี้เป็นการชุมนุมที่กระทบต่อความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะที่ต้องแจ้งการชุมนุมตามมาตรา ๑๐
                   (๑) ขัดขวางความสะดวกของประชาชนที่จะใช้หรือเข้าออกที่สาธารณะนั้นตามปกติ
                   (๒) ขัดขวางการให้บริการหรือใช้บริการท่าอากาศยาน ท่าเรือ สถานีขนส่งสาธารณะ ระบบการขนส่งสาธารณะ หรือการสื่อสารสาธารณะอื่น
                   (๓) กีดขวางทางเข้าออกสถานที่ตามมาตรา ๘

                   มาตรา ๑๓  ในกรณีที่ผู้รับแจ้งเห็นว่าการชุมนุมสาธารณะที่ได้รับแจ้งนั้นขัดต่อมาตรา ๘ ให้ยื่นคำขอต่อศาลเพื่อมีคำสั่งห้ามการชุมนุม
                        ให้ศาลพิจารณาคำขอเพื่อมีคำสั่งห้ามการชุมนุมตามวรรคหนึ่งเป็นการด่วนคำสั่งของศาลตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด

                   มาตรา ๑๔  ให้ผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะซึ่งไม่สามารถแจ้งการชุมนุมได้ภายในกำหนดเวลาตามมาตรา ๑๐ มีหนังสือแจ้งการชุมนุมพร้อมคำขอผ่อนผันกำหนดเวลาดังกล่าวต่อผู้บัญชาการตำรวจนครบาลในกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดอื่น แล้วแต่กรณี ก่อนเริ่มการชุมนุม
                        ให้ผู้รับคำขอมีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาคำขอผ่อนผันกำหนดเวลาพร้อมด้วยเหตุผลให้ผู้ยื่นคำขอทราบภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่ได้รับคำขอ
                   ในกรณีที่ผู้ยื่นคำขอไม่พอใจผลการพิจารณา ให้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อพิจารณาภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งผลการพิจารณาตามวรรคสอง คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด
                 
มาตรา ๑๕  การชุมนุมสาธารณะที่ศาลมีคำสั่งห้ามการชุมนุม หรือที่จัดขึ้นหลังจากที่ผู้ยื่นคำขอได้รับหนังสือแจ้งว่าไม่มีเหตุผลอันสมควรที่จะผ่อนผันกำหนดเวลาตามมาตรา ๑๔ หรือที่จัดขึ้นระหว่างรอคำสั่งศาลตามมาตรา ๑๓ หรือมาตรา ๑๔ ให้ถือว่าเป็นการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

หมวด ๓
หน้าที่ของผู้จัดการชุมนุมและผู้ชุมนุม
                       

                   มาตรา ๑๖  ผู้จัดการชุมนุมมีหน้าที่ ดังต่อไปนี้
                   (๑) อยู่ร่วมการชุมนุมสาธารณะตลอดระยะเวลาการชุมนุม
                   (๒) ดูแลและรับผิดชอบการชุมนุมสาธารณะให้เป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธ ภายใต้ขอบเขตการใช้สิทธิและเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ
                   (๓) ดูแลไม่ให้เกิดการขัดขวางประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ ตลอดจนดูแลและรับผิดชอบให้ผู้ชุมนุมปฏิบัติตามมาตรา ๑๗
                   (๔) ประกาศหน้าที่ของผู้ชุมนุมตามมาตรา ๑๗ และเงื่อนไขหรือคำสั่งด้วยวาจาของผู้รับแจ้งและเจ้าพนักงานตามมาตรา ๒๐ ให้ผู้ชุมนุมทราบและให้ประกาศซ้ำตามระยะเวลาที่ผู้รับแจ้งกำหนด
                   (๕) ให้ความร่วมมือกับเจ้าพนักงานตามมาตรา ๒๐ ในการดูแลการชุมนุมสาธารณะให้เป็นไปตาม (๒) และ (๓)
                   (๖) ไม่ยุยงส่งเสริมหรือชักจูงผู้ชุมนุมเพื่อให้ผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๗

                        มาตรา ๑๗  ผู้ชุมนุมมีหน้าที่ ดังต่อไปนี้
                        (๑) ไม่ก่อให้เกิดความไม่สะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะตามมาตรา ๑๒
                        (๒) ไม่ปิดบังหรืออำพรางตนโดยจงใจมิให้มีการระบุตัวบุคคลได้ถูกต้อง
                   (๓) ไม่นำอาวุธเข้าไปในที่ชุมนุม ไม่ว่าจะได้รับอนุญาตให้มีอาวุธนั้นติดตัวหรือไม่
                        (๔) ไม่บุกรุกหรือทำให้เสียหายหรือทำลายด้วยประการใด ๆ ซึ่งทรัพย์สินของผู้อื่น
                   (๕) ไม่ทำให้ผู้อื่นกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย หรือเสรีภาพ หรือได้รับความเดือดร้อนเกินที่พึงคาดหมายได้ว่าเป็นไปตามปกติและเหตุอันควร
                        (๖) ไม่ใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เข้าร่วมชุมนุมหรือผู้อื่น
                       (๗) ไม่ขัดขวางหรือกระทำการใด ๆ อันเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานในการคุ้มครองความสะดวกของประชาชนในการใช้ที่สาธารณะหรือในการคุ้มครองการชุมนุมสาธารณะนั้น
                   (๘) ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือคำสั่งด้วยวาจาของเจ้าพนักงานตามมาตรา ๒๐

                        มาตรา ๑๘  ในกรณีที่ผู้จัดการชุมนุมมิได้แจ้งว่าจะมีการเดินขบวนหรือเคลื่อนย้าย ผู้ชุมนุมจะเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายการชุมนุมได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากหัวหน้าสถานีตำรวจซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลการชุมนุมสาธารณะนั้น

                   มาตรา ๑๙  ผู้ชุมนุมต้องเลิกการชุมนุมสาธารณะภายในระยะเวลาที่ผู้จัดการชุมนุมได้แจ้งไว้ต่อผู้รับแจ้ง

หมวด ๔
การคุ้มครองความสะดวกของประชาชนและการชุมนุมสาธารณะ
และการดูแลการชุมนุมสาธารณะ
                       

ส่วนที่ ๑
การคุ้มครองความสะดวกของประชาชนและการชุมนุมสาธารณะ
                       

                        มาตรา ๒๐  ให้หัวหน้าสถานีตำรวจแห่งท้องที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะและผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากหัวหน้าสถานีตำรวจ เป็นเจ้าพนักงานอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะนั้น และอาจแจ้งพนักงานฝ่ายปกครองหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งท้องที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะ หรือหน่วยงานประชาสัมพันธ์ของรัฐหรือเอกชนในท้องที่นั้นเพื่อทราบด้วยก็ได้
                   เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้เจ้าพนักงานตามวรรคหนึ่งมีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
                        (๑) อำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะอันเป็นสถานที่ชุมนุม
                   (๒) อำนวยความสะดวกในการจราจรและการขนส่งสาธารณะในบริเวณที่มีการชุมนุมและบริเวณใกล้เคียงเพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากการชุมนุมน้อยที่สุด
                   (๓) กำหนดเงื่อนไขหรือมีคำสั่งด้วยวาจาให้ผู้จัดการชุมนุมหรือผู้ชุมนุมปฏิบัติตามเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติหน้าที่ตาม (๑) หรือ (๒)
                  ในการปฏิบัติหน้าที่ตาม (๒) เจ้าพนักงานตามวรรคหนึ่งอาจมีคำสั่งให้ปิดการจราจรได้ แต่ให้กระทำได้เฉพาะในบริเวณอันจำกัดและเพื่อความปลอดภัยของผู้ชุมนุมและประชาชน และต้องหารือกับหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องก่อน
                   เจ้าพนักงานตามวรรคหนึ่งต้องผ่านการฝึกอบรมให้มีความเข้าใจและอดทนต่อสถานการณ์การชุมนุมสาธารณะ และต้องแต่งเครื่องแบบเพื่อแสดงตน และอาจใช้เครื่องมือควบคุมฝูงชนได้ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

                        มาตรา ๒๑  ก่อนและระหว่างการชุมนุมสาธารณะ ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติและหน่วยงานประชาสัมพันธ์ของรัฐจัดหรือประสานให้มีการประชาสัมพันธ์เป็นระยะเพื่อให้ประชาชนทราบถึงสถานที่ที่ใช้ในการชุมนุมและช่วงเวลาที่มีการชุมนุม ตลอดจนคำแนะนำเกี่ยวกับเส้นทางการจราจรหรือระบบการขนส่งสาธารณะที่จะช่วยให้ประชาชนได้รับผลกระทบจากการชุมนุมน้อยที่สุด

ส่วนที่ ๒
การดูแลการชุมนุมสาธารณะ
                       

                   มาตรา ๒๒  ให้หัวหน้าสถานีตำรวจแห่งท้องที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะและผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากหัวหน้าสถานีตำรวจ เป็นเจ้าพนักงานรับผิดชอบดูแลการชุมนุมสาธารณะให้เป็นไปตามความในหมวด ๓ แห่งพระราชบัญญัตินี้
                        ในกรณีที่เห็นสมควร รัฐมนตรีหรือผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติอาจแต่งตั้งข้าราชการคนหนึ่งเป็นเจ้าพนักงานรับผิดชอบดูแลการชุมนุมสาธารณะดังกล่าวแทนเจ้าพนักงานตามวรรคหนึ่งก็ได้

                        มาตรา ๒๓  ในกรณีที่ได้รับการร้องขอจากผู้จัดการชุมนุม ให้เจ้าพนักงานตามมาตรา ๒๒ เข้าไปรักษาความปลอดภัยหรืออำนวยความสะดวกแก่ผู้ชุมนุมในสถานที่ชุมนุมและในช่วงเวลาการชุมนุม และให้รายงานผู้บัญชาการตำรวจนครบาลในกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดอื่น เพื่อทราบด้วย

                        มาตรา ๒๔  ในกรณีมีการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๑๕ หรือผู้จัดการชุมนุมหรือผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๘ หรือความในหมวด ๓ แห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้เจ้าพนักงานตามมาตรา ๒๒ ดำเนินการ ดังต่อไปนี้
                   (๑) กรณีการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๑๕ หรือผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๙ ให้ประกาศให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมภายในระยะเวลาที่กำหนด
                    (๒) กรณีผู้จัดการชุมนุมหรือผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๘ มาตรา ๑๖ มาตรา ๑๗ หรือมาตรา ๑๘ ให้ประกาศให้ผู้ชุมนุมแก้ไขกรณีดังกล่าวภายในระยะเวลาที่กำหนด
                   หากผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตามประกาศดังกล่าว ให้เจ้าพนักงานตามมาตรา ๒๒ ร้องขอต่อศาลเพื่อมีคำสั่งให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมสาธารณะนั้น ในระหว่างรอคำสั่งศาลให้เจ้าพนักงานตามมาตรา ๒๒ มีอำนาจกระทำการที่จำเป็นตามแผนหรือแนวทางการควบคุมการชุมนุมสาธารณะที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบตามข้อเสนอแนะของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนและคุ้มครองการชุมนุมสาธารณะ
                   การดำเนินการของเจ้าพนักงานตามมาตรา ๒๒ ไม่ตัดสิทธิของผู้อื่นซึ่งได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากการชุมนุมสาธารณะนั้นที่จะร้องขอต่อศาลเพื่อมีคำสั่งให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุม

                   มาตรา ๒๕  เมื่อได้รับคำขอให้มีคำสั่งให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมสาธารณะให้ศาลพิจารณาคำขอนั้นเป็นการด่วน
                   ในการพิจารณา หากความปรากฏต่อศาลว่าการชุมนุมสาธารณะนั้นเป็นการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๑๕ หรือผู้จัดการชุมนุมหรือผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๘ มาตรา ๑๖ มาตรา ๑๗ มาตรา ๑๘ หรือมาตรา ๑๙ แล้วแต่กรณี ให้ศาลมีคำสั่งโดยออกคำบังคับให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมสาธารณะหรือยุติการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด
                        คำสั่งศาลตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด
                   ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศคำสั่งศาลตามมาตรานี้ไว้ในที่แลเห็นได้ง่ายณ บริเวณที่มีการชุมนุมสาธารณะนั้น และประกาศโดยวิธีการใด ๆ เพื่อให้ผู้ชุมนุมได้รับทราบด้วย

                        มาตรา ๒๖  ในกรณีที่ผู้ชุมนุมไม่เลิกการชุมนุมสาธารณะตามคำสั่งศาลให้เจ้าพนักงานตามมาตรา ๒๒ ประกาศกำหนดให้พื้นที่บริเวณที่มีการชุมนุมสาธารณะนั้นเป็นพื้นที่ควบคุมและประกาศให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ควบคุมโดยเร็ว และให้รายงานรัฐมนตรีเพื่อทราบ
                   เมื่อมีการประกาศกำหนดพื้นที่ควบคุมตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลในกรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดอื่น หรือผู้ซึ่งรัฐมนตรีมอบหมายให้รับผิดชอบ เป็นผู้ควบคุมสถานการณ์เพื่อให้มีการเลิกการชุมนุมสาธารณะตามคำสั่งศาล

                   มาตรา ๒๗  เมื่อพ้นระยะเวลาที่ประกาศให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ควบคุมหากยังมีผู้ชุมนุมอยู่ในพื้นที่ควบคุม ให้ถือว่าผู้นั้นกระทำความผิดซึ่งหน้า และให้ผู้ควบคุมสถานการณ์ดำเนินการให้มีการเลิกการชุมนุม โดยให้ผู้ควบคุมสถานการณ์และผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ควบคุมสถานการณ์มีอำนาจค้นและจับผู้ซึ่งยังอยู่ในพื้นที่ควบคุม ยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการชุมนุมสาธารณะนั้น หรือกระทำการที่จำเป็นตามแผนหรือ
แนวทางการควบคุมการชุมนุมสาธารณะตามมาตรา ๒๔
                   ให้นำความในมาตรา ๒๐ วรรคสี่ มาใช้บังคับกับผู้ปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่งโดยอนุโลม

                   มาตรา ๒๘  ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้ชุมนุมกระทำการใด ๆ ที่มีลักษณะรุนแรงและอาจเป็นอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย จิตใจ หรือทรัพย์สินของผู้อื่นจนเกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ให้เจ้าพนักงานตามมาตรา ๒๒ มีอำนาจสั่งให้ผู้ชุมนุมยุติการกระทำนั้นหากผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว ให้เจ้าพนักงานตามมาตรา ๒๒ และผู้ควบคุมสถานการณ์และผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ควบคุมสถานการณ์มีอำนาจดำเนินการตามมาตรา ๒๖ และ
มาตรา ๒๗ โดยอนุโลม
                        ในกรณีที่ผู้ชุมนุมไม่เห็นด้วยกับคำสั่งตามวรรคหนึ่ง ให้ยื่นคำร้องคัดค้านต่อศาลเพื่อพิจารณาภายในสามสิบวันนับแต่วันมีคำสั่ง คำสั่งของศาลตามมาตรานี้ให้เป็นที่สุด

                   มาตรา ๒๙  ให้เจ้าพนักงานตามมาตรา ๒๐ และมาตรา ๒๒ และผู้ควบคุมสถานการณ์ตามมาตรา ๒๗ และผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ควบคุมสถานการณ์ เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

หมวด ๕
บทกำหนดโทษ
                       

                   มาตรา ๓๐  ผู้จัดการชุมนุมสาธารณะที่กระทบต่อความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะผู้ใดมิได้แจ้งการชุมนุมตามมาตรา ๑๐ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท

                   มาตรา ๓๑  ผู้ใดจัด เชิญชวน หรือนัดหมายให้ผู้อื่นเข้าร่วมการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๑๕ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

                        มาตรา ๓๒  ผู้จัดการชุมนุมผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๖ (๑) (๒) (๓) (๔) หรือ (๕) หรือผู้ชุมนุมผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๗ (๑) (๒) (๓) (๗) หรือ (๘) หรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือคำสั่งของผู้รับแจ้งหรือเจ้าพนักงานตามมาตรา ๒๐ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท
                      
                             มาตรา ๓๓  ผู้จัดการชุมนุมผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๖ (๖) หรือผู้ชุมนุมผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๗ (๔) (๕) หรือ (๖) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

                   มาตรา ๓๔  ผู้ใดโฆษณาหรือประกาศให้ผู้ชุมนุมใช้กำลังประทุษร้ายผู้อื่นในระหว่างการชุมนุมสาธารณะ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

                   มาตรา ๓๕  ผู้ใดเข้าร่วมการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๑๕ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท
                        ผู้ชุมนุมซึ่งออกจากพื้นที่ควบคุมภายในระยะเวลาที่เจ้าพนักงานตามมาตรา ๒๒ ประกาศกำหนดตามมาตรา ๒๖ ไม่ต้องรับโทษสำหรับการกระทำความผิดนั้น

                   มาตรา ๓๖  ผู้ชุมนุมซึ่งเข้าร่วมการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๑๕ และไม่ออกจากพื้นที่ควบคุมภายในระยะเวลาที่เจ้าพนักงานตามมาตรา ๒๒ ประกาศกำหนดตามมาตรา ๒๖ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
                        ในกรณีที่เห็นสมควร ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กำหนดหรือจะไม่ลงโทษก็ได้

                   มาตรา ๓๗  ผู้ใดไม่ได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานตามมาตรา ๒๐ หรือมาตรา ๒๒ หรือจากผู้ควบคุมสถานการณ์ตามมาตรา ๒๖ ให้ปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้พาอาวุธเข้าไปในที่ชุมนุม ไม่ว่าจะได้รับอนุญาตให้มีอาวุธนั้นติดตัวหรือไม่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
                        ถ้าอาวุธตามวรรคหนึ่งเป็นอาวุธปืน วัตถุระเบิด หรือวัตถุอื่นใดอันมีสภาพคล้ายคลึงกัน ผู้กระทำความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

                   มาตรา ๓๘  บรรดาทรัพย์สินที่ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการชุมนุมสาธารณะที่ยึดได้จากการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายให้ริบเสียทั้งสิ้น ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่
  
บทเฉพาะกาล
                       

                   มาตรา ๓๙  การชุมนุมสาธารณะที่กระทบต่อความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะที่จัดขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ ให้ดำเนินการต่อไปได้โดยไม่ต้องแจ้งการชุมนุมสาธารณะตามความในหมวด ๒ แห่งพระราชบัญญัตินี้ แต่การอื่นให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้


ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ


   ...............................
         นายกรัฐมนตรี