วันเสาร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ต้องพัฒนาเด็กเล็กอย่างเร่งด่วน โดย นายปกรณ์ นิลประพันธ์

การจัดการศึกษาเรียนรู้ต้องคำนึงถึงบุคลิกลักษณะ ความสามารถ รวมทั้งความถนัด (personality) อันแตกต่างของผู้เรียนเป็นสำคัญ เพราะมนุษย์แต่ละคนมีบุคลิกลักษณะ ความสามารถ และความถนัดที่แตกต่างกัน การจัดการศึกษาเรียนรู้แบบ one size fit all จึงไม่ได้ส่งเสริมความสามารถ ศักยภาพ และสมรรถภาพของมนุษย์ หากเป็นการทำให้มนุษย์เหมือน กัน ซึ่งทำลายความแตกต่างอันเป็นคุณค่าของมนุษย์แต่ละคนอย่างสิ้นเชิง ทั้งยังทำให้ผู้เรียนซึ่งมีทักษะความสามารถไม่ตรงหลักสูตรเบื่อหน่ายและทิ้งการเรียนไปอย่างน่าเสียดาย 

นี่ยังไม่ได้พูดไปถึงปัญหาอันเกิดจากการที่กลุ่มที่หันหลังให้ระบบการศึกษาเรียนรู้ไปก่อเรื่องก่อราวมากมายในสังคมนะครับ ไม่เชื่อลองสังเกตดูครับว่าอายุของผู้กระทำความผิดในคดีรุนแรงนั้นยิ่งวันยิ่งอายุน้อยลงเรื่อย ๆ น่ากลัวนะครับนี่

ผู้เขียนเห็นว่าการจัดการศึกษาเรียนรู้ที่คำนึงถึงบุคลิกลักษณะ ความสามารถ รวมทั้งความถนัดของแต่ละคน จึงจะสอดคล้องกับข้อ 13 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียง "จัดให้มี" กระบวนการมาตรฐานสำหรับการศึกษาเรียนรู้เท่านั้น

จากการศึกษาของมูลนิธิ LEGO ที่ใช้เวลาวิจัย 20 ปีติดต่อกัน โดยได้รับการสนับสนุนจากผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ที่เสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ของเด็กรายใหญ่ของโลก หรือบริษัท LEGO เขาพบว่ามนุษย์แห่งอนาคตต้องได้รับการพัฒนา soft skill ตั้งแต่ในช่วงเด็กเล็ก (0-2) ขวบ เพราะเป็นช่วงเวลาสำคัญที่สุดในชีวิตของมนุษย์ในการปลูกฝัง soft skill อันได้แก่ความสามารถในการสื่อสาร (communication) การอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างเข้าอกเข้าใจ (collaboration) และความคิดสร้างสรรค์ (creativity) โดย soft skill เหล่านี้จะทำให้เด็กมีความกระตือรือร้นสนใจที่จะเรียนรู้ตลอดชีวิต สนใจที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ อันเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาทักษะชีวิตต่าง ต่อเนื่องไปจนตาย นี่จึงเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่แท้จริง ไม่ใช่จัดหลักสูตรนู่นนี่ให้เข้าเรียนทุกช่วงวัยอย่างที่ทำ ๆ กัน นั่นมันเป็นเพียงวิธีการหนึ่งเท่านั้น

มูลนิธิ LEGO เสนอว่าเด็กเล็กไม่ต้องเรียนรู้ด้านวิชาการ แต่ต้องเน้นให้เด็กรู้จักรับผิดชอบตนเอง รู้จักการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่น และความคิดสร้างสรรค์

กระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์จัดการศึกษาตามแนวทางที่ว่านี้ โดยในวัยเด็กเล็กนั้น เขาเน้นพัฒนาเด็กเล็กให้มี core values สำคัญอันได้แก่การรู้จักตนเอง (self awareness) รู้จักจัดการตนเอง (self management) รู้จักว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของสังคม (social awareness) รู้จักตัดสินใจอย่างมีความรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและสังคม (responsible decision making) และรู้จักการอยู่ร่วมกับผู้อื่นที่แตกต่างอย่างเข้าใจ (relationship management) และจะค่อย พัฒนาทักษะทางสังคมและอารมณ์ รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา รู้จักบริหารความเปลี่ยนแปลงต่าง ที่เกิดขึ้นในชีวิต เพื่อให้เด็กมีความมั่นใจ ฝักใฝ่เรียนรู้ รับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม และรู้จักตอบแทนสังคม

เป้าหมายของสิงคโปร์ในการจัดการศึกษาเรียนรู้จึงไม่ใช่การผลิดนักเรียนให้ได้จำนวนที่กำหนด แต่เป็นการสร้างคนให้มีทักษะตามที่กำหนด ดังต่อไปนี้
1. Civil literacy, global awareness and cross-cultural skill
2. Critical and inventive thinking
3. Communication, collaboration and information skills

ผู้เขียนขอเชิญชวนให้พี่น้องชาวไทยมากระตุ้นให้ผู้เกี่ยวข้องกับการศึกษาเรียนรู้ในเรื่องดังกล่าวข้างต้น จะเป็นประโยชน์แก่ลูกหลานไทยของเรา มากกว่าจะไปมุ่งเรื่องโครงสร้าง ตำแหน่ง อัตรากำลัง หลักสูตร หนี้สิน ฯลฯ เพราะถ้าเป้าหมายชัดเจน เราจึงจะไปจัดโครงสร้างอะไรเหล่านั้นได้ถูกต้องเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย



ถ้าจะพัฒนาชาติ ต้องเริ่มที่การพัฒนาเด็กเล็กครับซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเน้นย้ำเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจนในหมวดการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา

เราละเลยเด็กเล็กมานานมากแล้ว เห็นทีจะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนเสียแล้ว

น่าเสียดาย ไม่มีใครสนใจเลย.

วันอังคารที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

การศึกษาที่มีเด็กเป็นศูนย์กลาง 2 โดย นายปกรณ์ นิลประพันธ์

รัฐธรรมนูญ 2560 ให้ความสำคัญกับการศึกษาเป็นอย่างมาก คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ตระหนักดีว่ามนุษย์เป็นทรัพยากรสำคัญที่สุดของชาติ ถ้าเราสามารถสร้างคนที่มีความรู้คู่คุณธรรม มีเหตุมีผล รู้ผิดชอบชั่วดี ซื่อสัตย์สุจริต มีระเบียบวินัย และมีความรับผิดชอบต่อครอบครัวและสังคมส่วนรวมได้ ประเทศชาติก็จะมีความสงบสุขและพัฒนาต่อไปได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน

จากข้อมูลของทุกประเทศทั่วโลก เราพบว่าอัตราประชากรต่อเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายนั้นแตกต่างกันมากมายมหาศาล เช่น ประเทศไทยมีพลเมืองในราว 66 ล้านคน แต่มีตำรวจในราวสองแสนนาย ญี่ปุ่นมีพลเมืองราว 125 ล้านคน แต่มีตำรวจในราวสามแสนนาย เป็นต้น ข้อเท็จจริงข้างต้นชี้ชัดว่าการที่สังคมมีความสงบและเป็นระเบียบเรียบร้อยจึงไม่ได้อยู่ที่ปริมาณของตำรวจ หากแต่อยู่ที่ "คุณภาพของทรัพยากรมนุษย์" ของแต่ละประเทศ ถ้าประเทศใดมีพลเมืองที่มีคุณภาพ มีความรู้ มีระเบียบวินัย มีความรับผิดชอบ ปัญหาการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ก็จะลดน้อยลง เอาเวลาไปพัฒนาประเทศได้

ดังนั้น การพัฒนาคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์จึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง และมีความสำคัญเร่งด่วนลำดับแรก 

อย่างไรก็ดี การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ไม่ใช่การพัฒนาการศึกษาอย่างเดียว หากแต่เกี่ยวข้องกับครอบครัวและชุมชน รวมทั้งค่านิยมต่าง ของสังคมด้วยเพราะมนุษย์อยู่รวมกันเป็นครอบครัว เป็นชุมชน เป็นสังคม เราจึงไม่อาจพัฒนาทรัพยากรมนุษย์โดยการพัฒนาการศึกษาอย่างเดียวได้ แต่ต้องพัฒนาแบบองค์รวม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด และที่สำคัญการพัฒนามนุษย์ในภาพรวมต้องใช้เวลาดำเนินการเพราะนอกจากต้องลบล้างความคิดผิด ที่เคยถูกปลูกฝังกันมานมนานแล้ว เช่น กฎมีไว้แหก ทำอะไรตามใจคือไทยแท้ แป๊บนึงไม่เป็นไรหรอก คนอื่นเขาก็ทำกันทั้งนั้นไม่เห็นจะเป็นไรเลย ถ้าพวกนั้นทำได้ ฉันก็ทำได้ ไม่มีใครเห็นหรอก ฯลฯ  เรายังต้องบ่มเพาะทัศนคติที่ถูกต้องไปพร้อม กันด้วย ซึ่งงานแบบนี้ยากมาก และแตกต่างจากงานโครงการที่เห็นผลทันตา

กล่าวเฉพาะด้านการศึกษา ผู้เขียนติดตามวิธีการคิดในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กในวัยเรียน จึงได้พบว่าประเทศที่เด็กมีความสามารถสูงเขามีหลักคิดตรงกันคือ "ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง" ไม่ใช่คิดแบบยึดครูหรือกระทรวงการศึกษาเป็นศูนย์กลาง 

เมื่อยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง เขาจะคิดจากเด็กออกไป แล้วเขาก็พบว่าเด็กแต่ละคนมีบุคลิกลักษณะ ความชอบ และความถนัดแตกต่างกันไป ไม่มีใครเก่งทุกเรื่อง ไอน์สไตน์เล่นบาสสู้ไมเคิล จอร์แดน ไม่ได้แน่ๆ เชฟมิชลินสามดาวทั่วโลกไม่สามารถวิ่ง 100 เมตร ชนะลูเซียง โบลท์ และแน่นอนคงยากที่มาร์ค ซักเคอร์เบอร์ก จะกลึงโลหะให้เนียนเหมือนช่างกลึงแถวบ้านหม้อ ดังนั้น วิธีจัดการศึกษาของเขาจึงมิใช่การจัดแบบ one size fits all หากต้องจัดให้เด็กได้รับการพัฒนาให้ตรงตามบุคลิก ความชอบ และความถนัดของแต่ละคน พูดง่าย คือ ชอบทางไหน ส่งเสริมเขาไปทางนั้น เพราะเมื่อเขารักเขาชอบเขาถนัด เขาจะมีความมุ่งมั่นตั้งใจศึกษาเล่าเรียน และจะทำได้ดี แล้วพอเรียนจบภาคบังคับที่เน้นทักษะพื้นฐานในการดำรงชีวิต การอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม และการเป็นพลเมืองดี พวกเขาก็สามารถออกไปประกอบอาชีพที่ชอบได้เลย เป็น start-up แล้วรัฐก็ส่งเสริมให้มีการประกอบอาชีพที่หลากหลายและสอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะ Creative economy ครูตามวิธีคิดแบบนี้จึงไม่ได้เป็นเพียงผู้สอน (teacher) แต่เป็นผู้ที่คอยสังเกตสังกา ชี้แนะ และส่งเสริม (instructor) ให้เด็กเดินไปในทางที่เขามีแวว 

โดยวิธีคิดนี้หลายประเทศสามารถเปลี่ยนโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจของเขาจากระบบเศรษฐกิจของผู้ใช้แรงงาน ไปเป็นระบบเศรษฐกิจของผู้ประกอบการทั้งเล็ก-กลาง-ใหญ่ได้ อย่างที่เห็นในปัจจุบัน จึงไม่ต้องแปลกใจครับว่าทำไมประเทศที่ยึดเด็กเป็นศูนย์กลางเขาจึงมีผู้ประกอบการ SMEs มากมายจนเราอยากเลียนแบบ แต่ความสำเร็จที่ว่านี้ก็ไม่ได้มาชั่วข้ามคืนนะครับ ปั้นคนต้องค่อย ปั้น ทุกคนมีวิถีของตัวเอง ไม่มีสำเร็จรูปแบบบะหมี่หรอก

ทราบไหมครับว่าหัวเรียวงามของรถไฟชินกันเซนอันทันสมัยไฮเทคน่ะ มันดีไซน์โดยคอมพิวเตอร์ แต่การทำมันออกมาจริง น่ะฝีมือช่างกลโรงงานล้วน ตีด้วยมือนะครับ ตอนนี้กำลังมีปัญหาว่าช่างที่มีอยู่นี่อายุมากแล้ว ผลิตคนมาแทนไม่รู้จะทันหรือเปล่า

ตรงข้ามครับ ถ้าเราจะพัฒนาการศึกษา แต่ยังยึดครูและกระทรวงการศึกษาเป็นตัวตั้ง เขาก็จะมองและคิดแก้ไขปัญหาของเขาก่อน ปรับปรุงโครงสร้าง ตำแหน่ง อัตรา ค่าตอบแทน หลักสูตร ตำรา วิธีการเรียนการสอน วิธีการประเมินผล การใช้เทคโนโลยีล้ำเลิศเขามาใช้ ฯลฯ เป็นสำคัญ นัยว่าถ้าบรรดาเรื่องเหล่านี้ปรับปรุงสำเร็จ เด็กจะได้รับการพัฒนาดีขึ้นเองโดยอัตโนมัติ ซึ่งในทัศนะของผู้เขียน มันยากที่จะเป็นไปได้ และข้อเท็จจริงที่ประสบมาในชีวิต ผู้เขียนว่าทุกคนสามารถยืนยันได้ว่าความสำเร็จในการพัฒนาการศึกษาที่ยึดครูและกระทรวงการศึกษาเป็นตัวตั้งไม่เคยเกิดขึ้นจริงไม่ว่าที่ไหนในโลกนี้

เรามาเปลี่ยนวิธีคิดวิธีทำกันดีกว่าครับ ปล่อยช้าไปไม่ได้แล้ว คนอื่นเขาเดินไปข้างหน้ากันไกลแล้ว เหนื่อยก็ต้องทำ



ลูกหลานของเราทั้งนั้นครับ.

วันพุธที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

เหตุที่เด็กไม่อยากเรียน โดย นายปกรณ์ นิลประพันธ์

เด็กเป็นอนาคตของชาติเพราะเด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า ถ้าเด็กได้รับการพัฒนาอย่างถูกต้องเหมาะสม เขาจะเติบโตอย่างมีคุณภาพและเป็นกำลังที่มีคุณภาพของชาติในอนาคต สามารถดูแลรักษาชาติบ้านเมืองในบริบทโลกในยุคของเขาได้อย่างสง่างาม

การพัฒนาเด็กให้มีคุณภาพและเจริญเติบโตให้เหมาะสมกับวัย มีความรับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติ มีความรู้ถูก รู้ผิด รู้ว่าอะไรชอบ อะไรชั่ว อะไรดี จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ไม่ว่าบ้านไหนเมืองไหนเขาจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กตั้งแต่เยาว์วัยจนเติบใหญ่ หลายประเทศลงทุนดูแลมาตั้งแต่คุณแม่ตั้งครรภ์กันเลยทีเดียว ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบันที่ได้รับความเห็นชอบในการออกเสียงประชามติยืนยันหลักการนี้ไว้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาตรา 48 มาตรา 54 มาตรา 258 จ. และมาตรา 261

ผู้เขียนย้ำว่าประเทศที่พัฒนาไปไกล ๆ น่ะ เขาให้ความสำคัญกับ "คุณภาพในการพัฒนาเด็ก" นะครับ ไม่ใช่ "ปริมาณหรือจำนวนเด็กที่ผ่านกระบวนการพัฒนา" เพราะถ้าใช้ปริมาณเด็กที่ผ่านกระบวนการพัฒนามาเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จในการพัฒนาเด็ก จะมีเด็กที่ผ่านกระบวนการพัฒนามากมาย แต่ไม่รู้ว่ามีสักกี่มากน้อยที่มีคุณภาพ

ส่วนประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่จะใช้ตัวชี้วัดด้านปริมาณมากกว่าคุณภาพครับ เพราะมันง่าย ตัวเลขผลผลิตจะดูเยอะดี แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริงกลับเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์ ผู้คนไร้ระเบียบวินัย เห็นแก่ตัว ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย มีการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาต่าง ๆ แทนการคิดวิเคราะห์และใช้เหตุผลมาพูดคุยกัน ทีนี้ปัญหาสังคม เศรษฐกิจ การเมืองก็จะตามมาเป็นพรวนทีเดียว

ดูสถิติอาชญากรรมของประเทศเหล่านี้ก็ได้ครับ เราจะตกใจที่พบว่าอายุของผู้กระทำความผิดกฎหมายในคดีต่าง ๆ ของประเทศที่ใช้ปริมาณหรือจำนวนเด็กที่ผ่านกระบวนการพัฒนาเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จในการพัฒนาเด็กนั้น จะลดลงเรื่อย ๆ อันนี้น่ากลัวมากนะครับ เพราะเด็กรุ่นนี้เขาก็จะมีลูกมีหลานต่อไปอีก แถมมีลูกตั้งแต่อายุยังน้อยด้วย ถ้าเขาขาดคุณภาพ ลูกหลานของพวกเขาจะมีคุณภาพที่ดีได้อย่างไร

เรื่องนี่สำคัญไม่น้อยกว่าเรื่องการเมืองนะครับ แต่ประเด็นนี้คงขายไม่ได้ เพราะการพัฒนาต้องใช้เวลา เลยไม่ค่อยมีคนสนใจเท่าไร วัน ๆ จึงมีแต่ข่าวใครทะเลาะกับใคร ใครพูดจาส่อเสียดแดกดันใคร เพื่อให้อีกฝ่ายมาตอบโต้เพื่อจะได้เป็นข่าวในวันต่อ ๆ ไป ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าไม่สร้างสรรค์ และน่าเบื่อจะตาย

วกกลับมาถึงเหตุที่เด็กไม่อยากเรียนตามที่ตั้งหัวข้อไว้ดีกว่า เดี๋ยวจะกู่ไม่กลับ

ญี่ปุ่นที่เราซูฮกว่าเขามีระบบการพัฒนาเด็กที่มีคุณภาพสูงเขาก็มีปัญหาเด็กไม่อยากเรียนนะครับ ไม่ใช่ไม่มี เขาเรียกอาการไม่อยากไปโรงเรียนว่า Futoukou ถ้าเป็นหนักเข้าจะกลายเป็นพวกเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน หลีกหนีสังคม เอาแต่อยู่ในโลกเสมือน ท่องเน็ต เล่นเกมส์ หรือไม่ก็อ่านการ์ตูน หรืออาการ Hikikomori ทีเดียว

ผู้เขียนว่าสังคมไทยในยุคดิจิทัลนี่ถึงจะตามหลังญี่ปุ่นอยู่แบบห่าง ๆ แต่เราศึกษาเตรียมไว้ก่อนก็ดีนะครับ จะได้รับมือถูก

เมื่อสักสิบปีก่อน เขาศึกษาพบว่าเหตุที่เด็กไม่อยากเรียนหรือไม่อยากไปโรงเรียนนี่มีหลายสาเหตุ ยิ่งพวกลูกคนเดียวที่บ้านนอบอุ่นนี่ยิ่งเป็นกลุ่มเสี่ยง เพราะไปโรงเรียนแล้วเจอประสบการณ์ถูกเพื่อนแกล้งหรือทำร้ายเลยเกิดอคติต่อการไปโรงเรียน นอกจากนี้ เขาว่าระบบการเรียนและค่านิยมของสังคมญี่ปุ่นสร้างความเครียดให้เด็กสูงมากตั้งแต่ก่อนอนุบาลด้วยซ้ำไป มีการแข่งขันสูงมาก โรงเรียนอนุบาล ประถม มัธยมที่มีชื่อเสียงต้องสอบเข้า บริษัทห้างร้านนี้จะรับคนเข้าทำงานจากโรงเรียนหรือมาหวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงเท่านั้น อีกทั้งพ่อแม่คาดหวังในตัวลูกสูงมากว่าต้องสำเร็จการศึกษาในสาขาที่มีรายได้ดี มีเกียรติ จากโรงเรียนดี ๆ มหาวิทยาลัยดี ๆ โดยมองข้ามความถนัดของเด็กแต่ละคนที่แตกต่างกันไป ถ้าเทียบกับบ้านเราคือเด็กเก่งต้องเป็นหมอหรือเป็นวิศวกรกันตะพึดไป เด็กเรียนเก่งครูจะรักเป็นพิเศษ ถ้าเรียนได้คะแนนไม่ดี จะต้องถูกเคี่ยว เขามีเรียนพิเศษเหมือนกันนะครับ โรงเรียนกวดวิชานี่เรียกว่า Juku เด็กก็เบื่อที่ต้องทำสิ่งที่ตัวเองไม่ถนัด พาลเครื่องดับเอาดื้อ ๆ ทะเลาะกับพ่อแม่อีกต่างหาก เป็นปัญหาครอบครัวไปอีก นี่ยังไม่รวมปัญหาเกี่ยวกับยาเสพติด ขายบริการทางเพศ และอบายมุขทั้งปวงนะครับ

วิเคราะห์ได้ดังนี้เขาจึงพยายามปรับปรุงทั้งระบบการศึกษาและทัศนคติของทั้งพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ และบริษัทห้างร้านไปพร้อม ๆ กัน ไม่ใช่ปรับแต่หลักสูตรหรือโครงสร้าง เขามุ่งพัฒนาเด็กเล็กให้มีความมั่นคงทางอารมณ์ มีทักษะทางสังคม มีความรู้พื้นฐานทางการคำนวณและทางภาษาในการใช้ชีวิตประจำวัน มีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงตามวัย พอเป็นวัยรุ่นรู้ทางตัวเองว่าชอบทางไหน ถนัดทางไหน ก็ส่งเสริมไปทางนั้น ไม่ต้องจบมหาวิทยาลัยได้ปริญญากันทั่วทุกหัวระแหง เมื่อจบภาคบังคับแล้ว ถ้าชอบกีฬาก็ไปเป็นนักกีฬา เขาสนับสนุนการกีฬาอาชีพเพื่อรองรับคนกลุ่มนี้ จนมีนักกีฬาญี่ปุ่นไปเล่นในลีกดัง ๆ ทั่วโลกมากมาย หรือไม่ก็ทำธุรกิจเกี่ยวกับกีฬาไปเลย ถ้าชอบทำอาหาร ชอบออกแบบ ชอบดนตรี ชอบการแสดง ฯลฯ ก็ไปทางนั้น ไปประกอบอาชีพเลย เขาสนับสนุนการประกอบการในทุกด้าน ไม่ต้องมุ่งเรียน ม ปลาย เพื่อเข่้ามหาวิทยาลัยให้ได้ปริญญาแล้วไปเป็นลูกจ้างเหมือนยุค Baby Boomer อีก ไม่รู้เขาเรียกว่า Start up หรือเปล่า แต่ให้เรียนรู้จากกิจการเล็ก ๆ เดี๋ยวเขาก็พัฒนากิจการของเขาเองได้ เรียกว่าเข้มแข็ง ไม่ต้องง้อรัฐ หรืออย่างชอบเกษตร ก็ไปทำเกษตร รัฐเขาพัฒนาระบบสหกรณ์รองรับ ยิ่งเดี่ยวนี้มีดิจิทัลเข้ามา ขายผ่านระบบดิจิทัลได้อีก มีการวิเคราะห์ข้อมูล Big Data มาใช้ในการคิดวิเคราะห์วางแผนการผลิตและการตลาดด้วย ไปนั่นเลย

ใครชอบดูรายการทีวีเกี่ยวกับอาหารจะพบว่าเด็กญี่ปุ่นที่ชอบทำอาหารนั้น เมื่อจบภาคบังคับเขาจะออกไปทำงานหาประสบการณ์ทั้งในและต่างประเทศ แล้วมาตั้งร้านอาหารเลี้ยงตัวเองและครอบครัว มีเชพญี่ปุ่นมากมายที่ได้มิชลินสตาร์ เป็นอาทิ

ดูเขาไว้เป็นแนวทางบ้างก็ไม่น่าจะเสียหายนะครับ.